RSS

รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2549/2550 (บทที่ 1)

14 ก.ย.

บทที่ 1

เศรษฐกิจการเมืองไทยและความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

บทนี้แบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อย หัวข้อย่อยแรกเป็นการรายงานสภาพเศรษฐกิจการเมืองไทยที่มีความสำคัญทั้งในแง่เป็นผลกระทบต่อการจัดการศึกษา และเป็นผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย หัวข้อที่ 2 –3 เป็นรายงานเปรียบเทียบสถานะของไทยและความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศอื่น เพื่อที่จะได้เห็นภาพแบบองค์รวมของประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจสังคมของโลก

1.1การเมืองและเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2544-2550

เศรษฐกิจการเมืองไทยช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลไทยรักไทย นำโดยพันตำรวจโทดร.ทักษิณ ชินวัตร นโยบาย มาตรการและโครงการต่างๆของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งลักษณะเฉพาะ เช่น เน้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ/ธุรกิจ ผ่านการเปิดเสรีการค้า การลงทุน การขยายการกู้เงินให้ประชาชนเพื่อเร่งรัดการลงทุนและการบริโภค การแสวงผลประโยชน์ทับซ้อน และการรวมศูนย์การผูกขาดความมั่งคั่งและอำนาจ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองและการศึกษาในช่วงปี 2549-2550 อย่างสำคัญ

รัฐบาลไทยรักไทยเน้นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ(เศรษฐกิจ/ธุรกิจ)ธุรกิจ มากกว่าการพัฒนาทางสังคม แม้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรจะสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาด้วย แต่เขาก็สนใจการศึกษาในแง่ของการพัฒนา “ทรัพยากรบุคคล” ให้มีความรู้ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเพื่อไปช่วยเพิ่มความเจริญเติบโตของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเป็นด้านหลัก มากกว่าเพื่อมุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนในฐานะพลเมือง

นักวิชาการกลุ่มองค์กรต่างๆเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาและสื่อมวลชนต่อเนื่องมาจากปี 2540 ปีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และปี 2542 ปีที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาใหม่ แต่กระแสของพวกเขาไม่มีพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดมีผลกระทบต่อสังคมมากเท่ากับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ/ธุรกิจแบบเน้นการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวม (สินค้าและบริการ) ของรัฐบาลไทยรักไทย

ในด้านการศึกษา ในทำนองเดียวกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น นายกรัฐมนตรีทักษิณมีแนวโน้มจะสนใจโครงการใหม่เพื่อการประชาสัมพันธ์สร้างภาพ และสนองความพึงพอใจของรัฐบาลว่าได้ทำอะไรใหม่ๆที่ต่างจากคนอื่นๆ เช่นโครงการโรงเรียนในฝัน โครงการหาคอมพิวเตอร์ราคาถูกให้นักเรียนใช้ โครงการใช้เงินผลกำไรจากการออกสลาก 2 ตัว 3 ตัวบนดินมาใช้เป็นทุนการศึกษาของนักเรียนยากจน และส่งนักเรียนอำเภอละ 1 คนไปเรียนต่างประเทศ โครงการสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ องค์การมหาชนที่มีหน่วยงานในเครือข่าย 8 องค์กรรวมทั้งการสร้างห้องสมุดที่ทันสมัย ในศูนย์การค้าในกรุงเทพ ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้พิจารณาปัญหาการศึกษาถึงรากเหง้าอย่างเป็นระบบองค์รวม จึงไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณให้ความสำคัญกับการคัดสรรรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ การจัดสรรงบประมาณและการดำเนินนโยบายทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ/ธุรกิจ มากกว่าด้านการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการบ่อยกว่าทุกกระทรวง ในช่วงเวลา 4 ปีเศษตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึง 3 สิงหาคม 2548 มีคนผลัดกันมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการถึง 6 คน 2 คนแรกอยู่ในตำแหน่งคนละ 3-5เดือน 3 คนหลังอยู่ในตำแหน่งคนละ 1-1ปีเศษ คนแรกเป็นนักการศึกษา แต่ลาออกเพราะเบื่อหน่ายการแทรกแซงของนักการเมือง 4 คนต่อมาเป็นนักการเมืองและนักธุรกิจ ซึ่งไม่ได้ติดตามเรื่องการศึกษาอย่างใกล้ชิดมาก่อน คนที่ 6 นายจาตุรนต์ ฉายแสง (เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2548 – 19 กันยายน 2549 ) เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านสังคมรวมทั้งกระทรวงศึกษาฯ และมีความสนใจและความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษามากคนหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองคนอื่นๆ แต่ช่วงที่เขาได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวและกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและด้านอื่นๆจากรัฐบาลอย่างเข้มแข็งมากนักเมื่อเทียบกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจ/ธุรกิจ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาฯได้เพียง 1 ปีเศษ ในยุคที่การเมืองไทยมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆสูงจนกลบกระแสการปฏิรูปการศึกษา

ในช่วง 4 ปีแรกของรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตขยายตัวได้ด้วยการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน หมุนเงินและเพิ่มปริมาณเงิน ขยายโครงการสินเชื่อและเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ทำให้ประชาชนระดับล่างในชุมชนชนบทและในเมืองที่ได้เงินจับจ่ายใช้สอย(รวมทั้งการกู้เงินหรือเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น) นิยมชมชอบรัฐบาล การเร่งรัดการเปิดการลงทุนและการค้าเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและโครงการลงทุนต่างๆก็ช่วยทำให้ธุรกิจเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมการค้าและบริการเติบโตได้ ทำให้คนชั้นกลางพอใจรัฐบาลในระดับหนึ่ง แต่โครงการที่เรียกว่าประชานิยมส่วนใหญ่เป็นโครงการเร่งรัดการใช้จ่ายและเพิ่มการบริโภคมากกว่าการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจระบบการผลิตและการตลาด รวมทั้งการปฏิรูปคุณภาพ ประสิทธิภาพของคนอย่างจริงจัง นำไปสู่การเติบโตระยะสั้นแบบฉาบฉวย และทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุลทั้งในด้านทรัพยากรสภาพแวดล้อมและในด้านฐานะทางเศรษฐกิจสังคมของกลุ่มคนต่างๆเพิ่มขึ้น

การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มชะลอตัวในช่วงปี 2548-2550 คือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ 3 ปีนี้โตเฉลี่ยราว 4.6% ต่อปี ลดลงจากอัตราเฉลี่ยช่วงปี 2545-2547 ราว 1.5%1 ประเทศโดยรวมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจการเมืองไทยมีปัญหาความขัดแย้งทางระหว่างกลุ่มต่างๆเห็นได้ชัดมากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณได้เข้ามาเป็นรัฐบาลในวาระที่ 2 ในปี 2548 เป็นต้นมา

นับจากปี 2548 รัฐบาลทักษิณรวบอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้น ขยายการแสวงหาผลประโยชน์จากการคอรับชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนไปอย่างกว้างขวาง คุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและนักวิชาการ อย่างเห็นได้ชัดเพิ่มขึ้น กรณีที่เป็นชนวนให้เกิดการขยายตัวของการคัดค้านรัฐบาล คือกรณีที่อสมท.สถานีโทรทัศน์ภายใต้อาณัติของรัฐบาลปลดรายการการเมืองรายสัปดาห์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนในวันที่ 15 กันยายน 2548 นายสนธิและคณะได้ไปติดต่อเช่าหอประชุม เพื่อจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน รวมทั้งถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ AST ทีวี ซึ่งเป็นโทรทัศน์แบบใช้สัญญาณจากดาวเทียม โดยเพิ่มความเข้มข้นในการวิจารณ์นโยบายโครงการและพฤติกรรมรัฐบาลทักษิณมากขึ้น ปลายเดือนตุลาคม 2548 พวกเขาย้ายสถานที่ไปจัดทุกวันศุกร์เย็นที่หอประชุมสวนลุมพินี มีคนฟังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคนที่รับชมผ่านทางจานดาวเทียมและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีนักวิชาการและประชาชนกลุ่มต่างๆเข้ามาร่วมวิพากษ์รัฐบาล(โดยเฉพาะนายกฯทักษิณ)เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ

ตั้งแต่ปลายปี 2548 มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีทักษิณเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งโดยนักการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องต่างๆ นักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชน สมาคมวิชาชีพ และองค์กรประชาชนกลุ่มต่างๆ ประเด็นสำคัญในการวิพากษ์คือการคอรัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาล การที่รัฐบาลแทรกแซงองค์กรอิสระเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และพฤติกรรมหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ คนหลายกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่คือนักวิชาการ นักวิชาชีพ ผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทักษิณลาออก ตัวแทนของคนหลายกลุ่มได้เข้าไปร่วมมือกับนายสนธิ ลิ้มทองกุลจัดตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และจัดชุมนุมอภิปรายเปิดโปงและคัดค้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2549 เป็นต้นมา

ช่วงปี 2549 การวิพากษ์วิจารณ์และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่อต้านและกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลทักษิณขยายตัวเป็นความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วเพิ่มขึ้น วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 รัฐบาลทักษิณตัดสินใจยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่แบบรวบรัดภายใน 37 วัน คือใน วันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน ร่วมมือกันคว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการยุบสภาแบบมัดมือชกเพื่อหลีกเลี่ยงการอภิปรายในสภา และเป็นการจัดเลือกตั้งใหม่แบบรวบรัดเกินไป รวมทั้งยังมีสาเหตุมาจากการที่พรรคไทยรักไทยปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมที่ 3 พรรคใหญ่เสนอให้ 4 พรรคมาประชุมร่วมกัน เพื่อเซ็นสัญญาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น

การคว่ำบาตรของพรรคใหญ่ 3 พรรค และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีการศึกษาและรู้ข้อมูลข่าวสารดีในเมืองใหญ่ มีผลให้คนไปใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 น้อยลง และที่สำคัญคือ คนที่ไปใช้สิทธิและกาในช่องไม่เลือกใคร รวมทั้งจงใจทำบัตรเสียอีกรวมกันแล้วมากกว่า 40 % ของผู้ไปใช้สิทธิ แม้พรรคไทยรักไทยอ้างว่าได้คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ แต่ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในหลายเขต ที่ไม่มีผู้สมัครพรรคอื่นลงแข่ง ผู้สมัครไทยรักไทยได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20% ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ สำหรับกรณีที่ผู้สมัครคนเดียวจะมีสิทธิได้เป็น สส. เป็นผลให้หลายเขตไม่มีใครได้เป็น สส. ต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมรอบ 2 รอบ 3 และพรรคไทยรักไทยได้จ้างวานผู้สมัครจากพรรคเล็กๆให้มาลงสมัครแข่งเพียงเพื่อช่วยให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยไม่ต้องติดเกณฑ์ที่ว่าการจะชนะได้เป็นสส. ผู้สมัครต้องได้เสียงอย่างน้อย 20% ของผู้มาลงคะแนน พฤติกรรมเช่นนี้ รวมทั้งการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีพฤติกรรมเข้าข้างพรรคไทยรักไทย ทำให้กระบวนการเลือกตั้งมีความไม่ชอบธรรม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การฟ้องร้อง2 และภาวะอึมครึมเพิ่มขึ้นตามมา

สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสกับกลุ่มผู้พิพากษาที่เข้าเฝ้าในปลายเดือนเมษายน 2549 ว่า พวกเขาน่าจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตของชาติได้ดีกว่านี้ วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัย 8 ต่อ 6 เสียงให้เพิกถอนการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 รวมทั้งการเลือกตั้งครั้งถัดมา รัฐบาลรักษาการไทยรักไทยแก้สถานการณ์นี้ด้วยการร่วมกับกกต.เตรียมจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่วันที่ 15 กันยายน ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 กกต.ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลไทยรักไทยลดลงไปอีก และประชาชนยิ่งประท้วงรัฐบาลเพิ่มขึ้น

วันที่ 19 กันยายน 2549 ก่อนการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1 วัน กลุ่มนายทหารนำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ เลิกล้มรัฐธรรมนูญปี 2540 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 พร้อมกับสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปลายปี 2550 คณะปฏิรูปเชิญพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายทหารนอกราชการที่เป็นองคมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรีใน วันที่ 1 ตุลาคม 2549 และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีในวันที่ 8 ตุลาคม 2549 รัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ และเป็นปลัดกระทรวงมาก่อน รวมทั้ง นายวิจิตร ศรีสะอ้าน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 3

คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้อ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาใหญ่ 4 ข้อที่สร้างโดยรัฐบาลทักษิณคือ 1) ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ 2) การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง 3) ครอบงำหน่วยงานอิสระ ทำให้ไม่สามารถสนองต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ 4) หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ4

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประชาชนคาดหมายว่า คณะปฏิรูปการปกครองและคณะรัฐบาลชุดใหม่ น่าจะดำเนินการบริหารที่ต่างไปจากนโยบายรัฐบาลทักษิณ และปฏิรูปการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลชุดที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปการปกครองซึ่งมีองค์ประกอบเป็นนายทหารและข้าราชการอาวุโส ปฏิบัติงานคล้ายข้าราชการที่เป็นรัฐบาลรักษาการ คือทำงานประจำวันไปวันๆเท่านั้น ไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายหรือเสนอกฏหมายใหม่ ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาเก่าหรือสร้างโครงการใหม่ ที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมอย่างจริงจัง ทำให้ไม่เกิดบรรยากาศการปฏิรูปในด้านเศรษฐกิจการเมือง รวมทั้งเรื่องการศึกษาและสื่อมวลชนแต่อย่างใด มีแต่บรรยากาศของความไม่ค่อยพอใจและไม่แน่ใจในผลงานการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศของคณะปฏิรูปและรัฐบาลรวมทั้งนโยบายและทิศทางการบริหารประเทศที่ไม่ชัดเจน

ในปลายเดือนพฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำฟ้องของอัยการสูงสุดให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคไม่ให้ลงสมัคร 5 ปี5 แต่กลุ่มสนับสนุนทักษิณก็ประท้วงก่อกวนและคัดค้านคณะปฏิรูปการปกครองอย่างไม่ยอมหยุด แม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษา ก็ไม่ค่อยมั่นใจว่า จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมเพิ่มขึ้นได้ นอกจากการก่อกวนต่อต้านจากกลุ่มสนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณแล้ว ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบทั้งความมั่นคงของประเทศและการจัดการศึกษาในภูมิภาคนั้นอย่างรุนแรงมีการลอบเผาโรงเรียนและลอบสังหารครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก

สภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่ตึงเครียดในช่วงปี 2549 – 2590 ส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวของการพัฒนาทางด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดวิเคราะห์เป็น มีความรู้และได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่มีคุณภาพมากพอที่จะเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยได้อย่างแข็งขัน และรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมืองที่มีทั้งอำนาจเงินและความรู้สูงกว่าได้ ขณะเดียวกันสภาพความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว ก็มีผลกระทบทำให้กระแสการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการศึกษาลดวูบลง ทั้งในสมัยรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลรักษาการหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน รัฐบาลรักษาการเป็นรัฐบาลของอดีตข้าราชการชั้นสูงที่คอยปกป้องตนเองในทางการเมือง แก้ไขปัญหาและทำงานประจำแบบต่างคนต่างทำไปวันๆ ไม่เห็นความเชื่อมโยงและหรือไม่ให้ความสำคัญว่า การปฏิรูปการศึกษาและสื่อสารมวลชนมีคุณภาพอย่างจริงจังนั้น จะมีส่วนช่วยให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองได้อย่างสำคัญ

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จากรายงานติดตามเศรษฐกิจประเทศไทย ที่จัดทำโดยธนาคารโลกในปี 2550 รายงานว่าจุดอ่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของไทย คือ

1. ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา หรือการนำขบวนการนวัตกรรมในการผลิตและการทำงานมาใช้แทนการทำงานภาคปกติประจำวัน

2. โครงการของรัฐบาลจำนวนมากที่มุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยี ยังไม่ประสบความสำเร็จมากพอที่จะก่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ

3. การผลิตคนงานที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่มัธยมปลายถึงในระดับอุดมศึกษา มีสัดส่วนต่ำกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างมาก และปัญหาที่รุนแรงกว่าคือ ปัญหาคุณภาพของการศึกษาชั้นมัธยมปลาย (ทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา)ของไทย อยู่ในเกณฑ์ต่ำ (เช่น ขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาษาอังกฤษ)

4. คุณภาพของการศึกษาทั้งระดับมัธยมปลายและระดับอุดมศึกษาไม่ส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานแรงงาน และไม่ส่งเสริมนวัตกรรมการคิดค้นอะไรใหม่

5. บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยสนใจการวิจัยและการพัฒนา การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้พนักงานไทยน้อยมาก6

1.2 เปรียบเทียบสถานะของไทยกับประเทศอื่น

เนื่องจากไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนและค้าขายอย่างเสรีทำให้ไทยต้องแข่งขันในทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆมาก การเปรียบเทียบฐานะและความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศอื่น จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษา และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมด้านอื่นได้ดีขึ้นทางหนึ่ง

เปรียบเทียบขนาดประชากร ประเทศไทยมีประชากรใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของประเทศทั่วโลก (สถิติปี 2546) โดยมีประชากรมากกว่าประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี เล็กน้อย7 ซึ่งแสดงว่าไทยเป็นประเทศขนาดปานกลางค่อนข้างใหญ่ ไม่ใช่ประเทศเล็กอย่างที่หลายคนเข้าใจ

เปรียบเทียบขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ซึ่งคำนวณด้วยการถ่วงน้ำหนักด้วยค่าครองชีพของประชาชน (PURCHASING POWER PARITY) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไทยอยู่ในอันดับที่ 21 ในบรรดาประเทศ 179 ประเทศ ในปี 25488 ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจขนาดปานกลางค่อนข้างใหญ่

แต่ถ้าเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (GDP PER CAPITA) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 72 ซึ่งแสดงว่าประชากรไทยโดยเฉลี่ยยังมีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ จึงจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาน้อยกว่า (เทียบกับญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 12 สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 22 ไต้หวันอันดับที่ 23 บรูไนอันดับที่ 27 เกาหลีใต้อันดับที่ 33 มาเลเซียอันดับที่ 62) 9

เปรียบเทียบดัชนีการพัฒนามนุษย์(HUMAN DEVELOPMENT INDEX) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติUNDP ที่คำนวณรายได้ต่อหัวร่วมกับปัจจัยการพัฒนาด้านสังคมเช่น การศึกษา สาธารณะสุข การเมืองและอื่นๆด้วย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 74 ในปี 2549 ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยมีการกระจายทรัพย์สินรายได้และการพัฒนาทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมสูง (เปรียบเทียบกับฮ่องกงอันดับที่ 22 สิงคโปร์อันดับที่ 25 สาธารณรัฐเกาหลีอันดับที่ 26 มาเลเซียอันดับที่ 61)10

เปรียบเทียบ ดัชนีปลอดการคอรัปชั่น โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL TRANSPARENCY ORGANIZATION) ซึ่งจัดอันดับจากประเทศที่มีปัญหาคอรัปชั่นน้อยที่สุดไปถึงประเทศที่มีภาพลักษณ์ปัญหาคอรัปชั่นมากที่สุดตามลำดับ ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ดัชนีปลอดการคอรัปชั่นลำดับที่ 59 อยู่ในระดับเดียวกับ คิวบา ตรินิแดดและโตเบโก โดยได้คะแนน 3.8 จากคะแนนเต็ม 10 ในปี 2548 ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีปัญหาคอรัปชั่นมากกว่าหกสิบประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ที่มีดัชนีปลอดการคอรัปชั่นอยู่ลำดับที่ 5 ฮ่องกงลำดับ 15 ญี่ปุ่นลำดับ 21 ไต้หวันลำดับ 32 มาเลเซีย ลำดับ 39 และเกาหลีใต้ลำดับที่ 40 ตามลำดับ11

เปรียบเทียบดัชนีเสรีภาพสื่อ โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไม่มีพรมแดน(REPORTER WITHOUT BORDERS) ซึ่งเปรียบประเทศที่สื่อมวลชนโดนปิดข่าวจากทางรัฐบาล ในปี 2549 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 122 ตกจากปี 2548 ซึ่งอยู่อันดับ 10712 ซึ่งสะท้อนว่า สื่อมวลชนของประเทศไทยมีเสรีภาพในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นนับร้อยประเทศ นโยบายของรัฐบาลในเรื่องปิดข่าวสื่อมีผลต่อการทำให้ประชาชนไทยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและเรียนรู้จำกัด

1.3เปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของไทยเปรียบกับประเทศอื่น13

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเขตทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังขยายตัว ที่จัดโดยสถาบันนานาชาติเพื่อการจัดการ(Institute for Management Development IMD) เป็นดัชนีชี้วัดที่ประเทศต่างๆให้ความ สนใจ เพราะสะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดความสามารถและทักษะความชำนาญต่างๆในการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก

เกณฑ์การจัดอันดับของสถาบัน IMD ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ (1) เศรษฐกิจ (Economic Performance) (2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) (3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ (4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งรวมทั้งโครงสร้างพลังงาน การสื่อสาร คมนาคม การศึกษา และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

การจัดอันดับในปี 2549 ได้เลือกประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆทั่วโลกรวม 61 แห่ง รวมทั้งไทย ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอันดับให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด 5 ลำดับแรกคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ ไอซ์แลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ (4อันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปี 2548) สำหรับประเทศกลุ่มอาเซียนจำนวน 5 ประเทศ นอกจากสิงคโปร์ที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 3 นั้น อีก 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ลำดับ 23, 32, 49 และ 60 ตามลำดับ

สถานภาพการแข่งขันของประเทศไทย

ปี 2549 ประเทศไทยถูกลดอันดับจากอันดับ 27 ในปี 2548 เป็นอันดับ 3214ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยหลัก 4 กลุ่มพบว่า 3 กลุ่มแรก คือ สมรรถนะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพธุรกิจประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ปานกลางพอใช้ได้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น คือ 2 กลุ่มแรกในอันดับที่ 21 กลุ่มประสิทธิภาพธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 28 แต่อันดับในกลุ่มประสิทธิภาพภาครัฐ ลดลงจากปี 2548

แต่กลุ่มที่ 4 คือ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาด้วย เป็นจุดอ่อนและปัจจัยถ่วงความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาโดยตลอด ดัชนีเฉพาะกลุ่มนี้ ถูกปรับลดลงจากอันดับที่ 47 ในปี 2548 มาอยู่ที่อันดับ 48 ในปี 2549 ประเทศไทยจึงน่าจะเน้นการพัฒนาในกลุ่มนี้

โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น ปัจจัยย่อยที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย คือ เรื่องการบริโภคพลังงาน ความหนาแน่นของเครือข่ายถนนและรถไฟ การคมนาคมขนส่งทางน้ำ รวมทั้งจำนวนพื้นที่เพาะปลูกลดลง(จากอันดับ 22 เป็น 26) ปัจจัยที่ได้อันดับดีคือ พื้นที่ขนาดตลาด (จำนวนประชากร) อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม การรักษาและพัฒนาโครงการพื้นฐาน ซึ่งมีการวางแผนและมีงบประมาณอย่างเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คุณภาพการคมนาคมทางอากาศ ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ ความเป็นเมืองที่ไม่ได้ดูดทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปจนหมด (จาก 44 เป็น 31) ประสิทธิภาพในการกระจายโครงสร้างพื้นฐาน (จาก 40 เป็น 32)

โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ปัจจัยเด่นของประเทศคือ ต้นทุนการต่ออินเตอร์เน็ต ต้นทุนค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการส่งออกสินค้าประเภทไฮเทค ส่วนปัจจัยอื่นๆอยู่ในอันดับที่ต่ำและลดลงเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ การลงทุนในโครงการโทรคมนาคม ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำนวนผู้มีโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารให้ตรงความต้องการของธุรกิจ จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จำนวนผู้มีบรอดแบรนด์ ทักษะด้านไอที ความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างบริษัท การประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีได้รับการสนับสนุนจากระบบกฎหมาย

ทั้งนี้ปัจจัยที่มีการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่จำนวนสายโทรศัพท์ สัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ในโลก จำนวนคอมพิวเตอร์ต่อหัว การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี กฎระเบียบทางเทคโนโลยี และการคำนึงถึงความปลอดภัยบนไซเบอร์ในบริษัท อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีโดยรวมยังมีอันดับต่ำ และมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด

โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ต่ำมาก คือ 53 ปัจจัยที่ดีขึ้นกว่าปี 2548 คือ ความสนใจของเด็กต่อวิทยาศาสตร์ งานวิจัยพื้นฐาน และจำนวนสิทธิบัตรที่มีการบังคับใช้ จำนวนบทความด้านวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน สภาพแวดล้อมกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และจำนวนนักวิจัยจาก 25,000 คน ในปี 2548 เป็น 42,380 คนในปี 2549 แม้ว่ายังต่ำจากค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆอยู่มาก ขณะที่จุดอ่อนของประเทศไทยอยู่ที่การใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในภาคเอกชน จำนวนนักวิจัย จำนวนสิทธิบัตรที่ให้แก่คนในประเทศ จำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศ ผลิตภาพของสิทธิบัตร และการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหากไทยต้องการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องลงทุนเรื่องการพัฒนาและการวิจัยมากขึ้น เพราะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

สุขภาพและสิ่งแวดล้อม อันดับรวมลดจาก 46 ในปี 2548 เป็น 48 ในปี 2549 โดยปัจจัยหลายตัวมีคะแนนและอันดับลดลง ได้แก่ สัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดต่อ GDP สัดส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐต่อการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพเพื่อสนองความต้องการของสังคม การปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ ลำดับความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในองค์กร และกฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอยู่บ้าง

นอกจากนี้ปัจจัยอีกหลายตัวซึ่งยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ จำนวนคนไข้ต่อแพทย์และพยาบาล (อันดับ 57) อายุขัยเฉลี่ยเมื่อเกิด (อันดับ 53) อายุขัยเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (อันดับ 50) ดัชนีพัฒนาคน (อันดับ 50) ปัญหามลพิษ (อันดับ 45) และคุณภาพชีวิต (อันดับ 36) โดยจุดแข็งของไทยอยู่ที่รอยเท้าทางนิเวศ (Ecological Footprint: EF) ซึ่งเป็นดัชนีวัดปริมาณการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ โดยไทยอยู่อันดับที่ 8 ทั้งนี้ปัจจัยเกี่ยวกับการรีไซเคิลกระดาษต่อการบริโภค และสัดส่วนต่อการบำบัดน้ำเสียต่อประชากรนั้น IMD ไม่มีข้อมูลที่จะนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้

การศึกษา อันดับรวมลดจาก 46 เป็น 48 ปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษาต่อ GDP (อันดับ 49) อัตราส่วนนักเรียนต่อครูทั้งในระดับประถมศึกษา (อันดับ 44) และระดับมัธยมศึกษา (อันดับ 53) อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา (อันดับ 49) ทักษะด้านภาษา (อันดับลดลงจาก 35 เป็น 47) จำนวนวิศวกร (อันดับ 46) และอัตราการอ่านออกเขียนได้ (อันดับ 46) นอกจากนี้การศึกษาด้านการเงินโดยรวม ความรู้ด้านเศรษฐกิจของประชาชน ระบบการศึกษาโดยรวมต่อการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และการถ่ายทอดความรู้ระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัย ยังมีอันดับลดลง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนปัจจัยที่มีอันดับดีขึ้น ได้แก่ อัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยต่อการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยสรุป ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงในประเด็นการบริโภคพลังงาน ความพอเพียงของถนนและรถไฟ การลงทุน จำนวนผู้ใช้ ทักษะ และกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งบประมาณและบุคลากรในด้านวิจัยและพัฒนา สิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา ค่าใช้จ่ายและบุคลากรทางการแพทย์ ปัญหามลพิษ กฎหมายสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลและบำบัดน้ำเสีย ดัชนีการพัฒนาคน อัตราการเรียน ทักษะ ระบบศึกษา และการถ่ายทอดความรู้ระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัย

วิเคราะห์อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดลงจากปี 2548 หลายอันดับในปี 2549 ส่วนหนึ่งมาจากการที่แนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นและปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ระดับราคาและค่าครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้จุดอ่อนที่สะสมมานานได้ เช่น ผลิตภาพ ทักษะของแรงงานและการวิจัยและพัฒนา อยู่ในระดับต่ำ การนำเข้าสินค้าที่มูลค่าสูง และโครงสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาการส่งออกสินค้าเพียงบางอย่างขาดความยืดหยุ่น ขณะที่ปัจจัยสนับสนุน เช่นโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น และประสิทธิภาพภาครัฐมีอันดับลดลง เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

หากประเทศไทยยังไม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ความสามารถในการแข่งขันของไทย ไม่เพียงแต่ลดลง แต่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศโดยรวม เพราะความสามารถในการแข่งขัน หมายถึงโอกาสที่จะมีการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาหรือความมั่งคั่งสู่ประชาชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย

นอกจากจุดอ่อนของปัจจัยภายในประเทศแล้ว ไทยซึ่งเป็นประเทศเปิดเสรีที่พึ่งพาการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศเช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นสัดส่วนสูง ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ความต้องการวัตถุดิบจำนวนมากของอินเดียและจีน ซึ่งส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ สินค้า และพลังงานสูงขึ้น ปัจจัยด้านการแข่งขันจากแรงงานฝีมือค่าจ้างต่ำของต่างประเทศ และการเกิดขึ้นของตลาดใหม่ๆในเอเชีย รัสเซียและประเทศในแถบลาตินอเมริกา รวมทั้งแอฟริกา ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า

ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายอันได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างการส่งออกและนำเข้า การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม การพัฒนาคุณภาพแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบการปฏิบัติ เพื่อรักษาและพัฒนาอันดับความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยมาโดยตลอดที่ต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และผลิตภาพของแรงงาน

นอกจากนี้แล้ว องค์กร World Economic Forum ซึ่งทำรายงานประเมินความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก 125 แห่ง ได้จัดอันดับให้ไทยอยู่ในลำดับปานกลางค่อนข้างต่ำคล้ายๆกับของสถาบัน IMD กล่าวคือจัดให้ไทยอยู่ลำดับ 33 ในปี 2548 และ อันดับที่ 35 ในปี 2549 ในขณะที่ในปี 2549 สิงคโปร์ อยู่ลำดับที่ 5 ญี่ปุ่นลำดับ 7 ไต้หวันลำดับที่ 13 เกาหลีใต้ลำดับที่ 24 และ มาเลเซีย ลำดับที่ 26 15

บทที่ 1 : เศรษฐกิจการเมืองไทยและความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
บทที่ 2 : การจัดการศึกษาในปี 2549 – 2550
บทที่ 3 : การประเมิน การจัดสรรทรัพยากร ประสิทธิภาพ และความเสมอภาคในการจัดการศึกษา
บทที่ 4 : ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการการศึกษษ
บทที่ 5 : บทบาทของการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ
บทที่ 6 : ปัญหาคอขวดและทางออกในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา
บทที่ 7 : การศึกษาและการพัฒนาประเทศแบบองค์รวมเพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความยั่งยืน

Download เอกสารเล่มเต็ม PDF

 

1 responses to “รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2549/2550 (บทที่ 1)

  1. นาย ศิริศักดิ์ พราหมณ์โสภื

    มิถุนายน 6, 2008 at 10:14 am

    ดีมากครับ ถ้าจัดวางหน้าให้ดืผู้อ่านจะรู้เรื่องมากกว่านี้

     

ใส่ความเห็น