RSS

Category Archives: ทางออกจากปัญหาวิกฤ

ทางออกของปัญหา:ปัญหาและแนวทางพัฒนาสหกรณ์ในประเทศไทย


บทความที่เขียนใน นสพ. ผู้จัดการรายสัปดาห์ 11 ตุลาคม 2550 16:22 น.
       สภาพสหกรณ์ในประเทศไทย
       
        สหกรณ์เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจแบบสมาชิกเป็นเจ้าของร่วมกันแบบประชาธิปไตยที่มีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจที่สำคัญในหลายประเทศ แต่สหกรณ์ของไทย เช่น สหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งมีจำนวนสหกรณ์ สมาชิกและทรัพย์สิน และยอดธุรกิจมากที่สุดรู้จักกันแค่ว่าเป็นแหล่งเงินกู้ สหกรณ์อีก 5 ประเภทที่เหลือ คือ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์บริการ และสหกรณ์เครดิตยูเนียนซึ่งความจริงคือสหกรณ์ออมทรัพย์นั่นเอง
       
       ประเทศไทยมีสหกรณ์ที่จดทะเบียนทุกประเภทรวมกัน 6147 แห่ง สมาชิก 8,924,682 คน สหกรณ์ที่มีจำนวนมากที่สุด (ราว 60%) คือ สหกรณ์การเกษตร มีจำนวนสหกรณ์ 3,748 แห่ง และสมาชิก 5.36 ล้านคน สหกรณ์ที่มีจำนวนสหกรณ์และสมาชิกรองลงมาคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ มีจำนวนสหกรณ์ 1490 แห่ง และสมาชิก 2.37 ล้านคน (1 มกราคม 2547)
       
       สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์ออมทรัพย์ของไทยรวมทั้งเครดิตยูเนียน กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ ยังมีสัดส่วนการตลาดต่ำกว่าประเทศที่มีขนาดประชากรไล่เลี่ยกันกับเรา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือจะเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีขนาดประชากรน้อยกว่าเรา เช่น เกาหลีใต้ ระบบสหกรณ์หรือขบวนการสหกรณ์ของเราก็ยังมีขนาดทางธุรกิจที่เล็กกว่าเขามาก ประเทศอื่นมีสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค ธนาคารสหกรณ์ ร้านค้าสหกรณ์ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศและแข่งกับห้างขนาดใหญ่ สหกรณ์สาธารณูปโภค ฯลฯ ที่ไทยยังไม่มี
       
       แม้ประเทศไทยมีสมาชิกสหกรณ์ค่อนข้างมาก คือราว 8.9 ล้านคน มากกว่าหลายประเทศรวมทั้งอิตาลี ที่มีขนาดประชากรใกล้เคียงไทย แต่สมาชิกสหกรณ์ไทยมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจน้อย สมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่หวังกู้เงินจากสหกรณ์ หรือส่วนหนึ่งหวังการออมและซื้อหุ้นสหกรณ์ที่ได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลมากกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์การเกษตรของไทยทำธุรกิจด้านรวบรวมผลิตผลและจำหน่ายสินค้าเพียง 45% อีก 55% เป็นการรับฝากเงินและให้กู้
       
        ประชาชนไทยยังไม่ได้ตระหนักว่า ระบบสหกรณ์สามารถเป็นทางเลือกที่ดีกว่าระบบทุนนิยมได้ในหลายทางมากกว่าที่สหกรณ์ไทยทำอยู่ เช่น เป็นสหกรณ์ผู้ผลิต คนงานเป็นเจ้าของโรงงานเอง ธนาคารสหกรณ์ สหกรณ์ร้านค้าที่แข่งกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
       
       ปัจจัยที่ทำให้สหกรณ์ไทยเติบโตช้า
       
        ปัญหาของขบวนการสหกรณ์ไทยที่เติบโตช้ามีหลายสาเหตุ สาเหตุแรกคือ การอยู่ภายใต้ระบบราชการ และกฎหมายที่เข้มงวด สหกรณ์ทุกประเภทอยู่ภายใต้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ และมีกฎหมายที่ค่อนข้างเข้มงวดตายตัว
       
        สาเหตุที่ 2 คือระบบนายทุน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ กีดกันสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ให้ตั้งเป็นธนาคารได้เหมือนประเทศอื่น สหกรณ์จะรับฝากหรือให้กู้คนภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกก็ไม่ได้ ทั้งการให้สิทธิพิเศษด้านลดหย่อนภาษีก็จำกัด เช่น ลดให้เฉพาะภาษีดอกเบี้ยจากเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ในขณะที่หลายประเทศจะยกเว้นภาษีให้สหกรณ์ทุกประเภท
       
       ในประเทศไทยมีธนาคารชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)ที่ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร แต่การเป็นเจ้าของและการจัดองค์กรเป็นธนาคารของรัฐที่บริหารงานเพื่อหากำไรแบบธนาคารพาณิชย์เหมือนธนาคารกรุงไทย ไม่ใช่ธนาคารที่เป็นของชาวสหกรณ์ที่บริหารโดยสหกรณ์เพื่อสหกรณ์อย่างแท้จริงเหมือนธนาคารสหกรณ์ในประเทศอื่น หากต้องการปฎิรูประบบสหกรณ์ไทยให้ก้าวหน้า ต้องผ่าตัดเปลี่ยนแปลงให้ ธกส. เป็นธนาคารที่สหกรณ์เกษตรเข้าไปถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นใหญ่ และสหกรณ์การเกษตรเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนเข้าไปดูแลบริหารจริงๆ จะจ้างผู้บริหารมืออาชีพก็ได้ แต่บอร์ดผู้บริหารต้องเป็นชาวสหกรณ์ที่เป็นตัวแทนของสมาชิกที่เป็นผู้ถือหุ้นและผู้ใช้บริการ
       
        สาเหตุที่ 3 คือการขาดการให้การศึกษาประชาชนให้เข้าใจอุดมการณ์สหกรณ์ และขาดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการบริหาร และมีความซื่อสัตย์ มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ระบบการศึกษาไทยสอนแบบท่องจำ เน้นแต่อุดมการณ์จารีตนิยมและทุนนิยมที่แข่งขันหากำไรสูงสุดของเอกชนแบบตัวใครตัวมัน สนใจแต่ปัญหาด้านเทคนิควิชาชีพ ประชาชนก็มองสหกรณ์เป็นแค่แหล่งเงินกู้แหล่งหนึ่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากราชการ ไม่เข้าใจว่าสหกรณ์เป็นทางเลือกที่ 3 ที่ต่างจากทั้งทุนนิยมและสังคมนิยม สหกรณ์เป็นสมาคมเพื่อช่วยเหลือกันและกันของประชาชน ที่ประชาชนร่วมลงทุนทั้งเป็นเจ้าของ ผู้ผลิตและผู้บริโภค บริหารและแบ่งปันผลกำไรกันแบบประชาธิปไตย คือสมาชิกมีเสียง 1 เสียงเท่ากัน สหกรณ์ไม่ใช่ทั้งหน่วยราชการและไม่ใช่ธุรกิจเอกชนเจ้าของคนเดียว หรือบริษัทจำกัดซึ่งคนถือหุ้นใหญ่มีเสียงมากกว่าคนถือหุ้นรายย่อย
       
        ที่จริงสหกรณ์ในไทยเองโดยเปรียบเทียบก็ยังมีปัญหาทุจริตน้อยกว่าระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ สหกรณ์มีศักยภาพในการพัฒนาแนวธุรกิจเอกชนที่เน้นการแข่งขันในตลาดอย่างมีประสิทธิภาพได้มากกว่าระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ ในประเทศอื่นที่สหกรณ์เติบโตได้ เพราะสหกรณ์เป็นอิสระจากระบบราชการ สมาชิกเอาการเอางานและบริหารสู้ธุรกิจเอกชนได้ ในประเทศไทยก็มีกลุ่มออมทรัพย์เครดิตยูเนียน สหกรณ์ทรัพย์ สหกรณ์การเกษตรบางแห่งที่ประสบความสำเร็จ สามารถบ่มเพาะผู้บริหารที่เก่งและมีอุดมการณ์ แต่สหกรณ์ของไทยเมื่อเติบโตได้ระดับหนึ่งก็มักขยายไม่ได้ ติดตัวกฎหมาย ระบบบริหาร ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด เมื่อสหกรณ์ขยายตัวไม่ได้ ก็ขึ้นเงินเดือนผู้บริหาร หรือจ้างผู้บริหารมืออาชีพไม่ได้ หรือไม่มีเงินมากพอจะฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรของตนให้ทันสมัยแข่งขันกับธุรกิจเอกชนได้
 

ประวัติ ผลงาน และแนวคิดของ วิทยากร เชียงกูล (ปี2542)


ประวัติ  ผลงาน และแนวคิดของ  วิทยากร เชียงกูล

นักวิชาการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

และนักเขียนรางวัล ศรีบูรพา

ฉันจึงมาหาความหมาย (พ.ศ.2503-2512)

      สอบแข่งขันเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี 2503 เริ่มเขียนและทำหนังสือที่นั่นเป็นสาราณียกรหนังสือประจำปี และเป็นประธานชมรมภาษาอังกฤษ

      สอบเข้าเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2508 ได้คะแนนสูงสุดและได้รางวัลดีภูมิพล เป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2511 เขียนบทกลอนชื่อ “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” มีเนื้อความท่อนหนึ่งว่า

            “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง  ฉันจึงมาหาความหมาย

              ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

      บทกลอนชิ้นนี้(และงานชิ้นอื่น ๆ)ของเขา ได้มีบทบาทในการกระตุ้นให้นักศึกษาในยุคนั้นตั้งคำถามต่อชีวิตและบทบาทที่ควรเป็นของนักศึกษา ตั้งคำถามต่อแนวนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล จนมีผลสะเทือนให้นักศึกษาในยุคนั้นและยุคต่อมาตื่นตัวทางสังคมและทางการเมืองเพิ่มขึ้น ประดุจไฟลามทุ่ง

นักเขียนคลื่นลูกใหม่ – เราจะไปทางไหนกัน ? (พ.ศ.2512-2516)

      จบจากคณะเศรษฐศาสตร์ โดยได้เกียรตินิยม เข้าทำงานประจำกองบรรณาธิการนิตยสารชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษาประชาชน และวิทยาสารปริทัศน์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์และนิตยสารอื่น ๆ หลายฉบับ และไปบรรยายพิเศษให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เริ่มสนใจปัญหาสังคม ผู้ที่ต่อมาจะมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

      ผลงานหนังสือเล่มที่เด่นในช่วงนี้ คือ ฉันจึงมาหาความหมาย เราจะไปทางไหนกัน ทางออกของประเทศด้อยพัฒนา แนวความคิดใหม่ทางการศึกษา งานเขียนและงานพูดของเขากระตุ้นให้คนหนุ่มสาวสนใจปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ของประเทศไทย ที่เขาเห็นว่าถูกทำให้ด้อยพัฒนาจากประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม  และรัฐบาลเผด็จการในประเทศของตนเอง

เพื่อโลกที่ดีกว่า (พ.ศ.2516-2519)

      ในยุคประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำงานประจำที่ฝ่ายวิจัยและวางแผนธนาคารกรุงเทพ  เขียนบทความวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างเจาะลึก มีผลงานเช่น ปัญหาเศรษฐกิจของชาวนาไทย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปัญหาพื้นฐานของชาวนาไทย) ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของประเทศโลกที่สาม เพื่อโลกที่ดีกว่า ฯลฯ ไปบรรยายพิเศษให้กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว รวมทั้งชาวนาและกรรมกรในหลายจังหวัด เขียนและแปลงานทั้งวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่มีเนื้อหาสาระเพื่อยกระดับจิตใจคน และงานด้านการพัฒนาความคิดความรับรู้ใหม่ ๆ ในเชิงสังคม เช่น ฝันของเด็กชายชาวนา เธอคือชีวิต การแต่งงานในทัศนะใหม่ ฯลฯ

 

วิพากษ์ระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยมบริวารที่มีลักษณะผูกขาด (พ.ศ.2519-2523)

      ตอนเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519  วิทยากรซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารพาณิชย์แห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการศึกษาอบรม “วิธีการสอนสำหรับครูสหภาพแรงงาน) ที่สถาบันฝึกอบรมผู้นำแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อิตาลี ปีพ.ศ.2520  เขากลับมาทำงานฝ่ายวิจัยที่ธนาคารกรุงเทพ เขียนบทความให้วารสารเศรษฐกิจ รายงานเศรษฐกิจประจำปี ของธนาคารกรุงเทพ เขียนบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเมือง สังคมไทย  ในมติชน  และพิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่ม ทั้งรวมบทความ และงานแปล

      ปี 2523 รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านพัฒนาสังคมที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะอยากเปลี่ยนงานไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาทุนนิยมในประเทศไทย : ศึกษากรณีสังคมเกษตรกรรมภาคกลาง” ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางเป็นทุนนิยมบริวารที่มีลักษณะผูกขาดได้สร้างปัญหาความแตกต่างทางชนชั้น เกิดการเอาเปรียบ และเกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น

การตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของการต่อสู้ทางความคิด (พ.ศ.2525-2531)

      ลาออกจากตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารกรุงเทพ ไปเป็นอาจารย์แบบตั้งต้นใหม่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความลงมติชน เป็นบรรณาธิการวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นกรรมการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ฯลฯ วิเคราะห์ปัญหาจากมุมมองด้านสังคมและวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น เขาเสนอว่าปัญหาสังคมไทยไม่ใช่อยู่แค่เศรษฐกิจและการเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่อยู่ที่การที่ชนชั้นนำสามารถครอบงำทางความคิดความรู้คนส่วนใหญ่ได้ ทำให้คนมีทัศนะแบบพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ หรือเชื่อในระบบเจ้าขุนมูลนาย  จึงทำให้สังคมไทยมีปัญหาความด้อยพัฒนาอย่างหยั่งรากลึก ที่ต้องแก้ไขด้วยการปฏิวัติทางด้านการศึกษา และทางภูมิปัญญาให้คนกล้าคิดอย่างสร้างสรรค์และวิพากษ์วิจารณ์ และอย่างมีวุฒิภาวะ  งานเขียนเด่น ๆ ช่วงนี้คือ วิเคราะห์บทบาทและความคิดของปัญญาชนไทย ศรีบูรพา, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ส. ศิวรักษ์

ทางเลือกใหม่ของการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต (พ.ศ.2531-2534)

      ทำงานเป็นที่ปรึกษาองค์กรพัฒนาเอกชน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์วัฎจักรรายวัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (ดูแลงานด้านการวิจัยและวางแผน) เป็นผู้ชำนาญการ ประจำคณะกรรมาธิการการคลัง การเงิน การธนาคารของสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ.2532-2534) ผลงานหนังสือเล่มในช่วงนี้มีอาทิ เช่น ทางสองแพร่งของเศรษฐกิจการเมืองไทย, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมกับผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทย, ศัพท์เศรษฐกิจธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ฯลฯ  เขาได้พยายามเสนอแนวคิดต้านกระแสการพัฒนาแบบฟองสบู่ที่เน้นการบริโภค การหากำไรส่วนตัว เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤติ และเสนอให้ใช้แนวทางการพัฒนาแบบกระจายทรัพย์สินและรายได้  และพัฒนาคุณภาพชีวิตแทนการมุ่งความเจริญทางวัตถุ

การสร้างภูมิปัญญาใหม่เพื่อต้านภัยวิกฤติแห่งชาติ (พ.ศ.2535-ปัจจุบัน)

      ย้ายงานไปเป็นรองอธิการบดี และผู้อำนวยการวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ตามลำดับ ทำงานบริหาร ก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยรังสิต สอนหนังสือ บรรยายพิเศษ ทำงานวิจัย เขียนและแปลหนังสือออกมาจำนวนมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจการเมือง, การพัฒนาทางสังคม การศึกษา และวัฒนธรรมธรรม การวิจารณ์วรรณกรรม จิตวิทยา และการพัฒนาตนเอง งานวิจัยและผลงานหนังสือเล่มในช่วงนี้ อาทิเช่น เพื่อศตวรรษที่ 21 วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย, VISION 2020 จินตภาพสำหรับผู้บริหารและสังคมไทย, ปฎิรูปการเมืองไทยมองให้ไกลกว่าการร่างรัฐธรรมนูญ, การกอบกู้และฟื้นฟูชาติจากพัฒนาการ IMF,  หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน, รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2540 ฯลฯ

      แนวคิดหลักที่วิทยากรนำเสนอในช่วงนี้คือ การวิพากษ์นโยบายการพัฒนาประเทศแบบเน้นความเติบโตทางวัตถุ การพึ่งพาทุนต่างชาติเพื่อการส่งออกอุตสาหกรรม ทำให้สังคมไทยพัฒนาผิดทาง นำไปสู่วิกฤติด้านระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม การหวังพึ่งทุนต่างชาติให้มาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะทำให้ไทยพัฒนาประเทศแบบบราซิล คือ เติบโตเฉพาะส่วนที่สัมพันธ์กับต่างชาติ คนรวยส่วนน้อยรวยขึ้น คนจนส่วนมากจนลง เกิดปัญหาคนว่างงาน ปัญหาเด็กจรจัด สลัม ยาเสพติด ฯลฯ เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจถูกบงการโดยต่างชาติเพิ่มขึ้น ประชาชนไทยจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบโครงสร้างสังคมและทิศทางการพัฒนาใหม่ในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว เกิดแนวคิดใหม่ คุณธรรมใหม่ มีสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม มีภูมิปัญญาในการพัฒนาประเทศแบบเป็นไทยและยั่งยืน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม และคุณค่าที่ดีงามในสังคม

      การที่สังคมไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปได้อย่างแท้จริง จำเป็นที่จะต้องมี

  1. แนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศแบบพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งพาเงินกู้และเงินลงทุนจากต่างประเทศ ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นทุนนิยมแบบประชาชนถือหุ้นใหญ่ เน้นการพัฒนาตลาดและเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
  2. การสร้างผู้นำใหม่และกลุ่มทางการเมืองแบบใหม่ที่มีอุดมการณ์ มีความซื่อสัตย์ และมีความรู้ความสามารถ ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดใหม่ได้ โดยใช้ช่องทางทุกช่องทางที่เอื้อประโยชน์ เช่น การสมัครเป็นวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

      วิทยากร ปัจจุบันอายุ 53 ปี มีผลงานรวมเล่มแล้วประมาณ 60 เล่ม  เขาได้รับรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนผู้มีผลงานสร้างสรรค์สังคม อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 ปี ในปีพ.ศ. 2541  คำประกาศเกียรติคุณโดยกองทุนศรีบูรพา ได้กล่าวถึงเขาไว้ตอนหนึ่งว่า “เป็นนักคิดนักเขียนที่มีความเสมอต้นเสมอปลายในการเสนอผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความอยุติธรรมทางสังคม คำนึงถึงผู้เสียเปรียบ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งได้ดำรงชีวิตส่วนตัวอย่างสอดคล้องต้องตรงกับความคิดที่ตนเสนอออกมา นับเป็นแบบอย่างที่ดีเด่น และดีงามในแวดวงผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมในยุคสังคมบริโภคนิยม…”

 

5. แนวทางแก้ไขวิกฤติและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมได้ทั้งระบบและอย่างยั่งยืน


5.  แนวทางแก้ไขวิกฤติและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมได้ทั้งระบบและอย่างยั่งยืน  

      รัฐบาลชอบอ้างว่าได้พยายามระดมกำลังแก้ไขวิกฤติของชาติอย่างเต็มที่ และใครมีข้อเสนอแนะอะไรก็ให้เสนอมา จะได้ช่วยกันแก้ไขวิกฤติของชาติ. แต่การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติได้อย่างแท้จริง  ไม่ใช่อยู่ที่การช่วยเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหา  ภายใต้กรอบคิดใหญ่ที่ผิดมาตั้งแต่ต้น.  มาตรการที่ฝ่ายประชาชนเสนอ เป็นมาตรการที่แตกต่างรวมทั้งขัดแย้งกับมาตรการที่รัฐบาลทำมาแล้วไม่รู้กี่มาตรการ  และมาตรการรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ล้มเหลว มีทั้งที่ช้าเกินไป  และแก้ปัญหาได้น้อยเกินไป.

      การจะหาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขวิกฤติของชาติได้ทั้งระบบและอย่างยั่งยืน ต้องการกรอบคิดใหม่  ที่เป็นไทจากกรอบคิดแบบ IMF โดยสิ้นเชิง.  กรอบคิดใหม่คือ จะต้องเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นด้านหลัก  เน้นการพัฒนาคน การแก้ปัญหาการว่างงาน และการปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมเพื่อคนส่วนใหญ่ เน้นการพึ่งตนเองในระดับประเทศ และการสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของประเทศ  อย่างถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุด. 

      ส่วนเรื่องการพึ่งการลงทุนจากต่างชาติควรจะลดความสำคัญลงมา โดยรัฐบาลต้องพยายามต่อรองกับพวกเจ้าหนี้ต่างชาติ ต่อรองเรื่องเงื่อนไขกฎเกณฑ์การค้าระหว่างชาติอย่างถึงที่สุด.  เราต้องมีอธิปไตยที่จะเป็นฝ่ายเลือกเปิดประตู ให้เฉพาะการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศเท่าที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อคนไทยส่วนใหญ่เท่านั้น ; ไม่ใช่มุ่งทำทุกอย่างรวมทั้งการออกกฎหมายใหม่เพื่อเอาใจนายทุน นายธนาคารต่างชาติ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขที่ผิดพลาด  ทำให้นายทุนต่างชาติที่มีอำนาจต่อรองหรือมือยาวมากกว่าเอาเปรียบไทยได้มากยิ่งขึ้น.  นโยบายของรัฐบาลในรอบ2 ปีทำให้ต่างชาติเข้ามาประมูลซื้อสินทรัพย์ที่รัฐบาลยึดจากสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดในราคาต่ำมาก ๆ แล้วกลับมาขายคนไทยในราคาสูง โดยทั้งที่คนไทยเสียประโยชน์ไปเปล่า ๆ. ธนาคารต่างชาติก็ขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีส่วนต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารไทยอย่างเห็นได้ชัด ๆ.

กรอบคิดใหม่คืออะไร

      กรอบคิดใหม่ในการแก้ไขวิกฤติคือ ต้องสร้างคนและเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง  พึ่งตนเองในระดับประเทศ (ซื้อขายกันเอง) เป็นสัดส่วนสูงขึ้น  ลดการพึ่งพาต่างประเทศให้มีสัดส่วนน้อยลง. เศรษฐกิจ คือเรื่องการใช้แรงงาน ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์  และสนองความต้องการสมาชิกได้มากที่สุด ส่วนเรื่องการเงินเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น.  ถ้าเรากล้าต่อรองกับเจ้าหนี้ต่างชาติเพื่อขอลดภาระหนี้  และผลัดผ่อนการชำระหนี้  เจ้าหนี้คงต้องยอมเพราะก็ไม่มีทางทำอะไรเราได้มากนัก.  ส่วนปัญหาการคลังและการเงินภายในประเทศ ถ้าเราจัดการปฏิรูปเสียใหม่ ; ให้มีการจัดสรรกระจายการใช้ทรัพยากรใหม่ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุน สร้างงานและเพิ่มผลผลิตอย่างเหมาะสม  เราก็จะสามารถกระจายเงิน (ที่คนรวย  คนชั้นกลาง  ยังมีอยู่มาก)  เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีกว่าในปัจจุบัน. 

      การแก้ไขวิกฤติจึงต้องมุ่งเน้นที่การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร และปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ในทุกด้าน ; เพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้ ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร สิทธิทางการเมืองและทางสังคมไปสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง  ทำให้ตลาดภายในประเทศซึ่งมีประชากรเกือบ 62 ล้านคน เป็นตลาดที่ใหญ่พอที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภายในประเทศเป็นด้านหลักได้. 

      ควรมุ่งช่วยคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้มีงานทำ  มีรายได้เพิ่มขึ้นก่อน แล้วคนจนส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวก็จะช่วยซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นการช่วยคนชั้นกลาง และคนรวยให้สามารถขายสินค้าและบริการได้.  เมื่อธุรกิจขายของได้ ก็จะใช้หนี้ธนาคารได้,  เมื่อหนี้เสียลดลงและธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็จะกระเตื้องได้.

      กรอบคิดใหม่ทางการเมือง ควรใช้อุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย ซึ่งคัดสรรส่วนที่ดีของระบบตลาดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ  มาผสมกับส่วนที่ดีของสังคมนิยม มุ่งการกระจายทรัพย์สินและรายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต  และความเป็นธรรมควบคู่กันไป.  อุดมการณ์แบบทางสายกลางค่อนข้างก้าวหน้านี้พยายามขจัดส่วนด้อยของระบบทุนนิยมที่มักนำไปสู่การผูกขาด และการเอาเปรียบ และส่วนด้อยของสังคมนิยมแบบเก่าที่ขาดแรงจูงใจ  ขาดประสิทธิภาพ.

      มาตรการในการแก้ไขวิกฤติ และฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมไทยได้ทั้งระบบและอย่างยั่งยืน

      1.  การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ  การคลัง การธนาคาร เพื่อการกระจายทรัพยากร  การมีงานทำและมีรายได้ อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ.

      (เป้าหมาย คือ สร้างความเป็นไท  ความเป็นธรรม  การเพิ่มการจ้างงาน  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน)

  1. แก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน  โดยประกาศหยุดการกู้เงินส่วนที่เหลือจาก IMF ตั้งคณะกรรมการระดับชาติไปเจรจาต่อรองขอปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้กับกลุ่มเจ้าหนี้ต่างประเทศ    เพื่อลดภาระหนี้ (เงินต้น, อัตราดอกเบี้ย, ระยะเวลาผ่อนชำระ) และทำให้เงินไหลออกนอกประเทศช้าลง ทำให้มีเงินเหลือสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น. 

       ภาคการผลิตในประเทศจะสามารถต่อรองปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้กับธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศได้มากขึ้น ; และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องรีบขายรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร บริษัท อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ต่างชาติในราคาต่ำเกินไป หรือเป็นสัดส่วนสูงเกินไปโดยไม่จำเป็น.

  1. แก้ปัญหาหนี้ไม่รับรู้รายได้ในระบบธนาคาร  โดยการตั้งองค์กรบริหารทรัพย์สินที่แยกหนี้ต้องสงสัยออกมาต่างหาก  ใช้มาตรการกึ่งบังคับให้ธนาคารและลูกหนี้ที่มีปัญหาทุกรายต้องยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้แบบพบกันครึ่งทาง.    การแก้ปัญหาหนี้ต้องแก้ทั้งระบบ เช่น  การลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ที่ดีด้วย  เพื่อไม่ส่งเสริมให้ลูกหนี้ดีพลอยเอาอย่างลูกหนี้ที่มีปัญหา คือหยุดส่งดอกเบี้ย  และเพื่อทำให้ต้นทุนของธุรกิจต่ำลง ธุรกิจโดยรวมจะได้สามารถฟื้นฟูได้. 

       รัฐควรยกเลิกนโยบายเอาภาษีจากประชาชนไปอุ้มชูเจ้าหนี้ต่างชาติธนาคาร และสถาบันการเงิน  เปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดตั้ง สถาบันประกันเงินฝากผู้ฝากรายย่อยคุ้มครองประชาชนทั่วไปในระดับหนึ่ง  ที่เหลือก็เป็นเรื่องที่ลูกหนี้เจ้าหนี้ต้องเสี่ยง  ต้องฟ้องร้องกันเองเหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ   ขณะเดียวกันก็ควรเปิดให้ตั้งธนาคารเพิ่มขึ้นได้   รวมทั้งขยายบทบาทของกลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารเฉพาะกิจต่าง ๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,  กองทุนบำเหน็จบำนาญ เพื่อเพิ่มการแข่งขันของสถาบันการเงินให้ประชาชนมีทางเลือกในการออมและลงทุนเพิ่มขึ้น.  รัฐจะต้องกล้าเข้าไปดูแลแทรกแซงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  ไม่ให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากเกินไป.

  1. ปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปการเกษตรทั้งระบบอย่างเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม  จำกัดขนาดการถือครองที่ดินและเก็บภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือนในอัตราก้าวหน้า,  ออกพันธบัตรเพื่อซื้อที่ดินเอกชนมาปฏิรูป กระจายการถือครองที่ดินและกระจายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง ที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรมของรัฐส่วนหนึ่งนำมาใช้ปลูกป่าใหม่ อีกส่วนหนึ่งส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนโดยให้เกษตรกรอาศัยทำกินแบบยังชีพได้  และห้ามเกษตรกรขายต่อให้นายทุนไปใช้ทำอย่างอื่น แต่ขายเกษตรกรด้วยกันได้.

       ส่งเสริมการปลูกสวนป่าทั้งของรัฐและเอกชนโดยการออกพันธบัตรเพื่อการปลูกสวนป่า และจัดระบบการถือครองที่ดินใหม่  ทำให้ต้นทุนการปลูกสวนป่าต่ำลง เอกชนสามารถลงทุนปลูกสวนป่าระยะยาว 20-30 ปีอย่างได้ผลคุ้มค่า และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นในระยะยาว.

       ปรับปรุงดินและพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และใช้ปัจจัยภายในประเทศเป็นด้านหลัก พัฒนาเกษตรทางเลือกที่พึ่งธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน ปุ๋ย และยาจากต่างประเทศ  เพื่อลดปัญหาหนี้สิน และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน  เกิดการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ.

       พัฒนาระบบสหกรณ์ และการตลาด  ให้มีประสิทธิภาพ  ทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น  ทำให้ภาคเกษตรสามารถที่จะรับแรงงานเพิ่มขึ้น มีผลผลิตเพิ่มขึ้นได้

  1. ฟื้นฟูการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ  โดยการออกพันธบัตรเพื่อการปฏิรูปที่ดิน  เพื่อการปลูกสวนป่า  พันธบัตรเพื่ออาคารสงเคราะห์ พันธบัตรเพื่อการพัฒนาเทศบาล พันธบัตรเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อม ฯลฯ ;  เพื่อทำให้มีการนำเอา ที่ดิน  ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ขาดผู้ดำเนินการ และขาดสภาพคล่องถูกทอดทิ้งไว้ มาใช้สอย  ทำให้เกิดการจ้างงาน การผลิตและบริโภคเพิ่มขึ้น.  คนจนที่เคยอยู่ชุมชนแออัดหรือเช่าบ้านเขาอยู่ก็จะได้มีที่อยู่อาศัยของตัวเองที่ดีขึ้น  โดยผ่อนส่งระยะยาว เสียดอกเบี้ยต่ำ เศรษฐกิจในประเทศก็จะฟื้นตัวขึ้นได้. 

       คนที่เลี้ยงชีพด้วยเงินออม  ก็จะมีทางเลือกในการลงทุนซื้อพันธบัตรเหล่านี้ โดยได้ดอกเบี้ยสูงพอสมควร  แทนที่จะถูกนายธนาคารกดดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำมากจนผู้เกษียณอายุ,  มูลนิธิต่าง ๆ ลำบากไปตาม ๆ กัน.

  1. ปฏิรูประบบภาษีอากรและการจัดสรรงบประมาณ  เก็บภาษีมรดก และทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ในอัตราก้าวหน้า เก็บภาษีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ, การเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพิ่มภาษีสินค้าสั่งเข้าและบริการที่ฟุ่มเฟือย  ลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่จำเป็น   รวมทั้งการผลิตหนังสือ และสื่อเพื่อการศึกษาต่าง ๆ.

       ลดหย่อนภาษีรายได้ให้คนทำงานที่รายได้ต่ำและปานกลาง ลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่ใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศและจ้างแรงงานคนเป็นสัดส่วนสูงกว่าธุรกิจทั่วไป

       ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ และทรัพยากรของประเทศใหม่  โดยเน้นความยุติธรรม  และการจัดสรรใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตในระยะยาว ให้มีการกระจายอำนาจทางการคลังและการจัดสรรทรัพยากรไปสู่องค์กรท้องถิ่น, องค์กรประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยต้องมีการตรวจสอบดูแลให้มีการจัดสรร และใช้งบประมาณอย่างซื่อสัตย์ มีประสิทธิภาพ

       การใช้งบประมาณควรเน้นไปในทางพัฒนาสุขภาพและการศึกษาอบรมคน,  พัฒนาทรัพยากรในการผลิต และกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงาน   เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนส่วนใหญ่.

  1. ปฏิรูปโครงสร้างการเป็นเจ้าของและผู้บริหารธนาคาร, รัฐวิสาหกิจ และบริษัท ให้เป็น

    แบบบริษัทมหาชนที่บริหารโดยมืออาชีพ.   ช่วยให้พนักงาน และประชาชนเข้าถือหุ้นและมีส่วนในการบริหารมากขึ้น ; โดยธนาคารชาติปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (SOFT  LOAN) โดยตรงหรือผ่านธนาคารพาณิชย์ ให้กองทุนพนักงาน(หรือสหกรณ์ สหภาพแรงงาน) ของธนาคาร รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทต่าง ๆ นำไปซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร  บริษัท ต่าง ๆ โดยใช้หุ้นค้ำประกัน แล้วให้พนักงานผ่อนส่งค่าหุ้นโดยวิธีหักจากเงินเดือน.

       ปฏิรูประบบการบริหารจัดการทั้งธนาคาร รัฐวิสาหกิจ บริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ให้เป็นบริษัทมหาชนที่บริหารงานแบบมืออาชีพ แทนระบบครอบครัวและการเล่นพรรคพวก.  ปฏิรูปธนาคารชาติและหน่วยงานตรวจสอบดูแลให้สามารถทำงานได้อย่างประสิทธิภาพและดำเนินงานเพื่อประโยชน์แก่คนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว.

    1.7เร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของแรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง ธุรกิจเพื่อการส่งออก. ปฏิรูประบบการวิจัยและการพัฒนา ในเรื่องการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยี่ที่เหมาะสม เพื่อการแก้ปัญหา และการพัฒนาประเทศ    เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย ควรเน้นการใช้แรงงาน ฝีมือ สติปัญญาและใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นสัดส่วนสูง   เพื่อเพิ่มการจ้างงาน  เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ ลดการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยรัฐจะต้องให้ความสนับสนุนช่วยเหลืออย่างครบวงจรทั้งในเรื่องสินเชื่อ การผลิต และการตลาด.

  1. การปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและสังคมให้เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม  มีภูมิปัญญา และมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

(เป้าหมาย  คือ การสร้างภูมิปัญญาใหม่ การกระจายสิทธิอำนาจทางการเมืองและสังคม  สู่ประชาชนส่วนใหญ่  ทำให้ภาคการเมืองและภาคราชการเล็กลง ภาคสังคมประชาเข้มแข็งขึ้น เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น  สังคมมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสันติวิธี  เพิ่มมากขึ้น  ประชาชนมีชีวิตที่มีคุณภาพในทุก ๆ ด้าน  ไม่ใช่เน้นแต่การพัฒนาทางวัตถุ)

  1. ปฏิรูปการบริหารจัดการเพื่อเน้นการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ  จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการแก้ไขวิกฤติแห่งชาติ เป็นองค์กรประสานงานและปฏิบัติงานระดับสูง  เพื่อรวมพลังทั้งภาครัฐ   เอกชน    ประชาชนในการบริหารจัดการในยามวิกฤติ(CRISIS MANAGAMENT) อย่างเห็นภาพองค์รวมของระบบทั้งหมด.   สำนักงานชุดนี้ควรมีความคล่องตัวและประสิทธิภาพสูง  สามารถดำเนินงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เป็นวิกฤติเร่งด่วน, เช่น ปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ภาคเอกชน, การกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน,  การฝึกฝนอบรม และส่งเสริมให้คนว่างงานและคนจน ให้มีทักษะ ทุน และช่องทางที่จะมีงานทำ  หรือพัฒนาอาชีพของตนให้ดีขึ้นได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ และเข้าใจสถานะการณ์ทั้งหมด.

       ผ่าตัดแก้ปัญหาทุจริตฉ้อฉลในหมู่นักการเมือง และข้าราชการ  แก้ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสังคม เช่น ยาเสพย์ติด, โสเภณี การขูดรีดแรงงานเด็ก  อาชญากรรม,  การทุจริตฉ้อฉลข่มขู่รีดไถ ฯลฯ อย่างเข้มข้น  ทุ่มเทเอาจริงเอาจัง.  ให้อำนาจ  ให้งบประมาณแก่องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อตรวจสอบดูแลนักการเมืองและข้าราชการ.  มุ่งแก้ที่ต้นตอของปัญหา และอย่างครอบคลุมถึงระบบโครงสร้างของสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การใช้วิธีแบบราชการที่ฝ่ายบริหารเพียงแต่สั่งให้หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้แก้ปัญหาตามหน้าที่ไปวัน ๆ ซึ่งมักไม่ได้ผล หรือแก้ได้เฉพาะส่วน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอื่น ๆ อย่างเชื่อมโยงกันเป็นระบบ.

  1. ปฏิรูปการเมือง และปฏิรูประบบราชการ แบบลดขนาดและอำนาจนักการเมือง และราชการลง กระจายอำนาจบริหารสู่องค์กรท้องถิ่นที่ต้องพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งเสริมให้องค์กรอิสระและองค์กรประชาชนเข้มแข็ง และตรวจสอบภาครัฐได้เพิ่มมากขึ้น    

       ผ่าตัดการบริหารจัดการบุคคล และการจัดสรรงบประมาณในระบบราชการใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และความคล่องตัวในการสับเปลี่ยนโยกย้ายให้รางวัล  และลงโทษแบบภาคเอกชน.  ตรวจสอบประเมินคุณภาพการทำงานของทุกหน่วยงานใหม่หมด โยกย้ายคนที่ไม่ค่อยมีงานทำให้ไปทำงานอื่นที่เป็นประโยชน์ ปลดคนทำผิด  คนด้อยประสิทธิภาพออกไป  หรือให้เกษียณก่อนกำหนด  ไม่ใช่เพียงแค่การย้ายให้ไปเป็นปัญหาหรือภาระกับหน่วยงานอื่น.

       รณรงค์เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ในการบริหารจัดการทั้งภาครัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาครัฐ.   รัฐวิสาหกิจควรแปรรูปให้เป็นเอกชนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยเน้นการขายให้พนักงาน ประชาชน และองค์กรประชาชน

       เพิ่มการตรวจสอบและรณรงค์ลดการคอรัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อภิสิทธิ และการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม อย่างเป็นหลักการทั่วไป  ที่ใช้กับทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม และเพื่อแก้ปัญหา หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกทั้งระบบ  ไม่ใช่การเลือกแก้ปัญหาเฉพาะส่วน  เฉพาะบุคคลอย่างที่ทำกันอยู่

  1. ปฏิรูปการศึกษา การวิจัยและการพัฒนา และการสื่อสารมวลชน  กระจายโอกาสสู่ประชาชนส่วนใหญ่ ส่งเสริมให้คนรักการเรียนรู้ และมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีจิตสำนึกทางสังคมเพิ่มมากขึ้น.

       ทำให้สถาบันการศึกษา  และสื่อมวลชนเป็นของประชาชน  และควบคุมดูแลโดยประชาชนและชุมชนมากขึ้น.  รณรงค์เปลี่ยนวิถีชีวิตและค่านิยมใหม่ให้สอดคล้องกับการเลือกแนวทางพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนของคนส่วนใหญ่  แทนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเก่าที่เน้นการบริโภคสินค้า,  การแสวงหากำไรส่วนเอกชน. 

       ใช้มาตรการทั้งทางภาษี การจัดสรรงบประมาณ และการรณรงค์ทางสังคม  ให้ประชาชนสนใจการเรียนรู้และการคิด  การค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอย่างวิพากษ์วิจารณ์.   เปลี่ยนแปลงค่านิยมแบบเห็นเงินเป็นพระเจ้าและนิยมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย  หันมายกย่องค่านิยมที่ซื่อสัตย์สุจริต   มีจิตสำนึกเห็นแก่ประชาคม และลูกหลานในระยะยาว การใช้ชีวิตประหยัด เรียบง่าย เอื้ออาทรต่อกันและกัน. 

       ส่งเสริมให้คนลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน มาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัวลง ใช้รถสาธารณะ  จักรยาน ฯลฯ มากขึ้น.  การพัฒนาจิตสำนึกที่จะทำให้คนเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาของทั้งสังคมอย่างคนที่มีวุฒิภาวะ สามารถตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ด้วยสติปัญญาและสันติวิธี.

  1. ปฏิรูประบบกฎหมาย ตำรวจ อัยการ  ผู้พิพากษา  ราชทัณฑ์  การประชาสงเคราะห์ การพัฒนาสุขภาพจิต การพัฒนาความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว อย่างเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม  ไม่ใช่ต่างหน่วยงานต่างทำงานตามหน้าที่ไปวัน ๆ. โดยควรเน้นการส่งเสริมให้คนทำความดี  ทำสิ่งที่ถูกต้อง  มากกว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการลงโทษ  ซึ่งมักจะทำให้เกิดการทุจริต ฉ้อฉล.  เป้าหมายของการปฏิรูปทางด้านกฎหมาย การลงฑัณกรรม  และการประชาสงเคราะห์  คือ เพื่อเน้นให้เกิดความเป็นธรรม  ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทันสมัยต่อสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และประชาชนมีส่วนร่วม  ในการแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น.
  2. ระดมกำลังความคิด ทรัพยากร  บุคคล ทั้งจากภาครัฐและเอกชน  เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพย์ติด และปัญหาการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิง  เด็กและเยาวชน ให้ได้ผลอย่างถึงรากเหง้า.  ถือเรื่องยาเสพย์ติดเป็นเรื่องวิกฤติเร่งด่วน ที่ต้องแก้ไขในหลาย ๆ ด้านพร้อมกันไปอย่างเชื่อมโยง  และต้องลงมือผ่าตัดปราบปรามการทุจริตฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก ผ่อนปรนให้กับผู้ที่มีอำนาจหนุนหลัง. 

       ต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจด้วยว่า ทางแก้ไขไม่ได้อยู่ที่การไล่ตามจับยาเสพย์ติดอย่างเดียว ต้องแก้ไขทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง  สังคมวัฒนธรรม ควบคู่กันไป เช่น  ต้องช่วยให้เด็กเยาวชนมีโอกาสได้เรียนทำงาน มีที่เล่นกีฬา ดนตรี ทำงานศิลปะ  และกิจกรรมสร้างอื่น ๆ. ต้องส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง มีความอบอุ่น  ผู้ปกครองเข้าใจจิตวิทยาในการดูแลลูกหลานเพิ่มมากขึ้น.  ขยายบทบาท หรือจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือบำบัดผู้ติดยาเสพย์ติด  ที่เข้าใจปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างได้ผลเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ.

  1. ปฎิรูประบบสาธารณสุข  สวัสดิการสังคม  และการพัฒนาสังคมในด้านเกี่ยวกับสุขภาพกาย  และสุขภาพจิต  รวมทั้งการพัฒนาสถาบันครอบครัว สถาบันองค์กรประชาชน ให้มีความเข้มแข็ง.  เน้นการป้องกันและการวางแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง.  รณรงค์ลดการใช้ยาสมัยใหม่ที่ปัจจุบันคนไทยใช้กันมากเกินไป.  ลดการติดบุหรี่  เหล้า ยาเสพย์ติดต่าง ๆ. ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสมุนไพรที่ผลิตได้ในประเทศ  และการออกกำลังกาย.

       เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนให้รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนในสังคม มากกว่าการตามรักษา  ตามแก้ปัญหาเฉพาะทางไปวัน ๆ ซึ่งมักจะแก้ได้เพียงบางส่วน สิ้นเปลือง  หรือก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา  พัฒนาองค์กรรัฐที่ทำงานด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพแบบองค์กรพัฒนาเอกชน  รวมทั้งสนับสนุนช่วยเหลือองค์กรพัฒนาเอกชน  เพื่อจะช่วยกันเอาใจใส่ดูแลเด็กเยาวชน  สตรี  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบในด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ.

  1. ปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กรคณะสงฆ์ และมูลนิธิสาธารณกุศลต่าง ๆ ใหม่  ให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นประชาธิปไตย สามารถที่จะให้มีบทบาทในการพัฒนาจิตใจ  และคุณธรรมของประชาชนได้อย่างสร้างสรรค์.  ปฏิรูปการจัดการศึกษาของสงฆ์ ให้สงฆ์มีความรู้ที่เป็นประโยชน์ สามารถมีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจ แก้ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาด้านจริยธรรมของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมให้วัด  และมูลนิธิสาธารณกุศลต่าง ๆ ขยายบทบาทในการให้สวัสดิการทางสังคมและช่วยพัฒนาการศึกษา  ช่วยพัฒนาชุมชนอย่างมุ่งให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ในระยะต่อไป มากกว่าการสงเคราะห์ชนิดให้ประชาชนต้องพึ่งพาผู้ให้การสงเคราะห์แบบผู้อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ตลอดชีวิต.

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

6.  สรุป ทางเลือกใหม่นั้นมี  แต่ประชาชนต้องกล้าเดินด้วยตัวเอง

      ทางเลือกเก่าที่เน้นการกู้หนี้เพิ่ม และการส่งเสริมให้ต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการมากขึ้น  คือทางเลือกเดินตาม IMF แบบประเทศส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกา ที่จะนำไปสู่การถูกครอบงำโดยทุนต่างชาติเพื่อประโยชน์ของคนรวย และคนชั้นกลางส่วนน้อย.  ทางเลือกนี้อาจจะทำให้เศรษฐกิจส่วนที่สัมพันธ์กับต่างประเทศฟื้นได้ในระยะสั้น  แต่ไทยจะเป็นคนไข้เรื้อรังที่ต้องกลับไปพึ่งหมอเลี้ยงไข้ IMF ทุก 10 ปี  และไม่มีเอกราชทางเศรษฐกิจ และไม่มีเอกราชทางภูมิปัญญา.

      ทางเลือกใหม่คือการใช้ภูมิปัญญาและทางเลือกแบบไทย ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ  เป็นด้านหลัก ; เน้นการพัฒนาคุณภาพคน การเพิ่มการจ้างงาน  การระดมใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ  การกระจายทรัพย์สิน  ทรัพยากร  รายได้ที่เป็นธรรม และการขยายตลาดภายในประเทศให้คน 62 ล้านคนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น. ทางเลือกใหม่ คือ ประเทศจะต้องมีอธิปไตยที่จะจำกัดให้ต่างชาติมาลงทุน และเลือกค้าขายกับต่างชาติในสาขาและสัดส่วนที่เหมาะสม ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ในระยะยาวมากกว่าที่จะยอมถูกบีบบังคับ หรือถูกครอบงำให้ต่างชาติเข้ามาได้ตามใจชอบ. 

      ทางเลือกเก่าที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนและการค้าเสรีแบบไม่จำกัดและไม่รู้จักต่อรองกับทุนต่างชาติ  อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยบางส่วนที่สัมพันธ์กับต่างชาติฟื้นได้ ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัว เช่น  การส่งออก สั่งเข้า  อาจจะดูดีขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ได้ประโยชน์และจะยิ่งถูกครอบงำ  และเสียเปรียบต่างชาติเพิ่มมากขึ้น นายทุนชาติ  ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็กจะแข่งขันสู้ทุนขนาดใหญ่ต่างชาติไม่ได้  จะล้มละลายกันเป็นแถว ๆ.   ประชาชนทั่ว ๆ ไปที่ความรู้น้อยจะยิ่งถูกทอดทิ้งให้ว่างงาน  ชุมชนแออัดจะขยายใหญ่โตขึ้น  เด็กจรจัด อาชญากรรุ่นเยาว์จะเพิ่มขึ้นมาก  จนรัฐบาลดูแลไม่ไหว  และอาจถึงขั้นต้องทำวิสามัญฆาตกรรม กำจัดเด็กเกเรที่ก่ออาชญากรรมทิ้งเหมือนสุนัขข้างถนน  เหมือนที่รัฐบาลบราซิลเขาทำกันมาแล้ว

      ทางเลือกเดินใหม่ ๆ ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานะการณ์วิกฤตินั้นมีอยู่  ไม่ใช่ว่าการทำตาม IMF เป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ในโลก.  แนวทางเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ  เศรษฐศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์  มากกว่าการเพิ่มขึ้นของสินค้า  เศรษฐศาสตร์ที่คำนึงถึงต้นทุนและผลได้เสียของสังคมมากกว่ากำไรของเอกชน  เราล้วนสามารถชี้ทางให้เรานำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขวิกฤติของชาติ ได้ถูกทางและยั่งยืน มากกว่าทางเลือกแบบ IMF. (อ่าน วิทยากร เชียงกูล  เศรษฐศาสตร์มิติใหม่  วิถีทรรศน์ 2542) 

      เป้าหมายการพัฒนาประเทศใหม่ควรเน้นการสร้างคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่ดี  การพัฒนาทางด้านศิลปวัฒนธรรม จิตใจ ค่านิยมที่ดีงาม แทนเป้าหมายเก่าที่เน้นการพัฒนาทางวัตถุ  ซึ่งทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม  และค่านิยมที่ดีงาม.

      ถ้าเราเลือกแนวทางการพัฒนาอย่างกล้าปฏิรูประบบโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมทั้งหมด กล้ากระจายทรัพย์สินรายได้ สิทธิทางการเมือง  ความรู้ข้อมูลข่าวสาร  สู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง.  เลือกแนวทางการพัฒนาแบบมุ่งพัฒนาทรัพยากรของตนเอง มากกว่าที่จะคิดพึ่งแต่บริษัททุนข้ามชาติขนาดยักษ์  และการกู้ยืมเพื่อลงทุนทางด้านวัตถุมากเกินไป  อย่างที่ชนชั้นนำไทยกำลังเลือกเดินอยู่ในปัจจุบัน เราจึงจะมีทางพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของวิกฤติอันดำมืดนี้ได้.

        แต่ถ้าหากเราไม่กล้าเลือกทางเดินใหม่ ได้แต่ยอมจำนน เดินตาม IMF และพยายามเอาอกเอาใจนายทุนนายธนาคารต่างชาติ  สังคมไทยจะยิ่งถลำลึกสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมที่ยืดเยื้อ และแก้ไขได้ยากลำบากยิ่งขึ้น จนมีแนวโน้มว่าจะเกิดมิคสัญญี    เกิดความวุ่นวายแบบอนาธิปไตยได้.  ถึงแม้ประเทศไทยจะโชคดีกว่าอีกหลายประเทศที่เราผลิตอาหารได้พอกินและมีเหลือส่งออก  แต่ถ้าเราไม่ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม  ให้เป็นประชาธิปไตย  เป็นธรรม  และมีการบริหารจัดการที่ดีพอแล้ว  คนไทยที่ตกงาน (ขณะนี้มีราว 2 ล้านคน  และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น)  และไม่มีอะไรจะกิน ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะอดตาย และเกิดการรบราฆ่าฟันแย่งชิงอาหารกันเหมือนในประเทศอื่น ๆ ได้.

      ถ้าไม่อยากปล่อยให้สถานะการณ์วิกฤติถลำลึกไปสู่ความเลวร้ายมากกว่านี้  เราต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสังคมใหม่กันตั้งแต่ตอนนี้ !

      ถ้าเราไม่กล้าแม้แต่จะคิดฝันที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ที่จะเลือกทางเดินใหม่ ๆ ด้วยตัวเราเอง เราและลูกหลานของเราจะต้องยอมจำนนเลยมีชีวิตที่ทนทุกข์ทรมานไปถึงไหนกัน ?

 

จะสร้างองค์กรการเมืองแบบใหม่ได้อย่างไร (ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติปี 2542)


4.  จะสร้างองค์กรการเมืองแบบใหม่ได้อย่างไร

      ปัจจุบันเริ่มมีหน่อความคิดใหม่และมีกลุ่มผู้นำหรือมีศักยภาพในการนำใหม่ ๆ เกิดขึ้นในองค์กรและชุมชนต่าง ๆ บ้าง  แต่พวกเขายังเผยแพร่และทำงานในกลุ่มย่อย ๆ.  พวกเขายังขาดการร่วมมือและการสร้างแนวคิดและองค์กรที่เป็นเอกภาพ  เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการสื่อสารและการเผยแพร่.  รวมทั้งพวกเขา ยังไม่ได้แลกเปลี่ยน หรือรู้จักกันมากพอ  จึงมีช่องว่างทางความเข้าใจและความเชื่อถือไว้วางใจกันและกัน. 

      ดังนั้น  เราจำเป็นต้องหากลุ่มคนที่กล้าริเริ่มเป็นหัวหอก  กลุ่มคนที่มีอุดมคติ  จริงใจ  และมีวุฒิภาวะในการประสานงาน อธิบายทำความเข้าใจ  ทำงานร่วมมือกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายที่มีแนวคิดนโยบายและแนวทางการทำงานร่วมกัน อย่างมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปในทางที่มีภูมิปัญญาในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้มากขึ้น.

ผู้นำแบบใหม่จะมาจากไหน

      ปัจจุบันสังคมไทยมักจะมองหาผู้นำจากกลุ่มนักการเมือง หรือนักบริหาร นายธนาคาร นักธุรกิจ นักวิชาชีพ  ผู้มีอำนาจหรือมีชื่อเสียงในวงการสังคมชั้นสูง  ซึ่งเป็นการมองที่คับแคบอยู่เฉพาะในหมู่คนจำนวนน้อยเพียง  1,000-2,000 คน. การมองคนจากวงที่จำกัดนี้ทำให้เราแทบมองไม่เห็นผู้นำแบบใหม่ ๆ ที่จะเปรียบเทียบกับผู้นำเก่ง ๆ ในประเทศอื่น ๆ ได้.  ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีการศึกษาหรือคนที่เคยตื่นตัวสนใจการเมืองหลายคนเกิดความท้อแท้ คิดว่าเมืองไทยคงเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก  พวกเขาจึงอยู่กันแบบต่างคนต่างทำมาหากินไปวัน ๆ.  

      การมองเช่นนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ประชาชนไทยมีคนจบปริญญาตรีเกือบ 2 ล้านคน  ที่จบระดับมัธยมขึ้นไปอีกหลายล้านคน ที่ศึกษาด้วยตัวเอง  และรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  มีความคิดความอ่านประสบการณ์ดี ๆ ก็มีไม่น้อย.  ประชาชนจะต้องกล้าจินตนาการถึงสิ่งใหม่ ๆ และช่วยกันเสาะหาและเสริมสร้างผู้นำแบบใหม่ขึ้นมาด้วย ไม่ใช่มองผู้นำเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงมาก ๆ หรือนั่งรอผู้นำให้เกิดขึ้นเองตามสถานการณ์

      ภายใต้สภาพแวดล้อมของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม และการสื่อสารโดยคนกลุ่มน้อยในปัจจุบัน  ย่อมไม่เอื้ออำนวยให้เกิดผู้นำใหม่ ๆ เกิดขึ้น.  ถ้าประชาชนไม่คิดต่อสู้ทางการเมืองเมื่อมีเวทีเปิดให้ เช่น  สนับสนุนคนใหม่ ๆ เข้าไปเป็นวุฒิสมาชิก,  ผู้บริหารท้องถิ่น,  ส.ส.  ฯลฯ คนกลุ่มน้อยผู้ผูกขาดอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ  การเมือง  และวัฒนธรรม  อยู่ในปัจจุบัน  ก็จะส่งลูกหลาน  ญาติ  พี่น้อง  พรรคพวก มาลงสมัครสืบทอดอำนาจต่อกันไปได้อยู่เรื่อย ๆ.

ประชาชนสามารถช่วยกันสร้างผู้นำแบบใหม่ได้

      ผู้นำแบบใหม่อาจเป็นปัญญาชน นักวิชาการ  นักบริหาร นักวิชาชีพ  ผู้นำชุมชน  ผู้นำองค์กร หรือใครก็ได้ที่มีทั้งวิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถในการนำและการบริหาร  และมีจิตสำนึกทางสังคม.  ผู้นำประเภทที่ต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสังคมเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว  หรืออย่างน้อยมีศักยภาพที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำประชาชนแบบใหม่นี้ได้.

      เราควรช่วยกันมองหาและพัฒนาเสริมสร้างให้พวกผู้นำแบบใหม่ขยายบทบาทได้มากขึ้น  มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้น.  ถ้าประชาชนจากกลุ่มองค์กรต่าง ๆ   โดยเฉพาะสื่อมวลชนไม่ช่วยกันส่งเสริมบุคคลที่มีศักยภาพ  หรือมีความเป็นผู้นำในระดับหนึ่งแต่คนยังไม่ค่อยรู้จักเหล่านี้.  ประชาชนก็จะรู้จักเฉพาะบุคคลหน้าเก่า ๆ ในวงการสังคมชั้นสูงที่เป็นข่าวบ่อยเพราะมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต  มีฐานะทางสังคม  หรือรู้จักเฉพาะคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง  วงการกีฬา ฯลฯ มากกว่า ปัญญาชน ผู้นำองค์กรหรือผู้นำชุมชนที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำที่ดีต่อไปได้  ถ้าเราให้โอกาสแก่เขา.

      การแสวงหาผู้มีศักยภาพในการนำและการเปลี่ยนแปลง  และการจัดตั้งองค์กรประชาชน คือยุทธศาสตร์สำคัญในการที่ฝ่ายประชาชนจะช่วยกันสานต่อพัฒนาแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาวิกฤติให้ชัดเจน และปรับเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างต่อเนื่อง .

การเมืองมิติใหม่ควรจะเป็นอย่างไร

      ปัญหาสำคัญของการเมืองไทย คือ

  1. มีช่องว่างความแตกต่างทั้งทางฐานะและความรับรู้ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนทั่วไปมาก  ทำให้นักการเมืองซื้อความจงรักภักดี  และซื้อเสียงจากประชาชนได้,  โดยระบบการให้ความอุปถัมภ์ และการสร้างภาพพจน์ว่าพวกเขาสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้.
  2. การมองว่าสมาชิกสภาผู้แทน คือ เครื่องหมายของประชาธิปไตย  คนที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ แล้วจะทำอะไรก็ชอบธรรมทั้งนั้น ทำให้ไม่มีระบบการตรวจสอบผู้แทนที่ดี.  คนที่เคยเป็นนักอุดมคติ  นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย หลายคนพอเข้าไปเป็นผู้แทนฯ ก็กลืนเข้าไปในระบบพรรคการเมืองที่มุ่งแสวงหาอำนาจและประโยชน์ส่วนตัว. 

          เราควรสร้างการเมืองมิติใหม่  โดยการส่งเสริมให้ประชาชนฉลาดทางการเมือง และรู้จักการรวมกลุ่มยกระดับการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองมากยิ่งขึ้น.  การที่ประชาชนต่อรองแบบหนึ่ง ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่ประชาชนต่ำมาก ; เมื่อเทียบกับที่นักการเมืองเข้าไปโกงกิน และทำให้ประเทศชาติเกิดวิกฤติ  จนประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นบาท. 

          เราต้องอธิบายให้ประชาชนความเป็นจริงข้อนี้  และช่วยให้ประชาชนยกระดับการต่อรองเพื่อมากขึ้น เช่น  ต่อรองกับพรรคการเมืองด้านแนวคิด นโยบาย  และการเลือกตั้งบุคคลเข้มาเป็นผู้แทนฯ,  ต่อรองในเรื่องอำนาจในการปกครองท้องถิ่น  และการจัดสรรดูแลทรัพยากรท้องถิ่น,  ต่อรองฝ่ายองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนจะต้องคอยตรวจสอบดูแลนักการเมืองอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถผลักดันให้นักการเมืองต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพิ่มมากขึ้น. 

          ประชาชนต้องมองนักการเมืองอย่างวิพากษ์วิจารณ์ เลิกยกย่องตัวบุคคล  เลิกเชื่อถือ  นักการเมืองที่ชอบอ้างว่าตัวเองเก่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง   แต่ไม่ได้มีพฤติกรรม,  ผลงาน,  แนวคิดนโยบายในการแก้ปัญหาที่แตกต่างจากอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด.  ปัญญาชนและสื่อมวลชน ประชาชนผู้มีการศึกษาหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารดี จะต้องช่วยเหลือประชาชนคนอื่น ๆ ให้รู้จักมองนักการเมืองอย่างวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น,  เราถึงจะมีทางสร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพ  หรืออย่างน้อยต้องรับฟังเสียงประชาชนเพิ่มมากขึ้น. 

 

สร้างภูมิปัญญาใหม่ ทางเลือกใหม่ (ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติปี 2542)


3.  สร้างภูมิปัญญาใหม่  ทางเลือกใหม่

      การที่จะแก้วิกฤติของชาติได้ยั่งยืน ต้องการภูมิปัญญาใหม่  ทางเลือกใหม่ที่แตกต่างไปจากกรอบคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตกกระแสเก่าที่เป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤติมาแล้ว. ภูมิปัญญาใหม่คือการกล้าคิดใหม่ว่าเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยไม่มีเงิน  จนรัฐบาลต้องไปเอาใจนายธนาคารและนายทุนต่างชาติ  แต่เป็นเรื่องของการหาวิธีการทำให้ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่กินดีอยู่ดี.

      รัฐบาลควรมุ่งแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริงภายในประเทศเพื่อคน 62 ล้านคนเป็นด้านหลัก แทนที่จะคิดในเชิงพึ่งพาการกู้เงิน การลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ  ซึ่งเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเฉพาะภาคการธนาคาร  การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ  ที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้, นายทุนต่างประเทศ,  นายธนาคาร และธุรกิจขนาดใหญ่ มากกว่าประชาชนทั่วไป.

      ภูมิปัญญาใหม่หมายถึงการกล้าคิดในเชิงปฏิรูปโครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม เพื่อยกฐานะชีวิตความเป็นอยู่  และคุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่อย่างจริงจัง.  มาตรการแก้วิกฤติของรัฐบาล เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วน ๆ เช่น การช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์  การช่วยเหลือการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาให้กับคนเพียงบางส่วนในระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพื่อประชาชนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว.

ทางเลือกใหม่ที่จะกู้ชาติจากการครอบงำของทุนต่างชาติได้ คืออะไร ?

  1. ต้องปฏิรูประบบโครงสร้างการเมืองการบริหารให้เป็นสังคมประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  ทำลายล้างระบบอำนาจผูกขาดและระบบอุปถัมภ์เล่นพรรคเล่นพวก. ทำให้องค์กรของรัฐมีขนาดเล็กลง และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น.  เปลี่ยนรูปแบบหน่วยราชการที่ให้บริการกับประชาชนให้เป็นองค์กรมหาชนแบบอิสระมากขึ้น และถูกตรวจสอบจากประชาชนได้ง่ายขึ้น. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ และจิตสำนึกที่จะช่วยกันสร้างองค์กรประชาชนให้เติบโตเข้มแข็ง  สร้างสังคมประชา(civil society) ที่ประชาชนมีสิทธิอำนาจ  และมีบทบาทในการกำหนดแนวทางและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตัวของพวกเขาเองมากขึ้น.
  2. แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างกล้าตัดสินใจ เป็นตัวของตัวเอง รักษาผลประโยชน์ของประชาชนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว. ตั้งคณะกรรมการเจรจาต่อรองปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างชาติ เพื่อยืดอายุหนี้  ปรับหนี้เป็นการลงทุน  ขอลดดอกเบี้ยจากเจ้าหนี้ต่างชาติ ไม่ต้องทำตามเงื่อนไขกองทุน IMF ทุกข้อ  ไม่ต้องกู้หนี้ใหม่, ไม่ต้องรีบขายรัฐวิสาหกิจ  และกิจการต่าง ๆ ให้ทุนต่างชาติในราคาถูก.  แต่เน้นการผ่าตัดปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรใหม่ เพื่อให้มีการลงทุน  การจ้างงาน  และใช้ทรัพยากรในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจภาคประชาชนสามารถฟื้นฟูได้อย่างแท้จริง.
  3. เปลี่ยนแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่  ลดขนาดของการเปิดประเทศ การพึ่งพาการค้าและการลงทุนต่างประเทศจากที่มีสัดส่วนประมาณ 70-80 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในปัจจุบันลง  ให้เหลือต่ำกว่า 50 % คือเปลี่ยนมาผลิตเพื่อบริโภคเองและซื้อขายกันเอง เป็นด้านหลัก เพื่อทำให้ตลาดภายในประเทศใหญ่ขึ้น.  แก้วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำและเงินฝืดภายในประเทศ โดยจัดสรรและบริหารแรงงานและทรัพยากรในประเทศใหม่. ปฏิรูประบบภาษี  และการจัดสรรการใช้งบประมาณเพื่อความเป็นธรรมและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น.  กระจายทรัพย์สินและรายได้และความรู้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ บนพื้นฐานที่ให้คนส่วนใหญ่มีงานทำ  มีรายได้  มีการประกันสังคมที่เป็นธรรมทั่วถึง. 

          ปัจจุบันคนไทยถูกครอบงำทางความคิดจากนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมตะวันตกกระแสเก่า ว่าการลงทุนของต่างประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยมองแต่ในเรื่องเงินทุนไหลเข้าด้านเดียว. ไม่ได้คิดถึงว่าวันหนึ่งนักลงทุนต่างชาติก็ต้องขนกำไร, ดอกเบี้ย และทุนกลับประเทศของเขา. การส่งออกขณะนี้ของเราส่วนใหญ่คือสินค้าอุตสาหกรรมประเภทที่ต้องสั่งเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิงมาก. ดังนั้นยิ่งส่งออกมาก  เรากลับยิ่งสั่งเข้ามูลค่าสูงกว่าการส่งออก ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มตลอดมา.  

          เรื่องนี้คนไทยควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่,  เลิกเห่อเรื่องการส่งออกเชิงปริมาณ,  หันมาคิดเรื่องการส่งออกเฉพาะสินค้าที่เราใช้แรงงานและวัตถุดิบภายในประเทศ  และทำได้ดี ๆ   เพื่อทำให้เราได้มูลค่าเพิ่มสูงคุ้มค่า. ขณะเดียวกันก็ต้องหามาตรการลดการสั่งเข้าที่ไม่จำเป็นลง รวมทั้งเก็บภาษีคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ.

  1. แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำแบบช่วยคนระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก่อน  โดยการทุ่มเทแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงาน ทั้งในภาคชนบทและภาคในเมืองอย่างจริงจัง  ปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปการเกษตร  รวมทั้งส่งเสริมช่วยเหลือภาคเอกชนให้ลงทุนปลูกป่าและสวนเกษตรให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่าในระยะยาว.  ส่งเสริมการเกษตรแบบทางเลือกใหม่,  ลดการใช้น้ำมัน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช  และพืชพันธุ์จากต่างประเทศ. 

          ภาคในเมืองก็ควรเพิ่มการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมการค้าและบริการ ด้วยการเร่งช่วยพัฒนากิจการขนาดกลาง  ขนาดย่อม  ที่ผลิตสินค้าที่จำเป็น  สินค้าที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมของเมือง เมื่อคนส่วนใหญ่มีงานทำ  มีรายได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่ม  จะช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัว  มีเงินใช้หนี้ธนาคาร และลงทุนต่อได้  ธนาคารก็จะมีหนี้เสียลดลงและดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ต้องขายให้ต่างชาติ.

  1. เปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจากระบบทุนนิยมและรัฐวิสาหกิจผูกขาด  ให้เป็นระบบสหกรณ์และบริษัทมหาชนแบบที่ประชาชนถือหุ้นข้างมาก.  สนับสนุนให้พนักงาน  ประชาชน และชุมชนเข้าไปถือหุ้นข้างมากในรัฐวิสาหกิจ,  ธนาคาร,  โรงงาน  และธุรกิจต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนระบบการถือครองใหม่  ทำให้เกิดการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ยุติธรรม,  การบริหารที่มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าระบบครอบครองและบงการโดยครอบครัวนายทุนเพียงไม่กี่คน.  ธนาคารชาติซึ่งที่ผ่านมาเคยช่วยเหลือแต่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ควรจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (SOFT  LOAN) ให้แก่สหกรณ์  สหภาพ หรือกองทุนพนักงาน องค์กรประชาชน ให้พวกเขาสามารถซื้อหุ้นธุรกิจที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องได้  แล้วให้พนักงาน  สมาชิกองค์กรผ่อนชำระค่าหุ้น โดยใช้หุ้นนั้นค้ำประกันได้.

       ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์และบริษัทมหาชนที่ประชาชนถือหุ้นข้างมากจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมได้ดีกว่าระบบทุนนิยมผูกขาดและระบบรัฐวิสาหกิจแบบเล่นพวก,  และจะเป็นแนวทางการพัฒนาคำนึงถึงสภาพแวดล้อม  และผลประโยชน์ชุมชนในระยะยาวมากกว่า.

ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมือง  คืออะไร

   ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมืองน่าจะเป็นอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยใหม่ (NEW  SOCIAL  DEMOCRACY)  ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่มีจุดยืนแบบกลาง ค่อนไปทางก้าวหน้า (Center Left) อุดมการณ์นี้อาจจะเทียบได้กับอุดมการณ์ของพรรคการเมืองปีกก้าวหน้า เช่น  พรรคคนงาน,  พรรคโซเซียลเดโมแครต พรรคกรีนของประเทศอื่น ๆ แต่เป็นอุดมการณ์ที่เราต้องพัฒนาให้เข้ากับสถานะการณ์วิกฤติที่เป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน. 

   ปัจจุบันประเทศไทยมีแต่พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีอุดมการณ์สนับสนุนการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบส่งเสริมการลงทุนต่างชาติเพื่อการส่งออก.  อุดมการณ์แบบนี้เป็นตัวการสร้างวิกฤติการเป็นหนี้ การว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ การทำลายสภาพแวดล้อม และค่านิยมที่ดีงาม ; เป็นอุดมการณ์ที่ไม่สามารถจะใช้แก้ปัญหาวิกฤติสังคมไทยอย่างยั่งยืนได้ ส่วนอุดมการณ์แบบสังคมนิยมที่ใช้การวางแผนจากส่วนกลางแบบเก่า  ก็ล้าสมัย ขาดประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิตและการกระจาย รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ  การขาดแรงจูงใจ และอื่น ๆ

อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยใหม่  คืออะไร

  1. คืออุดมการณ์ที่พยายามบูรณาการส่วนที่ดีของสังคมนิยม เช่น  ความเป็นธรรม  จิตสำนึกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เข้ากับส่วนที่ดีของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เช่น  สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน การแข่งขันเพื่อประสิทธิภาพ.  อุดมการณ์นี้มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจแบบผสม ที่เน้นระบบสหกรณ์และการให้พนักงาน,  ประชาชน,  องค์กรชุมชนเข้าถือหุ้น  และบริหารองค์กรธุรกิจทุกระดับ และการพัฒนาระบบสังคมสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนที่เสียเปรียบ.
  2. แก้ปัญหาข้อจำกัดของสังคมนิยม  เช่น  ความไร้ประสิทธิภาพของการวางแผนจากส่วนกลาง,  การขาดเสรีภาพ และแรงจูงใจในการทำงาน และแก้ปัญหาข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบทุนนิยม เช่น  การมุ่งแสวงหากำไรเอกชนมากเกินไป ที่นำไปสู่การเอาเปรียบ  และค่านิยมที่เห็นแก่ตัว.  อุดมการณ์นี้สร้างระบบการเมืองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างจริงจัง  และส่งเสริมให้สังคมประชา (Civil  Society)  มีบทบาทเพิ่มขึ้น.  รัฐแบบใหม่ที่ประชาชนตรวจสอบควบคุมได้มากขึ้นยังคงจำเป็นต้องมีไว้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศจากการเอาเปรียบของบริษัทของทุนข้ามชาติ  และเพื่อร่วมมือกับประชาชน และรัฐอื่น ๆ ในการสร้างสังคมโลกที่เป็นธรรม มีสันติภาพ และสร้างสรรค์ คำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  มากกว่าสังคมโลกในปัจจุบัน.
  3. มีจุดยืนแนวในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แตกต่างจากกลุ่มจารีตนิยม    ชาตินิยมขวาจัด  และกลุ่มเสรีนิยมใหม่  คือ เน้นความเสมอภาค ความเป็นธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่  เน้นประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีบทบาทโดยตรงมากขึ้น  ประชาธิปไตยที่เป็นส่วนหนึ่งวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชนจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน.  และมีจุดยืนที่แน่ชัดในการมุ่งสร้างสังคมสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ  และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. มีความยืดหยุ่น ความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกสมัยใหม่ได้ โดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการแบบเก่า.  คำนึงถึงเรื่องปัญหาของโลกสมัยใหม่ เช่น  การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  สิทธิของสตรี  และกลุ่มชนที่ด้อยสิทธิด้อยโอกาส สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน และกลุ่มชนต่าง ๆ ยอมรับความหลากหลายทางด้านการดำเนินชีวิตและศิลปวัฒนธรรม  ฯลฯ โดยมุ่งประโยชน์และความสันติสุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว.

จะประยุกต์ใช้อุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยใหม่กับสังคมไทยได้อย่างไร

  1. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม กระจายทรัพย์สิน รายได้  การศึกษา  การมีงานทำ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สวัสดิการทางสังคม ให้ประชาชนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เน้นการระดมใช้แรงงาน ทรัพยากร  เงินทุนภายในประเทศ  เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้บนฐานที่กว้างกว่า  ยั่งยืนกว่า นโยบายแก้ปัญหาแบบพึ่งทุนต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ.
  2. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากทุนนิยมผูกขาด  และทุนนิยมขุนนาง  ให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมประชาธิปไตย  ที่เน้นการพัฒนาระบบสหกรณ์ การให้พนักงาน ประชาชน องค์กรชุมชน เข้าถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ  ธนาคาร  บริษัทขนาดใหญ่  และขนาดกลาง.  ปฏิรูปการเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณและพัฒนาระบบประกันสังคมและสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรม  และมีประสิทธิภาพ.
  3. ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ให้มีการกระจาย  และการตรวจสอบอำนาจ  โดยสถาบันและกลุ่มอิสระจากระบบราชการ   รัฐสภา  และพรรคการเมือง อย่างมีลักษณะคานอำนาจกันได้หลายทาง ซึ่งเรียกได้ว่าประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ; เช่น  มีคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เป็นอิสระ  มีองค์กรบริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น  ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางและรัฐสภาระดับชาติ มีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลและไม่แสวงหากำไรที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสังคมประชา (Civil  Society)  ที่เข้มแข็ง  ควบคู่ไปกับการทำงานที่จำเป็นของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น. 
  4. ปฏิรูปด้านการศึกษา สื่อสารมวลชน  ศิลปวัฒนธรรม  ให้คนกล้าคิดกล้าแสดงออก เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์  เป็นตัวของตัวเอง  ภาคภูมิและพอใจกับชีวิต  นับถือและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น  รวมทั้งธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ; ไม่ใช่การศึกษาเพื่อเพิ่มความเห็นแก่ตัว  ศิลปวัฒนธรรมแบบการค้า และการมุ่งบริโภคสูงสุด  ที่เอาเปรียบทั้งคนและธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

จะมีทางทำให้ทางเลือกใหม่บรรลุได้อย่างไร ?

      จะต้องระดมคนมาร่วมมือกันทำงานภายใต้แนวคิดอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกัน จะต้องสร้างจิตใจแบบใหม่ ภูมิปัญญาและจิตสำนึกแบบใหม่ มีการจัดตั้งองค์กร และการทำงานแบบใหม่.

      จิตใจแบบใหม่คือ จิตใจที่เชื่อมั่นว่าประชาชนช่วยตัวเองและช่วยกันและกันได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งผู้เชี่ยวชาญ  หรืออัศวินม้าขาว (เพราะผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์การคลังการเงินส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่นำประเทศเราไปสู่วิกฤติมาแล้ว). จิตใจที่เชื่อว่าประชาชนแต่ละคน  แต่ละเสียงมีความหมาย และเมื่อรวมพลังเข้าด้วยกันแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้.

      จิตใจที่เชื่อว่าน่าจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่มีความคิดอยากกอบกู้ชาติ อยากสร้างอำนาจต่อรองใหม่ และทางเลือกใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยในระยะยาว มากกว่าการแก้ปัญหาอยู่ในกรอบคิดของการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า และการขายทรัพย์สินและกิจการให้ต่างชาติตามคำชี้แนะของที่ปรึกษาฝรั่ง.   การแก้ปัญหาภายใต้กรอบคิดเก่ายิ่งจะทำให้เราเข้าไปติดกับของการเป็นหนี้และเป็นทาสทุนต่างชาติ ที่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่คนไทยส่วนใหญ่จะยิ่งเสียเปรียบ.

      การจัดตั้งและการทำงานของกลุ่ม, องค์กรทางการเมืองแบบใหม่ ควรประยุกต์ใช้รูปแบบประชาธิปไตย ที่สมาชิกมีส่วนร่วมและใช้สิทธิประชาธิปไตยได้จริง ๆ ทุกขั้นตอน.  แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีวินัย มีวุฒิภาวะที่ต้องยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่ เมื่อผ่านการอภิปรายและลงมติแล้ว.   องค์กรแบบใหม่ต้องสันทัดในการแสวงหาจุดร่วมเพื่อเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ประเด็นที่เห็นต่างกันควรใช้วิธีสงวนจุดต่าง คือยังไม่พูดในเมื่อยังไม่จำเป็น.  รูปแบบการสนับสนุนกลุ่มองค์กร  การเมืองแบบใหม่ควรเปิดกว้างให้ประชาชนช่วยกันออกเงิน,  สิ่งของ,  แรงงานสมอง  โดยไม่ขึ้นต่อกับตัวบุคคล.  องค์กรแบบใหม่ต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ   มีการศึกษาข้อมูลข่าวสาร และการขยายองค์กรจัดตั้งอย่างต่อเนื่อง.

      องค์กรแบบใหม่อาจจะเริ่มจากการสรรหาและส่งคนดี ๆ เข้าสมัครวุฒิสมาชิก หรือผู้แทนในองค์กรบริหารท้องถิ่นระดับต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่แนวคิดแนวทางและหาประสบการณ์ในการทำงานการเมืองร่วมกัน.  การสร้างพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริงเป็นเป้าหมายต่อไป เนื่องจากยังทำได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน  ที่คนส่วนน้อยที่มีอำนาจควบคุมทั้งอำนาจ,  ความมั่งคั่ง,  ความรู้ข้อมูลข่าวสาร  ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังถูกครอบงำให้หวังพึ่งพานักการเมืองแบบเก่าที่หาเสียงแบบเป็นผู้อุปถัมภ์. 

      การส่งตัวแทนให้เบียดแทรกเข้าไปในเวทีการเมืองทางการอาจจะทำเพียงไม่กี่คน,   แต่ถ้าตัวแทนของเราที่มีแนวคิดใหม่ชัดเจนและดีกว่าคนหรือกลุ่มอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด และตัวแทน-v’เราสามารถใช้เวทีใหญ่ประกาศแนวคิดได้อย่างกว้างขึ้น ; กลุ่มการเมืองใหม่ก็จะมีเวทีในการขยายบทบาทได้เพิ่มขึ้น.  ตัวแทนของเราในวุฒิสภาและองค์กรทางการอื่น ๆ จะเป็นศูนย์กลางจุดหนึ่งในการระดมความคิดและคน.   จากจุดเล็ก ๆ นี้ในอนาคตก็อาจจะนำไปสู่การขยายตัวเป็นพรรคการเมืองของประชาชนก็เป็นได้. 

      กลุ่มหรือองค์กรทางการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่อาจทำงานประสานร่วมกับองค์กรประชาชนองค์กรอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาสนับสนุนองค์กรการเมืองโดยเปิดเผยหรือไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับองค์กรการเมืองในทุกเรื่อง. องค์กรประชาชนองค์กรต่าง ๆ อาจจะเห็นด้วยกับองค์กรการเมืองใหม่ในหลักการใหญ่ ๆ และเลือกทำงานประสานกันในบางเรื่องบางประเด็น แบบเป็นองค์กรพันธมิตรกันก็ได้.  การทำงานแบบนี้น่าจะเหมาะสมกว่าการคาดหมายให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นองค์กรนำ  ที่จะทำทุกเรื่องให้ประชาชน  เพราะเป็นไปได้ยาก และองค์กรชี้นำองค์กรหนึ่งใดอาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้ด้วย.

 

2.เราเรียนรู้อะไรจากการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา (ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติปี 2542)


  1. เราเรียนรู้อะไรจากการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา
  2. เราจะวิเคราะห์ปัญหาปัจจุบัน  และแนวโน้มในอนาคตได้ดี  ก็ต่อเมื่อเรารู้จักศึกษาและสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา.  ปัญหาสำคัญคือคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สนใจการเรียนรู้และการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างวิพากษ์วิจารณ์  และเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ; ไม่ค่อยสนใจการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์  และการวิจัยและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาจากพื้นฐานสังคมไทยอย่างจริงจัง. 

       อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ คนส่วนใหญ่ถูกครอบงำทางด้านความรู้ความเชื่อให้มองแต่ข้อดีของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบคิดตะวันตกที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  เน้นหาเงินให้ได้มาก และเพิ่มการบริโภคให้ได้มากตามกระแสโลกาภิวัตน์ จนกลายเป็นความศรัทธาในเรื่องการแข่งขันกันหาเงินเพื่อการบริโภคว่าเป็นแนวทางการพัฒนาทางเดียวที่มีอยู่.  คนที่เชื่อแบบศรัทธาจะไม่ฟังคนอื่นและไม่อาจคิดได้ว่าในโลกนี้ยังมีเศรษฐศาสตร์แบบอื่น ๆ, แนวการพัฒนาทางเลือกอื่น ที่ต่างไปจากแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมเพื่อการบริโภคนี้.

  1. เรามุ่งพัฒนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเน้นรูปแบบ (การมีรัฐธรรมนูญ, มีการเลือกผู้แทนฯ) มากกว่าเนื้อหา  (วิถีชีวิต,  ค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย)  เน้นผลลัพธ์สำเร็จรูปมากกว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย. เราไม่ได้สนใจพัฒนาประชาธิปไตยในครอบครัว  โรงเรียน  ที่ทำงาน  และประชาคมมากเท่าที่ควร.  แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ  ความเสมอภาค ไม่ได้หยั่งรากลึกในหมู่ประชาชน  และนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น สามารถใช้ความได้เปรียบของกลุ่มคนที่มีเงินมากกว่า  มีความรู้มากกว่า มีอำนาจอิทธิพลบารมีมากกว่า  ช่วงชิงการทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ประชาชนที่ทั้งยากจนทั้งขาดความรู้ ความสำนึกทางการเมืองได้.
  2. การต่อสู้เพื่อสังคมประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ถูกนำโดยกลุ่มปัญญาชนชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่อย่างเถรตรงหรือเป็นสูตรสำเร็จมากเกินไป ไม่ได้มีการปฏิวัติการศึกษาแบบวิเคราะห์และรู้จักการประยุกต์ใช้กับสังคมที่เป็นจริง ;  และไม่ได้มีการกระจายทักษะในการศึกษา  และการวิเคราะห์สู่ประชาชน. 

       ประชาชนไม่ได้มีพื้นฐานทางภูมิปัญญาที่เข้มแข็ง.  การที่ชนชั้นนำเป็นผู้ครอบงำทางด้านแนวคิดอุดมการณ์ (ส่วนใหญ่โดยฝ่ายจารีตนิยมฝ่ายก้าวหน้ามีอิทธิพลในระดับหนึ่งในช่วง 2516-2519) ; เมื่อชนชั้นนำนำไปในทางที่ผิดพลาด  ประชาชนก็ผิดพลาดไปด้วย  เพราะประชาชนคิดต่างออกไปจากชนชั้นนำไม่เป็น.  ประชาชนส่วนใหญ่ยังถูกครอบงำด้วยความคิดแบบพึ่งพาผู้อุปถัมภ์  พึ่งพาผู้นำหรือตัวบุคคล มากกว่าจะคิดเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างที่ประชาชนจะสามารถมีบทบาทได้มากขึ้น.

  1. ประชาชนไทยโดยทั่วไปรวมทั้งปัญญาชนไม่ได้พัฒนาวุฒิภาวะในการวิเคราะห์ปัญหาอย่างซับซ้อน.  พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองปัญหาแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างสุดโต่ง  เช่น  ขวา-ซ้าย,  ซ้ายของแท้-ซ้ายลัทธิแก้  เปิดเสรีเต็มที่-ชาตินิยมสุด ๆ ฯลฯ มากเกินไป จึงมีอาการสวิงไปทางขั้วที  ขั้วนั้นที  แล้วแต่สถานการณ์  แล้วแต่กลุ่มคนที่ขึ้นมาชี้นำ.  ประชาชนไม่ค่อยสนใจที่จะวิเคราะห์หาทางเลือกที่สามหรือทางเลือกที่สี่ที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ที่มีการเสนออย่างมีระบบเหตุผล มีข้อเท็จจริงหรือข้อมูลพื้นฐานรองรับ.
  2. คนไทยส่วนใหญ่มักมองปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองอย่างแยกจากกันเป็นส่วน ๆ ทำให้ขาดการมองอย่างเชื่อมโยงถึงปัญหาทางวัฒนธรรมและปัญหาระบบคิด ที่เป็นทั้งผลสะท้อนและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการเมืองได้ด้วยในขณะเดียวกัน. อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไทยทำงานรวมกลุ่มกันอย่างสร้างสรรค์  และก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสมรรถภาพได้ยากคือ   วัฒนธรรมทางความคิดแบบเจ้าขุนมูลนายและระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมในการชอบรักษาหน้า ชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ติดกับบุคคลมากกว่าหลักการ ฯลฯ

       คนไทยมักไม่ค่อยมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์  ไม่ค่อยมีวินัย  ไม่เชื่อถือคนอื่นนอกจากตัวเอง และพรรคพวก.  ปัญหาทางวัฒนธรรมและระบบคิดของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทยเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องการการวิจัยวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไขไม่น้อยไปกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจการเมือง.

       ปัญหาทั้ง 5 ประการที่กล่าวมาเป็นปัญหาด้านระบบโครงสร้างทางสังคม และปัญหาทางด้านกรอบวิธีคิดของคนไทยที่เป็นรากเหง้าของปัญหาอยู่แล้ว ; เมื่อเจอปัจจัยภายนอก จากการพยายามเอาเปรียบและครอบงำของทุนต่างชาติ  ปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม และวัฒนธรรม จึงได้ขยายตัวเป็นวิกฤติอย่างรวดเร็ว.

แนวโน้มสังคมไทยในชั่วอายุคนรุ่นต่อไป (25 ปีข้างหน้า) จะเป็นอย่างไร

  1. จะเป็นสังคมที่ประชากรเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 62 ล้านคน  เป็น 124 ล้านคน  โดยมีประชากรวัยหนุ่มสาวที่ต้องการงานทำเป็นสัดส่วนสูงขึ้น  ทำให้และผู้สูงอายุเกิน 60 ปีก็จะมีสัดส่วนสูงขึ้น  เป็นภาระแก้ญาติพี่น้อง  และสังคมเพิ่มขึ้น.  ในอนาคตอาจจะมีคนเสียชีวิตเพราะโรคเอดส์  อุบัติเหตุการเดินทาง  และการทำงาน และสาเหตุอื่น ๆ ในอัตราสูง  ทำให้ประชากรจำนวนลดลงบ้าง ; แต่ประชากรก็ยังจะมีจำนวนมากเกินกว่าทรัพยากร  เช่น  ที่ดิน  น้ำ ป่าไม้  ธรรมชาติสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอยู่เท่าเดิมและกำลังเสื่อมสภาพลง.  ดังนั้น สังคมไทยในอนาคตจะมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองสูงขึ้น การจัดการเรื่องแรงงานและทรัพยากร  เพื่อให้ประชากรมีงานทำ  มีอาหาร ที่อยู่อาศัย  เสื้อผ้า ยารักษาโรค  จะเป็นปัญหาใหญ่มาก  จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรแย่งชิงงานกันมากขึ้น ฯลฯ.
  2. ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องการพัฒนาแบบเน้นการส่งเสริมต่างชาติมาลงทุน  สังคมไทยจะเป็นสังคมที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาครอบงำทั้งธนาคาร  รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจต่าง ๆ   มากจนคนไทยจะเป็นเหมือนผู้เช่าอาศัย  และลูกจ้างในบ้านของตนเอง.  จะเกิดความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพิ่มมากขึ้น,  การว่างงานจะเพิ่มขึ้น,  เกิดสลัมขนาดใหญ่,  ปัญหาคนจรจัดในเมือง,  ปัญหาโสเภณี,  ยาเสพย์ติด,  อาชญากรรม,  และปัญหาอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น.
  3. ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตของสินค้า  เน้นการแข่งขันหาเงิน  หากำไร  เพื่อการบริโภคสูงสุดแล้ว ; ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  และสภาพแวดล้อมทางสังคม  วัฒนธรรมจะยิ่งถูกทำลาย.  คนจะตายและเจ็บป่วย  เพราะมลภาวะและโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น ค่านิยมของคนไทยรุ่นต่อไป  จะยิ่งเห็นแก่ตัว  แก่งแย่งแข่งขัน เกิดปัญหาการทุจริตฉ้อฉล ความเสื่อมทางจริยธรรม ศีลธรรมมากขึ้น  เกิดความรู้สึกแปลกแยกและความเครียดมากขึ้น เกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรง และสลับซับซ้อน  จนแก้ไขด้วยสันติวิธีได้ยาก.

       รัฐบาลที่เป็นตัวแทนคนกลุ่มน้อยและไม่ฉลาดมากพอ  จะยิ่งสาละวนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วน ๆ; และจะแก้ไม่ได้ผล  เพราะปัญหาทุกอย่างของสังคม  รวมทั้งปัญหาระบบความคิด ค่านิยมของคน  เป็นปัญหาเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคมทั้งหมด.  เราไม่อาจจะแยกแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ อย่างได้ผลยั่งยืน ต้องปฏิรูปหรือปฏิวัติระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองทั้งหมดอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม.

เราควรจะทำอะไรกันต่อไป ? 

  1. เราควรจะเผชิญกับวิกฤติครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยครั้งนี้อย่างตรงไปตรงมา,  เลิกสร้างภาพพจน์  เลิกหลอกให้ประชาชนมีความหวังแบบไม่สมจริง.  เราต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์ให้ประชาชนเห็นสาเหตุทางโครงสร้างของวิกฤติอย่างแท้จริง  และคิดในเชิงผ่าตัดปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย  ตลอดจนคิดหาทางเลือกใหม่ที่เป็นทางเลือกเฉพาะของไทยอย่างกล้าพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่.
  2. เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องการเร่งรัดขยายการผลิตและการบริโภคที่ทำให้ต้องอยู่ในกับดักของหนี้และการพึ่งทุนต่างชาติ ; หันมาเน้นการผลิตและการบริโภคเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการยังชีพและคุณภาพชีวิต และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม  ควบคู่ไปกับการแบ่งปันกันใช้ทรัพยากร แบ่งปันการมีงานทำ  และการบริโภค  อย่างเอื้ออาทรต่อทั้งธรรมชาติและคน.
  3. เปลี่ยนกรอบคิดแบบหวังพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมากเกินไป เป็นการพึ่งตนเองในระดับประเทศ  และเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นด้านหลัก.  กระจายทรัพยากร  รายได้  ความรู้ การมีงานทำ  สิทธิและโอกาสทางการเมืองและสังคมสู่ประชากรส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง  ทำให้ตลาดภายในประเทศที่มีคน 62  ล้านคน  มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น  เพื่อทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้น.  ส่วนการลงทุน  และการค้ากับต่างประเทศควรเลือกเปิดรับการลงทุนและสั่งสินค้าจากต่างประเทศส่วนที่จำเป็น  และที่เราจะได้ประโยชน์โดยไม่เสียเปรียบจนเกินไป  และส่งออกสินค้าที่เราสามารถผลิตได้ดี  มีมูลค่าสูง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม.
  4. ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง  การศึกษา  สื่อสารมวลชน  และวัฒนธรรมในแนวทางเลือกที่สาม คือ สังคมประชาธิปไตยแบบใหม่ (NEW SOCIAL DEMOCRATIC)  ที่เลือกส่วนที่ดีของสังคมนิยม เช่น ความเสมอภาค การไม่เอาเปรียบกัน  และส่วนที่ดีของทุนนิยม  เช่น  ประสิทธิภาพ,  แรงจูงใจในการทำงาน  มาผสานกันอย่างคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง  เพื่อสร้างระบบใหม่ที่เป็นไปได้ในชั่วอายุคน.
  5. เปลี่ยนโครงสร้าง วิถีชีวิต และกรอบคิดค่านิยมแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแก่งแย่งแข่งขันหาเงิน  เน้นการบริโภคของเอกชนแบบตัวใครตัวมัน  มาเป็นกรอบคิดค่านิยมที่เน้นความร่วมมือ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันทรัพยากร  การมีงานทำ  การบริโภค อย่างทั่วถึง  เป็นธรรม.  เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้พัฒนาความรู้  ความสามารถ  การทำความดี ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเอง  และพัฒนาสังคมชนิดที่มีคุณภาพ  ไม่ใช่สังคมที่เน้นการพัฒนาด้านวัตถุความ และเห็นแก่ตัว.

       สังคมที่มีคุณภาพ คือ สังคมสันติประชาธรรมที่สนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของสมาชิกส่วนใหญ่ได้ดี มีธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่ดี,  มีเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมชาติที่ดี,  ประชาชนพัฒนาทั้งความรู้ จิตสำนึกทางสังคม  วุฒิภาวะทางปัญญาและอารมณ์,  มีวินัย,  ทำงานเป็นกลุ่มคณะได้มากขึ้น, มีวัฒนธรรมในการตัดสินปัญหาความขัดแย้งด้วยเหตุผล  ประชาธิปไตยและสันติวิธี ;  เคารพความหลากหลายด้านความคิด  ความเชื่อ และศิลปวัฒนธรรม ทำให้สังคมสามารถที่จะพัฒนาเพื่อความผาสุกประชาชาติของคนส่วนใหญ่  ได้อย่างยั่งยืนยาวนาน.

   สังคมที่มีคุณภาพแบบใหม่นี้แตกต่างจากสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเพิ่มผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติในปัจจุบัน ที่นอกจากจะไม่ได้กระจายผลผลิตสู่คนส่วนใหญ่แล้ว  การผลิตและบริโภคสินค้ากันอย่างฟุ่มเฟือยมากเกินไป  ยังทำลายทั้งธรรมชาติสภาพแวดล้อม และทำลายทั้งวัฒนธรรม  จริยธรรม  ของคนส่วนใหญ่.  การพัฒนาที่เน้นการเพิ่มการเจริญเติบโตทำให้เกิดวิกฤติทางสังคมและวัฒนธรรมที่แก้ได้ยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ.  ขณะเดียวกันการพัฒนาเพื่อสังคมที่มีคุณภาพก็ต่างจากสังคมแบบวางแผนจากส่วนกลาง หรือสังคมนิยมแบบเก่า  ที่มีข้อจำกัดในเรื่องความด้อยประสิทธิภาพ, การครอบงำจากชนชั้นข้ารัฐการจากส่วนกลางมากเกินไป.

ยุทธศาสตร์ในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ทั้ง  4  ประการข้างต้นได้คือ

  1. การสร้างสรรค์และเผยแพร่แนวคิดในการกอบกู้วิกฤติแบบใหม่ที่ต่างจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตกกระแสเก่าของและชนชั้นนำส่วนใหญ่.
  2. การจัดตั้งและขยายเครือข่ายการจัดตั้งองค์กรที่มีประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีทิศทางร่วมกัน   ให้ประชาชนเข้าใจ,  ตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤติ และทางออกที่ยั่งยืน และตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา (รู้ว่าเราควรจะไปทางไหนกัน). พัฒนาองค์กรประชาชน กลุ่มสหภาพแรงงาน  สมาคมอาชีพ  สหกรณ์ออมทรัพย์ ชมรม  สมาคม สโมสร ฯลฯ และประชาคมให้มีความรู้และมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มนายทุน,  นักการเมืองเพิ่มมากขึ้น.  รณรงค์ปฏิรูปการศึกษา  และความคิด  ทำให้คนส่วนใหญ่มีความคิดเสรีประชาธิปไตย และเรียนรู้อย่างวิพากษ์วิจารณ์และอย่างต่อเนื่อง.  เสริมสร้างศักยภาพในการเป็นผู้นำ และสร้างผู้นำใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อขยายบทบาทในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงและทำงานทางการเมืองและสังคม ; ช่วงชิงช่องทางที่เปิดให้  เช่น  ส่งคนที่มีอุดมการณ์และมีความรู้ความสามารถเข้าสมัครวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และผู้แทนในระดับต่าง ๆ. ขณะเดียวกัน องค์กรประชาชนก็ต้องคอยผลักดันควบคุมดูแลผู้ทำงานการเมืองในระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้แทนเปลี่ยนสีแปรธาตุ หรือถูกระบบอภิสิทธิชนดูดกลืนไปเป็นพรรค (รู้ว่าเราจะไปอย่างไรกัน).
 

1. วิกฤติและแนวโน้มของเศรษฐกิจสังคมไทย (ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติปี 2542)


1.  วิกฤติและแนวโน้มของเศรษฐกิจสังคมไทย

      รากเหง้าของวิกฤติ  คือ ระบบผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจการเมือง และการดำเนินนโยบายพัฒนาแบบพึ่งทุนต่างชาติ  เพื่อการเพิ่มสินค้า  และการส่งออก

      วิกฤติทางเศรษฐกิจ  การเงิน การคลัง ซึ่งนำไปสู่การลดค่าเงินบาท  และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  ปัญหาการว่างงานในไทย  ตั้งแต่กลางปี 2540 เป็นต้นมา ถูกชนชั้นนำอธิบายว่าเป็นวิกฤติของการบริหารจัดการที่ผิดพลาด.  แต่จริง ๆ แล้ว  เป็นวิกฤติทางด้านโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจการเมือง  ที่อำนาจและความมั่งคั่งอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยที่ฉ้อฉล  ไม่ได้กระจายสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง ; และเป็นวิกฤติที่เกิดจากการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศแบบพึ่งพาทุนต่างชาติ  เพื่อการเพิ่มสินค้าและการส่งออก  โดยที่การพัฒนาดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่แต่อย่างใด.

      เมื่อรัฐบาลไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาวิกฤติ ก็ไม่สามารถแก้ที่ต้นตอของวิกฤติได้.

      รัฐบาลแก้ปัญหาภายใต้กรอบคิดของการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า.  2 ปีที่ผ่านมาภาครัฐกลับเป็นฝ่ายกู้หรือเป็นหนี้แทนภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มมากขึ้น  การดำเนินนโยบายเอาใจให้ต่างชาติปล่อยกู้เพิ่ม  เข้ามาลงทุนเพิ่มได้อย่างเสรีเพิ่มขึ้น  ทำให้ต่างชาติสามารถหาประโยชน์จากเป็นที่ปรึกษานายหน้า  หรือการซื้อกิจการของไทยได้ตามใจชอบมากขึ้น. การกู้หนี้ใหม่มาช่วยอุ้มชูธนาคาร และสถาบันการเงินที่มีปัญหา  และเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยให้คนมีงานทำและรายได้ขึ้นบ้างแต่เป็นช่วงสั้น ๆ.  เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าไม่ใช่การจ้างงานที่จะให้ผลผลิตต่อเนื่องได้ยั่งยืน.   ตัวเลขมูลค่าผลผลิตโดยรวมของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นขึ้นมาเป็นบวกนิดหน่อย ในปี 2542 (จากติดลบ 8 % ในปี 2541).  เป็นเพียงการฟื้นเพียงบางส่วน  เช่น  ภาคธุรกิจส่งออก ภาคอุตสาหกรรมการค้าบริการที่สามารถขายสินค้าบริการให้คนที่มีฐานะดีและปานกลางที่ยังคงมีเงินสะสมเหลืออยู่ ; แต่ไม่ใช่การฟื้นของเศรษฐกิจแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ. 

      เศรษฐกิจจะฟื้นเพียงบางส่วน  และจะไม่ยั่งยืน

      การฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบอาศัยทุนจากต่างประเทศและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของคนส่วนน้อย  ทำให้ภาครัฐบาลเป็นหนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อตอนเกิดวิกฤติใหม่ ๆ.  ประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น,  เศรษฐกิจของประเทศอยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติเพิ่มขึ้น  โดยที่การฟื้นฟูก็ไม่ได้แก้ปัญหาคนว่างงาน 2 ล้านคน  ปัญหาคนจน คนมีรายได้น้อย  ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างจริงจัง.  บริษัททุนข้ามชาติจะไม่ช่วยเพิ่มการจ้างงาน  เพราะพวกเขาจะสนใจการใช้เครื่องอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนการผลิตมากกว่าการจ้างงาน,  สนใจการขายสินค้าให้ตนเองได้กำไรสูงสุด มากกว่าสนใจการผลิตประเภทที่จะใช้แรงงานและทรัพยากรภายในประเทศเพื่อประโยชน์ของคนไทย.

      เมื่อคนตกงานเพิ่ม  และรายได้แท้จริงลดลง,  โอกาสที่เศรษฐกิจภายในประเทศทุกส่วนจะฟื้น  และเติบโตเข้มแข็งก็เป็นไปได้ยาก.  เมื่อทุนต่างชาติเข้ามาซื้อรัฐวิสาหกิจ, ธนาคาร,  บริษัทใหญ่ ๆ อันดับแรก ๆ ที่พวกเขาจะทำคือ  ลดพนักงานรัฐวิสาหกิจ,  ธนาคาร,  บริษัทต่าง ๆ ลง.  การลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมใหม่อาจจะเพิ่มการจ้างงานแรงงานฝีมือที่จำเป็นบางส่วน,  แต่กล่าวโดยภาพรวมแล้ว  การจ้างงานทั่วทั้งประเทศจะลดลง.  การอ้างว่าทุนต่างชาติจะมีประสิทธิภาพมากกว่านายทุนไทย  ถูกท้าทายจากข้อเท็จจริงที่ว่า ธนาคารต่างประเทศในไทยหากำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าอัตราเงินฝากสูงกว่าธนาคารในประเทศอย่างเห็นได้ชัด.

เศรษฐกิจภาคประชาชน จะตกต่ำ เรื้อรัง  และสังคมเกิดปัญหาขัดแย้งรุนแรงขึ้น

      การแก้ปัญหาแบบพึ่งทุนต่างชาติเป็นด้านหลักจะทำให้ไทยพัฒนาไปเป็นแบบบราซิล  และประเทศลาตินอเมริกาอื่น ๆ ที่มีเศรษฐกิจภาคที่ทันสมัยควบคู่ไปกับเศรษฐกิจภาคยากจนของประชาชนส่วนใหญ่.  การแก้ปัญหาแนวนี้  จะทำให้คนชั้นกลางบางส่วนที่ปรับตัวได้เก่งเท่านั้นฟื้นและร่ำรวยขึ้น  แต่คนล้มละลาย คนตกงาน คนจนจะมีเพิ่มมากขึ้น,  ชุมชนแออัดจะขยายใหญ่โตขึ้น.  การที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของกลุ่มชนเพิ่มขึ้น จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม  ความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมืองและสังคมเพิ่มมากขึ้น.

      ดังนั้นถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ การแก้ปัญหาแนวนี้ของรัฐบาลก็ไม่ใช่การฟื้นอย่างแท้จริงหรือยั่งยืน  มองในแง่การเมือง  สังคม จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงมากยิ่งขึ้น.

 

ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมือง คืออะไร


ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมือง  คืออะไร

   ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมืองน่าจะเป็นอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยใหม่ (NEW  SOCIAL  DEMOCRACY)  ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่มีจุดยืนแบบกลาง ค่อนไปทางก้าวหน้า (Center Left) อุดมการณ์นี้อาจจะเทียบได้กับอุดมการณ์ของพรรคการเมืองปีกก้าวหน้า เช่น  พรรคคนงาน,  พรรคโซเซียลเดโมแครต ของพรรคกรีนประเทศอื่น ๆ แต่เป็นอุดมการณ์ที่พัฒนาให้เข้ากับสถานะการณ์วิกฤติที่เป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน. 

   ปัจจุบันประเทศไทยมีแต่พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีอุดมการณ์สนับสนุนการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบส่งเสริมการลงทุนต่างชาติเพื่อการส่งออก.  อุดมการณ์แบบนี้เป็นตัวการสร้างวิกฤติการเป็นหนี้ การว่างงาน  เศรษฐกิจตกต่ำ การทำลายสภาพแวดล้อม และค่านิยมที่ดีงาม ; เป็นอุดมการณ์ที่ไม่สามารถจะใช้แก้ปัญหาวิกฤติสังคมไทยอย่างยั่งยืนได้  ส่วนอุดมการณ์แบบสังคมนิยมที่ใช้การวางแผนจากส่วนกลางแบบเก่า  ก็ล้าสมัย ขาดประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิตและการกระจาย รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การขาดแรงจูงใจ และอื่น ๆ

อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยใหม่  คืออะไร

  1. คืออุดมการณ์ที่พยายามบูรณาการส่วนที่ดีของสังคมนิยม เช่น  ความเป็นธรรม  จิตสำนึกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เข้ากับส่วนที่ดีของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เช่น  สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน การแข่งขันเพื่อประสิทธิภาพ.  อุดมการณ์นี้มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจแบบผสม ที่เน้นระบบสหกรณ์และการให้พนักงาน,  ประชาชน,  องค์กรชุมชนเข้าถือหุ้น  และบริหารองค์กรธุรกิจทุกระดับ และการพัฒนาระบบสังคมสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนที่เสียเปรียบ.
  2. แก้ปัญหาข้อจำกัดของสังคมนิยม เช่น  ความไร้ประสิทธิภาพของการวางแผนจากส่วนกลาง,  การขาดเสรีภาพ และแรงจูงใจในการทำงาน และแก้ปัญหาข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบทุนนิยม  เช่น  การมุ่งแสวงหากำไรเอกชนมากเกินไป ที่นำไปสู่การเอาเปรียบ  และค่านิยมที่เห็นแก่ตัว.  อุดมการณ์นี้สร้างระบบการเมืองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างจริงจัง  และส่งเสริมให้สังคมประชา (Civil  Society)  มีบทบาทเพิ่มขึ้น.  รัฐแบบใหม่ที่ประชาชนตรวจสอบควบคุมได้มากขึ้นยังคงจำเป็นต้องมีไว้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศจากการเอาเปรียบของบริษัทของทุนข้ามชาติ และเพื่อร่วมมือกับประชาชน และรัฐอื่น ๆ ในการสร้างสังคมโลกที่เป็นธรรม  มีสันติภาพ และสร้างสรรค์ คำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  มากกว่าสังคมโลกในปัจจุบัน.
  3. มีจุดยืนแนวในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แตกต่างจากกลุ่มจารีตนิยม    ชาตินิยมขวาจัด  และกลุ่มเสรีนิยมใหม่  คือ เน้นความเสมอภาค ความเป็นธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่ เน้นประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีบทบาทโดยตรงมากขึ้น  ประชาธิปไตยที่เป็นส่วนหนึ่งวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชนจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน.  และมีจุดยืนที่แน่ชัดในการมุ่งสร้างสังคมสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ  และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. มีความยืดหยุ่น ความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกสมัยใหม่ได้ โดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการแบบเก่า.  คำนึงถึงเรื่องปัญหาของโลกสมัยใหม่ เช่น  การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  สิทธิของสตรี  และกลุ่มชนที่ด้อยสิทธิด้อยโอกาส สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน และกลุ่มชนต่าง ๆ ยอมรับความหลากหลายทางด้านการดำเนินชีวิตและศิลปวัฒนธรรม  ฯลฯ โดยมุ่งประโยชน์และความสันติสุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว.

จะประยุกต์ใช้อุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยใหม่กับสังคมไทยได้อย่างไร

  1. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม กระจายทรัพย์สิน รายได้  การศึกษา  การมีงานทำ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สวัสดิการทางสังคม ให้ประชาชนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เน้นการระดมใช้แรงงาน  ทรัพยากร  เงินทุนภายในประเทศ  เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้บนฐานที่กว้างกว่า  ยั่งยืนกว่า นโยบายแก้ปัญหาแบบพึ่งทุนต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ.
  2. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากทุนนิยมผูกขาด  และทุนนิยมขุนนาง  ให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมประชาธิปไตย  ที่เน้นการพัฒนาระบบสหกรณ์ การให้พนักงาน ประชาชน องค์กรชุมชน เข้าถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ  ธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่  และขนาดกลาง.  ปฏิรูปการเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณและพัฒนาระบบประกันสังคมและสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรม  และมีประสิทธิภาพ.
  3. ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ให้มีการกระจาย  และการตรวจสอบอำนาจ  โดยสถาบันและกลุ่มอิสระจากระบบราชการ   รัฐสภา  และพรรคการเมือง อย่างมีลักษณะคานอำนาจกันได้หลายทาง  ซึ่งเรียกได้ว่าประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ; เช่น  มีคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เป็นอิสระ  มีองค์กรบริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น  ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางและรัฐสภาระดับชาติ มีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลและไม่แสวงหากำไรที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสังคมประชา (Civil  Society)  ที่เข้มแข็ง  ควบคู่ไปกับการทำงานที่จำเป็นของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น. 
  4. ปฏิรูปด้านการศึกษา สื่อสารมวลชน  ศิลปวัฒนธรรม  ให้คนกล้าคิดกล้าแสดงออก เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง  ภาคภูมิและพอใจกับชีวิต  นับถือและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น  รวมทั้งธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ไม่ใช่การศึกษาเพื่อเพิ่มความเห็นแก่ตัว  ศิลปวัฒนธรรมแบบการค้า และการมุ่งบริโภคสูงสุด  ที่เอาเปรียบทั้งคนและธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

สารบัญ (ทางออกจากปัญหาวิกฤตปี 2542)


สารบัญ 

คำนำ

  1. 30 ปี ภายหลังยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย”  เราเรียนรู้อะไร  และเราควรจะทำอะไรกันต่อไป
  2. สร้างภูมิปัญญาใหม่  กอบกู้ประชาชนไทยจากวิกฤติ
  3. ประชาชนไทยมีทางเลือกอื่น  แต่จะต้องกล้าเดินด้วยตัวเอง
  4. วิกฤติจะทำให้เกิดโอกาสใหม่  และแนวคิดใหม่ได้อย่างไร
  5. แนวทางแก้ไขวิกฤติและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมได้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน

ประวัติและงานของผู้เขียน 
 
 

      (บทความในหนังสือเล่มนี้  ยินดีให้บุคคล,  กลุ่ม,  องค์กรต่าง ๆ  ทำสำเนาเผยแพร่เพื่อสาธารณประโยชน์ได้  โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้เขียน  แต่จะต้องระบุชื่อผู้เขียนกำกับไว้ด้วย  และถ้าจะส่งสำเนาหรือแจ้งกลับมาที่ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ก็จะขอบคุณยิ่ง)

 

คำนำของผู้เขียน (ทางออกปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปี2542)


คำนำของผู้เขียน

      ผู้เขียนได้เคยเสนอตั้งแต่เกิดวิกฤติใหม่ ๆ ว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดตั้งแต่การประกาศค่าเงินบาทลอยตัว และการไปกู้เงิน IMF นั้น ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาการจัดการทางการเงิน การคลัง เท่านั้น ; แต่เป็นวิกฤติทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและวิกฤติการขาดภูมิปัญญา  และจิตสำนึกของชนชั้นนำไทย. 

      การที่รัฐบาลยอมทำตามเงื่อนไขของ IMF โดยไม่กล้าต่อรองอย่างเป็นตัวของตัวเองนั้น จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ คนว่างงานเพิ่มขึ้นและถูกต่างชาติเข้ามาครอบงำมากขึ้น ; และเราควรเลือกแนวทางแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจสังคมของชาติที่เน้นการพึ่งตนเอง  การฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดภายในประเทศ และลดการพึ่งต่างชาติลง  ไม่ใช่การมุ่งกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า และส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการและเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น.  (“วิกฤติเศรษฐกิจไทย ผลกระทบจากการรับเงื่อนไข IMF และทางออกสำหรับประชาชน” สกว. 2541)

      เหตุการณ์ 2 ปีที่ผ่านมาได้ยืนยันแนวโน้มที่ผู้เขียนวิเคราะห์ไว้แทบทุกอย่าง  คนว่างงานเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านคน,  คนอีกหลายล้านคนถูกลดเงินเดือนและสวัสดิการ,  คน 61.4 ล้านคนทั้งประเทศมีรายได้แท้จริงลดลง และมีภาระหนี้กันมากขึ้น ทั้งหนี้โดยตรงและการแบกรับภาระหนี้ของประเทศ, ลูกหนี้ของธนาคารครึ่งประเทศไม่มีปัญญาผ่อนชำระหนี้,  ประชาชนต้องเสียเปรียบธนาคาร สถาบันการเงิน มากขึ้น (เวลาฝากได้ดอกเบี้ยต่ำ เวลากู้เสียดอกเบี้ยสูง),  เกิดปัญหาการทุจริตฉ้อฉล ความรุนแรง,  เอารัดเอาเปรียบ,  อาชญากรรม,  ยาเสพย์ติด,  โสเภณี,  โรคเอดส์,  ปัญหาโรคจิตประสาทและความเครียด ฯลฯ กว้างขวางและรุนแรงยิ่งขึ้น.  วิกฤติทางเศรษฐกิจได้นำไปสู่เป็นวิกฤติในทางสังคม วัฒนธรรม   และทางการเมืองด้วย.

      ชนชั้นนำไทยนั้นขาดทั้งภูมิปัญญา  และความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่จะคิดหาทางออกจากวิกฤติแบบกล้าผ่าตัดโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมเพื่อประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว.  พวกเขาได้แต่คิดอยู่ในกรอบคิดของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกกระแสเก่า  และได้แต่ทำตามคำชี้แนะของ IMF และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวกไปวัน ๆ.

      แนวทางการแก้ปัญหาวิกฤติตามคำชี้แนะของ IMF ที่เน้นการพึ่งพาเงินกู้ และทุนต่างชาติ  จะฟื้นฟูเศรษฐกิจตกต่ำของไทยได้เพียงบางส่วน (เช่น  ภาคธนาคาร ภาคธุรกิจส่งออก อุตสาหกรรมและบริการสำหรับคนมีเงิน),  และเป็นการฟื้นฟูเพียงระยะสั้น.  การฟื้นเช่นนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนต่างชาติ  และนายทุนกับคนชั้นกลางของไทยเพียงส่วนน้อย ; จะไม่ช่วยให้คนส่วนใหญ่มีงานทำ มีรายได้  และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง.  ทุนต่างชาติจะเน้นการหากำไรสูงสุดของบริษัท,  การลดการจ้างคนเพื่อลดต้นทุนของบริษัท,  การมุ่งหากำไรจากการส่งออกและกำไรระยะสั้น  มากกว่า จะคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบที่มุ่งประโยชน์ประชาชนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว. 

      รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น  โดยอ้างตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมปี 2542 ว่าจะเป็น +1  ซึ่งดีกว่าปี 2541 ที่เป็น –8  และอ้างว่าตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติว่าเพิ่มมากขึ้น  การส่งออกอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวหรือเป็นบวกนิดหน่อย.  แต่ตัวเลขเหล่านี้  เป็นเพียงส่วนย่อยส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจทั้งระบบ ไม่ได้เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงการกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งประเทศ.  มาตรการ 4-5 มาตรการที่     รัฐบาลทยอยประกาศออกมาทีละชุด  ชี้ชัดว่ารัฐบาลเพียงแต่คอยตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น  ยังไม่ได้คิดในเชิงปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง ; และไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง.

      หนังสือเล่มนี้มุ่งเสนอแนวคิดสำคัญ 2 ประการคือ

  1. แนวคิดใหม่ในการแก้วิกฤติเพื่อหาคำตอบว่าเราจะไปทางไหนกัน.  ผู้เขียนเสนอแนวทางการเมืองแบบสังคมประชาธิปไตยใหม่ และเศรษฐกิจแบบเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดในประเทศเป็นด้านหลัก.  เสนอให้ปฏิวัติโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง  ให้เป็นไท (จากการครอบงำของนายทุนต่างชาติ)  กระจายทรัพย์สิน รายได้  การศึกษา  ข้อมูลข่าวสาร  สิทธิทางการเมือง และสังคมให้ เป็นธรรม  โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิต  สร้างความสุขประชาชาติ มากกว่าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ.  ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเป็นเพียงตัวเลขยอดรวมของการผลิตและการบริโภค  ที่อาจจะสูงขึ้นได้ เพียงเพราะคนรวยคนชั้นกลางซึ่งยังมีเงินอยู่ใช้จ่ายมากขึ้น แต่เป็นตัวเลขที่ไม่สะท้อนการกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่.
  2. แนวทางในการทำให้แนวคิดใหม่ในการแก้วิกฤติเกิดผลในทางปฏิบัติ,  นั่นก็คือ การหาคำตอบว่า เราจะไปอย่างไรกัน.  ผู้เขียนเสนอให้ประชาชนที่ตื่นตัวต่อปัญหา  รวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรประชาชนที่เน้นงานด้านการเมืองเพื่อพัฒนา  เผยแพร่และทำแนวคิดใหม่ให้มีผลในทางปฏิบัติ เสริมสร้างโอกาสให้เกิดผู้นำใหม่ ๆ ที่จะขยายบทบาทในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมและประชาชนสามารถเข้าร่วมและตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง.  การสร้างเครือข่ายขององค์กรประชาชนที่มีอุดมการณ์เพื่อความเป็นไท  เป็นธรรม  และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน  ให้เป็นเครือข่ายที่กว้างขวาง  และมีความเข้มแข็งพอที่จะต่อรองกับนักการเมือง  ข้าราชการ และกลุ่มนักธุรกิจได้มากขึ้น.

 

      หนังสือเล่มนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อจัดพิมพ์จากกลุ่มทางออกไทผู้เป็นแกนหลักในการสนับสนุนให้ผู้เขียนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก จังหวัดกรุงเทพมหานคร  ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปีหน้า. การจัดพิมพ์แบบประหยัดโดยไม่เน้นความสวยงามคงทน ก็เพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนได้กว้างขวางมากขึ้น.  ผู้ที่เห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข วิกฤติของชาติ,  ขอได้โปรดแนะนำหรือช่วยกันซื้อแจกเพื่อนร่วมชาติคนอื่น ๆ ให้มีโอกาสได้อ่านต่อ และช่วยกันถกเถียง ค้นคว้า เผยแพร่ต่อด้วย  เพื่อที่พวกเราจะได้ช่วยกันหาทางออกจากวิกฤติของชาติได้อย่างถาวรยั่งยืนต่อไป.

                                          วิทยากร  เชียงกูล

                                          ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์

  •  
    •  
      •  
        •  
          •  

                    มหาวิทยาลัยรังสิต

  •  
    •  
      •  
        •  
          •  

                    สิงหาคม  2542 

 

ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติ (ปก)


*ผลงานชิ้นนี้อาจารย์วิทยากร เชียงกูล ได้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 ท่านสมาชิกหรือผู้สนใจท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมให้แจ้งมาทางเว็บไซต์ได้เลยค่ะ*

 

ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติ

วิทยากร  เชียงกูล 
 


 
 
 
 
 

รูปภาพ 
 
 
 
 

รวมพลังสร้างสรรค์ความเป็นไท  เป็นธรรม  และคุณภาพชีวิตยั่งยืน