RSS

รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2549/2550 (บทที่ 6)

15 ก.ย.

บทที่ 6

ปัญหาคอขวดและทางออกในการดำเนินปฏิรูปการศึกษา

บทนี้คือบทที่ผู้เขียนพยายามจะวิเคราะห์ สังเคราะห์ในภาพรวม ว่าอะไรคือปัญหาคอขวดหรือปัญหาสำคัญที่สุด ที่ทำให้ความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาในรอบ 7 – 8 ปี ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รวมทั้งการเสนอทางออกเพื่อก้าวข้ามพ้นปัญหาคอขวดเหล่านั้น

6.1 ปัญหาคอขวดในการปฏิรูปการศึกษา

1.ครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้นั้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างถึงรากถึงโคน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและแตกต่างไปจากเดิม เช่นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีทำงานของผู้บริหารการศึกษาและครูอาจารย์ เปลี่ยนแปลงหลักสูตร ตำรา วิธีการสอนแบบบรรยายให้ผู้เรียนท่องจำไปสอบเป็นแบบครูเป็นผู้ชี้แนะ ช่วยให้เด็กรักการอ่าน การใฝ่เรียนรู้ รู้จักวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง คิด วิเคราะห์ ทดลอง วิจัย ลงมือปฏิบัติ การปฏิรูปการศึกษาของไทยในรอบ 7 – 8 ปี ที่ผ่านมา ถูกตีความหมายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและวิธีการทำงานบางอย่างของครูอาจารย์ตามกฎหมาย นโยบายคำสั่ง และคำชี้แนะต่างๆ จากบนลงล่าง

การที่จะให้คนในองค์กร เช่น ข้าราชการ ครูอาจารย์ ผู้บริหารทุกระดับในกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูปการศึกษาหรือปฏิรูปตัวเอง เป็นไปได้ยาก และมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มนุษย์เราโดยทั่วไปมีความเคยชินกับวิถีชีวิตเดิม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง และมักคิดแบบเข้าข้างตัวเอง ว่าตนเองทำถูกอยู่แล้วหรือทำดีอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีคนในองค์กรบางคนที่มีความคิดก้าวหน้า วิเคราะห์องค์กรของตัวเองแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้ และสนใจจะปฏิรูปตัวเองและองค์กรตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นคนส่วนน้อยที่มีอำนาจและบทบาทที่จำกัด ทั้งการที่คนภายในองค์กรจะวิเคราะห์องค์กรของตัวเองนั้น ถึงอย่างไรก็วิเคราะห์ได้จำกัด ไม่เหมือนให้คนนอกที่เป็นกลางไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมาช่วยวิเคราะห์ นักปฏิรูปภายในองค์กรมักจะมองการปฏิรูปในเชิงภาคปฏิบัติจากส่วนที่ตัวเองทำได้ และมักจะเปลี่ยนแปลงแบบเล็กน้อย ค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าจะมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน หรือเปลี่ยนทั้งระบบ ขณะที่คนนอกจะมีโอกาสมองได้กว้างขวางกว่าและอย่างวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า

การปฏิรูปการศึกษาที่เคยได้ผลในประเทศอื่นมักจะมาจากแรงผลักดันของคนภายนอกองค์กร(หรือตัวกระทรวงศึกษา) บางประเทศอาศัยนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีการศึกษาที่เข้มแข็งเป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษา บางประเทศมีการตั้งคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ประกอบด้วยคนนอกกระทรวงศึกษาและคนที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ มาเป็นคณะผู้นำในการปฏิรูป เพราะเขาเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในระดับชาติ ไม่ใช่เรื่องการแก้ไขปรับปรุงเล็กน้อยในระดับกระทรวง การปฏิรูปการศึกษาที่ได้ผลยังมีมาจากแรงผลักดันจากผู้ปกครอง นายจ้าง นักเรียนนักศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้นำทางสังคม ที่ตระหนักว่าการปฏิรูปการศึกษาคือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคุณภาพคนครั้งใหญ่เพื่อที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศได้อย่างแท้จริง

ในประเทศไทยในช่วงเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาใหม่ราวปี 2540 – 2544 มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการการปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ที่เป็นองค์กรต่างหากจากหน่วยงานประจำในกระทรวงศึกษาและมีคณะกรรมการมาจากหลายฝ่าย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นนักการศึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัยในระบบราชการ องค์กรนี้เน้นการปฏิรูปในเชิงเสนอกฎหมายใหม่ และเมื่อดำเนินการเรื่องการร่างกฎหมายเสร็จ องค์กรนี้ก็ยุติบทบาทไป ไม่มีคนอื่นนอกจากผู้บริหารกระทรวงศึกษา ฯ ที่จะมาคอยติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไข1การดำเนินการปฏิรูปการศึกษา38

ส่วนนักการเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่สนใจการพัฒนาเศรษฐกิจ/ธุรกิจแบบเน้นการเจริญเติบโตของสินค้าและบริการ และมองการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือในการรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อการหากำไรสูงสุดของเอกชน มากกว่าจะสนใจการพัฒนาคนทั้งประเทศให้มีทั้งความรู้และคุณธรรมจิตสำนึกเพื่อแก้ไขและพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง พวกเขาจึงมักคิดว่า การจัดการศึกษาแบบแพ้คัดออก คัดเลือกคนส่วนน้อยมาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจก็ดีอยู่แล้ว

แรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกองค์กรที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่ง คือ ผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง นักวิชาการ นักวิชาชีพภายนอก ฯลฯ เช่น การประท้วงเดินขบวนและนัดหยุดเรียนของนักศึกษาฝรั่งเศสในช่วงคริสตวรรษ 1960 ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในประเทศนั้น สำหรับประเทศไทย ปัจจัยด้านนี้มีพลังค่อนข้างน้อย เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนหัวอ่อน เชื่อความคิดของผู้อาวุโสและผู้มีตำแหน่งสูง มากกว่าที่จะได้รับการฝึกอบรมให้ เป็นพลเมืองดีที่ตระหนักเรื่องสิทธิหน้าที่เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ กล้าคิดวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งยังถูกสังคมกล่อมเกลาให้เป็นพวกหวังผลในทางปฏิบัติ เช่น ขอให้มีที่เรียน ขอให้ได้เรียนจบ ได้รับประกาศนียบัตรปริญญาบัตรไปทำงาน มากกว่าการได้รับการชี้แนะ การศึกษามาตั้งแต่ต้น ให้เป็นคนที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน อยากแสวงความรู้และความจริงอย่างมุ่งมั่น

นักเรียนนักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไปมองการศึกษาเป็นเพียงบันไดในการหางานและเลื่อนฐานะทางสังคม ไม่ได้มองการศึกษาอย่างวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ค่อยคิดถึงการปฏิรูปให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น หรือถึงบางคนจะคิดถึงบ้าง แต่ก็ไม่รู้สึกรุนแรงมากพอที่เป็นฝ่ายเรียกร้องผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ภาคธุรกิจเอกชน เช่น บริษัทใหญ่ๆ จะตระหนักว่าการศึกษาไทยผลิตคนมาได้คุณภาพต่ำกว่าที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ และพวกเขาต้องเสียเวลาคัดเลือกและฝึกอบรมพนักงานใหม่มาก แต่พวกเขาก็นิยมการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าส่วนของตนไปวันๆ บางคนอาจแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาบ้าง แต่ภาคธุรกิจเอกชนยังไม่มีการรวมพลังเข้ามาช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะนักธุรกิจนายทุนนักบริหารของไทยโดยทั่วไปแล้วยังคิดอยู่ในกรอบผลประโยชน์ส่วนตัวและองค์กรของตนมากกว่าที่จะมีวิสัยทัศน์คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในระยะยาวอย่างมุ่งมั่น

2. ปัญหาการขาดภาวะผู้นำที่ตระหนักถึงรากเหง้าและความสำคัญของปัญหาการปฏิรูปการศึกษา มองปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นในสังคมแบบเป็นระบบองค์รวม และรู้จักจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เพื่อก่อให้เกิดแกนนำในการเปลี่ยนแปลง (Critical Mass) ที่จะไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบได้อย่างแท้จริง

ผู้นำของไทยตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารในกระทรวงและสถาบันการศึกษาต่างๆ มักมองว่าการศึกษา เป็นแค่การลงทุนพัฒนาคนให้ไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ให้คนมีที่เรียนเพียงพอและให้ระบบเศรษฐกิจมีคนที่มีสาขาความรู้ตามที่ประเทศต้องการ และมีคุณภาพ ประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเพียงพอ การมองเช่นนี้มีส่วนถูก แต่เป็นการมองแคบไป

การมองการศึกษาในความหมายกว้าง หมายถึง การพัฒนาคนทุกด้าน ทั้งความฉลาดทางปัญญา (รวมทักษะวิชาชีพ) ความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดทางด้านจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เพื่อพัฒนาศักยภาพคนอย่างเต็มที่ ให้เป็นพลเมืองดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ช่วยตัวเองและช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้ สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างฉลาดและมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ดังนั้นการจัดการศึกษาที่ดี จะต้องให้โอกาสการพัฒนาคนอย่างทั่วถึง เป็นธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้คนมีโอกาสศึกษาได้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง ไม่ใช่จัดการศึกษาในระบบแพ้คัดออก คัดเฉพาะคนส่วนน้อยมาเรียนระดับสูง เพื่อมีความรู้ทักษะเฉพาะทางออกไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม

ผู้นำนอกจากจะมองปัญหาแคบ มีวิสัยทัศน์แคบแล้ว ยังทำงานแบบระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางและสั่งงานแบบลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น โดยคำนึงระเบียบกฎเกณฑ์มากกว่าผลของงาน ใช้วิธีการทำงานแบบจัดสรรกำลังคนและงบประมาณไปตามกระทรวง กรม กอง แผนกต่างๆ และปล่อยให้ต่างหน่วยต่างทำงานแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของตนไปวันๆ โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์ภาพรวมว่า เนื้อหาและเป้าหมายของงานที่สำคัญ ที่ต้องไปบรรลุให้ได้ คืออะไร ไม่มีการประเมินว่าปัญหา จุดบกพร่อง อยู่ที่ไหน ควรจะแก้อย่างไร ควรจะต้องจัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาต่างๆก่อนหลังอย่างไร

ดังนั้น พวกผู้บริหารทางการศึกษาจึงใช้วิธีทำงานที่ทำให้คำว่าการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งปรกติเป็นคำที่มีความหมายในทางบวก ว่าทำให้ดีขึ้นอย่างถึงรากถึงโคน กลายเป็นคำที่มีความหมายแบบพื้นๆหรือบางครั้งมีความหมายไปในทางลบ เช่น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างการบริหารราชการ ที่ทำให้ครูและผู้บริหารระดับกลางและล่างสับสนมากขึ้น มีคำสั่ง คำชี้แนะจากส่วนกลางให้ทำโน่นทำนี่ การจัดฝึกอบรม และงานประเมินผลด้านเอกสารมากขึ้น ทำให้ครูมีงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนเพิ่มขึ้น มีความงุนงงไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจว่า จริงๆแล้วการปฏิรูปการศึกษาคืออะไร เพิ่มขึ้น

เนื้อหาและเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ หรือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ให้ผู้เรียนใฝ่รู้ รักการอ่าน คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นเพิ่มขึ้น แทนที่จะเรียนแบบบรรยายและท่องจำไปสอบปรนัยแบบเก่า นี่คือโจทย์ใหญ่หรือเนื้อหาและเป้าหมายของงานที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูปการศึกษา ส่วนการแก้ไขกฎหมาย การปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร การมีคำสั่ง คำชี้แนะ การจัดฝึกอบรม การประเมินผลต่างๆนั้น ควรเป็นไปเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ต้องเน้นผลลัพธ์ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ

แต่วิธีการบริหารแบบระบบราชการด้วยการกระจายงบประมาณและกำลังคนไปดำเนินการในทุกเรื่องพร้อมๆกัน เช่น แก้ไขกฎหมายปรับโครงสร้างการบริหาร การพัฒนาหลักสูตร การแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณ การพิจารณาการถ่ายโอนอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่น ฯลฯ ทำให้ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง การกระจายและแบ่งงานกันทำในระดับสำนักงานคณะกรรมการ 5 – 6 แห่ง และเขตการศึกษาต่างๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปแบบ แต่เนื้อหาก็ยังเป็นการมอบหมายงานตามระบบราชการรวมศูนย์ที่สั่งงานจากบนลงล่างแบบเดิมๆ การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาจึงยังไม่ได้ตอบโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาว่า โครงการเหล่านั้นช่วยให้เกิดการปฏิรูปการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นคนเก่ง ดี มีสุข ตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาได้มากน้อยเพียงไร

ดังนั้นถ้าจะประเมินว่าการทำกิจกรรมต่างๆที่เรียกว่าปฏิรูปการศึกษานั้น มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นตรงเป้าหรือไม่ ควรต้องให้คนนอกกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นคนกลางมาประเมินอย่างเป็นธรรมว่า โครงการ กิจกรรมต่างๆที่ทำไปในนามของการปฏิรูปการศึกษานั้น มีส่วนช่วยครูอาจารย์ให้ไปปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาตามเป้าหมายของงานได้จริงหรือไม่ มีจุดแข็งจุดอ่อน ที่จะต้องจัดการแก้ไขอย่างไร รวมทั้งควรหาผู้นำที่เป็นนักปฏิรูปสังคมที่แท้จริง เข้ามาเป็นรัฐมนตรีและผ่าตัดโครงสร้างการบริหารการศึกษาอย่างจริงจัง

3. ระบบคัดเลือก การบริหาร และการให้ความดีความชอบ ครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ภายใต้ระบบราชการแบบรวมศูนย์กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปทางการศึกษา ระบบนี้ทำให้ผู้บริหาร ครูอาจารย์ จำนวนมากหรือส่วนใหญ่ แค่ทำงานตามหน้าที่ให้พอผ่านกฏระเบียบไปวันๆก็ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปีตามระบบอาวุโส ไม่มีการแข่งขัน การตรวจสอบและการประเมินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างจริงจัง แม้จะมีการประเมินเพื่อเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งบ้าง แต่ก็เป็นการประเมินภายใต้กรอบข้าราชการแบบล้าหลัง เช่น การสอบ การประเมินจากงานเขียน และการกรอกเอกสารรายงาน ไม่ได้มีการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานจริง เช่น ประเมินจากผลลัพธ์ในการเรียนของผู้เรียนอย่างแท้จริง

ปัญหาใหญ่คือระบบราชการแบบรวมศูนย์เป็นระบบบริหารแบบระบบอุปถัมภ์ ต่างคนต่างแสวงหาหรือปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ดูแล วิจารณ์ ลงโทษ เพื่อนร่วมงานในกระทรวงอย่างจริงจัง (ยกเว้นกรณีขัดแย้งส่วนตัวหรือการปัดแข้งปัดขากัน) ส่วนการจะได้ดีในระบบราชการมักใช้วิธีประจบ แสดงความจงรักภักดี เป็นพรรคพวก และมีการวิ่งเต้น แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ กลายเป็นระบบการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรมทำให้ครูอาจารย์ที่เก่งหรือดีบางส่วนลาออกไปทำงานที่อื่นที่ท้าทายหรือให้ความพอใจมากกว่า บางส่วนอาจทนอยู่แบบไฟค่อยๆมอดลงตามลำดับ แม้จะมีครูดีเหลืออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่คือครูที่มีคุณภาพปานกลาง รวมทั้งคนที่ไม่ค่อยได้ความ ซึ่งยังคงทำงานแบบสอนบ้าง ไม่สอนบ้าง หรือสอนตามตำรา พออยู่ได้ไปวันๆ เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบประเมินผลประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหารและครูอาจารย์อย่างจริงจัง

ระบบบริหารจัดการเช่นนี้ รวมทั้งวิธีการฝึกอบรมครูที่ส่วนใหญ่ก็สอนบรรยายให้ท่องจำแบบเดิมหรือย่ำอยู่กับที่ ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนต่ำ ผลผลิตของผู้สำเร็จการศึกษา มีคุณภาพด้อยลง แม้จะมีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและคุณภาพ มีผู้บริหารครูอาจารย์ และผู้เรียนที่เก่งมีคุณภาพอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถาบันการศึกษาเหล่านี้ได้รับการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณที่สูงกว่าสถาบันการศึกษาอื่นโดยถัวเฉลี่ย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความมีชื่อเสียงของสถาบันเอง ดึงดูดให้ครูอาจารย์และนักเรียนที่เก่งๆจากทั่วประเทศเข้ามากระจุกตัวอยู่ที่เดียวกัน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจากสถาบันเหล่านี้สูงกว่าที่อื่นๆ แต่หากพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนทั่วประเทศโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่านักเรียนของประเทศอื่นๆ และต่ำกว่านักเรียนในประเทศรุ่นก่อนๆในหลายสาขาวิชาหลักๆ

4. ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณการศึกษาเมื่อพิจารณาในแง่การผลิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมและอาชีวะศึกษา และในแง่ของคุณภาพของผู้จบการศึกษาทุกระดับ ต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งๆที่การจัดสรรงบประมาณการศึกษาของรัฐบาล คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรืองบประมาณประจำปีทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ปัญหาเกิดจากการใช้งบประมาณอย่างไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในหลายด้าน เช่น นิยมใช้งบประมาณก่อสร้างอาคารสถานที่และการซ่อมแซมต่างๆมากกว่าการใช้อุปกรณ์และสื่อการศึกษา หนังสือ ห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ ฯลฯ ซึ่งจะมีส่วนช่วยการพัฒนาการเรียนการสอนจริงๆ มีการใช้งบเงินเดือนบุคลากร ครูอาจารย์มาก โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาขาดแคลนครูอาจารย์ โดยเฉพาะบางสาขาในโรงเรียนจำนวนมาก เนื่องจากมีบุคลากรที่ทำงานเฉพาะด้านการบริหารจัดการธุรการ โดยเฉพาะข้าราชการประจำที่ส่วนกลางที่ไม่ได้สอนจำนวนมาก การกระจายครูอาจารย์ไปตามสถานศึกษาก็มีความไม่เป็นธรรม ครูอาจารย์ที่มีวุฒิสูงกระจุกอยู่กับสถานศึกษาขนาดใหญ่ในเมืองมาก บางโรงเรียนครูเกิน บางโรงเรียนครูขาด ที่มีปัญหามากคือ โรงเรียนเล็กๆในอำเภอรอบนอก ซึ่งมีครูน้อยคน เพราะจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียนน้อย แต่ครูคนหนึ่งต้องสอนหลายชั้นและหลายวิชา

การจัดสรรงบประมาณการศึกษาให้กับระดับการศึกษาต่างๆ และสถานศึกษาต่างๆมีความไม่เป็นธรรม และไม่มีระบบการจัดสรรที่คำนึงต้นทุน และผลตอบแทนอย่างเป็นระบบชัดเจน เป็นการจัดสรรตามอำนาจต่อรองของหน่วยงานและสถาบันต่างๆ รวมทั้งตามประเพณีปฏิบัติ เช่นสถาบันการศึกษาที่ใหญ่และเคยของบได้มากอยู่แล้ว พอปีต่อไปก็ของบต่อยอดจากงบปีก่อนได้เพิ่มขึ้น โดยไม่มีการประเมินผลการใช้งบประมาณ การวางแผนและการพิจารณางบประมาณใหม่แต่ละปีทั้งระบบ ไม่มีการจัดความสำคัญก่อนหลัง ว่าควรใช้งบประมาณส่วนไหนมากที่สุดจึงจะเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมได้มากที่สุด หากจัดตามกรอบการบริหารแบบราชการ

บ่อยครั้งที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ใช้วิธีของบพิเศษต่างหากเพื่อตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือสร้างโครงการใหม่เป็นเรื่องๆไป ซึ่งบางเรื่องอาจจะจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นประโยชน์จริง แต่บางเรื่องเป็นการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลแบบแล้วแต่ผู้บริหารจะได้ข้อมูลส่วนไหน หรือมีความเห็นส่วนตัวว่าอะไรสำคัญในขณะนั้น

5. ระบบการประเมินผลและการสอบแข่งขันเพื่อรับการคัดเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย (หรือระดับอื่นด้วย)ยังเป็นการสอบแบบปรนัย เพื่อวัดความสามารถในการจดจำข้อมูล ทำให้ขัดแย้งกับแนวคิดปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ที่เสนอว่าควรจะให้ผู้เรียนได้หัดคิดหัดวิเคราะห์เป็น แม้การสอบแบบปรนัยหากออกแบบให้ดีมากๆ ก็ยังช่วยส่งเสริมความเข้าใจการคิดวิเคราะห์ได้บ้าง แต่ก็ทำได้จำกัด ส่วนใหญ่การสอบคัดเลือกรวมทั้งการสอบไล่แต่ละชั้นปี การทดสอบระดับชาติ ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนมัธยมปลายเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังวัดเรื่องความสามารถในการจดจำข้อมูลเป็นด้านหลัก

ระบบการประเมินผลแบบนี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเรียนรู้แบบใหม่ที่ต้องการให้ผู้เรียนเก่ง ดี มีความสุข คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์ นักเรียน ต่างก็ห่วงแต่เรื่องการทำเกรดเพื่อการสอบแข่งขันในระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก คัดเลือกคนส่วนน้อยไปเรียนระดับสูง

ปัญหาที่เชื่อมโยงกันคือปัญหาสถาบันการศึกษามีคุณภาพแตกต่างกันมาก มหาวิทยาลัยของรัฐตั้งมานานกว่าและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐมาก ทำให้มีชื่อเสียงกว่า ผู้เรียนเสียค่าเล่าเรียนต่ำกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้นักเรียนต้องแข่งขันแย่งกันเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ใหญ่และมีชื่อเสียง เพื่อที่จะได้ปริญญา ไปแข่งขัน หางานทำ หาเงินให้มาก ภายใต้ระบบและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเพิ่มผลผลิตและการหากำไรสูงสุด

ทั้งการสอบแข่งขันคัดเลือกคนเรียนต่อ โครงสร้างของการจัดสรรงบประมาณ การจัดการศึกษา เพื่อคัดคนส่วนน้อยไปรับใช้ระบบเศรษฐกิจ ล้วนเป็นอุปสรรคโดยสิ้นเชิง ต่อการปฏิรูปการศึกษาชนิดที่จะทำให้ผู้เรียนเก่ง ดี มีสุข เพราะการเน้นความเก่งในการทำคะแนน ซึ่งอาจเป็นความเก่งแบบท่องจำเก่ง มากกว่าการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์นั้น ไม่ใช่ความก่งชนิดที่ผู้เรียนจะปรับตัวและต่อสู้ในโลกจริงได้ดี ส่วนการจะสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดีและมีความสุข ก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก แบบต้องเอาชนะเพื่อน เอาชนะทุกคน เพื่อให้ได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งหมายถึงการมีโอกาสได้เรียนในคณะหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และต่อไปมีโอกาสทำเงินได้มากที่สุด เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการที่จะส่งเสริมให้นักเรียนเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม รู้จักทำงานเป็นกลุ่ม คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ทั้งการสอบแบบเน้นที่ท่องจำและแข่งขันแบบแพ้คัดออก ก็ทำให้ทั้งผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งครูต้องเคร่งเครียด หาความสุขจากการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ได้ยาก

6.2 ทางออกจากปัญหาคอขวดของการปฏิรูปการศึกษา

1. การลดขนาดและลดบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการลง ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และองค์กรอื่นๆเป็นสัดส่วนสูงขึ้นแทน การวิจัยและการประเมินผลของสมศ.และหน่วยงานพบว่า นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดยโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผลสัมฤทธิ์การเรียนโดยโรงเรียนเอกชนเฉลี่ยสูงกว่านักเรียนของสถาบันการศึกษาของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ และการวิจัยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจสูงกว่าไทยในหลายประเทศ ภาคเอกชนและการปกครองท้องถิ่นมีบทบาทการจัดการศึกษาเป็นสัดส่วนสูงกว่าของไทยมาก ของไทยภาครัฐจัดการศึกษาถึงราว 85 % เอกชนจัดเพียง 15 % ประเทศอื่นจะอยู่ระหว่างรัฐ 60 – 70 % เอกชน 30 – 40 %

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาชนิดให้เอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และองค์กรประชาชนแบบอื่น ๆ จัดการศึกษาได้เป็นสัดส่วนสูงขึ้น จะส่งเสริมให้มีการแข่งขันของสถานศึกษา และทำให้การปฏิรูปการบริหารจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนเป็นไปได้เร็วขึเน

วิธีการคือ ลดอำนาจและบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะที่ส่วนกลางลง กระจายอำนาจให้เขตพื้นที่และสถาบันการศึกษาโดยตรงเพิ่มขึ้น ให้เสรีภาพองค์กรอื่นๆในการจัดตั้งสถาบันการศึกษา และใช้วิธีจัดตั้งสมาคมผู้บริหาร สมาคม ครูอาจารย์ สมาคมวิชาชีพด้านต่างๆ มาดูแลกันเอง และให้สถานศึกษากำหนดหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตกระทรวงศึกษาฯ โดยให้สมศ.ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนเป็นผู้ประเมินและรับรองมาตรฐานของสถาบันการศึกษาและให้ข้อมูลข่าวสารต่อผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ

การที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ ควรเปลี่ยนจากการที่รัฐเคยจัดสรรงบประมาณไปให้ที่สถาบันการศึกษาของรัฐโดยตรงทั้งหมด มาเป็นจัดสรรบางส่วนอุดหนุนผู้เรียนโดยตรง โดยจ่ายเป็นคูปองการศึกษา ให้ผู้เรียนเลือกไปจ่ายให้สถานศึกษาแทน และควรมีคณะกรรมการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการศึกษา ที่จะดูแลภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้มีการวางแผนที่กระจายการลงทุนทางการศึกษาแก่ท้องถิ่นต่างๆอย่างทั่วถึง เป็นธรรม โดยควรชะลอการขยายตัวของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ เพิ่มงบประมาณให้สถาบันการศึกษาขนาดกลางและขนาดเล็ก ในจังหวัดและอำเภอรอบนอก ส่งเสริมให้ครูอาจารย์มีแรงจูงใจในการไปทำงานในโรงเรียนรอบนอกเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ นอกจากนี้แล้วต้องปฏิรูประบบงบประมาณให้รัฐสามารถจ่ายเงินอุดหนุนให้สถานศึกษาแบบอื่นๆได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัวด้วย

2. การหาคนนอกที่เข้าใจปัญหาการศึกษาอย่างถึงรากเหง้าเป็นระบบองค์รวมและมีภาวะผู้นำมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและผ่าตัดการปฏิรูปการบริหารของกระทรวง จัดลำดับความสำคัญให้การปฏิรูปครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาอย่างจริงจังมีความสำคัญเป็นอันดับสูงสุด เพราะกระบวนการจัดการศึกษา การวัดผล และส่งต่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนต่อหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของครูอาจารย์เป็นด้านหลัก

การจะปฏิรูปครูอาจารย์อย่างขนานใหญ่ อาจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มครูเก่งครูดีอยู่แล้ว ควรเพิ่มแรงจูงใจเช่น ปรับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ ให้ทุนทำวิจัยและทำกิจกรรมเพื่อขยายบทบาทไปช่วยครูคนอื่นๆ และช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น 2. กลุ่มครูปานกลาง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ต้องมีโครงการฝึกอบรมให้การศึกษาใหม่อย่างจริงจัง โดยเน้นให้ครูใช้เวลาตอนเย็นและช่วงปิดเทอมเรียนรู้พัฒนาตนเอง ผ่านการศึกษาทางไกล และการจัดอบรมสัมนา เพื่อให้ครูเรียนรู้ที่จะเป็นครูแบบใหม่ ที่รักการอ่าน คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น และถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแรงจูงใจให้ทุนเรียน ให้งบสนับสนุนการซื้อหนังสือและการใช้อินเทอร์เน็ต ฯลฯ และควรปรับเงินเดือนวิทยฐานะหลังจากที่ครูผ่านการประเมินว่าได้มีการเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มเติมได้ 3. กลุ่มครูหัวเก่าและครูแบบไม้ตายซาก ที่สอนแบบเก่าไปวันๆ ไม่สนใจอ่านหรือติดตามความรู้ใหม่ ไม่มีจิตใจเป็นครูที่ดี เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ยาก ถึงจะให้โอกาสการจัดฝึกอบรมใหม่ ประเมินใหม่แล้ว ก็ยังไม่ได้ผล ควรถูกโยกย้ายไปทำงานธุรการและให้เกษียณก่อนกำหนด 4 กลุ่มครูรุ่นใหม่ ควรมีการคัดเลือก ให้ทุนคนมาเรียนครูแบบหาคนที่มีความคิดอุดมการณ์อยากเป็นครูและเป็นคนเรียนเก่งด้วย โดยมีแรงจูงใจหาตำแหน่งงานให้ และปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ท้าทาย มีคุณภาพประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ปรับเงินเดือนครูอาจารย์ให้สูงขึ้น เราจึงจะสามารถสร้างคนที่จะเป็นแกนนำไปปฏิรูปการเรียนการสอนแบบใหม่ได้

ประเด็นที่ควรให้ลำดับสำคัญไม่น้อยกว่าการปฏิรูปครูอาจารย์คือ การปฏิรูปที่เริ่มจากตัวผู้เรียน โดยเฉพาะวัยที่สำคัญที่สุดคือวัยอนุบาลหรือก่อนชั้นประถม เนื่องจากเป็นวัยที่สมองมีโอกาสพัฒนาได้มากที่สุด เร็วที่สุด ถ้าเราลงทุนปฏิรูปการศึกษาวัยอนุบาลทั่วประเทศให้มีคุณภาพ จัดการศึกษาแบบกระตุ้นส่งเสริมมีพัฒนาการรอบด้าน การเรียนรู้โดยสื่อหลายทางและโดยการลงมือปฏิบัติของผู้เรียน ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองอย่างจริงจัง จะเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็ง ช่วยให้นักเรียนของเราฉลาดขึ้น รักการเรียนรู้และพร้อมที่จะเรียนรู้ในระดับต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

สำหรับผู้เรียนวัยอื่นๆสิ่งที่ควรทำคือ กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการอ่าน การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะและกระบวนการคิดเช่น คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดเชื่อมโยง ค้นคว้า ฝึกทำรายงาน โครงการต่างๆด้วยตนเองหรือเป็นกลุ่มย่อยเพิ่มขึ้น ทั้งการศึกษาในหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตร ทั้งในชั้นเรียน สถาบันการศึกษา และในชุมชน ในสังคมภายนอก ผ่านสื่อและการจัดกิจกรรมต่างๆ การทำให้เด็กเยาวชนเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง เป็นคนที่อยากอ่าน อยากค้นคว้า อยากรู้อยากเห็น กล้าซักถามพ่อแม่ครูอาจารย์ จะเป็นแรงผลักดันให้พ่อแม่และครูอาจารย์ ต้องสนใจการอ่าน การเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้ตอบคำถามนักเรียนนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น

การที่ปัจจุบันนักเรียนนักศึกษาได้แต่นั่งฟัง และจดตามที่ครูอาจารย์สอนอย่างเงียบๆทำให้ ครูอาจารย์ส่วนใหญ่ใช้แต่หนังสือเล่มเดิม สอนแบบเดิม ไม่ได้ไปอ่านเรียนรู้ค้นคว้าเพิ่มเติม แต่ถ้านักเรียนนักศึกษากล้าคิดกล้าถามมากขึ้น จะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้จากล่างขึ้นบนที่สำคัญ คือจะเป็นแรงผลักดันให้ครูอาจารย์และต่อไปคือระดับผู้บริหารต้องปฏิรูปการเรียนรู้ของตนเองด้วย บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองในการตรวจสอบดูแลให้ครูและสถาบันการศึกษา ต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน เพื่อจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้ลูกหลานของตน ก็เป็นบทบาทที่สำคัญที่ควรส่งเสริมเช่นเดียวกัน

3. การปฏิรูปครูอาจารย์ควรทำตามอย่างประสบการณ์ในประเทศอื่นที่พบว่า การรักษาครูดีครูเก่ง(รวมทั้งผู้บริหาร)ให้อยู่ต่อ (คือไม่ลาออกไปทำงานอื่น) และการสร้างและให้แรงจูงใจแก่ครูรุ่นใหม่ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลดีกว่า การที่จะพยายามพัฒนาครูอาจารย์เดิมที่คุณภาพค่อนข้างต่ำ ทั้งระบบอย่างไม่จำแนก โดยเฉพาะครูอาจารย์ที่มีทำตัวเป็นไม้แก่ดัดยาก ไม่ค่อยสนใจการเรียนรู้ ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ ถึงจะมีการจัดฝึกอบรม ถึงจะมีการให้แรงจูงใจ เช่น ให้เงินประจำตำแหน่งวิทยฐานะเพิ่มขึ้น ก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้พวกเขาปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอนให้มีมีคุณภาพดีขึ้นได้มากนัก

การปฏิรูปครูอาจารย์ให้มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องมีการประเมินครูอาจารย์อย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจัง โดยระบบการประเมินต้องมีคุณภาพและยุติธรรม ผู้ที่ถูกประเมินไม่ผ่านในด้านการเป็นครูที่ดีและการเป็นครูที่สอนแบบใหม่เป็น ควรโยกย้ายให้ไปทำงานด้านธุรการและงานสนับสนุนการศึกษาซึ่งยังขาดแคลนอยู่ ครูอาจารย์คนไหนที่ได้รับการประเมินที่ต่ำมาก ควรให้เกษียณตั้งแต่อายุ 55 ปีได้โดยจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญให้ และหาครูแบบใหม่มาแทนซึ่งรวมถึงจูงใจให้คนที่มีความรู้มีประสบการณ์อยู่แล้วที่อยู่นอกออาชีพครูเข้ามาเป็นครูแบบใหม่ด้วย

ทั้งนี้จะต้องจัดให้มีโครงการคัดคนเรียนเก่งและอุปนิสัยที่ดีมาเรียนครูโดยให้ทุนและรับประกันการมีงานทำ เร่งปฏิรูปการฝึกหัดครูอาจารย์แบบใหม่ให้มีคุณภาพที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างแท้จริง รวมทั้งการรับผู้จบปริญญาตรี โท เอก สาขาต่างๆและผู้ทำงานในภาคอื่นๆที่มีความรู้ทางวิชาการค่อนข้างดี มาฝึกอบรมด้านจิตวิทยาการเรียนการสอนและการศึกษาเพื่อมาต่อยอดเป็นครูอาจารย์แบบใหม่ โดยปรับระบบเงินเดือนค่าตอบแทนให้สูงขึ้นและมีการคำนวณบวกประสบการณ์การทำงานให้แบบเดียวกับภาคธุรกิจเอกชน ถ้าทำหลายอย่างที่กล่าวมานี้ได้โดยการลงทุนด้านงบประมาณมากพอสมควร จะสามารถสร้างครูอาจารย์ที่มีคุณภาพได้เร็วขึ้นในจำนวนที่พอเพียง โครงการที่ผ่านมา เช่น การสร้างครูอาจารย์สาขาขาดแคลนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ใช้เวลา 5 –6 ปี ผลิตครูได้ไม่กี่ร้อยคน แถมยังมีปัญหาขาดการวางแผนอย่างครบวงจร เช่น ผลิตครูสาขาขาดแคลนจบมาแล้วแต่ไม่มีอัตราจ้างครูอย่างเพียงพออีก

4. การปฏิรูประบบการจัดสรรและค่าใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ต้องใช้นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาเข้าไปช่วยวางแผนและติดตามการดำเนินงานในกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งต้องฝึกอบรมให้ผู้บริหารทุกระดับรวมทั้งระดับสถานศึกษา มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาและการบริหารจัดการ และมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เอาใจใส่ดูแลการใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชนอย่างแท้จริง มีระบบการตรวจสอบประเมินผล รวมทั้งคำแนะนำการใช้จ่ายงบประมาณให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

รัฐสามารถเพิ่มงบประมาณการศึกษาได้หลายทาง เช่น การปฏิรูประบบภาษีอากรแบบเก็บจากทรัพย์สินของคนรวย ธุรกิจขนาดใหญ่ การบริโภคฟุ่มเฟือยต่างๆเพิ่มขึ้น การปฏิรูปการหารายได้จากทรัพย์สมบัติของชาติ เช่น คลื่นความถี่ วิทยุ โทรทัศน์ เพิ่มขึ้น การออกกฎหมายกำหนดให้วัดซึ่งหลายแห่งในกรุงเทพและเมืองใหญ่มีทรัพย์สินมากต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาและจัดการศึกษาในสถานศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนวัดเดิมหรือเป็นสถานศึกษาในชุมชน การให้รัฐและเทศบาลออกพันธบัตรเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้โดยตรงเหมือนในประเทศอื่น เพราะการศึกษาเป็นการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว และทั้งรัฐบาลและเทศบาลก็มีเครดิตดีพอที่จะกู้เงินจากภาคเอกชนในรูปพันธบัตรมาใช้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ เมื่อประชาชนมีการศึกษาดีขึ้น จะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลและเทศบาลก็จะเก็บภาษีและหารายได้เพิ่มขึ้น พอที่จะนำมาใช้หนี้พันธบัตรได้ ปัจจุบันรัฐบาลได้แต่ออกพันธบัตรไปช่วยธนาคารสถาบันการเงินที่บริหารงานผิดพลาดจนขาดทุน ซึ่งเป็นการช่วยคนรวยส่วนน้อย มากกว่าการช่วยประชาชนส่วนใหญ่

5. การเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณ การจัดการศึกษาและการประเมินผล/สอบคัดเลือกใหม่ จากการที่รัฐจัดสรรงบประมาณอุดหนุนสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐทั้งหมดเป็นเงินค่อนข้างมาก เป็นการให้คูปองการศึกษาแก่ผู้เรียนที่จะใช้ไปเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ จัดสรรงบประมาณและกำลังคนให้สถานศึกษาในจังหวัดและอำเภอรอบนอกเพิ่มขึ้น ปฏิรูปการศึกษาอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีทุนการศึกษาและเงินกู้ยืมสำหรับผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น กำหนดคุณวุฒิวิชาชีพและอัตราเงินเดือนผู้จบอาชีวศึกษาให้สูงขึ้นและส่งเสริมให้มีการจ้างงาน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเลือกเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น ไม่ต้องมุ่งแข่งขันแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนใครอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยภายหลังให้ทำได้ง่ายขึ้น เช่น คนทำงานแล้วมาสมัครเรียนตอนเย็น เสาร์อาทิตย์ เรียนทางไกล เรียนผ่านระบบออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตและการใช้สื่ออื่นๆ ได้อย่างสะดวกและมีคุณภาพ ถ้าทำเช่นนี้ได้นักเรียนชั้นมัธยมปลายก็จะได้ไม่ต้องเน้นการทำเกรดเพื่อแย่งกันเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากเกินไปและเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงการสร้างค่านิยมแข่งขันเห็นแก่ตัวด้วย

การประเมินผล/การสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับสูงขึ้น ควรประเมินผลในด้านการพัฒนาตนเอง ทั้งด้านปัญญา อารมณ์ คุณธรรมจริยธรรมหรือจิตสำนึกเพื่อสังคมอย่างรอบด้านด้วย ไม่ใช่พิจารณาจากการสอบแบบเน้นการท่องจำข้อมูลด้านเดียว การรับคนเข้าเรียนต่อระดับสูงต้องพิจารณาจากความถนัดความเหมาะสมของผู้เรียนด้วย เช่น การรับนักศึกษาแพทย์ในบางประเทศ กำหนดให้ผู้สมัครต้องไปเป็นอาสาสมัครทำงานเป็นผู้ช่วยให้บริการในโรงพยาบาลระยะหนึ่งก่อนจึงจะมาสมัครได้ เพื่อที่จะดูคะแนนความประพฤติ นิสัย ความอดทนและมีเมตตาธรรมระหว่างปฏิบัติงาน ประกอบกับคะแนนในชั้นมัธยมปลาย ไม่ใช่ดูแค่คะแนนอย่างเดียว การรับนักศึกษาสาขาอื่นๆก็ต้องพิจารณาจากการทำกิจกรรมเพื่อดูความประพฤติและอุปนิสัย ใจคอ ด้วย

การเปลี่ยนวิธีการวัดผล/การสอบคัดเลือกเป็นเรื่องสำคัญที่จะเปลี่ยนวิธีการสอนการเรียน เปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของนักเรียนซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ เพราะจะทำให้นักเรียนตระหนักว่า การศึกษาหมายถึงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในทุกด้าน คือทั้งปัญญา อารมณ์ จิตสำนึกเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่สอบเพื่อเอาคะแนนและวุฒิบัตร/ปริญญาบัตรเท่านั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงจะทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มุ่งให้คน ทั้ง เก่ง ดี มีความสุขได้

บทที่ 1 : เศรษฐกิจการเมืองไทยและความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
บทที่ 2 : การจัดการศึกษาในปี 2549 – 2550
บทที่ 3 : การประเมิน การจัดสรรทรัพยากร ประสิทธิภาพ และความเสมอภาคในการจัดการศึกษา
บทที่ 4 : ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการการศึกษษ
บทที่ 5 : บทบาทของการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ
บทที่ 6 : ปัญหาคอขวดและทางออกในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา
บทที่ 7 : การศึกษาและการพัฒนาประเทศแบบองค์รวมเพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความยั่งยืน

Download เอกสารเล่มเต็ม PDF

 

7 responses to “รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2549/2550 (บทที่ 6)

  1. พระชนะ

    กรกฎาคม 2, 2008 at 6:09 pm

    เจริญพร ผู้จัดทำ

    อาตมภาพได้อ่านบทความแล้วเป็นบางส่วนเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก จึงใคร่เจริญพรมาเพื่อสอบถามถึงรายงานฉบับเต็มว่าสามารถที่จะโหลดหรืออ่านได้ที่ไหนเพิ่มเติมอีก… หากจะให้ความอนุเคราะห์แก่อาตมาภาพก็ขอให้แจ้งทางเมล์ด้วย…

    แจ้งมาเพื่อทราบ
    เจริญพร

     
  2. ศศิธร

    กรกฎาคม 10, 2008 at 9:56 pm

    ขอบคุณมากนะคะสำหรับบทความ… มีความคิดเห็นเหมือนกันเลยคะ..ในเรื่องของปัญหาการจัดการศึกษาไทย.. ขอนำบทความไปใช้อ้างอิง หน่อยนะคะ กำลังศึกษาปริญญาโทบริหารการศึกษาอยู่ค่ะ…

    ขอบพระคุณมานะที่นี้อีกครั้งนะคะ

     
  3. ชมรมศึกษาผลงานฯ

    กรกฎาคม 28, 2008 at 12:46 pm

    ยินดีค่ะคุณ ศศิธร

     
  4. ธนวัฒน์ ภิรมย์ไกรภักดิ์

    กุมภาพันธ์ 21, 2009 at 12:32 am

    อยากได้บทความฉบับเต็มครับ เพราะขณะนี้กำลังเรียนบริหารการศึกษา
    ไม่ทราบว่าฉบับเต็ม จะโหลดหรืออ่านได้ที่ไหนเพิ่มเติมอีก… หากจะให้ความอนุเคราะห์ จะเป็นพระคุณยิ่งครับ ขอลพระคุณล่วงหน้าครับ

     
  5. ชมรมศึกษาผลงานฯ

    กุมภาพันธ์ 23, 2009 at 2:02 pm

    จัดส่งให้แล้วนะค่ะคุณธนวัฒน์ ภิรมย์ไกรภักดิ์ มีรายงานสภาวะ ปี 50-51 แล้วนะค่ะหากต้องการ

     
  6. บังอร

    สิงหาคม 20, 2010 at 4:15 pm

    บทความน่าสนใจมากค่ะ อรขออนุญาตนำไปอ้างอิงในการทำรายการ ปัญหาการศึกษาไทย นะคะ ขอบพระคุณค่ะ

     
  7. ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

    สิงหาคม 20, 2010 at 6:29 pm

    ยินดีค่ะเพราะบทความของอาจารย์ต้องการให้เผยแพร่อยู่แล้วค่ะ

     

ใส่ความเห็น