RSS

Category Archives: การเลือกตั้ง

ทางออกของปัญหา:เศรษฐกิจการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไปทางไหน?


ทางออกของปัญหา:เศรษฐกิจการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไปทางไหน?

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 8 พฤศจิกายน 2550 15:48 น.

นอกจากทั้งคมช.และรัฐบาลสุรยุทธ จะหัวเก่า ล้าหลัง ไม่ได้ช่วยปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งแล้ว คนเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นพวกนักกฎหมายนิยม ที่ขาดความเข้าใจวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นจริงของไทย ทางแก้คือต้องทำให้ประชาชนเรียนรู้เศรษฐกิจการเมืองและตื่นตัวเพิ่มขึ้น การส่งเสริมการหาเสียงโดยเปิดเผย เช่น การจัดให้หัวหน้าพรรคมาอภิปรายนโยบายและแนวคิดในการแก้ปัญหาของประเทศทางวิทยุโทรทัศน์น่าจะทำให้ประชาชนรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์กว่า ปัญหาหลักของไทยคือ พวกชนชั้นนำที่มีอำนาจมีกรอบคิดเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศแบบแคบๆ แค่ตลาดเสรีผสมประชานิยมแบบหาเสียง และสนใจประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นของตน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ และตื่นตัวรู้ข่าวสารการเมืองน้อย ติดวัฒนธรรมผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์และยกย่องตัวบุคคล ทำให้ระบบประชาธิปไตยที่เน้นการเลือกตั้งส่งเสริมประชาธิปไตยนายทุน หรือการปกครองโดยชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองโดยตนเองของประชาชน ซึ่งควรจะรวมประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยสังคมในทุกระดับด้วย นโยบายแนวตลาดเสรี ไม่อาจทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง พรรคใหญ่และพรรคกลาง 5 – 6 พรรค ที่มีโอกาสได้รับเลือก ต่างเสนอนโยบายแนวตลาดเสรีและประชานิยมคล้ายๆกัน มีพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ที่มีนโยบายชาตินิยมผสมประชานิยม รัฐสวัสดิการนิยม ที่กล้าเสนอนโยบายหลายเรื่องต่างจากพรรคอื่นมากหน่อย แต่ก็เน้นประชานิยมอยู่ดี นโยบายแนวประชานิยมและรัฐสวัสดิการของหลายพรรคอาจช่วยกระจายความเป็นธรรมได้บางส่วน แต่เป็นโครงการย่อยๆที่มุ่งหาเสียงและแก้ไขปัญหาชั่วคราว พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านที่เก่งในเชิงวาทศิลป์ แต่เป็นรัฐบาลที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มีนโยบายแนวคิดแบบเอื้อตลาดเสรีการลงทุนของต่างชาติบวกกับประชานิยม พรรคพลังประชาชนที่เป็นตัวแทนของไทยรักไทยมีนโยบายเน้นตลาดเสรีแบบสุดโต่ง ประชานิยมแบบหาเสียงและดึงประชาชนเข้าสู่ระบบตลาด ผูกขาดรวมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเน้นการเติบโตแบบกอบโกยล้างผลาญ พรรคอื่นๆทั้งชาติไทย เพื่อแผ่นดิน รวมใจชาติพัฒนา ส่วนใหญ่ก็คนหน้าเก่าๆผสมคนหน้าใหม่บางส่วน ที่มีนโยบายเพื่อตลาดเสรี ส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจคล้ายๆกันทุกพรรค แตกต่างกันในโครงการรายละเอียด เพื่อมุ่งหาเสียงจากกลุ่มคนต่างๆเท่านั้น เศรษฐกิจที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ควรเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารประเทศมหาอำนาจที่ทำให้เราเสียเปรียบ และทำลายทรัพยากร สภาพแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรม ควรเป็นเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างระบบตลาดที่มีการแข่งขันเป็นธรรม ระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการ เน้นการพัฒนาการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองในระดับประเทศสูงขึ้น เป็นชาตินิยม(เพื่อส่วนรวม)แบบฉลาดหน่อย ลดการใช้น้ำมันและการบริโภคฟุ่มเฟือยลง ส่งเสริมพลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก เทคโนโลยีทางเลือก ฯลฯ อย่างจริงจัง มีการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปการคลัง ปฏิรูปการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ฯลฯ ทางโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ให้คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงเป็นธรรม สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวนา คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่มีความคิดก้าวหน้า เน้นการพัฒนาคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้มีการศึกษาดีและเข้มแข็ง ซึ่งเป็นแนวทางที่ฉลาดมองการณ์ไกลมากกว่านโยบายที่เน้นการพัฒนาแบบทุนนิยมผูกขาด การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนยังตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองที่มาจากชนชั้นสูงและชั้นกลางได้น้อย เพราะพรรคใหญ่พรรคกลางคิดไม่ต่างกันมากนัก และเป็นคนในชนชั้นเดียวกัน ระบบราชการ, สื่อมวลชน, องค์กรอิสระ (ซึ่งมาจากนักกฎหมายชนชั้นกลาง) ต่างคนและต่างองค์กรก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง มีวัฒนธรรมการเมืองตนเองแบบจารีตนิยมและปัจเจกชนนิยม มีวิถีชีวิตและความคิดแบบชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางมากกว่าจะเข้าใจหรือเห็นใจคนจน หรือมีวิสัยทัศน์ที่ฉลาดว่าต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างขนานใหญ่และยกระดับการศึกษา การรวมกลุ่ม และฐานะอำนาจต่อรองของคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงเท่านั้น ประเทศจึงจะเข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่ทั้งหมด การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว จะต้องมีการปฏิรูปในทางการเมือง การศึกษา และสื่อสารมวลชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและตื่นตัวเรื่องสิทธิหน้าที่ การปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างกว้างขวาง ช่วยกันสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองและข้าราชการอย่างมีประสิทธิภาพ มีพรรคฝ่ายค้าน, องค์กรอิสระ, ศาล, สื่อมวลชน, สหภาพแรงงาน, สมาคมวิชาชีพ, องค์กรประชาชนที่เข้มแข็งมีคุณภาพ มีความคิดก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมมุ่งประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ เราจึงพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองไทยให้เจริญก้าวหน้า และทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้