RSS

Category Archives: องทุนหมู่บ้าน

ทางออกของปัญหา:กองทุนหมู่บ้าน- ประชานิยมไม่อาจแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างได้


ทางออกของปัญหา:กองทุนหมู่บ้าน- ประชานิยมไม่อาจแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างได้

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 17 กุมภาพันธ์ 2551 19:01 น.

โครงการกองทุนหมู่บ้านและโครงการให้สินเชื่อรายย่อยประเภทต่างๆ ช่วยให้คนจนมีเงินสดหมุนเวียนไปประกอบอาชีพเกษตรกรและอาชีพอิสระรายย่อยเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ยากที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้จริงๆ เพราะการที่คนจนจะก้าวข้ามพ้นความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่ดินหรือปัจจัยการผลิตอื่น มีความรู้ความสามารถในการจัดการ มีระบบตลาดและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ผู้ผลิตรู้จักรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่เข้มแข็ง ฯลฯ

การเน้นโครงการให้สินเชื่อรายย่อยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบแข่งขันในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ทั้งๆที่คนที่ยากจนขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นอย่างมากนั้น จนเพราะถูกระบบระบบทุนนิยมผูกขาดเอาเปรียบ และพวกเขาควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐแบบให้เปล่าในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข บริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ โดยรัฐบาลต้องเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราก้าวหน้าและหารายได้ต่างๆมาช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาหรือปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในถิ่นที่ยากจน จึงจะเป็นช่องทางช่วยพัฒนาคนจนให้ช่วยตัวเองได้

การส่งเสริมการปล่อยเงินกู้รายย่อยให้ประชาชนเข้าไปแข่งขันในระบบทุนนิยมผูกขาดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนน้อยเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จในบางพื้นที่ แต่ก็อาจจะอยู่ในขอบเขตจำกัดและในระยะสั้นๆ ไม่อาจจะแข่งขันสู้กับบริษัทใหญ่ได้ในระยะกลางและระยะยาวได้ ยกเว้นแต่จะมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ผู้ผลิตที่เข้มแข็ง

การส่งเสริมธนาคารให้สินเชื่อขนาดย่อมเป็นด้านหลักโดยไม่ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองให้เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย เป็นเพียงการเปลี่ยนการขูดรีดดอกเบี้ยจากคนจนโดยระบบนายทุนเงินกู้เอกชน มาเป็นการขูดรีดโดยสถาบันการเงิน ที่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่านายทุนเงินกู้เอกชนหน่อย แต่ดอกเบี้ยที่รายย่อยกู้ได้ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดีมากเท่านั้น เนื้อแท้ของการขูดรีดผ่าน ระบบการซื้อ (ปัจจัยการผลิต) แพง ขาย (ผลผลิต) ได้ถูก ไม่ได้เปลี่ยนแปลง โครงการเงินกู้รายย่อยเพียงช่วยให้ผ่อนคลายปัญหาและช่วยให้เศรษฐกิจทุนนิยมเดินต่อไปได้โดยไม่สะดุดดูดี แต่คนจนก็ยังติดกับดักของเงินกู้ คือต้องเป็นหนี้สะสมเพิ่มขึ้นไปชั่วชีวิตไม่ต่างไปจากเดิม

ทางออกของคนจน

เราน่าศึกษาบทเรียนจากธนาคารกรามีนของบังคลาเทศ (อ่าน วิทยากร เชียงกูล มูฮัมหมัด ยูนูส ธนาคารคนจนและรางวัลโนเบล สายธาร 2551) สหกรณ์ และองค์กรประชาชนในประเทศอื่นๆเพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนและนำมาประยุกต์ใช้ในการต่อสู้ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น โดยจะต้องวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองให้เข้าใจสภาพสาเหตุแนวทางการแก้ไขให้เชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม ทางออกของคนจน คงไม่ใช่แค่การจัดตั้งธนาคารคนจน กลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์ออมทรัพย์แค่นั้น แต่ต้องจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค สหกรณ์ร้านค้าและสหกรณ์ประเภทต่างๆที่เข้มแข็งและมีเครือข่ายกว้างขวาง เช่น สหกรณ์การเกษตร ที่มีเครือข่ายระดับภูมิภาคและประเทศ ร่วมกันซื้อปัจจัยการผลิตได้ถูกลงและร่วมกับขายพืชผลได้อย่างมีความรู้มีการจัดการและอำนาจต่อรองขึ้น อย่างสหกรณ์การเกษตรในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาถึงขั้นมีธนาคารของตัวเอง มีร้านค้าสหกรณ์และบริษัทขายส่ง บริษัทส่งออกของตัวเอง

คนงานผู้ประกอบอาชีพต่างๆสามารถพัฒนา สหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค ที่สมาชิกสหกรณ์เป็นเจ้าของโรงงาน ธุรกิจต่างๆเองได้ แม้แต่การแพทย์และการรักษาพยาบาล ทั้งแพทย์ พยาบาล ประชาชนก็มีการ ตั้งสหกรณ์เพื่อการรักษาพยาบาล ในบราซิลและประเทศอื่นๆที่มีจุดแข็งมากกว่าโรงพยาบาลรัฐซึ่งให้บริการได้จำกัดและโรงพยาบาลเอกชนซึ่งคิดแพง ในหลายประเทศมีการตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำ ไฟฟ้า ฯลฯ ที่มีจุดแข็งมากกว่ารัฐวิสาหกิจหรือบริษัทนายทุนเอกชน เพราะสหกรณ์เป็นการจัดระบบการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพแบบระบบตลาด แต่การบริหารและการแบ่งปันผลประโยชน์มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เน้นเพื่อประโยชน์สมาชิกส่วนรวม สหกรณ์จึงเป็นทางเลือกที่สามที่ดีกว่ารัฐวิสาหกิจ รัฐสังคมนิยมและระบบนายทุนเอกชน

สหกรณ์ที่มีสมาชิกมีความรู้และจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมในหลายประเทศ ยังเป็น องค์กรที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมและสภาพแวดล้อมให้สมาชิก ชุมชน และประเทศ ได้ดีกว่าบริษัทธุรกิจเอกชนด้วย เช่น การเน้นการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม การให้สวัสดิการและความช่วยเหลือแก่คนจนหรือคนด้อยโอกาสในชุมชน การส่งเสริมสิทธิสตรี สิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในภาคใต้และภาคตะวันออกของไทย นอกจากจะการจัดสวัสดิการชุมชนให้สมาชิกและรณรงค์ในเรื่องให้สมาชิกละเลิกอบายมุข และไม่ขายเสียงในการเลือกตั้งผู้แทนด้วย

ดังนั้น การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันของประชาชนในแนวสหกรณ์ จึงมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาได้สูงกว่าการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขันหากำไรส่วนบุคคล คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่เกิดขึ้นได้จริง ถ้าแนวคิดการพัฒนาประเทศไทยยังเน้นแนวทางเปิดเสรีภายใต้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเป็นด้านหลัก เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นจริงได้ก็ต่อ เมื่อเราต้องพัฒนาระบบสหกรณ์ พัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองระดับชุมชนได้เพิ่มขึ้น และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการเมืองให้กับชุมชน ทำสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค สหกรณ์ออมทรัพย์ ร้านค้า สหกรณ์ ฯลฯ ให้เข้มแข็งสามารถแข่งกับบริษัทนายทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ ประชาชนไทยจึงจะมีโอกาสแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาความด้อยพัฒนาอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง