RSS

Category Archives: เศรษฐกิจ

สัมภาษณ์ รศ.วิทยากร เชียงกูล โดยทีมงานวารสาร ธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ ลพบุรี


สัมภาษณ์ รศ.วิทยากร เชียงกูล โดยทีมงานวารสาร ธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ ลพบุรี

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 ณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม จ.ปทุมธานี

การที่คนเราสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นปกติสุขได้นั้น ต้องอาศัยกลไกต่างๆของร่างกายทำหน้าที่สอดประสานกันอย่างเป็นระบบ การป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายต้องพึ่งพากลไกภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ดักจับและกำจัดสิ่งแปลกปลอมก่อนที่จะได้รับผลกระทบ หากเปรียบเทียบโครงสร้างทางร่างกายของมนุษย์กับโครงสร้างทางสังคม ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคงเปรียบเสมือนการปลูกฝังภูมิคุ้มกันด้านจริยธรรม คุณธรรมการสร้างทัศนคติให้กับสมาชิกในสังคมเพื่ออำนวยให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพเป็นระเบียบเรียบร้อย ทีมงานวารสารธรรมรักษ์์ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ อ.วิทยากรเชียงกูล ถึงความหมายของการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เกิดขึ้น ท่ามกลางกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม หรือปัจเจกนิยม ฯลฯ อันมีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดภัยอันตราย หรือโรคที่ทำลายค่านิยม และระบบดีงามต่างๆ ทางสังคมที่เป็นมรดกตกทอดจากชนรุ่นก่อน เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ตระหนักและตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคร้ายเหล่านี้

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: ,

ทางออกของปัญหา:จะมองและสร้างเศรษฐกิจทางบวกได้อย่างไร


ทางออกของปัญหา:จะมองและสร้างเศรษฐกิจทางบวกได้อย่างไร
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 6 ธันวาคม 2550 18:52 น.
       ปัญหาน้ำมันแพง และเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ทำให้นักเศรษฐศาสตร์พากันกล่าวว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าต้องลดลงด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการลงทุนและการค้าต่างประเทศ (ส่งออก) เป็นหลัก นี่คือการคิดอยู่ในกรอบว่าเราต้องพัฒนาเศรษฐกิจแนวพึ่งต่างชาติแนวเดียว ไม่กล้าคิดว่าเราสามารถแหกกรอบไปทางอื่น เช่นการพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นได้
       
        นักการเมืองและชนชั้นนำของไทยมักอ้างว่าไทยเป็นประเทศเล็กที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนโยบายเปิดการลงทุนและการค้าเสรี แต่ประเทศไทยมีประชากรใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ใหญ่กว่าอังกฤษ ฝรั่งเศสนิดหน่อยด้วยซ้ำ แต่คนส่วนใหญ่ของประชากร 64 ล้านของไทยยากจน พวกเขาไม่มีอำนาจซื้อ ตลาดภายในประเทศของไทยจึงเล็กกว่าอังกฤษ ฝรั่งเศสหลายเท่า
       
       ประเทศไทยมีพื้นฐานการเกษตรที่ค่อนข้างดี มีอาหารพอกินและเหลือส่งออกด้วย ซึ่งดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ภาคเกษตรยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกมาก ส่วนแรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ซึ่งเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกมากเช่นกัน ถ้าหากรัฐทุ่มเทการพัฒนาคนจน ทำคนส่วนใหญ่ให้มีความรู้ มีงานที่มีรายได้สูงขึ้น จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศสูงขึ้น จนลดผลกระทบจากปัญหาการส่งออกชะลอตัวได้
       
       นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตลาดต่างประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นนโยบายที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ ยิ่งถ้าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวและน้ำมันแพง เศรษฐกิจไทยจะยิ่งตกต่ำหนัก แต่ถ้ารัฐบาลฟังนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำสังคมและกล้าคิดกล้าเลือกทางเดินใหม่ คือเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศแบบพึ่งตนเองและพึ่งตลาดภายในระดับชุมชนและประเทศเป็นด้านหลัก ส่งเสริมการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศเฉพาะที่จำเป็นและไทยได้ประโยชน์จริงๆ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนเศรษฐกิจต่างประเทศลดลง และพัฒนาจากภายในประเทศเป็นด้านหลักได้
       
       ประเทศไทยมีเงินออมในระบบธนาคารมากกว่า 5 ล้านล้านบาท สภาพคล่องเหลือ ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ แต่เป็นเพราะรัฐบาล (ทุกรัฐบาล) ขาดภูมิปัญญาและขาดจิตสำนึกที่จะคิดแนวใหม่ เช่น เศรษฐกิจพึ่งตนเอง เน้นการพัฒนาทรัพยากร แรงงานและตลาดในประเทศ ชาตินิยมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ ระบบสหกรณ์ สังคมนิยมประชาธิปไตย ชุมชนสวัสดิการ ฯลฯ
       
       ประเทศไทยจะลดปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวได้ถ้าเปลี่ยนมาใช้นโยบายจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในประเทศเสียใหม่ โดยเน้นการพัฒนาคนส่วนใหญ่ให้หายจน ทั้งเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปการให้สินเชื่อ ปฏิรูปการศึกษา การฝึกอบรม การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ การปฏิรูปการตลาด เมื่อแรงงาน 30 กว่าล้านคนของไทย มีความรู้ มีงานทำ และรายได้เพิ่มขึ้น พวกเขาก็จะไปซื้อสินค้าและบริการเพื่อครอบครัว ซึ่งมีรวมแล้วถึง 64 ล้านคนเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตได้
       
       นโยบายแบบทักษิณที่หมุนเงินมาใช้เก่งและเร่งรัดการลงทุนและการบริโภค เป็นการแก้ปัญหาแบบกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตในระยะสั้น แต่เพิ่มการทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อม การเพิ่มการสั่งเข้าพลังงานจากปีละ 2 – 3 แสนล้านบาทเป็นปีละ 5 – 6 แสนล้านบาท ทำให้ทั้งรัฐบาลภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น และทำให้สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศเสียหายเพิ่มขึ้นมาก แม้รัฐบาลทักษิณจะอ้างว่าเขาทำให้หนี้ต่างประเทศภาครัฐลดลง แต่หนี้ภายในประเทศซึ่งรวมทั้งการออกพันธบัตรกลับสูงขึ้น นโยบายทักษิณกระจายเงินไปหาเสียงกับคนจนได้ส่วนหนึ่งและโฆษณามาก แต่งบส่วนใหญ่ที่ใช้อย่างเงียบๆมุ่งช่วยคนรวย คนชั้นกลาง ช่วยภาคธนาคารและธุรกิจให้ขายของหากำไรจากคนจนได้มากขึ้น ไม่ได้ช่วยให้คนจนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้จริงๆ
       
       การค้านคุณทักษิณในข้อหาว่าเขารวบอำนาจผูกขาดโกงและหาผลประโยชน์ทับซ้อนมากเกินไปยังไม่พอ รัฐบาลใหม่ต้องก้าวข้ามระบอบทักษิณหรือระบอบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดที่เป็นบริวารทุนต่างชาติให้ได้ด้วย คือ ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ เน้นการพัฒนาคน ใช้แรงงาน ทุน ทรัพยากร ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ลดขนาดการพึ่งพาการค้าและการลงทุนกับต่างชาติลง (ตอนนี้ไทยพึ่งการค้าระหว่างประเทศถึง 130 – 140 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวม) หันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจพึ่งตนเองเรื่องปัจจัยสี่ในระดับชุมชนและระดับประเทศ เน้นการพัฒนาเกษตรกร แรงงาน ผู้ประกอบการขนาดย่อม ขนาดกลาง เน้นพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น ปรับโครงสร้างการผลิตและการบริโภคที่ลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหินและแก๊สธรรมชาติลง และเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น (เช่น เพิ่มภาษีค่าธรรมเนียมรถยนต์ส่วนตัวและจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าเมืองชั้นใน เพื่อส่งเสริมให้คนใช้การขนส่งสาธารณะแทน ปิดสถานบันเทิงและโทรทัศน์เร็วขึ้น ฯลฯ)
       
       เราต้องเปลี่ยนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยเน้นการสร้างฐานรากคือ พัฒนาประชาชนและชุมชนให้เข้มแข็ง ทำให้คนส่วนใหญ่มีปัจจัยที่จำเป็น อาหาร ที่อยู่ ยา เสื้อผ้า เครื่องใช้จำเป็น การศึกษา อย่างพอเพียง และกระจายการศึกษา การมีงานทำ ทรัพย์สินและรายได้อย่างสมดุลและเป็นธรรม ช่วยให้คนไทยทั้งประเทศเติบโตพร้อมๆกัน ถึงไปช้าหน่อย แต่จะสมดุลและยั่งยืนกว่า และเป็นทางที่จะทำให้ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและน้ำมันแพงไม่ทำร้ายคนไทย โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ยากจนมากเกินไป จนทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่วุ่นวายไม่รู้จบ
 

ทางออกของปัญหา:เศรษฐกิจการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไปทางไหน?


ทางออกของปัญหา:เศรษฐกิจการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไปทางไหน?

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 8 พฤศจิกายน 2550 15:48 น.

นอกจากทั้งคมช.และรัฐบาลสุรยุทธ จะหัวเก่า ล้าหลัง ไม่ได้ช่วยปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งแล้ว คนเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นพวกนักกฎหมายนิยม ที่ขาดความเข้าใจวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นจริงของไทย ทางแก้คือต้องทำให้ประชาชนเรียนรู้เศรษฐกิจการเมืองและตื่นตัวเพิ่มขึ้น การส่งเสริมการหาเสียงโดยเปิดเผย เช่น การจัดให้หัวหน้าพรรคมาอภิปรายนโยบายและแนวคิดในการแก้ปัญหาของประเทศทางวิทยุโทรทัศน์น่าจะทำให้ประชาชนรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์กว่า ปัญหาหลักของไทยคือ พวกชนชั้นนำที่มีอำนาจมีกรอบคิดเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศแบบแคบๆ แค่ตลาดเสรีผสมประชานิยมแบบหาเสียง และสนใจประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นของตน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ และตื่นตัวรู้ข่าวสารการเมืองน้อย ติดวัฒนธรรมผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์และยกย่องตัวบุคคล ทำให้ระบบประชาธิปไตยที่เน้นการเลือกตั้งส่งเสริมประชาธิปไตยนายทุน หรือการปกครองโดยชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองโดยตนเองของประชาชน ซึ่งควรจะรวมประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยสังคมในทุกระดับด้วย นโยบายแนวตลาดเสรี ไม่อาจทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง พรรคใหญ่และพรรคกลาง 5 – 6 พรรค ที่มีโอกาสได้รับเลือก ต่างเสนอนโยบายแนวตลาดเสรีและประชานิยมคล้ายๆกัน มีพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ที่มีนโยบายชาตินิยมผสมประชานิยม รัฐสวัสดิการนิยม ที่กล้าเสนอนโยบายหลายเรื่องต่างจากพรรคอื่นมากหน่อย แต่ก็เน้นประชานิยมอยู่ดี นโยบายแนวประชานิยมและรัฐสวัสดิการของหลายพรรคอาจช่วยกระจายความเป็นธรรมได้บางส่วน แต่เป็นโครงการย่อยๆที่มุ่งหาเสียงและแก้ไขปัญหาชั่วคราว พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านที่เก่งในเชิงวาทศิลป์ แต่เป็นรัฐบาลที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มีนโยบายแนวคิดแบบเอื้อตลาดเสรีการลงทุนของต่างชาติบวกกับประชานิยม พรรคพลังประชาชนที่เป็นตัวแทนของไทยรักไทยมีนโยบายเน้นตลาดเสรีแบบสุดโต่ง ประชานิยมแบบหาเสียงและดึงประชาชนเข้าสู่ระบบตลาด ผูกขาดรวมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเน้นการเติบโตแบบกอบโกยล้างผลาญ พรรคอื่นๆทั้งชาติไทย เพื่อแผ่นดิน รวมใจชาติพัฒนา ส่วนใหญ่ก็คนหน้าเก่าๆผสมคนหน้าใหม่บางส่วน ที่มีนโยบายเพื่อตลาดเสรี ส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจคล้ายๆกันทุกพรรค แตกต่างกันในโครงการรายละเอียด เพื่อมุ่งหาเสียงจากกลุ่มคนต่างๆเท่านั้น เศรษฐกิจที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ควรเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารประเทศมหาอำนาจที่ทำให้เราเสียเปรียบ และทำลายทรัพยากร สภาพแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรม ควรเป็นเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างระบบตลาดที่มีการแข่งขันเป็นธรรม ระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการ เน้นการพัฒนาการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองในระดับประเทศสูงขึ้น เป็นชาตินิยม(เพื่อส่วนรวม)แบบฉลาดหน่อย ลดการใช้น้ำมันและการบริโภคฟุ่มเฟือยลง ส่งเสริมพลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก เทคโนโลยีทางเลือก ฯลฯ อย่างจริงจัง มีการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปการคลัง ปฏิรูปการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ฯลฯ ทางโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ให้คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงเป็นธรรม สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวนา คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่มีความคิดก้าวหน้า เน้นการพัฒนาคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้มีการศึกษาดีและเข้มแข็ง ซึ่งเป็นแนวทางที่ฉลาดมองการณ์ไกลมากกว่านโยบายที่เน้นการพัฒนาแบบทุนนิยมผูกขาด การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนยังตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองที่มาจากชนชั้นสูงและชั้นกลางได้น้อย เพราะพรรคใหญ่พรรคกลางคิดไม่ต่างกันมากนัก และเป็นคนในชนชั้นเดียวกัน ระบบราชการ, สื่อมวลชน, องค์กรอิสระ (ซึ่งมาจากนักกฎหมายชนชั้นกลาง) ต่างคนและต่างองค์กรก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง มีวัฒนธรรมการเมืองตนเองแบบจารีตนิยมและปัจเจกชนนิยม มีวิถีชีวิตและความคิดแบบชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางมากกว่าจะเข้าใจหรือเห็นใจคนจน หรือมีวิสัยทัศน์ที่ฉลาดว่าต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างขนานใหญ่และยกระดับการศึกษา การรวมกลุ่ม และฐานะอำนาจต่อรองของคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงเท่านั้น ประเทศจึงจะเข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่ทั้งหมด การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว จะต้องมีการปฏิรูปในทางการเมือง การศึกษา และสื่อสารมวลชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและตื่นตัวเรื่องสิทธิหน้าที่ การปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างกว้างขวาง ช่วยกันสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองและข้าราชการอย่างมีประสิทธิภาพ มีพรรคฝ่ายค้าน, องค์กรอิสระ, ศาล, สื่อมวลชน, สหภาพแรงงาน, สมาคมวิชาชีพ, องค์กรประชาชนที่เข้มแข็งมีคุณภาพ มีความคิดก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมมุ่งประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ เราจึงพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองไทยให้เจริญก้าวหน้า และทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้