RSS

Category Archives: อุดมการณ์สังคมประช

อุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยใหม่

2.เราเรียนรู้อะไรจากการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา (ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติปี 2542)


  1. เราเรียนรู้อะไรจากการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา
  2. เราจะวิเคราะห์ปัญหาปัจจุบัน  และแนวโน้มในอนาคตได้ดี  ก็ต่อเมื่อเรารู้จักศึกษาและสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา.  ปัญหาสำคัญคือคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สนใจการเรียนรู้และการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างวิพากษ์วิจารณ์  และเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ; ไม่ค่อยสนใจการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์  และการวิจัยและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาจากพื้นฐานสังคมไทยอย่างจริงจัง. 

       อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ คนส่วนใหญ่ถูกครอบงำทางด้านความรู้ความเชื่อให้มองแต่ข้อดีของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบคิดตะวันตกที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  เน้นหาเงินให้ได้มาก และเพิ่มการบริโภคให้ได้มากตามกระแสโลกาภิวัตน์ จนกลายเป็นความศรัทธาในเรื่องการแข่งขันกันหาเงินเพื่อการบริโภคว่าเป็นแนวทางการพัฒนาทางเดียวที่มีอยู่.  คนที่เชื่อแบบศรัทธาจะไม่ฟังคนอื่นและไม่อาจคิดได้ว่าในโลกนี้ยังมีเศรษฐศาสตร์แบบอื่น ๆ, แนวการพัฒนาทางเลือกอื่น ที่ต่างไปจากแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมเพื่อการบริโภคนี้.

  1. เรามุ่งพัฒนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเน้นรูปแบบ (การมีรัฐธรรมนูญ, มีการเลือกผู้แทนฯ) มากกว่าเนื้อหา  (วิถีชีวิต,  ค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย)  เน้นผลลัพธ์สำเร็จรูปมากกว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย. เราไม่ได้สนใจพัฒนาประชาธิปไตยในครอบครัว  โรงเรียน  ที่ทำงาน  และประชาคมมากเท่าที่ควร.  แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ  ความเสมอภาค ไม่ได้หยั่งรากลึกในหมู่ประชาชน  และนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น สามารถใช้ความได้เปรียบของกลุ่มคนที่มีเงินมากกว่า  มีความรู้มากกว่า มีอำนาจอิทธิพลบารมีมากกว่า  ช่วงชิงการทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ประชาชนที่ทั้งยากจนทั้งขาดความรู้ ความสำนึกทางการเมืองได้.
  2. การต่อสู้เพื่อสังคมประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ถูกนำโดยกลุ่มปัญญาชนชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่อย่างเถรตรงหรือเป็นสูตรสำเร็จมากเกินไป ไม่ได้มีการปฏิวัติการศึกษาแบบวิเคราะห์และรู้จักการประยุกต์ใช้กับสังคมที่เป็นจริง ;  และไม่ได้มีการกระจายทักษะในการศึกษา  และการวิเคราะห์สู่ประชาชน. 

       ประชาชนไม่ได้มีพื้นฐานทางภูมิปัญญาที่เข้มแข็ง.  การที่ชนชั้นนำเป็นผู้ครอบงำทางด้านแนวคิดอุดมการณ์ (ส่วนใหญ่โดยฝ่ายจารีตนิยมฝ่ายก้าวหน้ามีอิทธิพลในระดับหนึ่งในช่วง 2516-2519) ; เมื่อชนชั้นนำนำไปในทางที่ผิดพลาด  ประชาชนก็ผิดพลาดไปด้วย  เพราะประชาชนคิดต่างออกไปจากชนชั้นนำไม่เป็น.  ประชาชนส่วนใหญ่ยังถูกครอบงำด้วยความคิดแบบพึ่งพาผู้อุปถัมภ์  พึ่งพาผู้นำหรือตัวบุคคล มากกว่าจะคิดเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างที่ประชาชนจะสามารถมีบทบาทได้มากขึ้น.

  1. ประชาชนไทยโดยทั่วไปรวมทั้งปัญญาชนไม่ได้พัฒนาวุฒิภาวะในการวิเคราะห์ปัญหาอย่างซับซ้อน.  พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองปัญหาแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างสุดโต่ง  เช่น  ขวา-ซ้าย,  ซ้ายของแท้-ซ้ายลัทธิแก้  เปิดเสรีเต็มที่-ชาตินิยมสุด ๆ ฯลฯ มากเกินไป จึงมีอาการสวิงไปทางขั้วที  ขั้วนั้นที  แล้วแต่สถานการณ์  แล้วแต่กลุ่มคนที่ขึ้นมาชี้นำ.  ประชาชนไม่ค่อยสนใจที่จะวิเคราะห์หาทางเลือกที่สามหรือทางเลือกที่สี่ที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ที่มีการเสนออย่างมีระบบเหตุผล มีข้อเท็จจริงหรือข้อมูลพื้นฐานรองรับ.
  2. คนไทยส่วนใหญ่มักมองปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองอย่างแยกจากกันเป็นส่วน ๆ ทำให้ขาดการมองอย่างเชื่อมโยงถึงปัญหาทางวัฒนธรรมและปัญหาระบบคิด ที่เป็นทั้งผลสะท้อนและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการเมืองได้ด้วยในขณะเดียวกัน. อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไทยทำงานรวมกลุ่มกันอย่างสร้างสรรค์  และก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสมรรถภาพได้ยากคือ   วัฒนธรรมทางความคิดแบบเจ้าขุนมูลนายและระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมในการชอบรักษาหน้า ชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ติดกับบุคคลมากกว่าหลักการ ฯลฯ

       คนไทยมักไม่ค่อยมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์  ไม่ค่อยมีวินัย  ไม่เชื่อถือคนอื่นนอกจากตัวเอง และพรรคพวก.  ปัญหาทางวัฒนธรรมและระบบคิดของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทยเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องการการวิจัยวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไขไม่น้อยไปกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจการเมือง.

       ปัญหาทั้ง 5 ประการที่กล่าวมาเป็นปัญหาด้านระบบโครงสร้างทางสังคม และปัญหาทางด้านกรอบวิธีคิดของคนไทยที่เป็นรากเหง้าของปัญหาอยู่แล้ว ; เมื่อเจอปัจจัยภายนอก จากการพยายามเอาเปรียบและครอบงำของทุนต่างชาติ  ปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม และวัฒนธรรม จึงได้ขยายตัวเป็นวิกฤติอย่างรวดเร็ว.

แนวโน้มสังคมไทยในชั่วอายุคนรุ่นต่อไป (25 ปีข้างหน้า) จะเป็นอย่างไร

  1. จะเป็นสังคมที่ประชากรเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 62 ล้านคน  เป็น 124 ล้านคน  โดยมีประชากรวัยหนุ่มสาวที่ต้องการงานทำเป็นสัดส่วนสูงขึ้น  ทำให้และผู้สูงอายุเกิน 60 ปีก็จะมีสัดส่วนสูงขึ้น  เป็นภาระแก้ญาติพี่น้อง  และสังคมเพิ่มขึ้น.  ในอนาคตอาจจะมีคนเสียชีวิตเพราะโรคเอดส์  อุบัติเหตุการเดินทาง  และการทำงาน และสาเหตุอื่น ๆ ในอัตราสูง  ทำให้ประชากรจำนวนลดลงบ้าง ; แต่ประชากรก็ยังจะมีจำนวนมากเกินกว่าทรัพยากร  เช่น  ที่ดิน  น้ำ ป่าไม้  ธรรมชาติสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอยู่เท่าเดิมและกำลังเสื่อมสภาพลง.  ดังนั้น สังคมไทยในอนาคตจะมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองสูงขึ้น การจัดการเรื่องแรงงานและทรัพยากร  เพื่อให้ประชากรมีงานทำ  มีอาหาร ที่อยู่อาศัย  เสื้อผ้า ยารักษาโรค  จะเป็นปัญหาใหญ่มาก  จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรแย่งชิงงานกันมากขึ้น ฯลฯ.
  2. ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องการพัฒนาแบบเน้นการส่งเสริมต่างชาติมาลงทุน  สังคมไทยจะเป็นสังคมที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาครอบงำทั้งธนาคาร  รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจต่าง ๆ   มากจนคนไทยจะเป็นเหมือนผู้เช่าอาศัย  และลูกจ้างในบ้านของตนเอง.  จะเกิดความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพิ่มมากขึ้น,  การว่างงานจะเพิ่มขึ้น,  เกิดสลัมขนาดใหญ่,  ปัญหาคนจรจัดในเมือง,  ปัญหาโสเภณี,  ยาเสพย์ติด,  อาชญากรรม,  และปัญหาอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น.
  3. ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตของสินค้า  เน้นการแข่งขันหาเงิน  หากำไร  เพื่อการบริโภคสูงสุดแล้ว ; ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  และสภาพแวดล้อมทางสังคม  วัฒนธรรมจะยิ่งถูกทำลาย.  คนจะตายและเจ็บป่วย  เพราะมลภาวะและโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น ค่านิยมของคนไทยรุ่นต่อไป  จะยิ่งเห็นแก่ตัว  แก่งแย่งแข่งขัน เกิดปัญหาการทุจริตฉ้อฉล ความเสื่อมทางจริยธรรม ศีลธรรมมากขึ้น  เกิดความรู้สึกแปลกแยกและความเครียดมากขึ้น เกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรง และสลับซับซ้อน  จนแก้ไขด้วยสันติวิธีได้ยาก.

       รัฐบาลที่เป็นตัวแทนคนกลุ่มน้อยและไม่ฉลาดมากพอ  จะยิ่งสาละวนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วน ๆ; และจะแก้ไม่ได้ผล  เพราะปัญหาทุกอย่างของสังคม  รวมทั้งปัญหาระบบความคิด ค่านิยมของคน  เป็นปัญหาเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคมทั้งหมด.  เราไม่อาจจะแยกแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ อย่างได้ผลยั่งยืน ต้องปฏิรูปหรือปฏิวัติระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองทั้งหมดอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม.

เราควรจะทำอะไรกันต่อไป ? 

  1. เราควรจะเผชิญกับวิกฤติครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยครั้งนี้อย่างตรงไปตรงมา,  เลิกสร้างภาพพจน์  เลิกหลอกให้ประชาชนมีความหวังแบบไม่สมจริง.  เราต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์ให้ประชาชนเห็นสาเหตุทางโครงสร้างของวิกฤติอย่างแท้จริง  และคิดในเชิงผ่าตัดปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย  ตลอดจนคิดหาทางเลือกใหม่ที่เป็นทางเลือกเฉพาะของไทยอย่างกล้าพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่.
  2. เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องการเร่งรัดขยายการผลิตและการบริโภคที่ทำให้ต้องอยู่ในกับดักของหนี้และการพึ่งทุนต่างชาติ ; หันมาเน้นการผลิตและการบริโภคเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการยังชีพและคุณภาพชีวิต และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม  ควบคู่ไปกับการแบ่งปันกันใช้ทรัพยากร แบ่งปันการมีงานทำ  และการบริโภค  อย่างเอื้ออาทรต่อทั้งธรรมชาติและคน.
  3. เปลี่ยนกรอบคิดแบบหวังพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมากเกินไป เป็นการพึ่งตนเองในระดับประเทศ  และเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นด้านหลัก.  กระจายทรัพยากร  รายได้  ความรู้ การมีงานทำ  สิทธิและโอกาสทางการเมืองและสังคมสู่ประชากรส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง  ทำให้ตลาดภายในประเทศที่มีคน 62  ล้านคน  มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น  เพื่อทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้น.  ส่วนการลงทุน  และการค้ากับต่างประเทศควรเลือกเปิดรับการลงทุนและสั่งสินค้าจากต่างประเทศส่วนที่จำเป็น  และที่เราจะได้ประโยชน์โดยไม่เสียเปรียบจนเกินไป  และส่งออกสินค้าที่เราสามารถผลิตได้ดี  มีมูลค่าสูง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม.
  4. ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง  การศึกษา  สื่อสารมวลชน  และวัฒนธรรมในแนวทางเลือกที่สาม คือ สังคมประชาธิปไตยแบบใหม่ (NEW SOCIAL DEMOCRATIC)  ที่เลือกส่วนที่ดีของสังคมนิยม เช่น ความเสมอภาค การไม่เอาเปรียบกัน  และส่วนที่ดีของทุนนิยม  เช่น  ประสิทธิภาพ,  แรงจูงใจในการทำงาน  มาผสานกันอย่างคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง  เพื่อสร้างระบบใหม่ที่เป็นไปได้ในชั่วอายุคน.
  5. เปลี่ยนโครงสร้าง วิถีชีวิต และกรอบคิดค่านิยมแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแก่งแย่งแข่งขันหาเงิน  เน้นการบริโภคของเอกชนแบบตัวใครตัวมัน  มาเป็นกรอบคิดค่านิยมที่เน้นความร่วมมือ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันทรัพยากร  การมีงานทำ  การบริโภค อย่างทั่วถึง  เป็นธรรม.  เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้พัฒนาความรู้  ความสามารถ  การทำความดี ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเอง  และพัฒนาสังคมชนิดที่มีคุณภาพ  ไม่ใช่สังคมที่เน้นการพัฒนาด้านวัตถุความ และเห็นแก่ตัว.

       สังคมที่มีคุณภาพ คือ สังคมสันติประชาธรรมที่สนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของสมาชิกส่วนใหญ่ได้ดี มีธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่ดี,  มีเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมชาติที่ดี,  ประชาชนพัฒนาทั้งความรู้ จิตสำนึกทางสังคม  วุฒิภาวะทางปัญญาและอารมณ์,  มีวินัย,  ทำงานเป็นกลุ่มคณะได้มากขึ้น, มีวัฒนธรรมในการตัดสินปัญหาความขัดแย้งด้วยเหตุผล  ประชาธิปไตยและสันติวิธี ;  เคารพความหลากหลายด้านความคิด  ความเชื่อ และศิลปวัฒนธรรม ทำให้สังคมสามารถที่จะพัฒนาเพื่อความผาสุกประชาชาติของคนส่วนใหญ่  ได้อย่างยั่งยืนยาวนาน.

   สังคมที่มีคุณภาพแบบใหม่นี้แตกต่างจากสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเพิ่มผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติในปัจจุบัน ที่นอกจากจะไม่ได้กระจายผลผลิตสู่คนส่วนใหญ่แล้ว  การผลิตและบริโภคสินค้ากันอย่างฟุ่มเฟือยมากเกินไป  ยังทำลายทั้งธรรมชาติสภาพแวดล้อม และทำลายทั้งวัฒนธรรม  จริยธรรม  ของคนส่วนใหญ่.  การพัฒนาที่เน้นการเพิ่มการเจริญเติบโตทำให้เกิดวิกฤติทางสังคมและวัฒนธรรมที่แก้ได้ยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ.  ขณะเดียวกันการพัฒนาเพื่อสังคมที่มีคุณภาพก็ต่างจากสังคมแบบวางแผนจากส่วนกลาง หรือสังคมนิยมแบบเก่า  ที่มีข้อจำกัดในเรื่องความด้อยประสิทธิภาพ, การครอบงำจากชนชั้นข้ารัฐการจากส่วนกลางมากเกินไป.

ยุทธศาสตร์ในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ทั้ง  4  ประการข้างต้นได้คือ

  1. การสร้างสรรค์และเผยแพร่แนวคิดในการกอบกู้วิกฤติแบบใหม่ที่ต่างจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตกกระแสเก่าของและชนชั้นนำส่วนใหญ่.
  2. การจัดตั้งและขยายเครือข่ายการจัดตั้งองค์กรที่มีประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีทิศทางร่วมกัน   ให้ประชาชนเข้าใจ,  ตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤติ และทางออกที่ยั่งยืน และตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา (รู้ว่าเราควรจะไปทางไหนกัน). พัฒนาองค์กรประชาชน กลุ่มสหภาพแรงงาน  สมาคมอาชีพ  สหกรณ์ออมทรัพย์ ชมรม  สมาคม สโมสร ฯลฯ และประชาคมให้มีความรู้และมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มนายทุน,  นักการเมืองเพิ่มมากขึ้น.  รณรงค์ปฏิรูปการศึกษา  และความคิด  ทำให้คนส่วนใหญ่มีความคิดเสรีประชาธิปไตย และเรียนรู้อย่างวิพากษ์วิจารณ์และอย่างต่อเนื่อง.  เสริมสร้างศักยภาพในการเป็นผู้นำ และสร้างผู้นำใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อขยายบทบาทในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงและทำงานทางการเมืองและสังคม ; ช่วงชิงช่องทางที่เปิดให้  เช่น  ส่งคนที่มีอุดมการณ์และมีความรู้ความสามารถเข้าสมัครวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และผู้แทนในระดับต่าง ๆ. ขณะเดียวกัน องค์กรประชาชนก็ต้องคอยผลักดันควบคุมดูแลผู้ทำงานการเมืองในระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้แทนเปลี่ยนสีแปรธาตุ หรือถูกระบบอภิสิทธิชนดูดกลืนไปเป็นพรรค (รู้ว่าเราจะไปอย่างไรกัน).
 

1. วิกฤติและแนวโน้มของเศรษฐกิจสังคมไทย (ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติปี 2542)


1.  วิกฤติและแนวโน้มของเศรษฐกิจสังคมไทย

      รากเหง้าของวิกฤติ  คือ ระบบผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจการเมือง และการดำเนินนโยบายพัฒนาแบบพึ่งทุนต่างชาติ  เพื่อการเพิ่มสินค้า  และการส่งออก

      วิกฤติทางเศรษฐกิจ  การเงิน การคลัง ซึ่งนำไปสู่การลดค่าเงินบาท  และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  ปัญหาการว่างงานในไทย  ตั้งแต่กลางปี 2540 เป็นต้นมา ถูกชนชั้นนำอธิบายว่าเป็นวิกฤติของการบริหารจัดการที่ผิดพลาด.  แต่จริง ๆ แล้ว  เป็นวิกฤติทางด้านโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจการเมือง  ที่อำนาจและความมั่งคั่งอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยที่ฉ้อฉล  ไม่ได้กระจายสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง ; และเป็นวิกฤติที่เกิดจากการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศแบบพึ่งพาทุนต่างชาติ  เพื่อการเพิ่มสินค้าและการส่งออก  โดยที่การพัฒนาดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่แต่อย่างใด.

      เมื่อรัฐบาลไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาวิกฤติ ก็ไม่สามารถแก้ที่ต้นตอของวิกฤติได้.

      รัฐบาลแก้ปัญหาภายใต้กรอบคิดของการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า.  2 ปีที่ผ่านมาภาครัฐกลับเป็นฝ่ายกู้หรือเป็นหนี้แทนภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มมากขึ้น  การดำเนินนโยบายเอาใจให้ต่างชาติปล่อยกู้เพิ่ม  เข้ามาลงทุนเพิ่มได้อย่างเสรีเพิ่มขึ้น  ทำให้ต่างชาติสามารถหาประโยชน์จากเป็นที่ปรึกษานายหน้า  หรือการซื้อกิจการของไทยได้ตามใจชอบมากขึ้น. การกู้หนี้ใหม่มาช่วยอุ้มชูธนาคาร และสถาบันการเงินที่มีปัญหา  และเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยให้คนมีงานทำและรายได้ขึ้นบ้างแต่เป็นช่วงสั้น ๆ.  เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าไม่ใช่การจ้างงานที่จะให้ผลผลิตต่อเนื่องได้ยั่งยืน.   ตัวเลขมูลค่าผลผลิตโดยรวมของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นขึ้นมาเป็นบวกนิดหน่อย ในปี 2542 (จากติดลบ 8 % ในปี 2541).  เป็นเพียงการฟื้นเพียงบางส่วน  เช่น  ภาคธุรกิจส่งออก ภาคอุตสาหกรรมการค้าบริการที่สามารถขายสินค้าบริการให้คนที่มีฐานะดีและปานกลางที่ยังคงมีเงินสะสมเหลืออยู่ ; แต่ไม่ใช่การฟื้นของเศรษฐกิจแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ. 

      เศรษฐกิจจะฟื้นเพียงบางส่วน  และจะไม่ยั่งยืน

      การฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบอาศัยทุนจากต่างประเทศและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของคนส่วนน้อย  ทำให้ภาครัฐบาลเป็นหนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อตอนเกิดวิกฤติใหม่ ๆ.  ประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น,  เศรษฐกิจของประเทศอยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติเพิ่มขึ้น  โดยที่การฟื้นฟูก็ไม่ได้แก้ปัญหาคนว่างงาน 2 ล้านคน  ปัญหาคนจน คนมีรายได้น้อย  ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างจริงจัง.  บริษัททุนข้ามชาติจะไม่ช่วยเพิ่มการจ้างงาน  เพราะพวกเขาจะสนใจการใช้เครื่องอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนการผลิตมากกว่าการจ้างงาน,  สนใจการขายสินค้าให้ตนเองได้กำไรสูงสุด มากกว่าสนใจการผลิตประเภทที่จะใช้แรงงานและทรัพยากรภายในประเทศเพื่อประโยชน์ของคนไทย.

      เมื่อคนตกงานเพิ่ม  และรายได้แท้จริงลดลง,  โอกาสที่เศรษฐกิจภายในประเทศทุกส่วนจะฟื้น  และเติบโตเข้มแข็งก็เป็นไปได้ยาก.  เมื่อทุนต่างชาติเข้ามาซื้อรัฐวิสาหกิจ, ธนาคาร,  บริษัทใหญ่ ๆ อันดับแรก ๆ ที่พวกเขาจะทำคือ  ลดพนักงานรัฐวิสาหกิจ,  ธนาคาร,  บริษัทต่าง ๆ ลง.  การลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมใหม่อาจจะเพิ่มการจ้างงานแรงงานฝีมือที่จำเป็นบางส่วน,  แต่กล่าวโดยภาพรวมแล้ว  การจ้างงานทั่วทั้งประเทศจะลดลง.  การอ้างว่าทุนต่างชาติจะมีประสิทธิภาพมากกว่านายทุนไทย  ถูกท้าทายจากข้อเท็จจริงที่ว่า ธนาคารต่างประเทศในไทยหากำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าอัตราเงินฝากสูงกว่าธนาคารในประเทศอย่างเห็นได้ชัด.

เศรษฐกิจภาคประชาชน จะตกต่ำ เรื้อรัง  และสังคมเกิดปัญหาขัดแย้งรุนแรงขึ้น

      การแก้ปัญหาแบบพึ่งทุนต่างชาติเป็นด้านหลักจะทำให้ไทยพัฒนาไปเป็นแบบบราซิล  และประเทศลาตินอเมริกาอื่น ๆ ที่มีเศรษฐกิจภาคที่ทันสมัยควบคู่ไปกับเศรษฐกิจภาคยากจนของประชาชนส่วนใหญ่.  การแก้ปัญหาแนวนี้  จะทำให้คนชั้นกลางบางส่วนที่ปรับตัวได้เก่งเท่านั้นฟื้นและร่ำรวยขึ้น  แต่คนล้มละลาย คนตกงาน คนจนจะมีเพิ่มมากขึ้น,  ชุมชนแออัดจะขยายใหญ่โตขึ้น.  การที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของกลุ่มชนเพิ่มขึ้น จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม  ความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมืองและสังคมเพิ่มมากขึ้น.

      ดังนั้นถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ การแก้ปัญหาแนวนี้ของรัฐบาลก็ไม่ใช่การฟื้นอย่างแท้จริงหรือยั่งยืน  มองในแง่การเมือง  สังคม จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงมากยิ่งขึ้น.

 

ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมือง คืออะไร


ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมือง  คืออะไร

   ทางเลือกใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมืองน่าจะเป็นอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยใหม่ (NEW  SOCIAL  DEMOCRACY)  ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่มีจุดยืนแบบกลาง ค่อนไปทางก้าวหน้า (Center Left) อุดมการณ์นี้อาจจะเทียบได้กับอุดมการณ์ของพรรคการเมืองปีกก้าวหน้า เช่น  พรรคคนงาน,  พรรคโซเซียลเดโมแครต ของพรรคกรีนประเทศอื่น ๆ แต่เป็นอุดมการณ์ที่พัฒนาให้เข้ากับสถานะการณ์วิกฤติที่เป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน. 

   ปัจจุบันประเทศไทยมีแต่พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีอุดมการณ์สนับสนุนการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบส่งเสริมการลงทุนต่างชาติเพื่อการส่งออก.  อุดมการณ์แบบนี้เป็นตัวการสร้างวิกฤติการเป็นหนี้ การว่างงาน  เศรษฐกิจตกต่ำ การทำลายสภาพแวดล้อม และค่านิยมที่ดีงาม ; เป็นอุดมการณ์ที่ไม่สามารถจะใช้แก้ปัญหาวิกฤติสังคมไทยอย่างยั่งยืนได้  ส่วนอุดมการณ์แบบสังคมนิยมที่ใช้การวางแผนจากส่วนกลางแบบเก่า  ก็ล้าสมัย ขาดประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิตและการกระจาย รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การขาดแรงจูงใจ และอื่น ๆ

อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยใหม่  คืออะไร

  1. คืออุดมการณ์ที่พยายามบูรณาการส่วนที่ดีของสังคมนิยม เช่น  ความเป็นธรรม  จิตสำนึกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เข้ากับส่วนที่ดีของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เช่น  สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน การแข่งขันเพื่อประสิทธิภาพ.  อุดมการณ์นี้มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจแบบผสม ที่เน้นระบบสหกรณ์และการให้พนักงาน,  ประชาชน,  องค์กรชุมชนเข้าถือหุ้น  และบริหารองค์กรธุรกิจทุกระดับ และการพัฒนาระบบสังคมสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนที่เสียเปรียบ.
  2. แก้ปัญหาข้อจำกัดของสังคมนิยม เช่น  ความไร้ประสิทธิภาพของการวางแผนจากส่วนกลาง,  การขาดเสรีภาพ และแรงจูงใจในการทำงาน และแก้ปัญหาข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบทุนนิยม  เช่น  การมุ่งแสวงหากำไรเอกชนมากเกินไป ที่นำไปสู่การเอาเปรียบ  และค่านิยมที่เห็นแก่ตัว.  อุดมการณ์นี้สร้างระบบการเมืองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างจริงจัง  และส่งเสริมให้สังคมประชา (Civil  Society)  มีบทบาทเพิ่มขึ้น.  รัฐแบบใหม่ที่ประชาชนตรวจสอบควบคุมได้มากขึ้นยังคงจำเป็นต้องมีไว้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศจากการเอาเปรียบของบริษัทของทุนข้ามชาติ และเพื่อร่วมมือกับประชาชน และรัฐอื่น ๆ ในการสร้างสังคมโลกที่เป็นธรรม  มีสันติภาพ และสร้างสรรค์ คำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  มากกว่าสังคมโลกในปัจจุบัน.
  3. มีจุดยืนแนวในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แตกต่างจากกลุ่มจารีตนิยม    ชาตินิยมขวาจัด  และกลุ่มเสรีนิยมใหม่  คือ เน้นความเสมอภาค ความเป็นธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่ เน้นประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีบทบาทโดยตรงมากขึ้น  ประชาธิปไตยที่เป็นส่วนหนึ่งวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชนจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน.  และมีจุดยืนที่แน่ชัดในการมุ่งสร้างสังคมสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ  และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. มีความยืดหยุ่น ความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกสมัยใหม่ได้ โดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการแบบเก่า.  คำนึงถึงเรื่องปัญหาของโลกสมัยใหม่ เช่น  การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  สิทธิของสตรี  และกลุ่มชนที่ด้อยสิทธิด้อยโอกาส สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน และกลุ่มชนต่าง ๆ ยอมรับความหลากหลายทางด้านการดำเนินชีวิตและศิลปวัฒนธรรม  ฯลฯ โดยมุ่งประโยชน์และความสันติสุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว.

จะประยุกต์ใช้อุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยใหม่กับสังคมไทยได้อย่างไร

  1. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม กระจายทรัพย์สิน รายได้  การศึกษา  การมีงานทำ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สวัสดิการทางสังคม ให้ประชาชนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เน้นการระดมใช้แรงงาน  ทรัพยากร  เงินทุนภายในประเทศ  เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้บนฐานที่กว้างกว่า  ยั่งยืนกว่า นโยบายแก้ปัญหาแบบพึ่งทุนต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ.
  2. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากทุนนิยมผูกขาด  และทุนนิยมขุนนาง  ให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมประชาธิปไตย  ที่เน้นการพัฒนาระบบสหกรณ์ การให้พนักงาน ประชาชน องค์กรชุมชน เข้าถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ  ธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่  และขนาดกลาง.  ปฏิรูปการเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณและพัฒนาระบบประกันสังคมและสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรม  และมีประสิทธิภาพ.
  3. ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ให้มีการกระจาย  และการตรวจสอบอำนาจ  โดยสถาบันและกลุ่มอิสระจากระบบราชการ   รัฐสภา  และพรรคการเมือง อย่างมีลักษณะคานอำนาจกันได้หลายทาง  ซึ่งเรียกได้ว่าประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ; เช่น  มีคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เป็นอิสระ  มีองค์กรบริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น  ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางและรัฐสภาระดับชาติ มีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลและไม่แสวงหากำไรที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสังคมประชา (Civil  Society)  ที่เข้มแข็ง  ควบคู่ไปกับการทำงานที่จำเป็นของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น. 
  4. ปฏิรูปด้านการศึกษา สื่อสารมวลชน  ศิลปวัฒนธรรม  ให้คนกล้าคิดกล้าแสดงออก เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง  ภาคภูมิและพอใจกับชีวิต  นับถือและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น  รวมทั้งธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ไม่ใช่การศึกษาเพื่อเพิ่มความเห็นแก่ตัว  ศิลปวัฒนธรรมแบบการค้า และการมุ่งบริโภคสูงสุด  ที่เอาเปรียบทั้งคนและธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

สารบัญ (ทางออกจากปัญหาวิกฤตปี 2542)


สารบัญ 

คำนำ

  1. 30 ปี ภายหลังยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย”  เราเรียนรู้อะไร  และเราควรจะทำอะไรกันต่อไป
  2. สร้างภูมิปัญญาใหม่  กอบกู้ประชาชนไทยจากวิกฤติ
  3. ประชาชนไทยมีทางเลือกอื่น  แต่จะต้องกล้าเดินด้วยตัวเอง
  4. วิกฤติจะทำให้เกิดโอกาสใหม่  และแนวคิดใหม่ได้อย่างไร
  5. แนวทางแก้ไขวิกฤติและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมได้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน

ประวัติและงานของผู้เขียน 
 
 

      (บทความในหนังสือเล่มนี้  ยินดีให้บุคคล,  กลุ่ม,  องค์กรต่าง ๆ  ทำสำเนาเผยแพร่เพื่อสาธารณประโยชน์ได้  โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้เขียน  แต่จะต้องระบุชื่อผู้เขียนกำกับไว้ด้วย  และถ้าจะส่งสำเนาหรือแจ้งกลับมาที่ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ก็จะขอบคุณยิ่ง)

 

ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติ (ปก)


*ผลงานชิ้นนี้อาจารย์วิทยากร เชียงกูล ได้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 ท่านสมาชิกหรือผู้สนใจท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมให้แจ้งมาทางเว็บไซต์ได้เลยค่ะ*

 

ทางออกจากปัญหาวิกฤติของชาติ

วิทยากร  เชียงกูล 
 


 
 
 
 
 

รูปภาพ 
 
 
 
 

รวมพลังสร้างสรรค์ความเป็นไท  เป็นธรรม  และคุณภาพชีวิตยั่งยืน