RSS

รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2549/2550 (บทที่ 4)

14 ก.ย.

บทที่ 4

ปัญหาอุปสรรคของการบริหารและการจัดการศึกษา

บทนี้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคของการจัดการศึกษา โดยอาศัยการสรุปและสังเคราะห์จากรายงานการประเมินผลใน 5 ด้าน คือด้านการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปการศึกษา ด้านการปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งโดยภาพรวมและเขตพื้นที่การศึกษา ด้านการปฏิรูปการเรียนรู้และการประเมินคุณลักษณะของผู้เรียน รายงานประเมินผลเหล่านี้ จัดทำโดยทีมนักวิชาการชุดต่างๆภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้เขียนได้เลือกประเด็นข้อสรุปด้านปัญหาและอุปสรรคซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนักและพยายามปฏิรูปการศึกษาให้ดีขึ้น มาใช้เป็นแนวทางในการนำเสนอและขยายความสำหรับบทที่ 4 ดังต่อไปนี้คือ

4.1 การประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปการศึกษา

สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักเลขาธิการการศึกษาได้ทำรายงานผลการประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาในรอบปี 254829 โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และการจัดประชุมสัมมนา ได้ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่ายังใช้อธิบายสภาวะการจัดการศึกษาในช่วงปี 2549 – 2550 ได้อยู่ เนื่องจากระบบการศึกษาไทยขึ้นอยู่กับระบบราชการที่ใหญ่โตเทอะทะการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนั้นได้ช้ามาก

1.การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

การจัดการศึกษาที่กฎหมายระบุว่ารัฐต้องจัดให้เปล่าอย่างมีคุณภาพ 12 ปีอย่างทั่วถึง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.9 เห็นว่ายังดำเนินการไม่ทั่วถึง ผลการดำเนินงานมีคุณภาพร้อยละ 70.5 และในเรื่องอัตรากำลังครูอาจารย์ที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลาง ตลอดจนคุณวุฒิครู พบว่าร้อยละ 92.62 เห็นว่าอัตรากำลังครูที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางนั้นยังไม่สอดคล้องกับปริมาณงาน จำนวนนักเรียนและชั้นเรียนที่ต้องรับผิดชอบ

ด้านการจัดบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายพบว่า ร้อยละ 36.8 ของกลุ่มตัวอย่างไม่พบการเก็บค่าใช้จ่าย และร้อยละ 63.2 พบว่ามีการเก็บค่าใช้จ่าย โดยเก็บเป็นค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ค่าไฟฟ้าสำหรับห้องคอมพิวเตอร์ และห้องปฏิบัติการภาษาอังกฤษ ค่าจ้างครูสอนพิเศษในวิชานอกเหนือจากหลักสูตรอื่นๆ ค่ากิจกรรมการเรียนการสอนพิเศษ ค่าอุปกรณ์กีฬา และค่าบำรุง

2.สิทธิและโอกาสในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่มีความสามารถพิเศษ

นโยบายการจัดการศึกษาให้แก่ผู้พิการได้ทั่วถึง พบว่าการดำเนินงานสามารถจัดได้อย่างทั่วถึงร้อยละ 65.8 ยังไม่ทั่วถึง 34.2 โรงเรียนส่วนใหญ่จัดการศึกษาให้ผู้พิการเฉพาะในระบบโรงเรียน ส่วนการจัดการศึกษาเพื่อให้เอื้อกับผู้เรียนที่ด้อยโอกาสเป็นพิเศษ ยังมีการดำเนินการน้อยมาก

3.การศึกษาภาคบังคับ

การแจ้งให้ผู้ปกครองให้ได้ทราบล่วงหน้าก่อนเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี พบว่ามีการดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ปกครองของเด็กทราบก่อนเข้าเรียนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ร้อยละ 75.4 และไม่ได้แจ้ง 24.6 สาเหตุเนื่องจากการกำหนดเขตพื้นที่ความรับผิดชอบระหว่างสำนักงานพื้นที่การศึกษากับองค์กรปกครองท้องถิ่นเฉพาะโรงเรียนใหญ่ๆ ในพื้นที่เขตเมืองยังไม่ชัดเจน และเห็นว่าการแจ้งและไม่แจ้งมีผลไม่ต่างกัน การแจ้งเป็นภาระของเขตพื้นที่การศึกษา

4.การเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่าสถานศึกษามีการจัดการการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุดมีร้อยละ 61.3 และร้อยละ 40.17 มีความเห็นว่าสถานศึกษาบางแห่งเท่านั้น ที่ยึดผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

โดยสรุปผลการดำเนินงานในหมวดซึ่งกำหนดให้มีการเรียนการสอนต้องยึดผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ทั้งทางด้านการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การส่งเสริม สนับสนุนสื่อเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้เต็มศักยภาพ ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับในเขตพื้นที่การศึกษา ยังดำเนินการอยู่ในระดับร้อยละ 50-60 เท่านั้น

5.บทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพื้นที่การศึกษา

มีผู้เห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้เหมาะสมดีแล้ว ร้อยละ 70.5 และยังไม่เหมาะสมร้อยละ 29.5 อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่เห็นว่าควรสรรหาให้ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและกลุ่มวิชาชีพอย่างแท้จริง และการเลือกประธานกรรมการ ควรให้กรรมการเลือกกันเอง

คณะกรรมการพื้นที่การศึกษาที่ได้มักไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะบทบาทในการพัฒนาการศึกษา และมักสรรหาได้จากกลุ่มข้าราชการด้วยกันเอง ผู้แทนกลุ่มต่างๆ มักมีลักษณะกระจุกไม่กระจาย ควรให้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ชัดเจน ขั้นตอนและวิธีการสรรหาควรโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก

6.บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษา

ร้อยละ 66.3 เห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการสถานศึกษาเหมาะสมดีแล้ว อย่างไรก็ตามการสรรหากรรมการสถานศึกษามักจะได้กรรมการที่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษา และไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา หลายโรงเรียนสรรหาคณะกรรมการโดยการเชิญบุคคลมาสมัครเนื่องจากผู้แทนตามกฎหมายนั้นหายาก กรรมการบางโรงเรียนมีภารกิจส่วนตัวมากไม่มีเวลาให้กับการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน การกำหนดคุณสมบัติกรรมการแบบเฉพาะเจาะจงเกินไปทำให้สรรหาได้ยาก

เสนอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาโดยให้โรงเรียนมีส่วนร่วม และควรให้มีการฝึกอบรมกรรมการสถานศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ให้เห็นความสำคัญและสามารถสละเวลามาปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ ควรจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครู/อาจารย์ในสถานศึกษา นอกจากนี้ กรรมการสถานศึกษา ควรได้รับการสนับสนุนค่าตอบแทนตามสมควร

7.การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว

การดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ

8.การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถานประกอบการ

การดำเนินงานในเรื่องสิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถานประกอบการ เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการได้ระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ มีความพร้อมในด้านการอำนวยความสะดวกในระดับ 66.9 มีการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยสถานประกอบการอยู่ในระดับร้อยละ 60.4

ในขณะที่พนักงาน/ลูกจ้าง ของสถานประกอบการมีความต้องการให้สถานประกอบการการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ในระดับร้อยละ47.60 และเห็นว่าสถานประกอบการมีความพร้อมในการจัดการศึกษาอยู่ในระดับร้อยละ 23.80 เท่านั้น

4.2การประเมินด้านการบริหารการจัดการศึกษา30

ปัญหาที่ยังคงอยู่คือ

1) ยังไม่มีการตระหนักถึงความสำคัญการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กเล็กอย่างมีคุณภาพ ทั้งที่การศึกษาวัยนี้สำคัญที่สุด เพราะสมองของเด็กเล็กพัฒนามากที่สุด และเป็นการวางรากฐานที่จะช่วยให้เด็กในช่วงอายุต่อๆไปเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น การจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในช่วงปี 2549-2550 แม้จะสามารถจัดได้เป็นสัดส่วนต่อประชากรในวัยเดียวกันสูงขึ้นกว่าปี 2547 – 2548 แต่ก็มีปัญหาเรื่องครู/พี่เลี้ยงที่สอนระดับปฐมวัยส่วนใหญ่มักใช้ครูอัตราจ้างที่มีคุณวุฒิต่ำ ไม่ได้จบการศึกษาและหรือได้รับการฝึกอบรมเรื่องการจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยมา รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษามักไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาก่อนประถมศึกษาเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้ว่าหลายแห่ง จัดครูที่มีคุณภาพต่ำสุดเท่าที่มีอยู่ เช่น สุขภาพไม่ดี สูงอายุ เบี่ยงเบนทางเพศ ครูอัตราจ้าง มาสอนเด็กอนุบาล เพราะครูประจำการไม่ชอบสอน เนื่องจากงานดูแลเด็กเล็กเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความเอาใจใส่มาก และเพราะผู้บริหารครูส่วนหนึ่งคิดเอาง่ายๆว่าเด็กเล็กยังโง่อยู่ ให้ใครมาสอนก็ได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด และการใช้ครูที่มีความรู้และวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ จะมีผลกระทบต่อการวางรากฐานไปตลอดชีวิต

2) เด็กในวัยเรียนอายุ 6-14 ปี ยังไม่สามารถเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับได้ครบทุกคน ซึ่งสาเหตุแรกเนื่องจากผู้ปกครองบางคนละเลยไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียน และไม่มีการติดตามว่าเป็นเรื่องที่ทำผิดกฎหมายที่ว่าพ่อแม่ต้องส่งเด็กทุกคนให้เรียนการศึกษาภาคบังคับในฐานะพลเมืองของรัฐ สาเหตุต่อมาคือเกิดจากการออกกลางคันของเด็ก เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ การย้ายตามครอบครัวไปประกอบอาชีพอื่นๆแล้วไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ ระบบการส่งต่อเด็กระหว่างโรงเรียนยังไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีระเบียบการรับนักเรียนที่ยุ่งยาก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเนื่องจากการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนยังไม่ตอบสนองความต้องการของเด็กด้อยโอกาสและยากจน มีปัญหาเด็กเร่ร่อนที่ไม่ได้เข้าเรียน ฯลฯ

นอกจากกลุ่มเด็กวัยที่ควรได้เรียนภาคบังคับจะไม่ได้เรียนจำนวนมากพอสมควรแล้ว เด็กอายุ 15-17 ปี ที่ไม่ได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือออกกลางคันก็ยังมีสัดส่วนสูงด้วยเช่นกัน

3) ผู้เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายยังนิยมเรียนประเภทสามัญศึกษามากกว่าสายอาชีวศึกษาส่งผลให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มได้ไม่มาก ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานระดับกลางเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

4) ปัญหาสถานศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ไม่กระจายตัวไปในชนบท ทำให้เด็กในชนบทไม่สามารถเรียนได้ เนื่องจากการเดินทางเข้ามาเรียนในตัวเมืองทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งสถานศึกษาอาชีวะเองก็ยังมีปัญหาภาพพจน์ว่า เด็กเกเร ชอบตีกัน ไม่ค่อยมีคุณภาพทำให้ผู้ปกครองที่มีค่านิยมอยากให้ลูกทำงานนั่งโต๊ะมากกว่างานช่างหรืองานแรงงานอยู่แล้วไม่นิยมส่งลูกเข้าเรียนในอาชีวศึกษา ทั้งหมดนี้ทำจำนวนและสัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะเพิ่มได้น้อย

5) การส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษทั้งเด็กมีปัญหา เด็กปัญญาเลิศ ยังดำเนินการได้ไม่มากเท่าที่ควร ถึงแม้ว่ารัฐจะเขียนไว้ในนโยบายว่าให้ความสำคัญมากขึ้นก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบที่มีองค์ความรู้และงบประมาณพอเพียง ไม่มีการสำรวจจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างแท้จริง ขาดองค์ความรู้ในการจัดการ ขาดเครื่องมือในการคัดกรอง ขาดบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการสอน และการประสานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน

6) การจัดทำกฎหมายเพื่อให้บุคคลและสถาบันทางสังคมต่างๆมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ยังดำเนินการล่าช้า ไม่มีการรณรงค์เรื่องความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาให้คนภายนอกสนใจ ทำให้การมีส่วนร่วมของบุคคลและสถาบันเหล่านี้ยังมีน้อย ทั้งเมื่อมีบุคคลภายนอกมาขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับหลักการการจัดการศึกษาและการจัดทำแผนการจัดการศึกษาโดยบุคคลภายนอก ทำให้การดำเนินการล่าช้า

7) การขยายการรับนักเรียนนักศึกษาระดับและสาขาต่างๆเป็นไปตามความประสงค์และความพร้อมของสถานศึกษาต่างๆ เช่น โรงเรียนประถมศึกษาอยากขยายโอกาสในการรับนักเรียนชั้นประถมปลายเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมต้น สถาบันอาชีวะอยากขยายเป็นปวส.และปริญญาตรีสถาบันอุดมศึกษามีครูอาจารย์ด้านไหนมากหรือคิดว่าสาขาไหนมีคนนิยมเรียนมาก ก็จะขยายสาขานั้นๆ ไม่ได้มีการประชุมวางแผนร่วมกันเพื่อที่สถาบันแต่ละแห่งจะผลิตด้านที่ตนชำนาญให้มีคุณภาพมากกว่าจะเน้นปริมาณ สถาบันการศึกษาของรัฐไม่ควรขยายตัวทางปริมาณมากไป น่าจะเปิดทางให้สถาบันเอกชนบ้าง รวมทั้งควรมีการพิจารณาในระดับประเทศว่าควรขยายการรับนักเรียนนักศึกษาด้านที่ยังขาดแคลนด้านไหนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

8) ยังขาดความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา สถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ในทุกระดับการศึกษา

9) ยังขาดการปรับระบบการบริหารจัดการอาชีวะศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

10) การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขาดการจัดระบบและจัดหมวดหมู่แหล่งเรียนรู้ และหน่วยงานที่ดำเนินการมีลักษณะต่างหน่วยงานต่างทำ ห้องสมุดในสถานศึกษาในระบบและสถาบันต่างๆยังไม่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับการบริการอย่างกว้างขวาง

11) สถานศึกษาในระบบยังไม่ได้รับการสนับสนุนและแรงจูงใจที่เพียงพอจากรัฐในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้บริหารและครูคิดอยู่ในกรอบการทำงานตามภาระหน้าที่ขั้นต่ำในระบบ มากกว่าจะคิดถึงเป้าหมายในวงกว้างว่าสถานศึกษาที่ดีอยู่แล้วอาจช่วยให้บริการประชาชนมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้นได้ เหตุผลหนึ่งคือภาระงานการศึกษาในระบบก็มีมากอยู่แล้ว แต่เหตุผลใหญ่คือผู้บริหารและครูคิดในกรอบข้าราชการมากกว่าคิดในแง่นักพัฒนา/นักปฏิรูปการศึกษาเพื่อคนทั้งหมด

12) การกำหนดกฎเกณฑ์ การดำเนินงานเทียบผลการศึกษาให้ผู้เรียนที่มีประสบการณ์เรียนนอกระบบ ตามอัธยาศัย หรือย้ายมาจากที่อื่น เป็นไปค่อนข้างล่าช้า เพราะเป็นเรื่องใหม่และนักบริหารครูอาจารย์คิดอยู่ในกรอบเก่ามากเกินไป สถาบันบางแห่งรวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาไม่ประสงค์จะรับเทียบโอนให้ผู้เรียนที่มีประสบการณ์หรือย้ายมาจากที่อื่น เพราะต้องการให้ตั้งต้นลงทะเบียนเรียนใหม่ที่สถาบันของตนเอง ทำให้การจัดการศึกษาไม่คล่องตัวยืดหยุ่นในการส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

4.3 ปัญหาด้านการบริหารจัดการของเขตพื้นที่การศึกษา

แนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาด้านบริหารจัดการแนวคิดหนึ่งที่ได้นำไปใช้แล้วคือ เปลี่ยนจากการบริหารแบบกระจายงานไปสู่สำนักงานประจำจังหวัดและอำเภอ (โดยแยกเป็นหน่วยที่ดูแลประถมและหน่วยที่ดูแลมัธยม) เป็นเขตการศึกษา 175 เขตที่ดูแลทั้งประถมมัธยมและการศึกษาอื่นๆแทน การเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารดังกล่าว มีผลดีผลเสียอย่างไร น่าจะพิจารณาได้จาก การติดตามประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่มี 175 แห่งทั่วประเทศเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2548 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ทำไว้ ดังต่อไปนี้ 31

สำนักงาน สพท. ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการและช่วยเหลือให้บริการสถานศึกษาได้ในระดับที่พึงพอใจมี 81 เขต มีความพร้อมพอสมควร 64 เขต ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 28 เขต และต้องมีการเปลี่ยนแปลง 2 เขต

ปัญหาและอุปสรรคของการบริหารแบบเขตพื้นที่การศึกษาที่สำคัญคือ

    1. จำนวนบุคลากรในแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีความแตกต่างกันมาก ทั้งที่ภารกิจเหมือนกัน บุคลากรจะนิยมไปอยู่ที่ สพท.เขต 1 ในตัวจังหวัด ทำให้เขต 1 มักมีบุคลากรเกินกรอบอัตราที่กำหนด ส่วนเขตอื่นๆจะมีจำนวนบุคลากรน้อย ไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนศึกษานิเทศก์ที่สามารถนิเทศโรงเรียนมัธยมศึกษาได้ ทำให้สพท.เขตอื่นๆ นอกจากเขต 1 ดำเนินงานตามภารกิจได้ไม่สมบูรณ์
    2. ข้าราชการ กพ. ใน สพท. ขาดโอกาสในทุกเรื่อง และไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน
    3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 175 แห่ง มีบริบทที่ต่างกัน บางเขตมีโรงเรียนที่ต้องดูแลมาก ทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขต ทำให้การประสานงานและการติดต่อสื่อสารล่าช้า ผู้บริหารและครูต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมาก (ปัญหานี้ได้มีผู้เสนอให้เพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาเป็น 295 เขต)
    4. การแบ่งบทบาทอำนาจหน้าที่ระหว่างสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารวมทั้งหน่วยงานส่วนกลางยังขาดความชัดเจน โดยยังคงมีการบังคับบัญชาจากส่วนกลาง มีการสั่งการมาก ซึ่งขัดกับหลักการกระจายอำนาจ และหนังสือสั่งการส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือด่วนที่สุดจากส่วนกลางให้สพท.ส่งต่อ ไปให้โรงเรียน โดยที่ทั้งสพท.และโรงเรียนไม่มีโอกาสบริหารจัดการเอง
    5. การยุบเลิกหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับจังหวัดและอำเภอและจัดตั้งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้การเชื่อมโยงประสานงานกับหน่วยงานอื่นในระดับจังหวัดและอำเภอในการนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติค่อนข้างมีปัญหา
    6. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่ใช่เขต 1 ที่อยู่นอกตัวจังหวัดมักไม่มีความพร้อมทั้งในเรื่องอาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และบุคลากร โดย เฉพาะในจังหวัดที่มี 3 เขตขึ้นไป ทำให้สำนักงานเขตนอกตัวจังหวัดปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่ และไม่สามารถให้บริการแก่สถานศึกษาและครูในพื้นที่อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
    7. วัฒนธรรมองค์กรเดิมซึ่งบุคลากรส่วนหนึ่งที่เคยอยู่กับกรมสามัญศึกษาและส่วนหนึ่งเคยอยู่สำนักงานประถมศึกษายังผูกติดกับผู้บริหาร สพท. ทำให้วัฒนธรรมองค์กรของแต่ละ สพท. ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (เนื่องจากบุคลากรจากสำนักประถมมีมากกว่า จึงมักได้ตำแหน่งบริหารและทำให้บุลากรจากกรมสามัญศึกษาอึดอัดและเรียกร้องให้มีการเพิ่มเขตเพื่อดูและมัธยมศึกษาโดยตรง)
    8. กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีบทบาท เนื่องจากมีการประชุมน้อยมาก ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดการประชุม บางแห่งประธานกรรมการเขตพื้นที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา จึงเกิดปัญหาในทางปฏิบัติงาน คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษามีบทบาทเป็นเสมือนที่ปรึกษาเท่านั้น การตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหาร คณะกรรมการบางท่านยังไม่เข้าในบทบาทของตนเอง ขาดความพร้อมและศักยภาพ
    9. กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ออกมาล่าช้า ระเบียบการปฏิบัติต่างๆ ก็ไม่ชัดเจน ทำให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินงานตามภารกิจได้ไม่สมบูรณ์ เช่น เรื่องการสนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษารูปแบบต่างๆ
    10. ผู้บริหารสถานศึกษามีความเห็นว่าการกระจายอำนาจให้สถานศึกษานั้นไม่ได้กระจายอำนาจอย่างแท้จริง สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเรื่องวิชาการและบริหารทั่วไปเท่านั้น ส่วนเรื่องงบประมาณและการบริหารงานบุคลากรสถานศึกษาไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง การสรรหา การคัดเลือก การพิจารณาความดีความชอบบุคลากร การลงโทษข้าราชการที่มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ยังขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษา โดยสถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความต้องการหรือความเห็นขึ้นไป ส่วนการโอนโยกย้ายบุคลากรภายในเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งอยู่ในส่วนกลาง ทำให้บ่อยครั้งโรงเรียนไม่ได้บุคลากรตรงกับความต้องการของโรงเรียน
    • ด้านงบประมาณ ถึงจะมีกฎหมายเปิดโอกาสให้สถานศึกษาในการแสวงหารายได้เพื่อนำมาใช้จัดการศึกษาได้เอง และสถานศึกษามีอำนาจในการปกครองดูแล บำรุงรักษาใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา แต่เนื่องจากสถานศึกษายังเป็นหน่วยงานราชการ จึงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ คำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่นเดียวกับหน่วยงานทางราชการอื่นๆ ทำให้ไม่มีความคล่องตัวในทางปฏิบัติ รวมทั้งผู้อำนวยการรู้สึกยุ่งยากและเสี่ยงที่จะดำเนินการแบบใหม่ที่ต่างไปจากแบบเดิม

    1. สถานศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาขนาดเล็ก ขาดความพร้อมที่จะบริหารการเงินและบุคลากรได้ด้วยตนเอง เนื่องจากบุคลากรมีน้อย และมีความรู้ความเข้าใจยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆทั้งด้านการเงิน การพัสดุ การบัญชี และการดำเนินการทางกฎหมาย รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาเองถึงแม้จะได้รับการถ่ายทอดความรู้มาบ้าง แต่ก็มีอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่ามีอำนาจบริหารจัดการในเรื่องต่างๆได้มากน้อยเพียงใด

4.4 การประเมินด้านการปฏิรูปการเรียนรู้

การปฏิรูปการบริหารจัดการศึกษามีเป้าหมายจะให้ผู้บริหาร ครูอาจารย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีคุณภาพขึ้น ดังนั้นการประเมินด้านกระบวนการเรียนรู้และผลกระทบต่อผู้เรียน จึงเป็นเรื่องสำคัญ การติดตามประเมินผลด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ของการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ32 ได้ข้อสรุปที่น่านำมาอธิบายขยายความต่อคือ

1.หลักสูตร

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาและจัดทำหลักสูตรโดยสถานศึกษา มีปัญหาด้านครูไม่มั่นใจวิธีการการจัดทำหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ครูไม่เคยดำเนินการมาก่อน ประกอบกับวิทยากรที่ไปให้ความรู้แก่ครูมีหลากหลายแนวคิด ทำให้ครูเกิดความสับสนในการดำเนินการ การจัดทำสื่อการสอน เนื้อหาในกลุ่มสาระที่มีมากเกินไป ควรมีการดำเนินการแก้ไขให้มีพี่เลี้ยงที่มีความชำนาญและมีความเข้าใจกับการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาในแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง เป็นผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเพื่อให้ครูสามารถดำเนินการได้ และอาจระดมกำลังเพื่อร่วมกันทำหลักสูตรท้องถิ่นกันในระดับจังหวัด และภูมิภาค ไม่ใช่ให้แต่ละสถานศึกษาทำหลักสูตรเอง ซึ่งมักใช้วิธีลอกเลียนกัน

2.การจัดการเรียนการสอน

ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีปัญหาการขาดแคลนครู โรงเรียนมีครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงตามวุฒิ สาขาที่ขาดแคลนได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ หน่วยงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่มีครูเกินไปช่วยสอน และอนุมัติให้จ้างครูช่วยสอน หรือขอความช่วยเหลือจากสถาบันอุดมศึกษาให้นักศึกษามาช่วยสอน โดยมีการเทียบโอนหน่วยกิตการเรียนได้ ส่วนในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ยังขาดการเน้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ เป็นปัญหาในด้านความร่วมมือของสถานประกอบการ ซึ่งต้องเร่งขอความช่วยเหลือกันต่อไป

ควรมีโครงการที่มีการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้ให้มีการประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ในลักษณะของการส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ครูในโรงเรียนอย่างทั่วถึง เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กดำเนินงานปฏิรูปการเรียนรู้ได้น้อยกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านอัตรากำลัง และสถานที่ตั้งห่างไกล

3.การวัดประเมินผลผู้เรียนและรับเข้าเรียนต่อ

ปัญหาที่พบในทุกระดับและประเภทการศึกษา คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการวัดประเมินผลผู้เรียนควรได้รับประเมินผลในหลายด้าน เช่น ความประพฤติ การทำกิจกรรม ควบคู่ไปกับการทดสอบความรู้ ซึ่งครูส่วนใหญ่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการประเมินผลแบบใหม่ไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติ ดังนั้น คงต้องสนับสนุนส่งเสริมครูในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควรมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ นอกจากนี้ควรมีการทบทวนแบบฟอร์มต่างๆที่กำหนดให้สถานศึกษาจัดทำรายละเอียดเพื่อเป็นเอกสารแสดงผลการเรียนของนักเรียนซึ่งมีมากเกินไป การส่งเสริมการประเมินผลผู้เรียนแบบใหม่ต้องทำควบคู่ไปกับการการประเมินผลเพื่อรับผู้เรียนไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้น โดยควรพิจารณาจากการประเมินผลหลายด้านมากกว่าการวัดโดยคะแนนการสอบ ให้สอดคล้องกันกับการประเมินผลแนวใหม่

4.การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ICT เพื่อการเรียนรู้

นักเรียนในระดับประถมศึกษายังได้รับการพัฒนาด้านการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศน้อยกว่านักเรียนในระดับมัธยมและอุดมศึกษามาก จึงควรมีเร่งดำเนินการเพื่อให้นักเรียนประถมศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลได้รับโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เช่นเดียวกับนักเรียนในเมืองด้วย

5.การพัฒนาครูคณาจารย์ มีปัญหาทางด้านงบประมาณการสนับสนุนครู และการขาดการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการผลิตครูทั้งในทางวิชาการและจิตวิทยาการสอน การขาดงบประมาณสำหรับส่งเสริมให้ครูได้ทำงานวิจัย และขาดการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ครูอาจารย์มีโอกาสขอตำแหน่งทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ

ควรเร่งพัฒนาครูให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าครูจะได้รับการอบรมบ่อยครั้ง แต่ครูจำนวนหนึ่งก็ยังปฏิบัติไม่ได้ และบางส่วนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมและพัฒนาครูประจำการให้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ รวมถึงวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพทดแทนครูเก่า ซึ่งที่ผ่านมาถึงจะมีโครงการโดยเฉพาะก็ยังผลิตครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้น้อยมาก

6.การขาดแคลนครูอาจารย์ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีปัญหาการขาดแคลนครูค่อนข้างมากทั้งที่ขาดอยู่แล้วและมีผู้เกษียณโดยทางราชการตัดอัตราการให้บรรจุข้าราชการใหม่และลูกจ้างทำให้มีครูใหม่มาทดแทนไม่เพียงพอ ส่วนในระดับอุดมศึกษา มีคณาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ รวมทั้งที่มีวุฒิปริญญาเอกเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทุนการศึกษาต่อในระดับสูงมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น จึงควรมีมาตรการทดแทนอัตรากำลังที่ขาดแคลนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การจ้างครูอัตราจ้างในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว ควรมีอัตรารองรับครูอาจารย์ในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งมีการบรรจุครูอาจารย์ ทดแทนอัตราที่เกษียณหรือลาออกในแต่ละปีเป็นกรณีต่างหากจากระบบราชการโดยรวม ซึ่งปฏิบัติตามนโยบายมุ่งลดอัตรากำลังข้าราชการทั้งประเทศลง เพราะงานการศึกษาเป็นงานที่ต้องใช้บุคลากรโดยตรงและปัญหาครูอาจารย์ขาดแคลนเป็นปัญหาจริง ที่มีผลเสียหายร้ายแรงอย่างเห็นได้ชัดกว่างานราชการในกระทรวงอื่นๆที่อาจปรับตัวได้ดี

4.5 การประเมินคุณลักษณะของผู้เรียน

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้ทำรายงานการประเมินการปฏิรูปการเรียนรู้ดับขั้นพื้นฐาน ผลลัพธ์ผู้เรียน 33ที่ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่ว่าสนใจนำมาสรุปไว้ในที่นี้เพื่อประโยชน์ของการเรียนรู้ร่วมกันดังต่อไปนี้

1) ด้านความรู้ด้านวิชาการ 5 วิชา

จากการวัดความรู้ของผู้เรียนในด้านวิชาการ 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ พบว่า ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษของผู้เรียนอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ30.51 และร้อยละ38.42 ตามลำดับ) วิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 47.09 และร้อยละ 47.53 ตามลำดับ) วิชาสังคมอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (ร้อยละ 58.23)

ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่าความสามารถของผู้เรียนในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 30.17, 19.02และ 30.55 ตามลำดับ) วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 58.23)

2) การประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน 4 ด้าน

จากการวัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ความรู้ วิชาการ ทักษะความคิด ทักษะการแสวงหาความรู้และทักษะการทำงาน และคุณลักษณะการเป็นพลเมืองที่ดี พบว่าผู้เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 คุณลักษณะเกือบทุกด้านอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 44.36 42.66 และ 49.67 ตามลำดับ) ยกเว้นด้านคุณลักษณะความเป็นพลเมืองดี ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง (ร้อยละ 58.75)

สำหรับผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่าคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านความรู้วิชาการอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (ร้อยละ 39.14) ด้านทักษะการคิดและด้านทักษะการแสวงหาความรู้และทักษะการทำงานอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 48.82 และ 47.66 ตามลำดับ) ในด้านลักษณะความเป็นพลเมืองที่ดีค่อนข้างสูง (ร้อยละ 58.02)

3) ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนตามวิชาพบว่า ผู้เรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 44.66-66.10) มีคุณภาพพอใช้ทุกรายวิชา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษมีผู้เรียนที่ต้องปรับปรุงเป็นจำนวนมาก (33.02, 38.30 และ 34.44 ตามลำดับ)

ผลการประเมินในด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนพบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 61.41-82.37) มีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ทุกด้าน ส่วนผลการประเมินอยู่ในระดับดีมีเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ5.28-26.47) โดยด้านลักษณะความเป็นพลเมืองที่ดีมีมากที่สุด (ร้อยละ 26.47) อยู่ในระดับต่ำที่สุดคือด้านทักษะความคิด (ร้อยละ 5.28) และพบว่าผู้เรียนที่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ต้องปรับปรุงอย่างมาก (ร้อยละ 24.95) ในด้านทักษะการแสวงหาความรู้และทักษะการทำงาน

สำหรับผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 44.58 -62.11) ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ มีคุณภาพอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง ส่วนวิชาภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ผู้เรียนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72.68, 76.63) มีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้

การประเมินในด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนใหญ่(ร้อยละ 51.30-69.85) มีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ ทุกด้าน และอยู่ในระดับที่ดีมาก (ร้อยละ 46.02) ในด้านทักษะการคิด ส่วนด้านที่ต้องปรับปรุงที่มีสัดส่วนสูงคือด้านทักษะการแสวงหาความรู้และทักษะการทำงาน (ร้อยละ 29.43)

ผลการประเมินงานวิจัยโดยรวม ผู้เรียนมีคุณภาพอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงถึงร้อยละ 40-60 ระดับพอใช้ 20-40 และระดับดีร้อยละ 5-20 ส่วนการประเมินของกรมวิชาการ ผู้เรียนที่มีคุณภาพต้องปรับปรุงร้อยละ 10-40 ระดับพอใช้ร้อยละ 50-70 ระดับดีร้อยละ 10-20

4) การประเมินระดับโรงเรียน

จากการประเมินคุณภาพระดับโรงเรียนพบว่า คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนในด้านวิชาการความรู้ ทักษะการคิด ทักษะการแสวงหาความรู้และทักษะการทำงาน โรงเรียนส่วนใหญ่คุณภาพอยู่ระดับที่ต้องปรับปรุงร้อยละ 90.00-98.13 ในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และร้อยละ 91.94-99.19 ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3

มีเพียงด้านลักษณะความเป็นพลเมืองที่ดี ที่มีโรงเรียนอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงและระดับพอใช้ ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 43.75, 49.38 ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และร้อยละ 59.68, 36.29 ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3

กล่าวโดยสรุปก็คือ การปฏิรูปการศึกษายังประสบความสำเร็จในระดับจำกัด ไม่ว่าจะในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การบริหารจัดการโดยรวม การบริหารจัดการของเขตพื้นที่การศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้และการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนและคุณลักษณะของผู้เรียน เพราะการปฏิรูปการศึกษาต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพอย่างรอบด้านและอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพของผู้บริหาร ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูประบบการเรียนรู้

บทที่ 1 : เศรษฐกิจการเมืองไทยและความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
บทที่ 2 : การจัดการศึกษาในปี 2549 – 2550
บทที่ 3 : การประเมิน การจัดสรรทรัพยากร ประสิทธิภาพ และความเสมอภาคในการจัดการศึกษา
บทที่ 4 : ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการการศึกษษ
บทที่ 5 : บทบาทของการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ
บทที่ 6 : ปัญหาคอขวดและทางออกในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา
บทที่ 7 : การศึกษาและการพัฒนาประเทศแบบองค์รวมเพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความยั่งยืน

Download เอกสารเล่มเต็ม PDF

 

5 responses to “รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2549/2550 (บทที่ 4)

  1. เคียงเดือน

    กันยายน 24, 2008 at 11:42 pm

    มีประโยชน์มากค่ะ

     
  2. กษมน

    พฤษภาคม 22, 2009 at 10:02 pm

    ขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงยิ่งค่ะ กำลังต้องการทราบความเคลื่อนไหวทางการศึกษาเพื่อนำพัฒนาในส่วนที่รับผิดชอบอยู่ค่ะ
    ขอให้ท่านอาจารย์ได้เขียนสิ่งดีๆมีประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปนะคะ

     
  3. ชมรมศึกษาผลงานฯ

    พฤษภาคม 28, 2009 at 2:16 pm

    ขอบคุณท่านสมาชิกและท่านผู้สนใจทั่วไปที่แวะมาเยี่ยมชมเว็บของชมรมศึกษาฯ และได้ฝากความคิดเห็นหลายทรรศนะไว้ให้กับทางชมรมฯเป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ ประธานชมรมฯซาบซึ้งเป็นอย่างมากแต่ต้องขอโทษนะค่ะที่ไมได้ตอบท่านทุกคนเนื่องจากประธานชมรมศึกษาทำงานอาชีพรับราชการซึ่งช่วงนี้งานเยอะมากจึงไม่ค่อยได้มีเวลามาดูแลท่านสมาชิกและผู้สนใจทั่วไป คงไม่ว่ากันนะค่ะแต่ก็สัญญาว่าจะหาเวลาว่างๆมาคุยให้ได้ค่ะ

     
  4. รัวฃงสรรค์ สุทารัมย์

    มีนาคม 10, 2012 at 10:58 pm

    โหลดเอกสารเล่มเต็มตรงไหน ขอความกรุณาส่งไฟด์ให้ด้วยครับ

     
  5. ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

    มีนาคม 11, 2012 at 12:35 pm

    หน้าแรกของเว็บไซต์มี หัวข้อ รายงานสภาวะการศึกษาฯ ให้ดาวน์โหลดที่นั่นเลยค่ะมีทุกปี ขอบพระคุณมากค่ะ

     

ใส่ความเห็น