RSS

บันได 7 ขั้นไปสู่ความสุข (ความสามารถที่จะชื่นชมกับชีวิต)

05 ก.พ.

Diane Swanbrow, The Paradox of Happiness, Psychology Today 7-8/1989.

1. ให้ความสำคัญอันดับแรกกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่คุณรัก เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุข

2. ทำงานที่คุณรักหรือมีความหมายต่อคุณอย่างเต็มที่ การยุ่งอยู่กับงานที่เราชอบ มักทำให้เรามีความสุขหรือเพลิดเพลินไปโดยไม่คิดเรื่องความทุกข์  สำหรับคนที่ไม่ชอบงานที่เราทำ ลองพยายามมองหาแง่มุมที่ดีของงานของคุณ เพื่อจะได้รู้สึกว่างานมีความหมายและน่าพอใจ  นอกเหนือไปจากเพื่อมีรายได้เลี้ยงชีพ ถ้าคุณหาความพอใจจากงานไม่ได้ หรือเกลียดงานจริงๆ ลองหางานใหม่ที่จะทำให้คุณพอใจมากกว่า แม้ว่าอาจมีรายได้ลดลง เพราะความมั่งคั่งในระดับเกินการยังชีพปรกติส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยให้ใครมีความสุขเพิ่มขึ้น

3. คิดถึงคนอื่นและช่วยเหลือคนอื่น การช่วยเหลือคนอื่น ทำให้คุณรู้สึกดีเกี่ยวกับตัวคุณเอง ในทางจิตวิทยา หมายถึง การเสริมความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) ในทางการแพทย์ คือ การช่วยให้คุณลดระดับความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสุข  การช่วยให้คนอื่นมีความสุข ยังสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คนมีความสุข

4. ให้ความสำคัญกับความสุขเป็นลำดับแรกๆ ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้คุณมีความสุข และใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องรอคอยเพื่อให้เกิดความรู้สึกดีๆ อย่าไปปนเปกันว่าความสำเร็จคือความสุขอย่างที่หลายคนมัวต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให ้ประสบความสำเร็จ จนลืมว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเขาคือ ความสุข อย่ามัวฝันถึงโดยไม่ลงมือทำ  การได้ความสุขมาโดยเราเป็นผู้ลงมือทำเอง ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ ซึ่งทำให้เรามีความสุขกว่าการได้โชคลาภอย่างบังเอิญ เช่น การถูกล็อตเตอรี่

5. สร้างพลังให้กับชีวิตคุณด้วยการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ทำสวน การออกกำลังกายช่วยให้มีการหลั่งสารเอนเดอร์ฟินส์ ซึ่งลดระดับความเครียดและสร้างความสุข ทั้งยังเป็นผลดีต่อสุขภาพคุณซึ่งสัมพันธ์กับความสุข การดูแลสุขภาพดียังรวมทั้งการเลือกกินและดื่มอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และสารเสพติดอื่นๆ การพักผ่อนที่เพียงพอ การดูแลสุขภาพจิต

6.ใช้ชีวิตแบบมีการจัดการ แต่ให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว การรู้ว่าคุณกำลังจะก้าวไปทางไหน และการวางแผนเพื่อให้ชีวิตเกิดความสุข ความพอใจเป็นสิ่งที่ดี แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตตามแผนอย่างเข้มงวด หรือทำอะไรซ้ำซากแบบเดิมทุกวัน  หากมีโอกาสที่ไม่คาดฝัน ที่จะได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเดิมทุกวัน ก็ควรยืดหยุ่นที่จะคว้าโอกาสนั้น เพราะความแปลกใหม่มีส่วนช่วยให้เรามีความสุข คนที่สนใจอยากเรียนรู้ อยากทดลองสิ่งใหม่ๆ มีความสุขมากกว่าคนหัวเก่าที่ไม่ค่อยกล้าลองอะไรใหม่ๆ

7. หาความสุขไปอย่างสม่ำเสมอ ชีวิตคนเรามักมีช่วงขาขึ้นและ ช่วงขาลงเป็นระยะๆ แต่เราควรมองสถานการณ์ทั้งหมดจากมุมมองในระยะยาวมากกว่าที่จะรู้สึกหวือหวาไปตามสถานการณ์ขึ้นหรือลง  เช่น การดีใจมากไป อาจจะนำไปสู่จุดต่ำสุด เช่น ผิดหวังเสียใจมากได้ง่ายเช่นกัน  ถ้าเราไม่ดีใจแบบลิงโลดมากไป  ค่อยหาความสุขเล็กๆน้อยๆไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ (หรือไม่เสียใจอะไรมากเกินไป) เราจะปรับอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ใกล้เคียงระดับปรกติได้ง่ายกว่า และมีความสุขได้ยาวนานกว่า การมีความสุขหวือหวานานๆครั้ง

คนที่มองโลกในแง่ดี มีทัศนคติในทางบวก (รวมทั้งยิ้มง่าย หัวเราะง่าย) จะมีความสุขมากกว่า แม้ในยามที่พวกเขาเจอเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต พวกเขาก็จะปรับตัวให้กลับมาสู่ระดับปรกติได้ดีกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย

วิทยากร เชียงกูล
จิตวิทยาในการสร้างความสุข. – –  กรุงเทพฯ : สายธาร, 2548.
ISBN : 974-9602-62-1

 

ป้ายกำกับ: , , ,

ใส่ความเห็น