RSS

Category Archives: ทางออกของปัญหา:น้ำม

ทางออกของปัญหา:น้ำมันแพง เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องแก้ไขทั้งระบบ


ทางออกของปัญหา:น้ำมันแพง เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องแก้ไขทั้งระบบ
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 25 พฤศจิกายน 2550 16:44 น.

โดยวิทยากร  เชียงกูล

       น้ำมันแพงตั้งแต่นี้ไปเป็นปัญหาถาวร ไม่ใช่วัฏจักรขึ้นลงเหมือนครั้งก่อน
       
        โลกเรากำลังใช้น้ำมันมากกว่าที่เราผลิตและกลั่นได้ เราขุดน้ำมันมาใช้ถึงจุดสูงสุดหรือครึ่งหนึ่งแล้ว อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจะขุดยากขึ้น ผลผลิตแต่ละปีจะลดลงตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น น้ำมันดิบที่มีราคาระดับบาเรลละ 80 ดอลล่าร์สหรัฐ (สูงขึ้น 3 เท่าตัวจาก 5 ปีที่แล้ว) จะไม่มีราคาลดต่ำกว่านี้ มีแต่จะสูงขึ้นเป็นหลักร้อย ชนชั้นนำไทยที่เสนอให้ไปใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมัน ไม่ตระหนักว่านี่เป็นการแก้ไขได้บางส่วนและชั่วคราวเท่านั้น ก๊าซธรรมชาติก็จะหมดในเวลาต่อไป และจะแพงขึ้นเช่นกัน
       
       ปีที่ผ่านมาทั้งโลกใช้น้ำมันวันละ 84 ล้านบารเรล หรือตกปีละ 30,660 ล้านบารเรล ( 1 บารเรล = 158.9 ลิตร) คาดว่าจะมีน้ำมันทั้งโลกให้ใช้ได้ไม่เกิน 40 ปีนับจากนี้ไป
       
        คนที่ไม่ศึกษาอนาคต จะทั้งเจ็บปวดและทั้งงุนงง
       
       นักธรณีวิทยาด้านน้ำมันส่วนใหญ่เชื่อว่า มีการสำรวจไปทุกมุมของโลกอย่างน้อย 95 – 98% ของทุกพื้นที่ในโลกแล้ว ช่วง 10 – 20 ปีหลังมีการพบแหล่งน้ำมันใหม่น้อยลงตามลำดับ ก๊าซธรรมชาติก็คาดว่าจะถูกใช้หมดตามหลังน้ำมันไม่เกิน 10 ปี
       
        การที่โลกฝากความหวังเรื่องการพึ่งแหล่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง รุสเซีย เอเชียกลาง ลาติน อเมริกา และแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาที่ซับซ้อน ยังเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายจากความผันผวนทางการเมืองมากด้วย
       
        พลังงานทางเลือกอื่นนอกจากน้ำมันมีข้อจำกัด
       
        พลังงานอื่นที่จะมาแทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ยังมีการพัฒนาน้อย และมีข้อจำกัด ถ่านหินมีมากก็จริง แต่สร้างมลภาวะมากที่สุด ทั้งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งทำให้โลกร้อนขึ้น ธรรมชาติขาดความสมดุล เกิดพายุและน้ำท่วมมากขึ้น การกลั่นน้ำมันจากถ่านหิน ทรายน้ำมัน หินน้ำมันก็ต้นทุนสูงและสร้างมลภาวะ โรงงานไฟฟ้าจากปรมาณู ทั้งแพง ทั้งอันตราย พลังงานจากไบโอดีเซลและจากไฮโดรเยนที่จะทำเป็นเซลล์เชื้อเพลิง สำหรับใช้ยานพาหนะและอื่น ๆ ก็ยังมีต้นทุนสูงและต้องการการวิจัยและพัฒนาอีกมาก พลังงานแสงแดด ต้นทุนสูง ต้องใช้เวลาพัฒนาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ต้องใช้แร่เหล็กมาก กระบวนการผลิตก็ก่อมลภาวะส่วนหนึ่ง พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ก็มีปัญหาด้านมลภาวะและความไม่คุ้มทุนสูง
       
       พลังงานจากลมมีต้นทุนต่ำและมีโอกาสดีที่สุด แต่ทำได้เฉพาะบางสถานที่และจะใช้ภายในชุมชนใกล้ ๆ ได้มากกว่าจะผลิตเป็นขนาดใหญ่และส่งไปใช้ได้ไกล ๆ โดยเสียต้นทุนต่ำ รวมทั้งไม่อาจใช้ในยานพาหนะได้
       
       บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ 5 – 6 บริษัทและรัฐบาลมักจะคิดแบบเข้าข้างการใช้น้ำมันที่พวกเขาคอยควบคุมได้ง่ายและได้กำไรมากกว่าจะพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบที่ชาวบ้านและชุมชนจะผลิตใช้เองได้โดยไม่ต้องพึ่งบริษัทใหญ่ ทั้งประชาชนก็ถูกครอบงำทางความคิดให้ชอบและชินกับความสะดวกสบายจากการใช้น้ำมันและการบริโภคสิ่งต่าง ๆ ที่พึ่งน้ำมัน จนนึกว่าน้ำมันมีเหลือเฟือไม่จำกัด เหมือนเด็กเล็กที่คิดว่าถ้าพ่อแม่ต้องการเงินก็แค่ไปกดเงินมาจากตู้เอทีเอ็ม
       
       น้ำมันแพงนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤติขาดแคลนอาหาร
       
       ไม่ว่าน้ำมันจะหมดโลกภายใน 40 ปี จริงหรือไม่ แต่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะต้องหมดภายในศตวรรษนี้อย่างไม่มีทางผลิตทดแทนได้ ถึงจะมีมาตรการประหยัดการใช้น้ำมันออกมาบ้าง การใช้น้ำมันของโลกก็จะยังคงเพิ่มขึ้น เพราะคนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจหลายประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น คนใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้ไฟฟ้า ผลิตอาหารที่ใช้ปุ๋ยเคมี และบริโภคสินค้าที่มาจากน้ำมันหรือต้องใช้น้ำมันและปิโตรเคมีที่มาจากน้ำมันมากขึ้น
       
       เมื่อน้ำมันแพง 1 เท่า หรือ 2 เท่าตัว สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ภาวะเงินเฟ้อกว่าปีละ 10% ขึ้นไป รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องพยายามปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น กำลังการซื้อจะตกต่ำ ธุรกิจล้มละลาย ธนาคารเกิดหนี้เสีย เกิดเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำครั้งใหญ่ยิ่งกว่าครั้งใด เพราะโลกมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันสูงขึ้น และเพราะเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมพึ่งน้ำมันหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิล (รวมก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน) ยิ่งกว่ายุคใดที่ผ่านมา
       
       ปัญหาของประเทศไทย
       
        ประเทศไทยใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าราว 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม และสั่งเข้าน้ำมันเป็นมูลค่าปีละ 5 – 6 แสนล้านบาท สูงกว่าที่เราส่งข้าวไปขายต่างประเทศราว 7 – 8 เท่า น้ำมันกลายเป็นสินค้าหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขาดดุลการค้าและเป็นหนี้สูง ประเทศไทยใช้น้ำมันเพื่อการบริโภคส่วนตัว (เช่น รถส่วนตัว ไฟฟ้าสำหรับความบันเทิง) มากกว่าที่จะใช้เพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่คนไทยใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในอัตรา 1.4 เท่าของอัตราเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเพิ่มต่ำกว่า 1 เท่าของ GDP
       
       ชนชั้นนำของไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างเป็นระบบองค์รวม พวกเขาออกมาตรการประหยัดน้ำมันแบบเกรงใจภาคธุรกิจเอกชนและคนชั้นกลางมากไป กระทรวงพลังงานมองว่าการส่งเสริมให้รถยนต์ใช้ก๊าซและไบโอดีเซล/ก๊าซโซฮอลล์แทนน้ำมันจะลดการใช้น้ำมันได้สัก 20% ภายใน 4 ปี ทั้ง ๆ ที่ก๊าซก็จะหมดจากเมืองไทยและหมดทั้งโลก รวมทั้งจะแพงขึ้นเช่นกัน ส่วนไบโอดีเซลและก๊าซโซฮอลล์ก็ต้องพึ่งการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งต้องพึ่งน้ำมัน ในขณะที่รัฐบาลในยุคทักษิณใช้เงินรัฐสนับสนุนราคาน้ำมันและก๊าซในช่วงปี 2547 ขาดทุนไปกว่า 8 หมื่นล้านบาท และทุกวันนี้รัฐบาลยังเก็บภาษีน้ำมันสูงเพื่อชดเชยการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน รัฐบาลทุกรัฐบาลส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์และการสร้างทางด่วนและถนน มากกว่าที่จะสนใจพัฒนาการขนส่งสาธารณะ การขนส่งสินค้าทางรถไฟและทางเรือซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าการขนส่งโดยใช้รถบรรทุก รวมทั้งไม่มีมาตรการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง
       
       นี่คือปัญหาวิกฤติที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อคนทั้งประเทศอย่างรุนแรง ควรมีการระดมนักวิชาการเพื่อศึกษาปัญหานี้ในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบองค์รวม เพิ่มทุนวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก ปรับเปลี่ยนการวางผังเมืองใหม่ ปฏิรูประบบภาษีอากร กฎหมาย นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน) อย่างจริงจัง
       
        อย่ามัวแต่ทะเลาะกัน อย่ามัวแต่แก่งแย่งแข่งขันแบบตัวใครตัวมันกัน อย่ามัวแต่คิดเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน มหันตภัยกำลังจะมาภายใน 10 ปีนี้ คนมีปัญญา คนที่คิดการณ์ไกล คิดถึงปัญหาส่วนรวม ต้องเริ่มต้นศึกษาและหาทางป้องกันหาทางแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ประเทศไทยจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรง และคนที่รอดชีวิตส่วนน้อยจะต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบบุพกาลเหมือนในยุคก่อนโลกมีน้ำมันใช้ในเชิงอุตสาหกรรม