RSS

redistribution และ 30 คำศัพท์สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่น่ารู้จัก

16 ก.ค.


1. redistribution การกระจายทรัพย์สินและรายได้ใหม่ให้เป็นธรรมมากขึ้น โดยมาตรการ เช่น  การเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราสูงขึ้น และการให้สวัสดิการแก่คนจนเพิ่มขึ้น

2. referendum การออกเสียงประชามติ กระบวนการประชาธิปไตยแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั ้งมาลงคะแนนว่าจะรับหรือไม่รับโครงการหรือร่างกฎหมายใหม่ที่เสนอโดยผ่านรัฐบ าล เช่น รัฐธรรมนูญใหม่  เนื่องจากเป็นโครงการหรือกฎหมายที่สำคัญ มีผลกระทบด้านบวกด้านลบต่อประชาชนสูง มีผู้เห็นด้วยและคัดค้านใกล้เคียงกันหรือมีผู้ที่ไม่แน่ใจอยู่จำนวนมากด้วย การจัดให้มีประชามติ อาจจะทำได้ทั้งในระดับประเทศ มลรัฐหรือท้องถิ่น ในระดับประเทศเป็นเรื่องที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องของประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเรื่องของค วามรอบคอบที่คุ้มค่า เพราะการให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐสภาตัดสินใจเอง อาจก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวได้ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ มักต้องผ่านการไต่สวนสาธารณะหรือประชาพิจารณ์ เพื่อให้มีการศึกษาเผยแพร่ข้อมูลอย่างรอบด้านก่อน การออกเสียงประชามติจะเป็นผลผูกพันให้ รัฐบาลต้องทำตามหรือเป็นเพียงแค่การหยั่งเสียงเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบ าลหรือรัฐสภาก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนด

3. refugee ผู้ถูกสถานการณ์สงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง หรือภัยธรรมชาติ ผลักให้ต้องไปขอเดินทางลี้ภัยในประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย ในระยะหลังมีแรงงานยากจนจากประเทศยากจน เดินทางไปหางานทำในประเทศที่รวยกว่าเพิ่มขึ้น และบางครั้งถูกเรียกว่า ผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ (economic refugees)

4. regionalisation แนวคิดของเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่เสนอให้รื้อฟื้น การผลิต การแลกเปลี่ยนและบริโภคสินค้าภายในท้องถิ่น แทนที่จะมุ่งผลิตพืชเดี่ยวเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ เพราะการเน้นการส่งออกเป็นการเปิดช่องทางให้บริษัททุนข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาจัดสรรแรงงานและทรัพยากรใหม่ กดขี่ขูดรีดทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและประชากรในซีกโลกใต้ รวมทั้งการทำลายวิธีการผลิตของชาวนาแบบดั้งเดิม (peasant economy) ทำให้คนว่างงานและยากจนเพิ่มขึ้น

5. regional science ภูมิภาคศึกษา สาขาของสังคมศาสตร์แบบพหุวิทยาการที่ใช้แนวทางวิเคราะห์ปัญหา ที่เกี่ยวกับสังคมการเมือง สังคมชนบท หรือภูมิภาคต่างๆ เช่น ปัญหาการใช้ทรัพยากร การขนส่ง ประชากร และการอพยพโยกย้ายของประชากร ปัญหาผังเมืองและสภาพแวดล้อม ฯลฯ  เพื่อที่จะเข้าใจปัญหารายละเอียดที่ซับซ้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคต่างๆได้ดีขึ้น แทนที่จะเน้นแต่เรื่องเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม หรือเฉพาะที่เมืองหลวง

6. remittances เงินที่คนงานจากประเทศที่จนกว่าที่ไปทำงานในประเทศที่รวยกว่า ส่งกลับให้ครอบครัวของตน ซึ่งรวมทั่วโลกแล้วมีจำนวนมหาศาล เงินเหล่านี้ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีรายรับเข้าประเทศเพิ่มขึ้น แต่หลายส่วนก็ถูกใช้เพื่อการบริโภคของเอกชน เช่น การสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ มากกว่าที่จะใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนหรือประเทศ

7. renewable resource แหล่งทรัพยากรที่ผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ เช่น พลังงานจากแสงแดด ลม คลื่น ความร้อนใต้พื้นผิวโลก สำหรับดิน น้ำ ป่า พืช และสัตว์เป็นทรัพยากรที่ผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ถ้ามีการใช้อย่างอนุรักษ์ให้เหมาะสม

8. research and development การวิจัยและพัฒนา การวิจัยเพื่อหาวิธีทำให้องค์กรทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งใช้ในความหมายการค้นคว้าและพัฒนาสินค้าใหม่ๆด้วย

9. rights based approach แนวคิดทฤษฎีการพัฒนามนุษย์บนพื้นฐานของมาตรฐานสิทธิมนุษยชน (human rights) ที่เป็นสากล ประกอบไปด้วยการเชื่อมโยงการพัฒนากับสิทธิ ความเสมอภาค การทำงานแบบมีเหตุผล ความชอบธรรมที่อธิบายได้ (accountability) การกระจายอำนาจให้ผู้อื่น (empowerment) การให้ประชาชนมีส่วนร่วม การไม่กีดกันกลุ่มใดและให้ความเอาใจใส่ต่อกลุ่มที่อ่อนแอหรือเสี่ยงมากกว่ากลุ่มทั่วไป

10. rule of law การปกครองด้วยกฎหมาย หลักนิติธรรม เสาหลักของประชาธิปไตยเสาหนึ่ง คือ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายดำรงอย่างเท่าเทียมกัน ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ข้าราชการชั้นสูง ตำรวจ จะใช้อำนาจก็ตามกฎหมายเท่านั้น สิทธิอำนาจ (authority) ของผู้ใช้กฎหมายมาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆนั่นก็คือ ประเทศถูกปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ถูกปกครองโดยปัจเจกชน

11. say yes for children campaign การรณรงค์เพื่อสิทธิเด็กตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.2001 เป็นส่วนหนึ่งของ Global Movement for Children ที่ต้องการรณรงค์ให้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ตระหนักเรื่องสิทธิเด็กเพิ่มขึ้น โดยหลักการ 10 ข้อ ที่ได้มาจากการลงคะแนน เสียงของเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก คือ
1) ต้องยุติการกีดกันเด็กทุกรูปแบบ
2) ต้องให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก
3) ต้องดูแลสุขภาพเด็กทุกคน
4) ต้องคุ้มครองป้องกันไม่ให้เด็กและครอบครัวได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์
5) ยุติการทำร้ายและขูดรีดเด็ก
6) ฟังและให้สิทธิในการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน
7) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาชั้นประถมที่มีคุณภาพดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
8) ปกป้องเด็กไม่ให้ได้รับอันตรายจากความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ
9) ปกป้องรักษาธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของโลกเพื่อเด็ก
10) ต่อสู้ความยากจน ด้วยการพัฒนาเด็กและครอบครัวของพวกเขา

12. Schumacher, E.F อี เอฟ ชูมาคเกอร์ (ค.ศ.1911-1970) นักคิดทางเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาคนสำคัญ ผู้เสนอแนวคิดว่าเทคโนโลยีขนาดกลาง (intermediate technology) หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) และการจัดองค์กรและชุมชนขนาดเล็กจะทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโลกได้อย่างทั่วถึงและมีความยั่งยืนมากกว่าการผลิตขนาดใหญ่ของลัทธิอุตสาหกรรมนิยม (ทั้งของทุนนิยมและสังคมนิยม) เพราะองค์กรและชุมชนขนาดเล็กจะช่วยให้เกิดการกระจายการใช้แรงงาน ทรัพยากร ที่ทั่วถึง มีประสิทธิภาพลดการใช้พลังงานในการขนส่งทางไกล ลดการทำลายสภาพแวดล้อมได้มากกว่าการผลิตขนาดใหญ่ของลัทธิอุตสาหกรรมนิยม ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่สมดุล การทำลายล้างและวิกฤติ หนังสือที่มีชื่อเสียงมากของ เขาคือ Small is beautiful ( ค.ศ.1973) ซึ่งรวมทั้งบทความเรื่องเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ ที่เสนอแนวทางพัฒนาและการบริโภคสายกลางที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสร้างสั งคมที่คนส่วนใหญ่มีความสุขมากกว่าเศรษฐศาสตร์แบบอุตสาหกรรมนิยม มีความเป็นมนุษย์มากกว่าการผลิตสินค้าและบริการเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงิน

13.self development การพัฒนาตนเอง การอ่าน ฟัง พูด ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง  และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวคิดพฤติกรรม เพื่อให้ตนเองมีบุคลิก อุปนิสัย อารมณ์ ความรอบรู้ ทักษะ ที่จะช่วยให้คนๆนั้นใช้ชีวิตและการทำงานได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทั้งหนังสือ เว็บไซต์ และสถาบันฝึกอบรมแนวจิตวิทยาและแนวการบริหาร ที่เสนอแนะว่าควรจะทำอะไร อย่างไร (how to) ออกมาสนองความต้องการด้านนี้เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นธุรกิจสำคัญธุรกิจหนึ่ง

14. self-reliance การพึ่งตนเอง แนวคิดที่เชื่อว่าการพัฒนาที่แท้จริงมาจากภายในและความช่วยเหลือเรื่องการพัฒนา ควรมุ่งที่การจูงใจให้คนรู้จักวิธีที่จะช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งหมายถึง การส่งเสริมให้คนมีความมั่นใจในตัวเอง ตัดสินใจเองได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ว่าในระดับปัจเจกชนหรือกลุ่ม

15. self sufficiency เศรษฐกิจและสังคมแบบผลิตเองใช้เอง พึ่งตนเองเป็นด้านหลัก ไม่พึ่งพาภายนอกหรือพึ่งพาน้อยมาก เช่น สังคมเกษตรแบบดั้งเดิมที่ผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ (self subsistance) หรือ สังคมชุมชนแบบใหม่ที่สมาชิกมีอุดมการณ์แนวนี้ เนื่องจากเห็นว่าจะลดการเสียเปรียบสังคมภายนอกได้ดีกว่า และหรือจะเป็นการพัฒนาในแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการพึ่งพาภายนอกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก
ในประเทศไทยมีแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Self sufficiency economy แต่แนวคิดชุดนี้เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลางที่กล่าวถึงหลักการพอประมาณ ใช้ความรู้ เน้นคุณธรรม ซึ่งมีความหมายค่อนข้างประนีประนอมกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม ไม่ได้เน้นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองเป็นด้านหลักเท่ากับความหมายดั้งเดิมในภาษาอังกฤษ

16. Small is Beautiful ชื่อหนังสือที่มีอิทธิพล เขียนโดย E.F. Shumacher พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ.1973 เสนอแนวคิดทางเลือกการพัฒนาที่คัดค้านลัทธิอุตสาหกรรมนิยมและสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรและชุมชนขนาดเล็ก ใช้เทคโนโลยีขนาดกลางหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม แปลเป็นไทยแล้ว 2 สำนวน ในชื่อว่า “จิ๋วแต่เจ๋ว” และ “เล็กๆนั้นสวยงาม”

17. social cost ต้นทุนทางสังคม  ต้นทุนทั้งหมดที่สังคมต้องเป็นผู้จ่าย เช่น ความเสียหายด้านทรัพยากรและสภาพแวดล้อม ความเสียหายด้านสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ต้นทุนที่จ่ายโดยผู้บริโภคหรือผู้ผลิตแต่ละคนเท่านั้น
นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่เห็นว่า การที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมุ่งการผลิตเพื่อหากำไรเอกชนโดยคิดแต่ต้นทุนการผลิตเอกชนของนายทุน ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรของส่วนรวม เช่น ทิ่ดิน, ป่า, น้ำ, แร่ธาตุ, สภาพธรรมชาติอย่างขูดรีด เกิดมลภาวะที่สังคมส่วนรวมต้องเสียหายในระยะยาวมากกว่าผลที่ได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม ก็ทำให้เกิดคนจน, ความรุนแรงและอาชญากรรม ฯลฯ มากขึ้น กลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่รัฐบาลหรือสังคมโดยส่วนรวมต้องจ่ายสูงกว่า กรณีที่จะวางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเสียตั้งแต่ต้น

18. social cost and benefits การคำนึงถึงต้นทุนและกำไรของสังคมทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมกว้างกว่าต้นทุนและกำไรของเอกชน (private costs and benefits) เช่น การก่อให้เกิดมลภาวะ นโยบายการขนส่งที่เน้นการสร้างถนนเพื่อรถส่วนตัวมาก ทำให้เกิดต้นทุนทางสังคม ทั้งการก่อมลภาวะ การซ่อมถนน อุบัติเหตุ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

19. social democracy ประชาธิปไตยสังคมนิยม สังคมนิยมแบบที่สนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคมผ่านการปฏิรูปด้วยวิธีการประชาธิปไตยสมัยใหม่มากกว่าการต่อสู้ทางชนชั้นที่รุนแรง แนวทางการพัฒนาสังคมแนวปฏิรูปนี้ได้พัฒนาเป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) ในยุโรปเหนือและประเทศอื่นๆ

20. social development การพัฒนาทางสังคม การพัฒนาด้านชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข ประกันชีวิต และสวัสดิการสังคม ความปลอดภัยจากอาชญากรรมและความรุนแรง ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งควรเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมักเน้นการเติบโตของผลผลิต

21. social ecology นิเวศวิทยาสังคม การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งถิ่นฐาน การทำมาหากิจ กิจกรรมทางสังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมกับสภาพแวดล้อม

22. social economics เศรษฐศาสตร์เชิงสังคม การนำหลักเกณฑ์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ไปใช้ในการศึกษาพฤติกรรมสังคมและความสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ, การศึกษา, อาชญากรรม, ที่อยู่อาศัย, บริการและสวัสดิการสังคม

23. social engineering วิศวกรรมทางสังคม การใช้หลักการวางแผนและออกแบบในเชิงวิศวกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนและสังคม

24. social entrepreneur ผู้ประกอบการที่สนใจปัญหาสังคม คนที่สนใจจะใช้วิธีการบริหารทางธุรกิจมาบริหารองค์กรหรือกองทุนที่ทำงานด้านการพัฒนาสังคมหรือสาธารณกุศล เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลกำไรส่วนตัว

25. social exclusion ประชาชนที่มีปัญหาทางสังคม เช่น ว่างงาน มีความรู้และทักษะการทำงานต่ำ รายได้น้อย มีที่อยู่อาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปัญหาอาชญากรรมสูง  มีปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัวแตกแยก ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและซ้ำเติมซึ่งกันและกัน  ทำให้เพิ่มปัญหาซับซ้อนและก้าวไปสู่วัฎจักรแห่งความชั่วร้ายได้อย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และชุมชนจะต้องหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ

26. social insurance การประกันสังคม การให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล, ประกันอุบัติเหตุ, การว่างงาน, การเกษียณอายุ ฯลฯ แก่แรงงานหรือพลเมืองที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม โดยกองทุนประกันสังคม รายได้ของกองทุนส่วนหนึ่งได้มาจากการหักเงินเดือนของคนทำงาน ส่วนหนึ่งบริษัทและรัฐบาลจ่ายสมทบ บางประเทศมีบริษัทรับประกันสังคมบางเรื่อง เช่น ประกันสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งผู้ต้องการเข้ากองทุนแบบเสริมนี้ต้องจ่ายเบี้ยประกันเอง

27. social justice ความเป็นธรรมทางสังคม การที่สังคมสามารถทำให้สมาชิกมีสิทธิมนุษยชนสนองความต้องการที่จำเป็นและมีส่วนในกระบวนการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา นี่คือเป้าหมายการพัฒนาทางสังคมที่สำคัญ ซึ่งลำพังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ รัฐบาลต้อหาทางดำเนินการปฏิรูปทางการคลังงบประมาณและการดำเนินนโยบายพัฒนาคนเพื่อเป้าหมายนี้โดยเฉพาะ

28. social marketing การทำตลาดเพื่อสังคม การนำความรู้ด้านการตลาดมาใช้ในการณรงค์ให้การศึกษาและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การรณรงค์ต่อต้านการแพร่ระบาดของโรคเอดส์, ยาเสพติด, เหล้า, การพนัน, การรณรงค์สนับสนุนให้คนออกกำลังกายและดูแลสุขภาพตนเอง ฯล,

29. social market economy เศรษฐกิจตลาดแบบสังคม แนวคิดที่เสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ ชาวเยอรมนี A Muller-Armack สนับสนุนเสรีภาพของธุรกิจเอกชน, การทำงานของกลไกตลาด, การแข่งขัน การแทรกแซงโดยรัฐในระดับต่ำ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจอย่างผิดๆ และส่งเสริมการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม  แนวคิดนี้เสนอว่ากลไกราคาในตลาดเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่มักนำไปสู่การกระจายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการใช้มาตรการทางการคลัง การเงินของรัฐ เพื่อส่งเสริมตลาดไม่ใช่ต่อต้านตลาด พร้อมกันไปกับการใช้กฎหมายควบคุมการผูกขาด ประเทศสังคมนิยมที่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เช่น จีน ก็ใช้แนวคิดคล้ายๆกันนี้

30. social responsibility approach (social responsiveness approach) แนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของนักบริหารธุรกิจหัวก้าวหน้าที่มองว่า เป้าหมายของธุรกิจไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจล้วน แต่เป็นเรื่องสังคมด้วย ดังนั้น ธุรกิจจึงควรใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจของตนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางสังคม เช่น ช่วยให้สังคมมีความเป็นธรรม มีสันติสุข มีสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย

31. socially responsible funds (social conscious investing) กองทุนเพื่อการลงทุนร่วมกันที่เลือกจะลงทุนซื้อหุ้นเฉพาะบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และปฏิเสธที่จะลงทุนในบริษัทผลิตและขายบุหรี่, บริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม , บริษัทที่ทำธุรกิจกับประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการกดขี่ บริษัทที่ไม่ค่อยรับผิดชอบต่อสังคมในกรณีต่างๆ การมีนโยบายเช่นนี้เป็นกระบวนการคว่ำบาตรทางสังคม บริษัทที่มุ่งกำไรสูงสุดไม่รับผิดชอบต่อสังคม และปลุกให้คนตื่นตัวในการเลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แนที่จะคิดแค่ผลกำไรส่วนตัวอย่างเดียว

ที่มา
วิทยากร เชียงกูล
อธิบายศัพท์สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา, – – กรุงเทพฯ : สายธาร, 2550.
ISBN : 978-974-94365-7-8

 

ป้ายกำกับ: , ,

1 responses to “redistribution และ 30 คำศัพท์สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่น่ารู้จัก

ใส่ความเห็น