RSS

Daily Archives: มิถุนายน 28, 2007

เปลี่ยน สส.บัญชีรายชื่อ เป็นสส.ตามคะแนนสัดส่วน


เปลี่ยน สส.บัญชีรายชื่อ เป็นสส.ตามคะแนนสัดส่วน 

วิทยากร     เชียงกูล

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต      

       การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีข้อด้อย คือ บางพรรคจัดลำดับรายชื่อตามอำนาจบารมีหรือการอุดหนุนเงินทุนให้พรรค  และสมาชิกประเภทนี้มักไม่ได้สัมผัสปัญหาของประชาชน ไม่ได้สนใจการแก้ปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง      

       แต่เราน่าจะแก้ปัญหา ด้วยการเปลี่ยนจาก สส. บัญชีรายชื่อ 100 คน เป็น สส. ตามสัดส่วน 100 คน โดยนับจากคะแนนของผู้แพ้ในเขตต่างๆ แล้วมาคิดว่าพรรคไหนได้กี่เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ สส.ตามสัดส่วน วิธีนี้จะช่วยพัฒนาระบบพรรคการเมือง และทำให้สัดส่วน สส.ทั้งสภาเป็นธรรมสอดคล้องกับสัดส่วนคะแนนของประชาชนมากขึ้น การแข่งขันจะลดความดุเดือดเลือดพล่านแบบ แพ้ไม่ได้ลงและผู้สมัครต้องสัมผัสประชาชนมากกว่าแบบบัญชีรายชื่อ      

       การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและนับเสียงข้างมาก มีข้อด้อยคือ ผู้ชนะได้หมด ผู้แพ้เสียหมด ทั้งๆที่ผู้ชนะอาจได้คะแนน 40 % ผู้แพ้ที่คะแนนรองลงไปได้คะแนน 35%  ของผู้มาใช้สิทธิในเขตนั้น ทำให้จำนวน สส. แต่ละพรรคในสภา ไม่สะท้อนสัดส่วนของความนิยมของประชาชนอย่างเป็นธรรม เช่น  พรรค ก. ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 51 %  แต่ได้ สส. คิดเป็นเกือบ 80 % ของ สส.ทั้งสภา ภาคใต้มี สส. พรรค ข.มาก ไม่มี สส.พรรค ก. เลยเป็นต้น      

       การเลือกตั้ง สส. ตามสัดส่วนคะแนนผู้ออกเสียงแบบใหม่ ให้คิดจากคะแนน สส. แบบแบ่งเขตนั่นเอง แต่คิดจากคะแนนของคนแพ้และให้รวมคะแนนของผู้สมัคร สส. ที่สอบตกของแต่ละพรรคทั่วประเทศ แล้วมาคิดเป็นเปอร์เซนต์ว่าพรรคไหนได้กี่เปอร์เซนต์ เช่น ถ้าได้ 30% ของคะแนนรวม พรรคนั้นก็จะได้ สส. 30 คน ถ้าได้ 1% ก็ได้ 1 คน (ยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าต้องได้ขั้นต่ำ 5% เพื่อให้ยุติธรรมกับพรรคเล็ก)      

       การเลือก สส. ตามสัดส่วนแบบนี้แต่ละพรรคไม่ต้องเสนอรายชื่อต่างหาก ผู้ออกเสียงไม่ต้องเลือกตั้ง 2 ใบ กาใบเดียวเลือกได้ทั้งพรรคและตัวบุคคลพร้อมกัน วิธีจัดลำดับของแต่ละพรรคว่าสัดส่วน สส. ที่พรรคได้มาควรจะตกอยู่กับใครก็ไม่ยาก ให้คิดจากคะแนนที่ สส. สอบตกได้รับ  คิดเป็นเปอร์เซนต์ของผู้ออกเสียงในแต่ละเขต โดยให้ผู้ได้เปอร์เซ็นต์สูงสุดเมื่อเทียบกับ สส. สอบตกพรรคเดียวกันทั่วประเทศไล่ไปตามลำดับ (ที่คิดจากเปอร์เซนต์ เพราะจะยุติธรรมกว่า เนื่องจากแต่ละเขตมีประชากรแตกต่างกัน ถ้าคิดตามจำนวนผู้ลงคะแนนย่อมไม่ยุติธรรม)       

       วิธีนี้จะมีผลดีมากกว่าวิธีให้คนได้เสียงข้างมากชนะไปทั้งหมด โดยที่ผู้ที่มาเป็นอันดับ 2 ต้องแพ้ทั้งหมด  ทั้งๆ ที่ผู้ชนะอาจมีผู้เลือกเขา 40% ขณะที่ผู้ได้ที่สองมีผู้เลือก 35% ก็ได้ แต่การเลือกแบบแบ่งเขตอย่างเดียวแบบเก่าทำให้คะแนนของประชาชน 35% ที่เลือกเขาไม่มีความหมายเลย การเลือกบัญชีรายชื่อแบบเก่าก็คิดคะแนนซ้ำซ้อนแบบช่วยพรรคใหญ่ให้ได้ สส.เพิ่มขึ้นมากเกินไป      

       วิธีเลือกแบบแบ่งเขตบวกกับบัญชีรายชื่อแบบเก่าทำให้สัดส่วนของ สส. ในสภาไม่สะท้อนตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น พรรค ก ได้คะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศ ราว 51% ของผู้ไปใช้สิทธิ แต่ได้ สส. ในสภาเกือบ 80%ของ สส. ทั้งสภา ทำให้เป็นเผด็จการเสียงข้างมากได้ง่าย  มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้านน้อย      

       วิธีเลือกสส.ตามสัดส่วนแบบใหม่จะทำให้เสียงของประชาชนข้างน้อยมีความหมายด้วยและสัดส่วน สส. ในสภาจะยุติธรรมกว่า คนที่แพ้ในเขตแต่ได้คะแนนสูง จะมีโอกาสได้เป็นผู้แทนของประชาชนด้วย  ประชาชนเสียงข้างน้อยในจังหวัดหรือภูมิภาคจะได้มี สส. พรรคต่างๆ เป็นตัวแทนของเขา ไม่ถูกผูกขาดโดยพรรคใดพรรคหนึ่ง เช่น ภาคใต้ไม่ควรมี สส. ประชาธิปัตย์มากเกินไป ภาคเหนือไม่ควรมี สส. ไทยรักไทยมากเกินไป เพราะการเลือกสส.ตามสัดส่วนแบบใหม่จะทำให้มี สส. พรรคอื่นที่สอบตกในแต่ละเขต  แต่ได้คะแนนสัดส่วนสูง แทรกเข้ามาในฐานะ สส. สัดส่วนของพรรคได้ด้วย ทำให้มีสัดส่วน สส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ยุติธรรมกว่าการเลือกตั้งแบบเก่า      

       วิธีใหม่นี้จะแก้ปัญหาการเลือก สส. ตามบัญชีรายชื่อซึ่งทางพรรคระดมให้นายทุนที่ต้องการเป็น สส. ประเภทนี้มาลงขัน แล้วพวกเขาก็ไม่ต้องหาเสียง  ไม่ต้องออกไปสัมผัสปัญหาของประชาชน เพราะแบบใหม่ทุกคนต้องลงสมัครแบบเบ่งเขต ทุกคนจะมีส่วนร่วม และมีโอกาสที่ยุติธรรมขึ้น การแข่งขันจะไม่เอาเป็นเอาตายแบบทุ่มเทใช้เงินสู้กันแบบแพ้ไม่ได้ (หรือใช้เงินซื้อคู่แข่งที่สูสีกันให้หลีกทาง) เหมือนการเลือกตั้งแบบเก่า เพราะผู้ที่แพ้  หากได้คะแนนเป็นเปอร์เซนต์สูงพอสมควร (และพรรคของเขาก็ได้คะแนนรวมมากด้วย) เขาก็ยังมีโอกาสได้เข้ามาเป็น สส. แบบสัดส่วน       การที่ผู้สมัครต้องลงแบบแบ่งเขตเหมือนกัน และคะแนนทุกคะแนนรวมกันแล้วมีความหมาย น่าจะทำให้ผู้สมัคร สส. ต้องช่วยกันและกัน และช่วยพรรคมากกว่าจะทำเพื่อตัวเองล้วนๆ   เราอาจจะกำหนดให้หัวหน้าพรรคมีสิทธิ์ได้เป็น สส. ประเภทสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าพรรคเขาได้คะแนนของผู้แพ้รวมทั่วประเทศได้อย่างน้อย 1% ขึ้นไป ทำให้หัวหน้าพรรคมีโอกาสได้เป็น สส. แม้ตัวเขาเองจะแพ้ในเขตใดเขตหนึ่งก็ตาม เพราะคิดคะแนนรวมแล้วถือว่าประชาชนทั่วประเทศยังอยากให้เขาเป็นผู้แทน การจัดลำดับ สส. แบบสัดส่วนจะขยายจากหัวหน้าพรรค 1 คน เป็นกรรมการบริหารพรรค 5 คนแรกก็ได้ ที่เหลือ ก็คิดตามลำดับของผู้แพ้ที่ได้คะแนน (คิดเป็นเปอร์เซนต์)สูงสุดลงมาตามลำดับ ถ้า 5 คนนี้ชนะแบบแบ่งเขตไปก่อน เขาก็เป็น สส. แบบแบ่งเขตไป ให้คนลำดับรองลงมาเป็น สส. แบบสัดส่วนแทน      

       เพื่อช่วยพรรคเล็กที่ไม่มีปัญญาส่งผู้สมัครทุกเขต  ให้ผู้ออกเสียงกาหมายเลขของพรรคที่เขาชอบได้ แม้ในเขตที่พรรคนั้นไม่ส่งผู้สมัครก็ตาม  และให้กรรมการนับเป็นคะแนนแบบสัดส่วนให้พรรคนั้นด้วย  การส่งเสริมพรรคเล็กให้ตั้งง่าย และเติบโตได้  น่าจะดีกว่าแนวคิดที่จะให้สมัครสส.ได้อิสระโดยไม่สังกัดพรรค เพราะจะกลับไปสู่ปัญหาการต่อรอง และการซื้อตัวภายหลังได้อยู่ดี      

       ปัญหาการให้ใบเหลือง (จัดเลือกตั้งใหม่) และใบแดง(ตัดสิทธิคนโกง) ของ กกต. หรือศาลเลือกตั้งที่อาจจะตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แทน กกต. อาจจะทำให้คะแนนแบบสัดส่วนเปลี่ยนแปลงได้ ทางแก้คือยังไม่ต้องคิด เรื่องคะแนน สส. แบบสัดส่วน  ค่อยคิดและประกาศผล สส. แบบสัดส่วนภายหลัง คือภายใน 1 เดือน โดยต้องรีบจัดการเรื่องใบเหลือง ใบแดง และจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เสร็จใน 1 เดือน      

        หากมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง เช่น การเลือกตั้งซ่อม ไม่ต้องคิดคะแนนผู้แพ้แบบสัดส่วนอีกผู้ได้เป็น สส. แบบสัดส่วนแล้วก็ให้เขาเป็นไปตามโควต้าของพรรค หาก สส. ประเภทสัดส่วนต้องพ้นตำแหน่งไป  ก็ให้เลื่อน สส. สอบตกของพรรคเดียวกันที่เคยได้คะแนนเป็นสัดส่วนสูงรองลงมาขึ้นมาแทน      

        การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องพ้นจาก สส. ฝ่ายบริหารจะได้ยังคงเป็นส่วนหนึ่ง และรับผิดชอบต่อการมาร่วมประชุม อภิปรายตอบกระทู้ ตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในสภาด้วย ครม.อาจจะมาจากคนนอกหรือคนในควรเปิดกว้างไว้      

        หลังการเลือกตั้ง  ควรห้ามย้ายพรรค ยุบไปรวมพรรคอื่น การย้ายพรรคยุบพรรคไปรวมพรรคอื่นควรจะทำได้เฉพาะกรณี 3 เดือนก่อน สส. ครบวาระ  หรือเมื่อมีการยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน เพราะกรณีปกติ สส. จะย้ายพรรคไม่ได้อยู่แล้ว      

              และเพื่อให้ สส. เป็นผู้แทนของปวงชน ได้ใช้อำนาจนิติบัญญัติควบคุมดูแลฝ่ายบริหารได้จริงๆ ควรห้ามพรรคขับไล่ กรณีที่ สส. คนหนึ่งคนใดออกเสียงต่างไปเสียงส่วนใหญ่ของพรรค จะขับไล่ได้เฉพาะกรณีสส.ทุจริตฉ้อฉล หรือมีปัญหาคดีอาญา หรือพฤติกรรมเสื่อมเสียเท่านั้น      

       การเลือกตั้งคิดตามสัดส่วนแบบใหม่นี้ อาจไม่เกี่ยวว่าจะทำให้การซื้อเสียงน้อยลงหรือไม่ เพราะนั้นเป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งต้องการการแก้ไขแบบอื่น เช่น กำหนดโทษคนโกงหรือพยายามโกงทั้งผู้สมัคร ผู้ช่วยและหัวคะแนนอย่างรุนแรงขึ้น และทำให้ กกต. เป็นกลาง มีประสิทธิภาพขึ้น  กำหนดหลักเกณฑ์การหาเสียงที่ยุติธรรม เช่น โปสเตอร์ขนาดเดียวกันติดเฉพาะในที่ที่ กกต.จัดให้โฆษณาทางสื่อได้พอๆ กัน ฯลฯ รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง และรู้ว่าเสียงของเขาทุกเสียงมีความหมายมากขึ้น แม้ผู้สมัครที่เขาเลือกอาจแพ้ในเขตหนึ่ง  แต่ผู้สมัครคนนั้นก็อาจได้เป็นสส. แบบสัดส่วน หรือถ้าผู้สมัครคนนั้นไม่ได้เป็น ก็มีส่วนทำให้พรรคนั้นได้มี สส. เพิ่มขึ้นทางอ้อม      

        พรรคการเมืองจะได้ประโยชน์พอๆ กัน พรรคเล็กและประชาชนจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น คนหน้าใหม่ที่อยากลงสมัคร สส. ก็อาจจะมีโอกาสมากขึ้น  และระบบพรรคการเมืองก็จะมีโอกาสพัฒนามากกว่าที่จะตัดสส.ระบบสัดส่วนไปเลย