RSS

มนุษย์จะเจริญขึ้นหรือจะเจอหายนะกันแน่?

30 พ.ค.

มนุษย์จะเจริญขึ้นหรือจะเจอหายนะกันแน่?

โดย : รศ.วิทยากร เชียงกูล
คนไทยในยุคของความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่งที่มีการชุมนุมเดินขบวน ลอบยิงกัน ทำร้ายกัน ฯลฯ อย่างยืดเยื้อ ไม่รู้ว่าจะจบหรือหาทางออกกันได้อย่างไร

เมื่อไหร่ ควรจะได้มีความรู้เรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์เพื่อจะได้แง่คิดในการมองปัญหาปัจจุบันและอนาคตของมนุษย์ในสังคมได้ดีขึ้น

การจัดการศึกษาของไทยยังมีคุณภาพต่ำ เพราะทำให้คนสนใจการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์น้อย เน้นการท่องจำและฝึกทักษะเฉพาะทาง ทำให้คนไทยชอบคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้นๆ และชอบเชื่อแบบเลือกเข้าข้างกลุ่มที่คิดแบบสุดโต่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยใช้อารมณ์ความรู้สึก ศรัทธามากกว่าการใช้เหตุผลและการพิสูจน์ ทดลองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (อย่างเป็นวิชาการ) สังคมแบบนี้ทำให้เกิดความขัดแย้ง, ความรุนแรงและความตกต่ำ ชนชั้นนำไทยยังขาดสติปัญญา, การมองการณ์ไกล มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม มีความรู้ความสามารถที่แก้ปัญหาของประเทศในเชิงปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านทรัพย์สิน รายได้ และการศึกษาสำหรับคนส่วนใหญ่

ความรู้ที่สำคัญคือ มนุษย์เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ วิวัฒนาการมาจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตรุ่นแรกเมื่อ 3,000 กว่าล้านปีที่แล้ว และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างเป็นญาติพี่น้องกัน มนุษย์วิวัฒนาการเป็นสัตว์ที่ฉลาดและเก่งกว่าสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นด้วยปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญคือมนุษย์ใช้ชีวิตแบบรวมกลุ่ม รู้จักร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของกลุ่มและส่วนรวม ทำให้มนุษย์เอาชนะสัตว์ใหญ่กว่า แข็งแรงกว่าได้ อยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองได้ดีกว่าสัตว์ชนิดพันธุ์อื่น แต่มนุษย์ยุคปัจจุบันเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกกลุ่มเล็กๆ มุ่งแข่งขันกันแบบตัวใครตัวมันมากไป นอกจากมนุษย์จะทำสงคราม กดขี่ข่มเหง เอาเปรียบมนุษย์อื่นแล้ว พวกเขายังทำลายเอาเปรียบสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และธรรมชาติระบบนิเวศทั้งหมด ดังนั้น มนุษย์จึงกำลังนำสังคมมนุษย์ทั้งหมดไปสู่หายนะ ประเภท/ภัยพิบัติจากโลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูง ท่วมโลก การทำสงครามแย่งชิงทรัพยากร ดินแดน และอื่นๆ ได้

นอกจากไทยจะมีปัญหาล้าหลังกว่าประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม และประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ เรายังต้องเจอปัญหาเรื่องวิกฤติระบบนิเวศสังคมที่คนทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกันด้วย เรื่องปัญหาวิกฤติระบบนิเวศสังคมของทั้งโลกนี้ ระบบนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องอนาคตของมนุษย์ มองแนวโน้มอนาคตมนุษย์เป็น 2 แนวทางใหญ่ ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

แนวทางแรกคือ พวกที่มองโลกในแง่ดี เชื่อว่าความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการบริหารจัดการของมนุษย์ จะทำให้มนุษย์พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านชีววิทยา นาโนเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ วัสดุศาสตร์ ฯลฯ ที่มนุษย์จะสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาใหญ่ๆ เช่น การขาดแคลนพลังงาน ความยากจนขาดแคลน และปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ได้ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งยังเชื่อว่าความก้าวหน้าของความรู้เทคโนโลยีด้านพันธุกรรมและการดูแลสุขภาพ จะทำให้มนุษย์รุ่นต่อไปฉลาด สติปัญญาดี อายุยืนได้เพิ่มขึ้นกว่ามนุษย์รุ่นก่อน ดังนั้นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีโดยรวมจะทำให้มนุษย์ป้องกันแก้ไขวิกฤติต่างๆ ของโลกได้ และจะทำให้โลกที่มนุษย์เป็นใหญ่ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสังคมได้มากขึ้นตามลำดับ

แนวทางที่สองคือ พวกที่มองโลกในแง่ร้าย ผู้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและวิกฤติด้านระบบนิเวศจะทำให้โลกเกิดภาวะโลกร้อน ระบบนิเวศเสื่อมโทรม เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่แบบถาวร ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การขาดแคลนอาหาร น้ำ และพลังงาน ความขัดแย้งระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน, กลุ่มคนรวยกับกลุ่มคนจนขยายตัวเพิ่มขึ้น เกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างรุนแรง กว้างขวาง ทำให้สังคมมนุษย์ทั้งโลกต้องล้มตายจำนวนมาก สังคมมนุษย์ที่เหลืออยู่ตกต่ำถอยกลับไปสู่ยุคป่าเถื่อนอีกครั้ง

ผู้เขียนเห็นว่านักวิชาการกลุ่มหลังที่มองในแง่ว่ามนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติทั้งระบบนิเวศและเศรษฐกิจสังคม มีข้อมูลและเหตุผลที่มีน้ำหนักความเป็นไปได้มากกว่ากลุ่มแรก แต่ผู้เขียนก็พยายามมองปัญหาธรรมชาติและอนาคตของมนุษย์อย่างกลางๆ ไม่สุดโต่งว่าไปในแง่ร้ายมากเกินไปว่า การวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตามแนวคิดของนักวิชาการกลุ่มแรกอาจจะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นได้ ถ้ามนุษย์เราสามารถปฏิรูประบบการบริหารจัดการเศรษฐศาสตร์การเมืองของโลก ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกส่วนใหญ่ได้ทันเวลา (คือก่อนที่จะเกิดหายนะเสียก่อน)

ปัญหาที่พวกนักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางและนักวิชาการกลุ่มแรกยังขาดความเข้าใจคือ เรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตราบเท่าที่เรายังคงปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจการเมืองของโลกคงเป็นระบบทุนนิยมผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติที่เอื้อแก่ผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ และรัฐบาลชนชั้นนำของประเทศมหาอำนาจ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (เช่น การตัดแต่งพันธุ์กรรมในพืช สัตว์ และคน) จะเป็นไปเพื่อการหากำไรและประโยชน์ชนชั้นนำส่วนน้อยมากกว่าที่จะเป็นความก้าวหน้าที่ให้ประโยชน์ต่อประชาชนชาวโลกอย่างเป็นธรรมและอย่างระมัดระวังต่อการไม่ไปทำลายแทรกแซงความสมดุลของระบบนิเวศของโลก

ปัญหาของมนุษย์ทุกวันนี้ คือ คนส่วนใหญ่เลือกมองโลกในแง่ดีเกินไปแบบคนชั้นกลางที่สบายแล้ว หรือคนชั้นล่างที่ถูกหลอกให้ฝันอยากเป็นคนชั้นกลางว่า มนุษย์เราเก่งพอที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ขณะที่กลุ่มปัญญาชนที่ตระหนักถึงปัญหาวิกฤติส่วนหนึ่งก็ชอบมองโลกในแง่ร้ายแบบสุดโต่ง เย้ยหยัน จนไม่สนใจหรือไม่คิดที่จะทำอะไรมากนัก เพราะคิดว่าตนเองเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบทุนนิยมผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติได้

สิ่งที่สำคัญเร่งด่วนที่สุดคือมนุษย์ที่สนใจปัญหานี้ ต้องช่วยกันศึกษาเผยแพร่ความรู้ความคิดอ่านให้มนุษย์ส่วนใหญ่ตระหนักว่าโลกปัจจุบันที่เน้นการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมมีปัญหาวิกฤติด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมในทุกประเทศทั่วโลกมากขนาดไหน จะเกิดผลอย่างไรต่อไป และจะหาทางแก้ไขได้อย่างไร มนุษย์ควรตระหนักว่าการทำตามแรงขับทางธรรมชาติดั้งเดิมที่ไม่ขัดเกลา คือ มุ่งหาเงินเพื่อการดำรงชีพและการหาความพอใจจากบริโภค ไม่สนใจ ไม่ตระหนัก ว่าการดิ้นรนทำการผลิตหาเงิน คือตัวปัญหาในการทำลายล้างสังคมมนุษย์ ถ้าหากไม่สนใจเรื่องการปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมที่เน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังแล้ว เมื่อถึงวันที่ระบบนิเวศมีปัญหารุนแรงแบบน้ำท่วมโลก อากาศเป็นพิษ ฯลฯ ใครจะรวยแค่ไหนทั้งพวกเขาและลูกหลานก็ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้

 

ป้ายกำกับ:

1 responses to “มนุษย์จะเจริญขึ้นหรือจะเจอหายนะกันแน่?

  1. kaki

    พฤษภาคม 13, 2015 at 2:04 am

    อ่านแล้วก็นึกถึง ธุรกิจในเครือ ที่บริหาร 7/11

     

ใส่ความเห็น