RSS

Category Archives: ประชาชน

ทางออกของปัญหา:ทางรอดของประชาชนไทยคือระบบสหกรณ์คู่ไปกับเศรษฐกิจพอเพียง


บทความที่เขียนใน นสพ. ผู้จัดการรายสัปดาห์ 5 ตุลาคม 2550 17:12 น.
       ระบบทุนนิยมแบบที่รัฐบาลทุกรัฐบาลและพรรคใหญ่ทุกพรรคสนับสนุนอยู่จะไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมได้เพราะเป็นทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารของบริษัททุนข้ามชาติ การพัฒนาแนวนี้ จะทำให้เกิดการเอาเปรียบทั้งทรัพยากรและคนในประเทศ ความไม่สมดุลและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างกลุ่มคนไทยมากขึ้น ทางรอดของประชาชนไทย คือต้องพัฒนาระบบสหกรณ์ ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจพอเพียงหรือเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองในระดับประเทศเป็นสัดส่วนสูงขึ้น
       
        ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรจัดตั้งทางเศรษฐกิจแบบประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันและบริหารแบบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของสมาชิกโดยรวมและชุมชนนั้น เป็นทางเลือกที่สามที่ดีกว่าทั้งทุนนิยมล้วนๆ และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางล้วนๆ รวมทั้งระบบรัฐวิสาหกิจ
       
       ระบบสหกรณ์ต่างจากและดีกว่าทุนนิยม
ตรงที่เป็นระบบที่ตัดพ่อค้าคนกลางและกำไรของนายทุนเอกชนออกไป พนักงานผู้ผลิต ผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
       
       ระบบสหกรณ์ในยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ ฯลฯ สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจแบบเครือข่ายขนาดใหญ่และมีสัดส่วนในตลาดที่สำคัญกว่าของไทยหลายเท่า แต่คนไทยถูกครอบงำด้วยระบบการศึกษาและข้อมูลข่าวสารจากบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตกให้เชื่อในแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมด้านเดียว และมองข้ามระบบสหกรณ์ซึ่งในประเทศไทยถูกตีความอย่างแคบๆทำให้เป็นองค์กรเล็กๆ เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตรที่มีข้อจำกัดเป็นเพียงหน่วยงานเพื่อการกู้ยืมเงินอยู่ภายใต้ระบบราชการและกลุ่มนายธนาคารที่ไม่ได้เปิดช่องให้สหกรณ์ไทยเติบโตเป็นธนาคาร เป็นเครือข่ายร้านค้าปลีก เป็นเจ้าของโรงงานธุรกิจขนาดใหญ่ ฯลฯ เหมือนสหกรณ์ในประเทศอื่น
       
       ใน ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ประชากร1 ใน 2 เป็นสมาชิกสหกรณ์ ประชาชนหรือครัวเรือนในแคนาดา นอร์เวย์ ญี่ปุ่น 1 ใน 3 เป็นสมาชิกสหกรณ์ ประชากรในเยอรมนี สหรัฐฯ 1 ใน 4 เป็นสมาชิกสหกรณ์
       
       ประเทศที่ขบวนการสหกรณ์ก้าวหน้า มีสหกรณ์สามารถเข้าไปแทนที่บริษัทธุรกิจเอกชนได้ แทบทุกสาขาทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์คนงาน, สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์อเนกประสงค์ที่มีเครือข่ายกว้างขวางระดับเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ สหกรณ์เป็นเจ้าของธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทและโรงงานขนาดใหญ่ เครือข่ายร้านค้า มีธุรกิจระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีสหกรณ์บุคคลากรด้านการแพทย์ที่มีโรงพยาบาลและเครือข่ายคลินิก สหกรณ์ที่อยู่อาศัย สหกรณ์บางแห่งมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัยของตนเอง สอนทั้งเรื่องการบริหารจัดการสหกรณ์ และวิชาอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์ให้บริการด้านน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ สหกรณ์ให้บริการด้านอื่นๆอีกมากมาย ฯลฯ
       
       สหกรณ์เกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์ผู้บริโภคหรือสหกรณ์ค้าปลีก
ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สหกรณ์มีสัดส่วนการตลาดค่อนข้างสำคัญโดยเฉพาะในภาคเกษตร ภาคการค้าปลีก ธนาคารและการประกันภัย ในประเทศลาตินอเมริกา และเอเชียบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหกรณ์ทั้ง 3 ประเภทนี้มีบทบาทและสัดส่วนในการตลาดที่สูงกว่าสหกรณ์ของไทยมาก รวมทั้งในยุโรปและลาตินอเมริกายังมีสหกรณ์ที่พนักงาน, คนงานเป็นเจ้าของโรงงานหรือธุรกิจเอง ซึ่งประชาชนไทยยังไม่ค่อยรู้จักหรือยังไม่ฝันถึง
       
        ระบบทุนนิยมสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สร้างปัญหาการทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อม และทำลายวัฒนธรรมค่านิยมดั้งเดิมมาก ทำให้คนบางส่วนเริ่มคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยแตะเบรกไม่ให้เราพัฒนาทุนนิยมแบบสุดโต่ง คือโลภ และเป็นหนี้มากเกินไปได้ แต่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเชิงความคิดค่านิยมที่ตีความได้ต่างๆนานา
       
       ระบบทุนนิยมกรรมสิทธิ์ของเอกชน เพื่อหากำไรสูงสุดในตลาด)นั้นถึงจะมีจุดแข็งในแง่ของการส่งเสริมแรงจูงใจและการแข่งขันแต่ก็มีจุดอ่อนในการที่ทุนต้องมุ่งหากำไร และขยายการลงทุนตลอดเวลา เงินทุนในระบบทุนนิยมโลกนั้นเหมือนเป็นสัตว์ร้ายที่นั่งนอนอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้กินดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือกำไรไม่ได้ ดังนั้นระบบทุนนิยม จึงสร้างปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสภาพแวดล้อม การรวมศูนย์ความมั่งคั่งในมือนายทุนกลุ่มน้อย และการเพิ่มความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความเครียดและความทุกข์มากขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยพื้นฐาน
       
        ถ้าจะให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ผลจริง เราต้องปฎิรูประบบเศรษฐกิจให้ต่างไปจากระบบทุนนิยม โดยการเปลี่ยนระบบการผลิต การจัดจำหน่าย และให้บริการในเศรษฐกิจหลายสาขาให้เป็นระบบสหกรณ์ ซึ่งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะสมาชิกทุกคนได้เป็นเจ้าของทุนร่วมกัน บริหารอย่างเป็นประชาธิปไตย และแบ่งปันผลผลิตและบริการอย่างเป็นธรรมและเอื้อเฟื้อต่อชุมชนและสังคม
       
       ระบบสหกรณ์จะลดการกระจุกตัวของทุน กระจายทรัพย์สินและรายได้ ให้เป็นธรรมขึ้น ทำให้คนจนส่วนใหญ่ได้มีงานทำ มีอาหาร ที่อยู่อาศัย การสาธารณสุข ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ พอเพียงต่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือ สหกรณ์มุ่งประโยชน์สมาชิกและชุมชนส่วนรวมมากกว่าเพียงเพื่อผลกำไรของผู้ถือหุ้น สหกรณ์ที่พัฒนาแล้วในญี่ปุ่น ยุโรป คำนึงเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และสินค้าอื่น และความยั่งยืนของธรรมชาติสภาพแวดล้อมมากกว่าบริษัทในระบบทุนนิยม
       
       นี่คือทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วในประเทศอื่นว่าเป็นไปได้จริง หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนไทยต้องช่วยกันศึกษา เผยแพร่และผลักดันให้เกิดขบวนการสหกรณ์ที่เข้มแข็ง เราจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ก้าวหน้ากว่าระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารประเทศทุนนิยมศูนย์กลางในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
       
       (ผู้สนใจอาจอ่านเพิ่มเติมได้จาก วิทยากร เชียงกูล หยุดวิกฤติซ้ำซาก ด้วยระบบสหกรณ์ บ้านพระอาทิตย์ 2550)
 

บทรวม:ปัญหาความยากจนของคนไทย (1)


1 คนยากจนคือใคร วัดกันอย่างไร?* 

การให้คำนิยาม และการขีดเส้นว่าใครคือคนจน

      เวลาใครกล่าวถึงความยากจน ผู้กล่าวมักจะมีกรอบคิดในเรื่อง ความหมายและสาเหตุที่มาของความยากจนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่) เช่น กรอบคิดว่า คนจนคือผู้มีรายได้ต่ำไม่เพียงพอกับการยังชีพ  หรือมีฐานะความเป็นอยู่ต่ำกว่าคนอื่น ๆ เนื่องมาจากเป็นคนที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น เกียจคร้าน,  ไม่ขวนขวาย  ไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ ฯลฯ แต่กรอบคิดแบบนี้ เป็นแค่ความคิดความเชื่อของคนที่รวยแล้วหรือไม่ค่อยจน โดยที่ไม่ใช่ความจริงทางสังคมทั้งหมด 

      การที่เราจะสามารถทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เราจึงควรจะต้องวิเคราะห์ตั้งแต่กรอบคิดในเรื่องคำนิยามของความยากจน หรือคนจน เราจะได้ทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า คนจนที่เรากำลังกล่าวถึงหมายถึงใคร  อย่างไร เพราะการให้คำนิยามที่ต่างกัน จะทำให้เกิดกรอบคิดในการวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางแก้ไขความยากจนที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน 

1. การนิยามและชี้วัดความยากจน  โดยมองจากรายได้

      นักเศรษฐศาสตร์นิยมวัดความยากจน  โดยใช้รายได้เป็นเกณฑ์ มีวิธีวัด 2 ทางใหญ่คือ

  •  
    1. ความยากจนเชิงสัมบูรณ์ (Absolute poverty) ใช้วิธีคำนวณว่า รายได้ขนาดไหนที่คนเราจะใช้ยังชีพและดำรงชีวิตต่อไปได้ (มีอาหารกินกี่แคลลอรี่ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน, เสื้อผ้า, เชื้อเพลิง ฯลฯ) และนิยามว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า เส้นความยากจน(เช่น 922 บาทต่อเดือนต่อคนในปี 2545) ถือว่าเป็นคนยากจน (ธนาคารโลกและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ)
    2. ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ (Relative poverty) ใช้วิธีเปรียบเทียบว่าใครจนกว่าใคร มากน้อยเพียงไร หรือจนกว่ารายได้ถัวเฉลี่ยมากน้อยเพียงไร เช่น การพิจารณาจากดูการกระจายรายได้ของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมเดียวกัน โดยการแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% ตามลำดับชั้นของรายได้เฉลี่ย กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% จะถือว่าเป็นคนจน หรือจนมาก ชั้น
  •  
      ของกลุ่มคนที่มีรายได้ 20% ถัดมาจะถือว่าจนปานกลาง  เป็นต้นหรือดูว่าใครที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้ถัวเฉลี่ยของคนทั้งประเทศถือว่ายากจน 
    * ตัดต่อปรับปรุงแก้ไขจาก วิทยากร เชียงกูล และคณะ โครงการการพัฒนาตัวแบบชี้วัดความยากจนเชิงโครงสร้าง  สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2545
    1.1  ความยากจนใน เชิงสัมบูรณ์

      ตั้งแต่ไทยมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม   ตามคำแนะนำของธนาคารโลก ในปี พ.ศ.2504 การวัดความยากจนโดยธนาคารโลกและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ใช้แนวคิดรายได้ที่พอเพียงแก่การบริโภคขั้นพื้นฐานเป็นหลัก โดยคำนวณจากจำนวนแคลลอรี่ของอาหารที่คนเราจำเป็นต้องบริโภคและการใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ ออกมาว่าคนเราควรจะมีรายได้เท่าไหร่ จึงจะพอซื้อหาอาหารจ่ายค่าเช่าบ้านหรือซื้อบ้านและเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นเพียงพอแก่การดำรงชีพต่อไป และใช้ตัวเลขนี้เป็นเส้นความยากจน คือใครที่มีรายได้ต่อหัวต่อเดือนต่ำกว่าเส้นนี้ก็ถือว่ายากจน  โดยมีการปรับตัวเลขนี้ทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ 

ตารางที่ 1 ตารางสัดส่วนคนจน พ.ศ.2505-2545

    พ.ศ. จำนวนคนจนล้านคน ร้อยละของคนทั้งประเทศ เส้นความยากจน

    บาท/คน/เดือน

ที่มา : พ.ศ.2505/2506-2518/2519, ดร.เอื้อย มีสุข,  Income, Consumption and Poverty in

         Thailand, 1962263  to 1975/76

         พ.ศ.2524 และ 2529, การศึกษาของ TDRI

         พ.ศ.2531-2545, กองประเมินผลการพัฒนา  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ 

         และสังคมแห่งชาติ

      ด้วยวิธีการวัดความยากจนจากรายได้พอยังชีพเช่นนี้  คนจนอย่างเป็นทางการตามสถิติอ้างว่ามีสัดส่วนสูงถึง 57% ของคนทั้งประเทศ ในช่วงเริ่มแผนพัฒนาใหม่ ๆ คือ ปี 2505/2506 ได้ลดลงมาตามลำดับ จนมีคนจนเหลือแค่ 11.4% ของคนทั้งประเทศในปี 2539 แต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540  สัด

ส่วนคนจนของไทยได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 13% ในปี 2541 และ 15.9% ในปี 2542และเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2543

      การวัดและนำเสนอสถิติเปรียบเทียบเช่นนี้ เท่ากับเป็นการนำเสนอว่า คนไทยก่อนที่จะมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้นเป็นพวกที่มีวิถีการผลิตล้าหลัง  รายได้ต่ำ จึงมีสัดส่วนคนจนสูงมาก เมื่อประเทศไทยพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมากขึ้น  ประชากรมีรายได้เพิ่ม สัดส่วนคนจนจึงได้ลดลงตามลำดับ ที่คนจนกลับมาเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อยหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 ก็เป็นปัญหาเฉพาะกรณี แต่ทิศทางใหญ่ที่ทางการเสนอ  คือ การพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทำให้สัดส่วนของคนจนลดลงมาตามลำดับ  

      การวัดว่าคนเราควรมีรายได้เท่าไหร่จึงจะหาอาหารและสินค้าจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำได้นั้น ในแง่หลักการก็ต้องถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดที่มีประโยชน์ ที่เราน่าจะนำมาใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาปัญหาความยากจนประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ได้ แต่ทั้งนี้เราจะต้องพิจารณาการใช้ดัชนีชี้วัดตัวนี้อย่างวิพากษ์ว่า 

      1) เส้นความยากจน คำนวณขึ้นอย่างเหมาะสมหรือไม่

      2) การเก็บสถิติข้อมูล รายได้ของครัวเรือนหรือเฉลี่ยต่อคน ทำได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงไร

      ข้อสรุปที่ว่า ปี 2505/2506 คนที่ยากจนมี 57% ของคนทั้งประเทศและ 32-33 ปีต่อมาคนยากจนลดลงเหลือแค่ 11.4% ของคนทั้งประเทศ เป็นข้อสรุปที่น่าสงสัยมากว่า ดัชนีชี้วัดอาจจะถูกนำไปใช้อย่างผิดพลาดทั้ง 2 แง่ข้างต้น  คือเส้นวัดความยากจน ไม่ถูกต้อง และการเก็บสถิติข้อมูลก็ไม่ถูกต้อง

      ในปี 2505/2506  พื้นที่ป่าไม้ทั่วทั้งประเทศยังมีราว 171 ล้านไร่ ( 53.33% ของพื้นที่ทั้งประเทศ)ซึ่งมากว่ามากกว่าปัจจุบันกว่าเท่าตัว สภาพแวดล้อมทางทะเลและแม่น้ำลำคลองยังไม่ถูกทำลายมากเหมือนปัจจุบัน คนชนบทยังพึ่งพาอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยจากธรรมชาติโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อได้มาก รวมทั้งในภาคอื่นนอกจากภาคกลาง เกษตรกรเมื่อ 40 ปีที่แล้วยังผลิตเพื่อกินเพื่อใช้เป็นสัดส่วนสูง เป็นหนี้กันน้อยกว่า และสมาชิกในชุมชนยังพึ่งพากันและกันได้มากกว่าในสมัยปัจจุบันมาก ดังนั้นคนไทยส่วนใหญ่  ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ในชนบทมากในปี 2505/06 และจำนวนประชากรทั้งประเทศน้อยกว่าปัจจุบันมากด้วย โดยทั่วไปแล้วจึงมีอาหารและสินค้าจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำที่ผลิตได้เอง และหาจากธรรมชาติได้ค่อนข้างพอเพียง โดยที่คนไทยยุคนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อมากเหมือนปัจจุบัน  นั่นก็คือ ถึงรายได้เป็นเงินสดต่ำ  แต่ก็จะมีอาหารพอกินเป็นส่วนมาก

      ดัชนีชี้วัดที่เน้นตัวรายได้อย่างเดียว  ไม่น่าจะถูกต้อง แม้ผู้ที่ทำดัชนีชี้วัดตัวนี้ในปัจจุบันจะระบุว่า ได้นำผลผลิตที่ประชาชนหาหรือผลิตได้เองมาคิดรวมเทียบเป็นรายได้ด้วย แต่ผู้เขียนวิจัยนี้ไม่แน่ใจว่าเมื่อปี 2505/06  ผู้ทำสถิติเรื่องจำนวนคนจนได้คิดส่วนที่ประชาชนผลิตหรือหาอาหารเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นมาคำนวณไว้ด้วยหรือไม่ หรือคิดได้ถูกต้องใกล้เคียงเพียงไร จึงรายงานว่าในปี 2505/06  มีคนจนถึง 57% ของคนทั้งประเทศ

      การใช้ดัชนีรายได้วัดคนจนในปีต่อ ๆ มาที่พบว่า คนจนจากปี 2505 ถึงปี 2539 ลดลงตามลำดับ ไม่น่าจะถูกต้อง แม้รายได้ประชาชาติต่อหัวโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากในรอบ 33 ปีดังกล่าว แต่อัตราเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพก็เพิ่มสูงมากเช่นเดียวกัน (เฉลี่ยปีละ 5-7%)  รายได้ที่ซื้อของได้อย่างแท้จริงของประชาชนจึงต่ำกว่ารายได้ที่เป็นตัวเงิน 

      นอกจากนี้  หากเราใช้สถิติอื่น ๆ มาเปรียบเทียบเราจะพบว่า ในรอบ 33 ปี หลังจากปี 2505/2506 นั้น ป่าไม้ (และสภาพแวดล้อม) ถูกทำลายไปครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอยู่เดิม, คนเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเกษตรผสมผสานเพื่อกินเองใช้เองมาเป็นระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้ต้นทุนการผลิต การบริโภคสูงขึ้น, เกษตรกรและคนทั่วไปเป็นหนี้สูงขึ้น ประชากรก็เพิ่มขึ้น แย่งกันกินแย่งกันใช้มากขึ้น รวมทั้งประชาชนสมัยหลังยิ่งมีรายจ่ายในการบริโภคสมัยใหม่ เช่น พลังงาน,  การเดินทาง,  การศึกษา, การสาธารณสุข,  การหาความบันเทิง,  การซื้อสินค้าและบริการ  เพื่อเสริมความสะดวกสบาย ฯลฯ   มากขึ้น ประชาชนในสมัยหลังจึงน่าจะมีปัญหาในการดำรงชีพเพิ่มมากขึ้น

      ประเด็นที่สำคัญมากอีกประเด็นหนึ่ง คือ การกระจายรายได้นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ คือ คนรวย 20% แรก ยิ่งรวยมากขึ้น  มีสัดส่วนของรายได้สูงขึ้น คนที่จนกว่า 80% หลัง ยิ่งมีสัดส่วนรายได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำสุด 40% หลัง (ดูตารางที่ 2) ดังนั้น คนจนจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มากกว่าลดลง

      ทั้งประเด็นเรื่องป่าและสภาพแวดล้อมถูกทำลาย,  คนต้องพึ่งเงินเพื่อหาซื้อสินค้ามากขึ้น,  ของแพงขึ้น,  การกระจายรายได้เลวลง  ทั้ง 4 ประเด็นนี้  น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ คนจนหรือคนที่ไม่อาจจะหาได้มาซึ่งอาหารและสินค้าจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำ ในช่วงสามสิบกว่าปีหลังจากการใช้แผนพัฒนาฯ มีสัดส่วนสูงขึ้น แทนที่จะลดลงจากตอนเริ่มใช้แผนใหม่ ๆ อย่างฮวบฮาบ จนทำให้เกิดการตีความด้านเดียวว่า เพราะผลสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ ทำให้ประเทศไทยมีคนจนในปี 2539 เหลือเพียงแค่ 11.4% ของคนทั้งประเทศเท่านั้น

      ที่น่าตั้งคำถามมากคือ การกำหนดเส้นความยากจนเฉลี่ยทั่วประเทศในช่วงหลังตั้งแต่ปี 2531 ถึงปี 2545 (จาก 473 บาท ในปี 2531 ต่อคนต่อเดือนเป็น 922 บาท ในปี 2545) ที่แม้จะมีการปรับให้สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อแล้วก็ตาม อาจเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินกว่าสภาพที่เป็นจริงก็ได้ คนที่มีรายได้ 922 ต่อคนต่อเดือน หรือเฉลี่ยราว 30 บาทต่อวัน ในปี 2545 จะมีปัญญาซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำได้จริง ๆ ละหรือ? แม้แต่คนในชนบทก็ตาม เพราะสมัยนี้ คนชนบทส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตอาหารเองหรือหาอาหารตามธรรมชาติได้เหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว ถ้าตัวเลขเส้นความยากจนที่คำนวณขึ้นต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง ที่รายงานระบุว่า คนจนในปี 2545 มีแค่ 9.7% ของคนทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนคน 6.2 ล้านคนก็จะเป็นสถิติที่ต่ำกว่าสภาพความจริงไปด้วย

      ดัชนีชี้วัดโดยใช้เส้นความยากจนจึงมีปัญหาให้ต้องวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในแง่เทคนิคการคำนวณ เช่น คิดแบบถัวเฉลี่ยมากไป ไม่แยกแยะว่าคนที่มีวัย, เพศ, ถิ่นฐานที่อยู่ มีความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิตที่ต่างกัน และในแง่การใช้งานในภาพรวมว่า จะวัดคนจนได้สักแค่ไหน เพราะถึงเราจะวัดในเชิงเศรษฐกิจ ยังไม่ได้วัดในเชิงสังคมวัฒนธรรม ก็ยังจะต้องวัดให้รอบด้าน เช่น จะต้องวัดสถิติหนี้สินของเกษตรกรและคนจนในชุมชนแออัดซึ่งเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด,     วัดสถิติการเป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมทรัพย์สิน ปัจจัยการผลิต และปัจจัยการดำรงชีพ ฯลฯ มาเปรียบเทียบตรวจสอบกับสถิติเรื่องรายได้ด้วย  จึงจะทำให้เห็นภาพว่าใครคือคนจน

      การใช้เส้นความยากจนที่คำนวณขึ้นมาวัดง่าย ๆ ว่าคนยากจนในปี 2545 มีแค่ 9.7%  เมื่อเปรียบเทียบกับคนยากจนในปี 2505/06 ว่ามี 57.0% จึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้มาก ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาทั้งหมด 

      1.2  ความยากจน เชิงเปรียบเทียบ

      วัดโดยใช้การเปรียบเทียบรายได้ของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ว่ามีความแตกต่างในส่วนแบ่งของรายได้ทั้งหมดมากน้อยอย่างไร เช่น การแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% ของประชาชน กลุ่มคนที่รายได้ต่ำที่สุด 20% สุดท้าย ถือว่าจนมากหรือจน แล้วแต่ว่าพวกเขามีสัดส่วนในรายได้สักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ

      การวัดความยากจนในแง่รายได้เชิงเปรียบเทียบอีกวิธีหนึ่งก็คือ เปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนทั้งประเทศ (โดยเอารายได้ทั้งคนรวยที่สุดและจนที่สุดทั้งประเทศมารวมกัน และหารด้วยประชากรทั้งหมด) ดูว่าใครที่มีรายได้ต่ำกว่า รายได้ถัวเฉลี่ยก็จัดว่าเป็นคนยากจนกว่าคนอื่น ๆ

      การวัดความยากจนในเชิงเปรียบเทียบระหว่างประชากรกลุ่มต่าง ๆ น่าเป็นดัชนีชี้วัดที่ช่วยเสริมให้เราเข้าใจปัญหาความยากจนได้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้นกว่าที่จะใช้ดัชนีชี้วัดเชิงสัมบูรณ์ ที่ใช้เส้นความยากจน (หรือเส้นรายได้การสนองตอบความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำของบุคคล)เป็นตัวชี้วัดโดด ๆ  เพราะ

  •  
    1. การเก็บสถิติและการคำนวณเส้นความยากจนอาจขาดความแม่นยำเที่ยงตรง 
    2. คนที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่เหนือเส้นความยากจนขึ้นไปแต่ไม่มากนัก ถ้าพิจารณาด้านอื่น ๆ เช่น  ขัดสนด้านสิทธิโอกาสด้านต่าง ๆ หรือมีหนี้มาก,  รายจ่ายมากด้วย ก็ยังอาจจะถือว่าเป็นคนยากจน
       ได้ 

      1) ความยากจนเปรียบเทียบจากการกระจายรายได้

      การวัดการกระจายรายได้ของคนไทยที่ทำโดยนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่า นอกจากการกระจายรายได้ของคนไทยจะมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอยู่มากมาตั้งหลายสิบปีแล้ว ยิ่งเราพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ คนรวยยิ่งรวยขึ้น  คนจนยิ่งจนลงเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากสถิติในตารางที่ 2

      ตารางที่ 2 การกระจายรายได้ของคนไทย 5 กลุ่ม แบ่งตามระดับรายได้ (คิดเป็นร้อยละ) 

      

      พ.ศ.2518/19 2529 2539 2542
  • สัมประสิทธิจีนี (Gini ratio) มีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 ยิ่งค่าเพิ่มสูงใกล้ 1 มากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องกระจายรายได้มากขึ้น

ที่มา : สถิติปี พ.ศ.2518/19 และ 2539  จาก เมธี  ครองแก้ว “ความเปลี่ยนแปลงในสภาวะความยากจนและการกระจายรายได้ในประเทศไทย ปี 2505/06 ถึงปี 2535”  2540

      สถิติ ปี 2539 และ 2542  จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย กองประเมินผลการพัฒนา สศช.

      สถิติการกระจายรายได้จากตารางที่ 2 ที่ชี้ชัดว่ามีความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นตามลำดับ สะท้อนการพัฒนาเศรษฐกิจระบบตลาดตั้งแต่ปี 2518/19 ถึง 2542 ว่าทำให้เกิดคนจนในเชิงเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มคน 20% รายได้น้อยที่สุด ซึ่งมีสัดส่วนรายได้เพียง 6.1% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ  มีสัดส่วนรายได้ลดลง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวคือ เหลือแค่ 3.8%  กลุ่มคน 20% ที่รายได้ต่ำถัดลงมา ก็มีสัดส่วนแบ่งในรายได้ลดลงจาก 9.7% มาเหลือ 7.1%  ของคนทั้งประเทศ

      คนที่รายได้สูงสุด 20% แรกที่มีส่วนแบ่งในรายได้สูง 49.3% ของคนทั้งประเทศอยู่แล้ว ในปี 2518/9และอีก 24 ปีต่อมาพวกเขายิ่งมีรายได้เพิ่มเป็นสัดส่วนสูงขึ้นถึง 58.5% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ   

      2) ความยากจนเชิงเปรียบเทียบรายได้ของคนจนกับรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ

      ถ้าเราจะวัดคนจนในเชิงเปรียบเทียบว่า ใครที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ ถือว่าเป็นคนจน  ในปี 2542 จะมีคนจน ที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 3,508 บาทต่อคนต่อเดือนถึง 80% ของคนทั้งประเทศ  (ดูตารางที่ 3)  ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการกระจายรายได้ (ตารางที่ 2) ที่คน 80% มีสัดส่วนในรายได้ลดลง จาก 50.7%  ในปี  2518/19  มาเหลือ 41.5%  ในปี 2542  ของรายได้ของคนทั้งประเทศ

      ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจะวัดความยากจนในแง่รายได้ จะต้องมีการนิยามและการเก็บการตรวจสอบสถิติข้อมูลให้ดี จึงจะหาสถิติของคนยากจนได้ใกล้เคียงความเป็นจริง โดยไม่ขัดแย้งกับสถิติข้อมูลและตัวชี้วัดตัวอื่น ๆ  

ตารางที่ 3 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน จำแนกตามชั้นรายได้ ปี 2542 

      บาท / คน / เดือน

ที่มา  การสำรวจผลภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย กองประเมินผลการพัฒนา  สศช.

สศช.  จดหมายข่าว เครื่องชี้วัดความอยู่ดีมีสุข  ปีที่ 4 เล่มที่ 1  กันยายน 2543 

      3) ความยากจนเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยของคนในอาณาบริเวณ

      การวัดในเชิงเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ย บางครั้งนิยมวัดเปรียบเทียบในเชิงอาณาบริเวณ เป็นประเทศ ภูมิภาค จังหวัด หมู่บ้าน  การวัดแบบนี้ให้ภาพเปรียบเทียบได้อย่างคร่าว ๆ เท่านั้น  โดยเฉพาะเมื่อหน่วยที่นำมาเปรียบเทียบค่อนข้างใหญ่ เช่น ภูมิภาค หรือจังหวัด เพราะเป็นการวัดแบบถัวเฉลี่ย คือเอารายได้คนรวย คนฐานะปานกลาง คนจนที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนคนทั้งหมด ขณะที่ตามสภาพความเป็นจริงภายในภูมิภาคหรือจังหวัดแต่ละแห่งยังมีการกระจายรายได้ของกลุ่มคนที่แตกต่างกันมาก  และคนส่วนใหญ่จะมีรายได้จริงต่ำกว่ารายได้เฉลี่ย  เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง แต่ในภูมิภาคนี้มีทั้งคนรวยและคนจนในชุมชนแออัดที่มีรายได้ฐานะแตกต่างกันสูงมากเป็นร้อยเท่าพันเท่า

      การวัดในแง่เปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยของภูมิภาคและจังหวัดต่าง ๆ มีประโยชน์ในแง่ทำให้เราจำกัดพุ่งเป้าอาณาบริเวณในการศึกษาวิจัยได้สะดวกขึ้น เช่น  เรารู้ว่า ภาคอีสานประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด รองลงมาคือภาคเหนือ  เรารู้ว่า จังหวัดในภาคอีสานที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดคือ  หนองบัวลำภู,  อำนาจเจริญ,  ศรีษะเกษ,  ยโสธร,  บุรีรัมย์,  จังหวัดในภาคเหนือที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดคือ  แพร่,  พะเยา,  น่าน,  เพชรบูรณ์,  เชียงราย  ก็จะช่วยให้เราพุ่งเป้าอาณาบริเวณในการศึกษาได้สะดวกขึ้น

      หากจะวัดเปรียบเทียบระดับหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน(หรือชุมชนในเมือง) ก็พอจะเห็นภาพว่าหมู่บ้านไหนจนกว่าหมู่บ้านไหนบ้าง เพราะหมู่บ้านจะเป็นหน่วยที่ย่อยลงมา แต่เราก็ต้องตระหนักไว้ด้วยว่า ในหมู่บ้านหรือชุมชนในเมืองสมัยนี้ก็มีทั้งคนรวยและคนจนแตกต่างกัน ดังนั้นการวัดเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัวในแง่อาณาบริเวณ จึงใช้ได้จำกัด  เช่น ถึงจะมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจไปลงที่ภาคอีสานมากในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมาแต่ก็เป็นผลดีเฉพาะบางส่วน เช่น เขตเทศบาลเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

      การที่จะชี้กันว่าใครจนจำเป็นที่จะต้องใช้แบบเปรียบเทียบตรวจสอบกับดัชนีชี้วัดตัวอื่น ๆ ด้วย เราจึงจะเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ภาพความยากจนได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง มากกว่าที่จะใช้สถิติหรือดัชนีตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น 

ตารางที่ 4  เปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อคนของประชากร 

ในภาคและจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดในแต่ละภูมิภาค (พ.ศ. 2542)

                                                      หน่วย  :  บาท/ปี

ภาค/จังหวัด จังหวัด ภาค

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

      สำนักงานสถิติแห่งชาติ 

2. การนิยามและชี้วัดความยากจน ในแง่คุณภาพชีวิตคน  

      การนิยามและวัดความยากจนในแง่รายได้เป็นพื้นฐานที่สำคัญ แต่ไม่เพียงพอ หรือถ้าเน้นว่าความยากจนเกิดจากรายได้ต่ำอย่างเดียวอาจจะนำไปสู่ข้อสรุปและแนวทางแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เช่น มุ่งให้เงินกู้, มุ่งพัฒนาระบบตลาดเพื่อสร้างรายได้โดยอาจจะเป็นการเพิ่มหนี้สินในอัตราสูงกว่าการเพิ่มรายได้

      ปัจจุบันนักวิชาการและหน่วยงานพัฒนาต่าง ๆ ตระหนักมากขึ้นว่า คนเราไม่ได้ยากจนขัดสนในเชิงเศรษฐกิจหรือรายได้เท่านั้น แต่ยังยากจนขัดสนในเชิงสังคม การเมือง วัฒนธรรมด้วย  เช่น คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ, การศึกษาต่ำ มีปัญหาด้านเชื้อชาติ, เพศ, วัย มีสถานะทางการเมืองและสังคมต่ำ, การไม่มีสิทธิ โอกาส การเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านต่าง ๆ ทัดเทียมกับคนอื่น, ขาดความมั่นคงปลอดภัย และความสะดวกสบายในวิถีชีวิตโดยรวม ฯลฯ ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะสร้างดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนขึ้นมาแทนการวัดในเชิงรายได้ล้วน ๆ

      การวัดความยากจนในแง่คุณภาพชีวิตโดยรวม ซึ่งรวมทั้งชีวิตทางการเมืองและสังคม วัฒนธรรมยังคงรวมทั้งการวัดในแง่รายได้ด้วย แต่ได้เพิ่มตัวชี้วัด,  เพิ่มการถ่วงน้ำหนักมิติทางด้านการเมืองและสังคมขึ้นมา

      การวัดโดยใช้รายได้ล้วน ๆ มีข้อจำกัดว่า คนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน(การสนองตอบความต้องการพื้นฐานที่จำเป็น)บ้างเล็กน้อย หรือคนที่มีรายได้สูงพอสมควร แต่มีสถานะทางการเมืองและสังคมต่ำ ขาดสิทธิโอกาสต่าง ๆ เช่น ชนกลุ่มน้อยบางคน  ก็ยังมีความขัดสนในเชิงสังคมการเมือง ที่เราไม่ควรมองข้ามโดยไม่นับเป็นคนจน การใช้ตัวชี้วัดทางสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาช่วยวิเคราะห์ประกอบกับเรื่องรายได้ที่แท้จริงด้วย จะเห็นภาพคนจนได้ครอบคลุมมากกว่าที่จะใช้ดัชนีชี้วัดรายได้แง่เดียว

      ในปัจจุบันมีบางหน่วยงานที่ใช้ตัวชี้วัดทางสังคมและสภาพแวดล้อมหลาย ๆ ตัวชี้วัดมาใช้ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาความยากจนหรือคุณภาพชีวิต การใช้ดัชนีชี้วัดทางสังคมของหน่วยงานเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่เราน่าจะนำมาประเมิน  เพื่อหาตัวแบบของดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาความยากจนในสังคมไทยต่อไป การใช้ดัชนีชี้วัดทางสังคมสะท้อนการมองปัญหาความยากจนในมิติทางด้านการเมืองและสังคมเพิ่มเติมมาจากการที่เคยเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจหรือรายได้  และเป็นการก้าวไปในทางที่จะทำให้เรามองปัญหาความยากจนในเชิงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งระบบโครงสร้างเสรษฐกิจการเมืองสังคมมากขึ้น

      2.1  การวัดความยากจนโดยใช้ข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ)

      กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการสำรวจจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลในระดับครัวเรือนในหมู่บ้าน นอกเขตเทศบาล ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ว่า คนควรจะมีคุณภาพชีวิตในเรื่องต่าง ๆ อย่างไร จึงจะมีชีวิตที่ดีและสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข การเก็บข้อมูลแนวนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2531  และมีการปรับปรุงเครื่องชี้วัด จปฐ เป็นระยะ ๆ หลังสุดตั้งแต่ปี 2540 มา เครื่องชี้วัด จปฐ แบ่งเป็น 8 หมวด 39 ตัวชี้วัด

      การแบ่ง หมวดตัวชี้วัด จปฐ เป็น 8 หมวด ประกอบไปด้วย

  •  
    1. สุขภาพอนามัยดี
    2. ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
    3. ได้รับการศึกษาและรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์
    4. ครอบครัวสุขสบาย
    5. มีอาชีพและรายได้พอเพียง
    6. มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
    7. มีการพัฒนาจิตใจ
    8. มีจิตสำนึกและร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

      (ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  รายงานคุณภาพชีวิตของคนไทย จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ) ปี 2542)

      ตัวชี้วัด จปฐ   เป็นตัวชี้วัดที่พยายามมองในภาพกว้างกว่ารายได้ คือ มองทั้งเรื่องสุขภาพ, การศึกษา, ที่อยู่อาศัย, ความปลอดภัยความอบอุ่นของครอบครัว, การมีส่วนร่วมของประชาชน วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและสิ่งแวดล้อม   แต่ตัวชี้วัดถึง 39  ตัวนั้น    บางตัวมีลักษณะคิดอยู่ในกรอบของการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่แบบตะวันตก  เช่น  ครัวเรือนได้กินอาหารควบคุมที่มีตรา อย. ตัวชี้วัดบางตัวมีลักษณะเป็นการวัดกว้าง ๆ แบบอัตวิสัย เช่น ครัวเรือนมีความรู้ในการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม  ครัวเรือนมีความอบอุ่น  ซึ่งวัดได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับวิธีเก็บสถิติแบบราชการ คือ ผ่านข้าราชการจังหวัด อำเภอไปทางคณะกรรมการหมู่บ้านให้ช่วยเก็บข้อมูลให้  สถิติที่ได้มาจึงเป็นสถิติที่ให้ข้อมูลแต่ในแง่ดีอยู่มาก ทำให้สถิติของ จปฐ หลายข้อมีลักษณะขัดแย้ง กับสถิติที่ได้จากหน่วยงานอื่น ๆ และควรจะต้องมีการตรวจสอบอย่างวิพากษ์วิจารณ์

      ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานมักให้ภาพในแง่ว่ามีหมู่บ้านที่บรรลุเป้าหมายตามดัชนีชี้วัดดีขึ้นตามลำดับทุกปี จนถ้าเราดูข้อมูลปี 2542 แล้ว จะพบว่าเป็นการเสนอภาพในแง่ดีมาก จนไม่น่าเชื่อถือในหลาย ๆ เรื่อง ยกตัวอย่างในเรื่องสุขภาพ ซึ่งมีตัวชี้วัด 12 ตัวนั้น ปรากฏว่า ตัวชี้วัดส่วนใหญ่คือ 10 ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์ระหว่างร้อยละ 93.5-99.4  อีก 2 ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์ระดับ 83% และ 88% ซึ่งเป็นสถิติที่ดีกว่าสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเองมาก

      ยกตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดที่ 6 ว่าเด็กแรกเกิดถึง 5 ปีมีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ ข้อมูลจปฐรายงานว่า ผ่านเกณฑ์ 97.8% ไม่ผ่านเกณฑ์เพียง 2.2%  ซึ่งเป็นสถิติที่ขัดแย้งกับสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ที่รายงานว่า มีเด็กวัยนี้ที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ คือ มีน้ำหนักและส่วนสูงต่ออายุต่ำกว่ามาตรฐาน ราว 20% ของเด็กทั้งประเทศ (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  สุขภาพคนไทยปี พ.ศ.2543)

      หรือตัวชี้วัดที่ 34 คนในครัวเรือนไม่ติดสุรา ผ่านเกณฑ์ 98.3% ไม่ผ่านเกณฑ์ 1.7% ตัวชี้วัดที่ 35 ครัวเรือนไม่ติดบุหรี่ ผ่านเกณฑ์ 87.3% ไม่ผ่านเกณฑ์ 12.7% ก็เป็นสถิติที่ขัดแย้งกับสถิติจากหน่วยงานอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด

       ในบรรดา 39 ตัวชี้วัด มีแค่ตัวชี้วัด จปฐ เพียง 2 ตัวที่บรรลุเป้าหมายต่ำ คือครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าคนละ 20,000 บาท/ปี  ผ่านเกณฑ์ 48.9%  ไม่ผ่านเกณฑ์ 51.1%  และเด็กไม่ได้เรียนต่อมัธยม ได้รับการฝึกอาชีพ ผ่านเกณฑ์ 64.3% ไม่ผ่านเกณฑ์ 35.7%  ซึ่งสะท้อนให้เห็นการที่คณะกรรมการหมู่บ้านครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านทั้งประเทศยอมรับว่าตนมีปัญหาความยากจนด้านรายได้ และยอมรับว่ามีเด็กที่ไม่ได้รับการเรียนต่อระดับมัธยมและได้รับการฝึกอาชีพน้อย แต่ดัชนีชี้วัดอื่นอีก 37 ตัว ซึ่งสรุปว่าบรรลุเป้าหมายสูงเป็นส่วนใหญ่นั้น เหมือนรายงานที่ห่วงคะแนนนิยมแบบทางราชการ จึงมีข้อสรุปทำนองว่า ปัญหาความยากจนในชนบทลดน้อยลงตามลำดับ จนมีปัญหาเหลืออยู่น้อยมาก ในปี 2542

      การสรุปผลของรายงาน จปฐ บางข้อ ก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยเรื่องความแม่นยำของการเก็บสถิติได้ อย่างเช่น การสรุปว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตบรรลุเป้าหมาย จปฐ มากเป็นที่สอง รองจากภาคกลาง คือ สูงกว่าภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ ทั้ง ๆ ที่ถ้าตรวจสอบกับข้อมูลสถิติ ส่วนใหญ่แล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีปัญหาความยากจนขัดสน มากกว่าภาคใต้อย่างเห็นได้ชัด ที่รายงาน จปฐ สรุปมาแบบนี้ อาจเป็นเพียงเพราะว่าผู้เก็บสถิติภาคใต้รายงานอย่างตรงไปตรงมาหรือกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่ผู้เก็บสถิติภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจรายงานในแง่ดีแบบเอาใจราชการ จึงมีผลสรุปออกมาทำนองนี้ และทำให้นักเศรษฐศาสตร์ประเภทวิเคราะห์จากสถิติบางคนพลอยสรุปตามไปด้วย โดยไม่ตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบกับสถิติข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ

      อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการเก็บและการรายงานข้อมูล จปฐ จะเป็นที่น่าสงสัยในเรื่องความถูกต้องแม่นยำ แต่ดัชนีชี้วัดหลายตัวจากที่มีอยู่ 39 ตัว ก็น่าจะใช้เป็นตัวดัชนีชี้วัดทางสังคมเรื่องความยากจนขัดสน ที่ใช้ประโยชน์ได้ดี ถ้าหากจะมีการพัฒนาวิธีการเก็บสถิติเสียใหม่ โดยน่าจะเก็บสถิติจากทุกครัวเรือน หรือสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นไปตามหลักวิชาสถิติ ให้มีความแม่นยำอย่างแท้จริง  
 

      ดัชนีชี้วัด จปฐ.ที่น่าจะใช้ประโยชน์ให้เข้าใจความยากจนเชิงโครงสร้างได้ดีขึ้น มีอาทิ 

  •  
      หมายเลขดัชนีชี้วัดของ จปฐ  

      2.2  การวัดความยากจนจากข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช 2 ค)

      เป็นการจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน นอกเขตเทศบาลทุก 2 ปี เพื่อแสดงความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ และสังคม จัดทำโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยเหมือนกัน แต่มีการกำหนดตัวชี้วัดและวิธีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ต่างกัน และเข้าใจว่าคนทำน่าจะเป็นคนละทีม เพราะให้ภาพที่แตกต่างกันมากพอสมควร กล่าวคือ ข้อมูล กชช. 2 ค ยอมรับว่ามีปัญหาความยากจนขัดสนในระดับหมู่บ้านเป็นสัดส่วนสูงกว่าข้อมูลของ จปฐ และมีความใกล้เคียงกับสถิติข้อมูลของหน่วยงานอื่นมากกว่า ข้อมูล กชช 2 ค จึงเป็นสถิติที่น่าสนใจนำมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบมากกว่าข้อมูลของ จปฐ

      ข้อมูล กชช 2 ค มีการปรับปรุงหลายครั้งเหมือนกัน ฉบับรายงานปี 2542  แบ่งเป็น 6 กลุ่ม 31 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดบางตัววัดแบบกว้างเกินไป บางตัวก็อยู่ภายใต้กรอบคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ เช่น การมีไฟฟ้า, การประกอบธุรกิจในหมู่บ้าน ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าการมีไฟฟ้าใช้และการประกอบธุรกิจในหมู่บ้านมากหรือน้อยไม่จำเป็นต้องสะท้อนว่าคนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก็มีตัวชี้วัดที่น่าสนใจนำไปใช้วิเคราะห์ความยากจนได้หลายตัวชี้วัด อาทิเช่น

  •  
    1. กลุ่มสภาพพื้นฐาน  ตัวชี้วัดที่น่าใช้คือ สิทธิในที่ดินทำกิน  เอกสารสิทธิ
    2. กลุ่มผลผลิต รายได้ และการมีงานทำ  มีตัวชี้วัดที่น่าใช้ เช่น การประกอบอาชีพ

และการมีงานทำ,   อัตราค่าจ้าง,   การอพยพหางานทำ,     การทำการเกษตรฤดูแล้ง

  •  
    1. กลุ่มสาธารณสุขและการอนามัย มีตัวชี้วัดที่น่าใช้  เช่น สุขภาพจิต,  การอนามัย

สิ่งแวดล้อม

  •  
    1. กลุ่มแหล่งน้ำ
    2. กลุ่มความรู้ การศึกษา และวัฒนธรรม – ระดับการศึกษาของประชาชน
    3. กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีตัวชี้วัดที่น่าใช้ เช่น การปลูกป่าหรือไม้

ยืนต้น, การใช้ประโยชน์ที่ดิน, คุณภาพแหล่งน้ำ

    ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน กชช 2 ค ในปี 2542 ทำให้เราเห็นสภาพความยากจนขัดสน

ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างหมู่บ้านด้วยกันได้หลายแง่ ตัวชี้วัดที่น่าสนใจนำไปใช้วิเคราะห์ต่อเพื่อความเข้าใจความยากจนเชิงโครงสร้าง มีอาทิเช่น 

      ตารางที่ 5 ดัชนีชี้วัด กชช 2  ค ตัวที่มีน้ำหนักสูง 

    ดัชนีชี้วัด

    จำนวนหมู่บ้าน ร้อยละ

      นอกจากนี้ก็ยังมีดัชนีชี้วัดตัวอื่น ๆ ของ กชช 2 ค ที่บางตัวเลิกใช้ไปในปี 2542 แต่น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น หมู่บ้านที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับบริการในรูปแบบการประกันสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ  ซึ่งในปี 2539 ยังมีสูงถึง 62.1% หมู่บ้านที่มีผลผลิตจากการทำนาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของแต่ละภาคในปี 2539 มี 22.0%

      การเก็บและรายงานข้อมูลของ กชช 2 ค จะเป็นประโยชน์มากขึ้น ถ้าเก็บสถิติละเอียดกว่านี้โดยเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหากับครัวเรือนทั้งประเทศ เพราะการวัดเปรียบเทียบในระดับหมู่บ้านให้ภาพได้คร่าว ๆ เท่านั้น.

      รายงานข้อมูลของ กชช 2 ค เปรียบเทียบในแง่ช่วงเวลาจาก พ.ศ.2535 ถึง พ.ศ.2542 พบว่า มีทั้งการเปลี่ยนแปลงในแง่ปัญหาลดลง เช่น หมู่บ้านที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับบริการในรูปแบบการประกันสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ หมู่บ้านที่มีอัตราการเรียนต่อชั้นมัธยมต่ำกว่าร้อยละ 74 ปัญหาบางข้อก็มีสัดส่วนใกล้เคียงเดิมหรือไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เช่น หมู่บ้านที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกไม่เต็มที่ หมู่บ้านที่มีปัญหาน้ำไม่พอเพียงกับการเกษตร ส่วนที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นก็มี เช่น หมู่บ้านที่มีการอพยพออกไปทำงานมาก หมู่บ้านที่เกษตรกรต้องเช่าที่ทำกิน หมู่บ้านที่มีการประกอบอาชีพอื่นนอกจากการทำนาทำไร่ และมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เป็นต้น จึงเป็นข้อมูลที่น่าจะนำไปวิเคราะห์ปัญหาความยากจนได้ดีพอสมควร หรือพอใช้เป็นพื้นฐานในการตรวจสอบกับสถิติข้อมูลอื่นได้.

(สศช. ข้อมูลและเครื่องชี้การพัฒนาของประเทศไทย พ.ศ.2533-2542)

      2.3  การวัดความยากจนโดยดัชนีความขัดสน (Index of Deprivation-IHD) ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand)

      เป็นการพัฒนาดัชนีขึ้นใหม่ จากแนวคิดของดัชนีการพัฒนาคน (Human Development Index-HDI) ที่ UNDP ใช้วัดเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่าง ๆ กว่า 170 ประเทศ และพิมพ์รายงานเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2523

      ดัชนีการพัฒนาคน ใช้ข้อมูลที่สำคัญ 3 ข้อ คือ ระดับรายได้ที่จำเป็นแก่การสามารถมีชีวิตที่ดี, ข้อมูลสุขภาพโดยดูจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรและอื่น ๆ และข้อมูลการศึกษา โดยดูจากข้อมูลการอ่านออกเขียนได้, การมีโอกาสได้เรียน และอื่น ๆ

      เมื่อ UNDP ประจำประเทศไทย ได้เริ่มโครงการทำรายงานเฉพาะประเทศไทย ได้ใช้วิธีเปรียบเทียบการพัฒนาระหว่างจังหวัดต่าง ๆ โดยได้พัฒนาดัชนีขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์พัฒนาคนของประเทศไทย เรียกว่า ดัชนีความขัดสน (Index of Deprivation-IHD) เป็นดัชนีรวมที่มองการพัฒนาใน 8 มิติคือ สุขภาพ การศึกษา การทำงาน รายได้ ที่อยู่อาศัย การอุปโภคบริโภค การคมนาคมขนส่ง และสถานภาพสตรี ซึ่งถือว่าทั้ง 8 มิติสำคัญเท่ากัน แต่ละมิติมีดัชนีย่อยแต่ละด้าน รวมเป็นดัชนีความขัดสน 48 ตัวชี้วัด

      ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ตัวชี้วัดดัชนีความขัดสน

      การใช้ตัวชี้วัดที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น สุขภาพ การศึกษา สถานภาพสตรี พอ ๆ กัน นับเป็นการผสมผสานตัวชี้วัดที่ดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบ้าง คือ

  •  
    1. การวัดแบบนำมาคิดเกณฑ์เฉลี่ยในระดับจังหวัด โดยไม่แยกระหว่างตัวเมืองกับชนบท

ไม่นำปัญหาการกระจายทรัพย์สินและรายได้ภายในตัวจังหวัดนั้น ๆ มาพิจารณาด้วย บางกรณีทำให้เราไม่ได้เห็นภาพความยากจนขัดสนที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของกรุงเทพฯและปริมณฑล จะสูงกว่าจังหวัดอื่น เพราะมีผลผลิตด้านอุตสาหกรรม การค้า บริการมาก ทำให้มีผู้มีรายได้สูงมาก อยู่จำนวนหนึ่ง แต่จังหวัดกลุ่มนี้ก็จะมีคนที่อยู่ในชุมชนแออัด มีฐานะยากจน และความขัดสนด้านต่าง ๆ สูงกว่าจังหวัดอื่นทั้งในแง่ปริมาณรวมและสัดส่วน

      2.  ปัจจุบันมีปัญหาประชากร อพยพไปทำงานและเรียนหนังสือในจังหวัดใหญ่ ๆ เป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยที่ประชากรจำนวนมากไม่ได้โอนย้ายทะเบียนบ้าน หรือจำนวนหนึ่งอยู่ชุมชนแออัดที่ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่รวมอยู่ในสถิติใด ๆ  สถิติเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดจึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้มาก

      ดังนั้น  น่าจะเก็บสถิติเปรียบเทียบในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนมากกว่าในระดับจังหวัด

      3.  ในแง่ของตัวชี้วัดดัชนีความขัดสน 48 ตัว มีตัวชี้วัดที่ผู้รายงานวิจัยเห็นว่าน่าจะใช้เป็นประโยชน์ในการวัดความขัดสนหรือการพัฒนาคนในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนได้ดีอยู่หลายตัวชี้วัด อาทิเช่น

  •  
    1. อัตราการตายต่อประชากร 1,000 คน
    2. อัตราการขาดสารอาหารขั้นเริ่มแรกในเด็ก
    3. สัดส่วนผู้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (น่าจะเน้นเรื่องโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่)
    4. สัดส่วนผู้ป่วยโรคเครียด โรคจิต โรคประสาทต่อประชากร
    5. อัตราผู้มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์
    6. สัดส่วนประชากรต่อแพทย์ พยาบาล
    7. สัดส่วนผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, ตอนหลาย และระดับอุดมศึกษา
    8. อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา
    9. ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับประถม, มัธยมตอนต้น และตอนปลาย
    10. สัดส่วนนักเรียนต่อครูในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา
    11. สัดส่วนนักเรียนต่อชั้น
    12. อัตราการว่างงานและอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับ
    13. อัตราส่วนของแรงงานที่มีหลักประกันทางสังคม
    14. รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน และการเปลี่ยนแปลงรายได้ของครัวเรือนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

(ตัวชี้วัดนี้ควรปรับปรุงเป็นระดับหมู่บ้านและชุมชน จะให้ภาพได้ดีกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยระดับจังหวัด และควรวัดในแง่สัดส่วนของหนี้สิน เมื่อเทียบกับรายได้ด้วย เพราะเราต้องคิดในเชิงหักลบหนี้สินออกจากรายได้จึงจะทำให้เห็นภาพฐานะที่แท้จริงของคน)

  •  
    1. ร้อยละของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นหญิงและอัตราการหย่าร้าง
    2. สัดส่วนที่อยู่อาศัยที่สร้างด้วยวัสดุไม่ถาวร
    3. อัตราส่วนประชากรในชุมชนแออัด
    4. สัดส่วนการทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อประชากร 1,000 คน

      อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานทั้งสามจะมองความยากจนในความหมายกว้างขึ้น โดยเพิ่มดัชนีชี้วัดทางสังคมนอกเหนือจากรายได้  แต่กรอบคิดเกี่ยวกับที่มาและแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนก็ยังคงคล้ายคลึงกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก  โดยมองในเชิงความสัมพันธ์แบบเส้นตรงว่าหากทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม  ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นด้วย  แต่สภาพชีวิตจริงซับซ้อนกว่านั้น  คนที่มีรายได้เพิ่ม  หากรายจ่ายเพิ่ม,  หนี้เพิ่ม,  ทำงานหนัก,  เสี่ยง ฯลฯ คุณภาพชีวิตอาจลดลงได้

      3.  วิพากษ์การให้นิยามความยากจนแบบทางการ

      กรอบคิดที่วัดความยากจนในแง่รายได้ล้วนๆ นำไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเป็นด้านหลัก

      ธนาคารโลก และนักเศรษฐศาสตร์ผู้สนับสนุนแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกเป็นผู้เผยแพร่กรอบคิดการวัดความยากจนของประเทศในแง่การวัดจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร หรือความสามารถในการผลิตเพื่อหารายได้มาซื้อสินค้าและบริการ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยต่ำถูกจัดว่าเป็นประเทศยากจน คนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับรายได้ที่จะใช้ในการยังชีพ ถือว่าเป็นคนยากจน

      การให้คำนิยามเช่นนี้ อธิบายความจริงได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ กรอบคิดที่เน้นการวัดความยากจนเชิงรายได้แบบนี้ นำไปสู่คำอธิบายต่อไปว่า ความยากจนเกิดจากการที่ประเทศและคนยากจนยังพัฒนาวิถีการผลิตแบบเพื่อการค้าได้น้อยไป ดังนั้นแนวทางแก้ไขของธนาคารโลกและนักเศรษฐศาสตร์กระแสทุนนิยมอุตสาหกรรมคือ ประเทศร่ำรวย ต้องให้กู้เพิ่ม เข้าไปลงทุนเพิ่ม เพื่อทำให้ประเทศและคนยากจนเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบการผลิตเพื่อการค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมากขึ้น 

      (WORLD BANK, WORLD DEVELOMENT REPORT 2000/2001)

      แต่สภาพความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่พวกนักเศรษฐศาสตร์อ้างว่าเป็นการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ที่นำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จริง ๆ แล้วเป็นระบบทุนนิยมผูกขาด โดยบริษัททุนข้ามชาติและทุนขนาดใหญ่ เป็นการแข่งขันที่ไม่เสรีจริง และไม่เป็นธรรมจริง ดังนั้นยิ่งประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเคยพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่งให้เป็นแบบทุนนิยมที่ต้องพึ่งพาตลาดโลกมากเท่าไหร่  ก็ยิ่งเป็นการสร้างความร่ำรวยให้กับคนส่วนน้อย, ยิ่งทำลายสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคม วัฒนธรรม  ทำให้เกิดคนยากจนแบบใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศไทยและประเทศทั่วโลก

      (MICHEL CHOSSUDOVSDY THE GLOBALISATION OF POVERTY INSTITUTE OF POLITICAL ECONOMY, MANILA 1997)

      การวัดความยากจนในเชิงรายได้มีส่วนอธิบายปัญหาความยากจนได้ เพราะในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ คนต้องขายแรงงานหรือผลิตเพื่อขาย และต้องใช้เงิน เพื่อใช้ยังชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน  แต่เราควรใช้รายได้หรือผลผลิตในการยังชีพเป็นตัวชี้วัดความยากจนตัวหนึ่งร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ไม่ควรที่จะวัดความยากจนในเชิงรายได้ด้านเดียว 

      การวัดความยากจนแบบใช้เส้นวัดความยากจน(รายได้พอยังชีพ)เป็นตัวกำหนด มีข้อจำกัดทั้งในทางเทคนิค(วัดได้ถูกต้องแม่นยำแค่ไหน) และในทางกรอบคิดอุดมการณ์คือ ถ้าเราเลือกมองความยากจนเฉพาะในแง่รายได้ล้วน ๆ ก็มักจะนำไปสู่สรุปว่า ทางแก้ไขความยากจน คือ ต้องทำให้คนจนทำงานหารายได้เพิ่ม ใครมีรายได้สูงเกินขีดหนึ่งที่กำหนดไว้ก็ถือว่าพ้นความยากจน ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกทั้งหมด

      เกษตรกรกลุ่มที่ปลูกข้าวไว้กิน  หรือทำเกษตรผสมผสานที่ใช้บริโภคได้ อาจมีเงินสดและใช้เงินสดน้อย แต่ความเป็นอยู่(ในแง่การมีปัจจัยพื้นฐานพอเพียง)อาจดีกว่าเกษตรกรที่ผลิตเพื่อขาย ซึ่งมีรายได้

เป็นตัวเงินสูงกว่าก็ได้ เนื่องจากเกษตรกรที่ผลิตเพื่อขายต้องซื้อทั้งปัจจัยการผลิต และเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาสูง ทำให้พวกเขามีรายได้สุทธิ (หักลบรายจ่ายแล้ว) ต่ำกว่าที่พวกเขาจะซื้อหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นได้พอเพียง

      คนที่ส่วนหนึ่งถึงจะมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน  แต่ก็ยังมีความขัดสนในหลายด้าน เช่น การศึกษาต่ำ, ขาดที่ทำกินหรือมีที่ขนาดเล็ก ขาดการรวมกลุ่ม ขาดข้อมูลข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ มีภาระพึ่งพิงเป็นหนี้สูง  มีสถานะทางสังคมและการเมืองต่ำ, ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีสิทธิโอกาสที่จะเข้าถึงบริการพื้นฐานต่าง ๆ ได้ทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ฯลฯ คนเหล่านี้น่าจะถูกจัดว่าเป็นคนยากจนขัดสนได้ด้วยเช่นกัน

      ดังนั้นเราจึงควรนิยามความยากจน ให้ครอบคลุมความยากจนขัดสนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม และหาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากตัวชี้วัดทางรายได้ล้วน ๆ มาพิจารณาประกอบด้วย เราจึงจะมองเห็นภาพความยากจนซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเป็นองค์รวม และสามารถวิเคราะห์สาเหตุของความยากจน ซึ่งมีที่มาทั้งจากปัจจัยภายนอก(ทุนนิยมโลก) และปัจจัยภายใน(โครงสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมในประเทศที่ผูกขาดมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก),  ผลกระทบของปัญหาความยากจนต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม และแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงความเป็นจริงได้มากขึ้น

      (ROBERT HOLAMN, POVERTY EXPLANATIONS OF SOCIAL DEPRIVATION MARTIN ROBERTSON 1978, UNDP HUMAN DEVELOPMENT 2001, อนุชาติ พวงสำลี,  อรทัย อาจอำ (บก.) การพัฒนาเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตและสังคมไทย  สกว.2539 )

      4.  การให้นิยามคนจนและสภาพเงื่อนไขความยากจน เชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม

      การนิยามคนยากจน  ควรขยายให้กว้างมากกว่าคนที่รายได้ต่ำกว่าเส้นวัดความยากจน  นั่นก็คือควรจะรวมคนขัดสน, ด้อยโอกาส, คนในภาวะยากลำบาก ทั้งในเชิงการเมือง สังคม และวัฒนธรรมด้วย ชาวบ้านเองก็จะมีคำที่เรียกคนอยู่ในสภาวะแบบนี้ แบบรวม ๆ ว่า คนทุกข์คนยาก  หากเรานิยามคนจนให้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้นก็จะพบว่าคนจน คือ คนลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือหลายลักษณะประกอบกัน ดังต่อไปนี้

  1. ขาดแคลนฐานทรัพยากร,  ทรัพย์สิน, ปัจจัยการผลิต หรืออาชีพการงานที่จะก่อให้เกิดรายได้เพียงพอ หรือสามารถสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นขั้นต่ำ สำหรับอาหารที่มีคุณค่า ที่อยู่อาศัย และเครื่องอุปโภคบริโภคที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ  เช่น  เกษตรกรที่ไม่มีที่ดิน,  ป่าสภาพแวดล้อมในชุมชนถูกทำลาย  เกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลตอบแทนจากการทำงาน, ผลิตต่ำ และหรือหาอาหารพึ่งตนเองได้ต่ำ, คนงานไร้ฝีมือ ที่ไม่มีงานประจำ, ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่ไม่มีเงินทุน,  ไม่มีความรู้, คนตกงาน คนด้อยโอกาส ฯลฯ
  2. มีรายได้หรือความสามารถในการตอบสนองความต้องการในชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของคนในสังคมเดียวกัน  หากมองคนยากจนในเชิงเปรียบเทียบในแง่นี้แล้ว คนจนจะกินความหมายกว้าง ถึงคนที่มีรายได้ต่ำสุด 80% ซึ่ง ในปี 2542 มีสัดส่วนในรายได้เพียง 41.5% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ และมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 3,508 บาท ต่อคน/ต่อเดือน
  3. มีสถานะหรืออำนาจต่อรองทางการเมืองและสังคม ต่ำกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ รวมทั้งคนที่สังคมมีอคติหรือความเชื่อที่กีดกันพวกเขาให้ไม่ได้รับสิทธิเสมอภาค เช่น เป็นชนชาติส่วนน้อย, คนในชุมชนแออัด, คนอยู่ชนบทห่างไกล, คนอพยพ, คนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน,  ผู้หญิง (โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยากจนหรือการศึกษาต่ำ), คนที่มีอาชีพที่สังคมถือว่าต่ำต้อย ฯลฯ
  4. คนกลุ่มนี้มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ทำให้ไม่มีสิทธิหรือโอกาสที่จะได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ, บริการทางสาธารณสุข และบริการอื่น ๆ ทัดเทียมกับคนอื่น ๆ เช่น เป็นคนพิการ คนบ้า, คนป่วยเรื้อรัง, คนชรา, เด็กกำพร้า ที่ไม่มีญาติพี่น้องดูแล หรือมีญาติพี่น้องบ้างก็ยากจน   เด็กเร่ร่อน ฯลฯ  

      สภาพเงื่อนไขของความยากจน

    1)   ขาดแคลนปัจจัยการผลิตและปัจจัยการยังชีพที่เหมาะสม เช่น ไม่มีที่ดินหรือมีน้อย, ที่ดินไม่ดี ขาดน้ำ ไม่มีเงินทุน ไม่มีอุปกรณ์การผลิตของตนเอง ต้องกู้หนี้ยืมสิน ต้องเช่า ต้นทุนสูง ประสิทธิภาพต่ำ ผลตอบแทนต่ำ มีป่า, ทะเล, สภาพแวดล้อมถูกทำลายไม่สามารถที่จะหาอาหารจากธรรมชาติหรือผลิตเองได้เหมือนในอดีต
    2) ไม่ได้รับการศึกษาอบรมชนิดที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ  การผลิต การมีงานทำและวิถีชีวิตที่เหมาะสม ส่วนใหญ่คือ หัวหน้าครอบครัวได้รับการศึกษาต่ำ ระดับลูกหลานที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นมาหน่อย ก็มักเป็นการศึกษาแบบสามัญที่ใช้แก้ปัญหาหรือสร้างงานให้ตัวเองไม่ได้ หากไม่มีใครจ้าง
    3) เป็นผู้เสียเปรียบจากระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด การที่เกษตรกรไทยถูกชักจูงจากนโยบายการพัฒนาและเศรษฐกิจระบบตลาด เปลี่ยนวิถีการผลิตจากการปลูกข้าวและทำเกษตรผสมผสาน เพื่อกินเพื่อใช้ มาเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อขาย ทำให้ต้นทุนการผลิตเกษตรกรสูงขึ้น แต่ได้ผลตอบแทนต่ำ เพราะระบบพ่อค้าผูกขาด, การเป็นหนี้เรื้อรัง และเสียดอกเบี้ยสูง การเสียเปรียบในเรื่องซื้อปัจจัยการผลิตแพงแต่ขายพืชผลได้ถูก
    4)  เป็นผู้เสียเปรียบจากระบบความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบอำนาจนิยม การเล่นพวก และการนับถือเงินเป็นพระเจ้า เช่น ไปจับจองที่ดินก็มักจะเสียเปรียบถูกโกง ถูกไล่ที่ คนจนผู้มักจะมีความรู้น้อย อำนาจต่อรองน้อย ยิ่งเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบง่ายแทบทุกด้าน คนจนต้องจ่ายค่าบริการแพงกว่าคนอื่น ต้องจ่ายภาษีเถื่อน หรือค่านายหน้าให้กับผู้มีอำนาจมากกว่า และจ่ายภาษีทางอ้อมคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของพวกเขาในอัตราสูงกว่าคนอื่น ๆ
    5)  เป็นผู้เสียเปรียบและพ่ายแพ้ในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบทุนนิยมใหม่ ทั้งในด้านการผลิตและการบริโภค เช่น โครงการสาธารณะ  เช่น การสร้างเขื่อนของรัฐ ทำให้ต้องอพยพสูญเสียที่ทำกิน ทำงานแข่งขันในระบบทุนนิยมสู้เขาไม่ได้ เพราะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กกว่า, มีทุนน้อยกว่า, มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการผลิตการตลาดน้อยกว่า ต้นทุนสูงกว่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า ล้มละลาย, ขาดทุน, ตกงาน ฯลฯ หรือในด้านการใช้ชีวิต การบริโภคก็ปรับตัวไม่เป็น ไม่รู้จักอดออม บริโภคสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เหล้า บุหรี่ การเล่นหวย และการพนันอื่น ๆ ซื้อสินค้าเงินผ่อนหรือเป็นหนี้หลายต่อ แบบหมุนเงินไปใช้วัน ๆ ทำให้เสียดอกเบี้ยสูง ค่าใช้จ่ายในการบริโภคสูง  โดยไม่คุ้มค่า การเสียเปรียบและพ่ายแพ้ในเชิงโครงสร้างเช่นนี้เป็นการซ้ำเติมให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว  ยิ่งจนซ้ำซากเรื้อรัง อย่างไม่มีทางออก
    6)  เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่ตกงาน, ชราภาพ, พิการ เป็นเด็กเร่ร่อน,  เด็กกำพร้าที่ไม่มีคนดูแลที่เหมาะสม, เป็นหม้าย เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลลูกหลานมาก ฯลฯ โดยไม่มีงาน, ทุนทรัพย์ ความสามารถที่จะหางาน, รายได้, หรือความช่วยเหลือเพียงพอแก่การยังชีพในเกณฑ์มาตรฐาน 
    5. ความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนา

      การใช้ดัชนีชี้วัดในเชิงรายได้(ที่สามารถใช้จ่ายเพื่อสนองความต้องการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นของคนเรา) เป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญตัวหนึ่ง แต่ไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะเกษตรกรที่ยังทำการผลิตแบบผสมผสาน คือผลิตอาหารกินเองได้บางส่วนโดยไม่ต้องซื้อทั้งหมด มีความจำเป็นต้องพึ่งรายได้ที่เป็นตัวเงินน้อยกว่าเกษตรกรที่ปลูกพืชเพื่อขายทั้งหมดหรือคนในเมือง การวัดความยากจนจึงน่าจะต้องมองความสามารถในการหาปัจจัยพื้นฐานมาสนองความต้องการที่จำเป็น มากกว่าจะมองที่ตัวรายได้

      ชาวชนบทเองก็มองเรื่องความยากจนหรือความอัตคัตขัดสนในหลายมิติ  คือมองในแง่ฐานะและอำนาจต่อรอง ทั้งในทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม เช่น ชาวชนบทในจังหวัดนครราชสีมา  มองว่า คนยากจนในหมู่บ้านน่าจะดูจากปัจจัยเช่น สภาพบ้านช่องว่ามีความคงทนแข็งแรง ให้ความสุขสบายระดับไหน, สภาพการทำมาหากิน เช่น คนที่ไม่มีที่ดิน ไม่มีแหล่งอาหารของตนเอง ต้องรับจ้างเป็นรายวัน มักจะถูกถือว่าเป็นกลุ่มคนจนที่สุดในหมู่บ้าน, ลักษณะการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกิน, เสื้อผ้า, การเป็นหนี้หรือต้องพึ่งคนอื่นหรือไม่, ความสามารถในการร่วมกิจกรรมในชุมชน และความมั่นคงในครอบครัว เช่น ครอบครัวที่บ้านแตก หัวหน้าหรือสมาชิกครอบครัวติดเหล้า การพนัน มักจะเป็นครอบครัวยากจน

(นภาภรณ์ หะวานนท์ ดัชนีความยากจนเชิงโครงสร้าง ศึกษากรณีชาวนาโคราช ในวิทยากร และคณะ โครงการพัฒนาตัวแบบชี้วัดความยากจนเชิงโครงสร้าง สศช. 2545)

      ชาวชนบทในสุพรรณบุรี มอง ปัญหาความยากจนมาจากการที่เกษตรกรที่ผลิตเพื่อขายเป็นฝ่ายเสียเปรียบในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงานและเครื่องทุ่นแรง ซึ่งจำเป็นเพราะต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา และเพราะระบบช่วยเหลือแลกเปลี่ยนแรงงานกันในสมัยก่อนหมดไป, ถัดมาก็ค่าปุ๋ยเคมี, ค่ายา, ค่าขนส่ง  คนที่ไม่มีที่ดินของตนเองก็ต้องเสียค่าเช่านา, คนเป็นหนี้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยอัตราสูง  ขณะที่เกษตรกรต้องเสี่ยงกับดินฟ้าอากาศ ผลผลิตที่ไม่แน่นอน ต้องเสี่ยงกับราคาพืชผล ที่ส่วนใหญ่แล้วจะขายได้ราคาต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุน ปัญหาความยากจนยังมีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มน้อย และการบริหารจัดการทั้งในระดับครัวเรือน, กลุ่มหรือชุมชน ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย หรือรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องการซื้อปัจจัยการผลิต และการขายผลผลิตได้ดีเท่าที่ควร

(ชื่นฤทัย กาณจนะจิตร ความยากจนเชิงโครงสร้าง ข้อมูลจากจังหวัดสุพรรณบุรี ใน วิทยากร เชียงกูลและคณะ โครงการพัฒนาตัวแบบชี้วัดความยากจนเชิงโครงสร้าง สศช. 2545)

      นอกจากความยากจนจะเกิดมาจากการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจในระบบตลาดแล้ว โครงสร้างการเมืองก็เอื้ออำนวยกับคนมั่งคั่ง คนมีอำนาจ คนที่ใช้ระบบอุปถัมภ์หาเสียงและเอาเปรียบชาวชนบทในระยะยาว ในขณะที่ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวชนบท ที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดเจ้าขุนมูลนาย ผู้อุปถัมภ์ ทำให้ชาวชนบทมักยอมจำนนที่จะพึ่งคนรวยคนมีอำนาจ โดยไม่ได้ตระหนักว่าในระยะยาวแล้วตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ     นอกจากนี้ชาวชนบทที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมดั้งเดิมผสมกับวัฒนธรรมทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ยังมีค่านิยมเรื่องการบริโภคเพื่อการอวดฐานะทางสังคม การจัดงานพิธีกรรมที่ฟุ่มเฟือย การหาความบันเทิงจากเหล้า การพนัน ค่อนข้างมาก ทำให้เป็นการซ้ำเติมให้พวกเขายิ่งยากจนลงไปอีก

      การที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองความยากจนในเชิงผลผลิตต่ำ ประสิทธิภาพต่ำ  รายได้ต่ำ และใช้ดัชนีชี้วัดในเชิงเศรษฐกิจเป็นด้านหลักให้คำตอบเพียงบางส่วน แต่จะไม่ทำให้เข้าใจปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นองค์รวม  เพราะปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเกิดจากโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริวาร ที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบทุนต่างชาติมาโดยตลอด ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมในประเทศเองก็เป็นแบบอุปถัมภ์และทุนนิยมผูกขาด  ทำให้เป็นทุนนิยมที่ด้อยพัฒนาล้าหลัง นโยบายการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขันหากำไรสูงสุด (และบริโภคสูงสุด) ของเอกชนแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา  เป็นตัวการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

      การเพิ่มตัวดัชนีชี้วัดด้านสิทธิและโอกาสทางสังคมและการเมืองของหน่วยงานบางหน่วยงาน เช่น  กรมการพัฒนาชุมชน,  UNDP  ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาความยากจนมากขึ้น  แต่กรอบคิดเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาของหน่วยงานเหล่านี้ยังเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิต  เพิ่มรายได้ เพราะคิดว่าเป็นหนทางสำคัญที่สุด ที่จะไปช่วยแก้ปัญหาการด้อยสิทธิและโอกาสทางสังคมและการเมืองได้ต่อไป  แต่สภาพความเป็นจริงซับซ้อนกว่านั้น  การเพิ่มรายได้ในระบบโครงสร้างที่ไม่สมดุล,  ไม่เป็นธรรมกลับยิ่งทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน  การทำงานหนัก  และความทุกข์ยากเพิ่มขึ้น 

      6.  แนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ควรเน้นการสนองความต้องการพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ มากกว่าการเพิ่มรายได้ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม

      การจะแก้ความยากจนเชิงโครงสร้างได้ ต้องเปลี่ยนกรอบคิดในการพัฒนาจากการเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิต  เพิ่มรายได้ของปัจเจกชน  ที่มุ่งเน้นความอยากได้อย่างไม่มีขอบเขตของมนุษย์ (มุ่งความร่ำรวย)  มาเน้นว่า สังคมจะสามารถสนองความต้องการพื้นฐาน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองให้พอเพียงแก่การดำรงชีวิตที่มีสุขภาพดีทั้งกายและใจของสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมให้ทั่วถึงได้อย่างไร (มุ่งแก้ความยากจนของกลุ่มหรือของชุมชนมากกว่ามุ่งความร่ำรวยของปัจเจกชน)

      กรอบคิดการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม  ที่เน้นการสร้างความร่ำรวยของปัจเจกชนแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จะสร้างความร่ำรวยได้เฉพาะคนส่วนน้อย แต่ทำให้คนส่วนใหญ่จนลง  ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้น  สถาบันครอบครัวและสถาบันวัฒนธรรมอ่อนแอ,  มีปัญหามากขึ้น

      ปรัชญาดั้งเดิมของไทยมองว่า หากมนุษย์เราสามารถแบ่งปันสิ่งที่เรียกว่า ปัจจัยสี่ให้แก่คนส่วนใหญ่ได้ ก็ถือว่าไม่จนแล้ว ปัจจัยสี่นั้นคือ

  •  
    1. อาหาร (และน้ำสะอาด)
    2. ยา(หรือระบบการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด)
    3. ที่อยู่อาศัย (และสิ่งแวดล้อม)
    4. เครื่องนุ่งห่ม (อาจจะรวมเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน)

      ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจทั้ง 4 อย่างนี้  อาจตีความหมายให้ครอบคลุมกว้างขึ้นสำหรับสังคมสมัยใหม่  ความต้องการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่  อาจเพิ่มเติมปัจจัยทางด้านสังคม การเมือง สภาพแวดล้อมที่จำเป็นบางประการได้  ในทัศนะของผู้วิจัย  ความต้องการปัจจัยที่จำเป็นอื่น ๆ สำหรับมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่นอกเหนือจากปัจจัยสี่ คือ

  •  
    1. การมีชีวิตครอบครัวและอาชีพการงานที่ค่อนข้างน่าพอใจ ได้รับความรักและการนับถือจากครอบครัว  เพื่อน  และสมาชิกอื่น ๆ ในสังคม
    2. การได้รับการศึกษาฝึกอบรม และการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง และพัฒนาความเป็นพลเมืองในสังคม
    3. การเดินทางและการติดต่อสื่อสาร(ไปศึกษา, ทำงาน ไปหาหมอ ทำธุระอื่น ๆได้สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย)  และการได้สมาคมสังสรรค์กับคนอื่น ๆ
    4. การได้รับบริการจากรัฐอย่างเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม มีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และมีความปลอดภัย ความมั่นคง ไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกรังแก ถูกเอารัดเอาเปรียบ  จนไม่มีทางออกอย่างสันติวิธี
    5. การได้อยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมค่อนข้างดี,  ได้เข้าร่วมในกิจกรรมของชุมชน เช่น การทำบุญ,  ไปร่วมงานพิธีต่าง ๆ,  ร่วมงานสมาคม,  องค์กรชุมชน ฯลฯ
    6. การมีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม กีฬา ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ ไม่ว่าจะโดยส่วนตัวหรือร่วมกับคนอื่น ๆ

      กรอบคิดการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม  ที่เน้นการแข่งขันเพิ่มผลผลิตหากำไรสูง บริโภคสูงสุดของเอกชน  ก่อให้เกิดผลผลิตและการสั่งเข้าสินค้าและบริการเป็นพันอย่างหมื่นอย่าง  เฉพาะคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่จะได้บริโภคอย่างฟุ่มเฟือย  คนบางส่วนได้มาบ้างก็ด้วยการทำงานหนัก,  เป็นหนี้ ทุกข์ยาก,  เคร่งเครียด มากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถหาได้แม้แต่ปัจจัยพื้นฐาน 10 อย่างที่กล่าวมาข้างต้น

      ดังนั้น  เราควรเปลี่ยนกรอบคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและการมองปัญหาความยากจนเสียใหม่  โดยแทนที่จะเน้นการสร้างความร่ำรวย การเพิ่มผลผลิตและรายได้ของปัจเจกชนให้หันกลับมามองในแง่ที่ว่า สังคมจะสามารถจัดการแบ่งปันให้คนส่วนใหญ่มีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น 10 อย่าง ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้อย่างไร  ปัจจัยพื้นฐาน 10 อย่างนี้  ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เงินซื้อเสมอไป หรือไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าบริการหรูหราทันสมัย เช่น การเดินทางนั้นหากกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง สร้างผังเมืองที่เหมาะสม คนก็อาจจะใช้การเดิน ขี่จักรยาน หรือการขนส่งสาธารณะได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว การใช้นโยบายพัฒนาเพื่อแบ่งปันปัจจัยพื้นฐานให้ทั่วถึง  กินอยู่แต่พอประมาณเท่าที่จำเป็นจะเป็นหนทางที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่ได้อย่างยั่งยืนกว่า  แนวการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิต,  การบริโภคของปัจเจกชนมักจะได้เฉพาะคนส่วนน้อยมากเกินไป

      ในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ผู้ผลิต ผู้ขายสินค้า พยายามโฆษณาสินค้าและบริการหลายพันหลายหมื่นอย่าง เพื่อหากำไรสูงสุดของภาคธุรกิจเอกชน ทำให้คนยุคปัจจุบันต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนแสวงหาความร่ำรวยอย่างไม่รู้จักเพียงพอ และมักจะคิดว่าตนจนกว่าคนที่มีวัตถุราคาแพงกว่า หรือมากกว่า หรือจนกว่าคนที่ได้บริโภคของแพงกว่า บริโภคมากกว่า ทั้ง ๆ ที่วัตถุและการบริโภคหลายสิบหลายร้อยอย่างเป็นเรื่องเกินความจำเป็น  จึงนำไปสู่การทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อม  และการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเป็นหนี้สินมากเกินไป  แม้ในหมู่คนจนจำนวนไม่น้อยก็ถูกครอบงำให้บริโภคสุรา,  บุหรี่,  การพนัน,  ความบันเทิงต่าง ๆ จนเกินฐานะรายได้  จนต้องเป็นหนี้สินรุงรัง และยากจนแบบเรื้อรังหรือทุกข์ยากมากขึ้น  ในการดำเนินนโยบายการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เราจึงมีทั้งคนที่ยากจนขัดสนขั้นพื้นฐานจริง  มีการเอารัดเอาเปรียบความไม่เป็นธรรมจริง และคนที่รู้สึกว่าตนยากจนเพราะบริโภคได้น้อยกว่าคนอื่นหรือน้อยกว่าที่ตนคาดหมายควบคู่กันไป และทำให้ปัญหาความยากจนทั้งเพิ่มขึ้นและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น 

      7.  หลักเกณฑ์สำหรับการพัฒนาตัวแบบชี้วัดว่าใครจน

      จากกรอบคิดเรื่องการพัฒนาที่เน้นการสนองตอบปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น 10 ปัจจัยข้างต้น ผู้วิจัยเห็นว่า การพัฒนาตัวแบบชี้วัดความยากจนเชิงโครงสร้าง ควรพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 10 ประการ คือ

  •  
    1. ปัจจัยการผลิต (เช่น ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร,  ปัจจัยการดำรงชีพ (เช่น บ้าน)  ทรัพย์สินที่ทำให้เกิดรายได้ (เช่น มีที่ดิน  รถแทรกเตอร์, รถบรรทุกให้เช่า มีเงินให้กู้ ฯลฯ)
    2. รายได้ หรือความสามารถในการหาปัจจัยการผลิต,  การบริโภคที่จำเป็น  อาจจะเป็นตัวเงินหรือที่เป็นผลผลิตก็ได้  โดยควรพิจารณาควบคู่ไปกับรายจ่าย และภาระหนี้สิน, ภาระที่ต้องเลี้ยงดูคนชรา, เด็ก, คนป่วย  ในระดับครัวเรือนด้วย
    3. การมีชีวิตครอบครัวที่มีคุณภาพ  ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันไม่เอาเปรียบหรือทะเลาะทุบตีกัน ไม่อยู่พลัดพรากจากกันเป็นเวลานาน ๆ เด็กได้รับการดูแลที่ดี
    4. การมีเงินออม เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์หรือกลุ่มทางเศรษฐกิจต่าง ๆ การมีเครือญาติหรือระบบอุปถัมภ์, สวัสดิการจากรัฐ และขีดความสามารถที่จะพึ่งพากันได้ในชุมชน หรือสิ่งที่เรียกว่า ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม (ความเข้มแข็ง, ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น)
    5. ปัญหาด้านสุขภาพ, มลภาวะ, ปัญหาจากการใช้สารเคมี, ความเจ็บป่วยจากการทำงาน, การอยู่ใกล้ไกลจากหมอหรือสถานพยาบาล
    6. การได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์
    7. การเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า การสื่อสาร ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และความสะดวกสบายในชีวิต
    8. สิทธิ ฐานะทางการเมืองและสังคม อำนาจในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจการเมือง เกี่ยวกับชีวิต ทรัพยากร และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
    9. สิทธิและโอกาสได้รับการพัฒนาทางศิลปวัฒนธรรม, การกีฬา, การพักผ่อนหย่อนใจ
    10. การได้มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งทางกายภาพ และทางสังคมวัฒนธรรม

      สำหรับตัวชี้วัดที่เจาะจงนั้น อาจจะเลือกมาจากตัวชี้วัดที่หน่วยงานต่าง ๆ ทำอยู่แล้ว  เช่น จากตัวชี้วัดดัชนีความขัดสนของ UNDP ที่เด่น ๆ ราว 18 ตัวชี้วัด (ดูหัวข้อ 2.3) ตัวชี้วัดที่เด่น ๆ มีน้ำหนักสูงของ จปฐ และ กชช 2 ค (ดูตารางที่ 5,6) ที่ผู้วิจัยได้กล่าวมาแล้วว่ามีตัวชี้วัดไหนที่น่าจะนำมาใช้ได้ดี นอกจากนี้เราก็ควรพัฒนาตัวชี้วัดใหม่ ๆ เช่น ลักษณะและสัดส่วนการเป็นหนี้สิน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้นำมาพิจารณาเป็นตัวชี้วัดเท่าที่ควร

      การพัฒนาตัวแบบชี้วัด ควรจะพิจารณาจากความจำเป็นขั้นพื้นฐาน  และหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 10 ประการที่ผู้วิจัยได้กล่าวมาข้างต้น โดยอาจจะจัดลำดับความสำคัญของตัวชี้วัดที่มีอยู่ราว 20-30 ตัว ออกเป็นกลุ่มที่สำคัญมาก กลุ่มที่สำคัญรองลงมา และกลุ่มตัวชี้วัดทั่ว ๆ ไป  เพื่อที่ต่อไปเราจะได้ออกแบบการเก็บข้อมูลให้สามารถสนองตอบตัวแบบดัชนีวัดความยากจนที่เราคัดเลือกและวางแนวทางไว้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น  

       การพัฒนาตัวแบบดัชนีชี้วัดความยากจนที่ครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการเก็บสถิติข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำมากขึ้น รวมทั้งต้องติดตามในแง่การเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลแต่ละปีด้วย งานเหล่านี้ควรทำแบบประสานงานกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจน ฯลฯและควรทำอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง มากกว่าแค่การประกาศให้คนจน 7 ประเภท มาขึ้นทะเบียน

       อย่างไรก็ตาม การวัดความยากจนในเชิงปริมาณนั้น แม้จะออกแบบดัชนีวัดให้ดีขึ้นสักเพียงใด ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะวัดในเชิงปริมาณล้วน ๆ อยู่นั่นเอง จำเป็นต้องอาศัยการวิจัยแบบเจาะลึกในเชิงคุณภาพทั้งในหมู่บ้าน และชุมชนยากจนประกอบด้วย เราถึงจะเข้าใจภาพความยากจนเชิงโครงสร้างได้ลึกซึ้งพอ และวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้ตรงประเด็นมากขึ้น. 
 
 

แนวคำถาม / ดัชนีชี้วัดความยากจนเชิงโครงสร้าง

      ในระดับบุคคล/ครัวเรือน

1) เศรษฐกิจ

  1. รายได้เฉลี่ยต่อเดือน/คน/ครัวเรือน
  2. รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน/คน/ครัวเรือน
  3. หนี้สินต่อคน/ครัวเรือน กู้จากใคร กู้ในระบบ เช่น กลุ่มออมทรัพย์, สหกรณ์ ธกส. หรือกู้จากเอกชน
  4. ปลูกข้าวไว้กินเองหรือไม่ มีข้าวพอหรือต้องซื้อ สามารถหาอาหารอื่น ๆ โดยไม่ต้องซื้อหรือไม่ หรือเป็นสัดส่วนเท่าใด
  5. มีเอกสารสิทธิหรือสิทธิในที่ดินทำกินหรือไม่
  6. ต้องเช่าที่ทำกินหรือไม่ (จำนวนไร่ที่เช่า, ค่าเช่า)
  7. มีปัจจัยการผลิตของตนเอง เช่น ควาย แทรกเตอร์ รถบรรทุก ฯลฯ หรือไม่
  8. มีที่อยู่อาศัยของตนเองหรือไม่ ที่อยู่อาศัยแบบถาวร มีสุขลักษณะที่ดี เพียงพอหรือไม่
  9. ในครัวเรือนมีภาระต้องเลี้ยงดูคนชรา, เด็ก, คนพิการ, คนป่วย, คนว่างงาน กี่คน เทียบกับคนที่มีงานทำ/มีรายได้
  10. มีน้ำประปา หรือน้ำสะอาดเพียงพอแก่การบริโภคอุปโภคหรือไม่
  11. มีน้ำเพื่อการเกษตรเพียงพอหรือไม่ ได้เพาะปลูกในฤดูแล้ง เช่น ทำนาครั้งที่ 2 หรือไม่
  12. ในครัวเรือนมีคนว่างงานหรือ ว่างงานมานานแค่ไหน
  13. ในครัวเรือนมีคนที่ทำงานได้ ที่ทำงานต่ำกว่าระดับในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง หรือไม่
  14. สามีตาย, ทอดทิ้ง, หย่าร้าง หัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้หญิงหรือไม่
  15. ในครัวเรือน มีคนอพยพไปทำงานต่างถิ่นหรือไม่ ไปทั้งปี หรือไปเฉพาะช่วงฤดูแล้ง
  16. มีรายจ่ายด้านเหล้า, บุหรี่, การพนัน หรือไม่ตกเดือนละเท่าไหร่
  17. ในครัวเรือนมีเด็กที่เป็นหลาน ที่พ่อแม่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยหรือไม่

2) สุขภาพ

  1. มีคนในครัวเรือนเสียชีวิตก่อนวัยชราหรือไม่ ด้วยสาเหตุอะไร
  2. มีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรคเอดส์, เจ็บป่วยเรื้อรังหรือไม่
  3. มีผู้ป่วยโรคเครียด โรคจิต โรคประสาท ในครัวเรือนหรือไม่
  4. มีผู้ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือไม่
  5. มีผู้บาดเจ็บจากการทำงานและผู้เจ็บป่วยเนื่องจากยาปราบศัตรูพืชและสารเคมีหรือไม่
  6. ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลแบบใด เช่น ผู้มีรายได้น้อย ได้รับสิทธิรักษาทุกโรค 30 บาท, บัตรประกันสุขภาพ, ประกันสังคม ฯลฯ

3) การศึกษา

  1. ระดับการศึกษาหัวหน้าครอบครัวและสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้เรียนต่อแล้ว
  2. มีบุตรหลานศึกษาอยู่กี่คน ค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาตกปีละเท่าไหร่
  3. ต้องกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือไม่ กู้จากใคร ภาระหนี้เป็นอย่างไร
  4. ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการฝึกอบรม, แนะนำ, ทุน และการแก้ปัญหาในด้านอาชีพหรือไม่ อย่างไร
  5. มีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเมืองจากทางวิทยุโทรทัศน์, ผู้นำชุมชน มากน้อยเพียงไร

4) สังคม การเมือง วัฒนธรรม

  1. เคยได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจกว่าปรับเรียกร้องเงินทอง ใช้อำนาจบาตรใหญ่หรือจะทำอะไรต้องโดยหักเปอร์เซนต์ เพราะต้องผ่านคนอื่น หรือไม่
  2. เคยมีปัญหาความเดือดร้อน ต้องไปขอความช่วยเหลือจากนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือไม่
  3. มีการซื้อเสียงขายเสียงในหมู่บ้านหรือไม่ เพียงใด
  4. ไปวัด ไปทำบุญ เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนเป็นประจำหรือไม่ บ่อยครั้งเพียงไร ใช้จ่ายเงินเพื่อการนี้มากน้อยเพียงไร
  5. ใช้เวลาพักผ่อนทำอะไร ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ กินเหล้า เล่นการพนัน เล่นกีฬา
  6. เป็นสมาชิกกลุ่มองค์กรทางเศรษฐกิจ หรือองค์กรอาชีพอะไรบ้าง เช่น กลุ่มออมทรัพย์, เครดิตยูเนียน

    แนวคำถาม/ดัชนีชี้วัดความยากจนเชิงโครงสร้างในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง

  1. มีฐานทรัพยากร,  แหล่งหาอาหาร  ปัจจัยการผลิต,  วัตถุดิบ,  แหล่งงาน  เช่น  ป่า,  แหล่งน้ำ,  ที่ดิน,  ปัจจัยการผลิต,  โรงงาน,  ธุรกิจต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด
  2. สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน ได้พึ่งพิงฐานทรัพยากรของชุมชนหรือไม่เพียงไร เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองเป็นสัดส่วนสูงหรือต้องพึ่งระบบตลาดสูง ลักษณะอาชีพ,  อัตราการมีงานทำและรายได้โดยเฉลี่ยของคนในหมู่บ้าน
  3. สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน มีโอกาสได้รับการศึกษา,  การฝึกอบรมวิชาชีพ,  การได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตตนเองมากน้อยเพียงไร
  4. ได้รับริการจากรัฐด้านการรักษาพยาบาล,  การศึกษา,  กองทุนและการฝึกอบรมต่าง ๆ,  บริการด้านไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง  ในระดับใด,  การเดินทางไปรับบริการต่าง ๆ ของรัฐ  ไกลหรือใกล้แค่ไหน
  5. มีการรวมกลุ่ม เช่น  กลุ่มเกษตร,  กลุ่มออมทรัพย์หรือไม่ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งระดับใด,  หมู่บ้าน, ชุมชน มีการช่วยเหลือกันมากหรือน้อย,  มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากหรือน้อย
  6. สมาชิกส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นหนี้สินมากน้อยเพียงไร เป็นหนี้ในระบบธนาคารหรือนายทุนเงินกู้เอกชน  ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด ต้องเสียค่าเช่าที่ดิน,  บ้าน,  ค่าเช่าหรือค่าจ้างปัจจัยการผลิตอื่น ๆ มากน้อยเพียงไร 
  7. หมู่บ้าน/ชุมชน มีสัดส่วนของเด็ก,  ผู้สูงอายุ,  คนพิการ,  คนป่วยเรื้อรัง  ที่เป็นภาระให้คนในวัยทำงานต้องช่วยเลี้ยงดูเป็นสัดส่วนมากน้อยเพียงไร
  8. หมู่บ้าน/ชุมชน มีปัญหามลภาวะมากน้อยเพียงไร มีปัญหาคนเจ็บป่วยจากโรคเอดส์  และโรคร้ายแรงอื่น ๆ มากน้อยเพียงไร  มีปัญหาน้ำท่วม,  ภัยแล้ง หรือปัญหาสำคัญอื่น ๆ บ้างหรือไม่,  อย่างไร
  9. สมาชิกส่วนใหญ่เกี่ยวข้องสุรา,  บุหรี่,  ยาเสพติด,  การพนัน,  การบริโภคฟุ่มเฟือยอื่น ๆ มากน้อยเพียงไร
  10. หมู่บ้าน/ชุมชน มีความสัมพันธ์กับนักการเมือง  และกลุ่มคนภายนอกอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่อำนาจต่อรองทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน  มีโครงการช่วยเหลือของรัฐหรือเอกชนเข้ามามากน้อยแค่ไหน
  11. หมู่บ้านมีคนอพยพออกไปทำงาน (ทั้งแบบไปตลอดปีและไปหน้าแล้ง)  มากน้อยเพียงไร  ครอบครัวมีการส่งหลานมาให้ปู่ยาตายายเลี้ยงดูมากน้อยเพียงไร  มีคนแก่หรือผู้หญิงที่ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวมากน้อยเพียงไร
  12. วัด,  ผู้นำชุมชน,  ระบบเครือญาติ มีบทบาทเป็นศูนย์รวมความสามัคคี  และเป็นที่พึ่งของสมาชิกชุมชนได้มากน้อยเพียงไร หรือเป็นชุมชนที่มีความขัดแย้ง มีปัญหาแก่งแย่งแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน  หรือพวกใครพวกมันมากกว่าที่จะร่วมมือช่วยเหลือกันทั้งชุมชน
 

บทนำ


แก้ปัญหาคนจนให้ถูกทาง

พัฒนาประเทศให้ยั่งยืน

วิทยากร เชียงกูล 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

สารบัญ

คำนำ

1.คนจนคือใคร วัดกันอย่างไร

2.ทัศนะต่อความยากจนในสังคมไทย

3.ความยากจนสมัยใหม่ – ใครสร้าง, สร้างอย่างไร

4.ระบบความมั่นคงทางสังคม-ทางแก้ไขปัญหาความจนเชิงโครงสร้าง

5.การพัฒนาแบบยั่งยืน อยู่คนละขั้วกับ การพัฒนาแบบเน้น กำไรและการบริโภคสูงสุดของเอกชน

6.ต้องเข้าใจและปฏิรูประบบเศรษฐกิจมหภาคทั้งระบบจึงจะแก้ไขปัญหาคนจนได้

7.คนรวยและคนชั้นกลางจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร  
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำนำ 

      หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับปัญหาความยากจนและการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน เล่มนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ข้อมูลและแง่คิดทั้งในเชิงประวัติศาสตร์, ปรัชญาแนวคิดและเศรษฐศาสตร์การเมืองของปัญหาคนจนและแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการมองปัญหาอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวมที่ต่างไปจากความรู้และแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่

      รัฐบาลไทยรักไทยสนใจปัญหาคนจนก็จริง แต่ยังเข้าใจปัญหาคนจน/ความจนแบบแยกส่วน เช่นมองว่าที่ประเทศไทยยังมีคนจน เพราะพวกเขาปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ไม่ได้ดีพอ และถ้ารัฐช่วยให้พวกเขามีทุนรอน,มีเครื่องมือในการพัฒนาการทำมาหากินได้แล้ว ปัญหาคนจนก็จะหมดไปได้ใน 6 ปี แต่จริง ๆ แล้วคนจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คือคนจนส่วนใหญ่จน เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต และจนเพราะถูกการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็กทำให้จนลงด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจในรอบ 50 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยอาจจะลดลงจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วแต่เส้นความยากจนที่กำหนดไว้ที่เติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 6-7 แต่ประเทศไทยมีคนจน ทั้งจนโดยสมบูรณ์ (ไม่พออยู่ไม่พอกิน)และจนโดยเปรียบเทียบ (รายได้ต่ำกว่าคนอื่น ๆ ในสังคมเดียวกันมาก)เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด คนจนตามนิยามแบบทางการที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (เส้นพอยังชีพ)ที่ 922 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2545 นั้นต่ำมากกว่าระดับพอยังชีพ คนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำที่อยู่ราว 4,000-5,000 บาทต่อคนต่อเดือนควรจะถือว่าเป็นคนจนด้วย

      รัฐบาลไทยรักไทยอาจจะเห็นความสำคัญของปัญหาคนจน แต่พวกเขาอาจจะนิยามคนจนและวิเคราะห์สภาพปัญหา,สาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาคนจนในเชิงเทคนิค มากกว่าจะเข้าใจเชิงโครงสร้าง ประเทศไทยไม่ได้จนเงิน, จนทรัพยากรแต่คนส่วนใหญ่จนเพราะโครงสร้างการกระจายทรัพย์สินและรายได้ไม่เป็นธรรมอย่างมาก

      ประเทศไทยในปัจจุบันมีเงินฝากธนาคาร 5ล้านล้านบาท,ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชากร 5.8 ล้านล้านบาท, ส่งออกได้ประมาณปีละ 6-7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ(2.4-2.8 แสนล้านบาท),มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี 2546 รวม 4.47 ล้านล้านบาท แต่เงินและทรัพยากรส่วนใหญ่ (ราว 58%) อยู่ในมือคนรวยชนชั้นกลางเพียง 12 ล้านคนหรือ 20  % ของประชากร ไม่ได้กระจายไปสู่ผู้คนส่วนใหญ่ อีก 50 ล้านคนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม

      ปัญหาคนส่วนใหญ่จนที่ เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับการที่ประเทศไทยมีปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมสูงกว่าประเทศอื่น มาก เช่นคนที่รวยที่สุด 10% แรกมีสัดส่วนในรายได้ถึง 38% ของคนทั้งประเทศ สูงกว่าแม้แต่ประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ด้วย (เศรษฐีไทย 200 ตระกูล มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ตระกูลละ 100 ล้านบาทถึง 2,6711 ล้านบาท และในจำนวนนี้มี 10 ตระกูลที่มีหุ้นมากกว่า 4,000 ล้านบาท วารสารการเงินการธนาคาร ธันวาคม 2546 )

      การที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำเป็นประเทศแรกในปี 2540 ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาโครงสร้างการพัฒนาในประเทศที่ไม่สมดุล การกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ ฯลฯมีความเหลื่อมล้ำกันมาก คนรวยคนชั้นกลางเก็งกำไรใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สร้างหนี้มาก คนจน ทั้งเป็นหนี้ ทั้งมีรายได้ต่ำ,ขาดอำนาจซื้อ ธุรกิจและเศรษฐกิจจึงพลอยซบเซาจนถึงตกต่ำ

       ปัญหาความยากจนของประเทศจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของคนยากจนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของคนรวยและคนชั้นกลางที่อับจนทางปัญญาและจิตสำนึกมองแต่ประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น  ไม่รู้จักมองการณ์ไกล ไม่รู้จักการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบภาษีอากร,การเงินการธนาคารและการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมด้านต่าง ๆ จริง ๆ เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่สามารถพัฒนาอาชีพมีรายได้ มีอำนาจซื้อเพิ่ม ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีประชาชนถึง 63 ล้านคน(ใหญ่กว่าอังกฤษ,ฝรั่งเศส)เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

      การเข้าใจและแก้ไขปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่ให้ถูกทางมุ่งทำให้คนมีคุณภาพซีวิตที่ดีขึ้น ก็จะไปช่วยแก้หรือลดปัญหาความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองด้านต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศรวมทั้งคนชั้นกลางและคนรวยในระยะยาวด้วย เพราะเมื่อคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีรายได้ มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือ ธุรกิจต่าง ๆ นั้นเอง อย่างไรก็ตามการคิดแต่การมุ่งทำให้ทุกคนรวยขึ้น บริโภคมากขึ้น อาจนำไปสู่การทำลายล้างทรัพยากรและการเอาเปรียบ, ความเห็นแก่ตัว ซึ่งทำให้ประเทศกลับยากจนภายหลังได้ ดังนั้นเราจึงจะต้องสนใจการพัฒนาเชิงคุณภาพชีวิตที่ดี มากกว่าความร่ำรวยทางวัตถุ เราถึงจะมีทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างถูกทางและพัฒนาประเทศได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

                                                วิทยากร  เชียงกูล

                                                  วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

                                                       มหาวิทยาลัยรังสิต

                                                           มกราคม 2547 

 

บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก(ดัดแปลงจากปาฐกถาศรีบูรพา ครั้งที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2550)


บทบาทของผู้มีการศึกษาในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก

(ดัดแปลงจากปาฐกถาศรีบูรพา ครั้งที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2550) 

      สถานการณ์โลก

      โลกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่การทดลอง สร้างสังคมนิยมของหลายประเทศเช่นโซเวียตรุสเซีย ยุโรปตะวันออกล้มเหลว และประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมปรับตัวได้ดีเกินคาด โลกได้ก้าวสู่ยุคหลังสงครามเย็นซึ่งเป็นโลกยุคเผด็จการทุนนิยมที่ซ่อนรูปและหลอกลวงได้แนบเนียนยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

      โลกทุนนิยมสมัยใหม่เป็นเผด็จการในแง่ของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ และทางสื่อสารมวลชนของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากสหรัฐและประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเพียงไม่กี่บรรษัท บรรษัทข้ามชาติหลายแห่งมียอดขายสินค้าและบริการสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยด้วยซ้ำ

      บรรษัทข้ามชาติมีทั้งอำนาจผลประโยชน์ และมนต์ขลังที่ทำให้รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ในโลกโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ต้องเปิดเสรีด้านการลงทุนและการค้าให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามากอบโกยล้างผลาญทรัพยากร ครอบงำวิถีชีวิต หรือแม้แต่การคิดของคนไทย โดยที่คนไทยซึ่งมองฝรั่งในแง่ดีเพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้น มักไม่รู้ตัว และคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากการเปิดการลงทุนและการค้าเสรีในแง่ที่ว่าทำให้ประชาชนได้มีโอกาสบริโภคสินค้าและบริการต่างๆอย่างหลากหลายและตื่นตาตื่นใจในราคาที่คนฐานะปานกลางโดยทั่วไปสามารถซื้อหาได้

      ประชาชนไทยส่วนใหญ่ถูกนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อบอกเล่าซ้ำซากทำให้เชื่อว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์หรือโลกของความก้าวหน้าสมัยใหม่ที่ทำให้พวกเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะได้บริโภคสินค้าและบริการด้วยความสะดวกสบายรวดเร็ว อย่างชนิดที่คนรุ่นพ่อแม่ของเรา ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ขณะที่คนงานที่มาจากชนบทตื่นเต้นกับห้างสรรพสินค้า และสถานบันเทิงต่างๆในเมืองใหญ่ คนชั้นกลางก็คิดว่าเราช่างโชคดี ที่สามารถกดปุ่มเพื่อชมข่าวสารจาก CNN ดูหนังจาก HBO ซีนีแมกซ์ วอเนอร์บราเธอร์ และอื่นๆ รวมทั้ง อ่านหนังสือพิมพ์ TIME, FORTUNE และอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายและสะดวกสบายมาก โดยที่เราไม่ค่อยรู้ตัวว่าในบรรดาชื่อทั้งหมดนี้ และยังมีสื่อชื่ออื่นๆอีก ล้วนเป็นทรัพย์สินของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงบริษัทเดียวคือ TIME WARNER

      เมื่อพิจารณาถึงสื่อของโลกทั้งโลกในปัจจุบัน เราจะพบว่าบริการสื่อสารมวลชน 70% ของทั้งโลกเป็นเจ้าของและบริหารโดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพียง 8 บริษัทเท่านั้น 4 สื่อที่เราได้ฟังและได้เห็นร้อยพันสื่อที่ดูหลากหลายนั้นแท้จริงเป็นแค่ภาพลวงตา

      จริงๆแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ในโลก ในประเทศที่รัฐบาลเปิดเสรีการลงทุนและการค้า ล้วนถูกครอบงำโดยคนตะวันตกเพียงกลุ่มเดียวพวกเขา มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรจะหากำไรจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ป้อนข้อมูลข่าวสาร ศิลปวัฒนธรรม ให้ประชาชนทั่วโลกทางโทรทัศน์ การโฆษณาสินค้าและสื่ออื่นๆเท่านั้น พวกเขายังเป็นผู้กำหนดว่า เราควรจะคิด ควรมีค่านิยมอย่างไรด้วย

      ประเด็นสำคัญที่พวกเขาทำให้พวกเราคิดและเชื่อตามวัฒนธรรมของพวกบรรษัทยักษ์ใหญ่โดยไม่รู้ตัว คือที่การที่พวกเขากล่อมเกลาให้พวกเราคิดและมีค่านิยมว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือการหาเงินมาเพื่อจับจ่าย ได้บริโภค สินค้าและบริการตามแบบตะวันตกให้ได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ ใครที่ทำไม่ได้หรือทำได้น้อย เป็นพวกที่ล้มเหลวหรือล้าหลัง

      ทั้งที่ความเป็นจริง โลกทุนนิยมกวาดต้อนให้ประชาชนยุคปัจจุบันต้องทำงานหนัก มีความเครียดและมีความทุกข์มากกว่าคนรุ่นปู่ย่าตาทวดของเรา เราถูกหลอกให้เชื่อว่า ถ้าเราหาเงินได้มากขึ้น เราจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ สื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เคลื่อนไหวได้มีมนต์สะกดที่ทำให้เราคิดว่าเรากำลังเสพข่าวสารความบันเทิง แบบบริสุทธิ์ สนุกสนาน โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวว่าเรากำลังถูกครอบงำล้างสมอง ทีละน้อย

      และเนื่องจากคนส่วนใหญ่ทั้งโลกหรือทั้งประเทศ คิดและทำเหมือนๆกัน เราจึงมักจะเชื่อว่าสิ่งที่เราถูกกล่อมเกลาชักนำให้คิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกมากกว่า จะตั้งข้อสงสัย ทั้งๆที่ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมดั้งเดิมของเราถูกทำลายให้เห็นๆ โลกร้อนขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น อากาศ น้ำ อาหารเป็นพิษมากขึ้น วัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสันติเปลี่ยนเป็นการแก่งแย่งแข่งขัน การเอาเปรียบ การฉ้อโกง อาชญากรรมและความรุนแรงรูปแบบต่างๆมากขึ้น และชีวิตเรา เคร่งเครียด ซึมเศร้า หดหู่ มากขึ้น

      ในยุคปัจจุบันที่สื่อในประเทศของเราถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่และโดยรัฐบาล ที่คิดแบบเดียวกับพวกนายทุนข้ามชาติ ประเทศเราต้องการผู้มีการศึกษาและผู้นำ5ที่มีจิตใจรักความถูกต้องและความยุติธรรม ผู้สนใจติดตามวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อนได้อย่างวิพากษ์วิจารณ์และมีจิตสำนึกที่หาทางออกเพื่อส่วนรวม เราจึงจะสามารถฝ่าฟันแหวกวงล้อม หรือกับดักของบริษัทนายทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาครอบงำประชาชนส่วนใหญ่อย่างแนบเนียนโดยใส่หน้ากากสวยๆว่า โลกาภิวัตน์บ้าง ความเจริญเติบโตเศรษฐกิจบ้าง ความก้าวหน้าทันสมัยบ้างได้

      หากผู้มีการศึกษาและผู้นำทางสังคมเช่น นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักวิชาชีพ ในยุคปัจจุบันไม่ได้ยึดกุมหลักการของผู้มีจรรยาบรรณ ในการแสวงหาและเผยแพร่ ความจริงและความงาม ที่แท้ไว้ให้มั่นเหมือนอย่างศรีบูรพาและคณะของพวกเขา นักเขียนนักหนังสือพิมพ์และชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาอื่นๆในยุคปัจจุบันก็จะกลายเป็นเพียงพนักงานโฆษณาชวนเชื่อของบรรษัทนายทุนข้ามชาติโดยไม่รู้ตัว 

      สถานการณ์ในประเทศ

      ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนาและเป็นบริวารของประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรม บวกกับการที่รัฐบาลทุกรัฐบาล มีนโนบายพัฒนาประเทศแบบส่งเสริมให้ทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ได้ลงทุน และทำการค้าเสรี ทำให้มีการพัฒนาประเทศระบบเพื่อการส่งออก มีการถลุงทรัพยากร กดขี่แรงงาน เศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การค้าและบริการเติบโต แต่กระจายถึงประชาชนกลุ่มต่างๆอย่างไม่เป็นธรรม ธรรมชาติสภาพแวดล้อมถูกทำลายอย่างมากและอย่างรวดเร็ว ประชาชนยากจน เป็นหนี้ และพึ่งพาระบบนายทุนแบบเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอดมากขึ้น

       ในทางการเมือง โครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไทยเป็นแบบอำนาจนิยม เจ้าขุนมูลนาย และระบบอุปถัมภ์ และระบบการศึกษาเป็นแบบอำนาจนิยมและสอนให้ผู้เรียนท่องจำอย่างล้าหลัง ทำให้ไม่มีประชาธิปไตยในครอบครัว สถาบันการศึกษา ที่ทำงานและชุมชนและมีการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองแค่รูปแบบ เช่นการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทน และองค์กรบริหารท้องถิ่น แต่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระ เช่นการที่ประชาชนตระหนักและมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม สามารถตรวจสอบดูแลถอดถอนผู้แทน เสนอแก้ไขกฎหมายได้ ฯลฯ ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

      รัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนนายทุนใหญ่ ที่เก่งในเรื่องการตลาด การหมุนเงิน รวมทั้งการรวบรวมเครือข่ายนักธุรกิจการเมืองประเภทเจ้าพ่อผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่น สามารถสร้างความนิยมในหมู่คนยากจนได้มาก และพาประเทศไปสู่การพัฒนาแบบทุนนิยมเพื่อบริโภคอย่างสุดโต่ง ทุจริตและหาประโยชน์ทับซ้อนอย่างมหาศาล จนผู้มีการศึกษาและประชาชนผู้ตื่นตัวพากันประท้วง และคณะนายทหารฝ่ายอำนาจนิยม /จารีตนิยมได้ถือโอกาส ยืดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลระบอบทักษิณลง

      แต่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ที่มาจากทหาร/ขุนนาง ก็ขาดสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่รัฐบาลชุดก่อนๆก่อไว้ และไม่สามารถแม้แต่จะวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขา(รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตลอดไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล)อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบ มีชีวิตที่สะดวกสบายกับระบบเดิม มีทัศนะค่านิยมที่สอดคล้องหรือไม่ ขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม พวกเขามองเห็นปัญหาในยุคทักษิณแบบแยกส่วนว่าเป็นปัญหาแค่ตัวบุคคล มากกว่าจะเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบองค์รวมทั้งหมด 

      เราจะไปทางไหนกัน

      ในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ปกครอง/นายทุน/ขุนนางส่วนน้อยมีอำนาจครอบงำ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ได้รับการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ เป็นหน้าที่ของ ผู้มีการศึกษาที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์และตื่นตัวทางการเมือง ที่จะต้องช่วยกันศึกษาและเผยแพร่ความรู้ที่แท้จริง ให้เกิดการปฎิรูป การเมือง ซึ่งควรรวมทั้งการปฎิรูปทางเศรษฐกิจ สังคมที่จะทำให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ว่าทั้งแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด และการฝากความหวังไว้กับชนชั้นสูง กลุ่มอำนาจนิยม/จารีตนิยมนั้น ไม่อาจทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีสิทธิประชาธิปไตย และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาได้

      ประชาชนต้องแสวงหาความรู้จัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างแนวทางเลือกใหม่ที่มุ่งพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมด้วยตัวเอง ไม่อาจหวังพึ่งอัศวินม้าดำหรือม้าขาวที่ไหนได้

      แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องสร้างระบบสหกรณ์ทุกรูปแบบอย่างกว้างขวางมาแทนที่ระบบทุนนิยมผูกขาด สหกรณ์ในที่นี้ใช้ในความหมายกว้าง หมายถึง องค์กรทางเศรษฐกิจสังคมแบบช่วยเหลือกันและกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อาจใช้ชื่ออื่น เช่น กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย ฯลฯ ไม่ใช่แค่สหกรณ์ 6 ประเภทตามกฎหมายสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ในนี้เท่านั้น

      สหกรณ์เป็นองค์กรที่จัดตั้งทางเศรษฐกิจแบบประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารที่ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้ผู้ผลิตผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ขบวนการสหกรณ์มีการพัฒนาเจริญเติบโต ทั้งในสหรัฐ แคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ หลายประเทศในลาตินอเมริกาและที่อื่นๆ จนมีสัดส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มีทั้งสหกรณ์ผู้ผลิตหรือสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งพัฒนาเป็นธนาคาร สหกรณ์การประกันภัย การขนส่ง สหกรณ์ผู้บริโภคหรือการค้าส่งและค้าปลีก สหกรณ์การบริการต่างๆ รวมทั้งสหกรณ์สาธารณูปโภค เช่น การประปา ไฟฟ้า

      สหกรณ์เหล่านี้หลายแห่งพัฒนาเป็นชุมชนสหกรณ์ ขนาดหนึ่งในร้อยของบรรษัทที่ยอดขายสูงสุดในโลก ที่มีเครือข่ายกว้างขวางและเป็นองค์กรธุรกิจ ที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สหกรณ์ขนาดกลางขนาดย่อมหลายแห่งในหลายประเทศทำได้ดีกว่าทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบเดียวกัน

      สหกรณ์นอกจากจะลดการเอาเปรียบของระบบนายทุน พ่อค้าคนกลางแล้ว ยังเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบทุนนิยม ในแง่ที่ว่า สมาชิกทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่ใช่ว่าใครถือหุ้นมากออกเสียงได้มากแบบทุนนิยม ถ้าเราส่งเสริมสหกรณ์ให้เติบโตได้ในทุกสาขาเศรษฐกิจ สหกรณ์จะเป็นระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ มากกว่าระบบทุนนิยมและสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ระบบสหกรณ์จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและปัญหาเศรษฐกิจ สังคม อื่นๆได้อย่างถึงรากโคนกว่าระบบทุนนิยม

      แนวทางพัฒนาทางสังคมให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องปฏิรูปการจัดการศึกษา สื่อมวลชนในด้านเนื้อหาวิธีการในการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ในเชิงวิเคราะห์ ที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รู้จักคิด เป็นตัวของตัวเอง ให้รู้เท่าทันชนชั้นปกครองและปฎิรูปเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ฉลาด3 การสาธารณสุข การประกันสังคมและสวัสดิการสังคม ให้ประชาชนรับบริการอย่างทั่วถึง และส่งเสริมจัดตั้งองค์กรประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการกิจกรรมทางสังคมด้วยตนเองมากขึ้น

      แนวทางการพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยคือ ต้องผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า การปฏิรูปโครงสร้างการเมือง และสังคม ที่จะเอื้อให้ประชาชน มีสิทธิและอำนาจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติมากขึ้น เช่นมีสภาหมู่บ้าน สภาชุมชน สภาประชาชนระดับประเทศ องค์กรประชาชนและองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น สิทธิป่าชุมชน และการจัดการทรัพยากรของชุมชน,สิทธิผู้บริโภค,สิทธิการจัดตั้ง สหภาพแรงงานและสหกรณ์โดยเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ประชาชนมีสิทธิในการคัดค้าน ถอดถอนผู้แทน เสนอเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายต่างๆรวมทั้งรัฐธรรมนูญได้โดยตรง 

      เราควรทำอะไร

      นักข่าวหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ถามผมว่าในยุคที่ประเทศไทยของเราถูกครอบงำโดยระบอบทักษิณและกลุ่มคนที่คิดไม่แตกต่างจากทักษิณ พวกเขาที่เป็นคนเล็กๆที่ไม่มีชื่อเสียงและเป็นเพียงลูกจ้างบริษัทนายทุนจะทำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าการที่พวกเราหลายคนมักจะมองว่าเราเป็นคนเล็กๆที่ทำอะไรไม่ได้ในโลกที่ครอบงำโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ คือการแบ่งแยกและปกครองของระบบทุนนิยมโลกที่พยายามกล่อมเกลาให้พวกเราคิดคล้อยตามแบบยอมจำนนไปอย่างไม่รู้ตัว

      เมื่อเรากลับไปอ่านประวัติศาสตร์ เรามักคิดว่า ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขาคือคนที่ยิ่งใหญ่ที่มีพลังที่มหาศาลกว่าคนอย่างพวกเรามาก ในยุคที่ศรีบูรพาและคณะยังเป็นคนหนุ่มสาวนั้น พวกเขาก็คือนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เล็กๆซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย ที่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่โตกว่าพวกเขามากเช่นเดียวกัน

      สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขายิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพราะตอนนั้นพวกเขาเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เพราะสังคมไทยวิวัฒนาการมาจากระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ค่อยยกย่องนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มาแต่ไหนแต่ไร แต่สิ่งที่ทำให้ศรีบูรพายิ่งใหญ่ต่อมาในสายตาของคนรุ่นหลังอย่างพวกเรา ก็คือการที่ศรีบูรพาและเพื่อนๆของเขากล้าคิด กล้าเผยแพร่ กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมของพวกเขาต่างหาก

      นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ปัญญาชน ผู้มีการศึกษาในยุคปัจจุบันมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือจะเลือกทำตัวตามกระแสของทุนนิยมโลก เป็นพนักงานธุรการพนักงานโฆษณาชวนเชื่อที่ดีของบรรษัทและปรับตัวให้เข้ากับระบบทุนนิยมผูกขาดที่โหดร้าย หรือจะเลือกเป็นคนที่ต้องการรักษาศักดิ์ศรี ต้องการแสวงหาความหมายในชีวิตและสังคม ยิ่งกว่าการเป็นผู้เสพติดการบริโภคสินค้าและบริการของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม หลังจากการทดลองสังคมนิยมล้มเหลว นักการเมืองและนักวิชาการของโลกทุนนิยมพยายามป่าวร้องว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่อีกแล้ว นอกจากต้องเดินไปตามกระแสทุนนิยมโลก ถ้าไม่เปิดเสรีเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกับคนอื่น เราก็จะถูกทิ้งให้ล้าหลัง

      แต่ความจริงก็คือ ประชาชนในหลายประเทศเลือกการพัฒนาทางอื่น เช่น ระบบสหกรณ์ สังคมนิยมประชาธิปไตย การพัฒนาแนวอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนการเน้นความสุขของประชาชนมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม ทางเลือกเหล่านี้ ประชาชนฝ่ายก้าวหน้า ทั้งในยุโรป ลาตินอเมริกา เอเชีย และที่อื่นๆได้พัฒนาไปได้มากพอสมควร ในประเทศไทยก็มีกล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพึ่งตนเอง พึ่งตลาดภายในประเทศเป็นที่สัดส่วนสูงขึ้น เพียงแต่ยังเป็นการพูดลอยๆมากกว่า เรายังไม่ได้มีการวิเคราะห์และพัฒนาให้เป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่อย่างจริงจัง

      คนหนุ่มสาวทั้งหลาย ความเป็นหนุ่มสาวไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความคิดจิตใจด้วย ถ้าคุณเลือกอย่างแรก คือเลือกอยู่กับพวกชนชั้นนำที่ยึดมั่นของเก่า ยึดมั่นกับกระแสหลักของสังคมที่ครอบงำโดยนายทุน บงการโดยนายทุนและผู้มีอำนาจ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตและโลกที่ดีกว่า พวกคุณจะก็แก่ตั้งแต่อายุยังน้อย แก่ในทางความคิดค่า นิยมโดยที่ไม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตเพื่อการต่อสู้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่าคนที่อายุมากกว่าพวกคุณ แต่จิตใจของพวกเขายังหนุ่มสาว ยังไม่ยอมจำนน ยังต่อสู้แบบกัดไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละทิ้งหลักการที่สำคัญ เช่น ประชาธิปไตยความเป็นธรรมและความร่วมมือกันเป็นกลุ่ม

      คนหนุ่มสาวทั้งหลาย อย่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ และคุณต้องมาเสียใจภายหลังว่า คุณแทบไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริงเลย เพราะชีวิตที่ไม่มีการต่อสู้เพื่อส่วนรวม ชีวิตที่มีแต่การประนีประนอม เอาตัวรอดส่วนตัวในระยะสั้นๆ เป็นชีวิตที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่คุ้มกับการมีชีวิต ในโลกที่มีพลังและมีโอกาสการเปลี่ยนแปลงที่มหาศาล

      ผมจะขอจบปาฐกถานี้ด้วยการยกคำคมของ อัลเบริต ไอน์สไตน์ เป็นการเตือนผู้มีการศึกษาทุกคน รวมทั้งคนแบบคุณทักษิณ คุณสมคิดและคนอื่นๆ ไว้อย่างน่าคิดให้ลึกดังนี้ 

_____________________________________________________________________

      ใครที่ได้รับการศึกษาให้มีความรู้พิเศษ

จะต้องพัฒนาความตระหนักว่าอะไรสวยงาม

และอะไรดีในแง่ศีลธรรมอย่างกระตือรือร้นควบคู่กันไป

เพราะถ้าขาดความตระหนักใน 2 เรื่องนี้

เขาจะเป็นได้แค่หมาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี

แทนที่จะเป็นมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนไปกับโลก

 

ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่ดีกว่าทั้งทุนนิยม และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง


ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่ดีกว่าทั้งทุนนิยม และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง 

      สหกรณ์ หมายถึง “สมาคมที่เป็นอิสระของกลุ่มคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อสนองความต้องการและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของพวกเขา โดยการเป็นเจ้าของ ร่วมกันและดำเนินการบริการแบบประชาธิปไตย” คำว่าสหกรณ์จึงมีความหมายกว้างว่า สหกรณ์เกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ ฯลฯ ที่จดทะเบียนภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ คือยังหมายรวมถึง กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย และชื่อกลุ่มขององค์กรทางเศรษฐกิจของประชาชนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้คำว่าสหกรณ์นำหน้าด้วย

      ระบบสหกรณ์ดีกว่าทุนนิยม ในแง่ที่ว่าสมาชิกเป็นทั้งเจ้าของและผู้ซื้อผู้ใช้บริการ จึงลดการเอาเปรียบหากำไรเกินควรของนายทุนพ่อค้าคนกลางไปได้ และเป็นระบบบริหารที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบการถือหุ้นในบริษัทภายใต้ระบบทุนนิยม เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์แต่ละคนมีเสียงในที่ประชุมใหญ่เท่ากัน ไม่ว่าใครจะถือหุ้นมากหรือน้อย การปันผลกำไรของสหกรณ์ก็ไม่ได้จ่ายตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังจ่ายตามกิจกรรมที่สมาชิกดำเนินการกับสหกรณ์ รวมทั้งสหกรณ์หลายแห่งยังจ่ายเงินปันผลกำไรส่วนหนึ่งให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย

      ระบบสหกรณ์ดีกว่าสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง คือเป็นองค์กรขนาดกะทัดรัด ที่มีระบบบริหารแบบประชาธิปไตย มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สมาชิกตรวจสอบดูแลความโปร่งใสในการบริหารของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นระบบข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่โตเทอะทะ มีลักษณะบังคับใช้อำนาจจากบนลงล่าง มีโอกาสขาดประสิทธิภาพ และทุจริตได้มากกว่า ขณะที่ระบบสหกรณ์ การเป็นสมาชิกเป็นโดยสมัครใจ เป็นประชาธิปไตยแบบสมาชิกมีส่วนร่วม ที่สมาชิกมีความรู้สึกมีส่วนได้เสียโดยตรง

      อย่างไรก็ตาม สหกรณ์จะพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหน ก็อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า สหกรณ์จะต้องมีสมาชิกและคณะกรรมการที่เข้าใจอุดมการณ์สหกรณ์ และมีการจัดระบบบริหารที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพด้วย

      ที่สหกรณ์ในประเทศไทยพัฒนาได้จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศลาตินอเมริกาบางประเทศ เกิดจากหลายปัจจัยเช่น

      1) สหกรณ์ของไทยอยู่ภายใต้ระบบราชการ ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง และรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้สหกรณ์เติบโตมากไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแนวคิดชนชั้นนำในประเทศไทยเป็นแนวคิดแบบเจ้าขุนมูลนายที่ติดจารีตประเพณีเดิม

      2) มีกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด ทำให้สหกรณ์ทำกิจกรรมหลายอย่างไม่ได้ เช่น ตั้งเป็นธนาคารไม่ได้ ให้คนอื่นนอกจากสมาชิก ฝากเงิน กู้เงินไม่ได้ ฯลฯ สหกรณ์ในประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษน้อยและแข่งขันกับระบบพ่อค้านายทุนได้ยาก

      3) การพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรสหกรณ์เองก็ยังมีข้อจำกัด เช่น สมาชิกไม่ได้มีอุดมการณ์และร่วมมือกันดูแลพัฒนาสหกรณ์อย่างจริงจัง มีการทุจริตโดยผู้บริหารเกิดขึ้นบ้าง หรือบริหารไม่เก่ง การกล่อมทางความคิดทางสังคมของประชาชนผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชนและการเมืองมักเน้นแต่แนวคิดแบบยกย่องเจ้าขุนมูลนาย และระบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันหากำไรส่วนตัวมากกว่าการทำกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน ทำให้อุดมการณ์สหกรณ์ไม่ได้พัฒนาอย่างเข้มแข็ง

      4) กลุ่มนักคิดนักกิจกรรม สังคมนิยมรวมทั้งนักวิชาการหัวก้าวหน้าของไทย ไม่ได้สนใจเรื่องของสหกรณ์ เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการหรือระบบทุนนิยม ทั้งๆที่สหกรณ์ในประเทศอื่นๆเป็นอิสระและเป็นทางเลือกที่ต่างไปจากทุนนิยม ทำให้ผู้มีการศึกษา ปัญญาชนไม่เข้ามาช่วยพัฒนาขบวนการสหกรณ์มากเหมือนในประเทศอื่น

      สหกรณ์ในต่างประเทศ ที่เขาเติบโตได้เพราะภาคประชาชนเข้มแข็ง และสหกรณ์เป็นอิสระจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือในด้านการออกกฎหมาย การส่งเสริมช่วยเหลือให้สหกรณ์มีต้นทุนต่ำพอที่จะแข่งขันกับพ่อค้านายทุนได้ ช่วยเหลือด้านการให้การศึกษาเรื่องสหกรณ์และการบริหารจัดการ และมีกองทุนหมุนเวียน ให้สหกรณ์ตั้งใหม่กู้ยืมไปดำเนินการโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่รัฐบาลจะไม่เข้ามาควบคุมสหกรณ์แบบเข้มงวดเหมือนเป็นส่วนหนึ่งราชการแบบของไทย ทำให้สหกรณ์ไทยเติบโตได้ช้ากว่าประเทศอื่น สมาชิกและผู้บริหารสหกรณ์ของไทยบางส่วนก็หวังพึ่งแต่รัฐบาล ทำให้ชาวสหกรณ์ไทยไม่เรียนรู้ที่จะเติบโตด้วยลำแข้งของตัวเอง เหมือนชาวสหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม และในลาตินอเมริกา

      สหกรณ์ในประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมเช่น โซเวียตรุสเซีย ยุโรปตะวันออก ก็มีปัญหาติดในระบบข้าราชการคล้ายกันไทย เมื่อประเทศสังคมนิยมเปลี่ยนมาเป็นทุนนิยม และคิดจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจและสหกรณ์ ให้เป็นบริษัทเอกชน ได้มีชาวสหกรณ์บางส่วนไม่เห็นด้วย และเสนอให้แปรรูปเป็นสหกรณ์ที่ยังเป็นของสมาชิกอยู่ แต่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง ปรากฏว่าสหกรณ์รูปแบบใหม่ที่เป็นอิสระในประเทศเหล่านี้บริหารได้ดีกว่าสหกรณ์ภายใต้รัฐบาลสังคมนิยมแบบเก่า และสหกรณ์แบบใหม่สามารถทำประโยชน์ให้สมาชิกและชุมชนได้ดีกว่าการแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน

      สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มักจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์การเกษตรบางแห่ง ซึ่งกิจกรรมราวครึ่งหนึ่งของสหกรณ์การเกษตรของไทยก็เป็นธุรกิจออมทรัพย์และให้เงินกู้ เพราะเป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายและบริหารได้ง่าย สมาชิกได้ประโยชน์สูงกว่าการไปกู้เงิน ซื้อหุ้นหรือฝากเงินที่ธนาคารพาณิชย์ เพราะระบบสหกรณ์เท่ากับเป็นการตัดคนกลางออกไป สหกรณ์มีกำไรก็ยังปันผลให้แก่สมาชิก

      สหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศอื่นๆเติบโตกว่าของไทยมาก ในยุโรป สหกรณ์เกษตรและสหกร์ออมทรัพย์มีการพัฒนาเป็นธนาคารสหกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร RABO BANK ในเนเธอร์แลนด์   ธนาคาร CREDIT AGRICOLE ในฝรั่งเศส ธนาคาร DG ในเยอรมันนอกจากนี้สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์คนงาน สหกรณ์ประกันภัย สหกรณ์เอนกประสงค์ก็เติบโตมากทั้งในญี่ปุ่น สวีเดน สเปน อิตาลีและประเทศอื่นๆ ชุมชนสหกรณ์ขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายสหกรณ์หลายร้อยหรือหลายพันแห่งในญี่ปุ่นและยุโรป มีพนักงานและสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เครือข่าย ละ 7-8 หมื่นคน และมียอดรวมธุรกิจปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ที่สามารถเข้าไปแทนที่องค์กรธุรกิจเอกชนแบบทุนนิยม และแบบรัฐวิสาหกิจได้ในหลายสาขามาก ประเทศที่พัฒนาทุนนิยมสูง มักมีทั้งสหกรณ์การผลิต สหกรณ์การบริโภค สหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของ สหกรณ์ผู้ให้บริการ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การประมง สหกรณ์ทำไวน์ สหกรณ์ให้บริการการรักษาพยาบาล การซ่อมแซมดูแลบ้าน การจัดงานศพ รถโดยสาร รถแท็กซี่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ เติบโตควบคู่กันไปกับภาคธุรกิจเอกชน

      สหกรณ์มีตั้งแต่ขนาดเล็ก 5-10 คน จนถึงขนาดใหญ่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านและมีพนักงาน (ที่เป็นสมาชิก/เจ้าของด้วย) หลายพันหลายหมื่นคน คนสวีเดน 3 ใน 5 คนเป็นสมาชิกสหกรณ์ และสหกรณ์มีสัดส่วนในสินค้าของผู้บริโภค 19%

      ในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ สหกรณ์การเกษตรเข้มแข็งมาก การผลิตนมในสวีเดนอยู่ในระบบสหกรณ์ 99 % ในประเทศยุโรปอื่นอีก 8 ประเทศ และสหรัฐ กรผลิตนมในระบบสหกรณ์มีสัดส่วนการตลาดมากกว่า 70% ในแต่ละประเทศการเก็บเกี่ยวข้าว 95% ในญี่ปุ่นอยู่ในระบบสหกรณ์ สหกรณ์การเกษตรในต่างประเทศ ทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น ขายปัจจัยการผลิตให้สมาชิก (เพราะการรวมกันซื้อทำให้มีอำนาจต่อรองการซื้อมากกว่าต่างคนต่างซื้อ) ให้บริการการผลิต การคลังสินค้า การขนส่ง การประกัน การแปรรูปอาหาร การขายสินค้าเกษตรที่อยู่ในระบบสหกรณ์เป็นสัดส่วนสูง มีทั้ง ข้าว เป็ดไก่ ผักผลไม้ ถั่วเหลือง ฝ้าย กาแฟ การประมง ทั้งในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เช่น เกาหลีใต้ บราซิล สหกรณ์การเกษตรในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม มีกระทั่งธนาคารของตัวเองซึ่งให้บริการอื่นๆ เช่นการประกันภัย การรับส่งเงินไปต่างเมืองหรือต่างประเทศด้วย

      สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์ค้าส่ง ค้าปลีก ก็มีสัดส่วนที่สำคัญ ในยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆเช่นในนิวซีแลนด์ การค้าเครื่องชำ 54% อยู่ในระบบสหกรณ์ ในญี่ปุ่น ครัวเรือนชาวญี่ปุ่น 1 ใน 5 เป็นสมาชิกสหกรณ์ค้าปลีกในท้องถิ่น นอกจากสหกรณ์จะช่วยลดพ่อค้าคนกลางแล้ว สหกรณ์ยังสามารถดูแลเรื่อง คุณภาพ ความปลอดภัย การไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่เอาเปรียบผู้ผลิตได้ดีกว่าธุรกิจเอกชนในระบบทุนนิยมด้วย เพราะสหกรณ์เป็นเจ้าของโดยสมาชิกในชุมชน จึงสนใจผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และชุมชนมากกว่านายทุนเอกชน ซึ่งสนใจแต่ผลกำไรส่วนตัว และเป็นคนที่อยู่นอกชุมชน หรือแม้แต่เป็นนายทุนต่างชาติ

      สหกรณ์เพื่อที่อยู่อาศัย มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนจนในเมืองในหลายประเทศมีที่อยู่อาศัย จะเป็นแบบผ่อนซื้อหรือเช่าก็แล้วแต่ ระบบสหกรณ์สามารถทำให้ประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่าระบบนายทุนเอกชน เพราะไม่ต้องไปแบ่งปันผลกำไรให้บริษัทเอกชน ทำให้ราคาต่ำลง และประชาชนสามารถผ่อนส่งระยะยาวได้ ในสหรัฐและแคนาดามีสหกรณ์หอพักนักศึกษาช่วยให้นักศึกษามีที่พักที่เหมาะสม และได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเป็นกลุ่ม

      แม้แต่สาธารณูปโภค เช่นไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก็มีการบริหารจัดการในรูปสหกรณ์สาธารณูปโภค ทั้งในสหรัฐ ยุโรป ลาตินอเมริกาและที่อื่นๆ ระบบสหกรณ์สามารถให้บริการสาธารณูปโภค ได้ดีกว่าระบบรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน เพราะรัฐวิสาหกิจมักมีปัญหาด้านการขาดประสิทธิภาพและฉ้อฉล ขณะที่บริษัทเอกชนมุ่งหากำไรของเจ้าของที่เป็นเอกชนมากไป

      ประเทศไทยได้แต่เถียงกันว่า จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนดีหรือไม่ดี น่าจะคิดถึงทางเลือกที่ 3 คือแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นสหกรณ์ โดยให้พนักงานผู้บริการและและผู้ใช้บริการ เข้ามาถือหุ้นร่วมกัน เลือกตั้งคณะผู้บริหารนโยบายและให้คณะผู้บริหารนโยบายไปจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาทำ ในประเทศอื่น สหกรณ์สาธารณูปโภค เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่าและเป็นธรรมกับประชาชนมากกว่ารัฐวิสาหกิจและเอกชน

      ในเวเนซูเอล่า บราซิล อาเจนตินา โบลิเวีย เปรู ที่พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าได้รับเลือกเป็นรัฐบาล มีการพัฒนาระบบสหกรณ์อย่างคึกคักมาก เช่นรัฐบาลเวเนซูเอล่าสนับสนุนในแง่การออกกฎหมายช่วยสหกรณ์ การจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืม การจัดการศึกษาอบรมวิชาการบริหารจัดการสหกรณ์ ให้บัณฑิตใหม่และประชาชนที่ต้องการจัดตั้งสหกรณ์ รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันขอจัดตั้งสหกรณ์ได้ง่าย สมาชิกสหกรณ์เลือกผู้บริหารและควบคุมดูแลกันเอง มีการแปรรูปโรงงานของธุรกิจเอกชนที่เผชิญปัญหาหนี้เสีย หยุดดำเนินการ หรือทำท่าจะไม่รอดให้เป็นระบบสหกรณ์ โดยคนงานเข้าไปถือหุ้นและบริหารเอง รัฐบาลให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำและปลอดดอกเบี้ยในปีแรกๆเพื่อฟื้นฟูกิจการใหม่ ปรากฏว่า ระบบสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของ สามารถฟื้นฟูกิจการและดำเนินได้ดีกว่าบริษัทเอกชน เพราะคนงานเมื่อเป็นเจ้าของเอง รู้สึกว่าเป็นของเขา ถ้าเขาตั้งใจทำงานให้ดี สหกรณ์มีกำไร เขาก็จะได้รับปันผลมากขึ้น ทำให้พวกเขาตั้งใจทำงาน การทุจริตรั่วไหลลดน้อยลง

      ระบบสหกรณ์จึงมีข้อได้เปรียบระบบธุรกิจเอกชน ถ้าสมาชิกเอาจริง จุดมุ่งหมายหลักของโรงงานแบบสหกรณ์คือช่วยให้คนงานมีงานทำ ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เป็นแนวคิดที่ต่างไปจากระบบทุนนิยมที่สนใจแต่การหากำไรของเจ้าทุน

      สหกรณ์เป็นรูปแบบการบริหารแบบกระจายอำนาจและทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพกว่า ระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สหกรณ์แต่ละแห่งจะต่างคนต่างพัฒนา โดยจะไม่ล้มครืนทั้งระบบเหมือนระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางและพรรคการเมืองมากเกินไป

      การให้คนงานเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่มีรัฐบาลก้าวหน้าแนวสังคมนิยมเท่านั้น ในยุโรปเองก็มีสหกรณ์ผู้ผลิต หรือสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง ชุมนุมหรือสหพันธ์สหกรณ์ไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายเสมอไป หลายแห่งก็อิงกับแนวคิดทางศาสนาหรือท้องถิ่นนิยม

      ที่เมืองมอนดรากอน (MONDRAGON) แคว้นบาสก์ ประเทศสเปน ผู้สำเร็จอาชีวะศึกษา 5 คน ได้จัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตเตาจากน้ำมันก๊าดขึ้นเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้ได้เติบโตเป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มีเครือข่ายมากกว่า 150 แห่ง เป็นสหกรณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและให้บริการ ฯลฯ ในหลายสาขา รวมทั้งธนาคารและมหาวิทยาลัยของตนเอง มีพนักงานที่เป็นสมาชิกคือเป็นเจ้าของสหกรณ์ด้วยรวมทั้งหมด 70,000 คน เป็องค์กรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นบาสก์ และมีเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศสเปน เป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มียอดขายสูงราวอันดับ 10 ของสหพันธ์สหกรณ์ทั่วโลก(ปีละกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์)

      การจะทำให้ระบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการปลูกฝังแนวคิดอุดมการณ์ให้ประชาชนเห็นว่า แนวทางการพัฒนาธุรกิจแบบสหกรณ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกดีกว่าระบบทุนนิยมอย่างไร และต้องมีการฝึกอบรม ด้านการเป็นผู้บริหารจัดการและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในหลายประเทศ มีโรงเรียน มีวิทยาลัยที่ส่งเสริมด้านสหกรณ์นี้โดยเฉพาะ สหกรณ์ขนาดใหญ่บางแห่งเป็นผู้ลงทุนดูแลเรื่องนี้เอง ที่สำคัญคือสมาชิกสหกรณ์ต้องสนใจดูแลเลือกและตรวจสอบผู้บริหาร ปัจจุบันสหกรณ์ยังมีบทบาทช่วยเหลือกันและกันสูง เช่นในอิตาลีรัฐบาลออกกฎหมาย ให้สหกรณ์ต้องแบ่งปันผลกำไร3%เข้ากองทุนเพื่อช่วยจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ๆในเขตที่ยากจน

      ในระดับระหว่างประเทศ มีสหพันธ์สหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม องค์กรพัฒนาการสหกรณ์ระหว่างประเทศ(ICA) องค์กรแรงงานสากล (ILO) สหประชาชาติ (UN) ที่สนใจให้ความช่วยเหลือพัฒนาสหกรณ์ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะนักวิชาการ นักวิชาชีพที่เป็นนักประชาธิปไตย เริ่มเห็นว่า สหกรณ์เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ และปัญหาเศรษฐกิจ สังคมอื่นๆ ได้ดีกว่าการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมหรือแนวเสรีนิยมใหม่

      ในประเทศไทย พรรคการเมือง และนักวิชาการส่วนใหญ่ยังคิดอยู่ในกรอบการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แม้แต่พวกที่เคยศึกษาสนใจเรื่องสังคมนิยมก็เคยคิดว่า หลังจากที่ประเทศสังคมนิยมหลายประเทศล้มเหลว ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทุนนิยมหรือตลาดเสรี มีนักวิชาการนักพัฒนาเอกชนหัวก้าวหน้าคัดค้านทุนนิยมอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้คิดหาทางเลือกใหม่ที่ชัดเจน รวมทั้งไม่ได้สนใจการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งสหกรณ์อย่างจริงจัง เพราะพวกเขาคุ้นกับการรับเงินสนับสนุนจากองค์ภายนอกมากว่า แต่กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ที่เข้มแข็ง ในประเทศไทยก็มีอยู่ แต่เป็นแค่องค์กรเล็กๆ ที่มองไม่เห็นภาพใหญ่ หรือขยายตัวไม่ออกเพราะติดกรอบใหญ่คือ ระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารทุนต่างชาติ กฎหมายที่ล้าหลัง และการไม่กล้าคิดพึ่งตนเอง ไม่กล้าพัฒนานอกกรอบที่ขวางทางอยู่

      นักวิชาการ นักสหภาพแรงงาน นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักกิจกรรมสังคม ฯลฯ ควรสนใจศึกษาและเข้ามามีส่วนสร้างส่วนพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในประเทศมากขึ้น เราต้องช่วยกันศึกษาว่า จะฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมในชนบทที่ประชาชนเคยตั้งกลุ่มช่วยเหลือกัน เช่น กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มต่างๆให้มีการจัดตั้งกลุ่มสมัยใหม่แบบสหกรณ์ได้อย่างไร จะช่วยให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ และกลุ่มประชาชนแบบใหม่ที่เข้มแข็ง และจะหาทางขยายบทบาทของพวกเขาอย่างไร และจะช่วยกันผลักดันปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ให้เป็นอิสระและมีโอกาสเติบโต พ้นจากระบบราชการและแข่งขันกับพ่อค้านายทุนได้ จนระบบสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจที่มีสัดส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เหมือนในประเทศอื่นๆได้อย่างไร นี่คือแนวทางเลือกใหม่ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีทั้งประสิทธิภาพเป็นธรรม และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง 

 

สร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคประชาชน


สร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคประชาชน 

วิทยากร  เชียงกูล

 

      การต่อสู้ทางการเมืองแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วระหว่างกลุ่มตัวแทนระบอบทักษิณกับกลุ่มคัดค้านระบอบทักษิณยังคงดำรงอยู่ แต่ประชาชนควรมองปัญหาความขัดแย้งและการต่อรองทางการเมืองให้กว้างกว่าการมองแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง เพราะกลุ่มการเมืองที่มีผลประโยชน์และแนวคิดต่างกันมีอย่างน้อย 4 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มอาจแยกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก

      4 กลุ่มประกอบด้วย 1.) กลุ่มระบอบทักษิณ 2.) กลุ่มทหาร/ขุนนางที่ 3.) กลุ่มนักธุรกิจ นักการเมือง อาชีพ ที่อยู่นอกกลุ่มทักษิณ เช่นประชาธิปัตย์ ชาติไทย ประชาราช  และนักธุรกิจอื่นๆ        4.) กลุ่มประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและการจัดตั้งองค์กร เช่น นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักวิชาชีพ ผู้นำแรงงาน ผู้นำเกษตรกร ผู้นำชุมชน คนชั้นกลางสาขาอาชีพต่างๆ

      การเมืองแบบเลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นการต่อสู้ของคน 3 กลุ่มแรก เนื่องจากกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มประชาชนยังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ และไม่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งพอที่จะสร้างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนชั้นล่างและชั้นกลางที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ได้ แต่ในบางสถานการณ์และบางจังหวะ กลุ่มประชาชนที่ตื่นตัวอาจจะเลือกเป็นพันธมิตรกับบางกลุ่มและมีบทบาทสร้างอำนาจต่อรองในการเมืองภาคประชาชนได้สูง เช่น การคัดค้านระบอบทักษิณในช่วงปี 2549 ซึ่งนอกจากจะมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำแล้ว ยังมีนักวิชาการ/นักวิชาชีพเข้าร่วมด้วยมาก

      หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนบางส่วนเริ่มคิดต่างกัน บางคนต่อต้านการรัฐประหารและภายหลังต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปด้วย บางคนอาจจะถูกกลุ่มนิยมทักษิณเข้ามากล่อมเกลาจนกลายเป็นแนวร่วมทักษิณ บางคนอาจจะมีแนวคิดแบบเสรีนิยม ปัจเจกชนนิยมของตนเอง แต่หลังจากที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว นักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนที่เคยไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีจิตใจเป็นประชาธิปไตยพอที่จะยอมรับเสียงส่วนใหญ่ และกลับมาช่วยกันทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น

      นักวิชาการปัญญาชนคนที่เลือกวิจารณ์แต่คมช. ทหาร ขุนนาง อำมาตยาธิปไตย แต่ละเว้นหรือวิจารณ์ระบอบทักษิณน้อยกว่า จะทำให้ประชาชนสงสัยว่าเขาแอบช่วยระบอบทักษิณทางอ้อมมากกว่าจะช่วยให้ภาคประชาชนเข้มแข็งจริงๆ ในยุคสมัยที่ประชาชนยังอ่อนแอ หากนักวิชาการปัญญาชนเป็นตัวของตัวเองจริงและทำเพื่อส่วนรวมจริง เขาควรคิดหาและเสนอแนะทางออกที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์สำหรับภาคประชาชน มากกว่าจะมาเล่นโวหารและเลือกวิจารณ์บางกลุ่มมากกว่ากลุ่มทักษิณ

      แม้รัฐธรรมนูญ 2550 อาจไม่ช่วยให้การเมืองภาคนักการเมืองเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ให้สิทธิประชาชนไว้พอสมควร ภาคประชาชนควรศึกษาหมวดว่าด้วยสิทธิประชาชนอย่างจริงจัง และหาช่องทางผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้แล้ว ประชาชนควรหาช่องทางเรียกร้องผลักดัน รัฐบาล, สนช.,องค์กรอิสระที่มีอยู่ให้เดินหน้าในเรื่อง สิทธิผู้บริโภค กองทุนพัฒนาการเมือง สิทธิชุมชน สิทธิที่ประชาชนจัดการศึกษาได้เอง การปฏิรูปสื่อมวลชน ฯลฯ ได้เลย การใช้สิทธิเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะได้ผลแค่ไหน จะเป็นประโยชน์ในการทำให้ประชาชนเรียนรู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้น

      นอกจากเรื่องการหาทางใช้สิทธิประชาชนเพื่อทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นแล้ว องค์กรภาคประชาชนควรค้นคว้า เผยแพร่และ เสนอแนะผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศฉบับประชาชน ที่ก้าวหน้ามากกว่านโยบายพรรคการเมืองที่มีอยู่ เช่น เสนอการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม หรือการกระจายทรัพย์สิน รายได้ และความรู้ สู่ประชาชนให้เป็นธรรม ในแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยและการพึ่งตนเองแบบเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อมุ่งทำให้ประชาชน ชุมชน และประเทศเข้มแข็งขึ้นอย่างแท้จริง

      พรรคการเมืองในขณะนี้ยังเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลาง มีนโยบายใหญ่ส่งเสริมการลงทุนและการค้าของทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ และเสนอนโยบายย่อยแบบประชานิยมเพื่อหาเสียงและสร้างระบบอุปถัมภ์ เรายังขาดพรรคการเมืองที่ก้าวหน้า แนวสังคมนิยม, พรรคกรีน (อนุรักษ์สภาพแวดล้อม) หรือพรรคแรงงาน ที่มีวิสัยทัศน์เห็นการณ์ไกลมุ่งที่จะช่วยให้ประชาชนและชุมชนและประเทศชาติโดยรวมเข้มแข็งอย่างแท้จริง ดังนั้นประชาชนจึงควรผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้าให้พรรคการเมืองบางพรรครับไปทำ หรือจัดตั้งพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงขึ้นมา

      ในยุคที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน ขาดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และการจัดตั้งองค์กร ประชาชนที่ตื่นตัวต้องเข้าร่วมต่อสู้ทางความคิดศึกษาปัญหาอย่างวิเคราะห์  ทำงานเผยแพร่และจัดตั้งองค์กร เพื่อช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสได้รู้เท่าทันระบอบทักษิณ รู้เท่าทันระบอบทหาร/ขุนนาง และนายทุนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งระบบทุนนิยมโลก เพราะนี่คือทางเดียวที่ประชาชนสามารถพัฒนาตนเอง องค์กรและชุมชนให้เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับพวกคนชั้นสูงและชนชั้นกลางได้เพิ่มขึ้น ประชาชนควรจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกร สมาคมอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน สหกรณ์ต่างๆหรือแม้แต่พรรคการเมือง ซึ่งจะเริ่มจากพรรคเล็กๆแต่เป็นพรรคมวลชนอย่างแท้จริง

      การเมืองไม่ใช่เรื่องแค่การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่คือเรื่องการสร้างอำนาจต่อรองของประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อจัดการกับทรัพยากรส่วนรวมซึ่งเป็นของประชาชนทุกคน ถ้าประชาชนปล่อยเวทีให้เฉพาะนักการเมือง ฝ่ายธุรกิจ นายทุน คนชั้นกลางหน้าเก่าๆ  2 – 3 พันคน เป็นผู้ผูกขาดการเล่นการเมืองอยู่กลุ่มเดียว ประชาชนก็ยิ่งต่อรองได้น้อย ประชาชนต้องคิดหาทางต่อสู้ทุกวิถีทางและทุกเวทีที่ประชาชนสามารถเข้าไปต่อสู้ หรือขับเคลื่อนได้ ประชาชนจึงจะมีหนทางที่จะสร้างสังคมให้มีประชาธิปไตย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ประชาชนมีบทบาทอย่างแท้จริงมากกว่าแค่การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสส. และ สว.

 

ทางเลือกที่ 3 ควรเป็นทางเลือกของประชาชน ไม่ใช่ของนักการเมือง


ทางเลือกที่ 3 ควรเป็นทางเลือกของประชาชน ไม่ใช่ของนักการเมือง

วิทยากร  เชียงกูล 

      ผลการลงประชามติที่มีคะแนนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในภาคอีสานและภาคเหนือเป็นสัดส่วนสูง สะท้อนว่ากลุ่มนิยมทักษิณยังมีโอกาสได้รับเลือกกลับเข้ามาป็นสส.และรัฐบาลสูงพอสมควร แม้คนที่ลงคะแนนไม่เห็นชอบส่วนหนึ่งจะเป็นคนมีการศึกษาที่ไม่ชอบการรัฐประหารและไม่ชอบรัฐบาลขุนนางชุดนี้หรือถูกชัดจูงให้เข้าใจผิดในประเด็นต่างๆ แต่คนที่ลงคะแนนไม่เห็นชอบส่วนใหญ่ก็คือคนจนที่ยังนิยมหรือออกเสียงตามการรณรงค์ของของกลุ่มทักษิณและแนวร่วม

      พรรคที่เป็นคู่แข่งกลุ่มทักษิณอย่างพรรคประชาธิปัตย์ชาติไทย มหาชน ประชาราช มีนโยบายการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ในแนวนิยมตลาดเสรี โลกาภิวัตน์ ประชานิยมแบบหาเสียง ฯลฯ ที่ไม่ต่างไปจากกลุ่มทักษิณ จึงเป็นคู่แข่งทางด้านกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าคู่แข่งด้านแนวนโยบายอุดมการณ์ พรรคมัฌชิมาและพรรคอื่นที่ชอบพูดเรื่องสมานฉันท์ ทางสายกลาง ทางเลือกที่ 3 อาจเป็นเพียงนักประนีประนอมในหมู่ชนชั้นสูงด้วยกัน ที่พร้อมจะจับมือกับพรรคตัวแทนไทยรักไทย เพื่อจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคตัวแทนไทยรักไทยได้เสียงมากพอสมควร โดยภาพรวมแล้วพรรคที่เป็นมาข่าวมาทั้งหมดยังไม่ได้เสนอนโยบายที่ทางเลือกใหม่สำหรับประชาชนที่ต่างไปจากระบอบทักษิณหรือระบบสนธิ-สุรยุทธ์เลย พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย ประชาราช อาจจะมีฐานเสียงของตนเอง รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายค้านระบอบทักษิณเท่านั้น พรรคการเมืองหน้าเก่าที่เปลี่ยนชื่อพรรคใหม่ ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกใหม่ หรือทางเลือกที่ 3 ก็คือเพื่อเป็นทางเลือกให้ตัวเองได้เข้าไปมีอำนาจเท่านั้น

      ภาคประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง หลายคนอยากให้มีการจัดตั้งพรรคใหม่ที่มีแนวนโยบายก้าวหน้า อิงประโยชน์ประชาชนอย่างชัดเจน เช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย ขบวนการสหกรณ์ ชุมชนนิยม ชาตินิยม  ฯลฯ เพราะพรรคที่มีอยู่เป็นพรรคที่เป็นตัวแทนนายทุนและชนชั้นกลางที่มีแนวนโยบายแบบจารีตนิยมและเสรีนิยม ปัญหาคือกลุ่มประชาชนมีหลายกลุ่มมาก ไม่เคยทำงานร่วมกันอย่างกว้างขวาง และยังไม่ได้ศึกษาและพัฒนาแนวคิดอุดมการณ์ที่ชัดเจน เช่น เป็นพันธมิตรต่อต้านระบอบทักษิณ แต่ไม่ได้เสนออะไรที่ใหม่กว่าอย่างแท้จริง

      ภาคประชาชนนอกจากจะขาดเงิน ขาดฐานเสียงและการจัดตั้งแล้ว ยังมีปัญหาอีกข้อคือ พวกปัญญาชนหรือคนที่ตื่นตัวทางการเมืองส่วนใหญ่ ยังมีอุปนิสัยและแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยมสูง เห็นว่าตัวเองถูก คนอื่นผิดหรือไม่เข้าท่า ทำงานแบบแนวร่วมหรือพันธมิตรไม่ค่อยเป็น รวมทั้งยังไม่มีอุดมการณ์ผลประโยชน์ร่วมกันเด่นชัดเท่าพวกนักการเมืองอาชีพ ซึ่งมีแนวคิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันชัดเจน คือมุ่งได้เป็นรัฐบาลหรืออย่างน้อยได้เป็นสส.การตั้งพรรคใหม่ที่เป็นตัวแทนประชาชนและมีนโยบายก้าวหน้าจริง จึงเป็นเรื่องยาก เรื่องแนวคิดนโยบาย ทำได้อยู่แล้ว เพราะพรรคที่มีอยู่ เขาไม่ได้คิดกันแต่เรื่องที่ยาก คือ การระดมทรัพยากรและผู้คน

      ประชาชนมีทางเลือก 2 ทางคือ 1.พยายามเสนอแนะผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้า เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคมให้พรรคการเมืองเช่น ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ประชาราช หรือพรรคใหม่อื่นๆ รับไปทำ หรือเข้าไปผลักดันให้มีปีกที่ก้าวหน้าขึ้นในพรรคเหล่านั้น 2. พยายามนัดคุยกันด้วยท่าทีใจกว้าง แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง หาแนวนโยบายใหญ่ๆที่ก้าวหน้าที่ทุกกลุ่มพอรับกันได้ และรวบรวมกลุ่มต่างๆ เช่น ความหวังใหม่(ของคุณชิงชัย) กลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตรกร ขบวนการสหกรณ์ องค์กรพัฒนาเอกชน ยามเฝ้าแผ่นดินหรือพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย ฯลฯ เข้ามาร่วมมือกันทำงานแบบเครือข่าย คนบางส่วนที่พร้อมจะตั้งพรรคก็ตั้งไป คนบางส่วนที่คิดว่าทำงานการเมืองภาคประชาชนดีกว่าก็ทำต่อไป แต่ควรมีการประสานงานและร่วมมือกันให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้

      แนวนโยบายที่ก้าวหน้าที่ประชาชนน่าจะเห็นร่วมกันได้ เช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร การปฏิรูประบบสหกรณ์และการตลาด เพื่อพัฒนาชนบทและช่วยคนจนในเมืองอย่างครบวงจรอย่างจริงจัง การปฏิรูประบบการคลังเก็บภาษีคนรวยในอัตราก้าวหน้าและจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงการปฏิรูปหัตถกรรมและอุตสาหกรรมขนาดย่อมขนาดกลางเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน การปฏิรูปการศึกษาและสื่อมวลชนในเชิงคุณภาพ เพื่อพัฒนาความคิด ความรู้ของคนให้มีประสิทธิภาพและจิตสำนึก การปฏิรูประบบสาธารณสุข การปฏิรูปการเมืองและระบบราชการ การปฏิรูปทุกด้านมุ่งให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น การป้องกันและปราบการทุจริตคอรัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อนและการเล่นพวกอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่จัดการกับตัวบุคคล การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและนโยบายด้านการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ที่เน้นผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่านายทุนส่วนน้อย เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ นโยบายการพัฒนาคนและเทคโนโลยีที่เหมาะสมภายในประเทศ แบบมีรากฐานที่เข้มแข็งและยั่งยืน มากกว่าการเร่งรีบเปิดเสรีทางด้านการลงทุนและการค้าอย่างฉาบฉวย  นโยบายเพิ่มการจ้างงานที่เป็นธรรม การประกันสังคม สวัสดิการสังคม ที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ 

      นโยบายที่เน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างขนานใหญ่จริงจังเหล่านี้ ภาคประชาชนต้องจัดการศึกษาและเผยแพร่  เสนอแนะและผลักดันอย่างกว้างขวาง ทั้งจากการประกาศจุดยืน การขยายความรู้และการจัดตั้งของพรรคภาคประชาชน และการตั้งคำถามให้พรรคการเมืองต่างๆต้องตอบหรือคิดถึงนโยบายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพราะพรรคการเมืองใหญ่ๆ ยังมีแนวนโยบายการพัฒนาประเทศแนวเสรีนิยมและจารีตนิยม สนใจเรื่องการใช้นโยบายเป็นเครื่องมือเพื่อหาเสียง มากกว่ายึดเป็นแนวทางในทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างจริงจังไม่ต่างจากระบอบทักษิณ  เช่น ชอบเสนอนโยบายแบบประชานิยมและสวัสดิการนิยม สัญญาว่าจะให้เงินกู้ ให้การศึกษาฟรี ให้โน่นให้นี่แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนนิยมชมชอบ รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ แต่ไม่ได้เสนอการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น หารายได้จากรัฐวิสาหกิจและสาธารณสมบัติเพิ่มขึ้น ให้ประชาชนตั้งสหกรณ์และสหภาพแรงงานได้อย่างอิสระโดยรัฐหนุนช่วย การปฏิรูปศึกษาและสื่อมวลชนให้มีคุณภาพ การลดอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐลง เสริมอำนาจประชาชนช่วยให้ประชาชนเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองกับทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง

      ในยุคที่นักการเมืองเตรียมสมานฉันท์แบ่งอำนาจเพื่อปกครองประชาชนแบบเก่าต่อไป คนที่มีการศึกษาและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รู้เท่าทันระบอบทักษิณ ระบอบทหารขุนนาง ระบอบโลกนายทุน/โลกาภิวัตน์ ต้องจัดตั้งกันขึ้นมา ออกไปจัดตั้งและไปอธิบายให้ความรู้แก่ประชาชนในภาคอีสาน เหนือ ชุมชนแออัดในเมืองใหญ่ ที่ยังหลงใหลในระบอบทักษิณและระบอบอุปถัมภ์ทั้งหลาย เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันทางเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้น ประชาชนจึงจะสามารถเรียกร้องผลักดันพรรคการเมือง (รวมทั้งระบบราชการ) ให้มีนโยบายที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศเพื่อคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าที่เป็นอยู่