RSS

Category Archives: ศรีบูรพา

บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก(ดัดแปลงจากปาฐกถาศรีบูรพา ครั้งที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2550)


บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก

(ดัดแปลงจากปาฐกถาศรีบูรพา ครั้งที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2550) 

      สถานการณ์โลก

      โลกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่การทดลอง สร้างสังคมนิยมของหลายประเทศเช่นโซเวียตรุสเซีย ยุโรปตะวันออกล้มเหลว และประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมปรับตัวได้ดีเกินคาด โลกได้ก้าวสู่ยุคหลังสงครามเย็นซึ่งเป็นโลกยุคเผด็จการทุนนิยมที่ซ่อนรูปและหลอกลวงได้แนบเนียนยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

      โลกทุนนิยมสมัยใหม่เป็นเผด็จการในแง่ของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ และทางสื่อสารมวลชนของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากสหรัฐและประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเพียงไม่กี่บรรษัท บรรษัทข้ามชาติหลายแห่งมียอดขายสินค้าและบริการสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยด้วยซ้ำ

      บรรษัทข้ามชาติมีทั้งอำนาจผลประโยชน์ และมนต์ขลังที่ทำให้รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ในโลกโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ต้องเปิดเสรีด้านการลงทุนและการค้าให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามากอบโกยล้างผลาญทรัพยากร ครอบงำวิถีชีวิต หรือแม้แต่การคิดของคนไทย โดยที่คนไทยซึ่งมองฝรั่งในแง่ดีเพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้น มักไม่รู้ตัว และคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากการเปิดการลงทุนและการค้าเสรีในแง่ที่ว่าทำให้ประชาชนได้มีโอกาสบริโภคสินค้าและบริการต่างๆอย่างหลากหลายและตื่นตาตื่นใจในราคาที่คนฐานะปานกลางโดยทั่วไปสามารถซื้อหาได้

      ประชาชนไทยส่วนใหญ่ถูกนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อบอกเล่าซ้ำซากทำให้เชื่อว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์หรือโลกของความก้าวหน้าสมัยใหม่ที่ทำให้พวกเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะได้บริโภคสินค้าและบริการด้วยความสะดวกสบายรวดเร็ว อย่างชนิดที่คนรุ่นพ่อแม่ของเรา ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ขณะที่คนงานที่มาจากชนบทตื่นเต้นกับห้างสรรพสินค้า และสถานบันเทิงต่างๆในเมืองใหญ่ คนชั้นกลางก็คิดว่าเราช่างโชคดี ที่สามารถกดปุ่มเพื่อชมข่าวสารจาก CNN ดูหนังจาก HBO ซีนีแมกซ์ วอเนอร์บราเธอร์ และอื่นๆ รวมทั้ง อ่านหนังสือพิมพ์ TIME, FORTUNE และอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายและสะดวกสบายมาก โดยที่เราไม่ค่อยรู้ตัวว่าในบรรดาชื่อทั้งหมดนี้ และยังมีสื่อชื่ออื่นๆอีก ล้วนเป็นทรัพย์สินของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงบริษัทเดียวคือ TIME WARNER

      เมื่อพิจารณาถึงสื่อของโลกทั้งโลกในปัจจุบัน เราจะพบว่าบริการสื่อสารมวลชน 70% ของทั้งโลกเป็นเจ้าของและบริหารโดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพียง 8 บริษัทเท่านั้น 4 สื่อที่เราได้ฟังและได้เห็นร้อยพันสื่อที่ดูหลากหลายนั้นแท้จริงเป็นแค่ภาพลวงตา

      จริงๆแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ในโลก ในประเทศที่รัฐบาลเปิดเสรีการลงทุนและการค้า ล้วนถูกครอบงำโดยคนตะวันตกเพียงกลุ่มเดียวพวกเขา มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรจะหากำไรจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ป้อนข้อมูลข่าวสาร ศิลปวัฒนธรรม ให้ประชาชนทั่วโลกทางโทรทัศน์ การโฆษณาสินค้าและสื่ออื่นๆเท่านั้น พวกเขายังเป็นผู้กำหนดว่า เราควรจะคิด ควรมีค่านิยมอย่างไรด้วย

      ประเด็นสำคัญที่พวกเขาทำให้พวกเราคิดและเชื่อตามวัฒนธรรมของพวกบรรษัทยักษ์ใหญ่โดยไม่รู้ตัว คือที่การที่พวกเขากล่อมเกลาให้พวกเราคิดและมีค่านิยมว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือการหาเงินมาเพื่อจับจ่าย ได้บริโภค สินค้าและบริการตามแบบตะวันตกให้ได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ ใครที่ทำไม่ได้หรือทำได้น้อย เป็นพวกที่ล้มเหลวหรือล้าหลัง

      ทั้งที่ความเป็นจริง โลกทุนนิยมกวาดต้อนให้ประชาชนยุคปัจจุบันต้องทำงานหนัก มีความเครียดและมีความทุกข์มากกว่าคนรุ่นปู่ย่าตาทวดของเรา เราถูกหลอกให้เชื่อว่า ถ้าเราหาเงินได้มากขึ้น เราจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ สื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เคลื่อนไหวได้มีมนต์สะกดที่ทำให้เราคิดว่าเรากำลังเสพข่าวสารความบันเทิง แบบบริสุทธิ์ สนุกสนาน โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวว่าเรากำลังถูกครอบงำล้างสมอง ทีละน้อย

      และเนื่องจากคนส่วนใหญ่ทั้งโลกหรือทั้งประเทศ คิดและทำเหมือนๆกัน เราจึงมักจะเชื่อว่าสิ่งที่เราถูกกล่อมเกลาชักนำให้คิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกมากกว่า จะตั้งข้อสงสัย ทั้งๆที่ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมดั้งเดิมของเราถูกทำลายให้เห็นๆ โลกร้อนขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น อากาศ น้ำ อาหารเป็นพิษมากขึ้น วัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสันติเปลี่ยนเป็นการแก่งแย่งแข่งขัน การเอาเปรียบ การฉ้อโกง อาชญากรรมและความรุนแรงรูปแบบต่างๆมากขึ้น และชีวิตเรา เคร่งเครียด ซึมเศร้า หดหู่ มากขึ้น

      ในยุคปัจจุบันที่สื่อในประเทศของเราถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่และโดยรัฐบาล ที่คิดแบบเดียวกับพวกนายทุนข้ามชาติ ประเทศเราต้องการผู้มีการศึกษาและผู้นำ5ที่มีจิตใจรักความถูกต้องและความยุติธรรม ผู้สนใจติดตามวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อนได้อย่างวิพากษ์วิจารณ์และมีจิตสำนึกที่หาทางออกเพื่อส่วนรวม เราจึงจะสามารถฝ่าฟันแหวกวงล้อม หรือกับดักของบริษัทนายทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาครอบงำประชาชนส่วนใหญ่อย่างแนบเนียนโดยใส่หน้ากากสวยๆว่า โลกาภิวัตน์บ้าง ความเจริญเติบโตเศรษฐกิจบ้าง ความก้าวหน้าทันสมัยบ้างได้

      หากผู้มีการศึกษาและผู้นำทางสังคมเช่น นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักวิชาชีพ ในยุคปัจจุบันไม่ได้ยึดกุมหลักการของผู้มีจรรยาบรรณ ในการแสวงหาและเผยแพร่ ความจริงและความงาม ที่แท้ไว้ให้มั่นเหมือนอย่างศรีบูรพาและคณะของพวกเขา นักเขียนนักหนังสือพิมพ์และชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาอื่นๆในยุคปัจจุบันก็จะกลายเป็นเพียงพนักงานโฆษณาชวนเชื่อของบรรษัทนายทุนข้ามชาติโดยไม่รู้ตัว 

      สถานการณ์ในประเทศ

      ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนาและเป็นบริวารของประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรม บวกกับการที่รัฐบาลทุกรัฐบาล มีนโนบายพัฒนาประเทศแบบส่งเสริมให้ทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ได้ลงทุน และทำการค้าเสรี ทำให้มีการพัฒนาประเทศระบบเพื่อการส่งออก มีการถลุงทรัพยากร กดขี่แรงงาน เศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การค้าและบริการเติบโต แต่กระจายถึงประชาชนกลุ่มต่างๆอย่างไม่เป็นธรรม ธรรมชาติสภาพแวดล้อมถูกทำลายอย่างมากและอย่างรวดเร็ว ประชาชนยากจน เป็นหนี้ และพึ่งพาระบบนายทุนแบบเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอดมากขึ้น

       ในทางการเมือง โครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไทยเป็นแบบอำนาจนิยม เจ้าขุนมูลนาย และระบบอุปถัมภ์ และระบบการศึกษาเป็นแบบอำนาจนิยมและสอนให้ผู้เรียนท่องจำอย่างล้าหลัง ทำให้ไม่มีประชาธิปไตยในครอบครัว สถาบันการศึกษา ที่ทำงานและชุมชนและมีการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองแค่รูปแบบ เช่นการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทน และองค์กรบริหารท้องถิ่น แต่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระ เช่นการที่ประชาชนตระหนักและมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม สามารถตรวจสอบดูแลถอดถอนผู้แทน เสนอแก้ไขกฎหมายได้ ฯลฯ ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

      รัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนนายทุนใหญ่ ที่เก่งในเรื่องการตลาด การหมุนเงิน รวมทั้งการรวบรวมเครือข่ายนักธุรกิจการเมืองประเภทเจ้าพ่อผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่น สามารถสร้างความนิยมในหมู่คนยากจนได้มาก และพาประเทศไปสู่การพัฒนาแบบทุนนิยมเพื่อบริโภคอย่างสุดโต่ง ทุจริตและหาประโยชน์ทับซ้อนอย่างมหาศาล จนผู้มีการศึกษาและประชาชนผู้ตื่นตัวพากันประท้วง และคณะนายทหารฝ่ายอำนาจนิยม /จารีตนิยมได้ถือโอกาส ยืดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลระบอบทักษิณลง

      แต่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ที่มาจากทหาร/ขุนนาง ก็ขาดสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่รัฐบาลชุดก่อนๆก่อไว้ และไม่สามารถแม้แต่จะวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขา(รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตลอดไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล)อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบ มีชีวิตที่สะดวกสบายกับระบบเดิม มีทัศนะค่านิยมที่สอดคล้องหรือไม่ ขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม พวกเขามองเห็นปัญหาในยุคทักษิณแบบแยกส่วนว่าเป็นปัญหาแค่ตัวบุคคล มากกว่าจะเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบองค์รวมทั้งหมด 

      เราจะไปทางไหนกัน

      ในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ปกครอง/นายทุน/ขุนนางส่วนน้อยมีอำนาจครอบงำ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ได้รับการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ เป็นหน้าที่ของ ผู้มีการศึกษาที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์และตื่นตัวทางการเมือง ที่จะต้องช่วยกันศึกษาและเผยแพร่ความรู้ที่แท้จริง ให้เกิดการปฎิรูป การเมือง ซึ่งควรรวมทั้งการปฎิรูปทางเศรษฐกิจ สังคมที่จะทำให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ว่าทั้งแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด และการฝากความหวังไว้กับชนชั้นสูง กลุ่มอำนาจนิยม/จารีตนิยมนั้น ไม่อาจทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีสิทธิประชาธิปไตย และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาได้

      ประชาชนต้องแสวงหาความรู้จัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างแนวทางเลือกใหม่ที่มุ่งพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมด้วยตัวเอง ไม่อาจหวังพึ่งอัศวินม้าดำหรือม้าขาวที่ไหนได้

      แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องสร้างระบบสหกรณ์ทุกรูปแบบอย่างกว้างขวางมาแทนที่ระบบทุนนิยมผูกขาด สหกรณ์ในที่นี้ใช้ในความหมายกว้าง หมายถึง องค์กรทางเศรษฐกิจสังคมแบบช่วยเหลือกันและกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อาจใช้ชื่ออื่น เช่น กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย ฯลฯ ไม่ใช่แค่สหกรณ์ 6 ประเภทตามกฎหมายสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ในนี้เท่านั้น

      สหกรณ์เป็นองค์กรที่จัดตั้งทางเศรษฐกิจแบบประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารที่ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้ผู้ผลิตผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ขบวนการสหกรณ์มีการพัฒนาเจริญเติบโต ทั้งในสหรัฐ แคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ หลายประเทศในลาตินอเมริกาและที่อื่นๆ จนมีสัดส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มีทั้งสหกรณ์ผู้ผลิตหรือสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งพัฒนาเป็นธนาคาร สหกรณ์การประกันภัย การขนส่ง สหกรณ์ผู้บริโภคหรือการค้าส่งและค้าปลีก สหกรณ์การบริการต่างๆ รวมทั้งสหกรณ์สาธารณูปโภค เช่น การประปา ไฟฟ้า

      สหกรณ์เหล่านี้หลายแห่งพัฒนาเป็นชุมชนสหกรณ์ ขนาดหนึ่งในร้อยของบรรษัทที่ยอดขายสูงสุดในโลก ที่มีเครือข่ายกว้างขวางและเป็นองค์กรธุรกิจ ที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สหกรณ์ขนาดกลางขนาดย่อมหลายแห่งในหลายประเทศทำได้ดีกว่าทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบเดียวกัน

      สหกรณ์นอกจากจะลดการเอาเปรียบของระบบนายทุน พ่อค้าคนกลางแล้ว ยังเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบทุนนิยม ในแง่ที่ว่า สมาชิกทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่ใช่ว่าใครถือหุ้นมากออกเสียงได้มากแบบทุนนิยม ถ้าเราส่งเสริมสหกรณ์ให้เติบโตได้ในทุกสาขาเศรษฐกิจ สหกรณ์จะเป็นระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ มากกว่าระบบทุนนิยมและสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ระบบสหกรณ์จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและปัญหาเศรษฐกิจ สังคม อื่นๆได้อย่างถึงรากโคนกว่าระบบทุนนิยม

      แนวทางพัฒนาทางสังคมให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องปฏิรูปการจัดการศึกษา สื่อมวลชนในด้านเนื้อหาวิธีการในการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ในเชิงวิเคราะห์ ที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รู้จักคิด เป็นตัวของตัวเอง ให้รู้เท่าทันชนชั้นปกครองและปฎิรูปเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ฉลาด3 การสาธารณสุข การประกันสังคมและสวัสดิการสังคม ให้ประชาชนรับบริการอย่างทั่วถึง และส่งเสริมจัดตั้งองค์กรประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการกิจกรรมทางสังคมด้วยตนเองมากขึ้น

      แนวทางการพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า การปฏิรูปโครงสร้างการเมือง และสังคม ที่จะเอื้อให้ประชาชน มีสิทธิและอำนาจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติมากขึ้น เช่นมีสภาหมู่บ้าน สภาชุมชน สภาประชาชนระดับประเทศ องค์กรประชาชนและองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น สิทธิป่าชุมชน และการจัดการทรัพยากรของชุมชน,สิทธิผู้บริโภค,สิทธิการจัดตั้ง สหภาพแรงงานและสหกรณ์โดยเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ประชาชนมีสิทธิในการคัดค้าน ถอดถอนผู้แทน เสนอเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายต่างๆรวมทั้งรัฐธรรมนูญได้โดยตรง 

      เราควรทำอะไร

      นักข่าวหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ถามผมว่าในยุคที่ประเทศไทยของเราถูกครอบงำโดยระบอบทักษิณและกลุ่มคนที่คิดไม่แตกต่างจากทักษิณ พวกเขาที่เป็นคนเล็กๆที่ไม่มีชื่อเสียงและเป็นเพียงลูกจ้างบริษัทนายทุนจะทำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าการที่พวกเราหลายคนมักจะมองว่าเราเป็นคนเล็กๆที่ทำอะไรไม่ได้ในโลกที่ครอบงำโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ คือการแบ่งแยกและปกครองของระบบทุนนิยมโลกที่พยายามกล่อมเกลาให้พวกเราคิดคล้อยตามแบบยอมจำนนไปอย่างไม่รู้ตัว

      เมื่อเรากลับไปอ่านประวัติศาสตร์ เรามักคิดว่า ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขาคือคนที่ยิ่งใหญ่ที่มีพลังที่มหาศาลกว่าคนอย่างพวกเรามาก ในยุคที่ศรีบูรพาและคณะยังเป็นคนหนุ่มสาวนั้น พวกเขาก็คือนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เล็กๆซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย ที่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่โตกว่าพวกเขามากเช่นเดียวกัน

      สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขายิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพราะตอนนั้นพวกเขาเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เพราะสังคมไทยวิวัฒนาการมาจากระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ค่อยยกย่องนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มาแต่ไหนแต่ไร แต่สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพายิ่งใหญ่ต่อมาในสายตาของคนรุ่นหลังอย่างพวกเรา ก็คือการที่ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขากล้าคิด กล้าเผยแพร่ กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมของพวกเขาต่างหาก

      นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ปัญญาชน ผู้มีการศึกษาในยุคปัจจุบันมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือจะเลือกทำตัวตามกระแสของทุนนิยมโลก เป็นพนักงานธุรการพนักงานโฆษณาชวนเชื่อที่ดีของบรรษัทและปรับตัวให้เข้ากับระบบทุนนิยมผูกขาดที่โหดร้าย หรือจะเลือกเป็นคนที่ต้องการรักษาศักดิ์ศรี ต้องการแสวงหาความหมายในชีวิตและสังคม ยิ่งกว่าการเป็นผู้เสพติดการบริโภคสินค้าและบริการของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม หลังจากการทดลองสังคมนิยมล้มเหลว นักการเมืองและนักวิชาการของโลกทุนนิยมพยายามป่าวร้องว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่อีกแล้ว นอกจากต้องเดินไปตามกระแสทุนนิยมโลก ถ้าไม่เปิดเสรีเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกับคนอื่น เราก็จะถูกทิ้งให้ล้าหลัง

      แต่ความจริงก็คือ ประชาชนในหลายประเทศเลือกการพัฒนาทางอื่น เช่น ระบบสหกรณ์ สังคมนิยมประชาธิปไตย การพัฒนาแนวอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนการเน้นความสุขของประชาชนมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม ทางเลือกเหล่านี้ ประชาชนฝ่ายก้าวหน้า ทั้งในยุโรป ลาตินอเมริกา เอเชีย และที่อื่นๆได้พัฒนาไปได้มากพอสมควร ในประเทศไทยก็มีกล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพึ่งตนเอง พึ่งตลาดภายในประเทศเป็นที่สัดส่วนสูงขึ้น เพียงแต่ยังเป็นการพูดลอยๆมากกว่า เรายังไม่ได้มีการวิเคราะห์และพัฒนาให้เป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่อย่างจริงจัง

      คนหนุ่มสาวทั้งหลาย ความเป็นหนุ่มสาวไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความคิดจิตใจด้วย ถ้าคุณเลือกอย่างแรก คือเลือกอยู่กับพวกชนชั้นนำที่ยึดมั่นของเก่า ยึดมั่นกับกระแสหลักของสังคมที่ครอบงำโดยนายทุน บงการโดยนายทุนและผู้มีอำนาจ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตและโลกที่ดีกว่า พวกคุณจะก็แก่ตั้งแต่อายุยังน้อย แก่ในทางความคิดค่า นิยมโดยที่ไม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตเพื่อการต่อสู้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่าคนที่อายุมากกว่าพวกคุณ แต่จิตใจของพวกเขายังหนุ่มสาว ยังไม่ยอมจำนน ยังต่อสู้แบบกัดไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละทิ้งหลักการที่สำคัญ เช่น ประชาธิปไตยความเป็นธรรมและความร่วมมือกันเป็นกลุ่ม

      คนหนุ่มสาวทั้งหลาย อย่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ และคุณต้องมาเสียใจภายหลังว่า คุณแทบไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริงเลย เพราะชีวิตที่ไม่มีการต่อสู้เพื่อส่วนรวม ชีวิตที่มีแต่การประนีประนอม เอาตัวรอดส่วนตัวในระยะสั้นๆ เป็นชีวิตที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่คุ้มกับการมีชีวิต ในโลกที่มีพลังและมีโอกาสการเปลี่ยนแปลงที่มหาศาล

      ผมจะขอจบปาฐกถานี้ด้วยการยกคำคมของ อัลเบริต ไอน์สไตน์ เป็นการเตือนผู้มีการศึกษาทุกคน รวมทั้งคนแบบคุณทักษิณ คุณสมคิดและคนอื่นๆ ไว้อย่างน่าคิดให้ลึกดังนี้ 

_____________________________________________________________________

      ใครที่ได้รับการศึกษาให้มีความรู้พิเศษ

จะต้องพัฒนาความตระหนักว่าอะไรสวยงาม

และอะไรดีในแง่ศีลธรรมอย่างกระตือรือร้นควบคู่กันไป

เพราะถ้าขาดความตระหนักใน 2 เรื่องนี้

เขาจะเป็นได้แค่หมาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี

แทนที่จะเป็นมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนไปกับโลก

 

ศรีบูรพา “ลูกผู้ชาย” และ “สุภาพบุรุษ” ของประชาชน


ศรีบูรพา   “ลูกผู้ชาย” และ “สุภาพบุรุษ”  ของประชาชน

วิทยากร    เชียงกูล

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม   มหาวิทยาลัยรังสิต 

      คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์ ซึ่งคนมักจะรู้จักในนามของ “ศรีบูรพา”  ที่มีบทบาททางความคิดในสังคมไทยมากกว่านักเขียนนวนิยายมาก เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนบทความ และนักเขียนนวนิยายที่มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ เขายังเป็นบรรณาธิการ เป็นกัปตันทีมที่มีลักษณะผู้นำสูงเป็นตัวของตัวเอง รวบรวมดึงดูดคนเก่ง ๆ    มาทำงานร่วมกันได้มาก เป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนผู้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพระบอบประชาธิปไตยและความเป็นธรรมที่คงเส้นคงวามากที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นนักมนุษยธรรมและชาวพุทธผู้รักสันติภาพความเป็นธรรม

      ช่วงสมัยสงครามโลกเขาครั้งที่สอง เขาได้คัดค้านนโยบายเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นของรัฐบาลจอมพล ป.จนถูกจับกุมคุมขังระยะสั้น ๆ หลังสงครามโลกเขาก็เป็นหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและคัดค้านสงครามเกาหลี จนถูกจับกุมคุมขังข้อหาเป็นขบถเป็นเวลาราวห้าปี พ้นโทษในปี 2500 เขายังเขียนเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และนโยบายเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จนเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารครั้งที่สอง ในปี 2501 และจับกุมคุมขังนักเขียน นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าจำนวนมาก คุณกุหลาบ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเยือนจีนจึงได้ขอลี้ภัยในจีน และอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรม ในปี 2517

      คุณกุหลาบเริ่มทำหนังสือพิมพ์หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์มาตั้งแต่ปี 2472  ช่วงหนุ่มเขาเป็นนักเขียนนวนิยายอัตถนิยมเชิงอุดมคติหลายเรื่อง ที่เด่น ๆ มีอาทิเช่น “ลูกผู้ชาย”  “สงครามชีวิต”  “ข้างหลังภาพ”  งานนวนิยายของเขานอกจากจะเป็นงานประพันธ์อัตถนิยมรุ่นแรก ๆ ที่มีศิลปะในการเขียนในระดับเดียวกับหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงและดอกไม้สดแล้ว ยังมีลักษณะของความคิดเสรีนิยมระดับก้าวหน้า ที่เริ่มตั้งคำถามต่อค่านิยมวิธีประพฤติปฏิบัติของคนในสังคมเมืองที่เขาเห็นว่าล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถือชั้นวรรณะ หรือประเพณีคลุมถุงชน

      นอกจากการเขียนนวนิยายแล้ว คุณกุหลาบยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีอุดมคติ ที่เห็นว่าหนังสือพิมพ์ต้องมีเสรีภาพในการรายงานข่าวข้อเท็จจริง และเสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ความตรงไปตรงมาของเขาทำให้เขาต้องขัดแย้งและยกทีมลาออกจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ บางทีก็ขัดแย้งกับนายทุนหรือผู้จัดการ บางทีก็ถูกบีบจากทางการ อย่างไรก็ตาม ความที่เขามีฝีมือและมีใจรักทางนี้ทำให้เขาคงยึดติดอาชีพนี้มาตลอด และเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่สนใจในการศึกษาหาความรู้อยู่ไม่เคยหยุดนิ่ง นอกจากคุณกุหลาบจะเป็นนักอ่านเป็นนักศึกษาด้วยตนเองแล้ว เขายังไปเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองจนได้ธรรมศาสตร์บัณฑิต และช่วงปี 2490-2492  ก็ได้ไปศึกษาวิชาการเมืองที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียด้วย

      เมื่อจอมพล ป.ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก (2484) และมีแนวโน้มที่จะเป็นเผด็จการมากขึ้น คุณกุหลาบได้เขียนคัดค้านมาตลอด (หนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติ (2575) ) และเมื่อจอมพล ป.ร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร คุณกุหลาบก็คัดค้าน จนถูกจับกุมคุมขัง หลังสงคราม เขาเขียนหนังสือ ทำหนังสือ เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย และพัฒนาความคิดความอ่านของคนอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลียราวปีเศษ ๆ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงที่ความคิด และขบวนการของพวกสังคมนิยมกำลังเติบโต ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งในออสเตรเลียและไทย คุณกุหลาบซึ่งมีความคิดในเชิงรักความเป็นธรรมอยู่แล้วได้สนใจศึกษาสังคมนิยมอย่างจริงจังในช่วงนี้

      เมื่อคุณกุหลาบกลับจากออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ได้จังหวะพอดีกับที่ คุณสุภา ศิริมานนท์  ซึ่งกลับมาจากการทำงานสถานทูตไทยในยุโรป เริ่มออกนิตยสาร อักษรสาส์น รายเดือน  ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับปัญญาชนก้าวหน้าที่กำลังเริ่มเติบโตในสมัยนั้น คุณกุหลาบได้ช่วยแปลและช่วยเขียนปรัชญาและการเมืองเกี่ยวกับสังคมนิยมลงไปในอักษรสาส์นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นก็ได้แปลวรรณกรรมและเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย ที่เป็นแนววรรณกรรมเพื่อชีวิต วิพากษ์วิจารณ์ความไม่เสมอภาค การเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นสูง ความล้าสมัยของสังคมเก่า และเชิดชูความสำคัญของประชาชนที่ยากจน ที่ต้องทำงานหนัก แต่ได้ผลตอบแทนและการยอมรับน้อย

      ช่วงปี 2494 – 2495  ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป.สนับสนุนนโยบายสหรัฐในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมือง คุณกุหลาบได้ร่วมมือกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนคนอื่น ๆ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพ เคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ และคัดค้านสงครามเกาหลี รวมทั้งยังได้เป็นผู้รวบรวมสิ่งของที่คนบริจาคช่วยเหลือชาวอีสานที่ประสบภัยแห้งแล้ง รัฐบาลได้จับกุม คุณกุหลาบ ปัญญาชนและชาวบ้านจำนวนหลายสิบคนในข้อหากบฎ ต้องถูกคุมขังอยู่เป็นเวลาประมาณห้าปี กว่าที่จะได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาลในช่วงปี 2500

      ในช่วงปี 2495 – 2500  คุณกุหลาบถูกจับกุมคุมขังร่วมกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าจำนวนมาก คุณกุหลาบคงเขียนหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนิยาย เรื่องแปลและบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาสนใจและตีความในเชิงก้าวหน้า นิยายชิ้นที่สำคัญคือ “แลไปข้างหน้า” ที่เขียนไม่จบ แต่ก็มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ในตัวเอง  (ได้รับคัดเลือกจากคณะนักวิจัยสกว. ในปี 2541 ให้เป็นหนังสือดี 1 ใน 100 ที่คนไทยควรอ่าน รวมทั้งหนังสือเรื่อง เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475)

      หลังจากได้รับนิรโทษกรรม คุณกุหลาบก็นั่งเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน และต่อมาก็ได้รับเชิญในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้มีชื่อเสียงไปเยือนโซเวียตรัสเซีย และจีน ตามลำดับ ช่วงปี 2500-2501  เป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ได้ทำรัฐประหารขึ้นมามีอำนาจแทนจอมพล ป.  จอมพลสฤษดิ์ช่วงแรกยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน ปัญญาชนก้าวหน้า เช่นคุณกุหลาบ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเป็นกลางคบกับทุกฝ่าย และสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารครั้งที่สองในปลายปี 2501  จอมพลสฤษดิ์เลือกตามสหรัฐและหันมาปราบปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าอย่างหนัก

      ขณะที่ปัญญาชนก้าวหน้าถูกจับกุมอย่างขนานใหญ่ คุณกุหลาบอยู่ในระหว่างการเยือนจีนอยู่ คุณกุหลาบผู้รักเสรีภาพ และไม่ต้องการเสียเวลาในคุกของเผด็จการอีก ตัดสินใจที่จะขอลี้ภัยอยู่ในจีน และได้อยู่ที่นั่นต่อมา จนถึงแก่กรรมในปี 2517  เขาต้องอยู่ “ในยามเนรเทศ” (ชื่อหนังสือแปลเล่มหนึ่งของเขา) ตกค้างอยู่ในจีนถึง 16 ปี โดยที่ไม่ปรากฏว่าได้ทำงานเขียนหนังสือต่อแต่อย่างใด คุณชนิดภรรยาของเขาซึ่งเป็นนักแปลวรรณกรรม (ใช้นามแฝงว่าจูเลียต) ได้เล่าว่าเป็นเพราะคุณกุหลาบอยู่ห่างไกลข้อมูลและเขาไม่อยากเขียนอะไรจนกว่าจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนแน่นอน เหตุผลอาจจะมีมากกว่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เรายังรับรู้ไปไม่ถึง แต่ก็ยังมีงานบันทึก และบทกลอนที่เขาเขียนให้กับเหตุการณ์ 14  ตุลาคม  2516  ซึ่งตอนแรกที่เขาเผยแพร่ไม่ได้ระบุว่าใครเขียน

      การทำรัฐประหารยกเลิกประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จับกุมคุมขังปัญญาชนก้าวหน้าอย่างขนานใหญ่ ของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2501  เป็นการทำลายความเติบโตทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย หนังสือก้าวหน้าถูกห้ามพิมพ์เผยแพร่ นักคิดนักเขียนก้าวหน้าถ้าไม่ถูกจับ ก็อยู่ในต่างประเทศ หรือเลิกอาชีพเขียนหนังสือทำหนังสือกันไปหมด งานเขียนของคุณกุหลาบช่วงหลังปี 2490  ซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะก้าวหน้าวิพากษ์วิจารณ์สูงถูกรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ปิดกั้นไม่ให้เผยแพร่ จึงไม่มีหนังสือแนวก้าวหน้าของคุณกุหลาบและนักเขียนคนอื่น ๆ ที่ห้องสมุดและไม่มีใครกล้าพิมพ์ใหม่ จะมีก็เฉพาะแต่นิยายยุคแรก ๆ ซึ่งออกไปทางโรแมนติก หรือเชิงอุดมคติที่ไม่ได้วิจารณ์สังคมอย่างก้าวหน้าหรือโดยตรงนัก

      อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของคุณกุหลาบ ทั้งในฐานะนักประพันธ์เอกและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีอุดมคติก็เป็นตำนานที่นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรุ่นน้องและรุ่นลูกศิษย์เล่าขานต่อ ๆ กันมาอยู่เสมอ และในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  เมื่อบรรยากาศทางการเมืองมีเสรีภาพมากขึ้น งานของคุณกุหลาบและนักเขียนก้าวหน้าคนอื่น ๆ ก็ได้ถูกรื้อฟื้นนำมาตีพิมพ์ใหม่ และได้รับการต้อนรับจากปัญญาชนรุ่นใหม่อย่างกระตือรือร้น งานบางชิ้นเช่น “จนกว่าเราจะพบกันอีก” และ   “แลไปข้างหน้า”  รวมเรื่องสั้นและหรือ เรื่องสั้นเด่น ๆ บางเรื่องพิมพ์ซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

      ประวัติชีวิตและงานของเขาได้มีคนนำมาเขียนถึงและพูดถึง ไม่แต่เพียงในแง่ของผู้มีผลงานเขียนที่ดีเด่นทั้งในแง่เนื้อหาและศิลปะเท่านั้น หากยังรวมทั้งในแง่ของคนที่ใช้ชีวิตเป็นปัญญาชนแบบอย่าง คือเป็นคนที่มีนิสัยดี โอบอ้อมอารี รักความเป็นธรรม และเป็น “สุภาพบุรุษ” ในความหมายที่ก้าวหน้าคือเป็นคนดี คนสุภาพ นับถือและเห็นใจคนสามัญอย่างจริงใจ (สุภาพบุรุษคือชื่อกลุ่มนักเขียนที่เขามีส่วนก่อตั้งในช่วงทศวรรษ 2470  และภายหลังใช้เป็นชื่อสำนักพิมพ์ด้วย)

      แม้กระนั้นก็ตาม กล่าวโดยส่วนรวมแล้ว งานของคุณกุหลาบก็ยังไม่สามารถเผยแพร่ได้อย่างอิสระเท่าที่ควร เพื่อเทียบกับนักเขียนรุ่นราวใกล้เคียงกันอย่าง มรว.คึกฤทธิ์  ปราโมช งานของเขาถูกเซ็นเซอร์ พิมพ์และเผยแพร่ไม่ได้ในบางช่วง รวมทั้งเขาต้องอยู่ในสภาพผู้ลี้ภัย หยุดเขียนหนังสือในช่วงปี 2501-2517  พวกปัญญาชนที่มีทัศนะไปทางจารีตนิยมก็มักไม่ค่อยสนใจ หรือยอมรับงานของเขา หรือบางคนที่มีทัศนะมาทางเสรีนิยมหน่อย ก็อาจยอมรับเฉพาะงานนิยายเชิงโรแมนติกยุคก่อนปี 2490 และไม่ยอมรับงานเขียนที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงก้าวหน้าหลังจากนั้น  โดยอ้างว่าเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อแบบพวกฝ่ายซ้ายที่ไม่มีศิลปะลึกซึ้ง

      กระทรวงศึกษาไม่ยอมรับให้งานของศรีบูรพาเป็นบทเรียนสำหรับวิชาวรรณกรรมสมัยใหม่ ปัญญาชนรุ่นหลังอย่าง ส.ศิวรักษ์(2475- ) ซึ่งเติบโตมาในแวดวงของคนชั้นกลางที่จารีตนิยม ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นหนอนหนังสือ แต่ปรากฎว่าไม่เคยอ่านงานของคุณกุหลาบ และพวกนักเขียนก้าวหน้ายุคหลังสงครามแต่อย่างใด  ส.ศิวรักษ์ เพิ่งมายอมรับปรีดี พนมยงค์  คุณกุหลาบ และนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าอื่น ๆ ก็ในสมัยหลัง (จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคมปี  2519)  เท่านั้น

      ถ้าเราจะเปรียบเทียบระหว่างคุณกุหลาบ กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใกล้กัน(คุณกุหลาบอายุมากกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ 6 ปี)  ตลอดจนมีสติปัญญาความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และเขียนในระดับที่ไม่ห่างกันนัก เราจะพบว่าคุณกุหลาบกลับเป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปในยุคหลังปี 2501 น้อยกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หลายเท่าเพราะมรว.คึกฤทธิ์  ปราโมช มีโอกาสเผยแพร่ผลงานได้มากกว่า ความจริงข้อนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของรัฐที่อยู่ในอำนาจของคนกลุ่มน้อยว่าสามารถที่จะจำกัดหรือเซ็นเซอร์งานเขียนและพูดที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ แสวงหาความจริงที่ท้าทายความชอบธรรมของระบบที่ดำรงอยู่อย่างงานของคุณกุหลาบ และนักเขียนก้าวหน้าคนอื่น ๆ ได้อย่างมีอิทธิพล ถ้าหากคุณกุหลาบไม่ถูกสถานการณ์ทางการเมืองบีบบังคับให้ต้องอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี 2501   งานของเขาจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่านี้ รวมทั้งเขาเองก็อาจจะผลิตผลงานใหม่ ๆ ได้อีกมาก ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าบทบาทของปัญญาชนทั้งในฐานะเอกชนและกลุ่มคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเขาเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมในแต่ละช่วง โดยเฉพาะบทบาทของชนชั้นสูงที่ครอบงำอำนาจรัฐและเครื่องมือในการเผยแพร่ความคิดอุดมการณ์ค่อนข้างมาก การจะศึกษาทำความเข้าใจเรื่องบทบาทของนักคิดนักเขียนปัญญาชนในสังคมไทยได้อย่างถ่องแท้ จึงจะต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องของรัฐและการครอบงำทางอุดมการณ์ควบคู่กันไปด้วย

      ในขณะที่ปัญญาชนจารีตนิยม หรือแม้แต่เสรีนิยมจะมองคุณกุหลาบในฐานะที่เป็นนักเขียนที่ผูกพันกับอุดมการณ์ทางการเมืองหรือเป็นพวกซ้าย ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันดูจะมองคุณกุหลาบด้วยความเข้าใจมากกว่า คุณสุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์รุ่นน้องคุณกุหลาบที่เป็นนักศึกษามาร์กซิสม์คนสำคัญ เคยวิจารณ์ให้ผู้เขียนฟังว่า คุณกุหลาบ “เป็นบุดดิสท์(ชาวพุทธ) มากกว่ามาร์กซิสม์ เป็นผู้รายงานสภาพ ผู้ส่องไฟมากกว่านักปฏิวัติ เพราะนิสัยไม่ให้”  อย่างไรก็ตาม ในบางบทความ คุณสุภา ก็กล่าวถึงคุณกุหลาบในฐานะนักปฏิวัติ คือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากถึงโคน แม้จะไม่ถึงขั้นเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ตาม

      ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม คุณกุหลาบก็ยังจะมีผลงานและชื่อเสียงปรากฎอยู่ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนคนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่เขียนนิยาย เรื่องสั้นที่ดีเด่น หลายชิ้นที่ทิ้งรอยไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น  หากเขายังเป็น “ลูกผู้ชาย” และ “สุภาพบุรุษ” ผู้พยายามทำตามอุดมคติความรักในเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ความเป็นมนุษย์อย่างคงเส้นคงวา ตลอดชั่วชีวิตของเขาด้วย. 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

บรรณานุกรม 

หนังสือที่เขียนโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว

  • การเมืองของประชาชน  สุภาพบุรุษ, 2500  (เปลี่ยนชื่อเป็น อดีตที่เป็นบทเรียน)  กลุ่มแสงเทียน, 2522
  • กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ  โดย เฟรด เดอริกส์ เองเกลส : พี.พี.  2521
  • ขอแรงหน่อยเถอะ  ศรีบูรพา  ดอกหญ้า 2530
  • ข้อคิดเห็นเกี่วกับฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ : ไม่ปรากฎที่พิมพ์
  • ข้างหลังภาพ : ดอกหญ้า,  2529
  • ข้าพเจ้าได้เห็นมา : เกวียนทอง, 2500
  • เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร เล่ม 1-2 : ชมรมนิติศึกษา คณะนิติศาสตร์, 2517
  • โครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก  ศรีบูรพากับบทประพันธ์ 4 เรื่อง  ดอกหญ้า 2528 
  • เรื่องของเขา ศรีบูรพากับบทประพันธ์ในบรรณพิภพ   ดอกหญ้า 2524
  • จนกว่าเราจะพบกันอีก  : ดอกหญ้า, 2532
  • เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 : ไทยพานิช, 2490
  • (ร่วมกับคนอื่น ๆ) ประวัติศาสตร์สตรีไทย : ชมรมหนังสือ แสงดาว, 2510
  • ปรัชญามาร์กซิสม์ : อักษรสาส์น (เมษายน 2492 – สิงหาคม 2495)
  • ปราบพยศ : ดอกหญ้า, 2529
  • ป่าในชีวิต : ดอกหญ้า, 2531
  • มารมนุษย์ : ดอกหญ้า, 2529
  • รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิต : สโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มช., 2517
  • แม่ (แปลจาก Mother ของ แม็กซิม กอร์กี้) : บุษบาบรรณ, 2501
  • ระเบียบสังคมมนุษย์ : พี.พี,  2521
  • ลูกผู้ชาย : ดอกหญ้า, 2529
  • แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย : ดอกหญ้า, 2531
  • แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ดอกหญ้า, 2531
  • ศรีบูรพากับบทประพันธ์ 4 เรื่อง : ดอกหญ้า, 2528
  • สงครามชีวิต : ดอกหญ้า, 2529
  • สนทนาเรื่องพุทธศาสนาและอุดมธรรม : ชมรมพุทธรักษา, 2522
  • นิพนธสาร ศรีบูรพา  กุหลาบ สายประดิษฐ์ เล่ม 1-2  สมบัติ  จำปาเงินรวบรวม  ดอกหญ้า
  • หนังสือเกี่ยวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ และหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จรัส รจนาวรรณ  ชีวิตการต่อสู้ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ กลุ่มเผยแพร่สัจธรรม, 2517

ตรีศิลป์ บุญขจร นวนิยายกับสังคมไทย : สร้างสรรค์, 2523

บรรจง  บรรเจิดศิลป์ ศิลปวรรณคดีกับชีวิต, 2500

บุญเหลือ เทพยสุวรรณ   วิเคราะห์รสวรรณคดีไทย, 2517

ประกาศ วัชราภรณ์ สุภาพบุรุษนักประพันธ์  ดอกหญ้า,  2531

พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม   บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย  ไทยวัฒนาพานิช, 2518

ยศ วัชรเสถียร  กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศรีบูรพาที่ข้าพเจ้ารู้จัก  อาร์ต แอนด์ ซายน์, 2525

รวมจดหมายโต้ตอบระหว่างท่านพุทธทาสภิกขุกับศรีบูรพา  ปาจารยสาร

รุ่งวิทยุ  สุวรรณอภิชน     ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย  พิมพ์ครั้งที่ 2 แสงดาว,  2522

โลกหนังสือ  ปีที่ 2  ฉบับที่ 2 พฤศจิกายน, 2531

วารสารกองทุนศรีบูรพา  วันนักเขียน 5 พฤษภาคม

วิทยากร    เชียงกูล ศึกษาบทบาทและความคิดของศรีบูรพา  ชนนิยม,2532

                  การเมืองภาคประชาชนมุมมองจากชีวิตและงานของศรีบูรพา  มิ่งมิตร 2544

  •  
    •  
        สุกัญญา  ตีระวณิช หนังสือพิมพ์ไทย จากปฏิวัติ 2475 สู่ปฏิวัติ 2516  กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2526
  •  
    •  
        สุทิน  กัลยพฤกษ์ ศรีบูรพาในฐานะนักมนุษยธรรม ปริญญานิพนธ์ การศึกษามหาบัณฑิต มศว., 2524
  •  
    •  
        สุพจน์ ด่านตระกูล เล่าเรื่องขบวนการกู้ชาติ,  2522
  •  
    •  
        สุวิมล รุ่งเจริญ บทบาทของนักหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ.2490-2501, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2526
  •  
    •  
        เสถียร จันทิมาธร สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของคนไทย : เจ้าพระยา,  2525
  •  
    •  
        สำนักช่างวรรณกรรมและบ้านศรีบูรพา นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย  อนุสรณ์ 96 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ 2544
  •  
    •  
        Benjamin A. Bastson “Kulab Saipradit and the War of Life” in the Journal of Siam Society Vol. 69-1981 : P.58-73.
 

“ลูกผู้ชาย” ชื่อกุหลาบ


“ลูกผู้ชาย”  ชื่อกุหลาบ 

      คุณกุหลาบเกิดในปลายสมัยรัชกาลที่ 5  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2448  ที่กรุงเทพฯ ปีนั้นคือปีที่เทียนวรรณ (2385-2458) นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนแรก ๆ ของไทย ได้ประกาศเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อที่ประเทศจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในบังคับของประเทศอาณานิคม

      พ่อคุณกุหลาบเป็นเสมียนเอก กรมรถไฟ ชาวกรุงเทพฯ แม่มีเชื้อสายชาวนา มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี และมาอยู่กับญาติที่เป็นพนักงานที่วังสวนกุหลาบ คุณกุหลาบเป็นลูกคนสุดท้อง มีพี่สาวหนึ่งคน พ่อคุณกุหลาบเสียชีวิตตั้งแต่คุณกุหลาบอายุได้ 6 ขวบ แม่คุณกุหลาบเปิดร้านเย็บเสื้อผ้าที่บ้านเช่า พี่สาวเล่นละครรำและละครพูดหาเงินช่วยทางบ้านและส่งเสียให้คุณกุหลาบได้เรียนหนังสือ  คุณกุหลาบเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง และไปเรียนต่อที่โรงเรียนทหารเด็ก ซึ่งสอนวิชาทั่วไปด้วย อยู่ 2 ปี จากนั้นได้ไปเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมแปด (การศึกษาสมัยนั้นแบ่งเป็นประถม 4 ปี มัธยม 8 ปี)

      ถึงแม้ว่าคุณกุหลาบจะไม่ได้มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างจน แต่ก็นับว่ามีจังหวะชีวิตที่ดี ที่เกิดในกรุงเทพฯ และทางครอบครัวก็คงเอาใจใส่ในเรื่องให้ลูกได้รับการศึกษา จึงมีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐบาลชั้นดีถึงชั้นมัธยมแปด ซึ่งจัดว่าเป็นการศึกษาชั้นสูงในสมัยนั้น (ทั้งประเทศเพิ่งมีมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรับนิสิตได้จำกัด) ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์นี้นอกจากคุณกุหลาบจะได้เรียนวิชาสามัญและวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่เขาจะได้เป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ในโอกาสต่อไปแล้ว  เขายังได้พบเพื่อนดี ๆ และครูดี ๆ บางคน ซึ่งมีส่วนทำให้เขารักหนังสือ รักความรู้ ความก้าวหน้า มนุษยธรรมและประชาธิปไตยในเวลาต่อมาอีกด้วย เพื่อนร่วมรุ่นของเขาได้เติบโตขึ้นมาเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้มีชื่อเสียงหลายคน อาทิเช่น ม.จ.อากาศดำเกิง(2488-2475) สด กูรมะโรหิต(2451-2521) โชติ แพรพันธ์ หรือยาขอบ (2450-2499)

      คุณกุหลาบ ไม่ได้เขียนหรือเล่าถึงชีวิตของตัวเองในวัยเด็กมากนัก แต่งานนวนิยายที่เขียนขึ้นภายหลังอย่าง “แลไปข้างหน้า” ก็สะท้อนอย่างอ้อม ๆ ถึงชีวิตสมัยที่เขาเป็นเด็กนักเรียนมัธยม ในสมัยนั้นยังเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความคิดความเชื่อในเรื่องความแตกต่างของมนุษย์มาตั้งแต่ชาติกำเนิดยังมีอิทธิพลสูง แม้ความจำเป็นของการปรับตัวให้ทันสมัยแบบตะวันตกทำให้รัฐบาลเจ้า ต้องสร้างโรงเรียนรัฐบาลแบบเทพศิรินทร์ สวนกุหลาบ ที่เปิดให้คนสามัญมาเรียนร่วมกับพวกลูกเจ้าและขุนนางได้ แต่ก็ยังมีกฎระเบียบเรื่องห้ามลูกไพร่ไปเล่นรวมกับลูกเจ้าอยู่(ยศ วัชรเสถียร  กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศรีบูรพาที่ข้าพเจ้ารู้จัก 2525:35)  ดังนั้นสังคมในโรงเรียนเองก็สะท้อนถึงสังคมภายนอกที่ยังมีการแบ่งชั้นวรรณะอยู่ด้วย

      คุณกุหลาบหัดเขียนหนังสือ ทำหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม เช่นเขียนกลอนเรื่อง “แจวเรือจ้าง” ลงในหนังสือแถลงการณ์เทพศิรินทร์ และขณะเรียนชั้นมัธยมเจ็ด ในปี 2467 ก็ได้ไปฝึกเขียนหนังสือกับครูโกศล โกมลจันทร์ ซึ่งเป็นนักประพันธ์มีชื่อในสมัยนั้น ที่สำนักงานรวมการแปล โดยได้ช่วยทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษตอนค่ำที่โรงเรียน “รวมการสอน” ซึ่งอยู่รวมกับสำนักรวมการแปล เหตุที่ไปทำงานที่นั้นแม้จะไม่ได้สตางค์ใช้มากนัก เพราะมุ่งหวังจะฝึกการเขียนหนังสือ ทำหนังสือเป็นอาชีพ และเขียนหนังสือส่งไปลงที่ต่าง ๆ

      ที่สำนักนี้มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่สนใจอยากเป็นนักประพันธ์มาเรียนและทำงานร่วมกันหลายคน อาทิ มาลัย ชูพินิจ จรัญ วธาทิตย์  ชะเอม อันตรเสน นามปากกา “ศรีบูรพา” ก็เกิดขึ้นที่นี่ ตามรอยของเจ้าสำนัก ครูโกศล ซึ่งใช้นามปากกาว่า “ศรีเงินยวง” และหลายคนก็ใช้นามปากกาซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่าศรี (ศิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความงาม) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้มาตั้งแต่ที่รัชกาลที่หก ทรงใช้พระนามแฝงว่า “ศรีอยุธยา” คุณกุหลาบใช้นามแฝงว่า “ศรีบูรพา” ซึ่งมีความหมายกว้างไกล หมายถึง สิริมงคลหรือความรุ่งเรืองแห่งภูมิภาคตะวันออกทั้งภูมิภาค พวกเขาได้ช่วยกันทำนิตยสาร “สารสหาย” แต่อยู่ได้ไม่นาน โรงเรียนรวมการสอนเองในที่สุดก็ต้องหยุดกิจการ เพราะเก็บเงินค่าเล่าเรียนไม่ค่อยได้

      คุณกุหลาบเองเคยไปเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่กระทรวงยุติธรรมอยู่พักหนึ่ง แต่พบว่าแห้งแล้ง ไม่มีเสน่ห์ เลยออกมาทำหนังสือ (รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ในจรัส รจนาวรรณ  ชีวิตการต่อสู้ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ 2517,  โลกหนังสือ พฤศจิกายน 2531)

คณะสุภาพบุรุษ

      ในปี 2470 หลังจากที่จบชั้นมัธยมแปดมาได้ 2 ปี คุณกุหลาบได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสาร เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนังสือของโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่ทำสำหรับคนอ่านทั่วไป ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นี่ก็ได้พบท่าทีวางเขื่องของนายทหารสมัยนั้นต่อผู้ทำงานที่เป็นพลเรือน รวมทั้งคุณกุหลาบไม่สามารถที่จะได้รับการเพิ่มเงินเดือนเกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้สำหรับพลเรือน คุณกุหลาบจึงลาออก ไปสมัครสอบทำงานเป็นผู้ช่วยที่กรมแผนที่ สอบได้ที่หนึ่งแต่ถูกกีดกันและเล่นพรรคพวก โดยการถูกเจ้าหน้าที่กรมแผ่นที่แกล้งต่อรองลดเงินเดือน จะให้คุณกุหลาบได้รับเงินเดือนต่ำกว่าที่ประกาศไว้แต่แรก คุณกุหลาบปฏิเสธการต่อรองดังกล่าว และตั้งแต่นั้นมาคุณกุหลาบก็ไม่คิดจะทำราชการอีก (ชนิด สายประดิษฐ์ “บันทึกชีวิต และงานของกุหลาบฯ” โลกหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พฤศจิกายน 2521)

      ปี พ.ศ.2471 คุณกุหลาบได้เขียนนิยายออกมา 3 เรื่อง คือ ปราบพยศ มารมนุษย์ และลูกผู้ชาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นทรรศนะในเชิงเสรีนิยม และมนุษยธรรมของเขาที่แตกต่างไปจากทรรศนะแบบศักดินาที่ครอบงำสังคมอยู่ในเวลานั้น เช่น การมองว่าชาติกำเนิดไม่สำคัญเท่ากับความเพียรพยายามหรือคุณสมบัติภายใน หรือพฤติกรรมของคนแต่ละคน ลูกผู้ชายหรือสุภาพบุรุษ คือคนที่มีคุณธรรม รู้จักเสียสละ อยู่ข้างความยุติธรรม ความดีงาม คนหนุ่มสาวควรมีเสรีภาพที่จะรักและเลือกคาครอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่จัดหาให้แบบคลุมถุงชน

      ปี พ.ศ.2472 คุณกุหลาบรวบรวมเพื่อนฝูงที่ชอบงานประพันธ์งานหนังสือพิมพ์ ตั้งเป็นคณะ”สุภาพบุรุษ” และออกหนังสือรายปักษ์ชื่อ “สุภาพบุรุษ” โดยการรวบรวมเงินทุนมาทำกันเอง เพราะในสมัยนั้นการลงทุนทำหนังสือประเภทนิตยสารไม่ต้องลงทุนสูงนัก ผู้ก่อการ คณะสุภาพบุรุษส่วนใหญ่จบมาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่ก็รวมทั้งพวกที่จบมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบด้วยมีราว 10 คน อาทิ มาลัย ชูพินิจ อบ ไชยวสุ  โชติ แพร่พันธ์ สนิท เจริญรัฐ  จรัล วุธาทิตย์ นอกจากนั้นก็ไปติดต่อของเรื่องจากนักเขียนในสมัยนั้น อาทิเช่น ชิด บูรทัต  สถิต เสมานิล โพยม โรจนวิภาต พัฒน์ เนตรรังษี ฉุน ประภาวิวัฒน์ ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มนักเขียนที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้นิตยสารสุภาพบุรุษซึ่งพิมพ์ 3,000 ฉบับขายเกลี้ยง ต้องเพิ่มจำนวนพิมพ์เป็น 5,000 ฉบับ ซึ่งถ้าหากความทรงจำเรื่องตัวเลขของผู้เล่าไม่ผิดพลาด(คุยกับ ร.วุธาทิตย์ โลกหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พฤศจิกายน 2521) ต้องนับว่าเป็นจำนวนมากสำหรับสังคมไทยในปี พ.ศ.2472 ที่มีประชากรทั้งประเทศเพียงสิบกว่าล้านคน และมีคนอ่านออกเขียนได้เพียงร้อยละ 5  แต่คนที่อ่านออกเขียนได้ในยุคนั้นมีความตื่นตัวเรื่องการอ่านและใฝ่รู้มากกว่าคนไทยยุคปัจจุบันมาก

       หนังสือ สุภาพบุรุษ ได้ริเริ่มประกาศรับซื้อเรื่องจากนักประพันธ์ โดยมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ให้หันจากการเขียนเล่น ๆ มาเป็นงาน และเป็นการชักชวนให้ผู้แต่งรู้สึกว่าได้มีการตั้งต้นขึ้นแล้วสำหรับอาชีพนักประพันธ์ (สุภาพบุรุษ 1 มิถุนายน 2472) ซึ่งนับว่าคุณกุหลาบและพรรคพวกเป็นกลุ่มที่เห็นการณ์ไกลและเอาจริงเอาจังกับเรื่องหนังสือมาก เพราะสมัยนั้นคนยังอ่านหนังสือน้อยและไม่ค่อยจะมีสตางค์ซื้อหนังสือ คนที่มาเป็นนักเขียน มาด้วยใจรัก อยากเขียนมากกว่าจะหวังค่าตอบแทนจากการเขียน  คณะสุภาพบุรุษเป็นปัญญาชนกลุ่มที่มีความคิดไปในทางชาตินิยมและเสรีนิยม คัดค้านการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เช่น การควบคุมหนังสือพิมพ์ คำว่า “สุภาพบุรุษ” มีนัยหมายถึงคนที่สุภาพทำความดีเพื่อผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสามัญสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมาจากคนที่มีชาติตระกูลสูงแบบ“ผู้ดี”

      นอกจากการเกิดขึ้นของหนังสือและนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษแล้ว ปี 2472 ยังเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของพัฒนาการวรรณกรรมไทย ซึ่งได้ก้าวจากการดัดแปลง จากนิยายต่างประเทศประเภทเรื่องรัก หรือเรื่องตื่นเต้นโลดโผน มาเป็นการแต่งเรื่องเองที่มลักษณะสมจริงสมจังมากขึ้น นอกจากนิยายเรื่อง “ลูกผู้ชาย” ของคุณกุหลาบที่ออกมาในปี 2472 แล้ว ก็มีงานที่สำคัญอีก 2 ชิ้น ออกมาในปีเดียวกัน คือ “ละครแห่งชีวิต” ของ ม.จ.อากาศดำเกิง(2443-2475) และ”ศัตรูของเจ้าหล่อน” ของดอกไม้สด (ม.ล.บุปผา กุญชร 2448-2506)  ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นนิยายประเภทสมจริงที่เริ่มสะท้อนสังคมไทยรุ่นแรก (ตรีศิลป์ บุญขจร นวนิยายกับสังคมไทย 2475-2500 สร้างสรรค์ 2523)

      โดยเฉพาะเรื่อง”ละครแห่งชีวิต” ซึ่งเป็นหนังสือขายดีนับพันเล่มที่ฮือฮาในยุคนั้น (พิมพ์ปกแข็งขายราคา 2.50 บาท เทียบกับข้าวสารกระสอบละ 3 บาท) ได้มีอิทธิพลผลักดันให้คนหนุ่มสาวเปลี่ยนเข็มจากการเรียนเพื่อประกอบอาชีพอื่น มาเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนที่มีบทบาทต่อสังคมในเวลาต่อมาจำนวนมาก

      อย่างไรก็ตาม หนังสือสุภาพบุรุษออกอยู่ได้ประมาณ 9 เดือนก็เลิกล้มไป เนื่องจากเก็บค่าขายหนังสือได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สมัยนั้นการจัดจำหน่ายหนังสือยังมีข้อจำกัดอยู่มาก มีร้านขายน้อยการเก็บเงินทำได้ลำบาก คุณกุหลาบ ซึ่งเริ่มสนใจการเมืองไปทำนิตยสารชื่อ ผู้นำ อยู่พักหนึ่ง และก็ไปทำหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ซึ่งมีคนอื่นเคยทำมาก่อนแล้ว แต่อยู่ในฐานะทรุดโทรม คุณกุหลาบและเพื่อนในคณะสุภาพบุรุษเข้าไปปรับปรุงให้ดีขึ้น มีการลงนิยายที่คุณกุหลาบเขียน และหนังสือพิมพ์ขายกระเตื้องขึ้น แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือน กองบรรณาธิการก็เกิดขัดแย้งกับนายทุน เพราะการลงข่าวพระยาสมบัติบริหารหกล้มหน้าพระที่นั่ง ตอนเข้าถวายเงินก้นถุงกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวในงานแต่งงาน ทำให้เจ้านายกริ้ว คุณกุหลาบถูกเรียกไปซักฟอก ต่อมา(ราวกลางปี 2473) ทั้งคณะเลยลาออกไปทำหนังสือพิมพ์รายวันออกใหม่ชื่อ ไทยใหม่ ซึ่งคุณเอก วีสกุล นักธุรกิจที่เป็นปัญญาชนชอบทางด้านหนังสือคนหนึ่งได้ลงทุนร่วมกับเพื่อน ๆ (“คุยกับโพยม โรจนวิภาต และธนาลัย” ใน โลกหนังสือ เล่มเดิม)

“ตั้งต้นชีวิตใหม่ที่ไทยใหม่”

      หนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ซึ่งมีคำขวัญที่ฟังดูก้าวหน้ามาก “ตั้งต้นชีวิตใหม่โดยอ่านไทยใหม่” เป็นหนังสือพิมพ์สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่มีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาและเรียกร้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่สำคัญฉบับหนึ่ง คือ นอกจากจะลงข่าวและบทความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยในต่างประเทศ เช่น สเปน แล้วก็มักลงบทความเป็นทำนองเสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินให้รับฟังเสียงของราษฎรมากขึ้นอยู่เสมอ ๆ (พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม  บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยฯ  ไทยวัฒนาพานิช 2518)

      บทความที่มีชื่อเสียงและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากคือ บทความเรื่อง”ชีวิตของประเทศ” โดย “ศรทอง” (นามแฝงของพระยาศราภัยพิพัฒน์) และ “มนุษยภาพ” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2474 บทความแรก เป็นการเสนอความเห็นว่าที่ประเทศไม่เจริญเท่าที่ควร เพราะทางราชการไม่ฟังเสียงหนังสือพิมพ์ ไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนอย่างประเทศที่เจริญแล้ว (ศรทอง ชีวิตของประเทศ มิตรนรา 2512)

มนุษยภาพ-การประกาศศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ควรเป็น

      บทความเรื่อง”มนุษยภาพ” เป็นบทความปรัชญาการเมืองที่แหลมคมและมีผลสะเทือนสูง คุณกุหลาบได้เขียนเป็นบทความสั้นสองตอนลงใน ไทยใหม่ ฉบับวันที่ 8 และ 11 ธันวาคม 2474 โดยไม่ได้ใส่ชื่อผู้เขียน มีลักษณะคล้าย ๆ บทนำ บทความนี้พยายามจะอภิปรายว่ามนุษยภาพ หรือความเป็นคนนั้น ควรวางอยู่บนลักษณะอย่างไร เรามีสิทธิ์อย่างไรและควรใช้สิทธิ์นั้นได้ ภายในขอบเขตเท่าใด โดยคุณกุหลาบได้อ้างถึงหนังสือปรัชญาการเมืองของสไมลส์ ที่กล่าวว่า ความจริงและความซื่อตรงจะต้องไปด้วยกันเสมอ กล่าวถึงพลาโต้ โสเครติส ซึ่งนับเป็นบทความที่น่าสนใจมากในปี 2474 ซึ่งสังคมไทยยังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่ได้มีเสรีภาพหรือบรรยากาศของการถกเถียงกันทางภูมิปัญญามากนัก

      คุณกุหลาบเองขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้เป็นเพียงเด็กหนุ่มอายุ 22 ปี และมีพื้นการศึกษาแบบทางการแค่ชั้นมัธยมแปด แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักอ่านและนักคิดนักเขียนที่เฉียบแหลมมาตั้งแต่หนุ่ม จะขอยกบางตอนมาแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศทางภูมิปัญญาของยุคสมัยและความคิดความอ่าน และสำนวนภาษาของคุณกุหลาบในยุคนั้น มาดังนี้

      “ก็พวกเราทั้งหลายที่ได้มีชีวิตอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้ มีอะไรบ้างที่เราควรจะภูมิใจ และขอบใจสิ่งศักดิ์สิทธิที่ได้บันดาลให้เรามาเกิด เราไม่เคยพบสมัยของโสเครดิสหรือคล้ายกับโสเครติสในบ้านเรา เรามีความภูมิใจแต่เพียงนิดหน่อยที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารแสดงว่า เราเป็นไทยแก่ตัว เรามีอิสรภาพทั้งในทางปฏิบัติ และทางความคิดละม้ายคล้ายคลึงกับอิสรชนทั้งหลายในโลก แต่ข้าพเจ้าให้วิตกว่า ในความเป็นไปที่เราได้เผชิญหน้าอยู่ เราได้ทำลายความภูมิใจอันเล็กน้อยนี้เสียแล้ว เราได้ม้วนตัวของเราเข้าไปเป็นทาสความคิดเห็นของผู้อื่น นั่นก็เพราะเหตุอย่างเดียวคือ เราพากันยอมละเสียซึ่งการสู้หน้ากับความเป็นจริง” (ไทยใหม่ 8 ธันวาคม 2474)

      “การโกหกตอแหล การหลอกลวงได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาลและหมู่คนชั้นสูง ดังตัวอย่างที่ได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อคิดว่าอำนาจเป็นสิ่งที่บันดาลความนิยม และอำนาจ ในทุกวันนี้เราหมายกันถึงเงินกับชั้นสูง ฉะนั้นเราจะไม่เตรียมตัวไว้ตกใจกันบ้างหรือว่าวิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลจะแพร่หลายและเป็นที่นิยมกันทั่วไปในบ้านเรา”

      และลงท้ายบทความด้วย “แต่ขอให้เรามาพูดกันด้วยความสัตย์จริงใจเถิดว่า ทุกวันนี้เราพอใจสู้หน้ากับความเป็นจริงกันบ้างหรือเปล่า ข้าพเจ้าเคยพบแต่เราโกหกตัวของเราเองว่า อ๋าย, เจ้าหมอนั่น มันพออดเข้าได้สองมื้อสามมื้อแน่นอนมันพอทนความยากลำบากชนิดนั้นได้ดอกน่ะ ความเดือดร้อนเพียงเท่านั้นไม่เป็นไรสำหรับมัน เรายังไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขอะไรให้มันดีขึ้น ….เรื่อย ๆ ของเราไปก่อนก็ได้ นี่สิโลกจึงไม่มีเวลาสอบได้ ความเจ็บปวดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ระหว่างคนชั้นหนึ่งกับอีกชั้นหนึ่ง จึงได้ปรากฎทั่วไปในประเทศต่าง ๆ การรวมแรงรวมกำลังกันตั้งกันขึ้นเป็นหมู่ เป็นคณะ เป็นสมาคม จึงอุบัติตาม ๆ กันขึ้นมาเพื่อความมุ่งหมายอย่างเดียวที่จะใช้กำลังอันได้รวมกันเข้าดีแล้ว บังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่โกหกตัวเองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง…บังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งสู้หน้ากับความเป็นจริง”  (ไทยใหม่ 11 ธันวาคม 2474)

      บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ซึ่งเป็นเสมือนการเตือนถึงการปฏิวัติ 2475 ซึ่งจะเกิดขึ้นตามมาอีกเพียงไม่กี่เดือน ได้สร้างปฏิกิริยาต่อชนชั้นสูงและปัญญาชนในสมัยนั้นมาก คุณธนวนต์ จาตุประยูร หรือ “ธนาลัย” นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยกับคุณกุหลาบเล่าว่า บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ไม่เป็นที่พอใจของนายทุน ทำให้คุณกุหลาบและคณะลาออก หลังจากที่เข้ามาทำหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ได้เพียงปีเศษ ๆ (โลกหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พฤศจิกายน 2521)

      คุณกุหลาบได้นำบทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ไปปรับปรุงเพิ่มเติม และตีพิมพ์เป็นบทความสั้น 3 ตอน ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 10, 16, 21 มกราคม 2474 (สมัยนั้นปี พ.ศ.ของไทยนับจากวันที่ 1 เดือนเมษายน เป็นต้นปี ดังนั้น มกราคม 2474 จึงตามหลังธันวาคม 2474) ตามลำดับ โดยคราวนี้คุณกุหลาบได้ลงชื่อจริงในฐานะคนเขียนไว้ด้วย โดยเขียนไว้ในส่วนนำว่าเขียนบทความนี้ “ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับฐานะของมนุษย์ให้ได้ระดับอันทุกคนควรจะเป็นได้” บทความนี้นอกจากจะไม่ได้ลดราวาศอกลงแล้ว ยังเขียนวิจารณ์ผู้มีอำนาจเพิ่มเติมอีกคือ

      “บุคคลผู้มีอำนาจอันประกอบขึ้นด้วยชาติ ตระกูล ด้วยยศศักดิ์ หรือด้วยเงินก็ตาม มักพอใจปั้นให้คนทั้งหลายหลงด้วยวาจาอันไพเราะเพราะพริ้งของเขา เขาทำดังนั้นเพื่อประโยชน์ของใคร ข้าพเจ้าไม่อยากตอบ แต่แน่นอนต้องไม่ใช่เพื่อประโยชน์ชาติ จริงอยู่ในสมัยนี้คนโง่ยังมีมาก หรือคนฉลาดที่ไม่เอาธุระของเพื่อนร่วมชาติก็ยังมีอยู่ดาษดื่น ผู้มีอำนาจดังกล่าวแล้วจะดำเนินการพูดเพราะของเขาไปได้โดยราบรื่น แต่ทุกคนย่อมรู้ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มันหมุน และสรรพสิ่งในโลกจะไม่หยุดอยู่กับที่ ฉะนั้นจึงเป็นการแน่นอนที่เขาเหล่านั้นจะต้องพบอุปสรรคในวันหนึ่ง” (ศรีกรุง 21 มกราคม 2474)

      บทความเรื่อง”มนุษยภาพ” ของคุณกุหลาบได้สร้างปฏิกิริยามาก ขณะที่คนชั้นสูงไม่ชอบ แต่ก็มีผู้อ่านซึ่งคงเป็นปัญญาชนในสมัยนั้นได้เขียนบทความไปแสดงความคิดเห็นที่ศรีกรุง จำนวนมาก เช่น ผู้ใช้นามแฝงว่า Radical ได้เขียนวิจารณ์ในเชิงสนับสนุน(ศรีกรุง 26 มกราคม 2474) แต่ไม่ทันได้ลงบทความอื่น ๆ หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ก็ถูกรัฐบาลสั่งปิดและยึดใบอนุญาต ศรีกรุงถูกปิดได้ไม่นาน ภายหลังเจ้าของก็ไปวิ่งเต้นขอเปิดใหม่ได้ ส่วน ไทยใหม่ ที่คุณกุหลาบและคณะยกพวกออกมาเพราะถูกบีบจากทางรัฐบาล หลวงวิจิตรวาทการเข้าไปทำแทนคณะของคุณกุหลาบ (สำเนาบทความเรื่อง”มนุษยภาพ” ผู้เขียนได้รับการอนุเคราะห์จากอาจารย์นครินทร์ เมฆศรีไตรรัตน์)

สงครามชีวิต

      ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น หนังสือพิมพ์ได้มีบทบาทในการให้การศึกษาและเรียกร้องการปฏิรูปแบบประชาธิปไตยอยู่มาก คือ นอกจากหนังสือพิมพ์อย่าง ไทยใหม่ ศรีกรุง แล้วก็ยังมีหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว ไทยหนุ่ม บางกอกการเมือง ฯลฯ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์จัดว่าเป็นปัญญาชนกลุ่มที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น พวกนักปฏิวัติประชาธิปไตยรุ่นแรกคือ ผู้ก่อการ ร.ศ.130 (วางแผนยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 6)  เช่น ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์  ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง ร.ต.บ๋วย บุญยรัตนพันธ์ ซึ่งเป็นรุ่นผู้ใหญ่กว่าคุณกุหลาบก็ได้เข้ามามีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้นก็ยังมีนักคิดนักเขียน เช่น พระสารสาสน์พลขันธ์ (“555”) พระสารสาสน์ประพันธ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะสุภาพบุรุษ ซึ่งมีบทบาทตั้งแต่สมัยเริ่มหนุ่ม

      บทบาทนักคิดนักเขียนต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือเป็นที่รับรู้กันมากนัก เพราะนักวิชาการรุ่นหลังหลายคนเขียนทำนองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลงานของพวกนักเรียนนอก ที่ไปรับเอาความคิดแบบฝรั่งเข้ามาคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบชิงสุกก่อนห่าม ประชาธิปไตยจึงพัฒนาแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ

      ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นคนสำคัญของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเคยเขียนไว้ว่า เมื่อเขากลับมาประเทศไทยในปี 2470 หลังจากที่ไปอยู่ฝรั่งเศสมาเกือบ 7 ปี ก็พบว่าชนรุ่นหนุ่มสมัยนั้นที่ไม่เคยออกไปเห็นระบอบประชาธิปไตยในต่างประเทศ ต่างก็มีความตื่นตัวต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาฯเป็นระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะอิทธิพลที่เขาได้รับจาก “สื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้น” และเพราะเหตุนั้นนายปรีดีและพวกจำนวนน้อยที่กลับมาจากยุโรป “จึงไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการอยู่แล้ว” (ปรีดี พนมยงค์ บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรฯ  นิติเวชช์ 2515)

      ในส่วนของคุณกุหลาบ เคยได้รับการชักชวนทาบทามให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วย แต่ได้ปฏิเสธเพราะต้องการเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นกลางมากกว่าจะฝักใฝ่ฝ่ายใด และหลังจากนั้นก็ไม่เคยเข้าสังกัดพรรคการเมืองไหน คุณกุหลาบจึงเป็นคนที่มีบทบาททางการเมืองภาคประชาชนคนแรก ๆ คนหนึ่ง

      นอกจากจะเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนบทความแล้ว คุณกุหลาบเขียนนิยายออกมาหลายเล่ม ในช่วงปี 2471-2475 เล่มที่เด่นที่สุดคือเรื่อง “สงครามชีวิต” พิมพ์ครั้งแรก 2475 ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน ไม่นานนัก นิยายเรื่องนี้ที่ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากเรื่อง”คนจน” ของ ดอสโตเยฟสกี้ นักเขียนรัสเซียสมัยก่อนการปฏิวัติใหญ่ เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นสภาพความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และค่านิยมของคนในสังคมไทยสมัยนั้น ซึ่งยกย่องคนมีเงิน มีอำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ได้อย่างแจ่มชัดและมีศิลปะ รวมทั้งเป็นงานที่มีลักษณะก้าวหน้าเชิงอุดมคติแหวกไปจากนิยายโรแมนติกหรือนิยายแบบสนุกโลดโผน ที่เป็นที่นิยมเขียนกันในสมัยนั้น

      สงครามชีวิต เป็นนิยายที่จับใจคนหนุ่มสาวในยุคนั้นอย่าง เสนีย์ เสาวพงศ์, สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร), เจือ สตะเวทิน (อ้างไว้ในเสถียร จันทิมาธร สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย  เจ้าพระยา 2525 หน้า 164-165) คุณสุภา ศิริมานนท์ ถือว่าเป็นนิยายที่สำคัญเรื่องแรกของศรีบูรพา สงครามชีวิตได้ส่งผลสะท้อนทางความคิดต่อคนหนุ่มสาวรุ่นต่อมาอีกหลายรุ่น

      “สงครามชีวิต” เป็นเรื่องของระพินทร์ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้ยากจน แต่มีอุดมคติ และมีมนุษยธรรม เขาเคยคับแค้นต่อความยากจน ถึงเกือบจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อได้เห็นขอทานที่จนกว่าและยังต่อสู้กับชีวิตก็เลยได้คิดว่าตนยังหนุ่มแน่น และรวยมากกว่าขอทาน เขาจึงต่อสู้กับชีวิตต่อ และฝันที่จะเป็นนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง ระพินทร์ได้มาเป็นเพื่อนและรักใครชอบพอกับ “เพลิน” ลูกคนรวยตกยาก” ผู้มีความคิดในเชิงมนุษยธรรมคล้าย ๆ กับระพินทร์ ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความคิดความอ่าน ความฝัน กันอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อเพลินได้ทำงานเป็นนางเอกภาพยนตร์ ก็ค่อย ๆ ห่างกันไป และในที่สุด เพลินก็ตัดสินใจแต่งงานกับผู้จัดการสร้างภาพยนตร์ เพื่อพลิกฟื้นฐานะทางสังคมของเธอให้กลับคืนมาเหมือนสมัยที่เธอเคยรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง (ศรีบูรพา สงครามชีวิต ดอกหญ้า 2529)

      โครงเรื่องสงครามชีวิตเป็นเรื่องแนวโรแมนติก ที่มองโลกในแง่อุดมคติ แต่ก็สะท้อนสังคม ค่านิยม ความคิดความอ่านของผู้คนในสมัยนั้นไว้ค่อนข้างสมจริงสมจัง ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างทางฐานะของคนในสังคมไทย และบทบาทของอุดมการณ์ หรือค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องฐานะ ที่แม้แต่ผู้หญิงที่ค่อนข้างฉลาด และมีมนุษยธรรมอย่างเพลิน ในที่สุดก็ไม่อาจก้าวข้ามพ้นได้

      คุณกุหลาบเขียนวิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างนุ่มนวล มีศิลปะและความสมเหตุสมผล ไม่ได้มองอะไรแบบขาวดำ หรือใส่ความคิดความเห็นของตนเข้าไปอย่างหวือหวา ถึงแม้”สงครามชีวิต” จะจบแบบโศกนาฎกรรม ก็ไม่ถึงกับไร้เหตุผล หรือฟูมฟาย ดังนั้นนิยายเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ประทับใจคนหนุ่มสาวกลุ่มที่มีการศึกษา และส่งผลให้คุณกุหลาบมีชื่อเสียงในฐานะนักประพันธ์ควบคู่กันไปกับการเป็นนักหนังสือพิมพ์.