RSS

Category Archives: บทความใหม่

คำถามถึง “สื่อสีเขียว”เมื่อความรุนแรงทำลายพื้นที่ตั้งคำถามและสติ


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในบทสัมภาษณ์ เผยแพร่ในเว็ปไซด์เสียงประชาคม (www.civilvoice.net) ว่า กำลังจะออกหนังสือ ชื่อ “ความรุนแรงกับการจัดการความจริง : กึ่งศตวรรษปัตตานี” ซึ่งเข้าใจว่า น่าจะเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังระอุ แต่ประเด็นความคิดซึ่งเป็นฐานคติในการมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของนักวิช าการท่านนี้ก็คือ อย่าปล่อยให้ความรุนแรงทำลายพื้นที่ตั้งคำถามและสต

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: , , ,

เรียนรู้นอกระบบแบบ On-line


สมัยนี้การเรียนรู้หรือการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเ ทิงแทบจะแยกกันไม่ออกแล้วนะครับ เหตุผลหนึ่งก็คือการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น จะต้องเป็นการเรียนรู้ที่มีความแตกต่างไปจากการเรียนรู้ในชั้นเรียน

การเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ประสานหรือผสานเข้าร่วมกับการใช้วิดี โอก็เพิ่มพลังอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความรู้ที่มาจากตาดูหูฟังและความคิดผ่านประสบการณ์เหล่านั้น

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: ,

ทางออกของปัญหา:จะปฏิรูประบบสหกรณ์ไทยกันอย่างไร


ทางออกของปัญหา:จะปฏิรูประบบสหกรณ์ไทยกันอย่างไร
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 18 ตุลาคม 2550 14:45 น.

วิทยากร เชียงกูล

สหกรณ์ในประเทศไทย แม้จะมีจำนวนราวหมื่นแห่งและสมาชิกมากถึงราว 9 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่คือสหกรณ์ออมทรัพย์ (สินทรัพย์ราว 4.4 แสนล้านบาท) และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการปล่อยกู้ ซึ่งยังมีสัดส่วนในระบบธนาคารและระบบเศรษฐกิจของประเทศต่ำ

หนทางที่จะพัฒนาระบบสหกรณ์ไทย คือต้องแก้กฎหมายให้สหกรณ์เป็นอิสระจากระบบราชการ และเปิดกว้างให้ประชาชนจัดตั้งสหกรณ์ได้หลายประเภท เปิดให้สหกรณ์ทำกิจกรรมได้อย่างคล่องตัวยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถตั้งธนาคาร ตั้งบริษัทที่ทำธุรกิจทั้งการเงิน การค้าและการบริการกับคนภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกได้

หน่วยงานส่งเสริมสหกรณ์นี้น่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาชน ไม่ใช่เป็นแค่ระดับกรมอยู่ในกระทรวงเกษตร เพราะกิจกรรมและยอดธุรกิจของสหกรณ์ทั่วประเทศนั้นใหญ่โตกว่าหน่วยงานระดับกรมของทางราชการมาก รวมทั้งกิจกรรมของสหกรณ์บางประเภทก็ไม่เกี่ยวกับกระทรวงเกษตร

สหกรณ์เป็นทางเลือกที่ดีกว่าระบบทุนนิยมมากทั้งแนวคิดและภาคปฏิบัติ เพราะสหกรณ์เป็นระบบธุรกิจที่ตัดคนกลาง ลดต้นทุน เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ดีกว่าบริษัทธุรกิจเอกชน ขณะเดียวกันก็มีประสิทธิภาพ โปร่งใสกว่าระบบรัฐวิสาหกิจ

ในประเทศไทยซึ่งขณะนี้กำลังถกเถียงกันในปัญหาเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปัญหาบริษัทค้าปลีกข้ามชาติเข้ามาทำให้ร้านค้าปลีกเล็กๆล้มละลาย

เรามักจะถกเถียงเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่าจะเป็นของเอกชนแบบทุนนิยมหรือระบบรัฐวิสาหกิจแบบเก่า ซึ่งมีข้อจำกัดทั้ง 2 แบบ หรือคิดเรื่องปัญหาร้านค้าปลีกที่กำลังถูกเบียดขับจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากต่างชาติในกรอบคิดของระบบทุนนิยมอย่างเดียว หากเราคิดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการรัฐวิสาหกิจและการพัฒนาร้านค้าปลีกในแนวสหกรณ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในประเทศอื่นมาแล้ว ทั้งสหกรณ์ให้บริการสาธารณูปโภค และสหกรณ์ร้านค้าที่มีประสิทธิภาพ แข่งกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ของต่างชาติได้ เราน่าจะหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของคนไทยและประเทศไทยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่มาก

ประชาชนไทยควรระดมกำลังส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อปฎิรูประบบสหกรณ์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง นี่คือทางเลือกใหม่ ที่จะช่วยให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นความจริง ไม่ใช่พูดกันลอยๆแต่ยังเดินทางแนวทุนนิยม เพราะระบบทุนนิยมผูกขาดที่มุ่งการเติบโตและหากำไรสูงสุดของเอกชนนั้นไม่มีทางที่อยู่ร่วมกับเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแท้จริง มีแต่ระบบสหกรณ์ซึ่งเน้นการสนองความต้องการที่จำเป็นของประชาชนอย่างเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมเท่านั้น ที่จะอยู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างกลมกลืน

ปัจจุบันทั้งสหประชาชาติ องค์กรแรงงานโลก แผนกสหกรณ์ สหพันธ์สหกรณ์นานาชาติ และสหพันธ์สหกรณ์ระดับชาติและระหว่างชาติของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมหลายแห่ง สนใจที่จะขยายความช่วยเหลือและร่วมมือกับขบวนการสหกรณ์ในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพราะเห็นว่าการพัฒนาสหกรณ์เป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาการว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม อื่นๆ ได้ผลดีกว่าการพัฒนาตามแนวทางการเปิดเสรีการลงทุนและการค้า แต่สหกรณ์ของไทยยังรับรู้ และเข้าไปมีความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆเหล่านี้น้อย

สหกรณ์ของไทยเองยังขาดนักวิชาการ นักบริหารมืออาชีพที่จะเข้าไปช่วยพัฒนา ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากผู้มีความรู้ส่วนใหญ่ของไทยมีกรอบความคิดการพัฒนาแบบนิยมการลงทุนและการค้าเสรีโดยปัจเจกชน มากกว่าที่จะมีแนวคิดในเชิงพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมแบบรวมหมู่ นักคิดก้าวหน้าแนวสังคมนิยมของไทยเองก็มองข้ามขบวนการ/ระบบสหกรณ์ไป และในยุคปัจจุบัน หลังจากพวกนักวิชาการนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าอกหักจากสังคมนิยม พวกเขาส่วนหนึ่งก็เปลี่ยนจุดยืนไปสนับสนุนทุนนิยม ส่วนหนึ่งกลายเป็นพวกเย้ยหยัน ปัจเจกชนนิยม เสรีนิยมแบบต่างๆ นานา ไม่ค่อยได้สนใจศึกษาทางเลือกอื่นที่ต่างไปจากทุนนิยมและสังคมนิยมแบบเก่า

ประชาชนไทยต้องศึกษาเรื่องสหกรณ์และกลุ่มทางเลือกต่างๆทั้งจากภายในประเทศและจากประเทศอื่น และต้องทำงานด้านเผยแพร่ความคิดและการจัดตั้งองค์กรโดยเฉพาะสหกรณ์ให้มากขึ้น ในต่างประเทศ ขบวนการสหกรณ์มีการร่วมมือกับสหภาพแรงงาน กลุ่มองค์กรต่างๆ พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าได้อย่างสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ตั้งพรรคการเมืองของตนเอง แบบในอังกฤษ(ร่วมมือและเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแรงงาน) และ สวิสเซอร์แลนด์

การต่อสู้ของขบวนการแรงงานและเกษตรกรในการเรียกร้องส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นภายใต้ระบอบทุนนิยม ที่ทุนยังเป็นของนายทุนเอกชนเพียงส่วนน้อย มักสู้ได้ยากหรือสู้ได้เพียงบางเรื่องบางช่วง ซึ่งเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาได้บางระดับ บางส่วนเท่านั้น ทางออกที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองไทยต้องแก้ไขที่เป็นตัวปัญหาโครงสร้างการเป็นเจ้าของทุน โครงสร้างการผลิตและการกระจายสินค้าอย่างแท้จริง ด้วยการแทนที่ระบบทุนนิยมผูกขาดด้วยระบบสหกรณ์และทุนนิยมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รื้อฟื้นพัฒนาเศรษฐกิจระดับ ชุมชนให้พึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างการเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็ง (CIVIL SOCIETY) และรัฐสวัสดิการสังคม

 

ป้ายกำกับ: , ,

ทางออกของปัญหา:นโยบายพรรคการเมืองควรไปไกลกว่าตลาดเสรีและประชานิยม


ทางออกของปัญหา:นโยบายพรรคการเมืองควรไปไกลกว่าตลาดเสรีและประชานิยม
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 25 ตุลาคม 2550 15:17 น.

วิทยากร เชียงกูล

พรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรคยังเสนอนโยบายแนวตลาดเสรีและประชานิยม ซึ่งในแง่การตลาดคงหาเสียงได้ดี แต่ไม่ได้เสนอทางออกที่แท้จริงสำหรับเศรษฐกิจของไทยซึ่งมีปัญหาเชิงโครงสร้างคือเป็นทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร

นโยบายแนวตลาดเสรียังสร้างปัญหาอื่นๆอีกมาก การเน้นการผลิตขนาดใหญ่ ที่ใช้เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ทุนมาก ใช้แรงงานน้อย ทำให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิตรายย่อยแข่งขันสู้ไม่ได้ ต้องล้มละลาย คนว่างงานเพิ่ม? เกษตรกร คนงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้ผลตอบแทนต่ำ มีรายได้ที่ซื้อของได้แท้จริงลดลง เพราะปัญหาราคาสินค้าสูงขึ้นการดำเนินนโยบายแบบตลาดเสรีพึ่งการลงทุนและการค้าต่างประเทศมากกว่าพึ่งตลาดภายในประเทศ จึงมีความเสี่ยงสูง

การพัฒนาในแนวตลาดเสรีและประชานิยม ยังส่งเสริมการเพิ่มการผลิตและการบริโภคเพื่อหากำไรเอกชนโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของคน ไม่สนใจการกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้เป็นธรรม นำไปสู่การบริโภครถยนต์ส่วนตัว การใช้สินค้า บริการ และพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของคนรวยและชนชั้นกลาง ทำให้ประเทศไทยใช้น้ำมันเพิ่มในอัตราสูงกว่าการเพิ่มผลผลิต ประเทศขาดดุลการค้าและเป็นหนี้มากขึ้น และทั้งทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายสมดุลของทั้งธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้เกิดวิกฤติสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” และวิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรม ที่โฆษณาให้คนคิดแต่เรื่องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง อย่างไม่เห็นการณ์ไกลและไม่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

ทางเลือกของไทยควรเป็นสังคมประชาธิปไตยใหม่

แนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติของไทยควรเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมประชาธิปไตยใหม่ที่ผสมผสานส่วนที่ดีของระบบตลาดเสรีที่เป็นธรรม (ไม่ใช่ทุนนิยมผูกขาดและกึ่งผูกขาด) ระบบสหกรณ์และการพึ่งตนเอง (ในระดับประเทศ) ได้เป็นสัดส่วนสูง ระบบที่เอื้อให้ประชาชนและพนักงานถือหุ้นในบริษัทและองค์กรต่างๆเป็นสัดส่วนที่สูง ระบบรัฐสวัสดิการที่เป็นประชาธิปไตยและมีประสิทธิภาพ ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคม คำนึงถึงปัญหาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมแบบชาวพุทธ ชาวอิสลาม ชาวคริสต์ ฯลฯ แบบดั้งเดิม ที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางสังคม คุณค่าทางจิตใจ มากกว่าคุณค่าที่คิดเป็นเงินเป็นการซื้อขายในราคาตลาด มาใช้แทนระบบทุนนิยมแบบผูกขาดที่เป็นบริวารบรรษัทข้ามชาติ

การสร้างทางเลือกใหม่เพื่อทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่เป็นธรรม ยั่งยืน เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ ควรใช้นโยบายใหม่คือ

1.เปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศแบบตลาดเสรี มาเน้น เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองในระดับชุมชนและประเทศ ลดสัดส่วนการพึ่งการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศลง เน้นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาแรงงาน ทรัพยากร เงินทุน ตลาดภายในประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาที่ดี มีงานทำ มีรายได้ที่จะซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศกันมากขึ้น

2.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีและงบประมาณ ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปราชการและรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปการศึกษา สื่อสารมวลชน ปฏิรูปการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจ สังคม ในทุกๆด้าน เพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้ การมีงานทำ การศึกษา ข้อมูลข่าวสารให้เป็นธรรมและทั่วถึง แก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และการผลิตโดยเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนและระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็งมาแทนที่ระบบบริษัทเอกชน

คนไทยควรเลิกบูชาระบบตลาดและการเปิดประตูเสรีอย่างหลงใหล เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เป็นจริงเป็นระบบผูกขาด โดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมจริง ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบและถูกครอบงำมากขึ้น คนไทยควรหันมาศึกษาแนวทางเลือกอื่นๆเช่นการควบคุมเงินตราต่างประเทศของมาเลเซีย การควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการออม และการลงทุนภายในประเทศของชิลี การเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าพึ่งพาต่างประเทศของ อินเดีย เวียดนาม ลาว ภูฏาน ศรีลังกา และอีกหลายประเทศ ซึ่งยืนต้านทานพายุจากวิกฤติทุนนิยมโลกได้ดีกว่าไทย

การบูชาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างหลงใหล ได้แผ่ซ่านเข้าในกรอบคิดความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นนำของไทยอย่างไม่รู้ตัว และที่น่าห่วงคือ คือ การที่ชนชั้นนำและคนทั่วไปไม่สนใจจะรับฟัง หรืออ่านแนวคิดที่เป็นทางเลือกใหม่ เช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย ระบบสหกรณ์ ระบบรัฐสวัสดิการ เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ พัฒนาแนวยั่งยืน ฯลฯ ทำให้สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดและไม่ได้พัฒนาความคิดสติปัญญาที่จะวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาอย่างวิพากษ์วิจารณ์และสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง

วิกฤติในประเทศไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่วิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น แต่เป็นวิกฤติทางกรอบคิดหรือวิกฤติทางภูมิปัญญาและการขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมของชนชั้นนำผู้ที่เริ่มมองเห็นแนวทางใหม่แนวคิดใหม่จะต้องช่วยกันจัดตั้งและเผยแพร่แนวทางการพัฒนาแบบสังคมประชาธิปไตยใหม่และระบบสหกรณ์ เพื่อรวมพลังผลักดันให้คนไทยส่วนใหญ่ เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่คิดถูกทำถูก เพื่อคนส่วนใหญ่ในระยะยาวให้ได้ก่อน เราจึงจะมีทางเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย และมีทางออกจากวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ได้

 

ป้ายกำกับ: , ,

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก


 “ภารกิจชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก”

เป็นบทความส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มที่กำลังจะออกใหม่
ของท่านอาจารย์วิทยากร  เชียงกูล ชื่อหนังสือเรื่อง

“อนาคตเศรษฐกิจโลกและทางออกสำหรับไทย”
โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์

ส่วนหน้าตาของปกจะเป็นยังไงนั้นทางชมรมศึกษาฯ จะนำมาให้ดูกันชัดๆ

เมื่อหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

 

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก1

 

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์กับชุมชนของชาวพุทธทั้งในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมและในโลกตะวันตกที่เป็นแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมโลก ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ (วิธีที่เรามองโลก) ของเราอีกด้วย ข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้ด้วยว่า หากเราต้องการหลีกเลี่ยงการตีความคำสอนของพุทธศาสนาอย่างผิดๆ เราจะต้องพิจารณาอย่างใกล้ชิดถึงความแตกต่าง ระหว่างสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกแบบพัฒนาอุตสาหกรรม และสังคมที่ยังคงมีส่วนที่เป็นระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นมากกว่า

ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า สังคมต่างๆมีรากเหง้าติดอยู่กับโลกธรรมชาติมากกว่าโลกในยุคปัจจุบันมาก ระบบเศรษฐกิจในยุคนั้นเป็นระบบเกษตรและหัตถกรรมแบบพึ่งพากันและกันในท้องถิ่น รวมทั้งพึ่งพาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและธรรมชาติทั้งหมดมากกว่ายุคปัจจุบันมาก มนุษย์เรามีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติโดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อและพ่อค้าคนกลาง การที่มนุษย์ในสมัยนั้นได้เห็นและมีประสบการณ์กับมนุษย์คนอื่นๆในชุมชนโดยตรง เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางจริยธรรมของมนุษย์แต่ละคน คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้พัฒนาขึ้นในบริบทของสังคม ที่หล่อหลอมโดยความสัมพันธ์โดยตรงของมนุษย์กับชุมชน และโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

พุทธศาสนาคือเรื่องของชีวิต คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และอย่างเป็นวัฏจักร การเกิดและการตาย ความดีใจและความโศกเศร้า ดอกไม้บานแล้วก็เหี่ยว พระจันทร์ข้างขึ้นและข้างแรม พุทธศาสนาคือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอนิจจัง (ไม่คงทนถาวร) และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง

แต่ในโลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและการผลิตขนานใหญ่แบบอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ถูกแบ่งแยก ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้ชีวิตประจำวันของเราต้องพึ่งพา โลกแบบใหม่ที่ถูกสร้างโดยคน – ระบบเศรษฐกิจแบบค้าขาย พลังงานไฟฟ้า รถยนต์และถนน ระบบการแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่ การพึ่งพาในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราเชื่อว่า เราต้องพึ่งพาโลกของเทคโนโลยีมากกว่าโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

เมื่อขนาดของระบบเศรษฐกิจขยายใหญ่โต และเรากลายเป็นเพียงผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกของคนหกพันล้านคน ยิ่งเป็นการยากที่เราจะรู้ถึงผลกระทบของเราต่อธรรมชาติและต่อคนอื่นๆในสังคมเหมือนในชุมชนชนบทแบบดั้งเดิมที่คนในชุมชนรู้จักกันและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในสังคมแบบชุมชนดั้งเดิม เรารู้ว่าการเพาะปลูกของเราจะมีผลกระทบต่อดินและต่อคนในชุมชนที่ซื้อของจากเราไปกินอย่างไร เรามีความรับผิดชอบความห่วงใยต่อสุขภาพ/สวัสดิการของพวกเขาโดยตรง

ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เราต่างคนต่างเป็นผู้ผลิตในระบบอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่และส่งสินค้าผ่านต่อคนอื่นไปให้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร เพียงเพื่อผลกำไรและเงินของใครของมัน ทำให้เราไม่รู้สึกผูกพันรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อการกระทำของเรา เมื่อเทียบกับการผลิตในระบบเศรษฐกิจชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในชุมชน มากกว่าแค่การผลิตสินค้าไปขายแลกกับเงิน

การแยกตัวออกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความผูกพันของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาจากและสะท้อนถึงการมองโลกแบบแยกส่วน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาซึ่งมองสรรพสิ่งแบบเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มนุษย์เราเป็นปัจเจกชนที่แยกออกมาจากธรรมชาติ และมนุษย์สามารถที่จะเอาชนะโลกธรรมชาติได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่

โครงสร้างและสถาบันของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม มีพื้นฐานอยู่บนความโง่เขลาและความโลภของมนุษย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาที่มองว่า มนุษย์เราเกิดมาต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีความยั่งยืนถาวร จะต้องสิ้นอายุสูญสลายไปในวันหนึ่ง ดังนั้นเราจึงควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และใช้ชีวิตแบบเดินสายกลางให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

ชาวพุทธที่รับผิดชอบต่อสังคม (รวมทั้งชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ฯลฯ ด้วย) ควรจะใช้หลักคำสอนของศาสนามาตรวจสอบแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอย่างพินิจพิจารณา ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากพวกเราช่วยกันพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เราจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันเดินไปคนละทางกับเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ และเราควรจะคัดค้านอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่สอดคล้องกับปรัชญาชาวพุทธ

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และโลกาภิวัตน์ (การทำให้การผลิตและการบริโภคของคนทั่วโลกเป็นแบบเดียวกัน) ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ กำลังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเดี่ยวที่จะนำโลกทั้งโลกไปสู่หายนะภัยครั้งใหญ่ รากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกวางอยู่บนแนวคิดแคบๆเกี่ยวกับความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน โดยมองข้ามความสัมพันธ์ด้านที่ไม่ใช่วัตถุของชีวิต เช่นเรื่อง ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน การมีงานที่ให้ความหมายความพอใจซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน ความสัมพันธ์ด้านคุณค่าทางจิตใจซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

เหตุที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเน้นที่ความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน เพราะพวกนายทุนและผู้สนับสนุนเชื่อว่า มนุษย์เรามีแรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่เห็นแก่ตัว และมีความต้องการทางวัตถุอย่างไม่มีขอบเขต แทนที่พวกนายทุนและผู้สนับสนุนจะส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักควบคุมแรงจูงใจทางธรรมชาติในการไขว่คว้าที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง พวกเขากลับใช้จุดอ่อนของมนุษย์ ที่จะเพิ่มการผลิตและการขายสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มกำไรส่วนตัวของพวกเขา พวกเขาอ้างว่า “มือที่มองไม่เห็น” ในกลไกตลาดที่มีการแข่งขันเสรี จะทำให้กิจกรรมที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยอัตโนมัติ

แต่ระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ถูกครอบโดยบรรษัทข้ามชาติ จริงๆแล้วมีความหมายอย่างไร ? ความหมายหนึ่งของโลกาภิวัตน์คือ “โลกที่มีการบริโภคแบบเดียวกันทั่วโลก” โลกซึ่งคนทุกคนกินอาหารที่มาจากการผลิตในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน ใส่เสื้อผ้าตะวันตกแบบเดียวกัน มีบ้านสมัยใหม่ สร้างวัสดุจากโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน โลกซึ่งทุกประเทศใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน พึ่งระบบเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการจากสำนักงานแม่ของบรรษัทข้ามชาติ ระบบเดียวกัน จัดการศึกษาแบบตะวันตกเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน (ภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาซื้อขายด้วยเงินของทุนนิยม) บริโภคสื่อแบบเดียวกัน โดยสรุปแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์คือระบบที่ทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มันหมายถึงการสร้างวัฒนธรรมเดี่ยว คือวัฒนธรรมทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ หลายศาสนา สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขา ที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดและพัฒนาได้จนถึงวันนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมช่วยให้มนุษย์เราเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปรับตัว การแก้ไขสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น ช่วยให้โลกเกิดความรุ่มรวยและสีสันที่น่าสนใจ

แต่การขยายตัวของระบบโลกาภิวัตน์กำลังทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม (และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต) อย่างรวดเร็ว ระบบโลกาภิวัตน์สร้างเมืองแบบป่าคอนกรีตและถนนหลายช่องแบบเดียวกันทั่วโลก สร้างภูมิสถาปัตย์แบบเดียวกันในทุกมุมของโลก เมืองที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ห้างสะดวกซื้อ ร้านอาหารแบบสำเร็จรูป ป้ายโฆษณาหนังฮอลลีวู๊ด โทรศัพท์มือถือ กางเกงยีนส์ เครื่องสำอาง บุหรี่ เบียร์ เหล้า จากตะวันตก ฯลฯ

ระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เข้ามาแทนที่การผลิตเพื่อเลี้ยงชีพในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของชุมชน ทำให้มนุษย์เหินห่างตัดขาดจากวงจรของธรรมชาติเพิ่มขึ้น การเกษตรแบบพึ่งแรงงานธรรมชาติเพื่อการเลี้ยงชีพ ถูกทำให้เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อขายและส่งออก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการใช้ปุ๋ยและเคมี การวางแผนและการจัดการจากบริษัทส่งออก เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรชนิดที่จะขนส่งไปขายทางไกลในราคาที่แข่งขันกับผู้ผลิตผู้ส่งออกรายอื่นๆในตลาดโลกได้

ในกระบวนการดังกล่าวนี้ เกษตรกรผู้เคยวางแผนเอง ซึ่งเคยอิสระ ทำทุกอย่างด้วยตนเอง รวมทั้งควบคุมการผลิตและชีวิตของตัวเองได้ กลายเป็นลูกหนี้หรือลูกจ้างในระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ที่ต้องขึ้นต่อการใช้ทุน การใช้เครื่องจักรที่กินน้ำมัน การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีมากขึ้น การเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารหลากหลาย เพื่อการบริโภคของชุมชนในท้องถิ่น กลายเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อการส่งออก

ระบบโลกาภิวัตน์ที่สร้างวัฒนธรรมเดี่ยวมาแทนความหลากหลายทางวัฒนธรรม กำลังมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มซีกโลกใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่มากกว่าที่อื่นๆ ในกลุ่มซีกโลกใต้ ประชาชนจำนวนมาก ยังอาศัยในหมู่บ้าน ยังมีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองซึ่งใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างหลากหลาย ยังคงเชื่อมโยงแบบอาศัยโลกธรรมชาติมากกว่าโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่แรงกดดันจากระบบโลกาภิวัตน์กำลังทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของท้องถิ่นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

คนถูกบีบให้อพยพจากชนบทเข้าเมือง และหมู่บ้านเองก็ถูกทำให้เป็นชุมชนแบบชานเมือง ประชาชนที่เคยพึ่งตนเองในระดับชุมชนได้ ต้องกลับมาขึ้นต่อสินค้าอุตสาหกรรมจากโรงงานและร้านค้า ประชาชนผู้เคยภูมิใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง กลับรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนในเมือง และต้องพยายามเลียนแบบคนในเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นที่ประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่า ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น 440 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่าอัตราเพิ่มของประชากรของจีนทั้งประเทศหลายเท่า

การพัฒนาของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไม่เพียงแต่ผลักดันให้เกษตรกรต้องทิ้งถิ่นฐานจากชุมชนชนบทเท่านั้น มันยังทำให้โอกาสในการหางานทำและอำนาจทางการเมืองรวมศูนย์อยู่ในเมือง และทำให้เมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งสื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้า ก็ช่วยสร้างแรงผลักดันทางจิตวิทยาให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปแสวงหาชีวิตที่ “เจริญ” กว่า ซึ่งหมายถึงการได้ทำงานเพื่อมีเงินบริโภคสินค้าสมัยใหม่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากตำแหน่งงานในเมืองจำกัด จึงมีคนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้มีชีวิตที่เจริญขึ้น คนที่อพยพจากชนบทเข้าเมืองส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบในชุมชนแออัด ที่ขยายใหญ่โตขึ้น ทั้งๆที่ระบบโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดผลเสียหายเหล่านี้ แต่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาก็ยังสนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศตามกระแสโลกาภิวัตน์

เกิดอะไรขึ้นเมื่อชีวิตในชนบทล่มสลาย และผู้คนซึ่งเคยพึ่งพาทรัพยากรในท้องถิ่นที่ใกล้เคียงกันได้ต้องมาผูกติดกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก? ขอให้ดูจากตัวอย่างการสร้างที่อยู่อาศัยแบบท้องถิ่น ซึ่งโครงสร้างอาคารต่างๆเคยถูกสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น หินในฝรั่งเศส ดินในแอฟริกาตะวันตก อิฐตากแห้งด้วยแสงแดดในธิเบต ไม้ไผ่และใบจากในฟิลิปปินส์ ฯลฯ เมื่อบ้านแบบท้องถิ่นเหล่านี้ต้องหลีกทางให้กับวิธีการสร้างบ้าน “สมัยใหม่” ในระบบโลกาภิวัตน์ วัสดุท้องถิ่นที่เคยมีเหลือเฟือถูกทอดทิ้งไม่ได้นำมาใช้ แต่ประชาชนต้องแข่งขันกันซื้อวัสดุสมัยใหม่ ปูน เหล็ก ไม้สำเร็จรูป ซึ่งราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรื่องทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับผลผลิตอื่นๆด้วย เมื่อทุกคนเริ่มกินอาหารแบบเดียวกัน ใส่เสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์เหมือนกัน ต้องใช้ชีวิตแบบพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันซึ่งจะหมดไปในวันหนึ่งเหมือนกัน การที่ระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้คนทุกคนต้องไปพึ่งพาแหล่งทรัพยากรเดียวกัน ทำให้บรรษัทข้ามชาติสามารถลงทุนในประเทศต่างๆเพื่อผลิตสินค้าขนานใหญ่มาขายคนทั่วโลกได้โดยมีต้นทุนต่ำลง แต่ผู้บริโภคต้องหาซื้อปัจจัยการดำรงชีพในราคาที่สูงขึ้น

ในสถานการณ์แบบนี้ ประชากรกลุ่มที่อยู่ขั้นต่ำที่สุดของบันไดทางเศรษฐกิจ จะเป็นผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุด ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น มีความโกรธเคือง ความไม่พอใจ และความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้น สถานการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ซึ่งคนที่มีภูมิหลังทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก ถูกดึงดูดให้อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง พวกเขาต้องถูกตัดขาดจากชุมชนเดิมและวัฒนธรรมเดิมของตัวเอง และต้องมาเผชิญกับการแข่งขันหางานและปัจจัยยังชีพอย่างเอาเป็นเอาตายในเมืองใหญ่ ความภาคภูมิใจในตัวเอง และในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองถูกกัดกร่อนไปด้วยแรงผลักดันของค่านิยมใหม่ของการต้องทำตัวเลียนแบบคนเมืองผู้ทันสมัยที่สื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้านำเสนอ

ตัวอย่างที่พวกเขาเลียนแบบ คือรูปลักษณ์ของชนชั้นกลางในเมืองแบบชาวตะวันตก ผิวขาวสะอาด ผมบลอนด์ ตาสีฟ้า ถ้าคุณเป็นชาวนาหรือเป็นคนผิวคล้ำ คุณจะถูกสังคมทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นคนป่าเถื่อน ล้าหลัง มีความด้อยกว่า กระบวนการนี้เองที่ทำให้หญิงทั่วโลกต้องใช้เคมีที่อันตราย เพื่อที่ทำผิวสีและสีผิวของพวกเธอให้คล้ายฝรั่ง คอนแทคเลนส์สีฟ้าขายดีไปทั่วโลกตั้งแต่กรุงเทพ ไนโรบี ไปถึง เม็กซิโกซิตี้ ผู้หญิงเอเชียตาชั้นเดียวจำนวนมากยอมเสียเงินไปรับการผ่าตัดเพื่อทำให้ตาของพวกเธอเป็นตาสองชั้นคล้ายตาของพวกฝรั่ง

พวกสนับสนุนโลกาภิวัตน์อ้างว่าระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบเดียวกันทั่วโลกช่วยทำลายความแตกต่างของประชากรโลก ทำให้เกิดความสมานฉันท์และความเข้าใจกันมากขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น การที่ระบบโลกาภิวัตน์ถอนรากถอนโคนประชาชนจากชุมชนชนบทโดยขายฝันถึงการมีชีวิตแบบทันสมัยของคนเมืองที่พวกเขาไม่อาจบรรลุได้จริง กลับทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มเกิดความโกรธเคืองและความรู้สึกเป็นศัตรูต่อชนชั้นสูงมากขึ้น สังคมเมืองของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่คนต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดและไร้ศีลธรรม ยิ่งทำให้ความแตกต่างของคนมีปัญหารุนแรงขึ้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มุ่งหากำไรแบบไม่เห็นหัวคนจน ปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประสบการณ์ของข้าพเจ้าในลาดัคและราชอาณาจักรภูฐาน ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ในลาดัค ชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมที่เป็นประชากรส่วนน้อยมาอย่างสงบสุขโดยไม่มีความขัดแย้งระดับกลุ่มมาถึง 100 ปี ในภูฐาน ชาวฮินดูส่วนน้อยก็อยู่ร่วมกับชาวพุทธส่วนใหญ่มาได้อย่างสงบสุขมาเป็นระยะเวลายาวนานพอๆกัน แต่ในช่วง 15 ปีหลังนี้ มีปัญหาความขัดแย้งซึ่งถูกกดดันมาจากเศรษฐกิจภายนอก ทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเนื้อกันทั้งใน 2 ภูมิภาคนี้

ปัญหาไม่ได้เกิดจากความแตกต่างของคน 2 กลุ่ม ซึ่งแตกต่างกันมาช้านานแล้ว แต่ปัญหาเกิดจากการที่คนสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจและเอกลักษณ์ของตัวเอง และพยายามจะปกป้องมันไว้ ถ้าระบบโลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะที่ไปลดทอนการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองได้และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ของโลก ความขัดแย้งและความรุนแรงก็มีแต่เพิ่มขึ้น อย่างชนิดที่ไม่อาจคาดหมายได้

ในเมื่อระบบโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมมากขนาดนี้ เหตุใดเล่าชาวพุทธจึงลังเลไม่เข้ามาร่วมการแก้ไขปัญหานี้? ข้าพเจ้าคิดว่า เหตุผลหลักคือ ชาวพุทธไม่ได้ตระหนักว่า คำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องที่หมายถึงโลกของธรรมชาติแท้ๆ ไม่ใช่โลกที่ถูกสร้างแบบเทียมๆ โดยเทคโนโลยี สิ่งที่ท้าทายชาวพุทธคือ จะนำหลักการของพุทธศาสนาที่สอนในยุคสมัยที่เศรษฐกิจสังคมยังเป็นแบบชุมชนท้องถิ่นเล็กๆที่ประชาชนอยู่อย่างเรียบง่ายและมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ไปประยุกต์ใช้ในระบบโลกาภิวัตน์ ที่มีความใหญ่โตสลับซับซ้อน และคนมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันได้อย่างไร

แนวคิดหนึ่งของพุทธศาสนาที่อาจถูกตีความแบบผิดๆได้ง่ายคือหลักว่าด้วยความพึ่งพาซึ่งกันและกัน การเป็นเอกภาพของสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่ง เครือข่ายที่เชื่อมโยงกันอย่างไม่มีสิ่งใดจะอ้างว่าตนอยู่อย่างแยกเป็นอิสระหรือดำรงอยู่อย่างสถิต (หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง) ได้ พวกเราบางคนตกหลุมพรางว่าแนวคิดเรื่องการพึ่งพาซึ่งกันและกันนี้สอดคล้องกับแนวคิด “หมู่บ้านโลก” และ “โลกไร้พรมแดน” ของการค้าเสรี ถ้อยคำหรูๆเช่น “สมานฉันท์” “การผนวกเข้าด้วยกัน” “การสามัคคีกัน” ไม่ควรทำให้เราเชื่อว่า ระบบโลกาภิวัตน์ทำให้เราพึ่งพากันและกัน หรือพึ่งพาโลกธรรมชาติมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้เราต้องพึ่งพาโครงสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่เทคโนโลยี และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพิ่มขึ้น นี่ไม่ใช่การพึ่งพากันและกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ได้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าเสนอไว้แต่อย่างใด

หลักคิดของศาสนาพุทธเรื่อง ความเป็นอนิจจัง (Impermanence) ก็อาจจะถูกตีความแบบบิดเบือนได้ นอกเสียจากเราจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างกระบวนการของชีวิตและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก คำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความเป็นอนิจจังของโลกธรรมชาติ สอนให้เรายอมรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในโลกแห่งชีวิต วงจรของชีวิตและความตาย ความเป็นอนิจจังของทุกชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงที่ระบบโลกาภิวัตน์สร้างขึ้นนั้น กลับสร้างอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธความเป็นอนิจจังของธรรมชาติ

 

โครงการขนาดยักษ์เช่น โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน และทางด่วน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรายอมรับ หรือการตกแต่งพันธุกรรมของยีนของเทคโนโลยีชีวภาพก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์มาจากโลกทัศน์ของนายทุนแบบที่ต้องการเป็นนายของธรรมชาติ โลกทัศน์ที่มองว่าชีวิตเป็นสิ่งที่สถิต (หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง) แบ่งเป็นส่วนๆ และพวกนายทุนที่มีอำนาจครอบโลกสามารถจะทำอย่างไรก็ได้ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของวัฒนธรรมผู้บริโภคที่ขึ้นต่อเทคโนโลยี

แนวคิดของศาสนาพุทธอีก 2 ข้อ ที่ถูกตีความอย่างผิดๆเพื่อไปสนับสนุนความเมินเฉยต่อปัญหาทางสังคม คือ เรื่องกรรม และยาพิษ (กิเลส) 3 อย่าง – ความโลภ เกลียด หลง

มีแนวโน้มที่จะใช้หลักกฎแห่งกรรมไปอธิบายช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนรวยและคนจนว่า การที่คนบางคนรวยเป็นเพราะเขาเคยทำความดีมาในชาติก่อน แต่เมื่อเราตรวจสอบให้ลึกลงไปเราจะพบว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม มีสาเหตุมาจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เปิดช่องให้คนบางคนรวยขึ้นจากความทุกข์ยากของคนๆอื่น มากกว่าเป็นเรื่องกรรม (การกระทำ)ในชาติก่อนซึ่งพิสูจน์ไม่ได้

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเปิดช่องให้คนบางคนที่มีทุน มีความรู้และโอกาสมากกว่า ร่ำรวยได้มากกว่าคนอื่นๆ คนร่ำรวยที่อยู่ในเมืองและใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก มักขาดปัญญาและความเมตตาพอที่จะมองและเข้าใจสภาพความเป็นจริงของโลกที่ว่า มีคนจำนวนมากที่มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น อดอยาก คนรวยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยบริโภคทรัพยากรของโลกมากกว่าคนทั่วไปถึงสิบเท่า และการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินความพอเพียงเหล่านั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อสรรพสิ่งในโลกอย่างที่ไม่อาจคำนวณค่าได้

คนร่ำรวยและคนชั้นกลางทั้งในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา ต้องใช้ปัญญาและความกล้าหาญในการไปวิเคราะห์ให้เห็นถึงความจริงว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้สังคมแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เกิดความไม่เสมอภาค และการทำลายล้างทั้งสภาพแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม ที่เป็นผลเสียต่อชาวโลกทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหมด ที่จะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจชนิดนี้

ยาพิษหรือกิเลสทั้ง 3 – ความโลภ โกรธ หลง มีโอกาสเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ทุกคนมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป สังคมบางสังคมพยายามลดทอน 3 สิ่งนี้ แต่บางสังคมกลับส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ วัฒนธรรมบริโภคนิยมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเป็นตัวการสำคัญในการฟูมฟัก ความโลภ โกรธ หลง ทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับสังคม บรรษัทต่างๆใช้เงินปีละ 450,000ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในการโฆษณาให้ประชาชนทั่วโลกรู้สึกว่าจำเป็นต้องบริโภคสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยรู้จักเลย เช่น โคคาโคล่า และตุ๊กตาพลาสติกแรมโบ้ถือปืนกลมือ

ในสังคมยุคชุมชนพึ่งตนเอง ประชาชนมีวัฒนธรรมการกินอยู่แบบพอเพียง โดยไม่มีปัญหาความโลภอยากได้สินค้าใหม่ๆแปลกๆที่จริงๆแล้วชีวิตพวกเขาสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้มัน ดังนั้น เราจึงควรตระหนักว่า ความโลภในเรื่องสินค้าต่างๆนั้น ส่วนใหญ่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นผู้สร้างขึ้น หรือกระตุ้นให้มนุษย์หลงใหลในเรื่องนี้มากขึ้น กระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่หลั่งไหลอย่างเชี่ยวกรากกรากเป็นปราการที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องมนุษย์ควรลดละโลภ โกรธ หลง ที่มุ่งให้มนุษย์พ้นทุกข์และสร้างสังคมที่มีความสุขได้

ศาสนาพุทธสามารถช่วยเราในสถานะที่ยากลำบากได้ ด้วยการสนับสนุนให้เรามีเมตตาและใช้วิธีการแบบสงบสันติต่อทั้งตัวเราเองและผู้อื่น หากเราเข้าใจว่า ทั้งปัญหาสังคมแตกแยกปัญหามลภาวะ ปัญหาทางจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากตัวระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ศาสนาพุทธจะช่วยให้เราพินิจพิจารณาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกและความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้อย่างมีสติ

คำสอนของศาสนาพุทธจะช่วยให้เราเข้าใจว่า วิถีชีวิตของเราในโลกทุนนิยมสมัยใหม่จะมีผลกระทบต่อคนอื่นและสภาพแวดล้อมของโลกอย่างสลับซับซ้อนได้อย่างไรและสนับสนุนให้เรามีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในเรื่องของความเป็นไปของชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง

ต่อเมื่อมนุษย์ตระหนักว่า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่สร้างปัญหาความทุกข์ยากให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เราจึงจะสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะช่วยปลดปล่อยพวกเราทั้งหมด ออกจากโครงสร้างที่เลวร้ายและต่อต้านชีวิต ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

ศาสนาพุทธ ที่มีแนวทางในการมองชีวิตและสังคมอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวมจะช่วยให้เรามองเห็นว่า อาการของปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมทั้งหลายในโลกนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและกัน และช่วยให้เราเข้าใจว่า วิกฤติต่างๆที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มีรากเหง้ามาจากการบงการโดยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ความเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนของปัญหาต่างๆ จะช่วยให้เราไม่ต้องสูญเสียพลังงานของเราในการตามแก้เพียงระดับอาการเฉพาะหน้าของวิกฤติ และช่วยให้เราเพ่งไปที่การแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของมันอย่างตรงเป้าได้มากกว่า

คนที่มองปรากฏการณ์และปัญหาต่างๆอย่างแยกส่วนแบบผิวเผิน จะมองเห็นว่าปัญหาความรุนแรงระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ มลภาวะในอากาศและน้ำ ปัญหาครอบครัวแตกแยก และปัญหาความแตกสลายทางวัฒนธรรม เป็นปัญหาคนละปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่คนที่มองได้อย่างเป็นระบบองค์รวม จะมองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆมากมาย ที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจจะทำให้เรารู้สึกท้อถอยได้ในบางครั้ง แต่การเข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เป็นปัญหากลุ่มเดียวกัน จะทำให้เราสามารถรวมพลังกันในการหายุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหารากเหง้าได้ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพมากกว่า การไปไล่ตามแก้ไขตามอาการของปัญหาทีละปัญหา

ในระดับโครงสร้าง ปัญหาพื้นฐานคือขนาดของระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีผลต่อความสัมพันธ์และวิธีคิดของคน การที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมีขนาดที่แผ่ขยายออกไปใหญ่โตมาก เป็นตัวการที่ทำให้เรามองไม่เห็นว่าการกระทำของเราไปมีผลกระทบต่อคนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตรอย่างไร เช่น ผู้ถือหุ้นหรือคนที่ทำงานในสำนักงานใหญ่ในกองทุนของบรรษัทข้ามชาติที่ไปลงทุนตั้งสาขาตั้งโรงงานและค้าขายเพื่อหากำไรในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้รับรู้หรือไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการขูดรีดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ขูดรีดแรงงานและผู้บริโภค ที่เกิดขึ้นในที่ที่ห่างไกลออกไป และพวกเขามองเห็นแต่เงินปันผลหรือกำไรที่พวกเขาจะได้รับเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่แผ่ขยายใหญ่โตมาก ทำให้เราต้องมีชีวิตอยู่ในความโง่เขลา ขาดปัญญา และขาดความมีเมตตาต่อเพื่อมนุษย์

ในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก คนในชุมชนยังสามารถมองเห็นผลของการกระทำของเขาและมีความรู้สึกรับผิดชอบได้มากกว่า โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก ช่วยจำกัดไม่ให้คนๆหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป แม้เขาจะเป็นผู้นำชุมชน เป็นนักธุรกิจคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อคนนับร้อยหรือนับพันในชุมชน แต่เขาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่เขารู้สึกได้และสมาชิกคนอื่นๆรู้สึกได้

แต่ผู้นำของประเทศขนาดใหญ่หรือผู้บริหารของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ผู้มีอำนาจเหนือคนหลายสิบหลายร้อยล้านคน ที่เขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสโดยตรง จะมีอำนาจและใช้อำนาจในการบริหารจัดการที่ต่างออกไปมาก เขาจะทำเพื่อหวังผลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ระยะสั้น) ของเขาและพรรคพวก มากกว่าจะคำนึกถึงผลกระทบต่อผู้คนซึ่งเขาไม่เห็นหน้าและไม่ได้สัมผัสได้โดยตรง

ขนาดของประเทศและขนาดของบริษัทขยายใหญ่โตมาก จนผู้นำต้องตัดสินใจตามหลักการทางเศรษฐกิจ/ธุรกิจ ในนามของความเจริญเติบโต โดยไม่สนใจต่อผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้นกับสมาชิกแต่ละคนในสังคม และโลกสิ่งมีชีวิตอื่นแต่อย่างใด และโดยละเลยหลักการของศาสนาและหลักการของธรรมชาติที่ว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน และควรจะเคารพและเอื้ออาทรต่อกันและกัน

ในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก คนจะตระหนักถึงกฎแห่งการพึ่งพากันและกัน และกฎความเป็นอนิจจังของสิ่งมีชีวิต (ตามคำสอนของศาสนาพุทธ) ได้ง่ายกว่าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ใหญ่โตมาก คนในชุมชนขนาดเล็ก จะเห็นผลการกระทำของคนแต่ละคนได้ง่ายและรู้สึกรับผิดชอบต่อผลแห่งการกระทำของเขาโดยตรง และทำให้เขาปรับตัวให้เข้ากับพลวัตรของสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนในระบบเศรษฐกิจสังคมขนาดใหญ่มากและเนื่องจากในชุมชนขนาดเล็ก ผลของการกระทำของสมาชิกคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะเห็นได้ชัดกว่า ดังนั้นการตัดสินใจใดๆของคนในชุมชนจึงมีแนวโน้มที่จะต้องใช้ปัญญาและความมีเมตตามากกว่าในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ภาระหน้าที่ของเราในฐานะชาวพุทธคือ เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายใหญ่โตจนเป็นตัวสร้างปัญหานี้ เพื่อรื้อฟื้นและสร้างระบบโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเองได้ของชุมชนขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ เพื่อจะทำให้มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตบนพื้นฐานของคำสอนของศาสนาพุทธในเรื่องหลักแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และหลักความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งได้

แม้ภาระหน้าที่นี้จะเป็นงานที่ยากลำบาก แต่ความจริงแล้ว การที่มนุษย์เราพยายามแข่งขันกันเพื่อขยายขนาดของระบบโลกาภิวัตน์ไปอย่างไม่มีขอบเขตนั้น เป็นเรื่องที่เป็นได้ยากกว่า ความใฝ่ฝันของระบบทุนนิยมโลกที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัด เป็นความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงไปได้ เพราะว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกำลังทำลายความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากฐานที่มนุษย์เราต้องพึ่งพา นั่นหมายถึงระบบทุนนิยมโลกที่เน้นการเติบโตเพื่อกำไรของนายทุนส่วนน้อย กำลังทำลายตัวระบบเองและทำลายมนุษยชาติทั้งมวล

เหตุผลสำคัญที่เราควรเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมให้มีขนาดเล็กลงคือ เพื่อที่เราจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างแท้จริง ชุมชนขนาดย่อมแต่ละชุมชนจะมีลักษณะเฉพาะในเรื่องสภาพแวดล้อม ผู้คน วัฒนธรรม ของตนเอง ชุมชนขนาดย่อมที่พึ่งตนเองได้ จะทำให้เกิดระบบการบริหารและตัดสินใจที่ยืดหยุ่นตามความเหมาะสมได้มากกว่า ไม่ต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดมากและสมาชิกในชุมชนจะมีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ มากกว่าในระบบเศรษฐกิจสังคมขนาดใหญ่

ในระบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งประชาชนถูกปกครองโดยรัฐบาลกลางที่เข้มงวดตายตัว และโดยระบบตลาดที่ผันผวนได้ง่าย ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนเล็กๆที่ไร้อำนาจและยอมจำนนตามแต่รัฐบาลและระบบตลาดจะนำพาไป แต่ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีการกระจายอำนาจและการจัดการทรัพยากรให้ชุมชนขนาดย่อมพึ่งตนเองได้ ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการบริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะเรื่องได้อย่างเอาการเอางานมากกว่า

การกระจายอำนาจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนขนาดย่อม ผ่านองค์กรเช่น สภาชุมชน สหกรณ์ องค์กรชุมชนประเภทต่างๆจะก่อให้เกิดผลดีทางด้านสภาพแวดล้อม สังคม รวมทั้งทางด้านจริยธรรมได้มากกว่าระบบเศรษฐกิจโลกที่รวมศูนย์อำนาจที่รัฐบาลและบรรษัทขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลทั่วโลกก็ยังคงดำเนินนโยบายส่งเสริมระบบโลกาภิวัตน์ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจ โดยอ้างว่า เพื่อให้โลกเป็น “หนึ่งเดียวกัน” และ เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกัน แบบพึ่งพากันและกันเพิ่มขึ้น แต่ความจริงคือ เป็นการถูกครอบงำโดยศูนย์กลาง และการต้องพึ่งพาระบบทุน เทคโนโลยีและตลาดที่นายทุนส่วนน้อยควบคุม

ภาระหน้าที่ขั้นแรกของชาวพุทธคือ การให้การศึกษาตัวเองและผู้อื่น เพื่อที่จะไม่หลงกลจนไปสับสนกับการตีความคำว่า “ เป็นหนึ่งเดียวกัน” และ “พึ่งพากันและกัน” โดยระบบโลกาภิวัตน์ซึ่งแตกต่างจากการตีความศาสนาพุทธอย่างขาวกับดำ ระบบโลกาภิวัตน์เป็นระบบที่ส่งเสริมความโลภและความรุนแรง ในขณะที่ศาสนาพุทธส่งเสริมการละความโลภและสนับสนุนสันติวิธี ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกัน ต่อเมื่อเราเข้าใจความแตกต่างของ 2 แนวคิดนี้ เราจึงจะสามารถร่วมมือกับคนอื่นๆในการที่จะผลักดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งรวมทั้งการรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับระหว่างประเทศด้วย เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ในปัจจุบันมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงระดับระหว่างประเทศที่ควรทำคือ รัฐบาลประเทศต่างๆต้องจัดการประชุมเพื่อเจรจาเรื่องการค้าระหว่างประเทศกันใหม่อย่างเปิดเผย โดยคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ แทนการประชุมตกลงกันอย่างลับๆ ที่เอื้อประโยชน์บรรษัทข้ามชาติ การที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้ เราต้องช่วยกันทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าในประเทศต่างๆ เกิดความตระหนักถึงสภาพสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและการทำลายล้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก เพื่อที่ประชาชนจะได้ตื่นตัวไปผลักดันให้รัฐบาลในประเทศของตนเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ จากการลงทุนพึ่งการค้าระหว่างประเทศมากไปสู่การพัฒนาแบบพึ่งตนเองในระดับประเทศ มีการกระจายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และอย่างคำนึงถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้น

การจะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ ดูเป็นงานที่ยากลำบากอย่างแสนสาหัส พวกเราหลายคนเริ่มคิดว่า เราคงไม่มีแรงมากพอที่จะไปผลักดันผู้นำทางการเมืองได้ และหลายคนเริ่มท้อแท้ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีความหมาย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องจำไว้ว่า ในระยะยาวแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครเลย แม้แต่ผู้นำทางการเมืองและผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติ ที่วันนี้เป็นผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ก็ตาม

เพราะนอกจากโลกาภิวัตน์จะทำลายความสมดุลของสภาพแวดล้อม ทำลายความสมดุล ความมีเสถียรภาพของประเทศ ชุมชนและชีวิตทั้งหลายแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติผู้โยกย้ายทุน และเลี่ยงภาษีได้เก่ง ยังทำให้รัฐบาลต่างๆมีอำนาจลดลง และเก็บภาษีจากบรรษัทได้ลดลง ซึ่งมีผลให้ผู้นำทางการเมืองในประเทศต่างๆมีอำนาจลดลงด้วย ระบบโลกาภิวัตน์ซึ่งพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีสูง ยังทำให้แรงงานทุกระดับ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของบรรษัท เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องการมีงานทำเพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้นเราจึงต้องระดมกำลังกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ จากระบบรวมศูนย์อำนาจของทุนขนาดใหญ่ เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุนระหว่างประเทศ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นการผลิตอาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นๆ เป็นกิจกรรมที่วางแผนและบริหารจัดการกันในระดับชาติและระดับชุมชนเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ เริ่มทำได้บางส่วนในบางประเทศและบางชุมชน เห็นได้ชัดว่ามีผลดีในการทำให้เกิดการจ้างงานและระบบตลาดที่เสรีและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และนำภาษีไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมได้มากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ถูกทางและมีความเป็นไปได้

ในฐานะชาวพุทธ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของระบบทุนนิยมโลกที่มีลักษณะทำลายล้าง เรามีทางเลือกน้อยมาก นอกจากต้องตัดสินใจเข้าไปผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ศาสนาพุทธช่วยให้เรามีทั้งพันธกิจและเครื่องมือ ที่จะท้าทายโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ซึ่งกำลังสร้างความทุกข์ยากไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง หากเราไปสนับสนุนโครงสร้างของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า และอยู่ตรงกันข้ามกับชีวิต เราคงไม่สามารถอ้างว่าเราเป็นชาวพุทธได้

 

 

ถ้าคุณคิดเพียงว่า คุณมาเพื่อที่จะช่วยพวกเรา คุณกลับไปเมืองของคุณจะดีกว่า

แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณมาเพื่อที่จะช่วยตัวคุณเองด้วย ถ้าอย่างนั้น เราก็มาทำงานร่วมกันได้”

ผู้หญิงชาวพื้นเมือง (อบอริจิน)ในออสเตรเลีย

 

 

 

 

1 แปลเรียบเรียงและขยายความ จาก Helena Norberg – Hodge,Buddhism In The Global Economy ตีพิมพ์ ในนิตยสาร Resurgence April 1997 ผู้เขียนเป็นครู นักคิดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวีเดน ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองลาดัค ชุมชนเกษตรแบบดั้งเดิมในอินเดียด้านติดกับธิเบตมากว่า 20 ปี

 

ทางออกของปัญหา:ทางรอดของประชาชนไทยคือระบบสหกรณ์คู่ไปกับเศรษฐกิจพอเพียง


บทความที่เขียนใน นสพ. ผู้จัดการรายสัปดาห์ 5 ตุลาคม 2550 17:12 น.
       ระบบทุนนิยมแบบที่รัฐบาลทุกรัฐบาลและพรรคใหญ่ทุกพรรคสนับสนุนอยู่จะไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมได้เพราะเป็นทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารของบริษัททุนข้ามชาติ การพัฒนาแนวนี้ จะทำให้เกิดการเอาเปรียบทั้งทรัพยากรและคนในประเทศ ความไม่สมดุลและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างกลุ่มคนไทยมากขึ้น ทางรอดของประชาชนไทย คือต้องพัฒนาระบบสหกรณ์ ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจพอเพียงหรือเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองในระดับประเทศเป็นสัดส่วนสูงขึ้น
       
        ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรจัดตั้งทางเศรษฐกิจแบบประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันและบริหารแบบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของสมาชิกโดยรวมและชุมชนนั้น เป็นทางเลือกที่สามที่ดีกว่าทั้งทุนนิยมล้วนๆ และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางล้วนๆ รวมทั้งระบบรัฐวิสาหกิจ
       
       ระบบสหกรณ์ต่างจากและดีกว่าทุนนิยม
ตรงที่เป็นระบบที่ตัดพ่อค้าคนกลางและกำไรของนายทุนเอกชนออกไป พนักงานผู้ผลิต ผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
       
       ระบบสหกรณ์ในยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ ฯลฯ สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจแบบเครือข่ายขนาดใหญ่และมีสัดส่วนในตลาดที่สำคัญกว่าของไทยหลายเท่า แต่คนไทยถูกครอบงำด้วยระบบการศึกษาและข้อมูลข่าวสารจากบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตกให้เชื่อในแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมด้านเดียว และมองข้ามระบบสหกรณ์ซึ่งในประเทศไทยถูกตีความอย่างแคบๆทำให้เป็นองค์กรเล็กๆ เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตรที่มีข้อจำกัดเป็นเพียงหน่วยงานเพื่อการกู้ยืมเงินอยู่ภายใต้ระบบราชการและกลุ่มนายธนาคารที่ไม่ได้เปิดช่องให้สหกรณ์ไทยเติบโตเป็นธนาคาร เป็นเครือข่ายร้านค้าปลีก เป็นเจ้าของโรงงานธุรกิจขนาดใหญ่ ฯลฯ เหมือนสหกรณ์ในประเทศอื่น
       
       ใน ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ประชากร1 ใน 2 เป็นสมาชิกสหกรณ์ ประชาชนหรือครัวเรือนในแคนาดา นอร์เวย์ ญี่ปุ่น 1 ใน 3 เป็นสมาชิกสหกรณ์ ประชากรในเยอรมนี สหรัฐฯ 1 ใน 4 เป็นสมาชิกสหกรณ์
       
       ประเทศที่ขบวนการสหกรณ์ก้าวหน้า มีสหกรณ์สามารถเข้าไปแทนที่บริษัทธุรกิจเอกชนได้ แทบทุกสาขาทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์คนงาน, สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์อเนกประสงค์ที่มีเครือข่ายกว้างขวางระดับเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ สหกรณ์เป็นเจ้าของธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทและโรงงานขนาดใหญ่ เครือข่ายร้านค้า มีธุรกิจระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีสหกรณ์บุคคลากรด้านการแพทย์ที่มีโรงพยาบาลและเครือข่ายคลินิก สหกรณ์ที่อยู่อาศัย สหกรณ์บางแห่งมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัยของตนเอง สอนทั้งเรื่องการบริหารจัดการสหกรณ์ และวิชาอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์ให้บริการด้านน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ สหกรณ์ให้บริการด้านอื่นๆอีกมากมาย ฯลฯ
       
       สหกรณ์เกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์ผู้บริโภคหรือสหกรณ์ค้าปลีก
ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สหกรณ์มีสัดส่วนการตลาดค่อนข้างสำคัญโดยเฉพาะในภาคเกษตร ภาคการค้าปลีก ธนาคารและการประกันภัย ในประเทศลาตินอเมริกา และเอเชียบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหกรณ์ทั้ง 3 ประเภทนี้มีบทบาทและสัดส่วนในการตลาดที่สูงกว่าสหกรณ์ของไทยมาก รวมทั้งในยุโรปและลาตินอเมริกายังมีสหกรณ์ที่พนักงาน, คนงานเป็นเจ้าของโรงงานหรือธุรกิจเอง ซึ่งประชาชนไทยยังไม่ค่อยรู้จักหรือยังไม่ฝันถึง
       
        ระบบทุนนิยมสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สร้างปัญหาการทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อม และทำลายวัฒนธรรมค่านิยมดั้งเดิมมาก ทำให้คนบางส่วนเริ่มคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยแตะเบรกไม่ให้เราพัฒนาทุนนิยมแบบสุดโต่ง คือโลภ และเป็นหนี้มากเกินไปได้ แต่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเชิงความคิดค่านิยมที่ตีความได้ต่างๆนานา
       
       ระบบทุนนิยมกรรมสิทธิ์ของเอกชน เพื่อหากำไรสูงสุดในตลาด)นั้นถึงจะมีจุดแข็งในแง่ของการส่งเสริมแรงจูงใจและการแข่งขันแต่ก็มีจุดอ่อนในการที่ทุนต้องมุ่งหากำไร และขยายการลงทุนตลอดเวลา เงินทุนในระบบทุนนิยมโลกนั้นเหมือนเป็นสัตว์ร้ายที่นั่งนอนอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้กินดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือกำไรไม่ได้ ดังนั้นระบบทุนนิยม จึงสร้างปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสภาพแวดล้อม การรวมศูนย์ความมั่งคั่งในมือนายทุนกลุ่มน้อย และการเพิ่มความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความเครียดและความทุกข์มากขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยพื้นฐาน
       
        ถ้าจะให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ผลจริง เราต้องปฎิรูประบบเศรษฐกิจให้ต่างไปจากระบบทุนนิยม โดยการเปลี่ยนระบบการผลิต การจัดจำหน่าย และให้บริการในเศรษฐกิจหลายสาขาให้เป็นระบบสหกรณ์ ซึ่งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะสมาชิกทุกคนได้เป็นเจ้าของทุนร่วมกัน บริหารอย่างเป็นประชาธิปไตย และแบ่งปันผลผลิตและบริการอย่างเป็นธรรมและเอื้อเฟื้อต่อชุมชนและสังคม
       
       ระบบสหกรณ์จะลดการกระจุกตัวของทุน กระจายทรัพย์สินและรายได้ ให้เป็นธรรมขึ้น ทำให้คนจนส่วนใหญ่ได้มีงานทำ มีอาหาร ที่อยู่อาศัย การสาธารณสุข ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ พอเพียงต่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือ สหกรณ์มุ่งประโยชน์สมาชิกและชุมชนส่วนรวมมากกว่าเพียงเพื่อผลกำไรของผู้ถือหุ้น สหกรณ์ที่พัฒนาแล้วในญี่ปุ่น ยุโรป คำนึงเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และสินค้าอื่น และความยั่งยืนของธรรมชาติสภาพแวดล้อมมากกว่าบริษัทในระบบทุนนิยม
       
       นี่คือทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วในประเทศอื่นว่าเป็นไปได้จริง หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนไทยต้องช่วยกันศึกษา เผยแพร่และผลักดันให้เกิดขบวนการสหกรณ์ที่เข้มแข็ง เราจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ก้าวหน้ากว่าระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารประเทศทุนนิยมศูนย์กลางในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
       
       (ผู้สนใจอาจอ่านเพิ่มเติมได้จาก วิทยากร เชียงกูล หยุดวิกฤติซ้ำซาก ด้วยระบบสหกรณ์ บ้านพระอาทิตย์ 2550)
 


 *งานชินนี้เป็นรายงานการวิจัยของอาจารย์วิทยากร เชียงกูล  เกี่ยวกับปัญหาความยากจนของคนไทย*

[ABSTRACT]

SUSTAINABLE   APROACH  FOR  SOLVING  PROBLEMS  OF THE POOR

Mr.Witayakorn  Chiengkul 

      The main stream economists defining  The poor as those who has income below income poverty line [based on human basic minimum needs] is  too narrow and led to early-presumed conclusion that since Thailand  has implemented the pro-growth market oriented development plan in 1961 up  to 1996, percentage of the poor has reduced progressively.  So the solutions of the poverty problem in their view should be to promote more pro-growth  market oriented investment which is misleading

      In reality, this kind of pro-growth development policy in the already unjust Thai socio-economic structure led to increasing income gap among the 20%  richest and the 80% poorest group and increse number and percentage of the majority poor who do not only has relatively less wealth and purchasing power but has absolutely less natural and social capital or access to self sufficient  food  production as well.

      To find more  sustainable solution, we need to have broader perception of poverty causes and  solutions than the mainstream pro-growth  market oriented view.

      Alternative  view claim that poverty  is  caused  by Thai political, economic and social structure and pro-growth market oriented policy that worsen the environment, disitibution of wealth, income, and other social  opportunitites among the peoples.

      The poor should be measured by many combined faxtors rather than the earnd cash. For  those farmers who still have high  proportion of self-sufficient  farming [have their  own  rice as principal food]  they  are in need of cash less than more marketed oriented farmers.  Measurement of the non-poor [VS. poor] are such as proper house, occupation or the mode of earning a living, mode of   living, ability to join community activities and stability in family institution.

      The main causes that make some one poorer are the lack of land and capital due to the unequal  distribution of new clearance land by the central and local  authority and many  cases by new public  projects such  as large  reservoirs and dams that make peasants lost their land without fair compensation.

      Poverty at village level involve geo-economic position of the will age, water  supply, access to natural  resources, market and other communications, the level of economic and social capital  accumulation, access to earning in non-agricultural sector.

      Therefore, we have to view “poverty” as the structural poverty in term of deprivation of economic, political and social  rights and opportunities.

      To  find the solutions for eradication of poverty, one need a radical structural economic and social reforms for fairer distribution of wealth, income, education and other social  access as well as balanced and sustainable social development policy. 

 

บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก(ดัดแปลงจากปาฐกถาศรีบูรพา ครั้งที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2550)


บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก

(ดัดแปลงจากปาฐกถาศรีบูรพา ครั้งที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2550) 

      สถานการณ์โลก

      โลกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่การทดลอง สร้างสังคมนิยมของหลายประเทศเช่นโซเวียตรุสเซีย ยุโรปตะวันออกล้มเหลว และประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมปรับตัวได้ดีเกินคาด โลกได้ก้าวสู่ยุคหลังสงครามเย็นซึ่งเป็นโลกยุคเผด็จการทุนนิยมที่ซ่อนรูปและหลอกลวงได้แนบเนียนยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

      โลกทุนนิยมสมัยใหม่เป็นเผด็จการในแง่ของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ และทางสื่อสารมวลชนของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากสหรัฐและประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเพียงไม่กี่บรรษัท บรรษัทข้ามชาติหลายแห่งมียอดขายสินค้าและบริการสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยด้วยซ้ำ

      บรรษัทข้ามชาติมีทั้งอำนาจผลประโยชน์ และมนต์ขลังที่ทำให้รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ในโลกโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ต้องเปิดเสรีด้านการลงทุนและการค้าให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามากอบโกยล้างผลาญทรัพยากร ครอบงำวิถีชีวิต หรือแม้แต่การคิดของคนไทย โดยที่คนไทยซึ่งมองฝรั่งในแง่ดีเพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้น มักไม่รู้ตัว และคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากการเปิดการลงทุนและการค้าเสรีในแง่ที่ว่าทำให้ประชาชนได้มีโอกาสบริโภคสินค้าและบริการต่างๆอย่างหลากหลายและตื่นตาตื่นใจในราคาที่คนฐานะปานกลางโดยทั่วไปสามารถซื้อหาได้

      ประชาชนไทยส่วนใหญ่ถูกนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อบอกเล่าซ้ำซากทำให้เชื่อว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์หรือโลกของความก้าวหน้าสมัยใหม่ที่ทำให้พวกเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะได้บริโภคสินค้าและบริการด้วยความสะดวกสบายรวดเร็ว อย่างชนิดที่คนรุ่นพ่อแม่ของเรา ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ขณะที่คนงานที่มาจากชนบทตื่นเต้นกับห้างสรรพสินค้า และสถานบันเทิงต่างๆในเมืองใหญ่ คนชั้นกลางก็คิดว่าเราช่างโชคดี ที่สามารถกดปุ่มเพื่อชมข่าวสารจาก CNN ดูหนังจาก HBO ซีนีแมกซ์ วอเนอร์บราเธอร์ และอื่นๆ รวมทั้ง อ่านหนังสือพิมพ์ TIME, FORTUNE และอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายและสะดวกสบายมาก โดยที่เราไม่ค่อยรู้ตัวว่าในบรรดาชื่อทั้งหมดนี้ และยังมีสื่อชื่ออื่นๆอีก ล้วนเป็นทรัพย์สินของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงบริษัทเดียวคือ TIME WARNER

      เมื่อพิจารณาถึงสื่อของโลกทั้งโลกในปัจจุบัน เราจะพบว่าบริการสื่อสารมวลชน 70% ของทั้งโลกเป็นเจ้าของและบริหารโดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพียง 8 บริษัทเท่านั้น 4 สื่อที่เราได้ฟังและได้เห็นร้อยพันสื่อที่ดูหลากหลายนั้นแท้จริงเป็นแค่ภาพลวงตา

      จริงๆแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ในโลก ในประเทศที่รัฐบาลเปิดเสรีการลงทุนและการค้า ล้วนถูกครอบงำโดยคนตะวันตกเพียงกลุ่มเดียวพวกเขา มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรจะหากำไรจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ป้อนข้อมูลข่าวสาร ศิลปวัฒนธรรม ให้ประชาชนทั่วโลกทางโทรทัศน์ การโฆษณาสินค้าและสื่ออื่นๆเท่านั้น พวกเขายังเป็นผู้กำหนดว่า เราควรจะคิด ควรมีค่านิยมอย่างไรด้วย

      ประเด็นสำคัญที่พวกเขาทำให้พวกเราคิดและเชื่อตามวัฒนธรรมของพวกบรรษัทยักษ์ใหญ่โดยไม่รู้ตัว คือที่การที่พวกเขากล่อมเกลาให้พวกเราคิดและมีค่านิยมว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือการหาเงินมาเพื่อจับจ่าย ได้บริโภค สินค้าและบริการตามแบบตะวันตกให้ได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ ใครที่ทำไม่ได้หรือทำได้น้อย เป็นพวกที่ล้มเหลวหรือล้าหลัง

      ทั้งที่ความเป็นจริง โลกทุนนิยมกวาดต้อนให้ประชาชนยุคปัจจุบันต้องทำงานหนัก มีความเครียดและมีความทุกข์มากกว่าคนรุ่นปู่ย่าตาทวดของเรา เราถูกหลอกให้เชื่อว่า ถ้าเราหาเงินได้มากขึ้น เราจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ สื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เคลื่อนไหวได้มีมนต์สะกดที่ทำให้เราคิดว่าเรากำลังเสพข่าวสารความบันเทิง แบบบริสุทธิ์ สนุกสนาน โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวว่าเรากำลังถูกครอบงำล้างสมอง ทีละน้อย

      และเนื่องจากคนส่วนใหญ่ทั้งโลกหรือทั้งประเทศ คิดและทำเหมือนๆกัน เราจึงมักจะเชื่อว่าสิ่งที่เราถูกกล่อมเกลาชักนำให้คิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกมากกว่า จะตั้งข้อสงสัย ทั้งๆที่ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมดั้งเดิมของเราถูกทำลายให้เห็นๆ โลกร้อนขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น อากาศ น้ำ อาหารเป็นพิษมากขึ้น วัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสันติเปลี่ยนเป็นการแก่งแย่งแข่งขัน การเอาเปรียบ การฉ้อโกง อาชญากรรมและความรุนแรงรูปแบบต่างๆมากขึ้น และชีวิตเรา เคร่งเครียด ซึมเศร้า หดหู่ มากขึ้น

      ในยุคปัจจุบันที่สื่อในประเทศของเราถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่และโดยรัฐบาล ที่คิดแบบเดียวกับพวกนายทุนข้ามชาติ ประเทศเราต้องการผู้มีการศึกษาและผู้นำ5ที่มีจิตใจรักความถูกต้องและความยุติธรรม ผู้สนใจติดตามวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อนได้อย่างวิพากษ์วิจารณ์และมีจิตสำนึกที่หาทางออกเพื่อส่วนรวม เราจึงจะสามารถฝ่าฟันแหวกวงล้อม หรือกับดักของบริษัทนายทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาครอบงำประชาชนส่วนใหญ่อย่างแนบเนียนโดยใส่หน้ากากสวยๆว่า โลกาภิวัตน์บ้าง ความเจริญเติบโตเศรษฐกิจบ้าง ความก้าวหน้าทันสมัยบ้างได้

      หากผู้มีการศึกษาและผู้นำทางสังคมเช่น นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักวิชาชีพ ในยุคปัจจุบันไม่ได้ยึดกุมหลักการของผู้มีจรรยาบรรณ ในการแสวงหาและเผยแพร่ ความจริงและความงาม ที่แท้ไว้ให้มั่นเหมือนอย่างศรีบูรพาและคณะของพวกเขา นักเขียนนักหนังสือพิมพ์และชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาอื่นๆในยุคปัจจุบันก็จะกลายเป็นเพียงพนักงานโฆษณาชวนเชื่อของบรรษัทนายทุนข้ามชาติโดยไม่รู้ตัว 

      สถานการณ์ในประเทศ

      ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนาและเป็นบริวารของประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรม บวกกับการที่รัฐบาลทุกรัฐบาล มีนโนบายพัฒนาประเทศแบบส่งเสริมให้ทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ได้ลงทุน และทำการค้าเสรี ทำให้มีการพัฒนาประเทศระบบเพื่อการส่งออก มีการถลุงทรัพยากร กดขี่แรงงาน เศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การค้าและบริการเติบโต แต่กระจายถึงประชาชนกลุ่มต่างๆอย่างไม่เป็นธรรม ธรรมชาติสภาพแวดล้อมถูกทำลายอย่างมากและอย่างรวดเร็ว ประชาชนยากจน เป็นหนี้ และพึ่งพาระบบนายทุนแบบเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอดมากขึ้น

       ในทางการเมือง โครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไทยเป็นแบบอำนาจนิยม เจ้าขุนมูลนาย และระบบอุปถัมภ์ และระบบการศึกษาเป็นแบบอำนาจนิยมและสอนให้ผู้เรียนท่องจำอย่างล้าหลัง ทำให้ไม่มีประชาธิปไตยในครอบครัว สถาบันการศึกษา ที่ทำงานและชุมชนและมีการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองแค่รูปแบบ เช่นการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทน และองค์กรบริหารท้องถิ่น แต่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระ เช่นการที่ประชาชนตระหนักและมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม สามารถตรวจสอบดูแลถอดถอนผู้แทน เสนอแก้ไขกฎหมายได้ ฯลฯ ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

      รัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนนายทุนใหญ่ ที่เก่งในเรื่องการตลาด การหมุนเงิน รวมทั้งการรวบรวมเครือข่ายนักธุรกิจการเมืองประเภทเจ้าพ่อผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่น สามารถสร้างความนิยมในหมู่คนยากจนได้มาก และพาประเทศไปสู่การพัฒนาแบบทุนนิยมเพื่อบริโภคอย่างสุดโต่ง ทุจริตและหาประโยชน์ทับซ้อนอย่างมหาศาล จนผู้มีการศึกษาและประชาชนผู้ตื่นตัวพากันประท้วง และคณะนายทหารฝ่ายอำนาจนิยม /จารีตนิยมได้ถือโอกาส ยืดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลระบอบทักษิณลง

      แต่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ที่มาจากทหาร/ขุนนาง ก็ขาดสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่รัฐบาลชุดก่อนๆก่อไว้ และไม่สามารถแม้แต่จะวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขา(รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตลอดไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล)อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบ มีชีวิตที่สะดวกสบายกับระบบเดิม มีทัศนะค่านิยมที่สอดคล้องหรือไม่ ขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม พวกเขามองเห็นปัญหาในยุคทักษิณแบบแยกส่วนว่าเป็นปัญหาแค่ตัวบุคคล มากกว่าจะเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบองค์รวมทั้งหมด 

      เราจะไปทางไหนกัน

      ในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ปกครอง/นายทุน/ขุนนางส่วนน้อยมีอำนาจครอบงำ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ได้รับการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ เป็นหน้าที่ของ ผู้มีการศึกษาที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์และตื่นตัวทางการเมือง ที่จะต้องช่วยกันศึกษาและเผยแพร่ความรู้ที่แท้จริง ให้เกิดการปฎิรูป การเมือง ซึ่งควรรวมทั้งการปฎิรูปทางเศรษฐกิจ สังคมที่จะทำให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ว่าทั้งแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด และการฝากความหวังไว้กับชนชั้นสูง กลุ่มอำนาจนิยม/จารีตนิยมนั้น ไม่อาจทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีสิทธิประชาธิปไตย และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาได้

      ประชาชนต้องแสวงหาความรู้จัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างแนวทางเลือกใหม่ที่มุ่งพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมด้วยตัวเอง ไม่อาจหวังพึ่งอัศวินม้าดำหรือม้าขาวที่ไหนได้

      แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องสร้างระบบสหกรณ์ทุกรูปแบบอย่างกว้างขวางมาแทนที่ระบบทุนนิยมผูกขาด สหกรณ์ในที่นี้ใช้ในความหมายกว้าง หมายถึง องค์กรทางเศรษฐกิจสังคมแบบช่วยเหลือกันและกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อาจใช้ชื่ออื่น เช่น กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย ฯลฯ ไม่ใช่แค่สหกรณ์ 6 ประเภทตามกฎหมายสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ในนี้เท่านั้น

      สหกรณ์เป็นองค์กรที่จัดตั้งทางเศรษฐกิจแบบประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารที่ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้ผู้ผลิตผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ขบวนการสหกรณ์มีการพัฒนาเจริญเติบโต ทั้งในสหรัฐ แคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ หลายประเทศในลาตินอเมริกาและที่อื่นๆ จนมีสัดส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มีทั้งสหกรณ์ผู้ผลิตหรือสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งพัฒนาเป็นธนาคาร สหกรณ์การประกันภัย การขนส่ง สหกรณ์ผู้บริโภคหรือการค้าส่งและค้าปลีก สหกรณ์การบริการต่างๆ รวมทั้งสหกรณ์สาธารณูปโภค เช่น การประปา ไฟฟ้า

      สหกรณ์เหล่านี้หลายแห่งพัฒนาเป็นชุมชนสหกรณ์ ขนาดหนึ่งในร้อยของบรรษัทที่ยอดขายสูงสุดในโลก ที่มีเครือข่ายกว้างขวางและเป็นองค์กรธุรกิจ ที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สหกรณ์ขนาดกลางขนาดย่อมหลายแห่งในหลายประเทศทำได้ดีกว่าทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบเดียวกัน

      สหกรณ์นอกจากจะลดการเอาเปรียบของระบบนายทุน พ่อค้าคนกลางแล้ว ยังเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบทุนนิยม ในแง่ที่ว่า สมาชิกทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่ใช่ว่าใครถือหุ้นมากออกเสียงได้มากแบบทุนนิยม ถ้าเราส่งเสริมสหกรณ์ให้เติบโตได้ในทุกสาขาเศรษฐกิจ สหกรณ์จะเป็นระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ มากกว่าระบบทุนนิยมและสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ระบบสหกรณ์จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและปัญหาเศรษฐกิจ สังคม อื่นๆได้อย่างถึงรากโคนกว่าระบบทุนนิยม

      แนวทางพัฒนาทางสังคมให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องปฏิรูปการจัดการศึกษา สื่อมวลชนในด้านเนื้อหาวิธีการในการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ในเชิงวิเคราะห์ ที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รู้จักคิด เป็นตัวของตัวเอง ให้รู้เท่าทันชนชั้นปกครองและปฎิรูปเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ฉลาด3 การสาธารณสุข การประกันสังคมและสวัสดิการสังคม ให้ประชาชนรับบริการอย่างทั่วถึง และส่งเสริมจัดตั้งองค์กรประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการกิจกรรมทางสังคมด้วยตนเองมากขึ้น

      แนวทางการพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า การปฏิรูปโครงสร้างการเมือง และสังคม ที่จะเอื้อให้ประชาชน มีสิทธิและอำนาจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติมากขึ้น เช่นมีสภาหมู่บ้าน สภาชุมชน สภาประชาชนระดับประเทศ องค์กรประชาชนและองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น สิทธิป่าชุมชน และการจัดการทรัพยากรของชุมชน,สิทธิผู้บริโภค,สิทธิการจัดตั้ง สหภาพแรงงานและสหกรณ์โดยเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ประชาชนมีสิทธิในการคัดค้าน ถอดถอนผู้แทน เสนอเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายต่างๆรวมทั้งรัฐธรรมนูญได้โดยตรง 

      เราควรทำอะไร

      นักข่าวหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ถามผมว่าในยุคที่ประเทศไทยของเราถูกครอบงำโดยระบอบทักษิณและกลุ่มคนที่คิดไม่แตกต่างจากทักษิณ พวกเขาที่เป็นคนเล็กๆที่ไม่มีชื่อเสียงและเป็นเพียงลูกจ้างบริษัทนายทุนจะทำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าการที่พวกเราหลายคนมักจะมองว่าเราเป็นคนเล็กๆที่ทำอะไรไม่ได้ในโลกที่ครอบงำโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ คือการแบ่งแยกและปกครองของระบบทุนนิยมโลกที่พยายามกล่อมเกลาให้พวกเราคิดคล้อยตามแบบยอมจำนนไปอย่างไม่รู้ตัว

      เมื่อเรากลับไปอ่านประวัติศาสตร์ เรามักคิดว่า ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขาคือคนที่ยิ่งใหญ่ที่มีพลังที่มหาศาลกว่าคนอย่างพวกเรามาก ในยุคที่ศรีบูรพาและคณะยังเป็นคนหนุ่มสาวนั้น พวกเขาก็คือนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เล็กๆซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย ที่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่โตกว่าพวกเขามากเช่นเดียวกัน

      สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขายิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพราะตอนนั้นพวกเขาเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เพราะสังคมไทยวิวัฒนาการมาจากระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ค่อยยกย่องนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มาแต่ไหนแต่ไร แต่สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพายิ่งใหญ่ต่อมาในสายตาของคนรุ่นหลังอย่างพวกเรา ก็คือการที่ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขากล้าคิด กล้าเผยแพร่ กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมของพวกเขาต่างหาก

      นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ปัญญาชน ผู้มีการศึกษาในยุคปัจจุบันมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือจะเลือกทำตัวตามกระแสของทุนนิยมโลก เป็นพนักงานธุรการพนักงานโฆษณาชวนเชื่อที่ดีของบรรษัทและปรับตัวให้เข้ากับระบบทุนนิยมผูกขาดที่โหดร้าย หรือจะเลือกเป็นคนที่ต้องการรักษาศักดิ์ศรี ต้องการแสวงหาความหมายในชีวิตและสังคม ยิ่งกว่าการเป็นผู้เสพติดการบริโภคสินค้าและบริการของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม หลังจากการทดลองสังคมนิยมล้มเหลว นักการเมืองและนักวิชาการของโลกทุนนิยมพยายามป่าวร้องว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่อีกแล้ว นอกจากต้องเดินไปตามกระแสทุนนิยมโลก ถ้าไม่เปิดเสรีเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกับคนอื่น เราก็จะถูกทิ้งให้ล้าหลัง

      แต่ความจริงก็คือ ประชาชนในหลายประเทศเลือกการพัฒนาทางอื่น เช่น ระบบสหกรณ์ สังคมนิยมประชาธิปไตย การพัฒนาแนวอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนการเน้นความสุขของประชาชนมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม ทางเลือกเหล่านี้ ประชาชนฝ่ายก้าวหน้า ทั้งในยุโรป ลาตินอเมริกา เอเชีย และที่อื่นๆได้พัฒนาไปได้มากพอสมควร ในประเทศไทยก็มีกล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพึ่งตนเอง พึ่งตลาดภายในประเทศเป็นที่สัดส่วนสูงขึ้น เพียงแต่ยังเป็นการพูดลอยๆมากกว่า เรายังไม่ได้มีการวิเคราะห์และพัฒนาให้เป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่อย่างจริงจัง

      คนหนุ่มสาวทั้งหลาย ความเป็นหนุ่มสาวไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความคิดจิตใจด้วย ถ้าคุณเลือกอย่างแรก คือเลือกอยู่กับพวกชนชั้นนำที่ยึดมั่นของเก่า ยึดมั่นกับกระแสหลักของสังคมที่ครอบงำโดยนายทุน บงการโดยนายทุนและผู้มีอำนาจ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตและโลกที่ดีกว่า พวกคุณจะก็แก่ตั้งแต่อายุยังน้อย แก่ในทางความคิดค่า นิยมโดยที่ไม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตเพื่อการต่อสู้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่าคนที่อายุมากกว่าพวกคุณ แต่จิตใจของพวกเขายังหนุ่มสาว ยังไม่ยอมจำนน ยังต่อสู้แบบกัดไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละทิ้งหลักการที่สำคัญ เช่น ประชาธิปไตยความเป็นธรรมและความร่วมมือกันเป็นกลุ่ม

      คนหนุ่มสาวทั้งหลาย อย่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ และคุณต้องมาเสียใจภายหลังว่า คุณแทบไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริงเลย เพราะชีวิตที่ไม่มีการต่อสู้เพื่อส่วนรวม ชีวิตที่มีแต่การประนีประนอม เอาตัวรอดส่วนตัวในระยะสั้นๆ เป็นชีวิตที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่คุ้มกับการมีชีวิต ในโลกที่มีพลังและมีโอกาสการเปลี่ยนแปลงที่มหาศาล

      ผมจะขอจบปาฐกถานี้ด้วยการยกคำคมของ อัลเบริต ไอน์สไตน์ เป็นการเตือนผู้มีการศึกษาทุกคน รวมทั้งคนแบบคุณทักษิณ คุณสมคิดและคนอื่นๆ ไว้อย่างน่าคิดให้ลึกดังนี้ 

_____________________________________________________________________

      ใครที่ได้รับการศึกษาให้มีความรู้พิเศษ

จะต้องพัฒนาความตระหนักว่าอะไรสวยงาม

และอะไรดีในแง่ศีลธรรมอย่างกระตือรือร้นควบคู่กันไป

เพราะถ้าขาดความตระหนักใน 2 เรื่องนี้

เขาจะเป็นได้แค่หมาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี

แทนที่จะเป็นมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนไปกับโลก

 

ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่ดีกว่าทั้งทุนนิยม และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง


ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่ดีกว่าทั้งทุนนิยม และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง 

      สหกรณ์ หมายถึง “สมาคมที่เป็นอิสระของกลุ่มคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อสนองความต้องการและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของพวกเขา โดยการเป็นเจ้าของ ร่วมกันและดำเนินการบริการแบบประชาธิปไตย” คำว่าสหกรณ์จึงมีความหมายกว้างว่า สหกรณ์เกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ ฯลฯ ที่จดทะเบียนภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ คือยังหมายรวมถึง กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย และชื่อกลุ่มขององค์กรทางเศรษฐกิจของประชาชนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้คำว่าสหกรณ์นำหน้าด้วย

      ระบบสหกรณ์ดีกว่าทุนนิยม ในแง่ที่ว่าสมาชิกเป็นทั้งเจ้าของและผู้ซื้อผู้ใช้บริการ จึงลดการเอาเปรียบหากำไรเกินควรของนายทุนพ่อค้าคนกลางไปได้ และเป็นระบบบริหารที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบการถือหุ้นในบริษัทภายใต้ระบบทุนนิยม เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์แต่ละคนมีเสียงในที่ประชุมใหญ่เท่ากัน ไม่ว่าใครจะถือหุ้นมากหรือน้อย การปันผลกำไรของสหกรณ์ก็ไม่ได้จ่ายตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังจ่ายตามกิจกรรมที่สมาชิกดำเนินการกับสหกรณ์ รวมทั้งสหกรณ์หลายแห่งยังจ่ายเงินปันผลกำไรส่วนหนึ่งให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย

      ระบบสหกรณ์ดีกว่าสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง คือเป็นองค์กรขนาดกะทัดรัด ที่มีระบบบริหารแบบประชาธิปไตย มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สมาชิกตรวจสอบดูแลความโปร่งใสในการบริหารของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นระบบข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่โตเทอะทะ มีลักษณะบังคับใช้อำนาจจากบนลงล่าง มีโอกาสขาดประสิทธิภาพ และทุจริตได้มากกว่า ขณะที่ระบบสหกรณ์ การเป็นสมาชิกเป็นโดยสมัครใจ เป็นประชาธิปไตยแบบสมาชิกมีส่วนร่วม ที่สมาชิกมีความรู้สึกมีส่วนได้เสียโดยตรง

      อย่างไรก็ตาม สหกรณ์จะพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหน ก็อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า สหกรณ์จะต้องมีสมาชิกและคณะกรรมการที่เข้าใจอุดมการณ์สหกรณ์ และมีการจัดระบบบริหารที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพด้วย

      ที่สหกรณ์ในประเทศไทยพัฒนาได้จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศลาตินอเมริกาบางประเทศ เกิดจากหลายปัจจัยเช่น

      1) สหกรณ์ของไทยอยู่ภายใต้ระบบราชการ ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง และรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้สหกรณ์เติบโตมากไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแนวคิดชนชั้นนำในประเทศไทยเป็นแนวคิดแบบเจ้าขุนมูลนายที่ติดจารีตประเพณีเดิม

      2) มีกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด ทำให้สหกรณ์ทำกิจกรรมหลายอย่างไม่ได้ เช่น ตั้งเป็นธนาคารไม่ได้ ให้คนอื่นนอกจากสมาชิก ฝากเงิน กู้เงินไม่ได้ ฯลฯ สหกรณ์ในประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษน้อยและแข่งขันกับระบบพ่อค้านายทุนได้ยาก

      3) การพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรสหกรณ์เองก็ยังมีข้อจำกัด เช่น สมาชิกไม่ได้มีอุดมการณ์และร่วมมือกันดูแลพัฒนาสหกรณ์อย่างจริงจัง มีการทุจริตโดยผู้บริหารเกิดขึ้นบ้าง หรือบริหารไม่เก่ง การกล่อมทางความคิดทางสังคมของประชาชนผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชนและการเมืองมักเน้นแต่แนวคิดแบบยกย่องเจ้าขุนมูลนาย และระบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันหากำไรส่วนตัวมากกว่าการทำกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน ทำให้อุดมการณ์สหกรณ์ไม่ได้พัฒนาอย่างเข้มแข็ง

      4) กลุ่มนักคิดนักกิจกรรม สังคมนิยมรวมทั้งนักวิชาการหัวก้าวหน้าของไทย ไม่ได้สนใจเรื่องของสหกรณ์ เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการหรือระบบทุนนิยม ทั้งๆที่สหกรณ์ในประเทศอื่นๆเป็นอิสระและเป็นทางเลือกที่ต่างไปจากทุนนิยม ทำให้ผู้มีการศึกษา ปัญญาชนไม่เข้ามาช่วยพัฒนาขบวนการสหกรณ์มากเหมือนในประเทศอื่น

      สหกรณ์ในต่างประเทศ ที่เขาเติบโตได้เพราะภาคประชาชนเข้มแข็ง และสหกรณ์เป็นอิสระจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือในด้านการออกกฎหมาย การส่งเสริมช่วยเหลือให้สหกรณ์มีต้นทุนต่ำพอที่จะแข่งขันกับพ่อค้านายทุนได้ ช่วยเหลือด้านการให้การศึกษาเรื่องสหกรณ์และการบริหารจัดการ และมีกองทุนหมุนเวียน ให้สหกรณ์ตั้งใหม่กู้ยืมไปดำเนินการโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่รัฐบาลจะไม่เข้ามาควบคุมสหกรณ์แบบเข้มงวดเหมือนเป็นส่วนหนึ่งราชการแบบของไทย ทำให้สหกรณ์ไทยเติบโตได้ช้ากว่าประเทศอื่น สมาชิกและผู้บริหารสหกรณ์ของไทยบางส่วนก็หวังพึ่งแต่รัฐบาล ทำให้ชาวสหกรณ์ไทยไม่เรียนรู้ที่จะเติบโตด้วยลำแข้งของตัวเอง เหมือนชาวสหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม และในลาตินอเมริกา

      สหกรณ์ในประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมเช่น โซเวียตรุสเซีย ยุโรปตะวันออก ก็มีปัญหาติดในระบบข้าราชการคล้ายกันไทย เมื่อประเทศสังคมนิยมเปลี่ยนมาเป็นทุนนิยม และคิดจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจและสหกรณ์ ให้เป็นบริษัทเอกชน ได้มีชาวสหกรณ์บางส่วนไม่เห็นด้วย และเสนอให้แปรรูปเป็นสหกรณ์ที่ยังเป็นของสมาชิกอยู่ แต่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง ปรากฏว่าสหกรณ์รูปแบบใหม่ที่เป็นอิสระในประเทศเหล่านี้บริหารได้ดีกว่าสหกรณ์ภายใต้รัฐบาลสังคมนิยมแบบเก่า และสหกรณ์แบบใหม่สามารถทำประโยชน์ให้สมาชิกและชุมชนได้ดีกว่าการแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน

      สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มักจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์การเกษตรบางแห่ง ซึ่งกิจกรรมราวครึ่งหนึ่งของสหกรณ์การเกษตรของไทยก็เป็นธุรกิจออมทรัพย์และให้เงินกู้ เพราะเป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายและบริหารได้ง่าย สมาชิกได้ประโยชน์สูงกว่าการไปกู้เงิน ซื้อหุ้นหรือฝากเงินที่ธนาคารพาณิชย์ เพราะระบบสหกรณ์เท่ากับเป็นการตัดคนกลางออกไป สหกรณ์มีกำไรก็ยังปันผลให้แก่สมาชิก

      สหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศอื่นๆเติบโตกว่าของไทยมาก ในยุโรป สหกรณ์เกษตรและสหกร์ออมทรัพย์มีการพัฒนาเป็นธนาคารสหกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร RABO BANK ในเนเธอร์แลนด์   ธนาคาร CREDIT AGRICOLE ในฝรั่งเศส ธนาคาร DG ในเยอรมันนอกจากนี้สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์คนงาน สหกรณ์ประกันภัย สหกรณ์เอนกประสงค์ก็เติบโตมากทั้งในญี่ปุ่น สวีเดน สเปน อิตาลีและประเทศอื่นๆ ชุมชนสหกรณ์ขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายสหกรณ์หลายร้อยหรือหลายพันแห่งในญี่ปุ่นและยุโรป มีพนักงานและสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เครือข่าย ละ 7-8 หมื่นคน และมียอดรวมธุรกิจปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ที่สามารถเข้าไปแทนที่องค์กรธุรกิจเอกชนแบบทุนนิยม และแบบรัฐวิสาหกิจได้ในหลายสาขามาก ประเทศที่พัฒนาทุนนิยมสูง มักมีทั้งสหกรณ์การผลิต สหกรณ์การบริโภค สหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของ สหกรณ์ผู้ให้บริการ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การประมง สหกรณ์ทำไวน์ สหกรณ์ให้บริการการรักษาพยาบาล การซ่อมแซมดูแลบ้าน การจัดงานศพ รถโดยสาร รถแท็กซี่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ เติบโตควบคู่กันไปกับภาคธุรกิจเอกชน

      สหกรณ์มีตั้งแต่ขนาดเล็ก 5-10 คน จนถึงขนาดใหญ่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านและมีพนักงาน (ที่เป็นสมาชิก/เจ้าของด้วย) หลายพันหลายหมื่นคน คนสวีเดน 3 ใน 5 คนเป็นสมาชิกสหกรณ์ และสหกรณ์มีสัดส่วนในสินค้าของผู้บริโภค 19%

      ในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ สหกรณ์การเกษตรเข้มแข็งมาก การผลิตนมในสวีเดนอยู่ในระบบสหกรณ์ 99 % ในประเทศยุโรปอื่นอีก 8 ประเทศ และสหรัฐ กรผลิตนมในระบบสหกรณ์มีสัดส่วนการตลาดมากกว่า 70% ในแต่ละประเทศการเก็บเกี่ยวข้าว 95% ในญี่ปุ่นอยู่ในระบบสหกรณ์ สหกรณ์การเกษตรในต่างประเทศ ทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น ขายปัจจัยการผลิตให้สมาชิก (เพราะการรวมกันซื้อทำให้มีอำนาจต่อรองการซื้อมากกว่าต่างคนต่างซื้อ) ให้บริการการผลิต การคลังสินค้า การขนส่ง การประกัน การแปรรูปอาหาร การขายสินค้าเกษตรที่อยู่ในระบบสหกรณ์เป็นสัดส่วนสูง มีทั้ง ข้าว เป็ดไก่ ผักผลไม้ ถั่วเหลือง ฝ้าย กาแฟ การประมง ทั้งในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เช่น เกาหลีใต้ บราซิล สหกรณ์การเกษตรในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม มีกระทั่งธนาคารของตัวเองซึ่งให้บริการอื่นๆ เช่นการประกันภัย การรับส่งเงินไปต่างเมืองหรือต่างประเทศด้วย

      สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์ค้าส่ง ค้าปลีก ก็มีสัดส่วนที่สำคัญ ในยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆเช่นในนิวซีแลนด์ การค้าเครื่องชำ 54% อยู่ในระบบสหกรณ์ ในญี่ปุ่น ครัวเรือนชาวญี่ปุ่น 1 ใน 5 เป็นสมาชิกสหกรณ์ค้าปลีกในท้องถิ่น นอกจากสหกรณ์จะช่วยลดพ่อค้าคนกลางแล้ว สหกรณ์ยังสามารถดูแลเรื่อง คุณภาพ ความปลอดภัย การไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่เอาเปรียบผู้ผลิตได้ดีกว่าธุรกิจเอกชนในระบบทุนนิยมด้วย เพราะสหกรณ์เป็นเจ้าของโดยสมาชิกในชุมชน จึงสนใจผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และชุมชนมากกว่านายทุนเอกชน ซึ่งสนใจแต่ผลกำไรส่วนตัว และเป็นคนที่อยู่นอกชุมชน หรือแม้แต่เป็นนายทุนต่างชาติ

      สหกรณ์เพื่อที่อยู่อาศัย มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนจนในเมืองในหลายประเทศมีที่อยู่อาศัย จะเป็นแบบผ่อนซื้อหรือเช่าก็แล้วแต่ ระบบสหกรณ์สามารถทำให้ประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่าระบบนายทุนเอกชน เพราะไม่ต้องไปแบ่งปันผลกำไรให้บริษัทเอกชน ทำให้ราคาต่ำลง และประชาชนสามารถผ่อนส่งระยะยาวได้ ในสหรัฐและแคนาดามีสหกรณ์หอพักนักศึกษาช่วยให้นักศึกษามีที่พักที่เหมาะสม และได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเป็นกลุ่ม

      แม้แต่สาธารณูปโภค เช่นไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก็มีการบริหารจัดการในรูปสหกรณ์สาธารณูปโภค ทั้งในสหรัฐ ยุโรป ลาตินอเมริกาและที่อื่นๆ ระบบสหกรณ์สามารถให้บริการสาธารณูปโภค ได้ดีกว่าระบบรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน เพราะรัฐวิสาหกิจมักมีปัญหาด้านการขาดประสิทธิภาพและฉ้อฉล ขณะที่บริษัทเอกชนมุ่งหากำไรของเจ้าของที่เป็นเอกชนมากไป

      ประเทศไทยได้แต่เถียงกันว่า จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนดีหรือไม่ดี น่าจะคิดถึงทางเลือกที่ 3 คือแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นสหกรณ์ โดยให้พนักงานผู้บริการและและผู้ใช้บริการ เข้ามาถือหุ้นร่วมกัน เลือกตั้งคณะผู้บริหารนโยบายและให้คณะผู้บริหารนโยบายไปจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาทำ ในประเทศอื่น สหกรณ์สาธารณูปโภค เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่าและเป็นธรรมกับประชาชนมากกว่ารัฐวิสาหกิจและเอกชน

      ในเวเนซูเอล่า บราซิล อาเจนตินา โบลิเวีย เปรู ที่พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าได้รับเลือกเป็นรัฐบาล มีการพัฒนาระบบสหกรณ์อย่างคึกคักมาก เช่นรัฐบาลเวเนซูเอล่าสนับสนุนในแง่การออกกฎหมายช่วยสหกรณ์ การจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืม การจัดการศึกษาอบรมวิชาการบริหารจัดการสหกรณ์ ให้บัณฑิตใหม่และประชาชนที่ต้องการจัดตั้งสหกรณ์ รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันขอจัดตั้งสหกรณ์ได้ง่าย สมาชิกสหกรณ์เลือกผู้บริหารและควบคุมดูแลกันเอง มีการแปรรูปโรงงานของธุรกิจเอกชนที่เผชิญปัญหาหนี้เสีย หยุดดำเนินการ หรือทำท่าจะไม่รอดให้เป็นระบบสหกรณ์ โดยคนงานเข้าไปถือหุ้นและบริหารเอง รัฐบาลให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำและปลอดดอกเบี้ยในปีแรกๆเพื่อฟื้นฟูกิจการใหม่ ปรากฏว่า ระบบสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของ สามารถฟื้นฟูกิจการและดำเนินได้ดีกว่าบริษัทเอกชน เพราะคนงานเมื่อเป็นเจ้าของเอง รู้สึกว่าเป็นของเขา ถ้าเขาตั้งใจทำงานให้ดี สหกรณ์มีกำไร เขาก็จะได้รับปันผลมากขึ้น ทำให้พวกเขาตั้งใจทำงาน การทุจริตรั่วไหลลดน้อยลง

      ระบบสหกรณ์จึงมีข้อได้เปรียบระบบธุรกิจเอกชน ถ้าสมาชิกเอาจริง จุดมุ่งหมายหลักของโรงงานแบบสหกรณ์คือช่วยให้คนงานมีงานทำ ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เป็นแนวคิดที่ต่างไปจากระบบทุนนิยมที่สนใจแต่การหากำไรของเจ้าทุน

      สหกรณ์เป็นรูปแบบการบริหารแบบกระจายอำนาจและทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพกว่า ระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สหกรณ์แต่ละแห่งจะต่างคนต่างพัฒนา โดยจะไม่ล้มครืนทั้งระบบเหมือนระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางและพรรคการเมืองมากเกินไป

      การให้คนงานเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่มีรัฐบาลก้าวหน้าแนวสังคมนิยมเท่านั้น ในยุโรปเองก็มีสหกรณ์ผู้ผลิต หรือสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง ชุมนุมหรือสหพันธ์สหกรณ์ไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายเสมอไป หลายแห่งก็อิงกับแนวคิดทางศาสนาหรือท้องถิ่นนิยม

      ที่เมืองมอนดรากอน (MONDRAGON) แคว้นบาสก์ ประเทศสเปน ผู้สำเร็จอาชีวะศึกษา 5 คน ได้จัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตเตาจากน้ำมันก๊าดขึ้นเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้ได้เติบโตเป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มีเครือข่ายมากกว่า 150 แห่ง เป็นสหกรณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและให้บริการ ฯลฯ ในหลายสาขา รวมทั้งธนาคารและมหาวิทยาลัยของตนเอง มีพนักงานที่เป็นสมาชิกคือเป็นเจ้าของสหกรณ์ด้วยรวมทั้งหมด 70,000 คน เป็องค์กรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นบาสก์ และมีเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศสเปน เป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มียอดขายสูงราวอันดับ 10 ของสหพันธ์สหกรณ์ทั่วโลก(ปีละกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์)

      การจะทำให้ระบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการปลูกฝังแนวคิดอุดมการณ์ให้ประชาชนเห็นว่า แนวทางการพัฒนาธุรกิจแบบสหกรณ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกดีกว่าระบบทุนนิยมอย่างไร และต้องมีการฝึกอบรม ด้านการเป็นผู้บริหารจัดการและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในหลายประเทศ มีโรงเรียน มีวิทยาลัยที่ส่งเสริมด้านสหกรณ์นี้โดยเฉพาะ สหกรณ์ขนาดใหญ่บางแห่งเป็นผู้ลงทุนดูแลเรื่องนี้เอง ที่สำคัญคือสมาชิกสหกรณ์ต้องสนใจดูแลเลือกและตรวจสอบผู้บริหาร ปัจจุบันสหกรณ์ยังมีบทบาทช่วยเหลือกันและกันสูง เช่นในอิตาลีรัฐบาลออกกฎหมาย ให้สหกรณ์ต้องแบ่งปันผลกำไร3%เข้ากองทุนเพื่อช่วยจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ๆในเขตที่ยากจน

      ในระดับระหว่างประเทศ มีสหพันธ์สหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม องค์กรพัฒนาการสหกรณ์ระหว่างประเทศ(ICA) องค์กรแรงงานสากล (ILO) สหประชาชาติ (UN) ที่สนใจให้ความช่วยเหลือพัฒนาสหกรณ์ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะนักวิชาการ นักวิชาชีพที่เป็นนักประชาธิปไตย เริ่มเห็นว่า สหกรณ์เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ และปัญหาเศรษฐกิจ สังคมอื่นๆ ได้ดีกว่าการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมหรือแนวเสรีนิยมใหม่

      ในประเทศไทย พรรคการเมือง และนักวิชาการส่วนใหญ่ยังคิดอยู่ในกรอบการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แม้แต่พวกที่เคยศึกษาสนใจเรื่องสังคมนิยมก็เคยคิดว่า หลังจากที่ประเทศสังคมนิยมหลายประเทศล้มเหลว ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทุนนิยมหรือตลาดเสรี มีนักวิชาการนักพัฒนาเอกชนหัวก้าวหน้าคัดค้านทุนนิยมอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้คิดหาทางเลือกใหม่ที่ชัดเจน รวมทั้งไม่ได้สนใจการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งสหกรณ์อย่างจริงจัง เพราะพวกเขาคุ้นกับการรับเงินสนับสนุนจากองค์ภายนอกมากว่า แต่กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ที่เข้มแข็ง ในประเทศไทยก็มีอยู่ แต่เป็นแค่องค์กรเล็กๆ ที่มองไม่เห็นภาพใหญ่ หรือขยายตัวไม่ออกเพราะติดกรอบใหญ่คือ ระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารทุนต่างชาติ กฎหมายที่ล้าหลัง และการไม่กล้าคิดพึ่งตนเอง ไม่กล้าพัฒนานอกกรอบที่ขวางทางอยู่

      นักวิชาการ นักสหภาพแรงงาน นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักกิจกรรมสังคม ฯลฯ ควรสนใจศึกษาและเข้ามามีส่วนสร้างส่วนพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในประเทศมากขึ้น เราต้องช่วยกันศึกษาว่า จะฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมในชนบทที่ประชาชนเคยตั้งกลุ่มช่วยเหลือกัน เช่น กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มต่างๆให้มีการจัดตั้งกลุ่มสมัยใหม่แบบสหกรณ์ได้อย่างไร จะช่วยให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ และกลุ่มประชาชนแบบใหม่ที่เข้มแข็ง และจะหาทางขยายบทบาทของพวกเขาอย่างไร และจะช่วยกันผลักดันปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ให้เป็นอิสระและมีโอกาสเติบโต พ้นจากระบบราชการและแข่งขันกับพ่อค้านายทุนได้ จนระบบสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจที่มีสัดส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เหมือนในประเทศอื่นๆได้อย่างไร นี่คือแนวทางเลือกใหม่ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีทั้งประสิทธิภาพเป็นธรรม และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง 

 

“เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ ต้องควบคู่ไปกับระบบสหกรณ์


“เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ ต้องควบคู่ไปกับระบบสหกรณ์ 

      เป็นปรัชญามากกว่าการเสนอระบบเศรษฐกิจใหม่

      คำเต็ม คือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่ “เศรษฐกิจพอเพียง” เฉยๆ จึงเป็นปรัชญามากกว่าแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์ แนวคิดหลักของปรัชญานี้ คือ การเสนอให้ประชาชนรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ และดำเนินชีวิตแบบมีเหตุผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันในตัว โดยอยู่บนเงื่อนไขของความรู้ และคุณธรรม หรือจะอธิบายง่ายๆ คือ การเดินทางสายกลาง ไม่เป็นหนี้มากไป ไม่เป็นทุนนิยมบริโภคสุดโต่ง

      เกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งใช้อธิบายคู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวถึง การให้เกษตรกรเพาะปลูกแบบผสมผสานและผลิตเพื่อใช้เป็นสัดส่วนสูงขึ้น ถ้าผลิตได้มาก ก็ขายได้ตามความเหมาะสม และอาจพัฒนาไปตามลำดับขั้นเป็นเศรษฐกิจที่มีการค้ามากขึ้นได้ คำอธิบายของทั้ง 2 แนวคิดนี้มักเน้นที่ภาคเกษตรหรือภาคชนบท ไม่ได้อธิบายเศรษฐกิจทั้งระบบ

      คำว่า “พอเพียง” เป็นคำที่มีความหมายในเชิงคุณค่าที่ขึ้นอยู่กับการตีความตามอัตวิสัย(Subjective) ของคนแต่ละคน ไม่ได้เป็นคำที่มีความหมายเจาะจงที่เป็นภววิสัย(Objective) ชัดเจนดังนั้นจึงถูกนักการเมือง , นักธุรกิจ , นักวิชาการ , ชนชั้นกลางตีความได้ต่างๆนานา ส่วนใหญ่คือ การตีความแบบประนีประนอมกับแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เช่นบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ขัดกับระบบตลาดเสรี ไม่ขัดกับการส่งเสริมการลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ ไม่ขัดกับการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศ เพียงแต่ต้องไม่เน้นการเติบโตทางวัตถุอย่างสุดโต่ง หากควรพัฒนาแบบทางสายกลาง ไม่โลภ ไม่เป็นหนี้มาก

      ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ซีพีกล่าวว่าเราก็ใช้เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ ขนาดเรา ถ้าลงทุนร้อยล้านพันล้านก็ต่ำกว่าพอเพียง ถ้าแสนล้านก็เกินพอเพียง ของเราอยู่กลางๆ สักหมื่นล้าน จึงจะถือว่าพอเพียง นี่คือตัวอย่างการต่างคนต่างตีความ จนไม่รู้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ต่างไปจากการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง

      ถ้าหากคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ถูกรัฐบาลและชนชั้นนำตีความตีความได้หลายทางอย่างประนีประนอมกับระบบเดิม คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็จะมีฐานะคล้ายๆ โครงการพระราชดำริ หรือเป็นแค่การปรับลดความเร็วของการพัฒนาตามกระแสหลักที่ดำเนินอยู่ ว่าเราไม่ควรรีบพัฒนาทุนนิยมแบบสุดโต่ง ทำให้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายแตกต่างจากทุนนิยมอุตสาหกรรมโลกาภิวัตน์แค่ดีกรี มากกว่าเป็นการเสนอแนวทางพัฒนาที่เป็นทางเลือกใหม่ ที่ต่างไปจากการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกอย่างชัดเจน

      หากมองอย่างนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่จะถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจได้ จะต้องพิจารณาที่การจัดระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต เช่นว่าใครจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และกระจายกันอย่างไร เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบก่อนทุนนิยม(ศักดินาผสมกับเศรษฐกิจยังชีพแบบดั้งเดิม) ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม หรือระบบเศรษฐกิจแบบผสม เช่นสังคมนิยมประชาธิปไตย        รัฐสวัสดิการ (แบบยุโรปเหนือ) ระบบสหกรณ์ เป็นต้น

      หากเราจะพัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากปรัชญาให้เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ เราน่าจะต้องตีความใหม่ให้สอดคล้องระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างระบบสหกรณ์หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เน้นการให้ประชาชนเป็นเจ้าของทุนร่วมกันร่วมกับทุนนิยมที่มีการแข่งขันเป็นธรรม ทุนนิยมของผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง

      เพราะต้องเป็นระบบผสมแบบใหม่นี้เท่านั้นจึงจะช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนมีโอกาสได้กินอยู่แบบพอเพียงอย่างทั่วถึง การตีความแบบประนีประนอมกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด ที่เน้นการผลิตการบริโภคแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาที่คนส่วนน้อยได้กำไรมาก แต่คนส่วนใหญ่ยากจนลง และทรัพยากร สภาพแวดล้อม วิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกทำลายมาก จะไม่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีเศรษฐกิจแบบพอเพียงได้ 

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ ถ้าตีความโดยยึดหลักเพื่อคนส่วนใหญ่ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

       นักวิชาการฝ่ายประชาชน นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ปราชญ์ชาวบ้านจะเลือกตีความปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปในทางก้าวหน้ากว่าพวกข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจชั้นนำ ว่านี่คือแนวคิดพัฒนาทางเลือกใหม่ ที่ต่างจากทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบตะวันตก ที่ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าเสรีกับประเทศมหาอำนาจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ทำให้เกิดความเหลื่อมต่ำสูง และการทำลายสภาพแวดล้อมมาก

       ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงควรดำเนินควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจแบบผสม ระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและ เศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย เช่น ระบบสหกรณ์ ระบบสภาคนงาน และสภาผู้บริโภค โดยจะต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายแก้ไขข้อบกพร่องของระบบกลไกตลาดของทุนนิยม เช่น    ปฎิรูประบบภาษีและงบประมาณ เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจนเพิ่มขึ้น ปฏิรูปที่ดิน และปฏิรูปทางโครงสร้างอื่นๆ สร้างระบบสหกรณ์ ระบบรัฐสวัสดิการสังคม ที่ต่างไปจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เอื้อประโยชน์คนส่วนน้อยแบบกอบโกยล้างผลาญทรัพยากรและสภาพแวดล้อม

      ระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือระบบทุนนิยมผูกขาด ระบบเศรษฐกิจแบบนี้อาจจะเรียกว่าระบบเสรีหรือระบบตลาด แต่ความจริงแล้วเป็นเสรีแบบคนมือยาว(มีทุนมาก)ได้เปรียบคนมือสั้น(มีทุนน้อยหรือไม่มีทุน) และเป็นระบบตลาดที่เป็นตลาดค่อนข้างผูกขาด คือมีผู้ผลิตผู้ขายขนาดใหญ่เพียงน้อยราย ไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม เป็นระบบทุนนิยมที่ด้อยพัฒนาหรือเป็นบริวารของประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้นายทุนและคนชั้นกลางส่วนน้อยได้เปรียบคนส่วนใหญ่ และเป็นระบบส่งเสริมการเพิ่มผลิตภัณฑ์สูงสุดหากำไรสูงสุดตามแนวทางพัฒนา “กอบโกยล้างผลาญ” ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรมอย่างมากมายและอย่างรวดเร็ว

      แนวทางการพัฒนาแนวทุนนิยมผูกขาดเป็นแนวทางที่อยู่ตรงกันข้ามกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่กลุ่มชนชั้นนำมักอ้างว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ความจริงคือทุนนิยมในประเทศไทยในปัจจุบันไม่ได้เสรีจริง และเป็นทุนนิยมผูกขาด ที่ไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น หากไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจใหม่ ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงก็จะไม่สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง จะเป็นแค่ไม้ประดับ หรือการใช้สำนวนโวหารให้ฟังดูดีเท่านั้น

      การที่ประชาชนไทยจะสามารถพัฒนาทางเลือกใหม่ที่ต่างไปจากแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกอย่างเป็นระบบได้ จะต้องส่งเสริมให้มีการวิจัย และการวิพากษ์ วิจารณ์ จุดแข็ง จุดอ่อน ความเหมาะสม ไม่เหมาะสมของแนวคิดเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะได้มีโอกาสช่วยกันพัฒนาแนวคิดทฤษฎี ที่อาจเริ่มจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นแนวทางมีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมกับสังคมไทยเป็นไปได้จริงอย่างมีเหตุผลรองรับได้ในทุกด้านมากขึ้น การเสนอคำขวัญว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบลอยๆ เป็นโวหารที่ฟังดูดี แต่ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

      ถ้าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางเลือกใหม่ได้ จะต้องใช้อธิบายในระดับการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ให้กับคนทั้งประเทศได้ จะต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้ ทำให้คนจนซึ่งมีความเป็นอยู่ต่ำกว่าระดับพอเพียงได้มีความพอเพียงในปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น(เช่น อาหาร ที่อยู่ ยา เสื้อผ้าเครื่องใช้ การศึกษาฯลฯ) เสียก่อน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เสนอปรัชญาที่เหมาะสำหรับการเตือนสติคนรวยและคนชั้นกลาง แต่ในทางความเป็นจริงกลับเปิดกว้างให้ต่างคนต่างตีความไปตามความเชื่อและประโยชน์ของกลุ่มตนอย่างที่ไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงแปลกใหม่ไปจากนโยบายการพัฒนาประเทศตามกระแสทุนนิยมโลกแบบที่ทักษิณและทุกรัฐบาลทำอยู่ 

ระบบเศรษฐกิจใหม่ควรเป็นระบบสหกรณ์ผสมทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

      การที่จะปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาแนวทางการพัฒนาทางเลือกใหม่ที่ต่างไปจากระบบทุนนิยมผูกขาด จะต้องคิดถึงเศรษฐกิจมหภาคทั้งระบบ ที่จะประยุกต์ใช้สำหรับคนทั้งประเทศ รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม การค้า          การบริการในเมือง ซึ่งปัจจุบันเป็นพนักงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยจำนวนมากได้ด้วย ระบบเศรษฐกิจใหม่ควรเป็นระบบผสมผสานระหว่างระบบสหกรณ์และทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม วิสาหกิจชุมชน รัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่พนักงานและประชาชนถือหุ้นใหญ่ และมีตัวแทนเป็นฝ่ายบริหารด้วย ฯลฯ จึงจะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจที่พอเพียงสำหรับคนจนส่วนใหญ่ได้

      ระบบสหกรณ์เป็นระบบที่สมาชิกร่วมกันออม, ร่วมกันผลิต, ร่วมกันขาย ฯลฯ ได้กำไรก็มาแบ่งปันกันตามสัดส่วนที่เป็นธรรม เป็นระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าทุนนิยมล้วนๆ และสังคมนิยมล้วนๆ เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบส่งเสริมความมั่งคั่งของนายทุนส่วนน้อย เอาเปรียบคนส่วนใหญ่ และเอาเปรียบธรรมชาติสภาพแวดล้อม ขณะที่สังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางก็มีปัญหาการเป็นระบบราชการที่ใหญ่โต เทอะทะ ขาดแรงจูงใจประสิทธิภาพ และเกิดการฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐ ระบบรัฐวิสาหกิจก็มีปัญหาคล้ายๆกัน

      ระบบสหกรณ์เป็นทางเลือกที่สาม ที่ลดการเอาเปรียบของนายทุนพ่อค้าคนกลาง และมีการบริหารแบบกระจายอำนาจอย่างเป็นประชาธิปไตยได้ดีกว่าระบบสหกรณ์สังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางหรือรัฐวิสาหกิจ ระบบสหกรณ์สามารถพัฒนาได้กว้างขวาง ไม่ใช่แค่สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่เรารู้จัก แต่ยังหมายรวมถึงสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภคในทุกสาขา รวมทั้งการธนาคาร การประกันภัย การประกันสุขภาพ สหกรณ์ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ซึ่งหลายประเทศทั้งในสหรัฐ แคนาดา ยุโรปและญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาระบบสหกรณ์มานับร้อยปีอย่างได้ผล จนปัจจุบันระบบสหกรณ์มีสัดส่วนที่สำคัญทั้งในภาคเกษตรกรรม การเงิน ธนาคาร อุตสาหกรรม การค้าและบริการหลากหลายประเภท

      ชุมนุมสหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดใน ญี่ปุ่น สเปน อิตาลี ฯลฯ แต่ละชุมนุมมีพนักงานที่เป็นสมาชิกเจ้าของด้วยถึง 7-8 หมื่นคน มียอดรวมมูลค่าธุรกิจ ปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ระบบสหกรณ์ช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และลดปัญหาความยากจนได้มาก และปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นระบบสหกรณ์ขึ้นมาใหม่ เป็นแนวทางพัฒนาทางเลือกใหม่ที่สำคัญในเวเนซูเอล่า บราซิล และประเทศโลกที่สามอื่นๆ รัฐบาลที่ก้าวหน้าพยายามพัฒนาระบบสหกรณ์ และระบบสภาหมู่บ้าน สภาชุมชนที่ประชาชนมีประชาธิปไตยมีส่วนร่วมที่แท้จริงเพิ่มขึ้น เพราะเป็นแนวทางที่จะแก้ไข ปัญหาความยากจน และพัฒนาประเทศได้ดีกว่าแนวทางทุนนิยมอุตสาหกรรมและรัฐวิสาหกิจ

      เราอาจนำแนวคิดการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ เศรษฐศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม สังคมนิยมประชาธิปไตย ระบบคนงานเป็นเจ้าของบริษัท     รัฐสวัสดิการ แนวการพัฒนาที่เน้นความสุขประชาชาติแทนผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชน ฯลฯ มาผสมผสานกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ควรอยู่บนพื้นฐานของระบบสหกรณ์ได้ แต่ต้องมองในเชิงเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ไม่ใช่อธิบายแค่เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องทางความคิดจิตใจ ที่วัดได้ยาก และตีความได้ต่างๆนานา ตามอัตวิสัยของแต่ละคน

      หากจะให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาได้ เราจะต้องเปิดใจกว้าง วิเคราะห์เศรษฐกิจสังคมไทยอย่างเป็นจริง มองทั้งด้านบวกและข้อจำกัดต่างๆ ช่วยกันคิดค้น วิจัย ทดลอง ผสมผสานกับแนวคิดอื่นๆ ที่น่าจะนำมาประยุกต์ใช้สำหรับเป็นทางเลือกการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ได้อย่างเหมาะสมที่สุด และพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นแนวคิดการพัฒนาทางเลือกใหม่ ที่ใช้ได้ทั้งระบบคือ ใช้กับภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการ และภาคที่สัมพันธ์กับต่างประเทศได้ด้วย โดยแทนที่จะใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง อาจจะใช้คำว่า เศรษฐกิจแบบสหกรณ์ การพึ่งพาตนเอง เพื่อความเป็นธรรม และยั่งยืน ซึ่งมีความหมายที่ครอบคลุมและสะท้อนความเป็นระบบเศรษฐกิจมากกว่าคำว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ 

      ประเทศไทยมีสิทธิ์เลือกระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ได้ แต่ต้องปฎิรูปใหม่ทั้งระบบ

       ชนชั้นนำและชนชั้นกลางถูกครอบงำให้พัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกมากและคิดว่าไทยเป็นประเทศเล็กๆ ที่ยากจนที่ต้องพึ่งพาการลงทุนและการค้ากับต่างชาติจนไม่มีทางเลือกอื่น ทั้งๆ ที่จริงแล้วประเทศไทยมีประชากรมากเป็นอันดับที่19ของโลก (มากกว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส) มีพื้นที่เป็นอันดับที่47ของโลก และเป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรได้ราว1ใน3 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าหลายประเทศที่มีพื้นที่เป็นภูเขา ทะเลทราย ฯลฯ ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาใน 10 ประเทศ ที่ผลิตอาหารเลี้ยงตนเองได้ และส่งออก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ร้อยกว่าประเทศต้องพึ่งพาการสั่งเข้าอาหาร

      นอกจากนี้ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว มีทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรด้านศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีลักษณะเฉพาะที่สามารถจูงใจให้คนต่างชาติมาท่องเที่ยวได้ค่อนข้างมาก ประเทศไทยมีเงินฝากธนาคารมากกว่า 5 ล้านล้านบาท พอๆกับผลิตภัณฑ์มวลรวม เพียงแต่ส่วนใหญ่เป็นเงินของคนรวยคนชั้นกลางกลุ่ม 20% แรก และไม่ได้กระจายไปสู่ผู้ผลิตภาคเกษตร หัตถกรรมรายย่อย อาคารสังเคราะห์และภาคการผลิตที่เป็นประโยชน์อื่นๆ (ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ) มากเท่าที่ควร

      ประเทศไทย มีศักยภาพที่จะพัฒนาเศรษฐกิจทางเลือกอื่น นอกจากการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบพึ่งพาการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศเป็นด้านหลักได้ นั่นก็ คือ การพัฒนาแบบพึ่งพาแรงงาน ทรัพยากร ภูมิปัญญาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และตลาดภายในประเทศเป็นด้านหลักพึ่ง ต่างประเทศเป็นด้านรอง เพราะหากเรามีรัฐบาลที่ฉลาดเห็นการณ์ไกล ที่จะปฏิรูปการจัดสรรและการพัฒนาการใช้แรงงานและทรัพยากรภายในประเทศให้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง เราจะทำให้ประชากร 64-65 ล้านคนที่มีการศึกษาดีขึ้น มีงานทำที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จนทำให้ประเทศไทย เป็นตลาดขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันได้อีกหลายเท่า

       แต่ปัจจุบันชนชั้นนำ (ทุกรัฐบาล) เลือกใช้นโยบายการพัฒนาประเทศแบบพึ่งพาการลงทุนและเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศมากเกินไป (มูลค่าการส่งออกและสั่งเข้าคิดเป็น 130 – 140% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ) เพราะทำได้ง่ายกว่า และเป็นประโยชน์(ระยะสั้น)สำหรับรัฐบาล(ที่มักมาจากนักธุรกิจและชนชั้นกลาง)และพรรคพวก แต่การพัฒนาแนวเปิดเสรีการลงทุนและการค้ามากไปและเร็วเกินไป ทำให้ประเทศไทยต้องขาดดุลทางการค้าและเป็นหนี้เพิ่มขึ้นตามมา ทุนข้ามชาติเข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์จากดอกเบี้ยและกำไร มากเกินไป ชนชั้นสูง ชั้นกลางใช้จ่าย สินค้าและบริการ จากต่างประเทศฟุ่มเฟือยมากเกินไป และการเร่งรัดพัฒนาที่เน้นความเติบโตสูงสุด ถลุงทรัพยากรและทำลายสภาพแวดล้อมมากเกินไป  ทำให้ประเทศไทยที่พัฒนาแบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง เสียเปรียบทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต้องเป็นหนี้มากขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่จนลง และเป็นหนี้มากขึ้นเช่นกัน

      ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์และมุ่งการพึ่งพาคนและทรัพยากรภายในประเทศเป็นด้านหลัก

      จริงๆแล้ว ประชาชนไทยสามารถเลือกการพัฒนาแนวทางเลือกใหม่ เช่น ระบบสหกรณ์ การเน้นเศรษฐกิจพึ่งตนเองหรือพึ่งพาแรงงานทรัพยากรภายใน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีที่เหมาะสม พัฒนาตลาดภายในประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นได้ ประชากร65ล้านคนนั้นมากกว่าประชากรของอังกฤษ หรือฝรั่งเศส แต่เศรษฐกิจเราเล็กกว่าเขา 10 เท่า เพราะนโยบายการพัฒนาแบบทุนนิยมผูกขาด ทำให้เกิดคนรวยกระจุก (ในมือนายทุน) จนกระจาย (ในหมู่ประชาชน) ประชาชนไทยส่วนใหญ่ การศึกษาต่ำ ประสิทธิภาพต่ำ รายได้ต่ำ ขาดอำนาจซื้อ การผลิตและบริโภคสินค้าจำเป็นอยู่ในเกณฑ์ยังต่ำ ตลาดภายในประเทศเล็ก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ รายได้ต่ำ ขาดอำนาจซื้อ สินค้าที่ผลิตได้ จึงขายคนในประเทศไม่ได้มาก ต้องไปเน้นการส่งออก

      แต่การส่งออกของไทยที่เน้นอุตสาหกรรมประกอบรูปเพื่อการส่งออก กลับต้องส่งเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ พลังงานเพิ่มมากขึ้นมาเป็นเงาตามตัว ทำให้ประเทศต้องเป็นหนี้และต้องพึ่งพานายทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น และติดอยู่ในกับดักของการพึ่งพาทุนต่างชาติที่ดิ้นไม่หลุด เศรษฐกิจภายในประเทศก็ขยายตัวได้ยาก เพราะไม่ได้กระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ สู่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรม

      ถ้าเราเปลี่ยนนโยบายจากการพึ่งพาการลงทุนและการค้าเสรีกับต่างชาติมากไป ซึ่งทำให้เราเสียเปรียบและพัฒนาตามหลังเขาไม่ทันอยู่ดี หันมาทุ่มเทพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคมให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ปฏิรูปการพัฒนาภาคเกษตร การปลูกป่าไม้โตเร็วทั่วประเทศ อุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานจากการเกษตร พัฒนาทรัพยากรที่เรามี เช่น อาหารและสมุนไพรหัตถกรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆ  พัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังจากพืชมูลสัตว์ ขยะ ฯลฯ เทคโนโลยีทางเลือกที่เหมาะสมกับประเทศ อย่างเอาจริงเอาจัง เราจะเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มผลผลิต และการหมุนเวียนใช้แรงงานและทรัพยากรภายในประเทศ เพิ่มการแลกเปลี่ยนและบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น และทำให้ตลาดและเศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้อีกมาก และจะลดสัดส่วนการพึ่งพา การส่งออก และสั่งเข้า ที่ทำให้เราเสียเปรียบลงได้ โดยการเลือกส่งออกสินค้าที่ได้มูลค่าเพิ่มสูง และสั่งเข้าเฉพาะสินค้าที่จำเป็นและเป็นประโยชน์

      การพัฒนาทางเลือกที่แตกต่างไปจากทุนนิยมล้วนๆหรือสังคมนิยมล้วนๆนั้นมีอยู่ แต่คนไทยต้องรู้จักคิด รู้จักค้นคว้า และกล้าทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเองมากกว่าที่จะตามฝรั่ง (หรือญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี) ไปตามกระแสทุนนิยมโลก อย่างที่แล้วมา และที่ยังเป็นอยู่ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง อาจจะถูกตะวันตกหรือกระแสทุนนิยมโลกครอบงำเป็นส่วนใหญ่ และอาจเห็นแก่ตัวระยะสั้นมากกว่าที่จะมองการณ์ไกลเห็นประโยชน์ระยะยาวของการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาคนทั้งประเทศ

      แต่ประชาชนในชุมชนชนบท หลายแห่งรวมทั้งบางส่วนที่อพยพมาอยู่ในเมือง ยังมีการจัดการเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง และช่วยเหลือกัน มีค่านิยมเรื่องสถาบันครอบครัว วัฒนธรรมแบบพี่น้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หลงเหลืออยู่ ปัญญาชนที่รักประชาชน รักชุมชน รักชาติ รักประชาธิปไตยที่แท้ ที่ รวมทั้งความเป็นธรรมด้วย ก็ยังมีอยู่บ้าง เราจึงน่าจะมีโอกาสสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต่างไปจากการเลียนแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกอย่างสุดโต่งได้

      ประเทศไทย เคยอยู่อย่างพอเพียงและร่มเย็นในยุคก่อนทุนนิยม เคยมีวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาแล้วนับพันปี (ก่อนอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ) ดังนั้นเราจึงน่าจะหาแนวทางพัฒนาให้ประชาชนมีปัจจัยพื้นฐาน(อาหาร ยา ที่อยู่ เสื้อผ้าเครื่องใช้ไม่สอย)พอเพียง และเจริญงอกงามทางสังคมและวัฒนธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิต มีความสุขแบบไทยๆ ในโลกยุคใหม่ ได้ดีกว่าที่จะเดินตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเมืองพึ่งตะวันตก

      แนวทางเลือกใหม่คือระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่เหมาะสม เช่นเป็นระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ และการพัฒนาเพื่อความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และยั่งยืน ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง เป็นแนวทางที่เป็นไปได้ ประเทศที่มีอาหารและปัจจัยพื้นฐานพอเพียงอย่างไทย(แต่ยังกระจายไม่เป็นธรรม)ไม่จำเป็นต้องไปพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบไล่ตามประเทศตะวันตก ไม่จำเป็นต้องพัฒนาแบบเป็นประเทศบริวาร หรืออย่างมากก็เป็นได้แค่ประเทศชั้นสองชั้นสามตามมาตรฐานตะวันตกแต่อย่างใด  

       การคิดค้นและพัฒนาทางเลือกใหม่มีความเป็นได้อยู่มาก แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงด้านกรอบความคิด กรอบความเข้าใจของคนไทยใหม่ว่า เศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องการเร่งการหาเงิน และวัตถุ หากอยู่ที่การพัฒนาคนทั้งประเทศให้รู้จักใช้ชีวิตและทำงานได้ดีขึ้น รู้จักการจัดการทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน โดยเน้นเป้าความสุข คุณภาพชีวิตชุมชน และสังคมที่ดี แทนการเน้นการเพิ่มตัวเลขความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม ซึ่งให้ประโยชน์แก่คนส่วนน้อย และเป็นการพัฒนาแบบกอบโกยล้างผลาญ ที่ไม่ยั่งยืน 

 

สารบัญ (บทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร)


สารบัญ หน้า บทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร 1 Executive Summary 9 คำนำ 14 บทที่ 1 ความหมาย ขอบเขต ความเป็นมา ตัวอย่างกรณีศึกษาและผลกระทบ ของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการพัฒนาประเทศ 17 บทที่ 2 นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ การทุจริตคอรัปชั่นและ ผลประโยชน์ทับซ้อน 36 บทที่ 3 การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ชินคอร์ป 62 บทที่ 4 การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทตนเอง และพรรคพวกด้วยวิธีต่าง ๆ 79 บทที่ 5 การหาประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน 94 บทที่ 6 การทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้า (FTA) กับผลประโยชน์ทับซ้อน 112 บทที่ 7 การหาประโยชนทางธุรกิจและการเมืองจากสื่อมวลชน 137 บทที่ 8 แนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อน 155 บทที่ 9 สรุปและข้อเสนอแนะ 180 ภาคผนวก 189 บรรณานุกรม 193

 

บทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร-นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ: การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ-


บทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร

นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ : การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ

(Conflict of Interest)

      วัตถุประสงค์

      งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวนโยบายและมาตรการของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตรในช่วงปี 2544 – 2548 ว่ามีกรณีใดบ้างที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐและผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือไม่ อย่างไร   กรณีเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มทางสังคมกลุ่มต่างๆและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างไร และเราจะใช้การค้นพบในเรื่องนี้เพื่อหาบทเรียนและนำเสนอแนวทาง มาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องการทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) ได้อย่างไรบ้าง

      คำจำกัดความ

      นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ หมายถึง แนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาด้านการผลิตและการกระจายสินค้าและบริการต่างๆทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

      ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หมายถึง ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ต้องตัดสินใจทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ขององค์กรภาคธุรกิจเอกชน และเจ้าหน้าที่ภาคสังคมประชา (Civil Society)

      ในงานวิจัยชิ้นนี้จะเน้นเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นนักการเมือง เนื่องจากพวกเขามีบทบาทก่อให้เกิดปัญหานี้ในระดับสูงกว่าข้าราชการประจำ

      สภาพปัญหา

      ปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อการกำหนดนโยบายพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม หรือการตัดสินใจทางการเมือง ถูกแทรกแซงด้วยผลประโยชน์เฉพาะของบริษัทธุรกิจเอกชน ทำให้ผลที่ออกมา คือนโยบายหรือมาตรการที่ให้ผลประโยชน์กับบริษัทธุรกิจเอกชนบางราย บางกลุ่ม แต่สังคมโดยรวมเสียประโยชน์ ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นรูปแบบใหม่ของการทุจริตคอรัปชั่นที่พบมากขึ้นในยุคที่รัฐเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และการหาประโยชน์จากธุรกิจในโลกสมัยใหม่ มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น มีลักษณะแตกต่างจากการทุจริตคอรัปชั่นรูปแบบเก่า คือ กฎหมายอาจจะเอาผิดไม่ได้ หรือกฎหมายอาจยังล้าสมัย มีช่องโหว่อยู่ แต่สหประชาชาติ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และประเทศส่วนใหญ่ถือว่า เป็นเรื่องผิดจริยธรรมและขัดต่อหลักความเป็นธรรมและระบบการบริหารงานที่ดี (Good Governance) และถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทุจริตคอรัปชั่น

      ผลการวิจัย

      จากข้อมูลของนักวิชาการ วุฒิสมาชิก สมาชิกผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน สื่อมวลชน องค์กร ประชาชน จำนวนมากยืนยันไปในทางเดียวกัน ว่ามีการดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในหลายด้านที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ระหว่างผลประโยชน์ของสาธารณชน กับผลประโยชน์ของเจ้าของ/ผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เครือญาติหรือพรรคพวกของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง

      นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีข้อมูลที่มีน้ำหนักว่าเกี่ยวโยงกับปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ประกอบไปด้วย

  1. การที่นายกรัฐมนตรี (รวมทั้งรัฐมนตรีคนอื่นๆ) เลือกใช้วิธีโอนหุ้นให้ลูกและญาติก่อนเข้ารับตำแหน่ง แทนที่จะโอนหุ้นให้นิติบุคคลดูแลบริหารหุ้นแทนโดยไม่เข้าเกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ทั้งนักการเมืองเหล่านั้น ยังคงใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเอง เช่น บริษัทชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรหลายทาง เช่น
  •  
    • นโยบายนำภาษีสรรพสามิตมาใช้กับบริษัทธุรกิจด้านโทรคมนาคม เอื้อประโยชน์แก่บริษัทธุรกิจที่ลงทุนอยู่แล้ว (เช่นเอไอเอสของกลุ่มชินคอร์ป) ซึ่งสามารถหักจากค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายอยู่แล้วเป็นค่าภาษี และกีดกันธุรกิจรายใหม่ รวมทั้งทำให้บริษัทกสท.โทรคมนาคม และบริษัททีโอทที จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่เป็นฝ่ายเสียประโยชน์
    • การแก้ไขขอลดค่าสัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวีลง และเลื่อนเวลาการออกอากาศรายการประเภทบันเทิงจากภาคดึกมาเป็นภาคหัวค่ำ ซึ่งมีผู้ชมมาก (Prime Time) เพื่อจะได้มีรายได้จากการโฆษณาเพิ่มขึ้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ได้รับสัมปทานซึ่งมีนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลถือหุ้นใหญ่
    • ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษีการสั่งเข้าวัสดุอุปกรณ์ให้กับบริษัทแซทแทลไลท์ในเครือชินคอร์ป และสนับสนุนให้ธนาคาร EXIM BANK ของรัฐให้เงินกู้คิดดอกเบี้ยต่ำกับรัฐบาลพม่า โดยรัฐบาลไทยค้ำประกันเงินกู้ให้พม่า เพื่อจะใช้ซื้อบริการจากบริษัทแซทแทลไลท์ รวมทั้งการที่นายกรัฐมนตรีใช้การเดินทางไปเจรจากับต่างประเทศโดยพ่วงเรื่องธุรกิจการให้บริการดาวเทียมของบริษัทแซทเทลไลท์เข้าไปด้วย
    • กลุ่มชินคอร์ปร่วมลงทุนในบริษัท สายการบินแอร์เอเซีย และใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้โดยทำให้การบินไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นสายการบินแห่งชาติเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
    • หลังจากที่รัฐบาลได้เอื้อประโยชน์ให้บริษัทในเครือกลุ่มชินคอร์ปมีราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหลายเท่าในรอบ 5 ปี ครอบครัวชินวัตรได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมด(โดยไม่ต้องเสียภาษี) ให้กลุ่มเทมาเสกของรัฐบาลสิงคโปร์ในราคาที่ได้กำไรหลายเท่า และยังเท่ากับเป็นการขายกิจการดาวเทียม โทรคมนาคม โทรทัศน์ไอทีวี และสายการบินซึ่งใช้สิทธิ์ของประเทศไทยให้กับต่างชาติด้วย
  1. การตกลงทำสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) แบบทวีภาคีระหว่างไทยกับจีน สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศอื่นๆ เป็นผลดีต่อธุรกิจบางอย่าง เช่น โทรคมนาคม อุตสาหกรรมรถยนต์ เกษตรขนาดใหญ่ฯลฯซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่คณะรัฐบาลมีหุ้นอยู่ แต่เป็นผลเสียต่อเกษตรขนาดกลางขนาดย่อม เช่น ผู้เลี้ยงวัว ผู้ปลูกหอม กระเทียม และผลไม้
  1. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)เป็นบริษัทเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เปิดช่องทางให้นักลงทุนผู้มีอำนาจทางการเมืองได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในราคาพาร์เป็นสัดส่วนสูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 ปีต่อมาผู้ถือหุ้นเหล่านี้ได้กำไรทั้งจากเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่สัดส่วนกำไรที่เคยตกเป็นของรัฐลดลง
  2. ใช้อำนาจหน้าที่และการรู้ข้อมูลข่าวสารเหนือคนอื่น ในการช่วยให้ธุรกิจของพรรคพวกหรือที่ตนจะเข้าไปครอบงำกิจการที่เป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้ขาดการชำระ (NPL) ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ 2540 ให้สามารถปฎิรูปโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทบริหารหนี้เสีย โดยได้ส่วนลดจากเจ้าหนี้สูงมากกว่าธุรกิจอื่นๆที่ไม่ใช่พรรคพวก ธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ที่ขาดการชำระบางรายที่มีศักยภาพดี เช่น บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย (TPI) ถูกบีบให้ต้องขายหุ้นให้รัฐและบริษัทพรรคพวกตนในราคาต่ำ
  3. ใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และวิทยุโทรทัศน์ของภาครัฐ และจัดรายการสนทนาทางโทรทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์เฉพาะด้านบวกของฝ่ายรัฐบาล และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข้อมูลข่าวสาร เชิงวิจารณ์รัฐบาล เช่น ถอดถอนรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่ให้หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจบริษัทพรรคพวกตนให้โฆษณา หนังสือพิมพ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สั่งฟ้องเรียกค่าเสียหายเงินจำนวนมากจากผู้ทำงานด้านสื่อ/นักกิจกรรม/นักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี ทั้งๆที่ในอารยะประเทศถือว่าคณะรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะที่สื่อและประชาชนย่อมมีสิทธิ์วิจารณ์ได้
  4. การใช้งบประมาณทั้งผ่านกระทรวงและงบประมาณกลางซึ่งตั้งไว้เป็นสัดส่วนสูงยิ่งกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา และใช้เงินทุนจากธนาคารภาครัฐลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และโครงการประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไม่มีการวางแผนที่ดี ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ รั่วไหลได้ง่าย โครงการขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งการมีโอกาสได้รับได้ค่าคอมมิชชั่นจากโครงการขนาดใหญ่ ส่วนโครงการประชานิยมเน้นให้ประชาชนกู้เงินและจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม จนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นสูงกว่ารายได้ เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างให้ประชาชนได้เพิ่มขึ้น มากกว่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาภาคประชาชนและชุมชนให้เข้มแข็ง

      ผลกระทบของการคอรัปชั่น/ผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการพัฒนาประเทศ

      สภาพที่เป็นทั้งสาเหตุ และตัวปัญหาที่สำคัญของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนคือ การพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล ไม่ได้กระจายทรัพย์สิน รายได้ และความรู้ไปสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ประชาชนขาดความรู้ข้อมูลข่าวสาร ขาดจิตสำนึกที่จะเข้าใจว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมายหรือเลี่ยงกฎหมาย แต่ก็คือปัญหาความไม่ถูกต้อง ความด้อยประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ไม่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทของไทยพัฒนาตัวเองเพื่อไปแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อไปได้ยาก ประชาชนผู้บริโภคเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเจริญเติบโตช้าลง และพัฒนาไปอย่างไม่มั่นคง และไม่ยั่งยืน

      ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองเร่งรัดการใช้ทรัพยากรกันแบบใครมีอำนาจใครได้ มุ่งหากำไรสูงสุดของเอกชน และการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวม โดยไม่คำนึงต้นทุน และผลตอบแทนทางสังคม หรือผลกระทบต่อประชาชนส่วนรวม การเร่งรัด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสมบัติ งบประมาณ ฯลฯ เพื่อผลิตสินค้าและบริการแสวงหาผลกำไรสูงสุดของเอกชน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโต แต่เป็นประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจส่วนน้อยมากกว่าประชาชนทั่วไป และทำให้เกิดการทำลายสภาวะแวดล้อม การขาดสมดุลในระบบนิเวศ การขาดความสมดุลระหว่างเมืองกับชนบท การกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาความยากจนและปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขั้นพื้นฐานอ่อนแอ มีโอกาสนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจสังคมที่รุนแรงยิ่งขึ้นในระยะต่อไป

แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อน

  •  
    1. แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฎิรูปทางการเมือง ให้ประชาชนมีสิทธิและอำนาจในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นฝ่ายประชาชนหรือฝ่ายเป็นกลาง เป็นอิสระ มีขีดความสามารถที่จะตรวจสอบและถอดถอนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติควรพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีกำลังคนงบประมาณและความเข้มแข็งแบบเดียวกับในสิงคโปร์และฮ่องกง รวมทั้งพัฒนาองค์กรอื่น เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้เข้มแข็งเพิ่มขึ้น
  1. ตราพระราชบัญญัติตั้งองค์กรอิสระเพิ่มขึ้น เช่นองค์กรอิสระข้อมูลข่าวสาร องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรอิสระสภาพแวดล้อมแห่งชาติ องค์กรอิสระเพื่อความโปร่งใส และปฎิรูปกระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการองค์กร ควรให้ได้คนที่เป็นกลาง เป็นอิสระจากพรรคการเมืองจริงๆ และไม่ควรเน้นคุณสมบัติผู้สมัครประเภทที่มุ่งให้ข้าราชการตำแหน่งสูงที่เกษียณแล้วได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการเหล่านี้ เนื่องจากจะทำให้ผู้บริหารองค์กรเหล่านี้ทำงานแบบคิดว่าตนยังเป็นส่วนราชการ และไม่กล้าตรวจสอบนักการเมืองในฐานะเป็นองค์กรอิสระจากรัฐบาลอย่างจริงจัง
  1. รัฐบาลต้องจัดงบประมาณสนับสนุนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้น จัดสรรงบสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชน ให้ทำงานคู่ขนานร่วมมือกับองค์กรอิสระ เพราะการได้รับการสนับสนุน และการเคลื่อนไหวเสริมของภาคประชาชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานขององค์กรอิสระประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง พัฒนาระบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้ก้าวหน้าไปมากยิ่งขึ้น
  2. เร่งปฏิรูปกฎหมาย ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ ปฎิรูประบบราชการ (โดยเฉพาะหน่วยงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการเงิน, การใช้งบประมาณ,การออกใบอนุญาตต่างๆ)  ปฎิรูประบบการศึกษา ปฎิรูปการสื่อสารมวลชน เพื่อให้กลไกการทำงานของกฎหมาย การศึกษา ระบบข้อมูลข่าวสาร มีความชัดเจน โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น
  3. ประชาชน นักวิชาการ ผู้ทำงาน สื่อสารมวลชนต้องร่วมกันเรียกร้องให้หน่วยราชการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณและการใช้จ่ายรวมทั้งการทำสัญญาต่างๆของรัฐให้ประชาชนรับรู้ และเข้าถึงได้ง่าย ร่วมกันศึกษาทำความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน เช่น เรื่องการสื่อสาร โทรคมนาคม ตลาดหลักทรัพย์ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การตกลงการค้าเสรี ฯลฯ ให้ประชาชนเข้าใจและรู้เท่าทันนักการเมืองให้มากที่สุด ประชาชนจะได้ไม่ถูกหลอกให้เป็นเพียงผู้ลงคะแนนให้นักการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นพลเมืองที่จะคอยติดตามตรวจสอบว่านักการเมืองนำทรัพยากรของประเทศไปใช้อย่างไรบ้าง
  4. ส่งเสริมการรวมตัวของภาคธุรกิจ ภาคประชาชนทุกฝ่าย เป็นองค์กรผู้บริโภค และองค์กรเพื่อความโปร่งใสที่เข้มแข็ง ติดตามตรวจสอบการทำงานของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดระบบการบริหารที่ดีหรือธรรมาภิบาล(GOOD GOVERNANCE) คือมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อช่วยตรวจสอบประเภทนี้ และการพัฒนาระบบบริหารที่ดี เป็นหนทางที่ป้องกันและลดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างได้ผลทางหนึ่ง
  5. ปฎิรูปและบังคับใช้กฎหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองและครอบครัวต้องโอนหุ้นให้ทรัสต์ และห้ามผู้มีตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องที่จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่ด้วย กฎหมายฉบับเดิมไม่ได้ห้ามเรื่องครอบครัว และไม่มีระบบตรวจสอบและพิจารณาลงโทษเรื่องการที่ผู้มีตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของคนหรือครอบครัว
  6. ออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูงและคู่สมรส รายงานและเปิดเผย (DISCLOSURE) สถานะการเป็นเจ้าของทรัพย์สินตอนเริ่มเข้ารับตำแหน่ง และหลังจากพ้นตำแหน่ง หรือต้องรายงานทุกปี เพื่อแสดงความโปร่งใสให้สาธารณชนรับทราบว่า เขาไม่ได้ปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สินและไม่ได้ใช้ตำแหน่งทางการเมืองหรือการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์จนมีทรัพย์สินหรือรวยขึ้นผิดปกติ
  •  
         แก้กฎหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบปราบปรามคอรัปชั่นมีอำนาจเพิ่มขึ้น ถ้าหากคณะกรรมการสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนใด มีทรัพย์สินและพฤติกรรมการบริโภคที่ร่ำรวยผิดปรกติ เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าได้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นด้วยวิธีการลงทุนที่สุจริตวิธีใด หากพิสูจน์ไม่ได้ อาจถูกฟ้องยึดทรัพย์สินส่วนเกินและ/หรือถูกลงโทษได้ อย่างเช่นกรณีของฮ่องกง
  •  
    1. การใช้หลักให้ผู้เกี่ยวข้องงดเว้น (RECUSAL) การเข้าร่วมพิจารณา  เพื่อป้อง    กันผลประโยชน์ทับซ้อน เช่นถ้าคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐกำลังพิจารณาว่าจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชนหรือให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูลรับงาน และมีกรรมการบางคนที่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์กับบางบริษัท กรรมการผู้นั้นต้องงดเว้นไม่เข้าร่วมการพิจารณาครั้งนั้น เพื่อป้องกันการลำเอียงจากการหาผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งในการพิจารณาจ้างคน กรรมการที่มีญาติพี่น้องของตนลงรวมสมัครก็ต้องงดเว้น ไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการการพิจารณาคัดเลือก
    2. การให้บุคคลที่สามเป็นผู้ประเมิน (THIRD PARTY EVALUATIONS) เพื่อ ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน หากผู้มีอำนาจจะเป็นฝ่ายประเมินเสียเอง เช่นการที่หน่วยงานรัฐจะเวนคืนที่ดินจากราษฎรเพื่อสร้างเขื่อน หากหน่วยงานรัฐประเมินราคาเวนคืนเอง ก็อาจจะประเมินให้ต่ำ เพื่อที่ตนเองจะได้จ่ายน้อย หรืออาจจะเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกด้วยการประเมินให้พรรคพวกตนที่ไปกว้านซื้อที่ดินมาก่อนหน้านี้แล้วในราคาสูงไป กรณีเช่นนี้ควรให้มีหน่วยงานที่มีอิสระและเป็นกลางเป็นผู้ประเมิน และต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างโปร่งใส
    3. การกำหนดหลักเกณฑ์ทางจริยธรรม (CODE OF ETHICS) หรือหลักเกณฑ์ทางการประพฤติ (CODE OF CONDUCT) สำหรับนักการเมือง ข้าราชการและอาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ เป็นแนวทางชี้แนะว่าบุคคลที่ตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องดูแลผลประโยชน์สาธารณะควรจะทำอะไรหรือไม่ ทำอะไร ที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อที่สาธารณชนจะได้ทราบและจับตามอง และบุคคลนั้นจะมาอ้างภายหลังว่าเขาไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเรื่องทุจริตไม่ได้ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรรับของขวัญ ของกำนัลที่มีราคา ไม่ควรรับการเลี้ยง หรือการให้ความบันเทิงจากบุคคลภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการได้ประโยชน์จากหน่วยงานรัฐเป็นต้น
    สรุป

      สิ่งที่ผู้วิจัยสรุปได้ และต้องการเสนอแนะให้ประชาชนไทยตระหนักคือ การทุจริตคอรัปชั่นไม่ใช่เรื่องความจำเป็นตามธรรมชาติแบบที่บางคนมองว่าตราบใดที่คนยังโลภ การโกงก็เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้น การทุจริตคอรัปชั่นนั้นเป็นเรื่องของการจัดการทางสังคมที่คนในสังคมต่างๆสามารถแก้ไขป้องกันและปราบปรามได้ หากเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ต่างก็เคยมีปัญหาคอรัปชั่นกันมาคล้ายกับของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันพวกเขาแก้ไขปัญหานี้ได้ดีจนมีการคอรัปชั่นเหลือน้อยมากประเทศไทยก็น่าจะมีหนทางแก้ได้ ถ้าเราช่วยกันวิจัยและเผยแพร่ทำให้ประชาชนตระหนักว่าปัญหาคอรัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นมะเร็งร้ายที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายได้มากเพียงใด และการที่ประชาชนจะตื่นตัวลุกขึ้นมาร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นปัญหาใหม่ที่ซับซ้อน และทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงนั้น เป็นภาระสำคัญสำหรับพลเมืองดีที่ต้องการเห็นประเทศชาติพัฒนาไปอย่างเจริญก้าวหน้า เป็นธรรม และยั่งยืน