RSS

Category Archives: บทบาทของผู้มีการศึ

บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่อง
“ก้าวข้ามระบอบทักษิณ สู่เส้นทางการปฏิรูปการเมือง-เศรษฐกิจ”
วิทยากร เชียงกูล
โดย สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์

บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก

(ดัดแปลงจากปาฐกถาศรีบูรพา ครั้งที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2550)

สถานการณ์โลก

โลกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่การทดลอง สร้างสังคมนิยมของหลายประเทศเช่นโซเวียตรุสเซีย ยุโรปตะวันออกล้มเหลว และประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมปรับตัวได้ดีเกินคาด โลกได้ก้าวสู่ยุคหลังสงครามเย็นซึ่งเป็นโลกยุคเผด็จการทุนนิยมที่ซ่อนรูปและหลอกลวงได้แนบเนียนยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

โลกทุนนิยมสมัยใหม่เป็นเผด็จการในแง่ของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ และทางสื่อสารมวลชนของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากสหรัฐและประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเพียงไม่กี่บรรษัท บรรษัทข้ามชาติหลายแห่งมียอดขายสินค้าและบริการสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยด้วยซ้ำ

บรรษัทข้ามชาติมีทั้งอำนาจผลประโยชน์ และมนต์ขลังที่ทำให้รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ในโลกโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ต้องเปิดเสรีด้านการลงทุนและการค้าให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามากอบโกยล้างผลาญทรัพยากร ครอบงำวิถีชีวิต หรือแม้แต่การคิดของคนไทย โดยที่คนไทยซึ่งมองฝรั่งในแง่ดีเพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้น มักไม่รู้ตัว และคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากการเปิดการลงทุนและการค้าเสรีในแง่ที่ว่าทำให้ประชาชนได้มีโอกาสบริโภคสินค้าและบริการต่างๆอย่างหลากหลายและตื่นตาตื่นใจในราคาที่คนฐานะปานกลางโดยทั่วไปสามารถซื้อหาได้

ประชาชนไทยส่วนใหญ่ถูกนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อบอกเล่าซ้ำซากทำให้เชื่อว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์หรือโลกของความก้าวหน้าสมัยใหม่ที่ทำให้พวกเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะได้บริโภคสินค้าและบริการด้วยความสะดวกสบายรวดเร็ว อย่างชนิดที่คนรุ่นพ่อแม่ของเรา ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ขณะที่คนงานที่มาจากชนบทตื่นเต้นกับห้างสรรพสินค้า และสถานบันเทิงต่างๆในเมืองใหญ่ คนชั้นกลางก็คิดว่าเราช่างโชคดี ที่สามารถกดปุ่มเพื่อชมข่าวสารจาก CNN ดูหนังจาก HBO ซีนีแมกซ์ วอเนอร์บราเธอร์ และอื่นๆ รวมทั้ง อ่านหนังสือพิมพ์ TIME, FORTUNE และอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายและสะดวกสบายมาก โดยที่เราไม่ค่อยรู้ตัวว่าในบรรดาชื่อทั้งหมดนี้ และยังมีสื่อชื่ออื่นๆอีก ล้วนเป็นทรัพย์สินของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงบริษัทเดียวคือ TIME WARNER

เมื่อพิจารณาถึงสื่อของโลกทั้งโลกในปัจจุบัน เราจะพบว่าบริการสื่อสารมวลชน 70% ของทั้งโลกเป็นเจ้าของและบริหารโดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพียง 8 บริษัทเท่านั้น 4 สื่อที่เราได้ฟังและได้เห็นร้อยพันสื่อที่ดูหลากหลายนั้นแท้จริงเป็นแค่ภาพลวงตา

จริงๆแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ในโลก ในประเทศที่รัฐบาลเปิดเสรีการลงทุนและการค้า ล้วนถูกครอบงำโดยคนตะวันตกเพียงกลุ่มเดียวพวกเขา มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรจะหากำไรจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ป้อนข้อมูลข่าวสาร ศิลปวัฒนธรรม ให้ประชาชนทั่วโลกทางโทรทัศน์ การโฆษณาสินค้าและสื่ออื่นๆเท่านั้น พวกเขายังเป็นผู้กำหนดว่า เราควรจะคิด ควรมีค่านิยมอย่างไรด้วย

ประเด็นสำคัญที่พวกเขาทำให้พวกเราคิดและเชื่อตามวัฒนธรรมของพวกบรรษัทยักษ์ใหญ่โดยไม่รู้ตัว คือที่การที่พวกเขากล่อมเกลาให้พวกเราคิดและมีค่านิยมว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือการหาเงินมาเพื่อจับจ่าย ได้บริโภค สินค้าและบริการตามแบบตะวันตกให้ได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ ใครที่ทำไม่ได้หรือทำได้น้อย เป็นพวกที่ล้มเหลวหรือล้าหลัง

ทั้งที่ความเป็นจริง โลกทุนนิยมกวาดต้อนให้ประชาชนยุคปัจจุบันต้องทำงานหนัก มีความเครียดและมีความทุกข์มากกว่าคนรุ่นปู่ย่าตาทวดของเรา เราถูกหลอกให้เชื่อว่า ถ้าเราหาเงินได้มากขึ้น เราจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ สื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เคลื่อนไหวได้มีมนต์สะกดที่ทำให้เราคิดว่าเรากำลังเสพข่าวสารความบันเทิง แบบบริสุทธิ์ สนุกสนาน โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวว่าเรากำลังถูกครอบงำล้างสมอง ทีละน้อย

และเนื่องจากคนส่วนใหญ่ทั้งโลกหรือทั้งประเทศ คิดและทำเหมือนๆกัน เราจึงมักจะเชื่อว่าสิ่งที่เราถูกกล่อมเกลาชักนำให้คิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกมากกว่า จะตั้งข้อสงสัย ทั้งๆที่ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมดั้งเดิมของเราถูกทำลายให้เห็นๆ โลกร้อนขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น อากาศ น้ำ อาหารเป็นพิษมากขึ้น วัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสันติเปลี่ยนเป็นการแก่งแย่งแข่งขัน การเอาเปรียบ การฉ้อโกง อาชญากรรมและความรุนแรงรูปแบบต่างๆมากขึ้น และชีวิตเรา เคร่งเครียด ซึมเศร้า หดหู่ มากขึ้น

ในยุคปัจจุบันที่สื่อในประเทศของเราถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่และโดยรัฐบาล ที่คิดแบบเดียวกับพวกนายทุนข้ามชาติ ประเทศเราต้องการผู้มีการศึกษาและผู้นำ5ที่มีจิตใจรักความถูกต้องและความยุติธรรม ผู้สนใจติดตามวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อนได้อย่างวิพากษ์วิจารณ์และมีจิตสำนึกที่หาทางออกเพื่อส่วนรวม เราจึงจะสามารถฝ่าฟันแหวกวงล้อม หรือกับดักของบริษัทนายทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาครอบงำประชาชนส่วนใหญ่อย่างแนบเนียนโดยใส่หน้ากากสวยๆว่า โลกาภิวัตน์บ้าง ความเจริญเติบโตเศรษฐกิจบ้าง ความก้าวหน้าทันสมัยบ้างได้

หากผู้มีการศึกษาและผู้นำทางสังคมเช่น นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักวิชาชีพ ในยุคปัจจุบันไม่ได้ยึดกุมหลักการของผู้มีจรรยาบรรณ ในการแสวงหาและเผยแพร่ ความจริงและความงาม ที่แท้ไว้ให้มั่นเหมือนอย่างศรีบูรพาและคณะของพวกเขา นักเขียนนักหนังสือพิมพ์และชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาอื่นๆในยุคปัจจุบันก็จะกลายเป็นเพียงพนักงานโฆษณาชวนเชื่อของบรรษัทนายทุนข้ามชาติโดยไม่รู้ตัว

สถานการณ์ในประเทศ

ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนาและเป็นบริวารของประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรม บวกกับการที่รัฐบาลทุกรัฐบาล มีนโนบายพัฒนาประเทศแบบส่งเสริมให้ทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ได้ลงทุน และทำการค้าเสรี ทำให้มีการพัฒนาประเทศระบบเพื่อการส่งออก มีการถลุงทรัพยากร กดขี่แรงงาน เศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การค้าและบริการเติบโต แต่กระจายถึงประชาชนกลุ่มต่างๆอย่างไม่เป็นธรรม ธรรมชาติสภาพแวดล้อมถูกทำลายอย่างมากและอย่างรวดเร็ว ประชาชนยากจน เป็นหนี้ และพึ่งพาระบบนายทุนแบบเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอดมากขึ้น

ในทางการเมือง โครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไทยเป็นแบบอำนาจนิยม เจ้าขุนมูลนาย และระบบอุปถัมภ์ และระบบการศึกษาเป็นแบบอำนาจนิยมและสอนให้ผู้เรียนท่องจำอย่างล้าหลัง ทำให้ไม่มีประชาธิปไตยในครอบครัว สถาบันการศึกษา ที่ทำงานและชุมชนและมีการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองแค่รูปแบบ เช่นการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทน และองค์กรบริหารท้องถิ่น แต่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระ เช่นการที่ประชาชนตระหนักและมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม สามารถตรวจสอบดูแลถอดถอนผู้แทน เสนอแก้ไขกฎหมายได้ ฯลฯ ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

รัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนนายทุนใหญ่ ที่เก่งในเรื่องการตลาด การหมุนเงิน รวมทั้งการรวบรวมเครือข่ายนักธุรกิจการเมืองประเภทเจ้าพ่อผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่น สามารถสร้างความนิยมในหมู่คนยากจนได้มาก และพาประเทศไปสู่การพัฒนาแบบทุนนิยมเพื่อบริโภคอย่างสุดโต่ง ทุจริตและหาประโยชน์ทับซ้อนอย่างมหาศาล จนผู้มีการศึกษาและประชาชนผู้ตื่นตัวพากันประท้วง และคณะนายทหารฝ่ายอำนาจนิยม /จารีตนิยมได้ถือโอกาส ยืดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลระบอบทักษิณลง

แต่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ที่มาจากทหาร/ขุนนาง ก็ขาดสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่รัฐบาลชุดก่อนๆก่อไว้ และไม่สามารถแม้แต่จะวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขา(รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตลอดไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล)อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบ มีชีวิตที่สะดวกสบายกับระบบเดิม มีทัศนะค่านิยมที่สอดคล้องหรือไม่ ขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม พวกเขามองเห็นปัญหาในยุคทักษิณแบบแยกส่วนว่าเป็นปัญหาแค่ตัวบุคคล มากกว่าจะเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบองค์รวมทั้งหมด

เราจะไปทางไหนกัน

ในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ปกครอง/นายทุน/ขุนนางส่วนน้อยมีอำนาจครอบงำ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ได้รับการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ เป็นหน้าที่ของ ผู้มีการศึกษาที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์และตื่นตัวทางการเมือง ที่จะต้องช่วยกันศึกษาและเผยแพร่ความรู้ที่แท้จริง ให้เกิดการปฎิรูป การเมือง ซึ่งควรรวมทั้งการปฎิรูปทางเศรษฐกิจ สังคมที่จะทำให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ว่าทั้งแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด และการฝากความหวังไว้กับชนชั้นสูง กลุ่มอำนาจนิยม/จารีตนิยมนั้น ไม่อาจทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีสิทธิประชาธิปไตย และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาได้

ประชาชนต้องแสวงหาความรู้จัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างแนวทางเลือกใหม่ที่มุ่งพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมด้วยตัวเอง ไม่อาจหวังพึ่งอัศวินม้าดำหรือม้าขาวที่ไหนได้

แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องสร้างระบบสหกรณ์ทุกรูปแบบอย่างกว้างขวางมาแทนที่ระบบทุนนิยมผูกขาด สหกรณ์ในที่นี้ใช้ในความหมายกว้าง หมายถึง องค์กรทางเศรษฐกิจสังคมแบบช่วยเหลือกันและกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อาจใช้ชื่ออื่น เช่น กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย ฯลฯ ไม่ใช่แค่สหกรณ์ 6 ประเภทตามกฎหมายสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ในนี้เท่านั้น

สหกรณ์เป็นองค์กรที่จัดตั้งทางเศรษฐกิจแบบประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารที่ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้ผู้ผลิตผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ขบวนการสหกรณ์มีการพัฒนาเจริญเติบโต ทั้งในสหรัฐ แคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ หลายประเทศในลาตินอเมริกาและที่อื่นๆ จนมีสัดส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มีทั้งสหกรณ์ผู้ผลิตหรือสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งพัฒนาเป็นธนาคาร สหกรณ์การประกันภัย การขนส่ง สหกรณ์ผู้บริโภคหรือการค้าส่งและค้าปลีก สหกรณ์การบริการต่างๆ รวมทั้งสหกรณ์สาธารณูปโภค เช่น การประปา ไฟฟ้า

สหกรณ์เหล่านี้หลายแห่งพัฒนาเป็นชุมชนสหกรณ์ ขนาดหนึ่งในร้อยของบรรษัทที่ยอดขายสูงสุดในโลก ที่มีเครือข่ายกว้างขวางและเป็นองค์กรธุรกิจ ที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สหกรณ์ขนาดกลางขนาดย่อมหลายแห่งในหลายประเทศทำได้ดีกว่าทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบเดียวกัน

สหกรณ์นอกจากจะลดการเอาเปรียบของระบบนายทุน พ่อค้าคนกลางแล้ว ยังเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบทุนนิยม ในแง่ที่ว่า สมาชิกทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่ใช่ว่าใครถือหุ้นมากออกเสียงได้มากแบบทุนนิยม ถ้าเราส่งเสริมสหกรณ์ให้เติบโตได้ในทุกสาขาเศรษฐกิจ สหกรณ์จะเป็นระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ มากกว่าระบบทุนนิยมและสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ระบบสหกรณ์จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและปัญหาเศรษฐกิจ สังคม อื่นๆได้อย่างถึงรากโคนกว่าระบบทุนนิยม

แนวทางพัฒนาทางสังคมให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องปฏิรูปการจัดการศึกษา สื่อมวลชนในด้านเนื้อหาวิธีการในการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ในเชิงวิเคราะห์ ที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รู้จักคิด เป็นตัวของตัวเอง ให้รู้เท่าทันชนชั้นปกครองและปฎิรูปเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ฉลาด3 การสาธารณสุข การประกันสังคมและสวัสดิการสังคม ให้ประชาชนรับบริการอย่างทั่วถึง และส่งเสริมจัดตั้งองค์กรประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการกิจกรรมทางสังคมด้วยตนเองมากขึ้น

แนวทางการพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า การปฏิรูปโครงสร้างการเมือง และสังคม ที่จะเอื้อให้ประชาชน มีสิทธิและอำนาจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติมากขึ้น เช่นมีสภาหมู่บ้าน สภาชุมชน สภาประชาชนระดับประเทศ องค์กรประชาชนและองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น สิทธิป่าชุมชน และการจัดการทรัพยากรของชุมชน,สิทธิผู้บริโภค,สิทธิการจัดตั้ง สหภาพแรงงานและสหกรณ์โดยเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ประชาชนมีสิทธิในการคัดค้าน ถอดถอนผู้แทน เสนอเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายต่างๆรวมทั้งรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

เราควรทำอะไร

นักข่าวหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ถามผมว่าในยุคที่ประเทศไทยของเราถูกครอบงำโดยระบอบทักษิณและกลุ่มคนที่คิดไม่แตกต่างจากทักษิณ พวกเขาที่เป็นคนเล็กๆที่ไม่มีชื่อเสียงและเป็นเพียงลูกจ้างบริษัทนายทุนจะทำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าการที่พวกเราหลายคนมักจะมองว่าเราเป็นคนเล็กๆที่ทำอะไรไม่ได้ในโลกที่ครอบงำโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ คือการแบ่งแยกและปกครองของระบบทุนนิยมโลกที่พยายามกล่อมเกลาให้พวกเราคิดคล้อยตามแบบยอมจำนนไปอย่างไม่รู้ตัว

เมื่อเรากลับไปอ่านประวัติศาสตร์ เรามักคิดว่า ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขาคือคนที่ยิ่งใหญ่ที่มีพลังที่มหาศาลกว่าคนอย่างพวกเรามาก ในยุคที่ศรีบูรพาและคณะยังเป็นคนหนุ่มสาวนั้น พวกเขาก็คือนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เล็กๆซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย ที่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่โตกว่าพวกเขามากเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขายิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพราะตอนนั้นพวกเขาเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เพราะสังคมไทยวิวัฒนาการมาจากระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ค่อยยกย่องนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มาแต่ไหนแต่ไร แต่สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพายิ่งใหญ่ต่อมาในสายตาของคนรุ่นหลังอย่างพวกเรา ก็คือการที่ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขากล้าคิด กล้าเผยแพร่ กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมของพวกเขาต่างหาก

นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ปัญญาชน ผู้มีการศึกษาในยุคปัจจุบันมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือจะเลือกทำตัวตามกระแสของทุนนิยมโลก เป็นพนักงานธุรการพนักงานโฆษณาชวนเชื่อที่ดีของบรรษัทและปรับตัวให้เข้ากับระบบทุนนิยมผูกขาดที่โหดร้าย หรือจะเลือกเป็นคนที่ต้องการรักษาศักดิ์ศรี ต้องการแสวงหาความหมายในชีวิตและสังคม ยิ่งกว่าการเป็นผู้เสพติดการบริโภคสินค้าและบริการของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม หลังจากการทดลองสังคมนิยมล้มเหลว นักการเมืองและนักวิชาการของโลกทุนนิยมพยายามป่าวร้องว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่อีกแล้ว นอกจากต้องเดินไปตามกระแสทุนนิยมโลก ถ้าไม่เปิดเสรีเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกับคนอื่น เราก็จะถูกทิ้งให้ล้าหลัง

แต่ความจริงก็คือ ประชาชนในหลายประเทศเลือกการพัฒนาทางอื่น เช่น ระบบสหกรณ์ สังคมนิยมประชาธิปไตย การพัฒนาแนวอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนการเน้นความสุขของประชาชนมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม ทางเลือกเหล่านี้ ประชาชนฝ่ายก้าวหน้า ทั้งในยุโรป ลาตินอเมริกา เอเชีย และที่อื่นๆได้พัฒนาไปได้มากพอสมควร ในประเทศไทยก็มีกล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพึ่งตนเอง พึ่งตลาดภายในประเทศเป็นที่สัดส่วนสูงขึ้น เพียงแต่ยังเป็นการพูดลอยๆมากกว่า เรายังไม่ได้มีการวิเคราะห์และพัฒนาให้เป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่อย่างจริงจัง

คนหนุ่มสาวทั้งหลาย ความเป็นหนุ่มสาวไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความคิดจิตใจด้วย ถ้าคุณเลือกอย่างแรก คือเลือกอยู่กับพวกชนชั้นนำที่ยึดมั่นของเก่า ยึดมั่นกับกระแสหลักของสังคมที่ครอบงำโดยนายทุน บงการโดยนายทุนและผู้มีอำนาจ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตและโลกที่ดีกว่า พวกคุณจะก็แก่ตั้งแต่อายุยังน้อย แก่ในทางความคิดค่า นิยมโดยที่ไม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตเพื่อการต่อสู้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่าคนที่อายุมากกว่าพวกคุณ แต่จิตใจของพวกเขายังหนุ่มสาว ยังไม่ยอมจำนน ยังต่อสู้แบบกัดไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละทิ้งหลักการที่สำคัญ เช่น ประชาธิปไตยความเป็นธรรมและความร่วมมือกันเป็นกลุ่ม

คนหนุ่มสาวทั้งหลาย อย่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ และคุณต้องมาเสียใจภายหลังว่า คุณแทบไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริงเลย เพราะชีวิตที่ไม่มีการต่อสู้เพื่อส่วนรวม ชีวิตที่มีแต่การประนีประนอม เอาตัวรอดส่วนตัวในระยะสั้นๆ เป็นชีวิตที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่คุ้มกับการมีชีวิต ในโลกที่มีพลังและมีโอกาสการเปลี่ยนแปลงที่มหาศาล

ผมจะขอจบปาฐกถานี้ด้วยการยกคำคมของ อัลเบริต ไอน์สไตน์ เป็นการเตือนผู้มีการศึกษาทุกคน รวมทั้งคนแบบคุณทักษิณ คุณสมคิดและคนอื่นๆ ไว้อย่างน่าคิดให้ลึกดังนี้

_____________________________________________________________________

ใครที่ได้รับการศึกษาให้มีความรู้พิเศษ

จะต้องพัฒนาความตระหนักว่าอะไรสวยงาม

และอะไรดีในแง่ศีลธรรมอย่างกระตือรือร้นควบคู่กันไป

เพราะถ้าขาดความตระหนักใน 2 เรื่องนี้

เขาจะเป็นได้แค่หมาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี

แทนที่จะเป็นมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนไปกับโลก

_____________________________________________________________________

 

ป้ายกำกับ: ,