วิทยากร เชียงกูล – เรียบเรียง
การที่คนที่รวยขึ้นมักจะมีความสุขแค่ชั่วคราว (ยกเว้นคนที่จนมากจริงๆ) หรืออารมณ์ความรู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์ในระดับสูงของเรา มักจะปรับตัวลงไปสู่ระดับ ปรกติเมื่อเวลาผ่านไป นักจิตวิทยาอธิบายว่า เป็นธรรมชาติของคนที่จะปรับอารมณ์ความรู้สึกให้เข้าไปใกล้กับประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาก่อน นั่นก็คือ อารมณ์ความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ของเราเป็นเรื่องเชิงเปรียบเทียบกับประสบการณ์ดั้งเดิมของเรา คนที่เคยอยู่แต่เมืองร้อน มาเจออากาศอบอุ่น ในฤดูใบไม้ผลิในเมืองหนาว จะรู้สึกว่าหนาว ขณะที่คนที่เคยอยู่แต่ขั้วโลกหรือซีกโลกเหนือที่หนาวมาก จะรู้สึกร้อน หรือรู้สึกว่าอุ่นกำลังดี คนอเมริกันที่อยู่ใน ซีกที่อากาศหนาว มีหิมะ มีอากาศมืดครึ้มเป็นส่วนใหญ่ จะรู้สึกจากการดูภาพยนตร์ว่า ภูมิอากาศอบอุ่นแบบแคลิฟอร์เนียเป็นเหมือนสวรรค์ที่น่าอยู่มาก ขณะ ที่คนแคลิฟอร์เนียซึ่งอยู่มาจนชินจะรู้สึกเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มาอยู่ในรัฐนี้แต่อย่างใด
หากสถานการณ์ในปัจจุบันของเรา เช่น รายได้ ผลการเรียน ฐานะทางสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เราจะรู้สึกเบิกบานพอใจช่วงแรกๆ หลังจากนั้นก็จะปรับ เข้าสู่ระดับสิ่งปรกติ กลายเป็นสิ่งที่เราได้มาแล้วจนเคยชิน และเราต้องการได้มันในระดับสูงขึ้นถึงจะทำให้เราพอใจได้อีกครั้ง คนที่สมัยก่อนไม่เคยมีโทรทัศน์ พอได้โทรทัศน์ขาวดำ 12 นิ้วมาก็ดีในแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ ใครไม่มีโทรทัศน์สีขนาด 20 นิ้วขึ้นไปก็รู้สึกน้อยหน้าคนอื่น ความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจจึงเป็นเรื่อง เปรียบเทียบกับประสบการณ์ดั้งเดิม
ถ้าอย่างนั้นจะมีทางที่เราจะสร้างสรรค์สังคม หรือความพอใจที่ถาวรได้หรือไม่ นักจิตวิทยาตอบว่าไม่มีทาง โดยเฉพาะการแสดงหาความสุขทางด้านกายภาพ สมมติคุณตื่นขึ้นมาเช้าวันหนึ่งในโลกพระศรีอาริย์ที่คุณไม่ต้องจ่ายบิลชำระหนี้ต่างๆ ไม่เจ็บป่วย มีคนรักคุณอย่างไม่เห็นแก่ตัว ฯลฯ คุณอาจจะปลื้มปิติไป ด้วยความสุขในระยะแรกๆ ต่อมาคุณก็จะปรับเข้าสู่ระดับปรกติของคุณ คุณจะมีเกณฑ์มาตรฐานของคุณใหม่ คุณจะรู้สึกดีหรือพอใจก็ต่อเมื่อคุณได้รับสิ่งที่อยู่ เหนือความคาดหมาย คุณจะรู้สึกเฉยๆ เป็นกลางเมื่อมันอยู่ในระดับเท่าเดิม และคุณจะไม่พอใจหรือน้อยใจ ถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งที่ได้มานั้นต่ำกว่าระดับความคาด หมายของคุณ
นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ คนที่ถูกล็อตเตอรี่หนึ่งล้านดอลลาร์อาจจะเคยมีความสุขมากในช่วงแรกๆ คนที่ได้รับอุบัติเหตุจนพิการอาจจะมีความทุกข์มากใน ช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ระดับความสุขหรือความทุกข์ของเขาทั้งสองอาจจะปรับกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงกันก็ได้ สภาพทางธรรมชาติ ของจิตใจมนุษย์เช่นนี้ให้บทเรียนกับเราว่า คนที่ไขว่คว้าหาความสุขไปในทางวัตถุ ไม่มีทางจะได้มันอย่างยั่งยืน เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ที่เราจะหาความ มั่งคั่งเพิ่มขึ้นเพื่อปรับระดับความพอใจของเราให้เพิ่มตามได้ทันตลอดเวลา คนรวยที่มีรองเท้าเป็นพันคู่อย่างอิเมลด้า มาร์คอส ไม่อาจรู้สึกมีความสุขที่ได้ รองเท้าใหม่อีกคู่หนึ่ง เท่ากับเด็กหรือคนจนที่เพิ่งได้มีรองเท้าคู่แรกในชีวิต หรือคู่ใหม่เพื่อทดแทนคู่เก่าที่ขาดไป
ที่มา
วิทยากร เชียงกูล – จิตวิทยาในการสร้างความสุข – – กรุงเทพ : สายธาร, 2548
152 หน้า
ISBN : 974-9609-62-1