RSS

Category Archives: ภาระกิจชาวพุทธในระ

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก


 “ภารกิจชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก”

เป็นบทความส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มที่กำลังจะออกใหม่
ของท่านอาจารย์วิทยากร  เชียงกูล ชื่อหนังสือเรื่อง

“อนาคตเศรษฐกิจโลกและทางออกสำหรับไทย”
โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์

ส่วนหน้าตาของปกจะเป็นยังไงนั้นทางชมรมศึกษาฯ จะนำมาให้ดูกันชัดๆ

เมื่อหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

 

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก1

 

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์กับชุมชนของชาวพุทธทั้งในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมและในโลกตะวันตกที่เป็นแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมโลก ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ (วิธีที่เรามองโลก) ของเราอีกด้วย ข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้ด้วยว่า หากเราต้องการหลีกเลี่ยงการตีความคำสอนของพุทธศาสนาอย่างผิดๆ เราจะต้องพิจารณาอย่างใกล้ชิดถึงความแตกต่าง ระหว่างสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกแบบพัฒนาอุตสาหกรรม และสังคมที่ยังคงมีส่วนที่เป็นระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นมากกว่า

ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า สังคมต่างๆมีรากเหง้าติดอยู่กับโลกธรรมชาติมากกว่าโลกในยุคปัจจุบันมาก ระบบเศรษฐกิจในยุคนั้นเป็นระบบเกษตรและหัตถกรรมแบบพึ่งพากันและกันในท้องถิ่น รวมทั้งพึ่งพาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและธรรมชาติทั้งหมดมากกว่ายุคปัจจุบันมาก มนุษย์เรามีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติโดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อและพ่อค้าคนกลาง การที่มนุษย์ในสมัยนั้นได้เห็นและมีประสบการณ์กับมนุษย์คนอื่นๆในชุมชนโดยตรง เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางจริยธรรมของมนุษย์แต่ละคน คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้พัฒนาขึ้นในบริบทของสังคม ที่หล่อหลอมโดยความสัมพันธ์โดยตรงของมนุษย์กับชุมชน และโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

พุทธศาสนาคือเรื่องของชีวิต คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และอย่างเป็นวัฏจักร การเกิดและการตาย ความดีใจและความโศกเศร้า ดอกไม้บานแล้วก็เหี่ยว พระจันทร์ข้างขึ้นและข้างแรม พุทธศาสนาคือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอนิจจัง (ไม่คงทนถาวร) และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง

แต่ในโลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและการผลิตขนานใหญ่แบบอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ถูกแบ่งแยก ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้ชีวิตประจำวันของเราต้องพึ่งพา โลกแบบใหม่ที่ถูกสร้างโดยคน – ระบบเศรษฐกิจแบบค้าขาย พลังงานไฟฟ้า รถยนต์และถนน ระบบการแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่ การพึ่งพาในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราเชื่อว่า เราต้องพึ่งพาโลกของเทคโนโลยีมากกว่าโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

เมื่อขนาดของระบบเศรษฐกิจขยายใหญ่โต และเรากลายเป็นเพียงผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกของคนหกพันล้านคน ยิ่งเป็นการยากที่เราจะรู้ถึงผลกระทบของเราต่อธรรมชาติและต่อคนอื่นๆในสังคมเหมือนในชุมชนชนบทแบบดั้งเดิมที่คนในชุมชนรู้จักกันและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในสังคมแบบชุมชนดั้งเดิม เรารู้ว่าการเพาะปลูกของเราจะมีผลกระทบต่อดินและต่อคนในชุมชนที่ซื้อของจากเราไปกินอย่างไร เรามีความรับผิดชอบความห่วงใยต่อสุขภาพ/สวัสดิการของพวกเขาโดยตรง

ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เราต่างคนต่างเป็นผู้ผลิตในระบบอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่และส่งสินค้าผ่านต่อคนอื่นไปให้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร เพียงเพื่อผลกำไรและเงินของใครของมัน ทำให้เราไม่รู้สึกผูกพันรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อการกระทำของเรา เมื่อเทียบกับการผลิตในระบบเศรษฐกิจชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในชุมชน มากกว่าแค่การผลิตสินค้าไปขายแลกกับเงิน

การแยกตัวออกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความผูกพันของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาจากและสะท้อนถึงการมองโลกแบบแยกส่วน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาซึ่งมองสรรพสิ่งแบบเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มนุษย์เราเป็นปัจเจกชนที่แยกออกมาจากธรรมชาติ และมนุษย์สามารถที่จะเอาชนะโลกธรรมชาติได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่

โครงสร้างและสถาบันของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม มีพื้นฐานอยู่บนความโง่เขลาและความโลภของมนุษย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาที่มองว่า มนุษย์เราเกิดมาต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีความยั่งยืนถาวร จะต้องสิ้นอายุสูญสลายไปในวันหนึ่ง ดังนั้นเราจึงควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และใช้ชีวิตแบบเดินสายกลางให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

ชาวพุทธที่รับผิดชอบต่อสังคม (รวมทั้งชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ฯลฯ ด้วย) ควรจะใช้หลักคำสอนของศาสนามาตรวจสอบแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอย่างพินิจพิจารณา ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากพวกเราช่วยกันพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เราจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันเดินไปคนละทางกับเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ และเราควรจะคัดค้านอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่สอดคล้องกับปรัชญาชาวพุทธ

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และโลกาภิวัตน์ (การทำให้การผลิตและการบริโภคของคนทั่วโลกเป็นแบบเดียวกัน) ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ กำลังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเดี่ยวที่จะนำโลกทั้งโลกไปสู่หายนะภัยครั้งใหญ่ รากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกวางอยู่บนแนวคิดแคบๆเกี่ยวกับความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน โดยมองข้ามความสัมพันธ์ด้านที่ไม่ใช่วัตถุของชีวิต เช่นเรื่อง ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน การมีงานที่ให้ความหมายความพอใจซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน ความสัมพันธ์ด้านคุณค่าทางจิตใจซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

เหตุที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเน้นที่ความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน เพราะพวกนายทุนและผู้สนับสนุนเชื่อว่า มนุษย์เรามีแรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่เห็นแก่ตัว และมีความต้องการทางวัตถุอย่างไม่มีขอบเขต แทนที่พวกนายทุนและผู้สนับสนุนจะส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักควบคุมแรงจูงใจทางธรรมชาติในการไขว่คว้าที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง พวกเขากลับใช้จุดอ่อนของมนุษย์ ที่จะเพิ่มการผลิตและการขายสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มกำไรส่วนตัวของพวกเขา พวกเขาอ้างว่า “มือที่มองไม่เห็น” ในกลไกตลาดที่มีการแข่งขันเสรี จะทำให้กิจกรรมที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยอัตโนมัติ

แต่ระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ถูกครอบโดยบรรษัทข้ามชาติ จริงๆแล้วมีความหมายอย่างไร ? ความหมายหนึ่งของโลกาภิวัตน์คือ “โลกที่มีการบริโภคแบบเดียวกันทั่วโลก” โลกซึ่งคนทุกคนกินอาหารที่มาจากการผลิตในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน ใส่เสื้อผ้าตะวันตกแบบเดียวกัน มีบ้านสมัยใหม่ สร้างวัสดุจากโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน โลกซึ่งทุกประเทศใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน พึ่งระบบเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการจากสำนักงานแม่ของบรรษัทข้ามชาติ ระบบเดียวกัน จัดการศึกษาแบบตะวันตกเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน (ภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาซื้อขายด้วยเงินของทุนนิยม) บริโภคสื่อแบบเดียวกัน โดยสรุปแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์คือระบบที่ทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มันหมายถึงการสร้างวัฒนธรรมเดี่ยว คือวัฒนธรรมทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ หลายศาสนา สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขา ที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดและพัฒนาได้จนถึงวันนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมช่วยให้มนุษย์เราเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปรับตัว การแก้ไขสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น ช่วยให้โลกเกิดความรุ่มรวยและสีสันที่น่าสนใจ

แต่การขยายตัวของระบบโลกาภิวัตน์กำลังทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม (และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต) อย่างรวดเร็ว ระบบโลกาภิวัตน์สร้างเมืองแบบป่าคอนกรีตและถนนหลายช่องแบบเดียวกันทั่วโลก สร้างภูมิสถาปัตย์แบบเดียวกันในทุกมุมของโลก เมืองที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ห้างสะดวกซื้อ ร้านอาหารแบบสำเร็จรูป ป้ายโฆษณาหนังฮอลลีวู๊ด โทรศัพท์มือถือ กางเกงยีนส์ เครื่องสำอาง บุหรี่ เบียร์ เหล้า จากตะวันตก ฯลฯ

ระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เข้ามาแทนที่การผลิตเพื่อเลี้ยงชีพในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของชุมชน ทำให้มนุษย์เหินห่างตัดขาดจากวงจรของธรรมชาติเพิ่มขึ้น การเกษตรแบบพึ่งแรงงานธรรมชาติเพื่อการเลี้ยงชีพ ถูกทำให้เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อขายและส่งออก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการใช้ปุ๋ยและเคมี การวางแผนและการจัดการจากบริษัทส่งออก เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรชนิดที่จะขนส่งไปขายทางไกลในราคาที่แข่งขันกับผู้ผลิตผู้ส่งออกรายอื่นๆในตลาดโลกได้

ในกระบวนการดังกล่าวนี้ เกษตรกรผู้เคยวางแผนเอง ซึ่งเคยอิสระ ทำทุกอย่างด้วยตนเอง รวมทั้งควบคุมการผลิตและชีวิตของตัวเองได้ กลายเป็นลูกหนี้หรือลูกจ้างในระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ที่ต้องขึ้นต่อการใช้ทุน การใช้เครื่องจักรที่กินน้ำมัน การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีมากขึ้น การเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารหลากหลาย เพื่อการบริโภคของชุมชนในท้องถิ่น กลายเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อการส่งออก

ระบบโลกาภิวัตน์ที่สร้างวัฒนธรรมเดี่ยวมาแทนความหลากหลายทางวัฒนธรรม กำลังมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มซีกโลกใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่มากกว่าที่อื่นๆ ในกลุ่มซีกโลกใต้ ประชาชนจำนวนมาก ยังอาศัยในหมู่บ้าน ยังมีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองซึ่งใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างหลากหลาย ยังคงเชื่อมโยงแบบอาศัยโลกธรรมชาติมากกว่าโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่แรงกดดันจากระบบโลกาภิวัตน์กำลังทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของท้องถิ่นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

คนถูกบีบให้อพยพจากชนบทเข้าเมือง และหมู่บ้านเองก็ถูกทำให้เป็นชุมชนแบบชานเมือง ประชาชนที่เคยพึ่งตนเองในระดับชุมชนได้ ต้องกลับมาขึ้นต่อสินค้าอุตสาหกรรมจากโรงงานและร้านค้า ประชาชนผู้เคยภูมิใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง กลับรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนในเมือง และต้องพยายามเลียนแบบคนในเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นที่ประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่า ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น 440 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่าอัตราเพิ่มของประชากรของจีนทั้งประเทศหลายเท่า

การพัฒนาของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไม่เพียงแต่ผลักดันให้เกษตรกรต้องทิ้งถิ่นฐานจากชุมชนชนบทเท่านั้น มันยังทำให้โอกาสในการหางานทำและอำนาจทางการเมืองรวมศูนย์อยู่ในเมือง และทำให้เมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งสื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้า ก็ช่วยสร้างแรงผลักดันทางจิตวิทยาให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปแสวงหาชีวิตที่ “เจริญ” กว่า ซึ่งหมายถึงการได้ทำงานเพื่อมีเงินบริโภคสินค้าสมัยใหม่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากตำแหน่งงานในเมืองจำกัด จึงมีคนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้มีชีวิตที่เจริญขึ้น คนที่อพยพจากชนบทเข้าเมืองส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบในชุมชนแออัด ที่ขยายใหญ่โตขึ้น ทั้งๆที่ระบบโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดผลเสียหายเหล่านี้ แต่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาก็ยังสนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศตามกระแสโลกาภิวัตน์

เกิดอะไรขึ้นเมื่อชีวิตในชนบทล่มสลาย และผู้คนซึ่งเคยพึ่งพาทรัพยากรในท้องถิ่นที่ใกล้เคียงกันได้ต้องมาผูกติดกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก? ขอให้ดูจากตัวอย่างการสร้างที่อยู่อาศัยแบบท้องถิ่น ซึ่งโครงสร้างอาคารต่างๆเคยถูกสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น หินในฝรั่งเศส ดินในแอฟริกาตะวันตก อิฐตากแห้งด้วยแสงแดดในธิเบต ไม้ไผ่และใบจากในฟิลิปปินส์ ฯลฯ เมื่อบ้านแบบท้องถิ่นเหล่านี้ต้องหลีกทางให้กับวิธีการสร้างบ้าน “สมัยใหม่” ในระบบโลกาภิวัตน์ วัสดุท้องถิ่นที่เคยมีเหลือเฟือถูกทอดทิ้งไม่ได้นำมาใช้ แต่ประชาชนต้องแข่งขันกันซื้อวัสดุสมัยใหม่ ปูน เหล็ก ไม้สำเร็จรูป ซึ่งราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรื่องทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับผลผลิตอื่นๆด้วย เมื่อทุกคนเริ่มกินอาหารแบบเดียวกัน ใส่เสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์เหมือนกัน ต้องใช้ชีวิตแบบพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันซึ่งจะหมดไปในวันหนึ่งเหมือนกัน การที่ระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้คนทุกคนต้องไปพึ่งพาแหล่งทรัพยากรเดียวกัน ทำให้บรรษัทข้ามชาติสามารถลงทุนในประเทศต่างๆเพื่อผลิตสินค้าขนานใหญ่มาขายคนทั่วโลกได้โดยมีต้นทุนต่ำลง แต่ผู้บริโภคต้องหาซื้อปัจจัยการดำรงชีพในราคาที่สูงขึ้น

ในสถานการณ์แบบนี้ ประชากรกลุ่มที่อยู่ขั้นต่ำที่สุดของบันไดทางเศรษฐกิจ จะเป็นผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุด ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น มีความโกรธเคือง ความไม่พอใจ และความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้น สถานการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ซึ่งคนที่มีภูมิหลังทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก ถูกดึงดูดให้อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง พวกเขาต้องถูกตัดขาดจากชุมชนเดิมและวัฒนธรรมเดิมของตัวเอง และต้องมาเผชิญกับการแข่งขันหางานและปัจจัยยังชีพอย่างเอาเป็นเอาตายในเมืองใหญ่ ความภาคภูมิใจในตัวเอง และในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองถูกกัดกร่อนไปด้วยแรงผลักดันของค่านิยมใหม่ของการต้องทำตัวเลียนแบบคนเมืองผู้ทันสมัยที่สื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้านำเสนอ

ตัวอย่างที่พวกเขาเลียนแบบ คือรูปลักษณ์ของชนชั้นกลางในเมืองแบบชาวตะวันตก ผิวขาวสะอาด ผมบลอนด์ ตาสีฟ้า ถ้าคุณเป็นชาวนาหรือเป็นคนผิวคล้ำ คุณจะถูกสังคมทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นคนป่าเถื่อน ล้าหลัง มีความด้อยกว่า กระบวนการนี้เองที่ทำให้หญิงทั่วโลกต้องใช้เคมีที่อันตราย เพื่อที่ทำผิวสีและสีผิวของพวกเธอให้คล้ายฝรั่ง คอนแทคเลนส์สีฟ้าขายดีไปทั่วโลกตั้งแต่กรุงเทพ ไนโรบี ไปถึง เม็กซิโกซิตี้ ผู้หญิงเอเชียตาชั้นเดียวจำนวนมากยอมเสียเงินไปรับการผ่าตัดเพื่อทำให้ตาของพวกเธอเป็นตาสองชั้นคล้ายตาของพวกฝรั่ง

พวกสนับสนุนโลกาภิวัตน์อ้างว่าระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบเดียวกันทั่วโลกช่วยทำลายความแตกต่างของประชากรโลก ทำให้เกิดความสมานฉันท์และความเข้าใจกันมากขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น การที่ระบบโลกาภิวัตน์ถอนรากถอนโคนประชาชนจากชุมชนชนบทโดยขายฝันถึงการมีชีวิตแบบทันสมัยของคนเมืองที่พวกเขาไม่อาจบรรลุได้จริง กลับทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มเกิดความโกรธเคืองและความรู้สึกเป็นศัตรูต่อชนชั้นสูงมากขึ้น สังคมเมืองของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่คนต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดและไร้ศีลธรรม ยิ่งทำให้ความแตกต่างของคนมีปัญหารุนแรงขึ้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มุ่งหากำไรแบบไม่เห็นหัวคนจน ปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประสบการณ์ของข้าพเจ้าในลาดัคและราชอาณาจักรภูฐาน ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ในลาดัค ชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมที่เป็นประชากรส่วนน้อยมาอย่างสงบสุขโดยไม่มีความขัดแย้งระดับกลุ่มมาถึง 100 ปี ในภูฐาน ชาวฮินดูส่วนน้อยก็อยู่ร่วมกับชาวพุทธส่วนใหญ่มาได้อย่างสงบสุขมาเป็นระยะเวลายาวนานพอๆกัน แต่ในช่วง 15 ปีหลังนี้ มีปัญหาความขัดแย้งซึ่งถูกกดดันมาจากเศรษฐกิจภายนอก ทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเนื้อกันทั้งใน 2 ภูมิภาคนี้

ปัญหาไม่ได้เกิดจากความแตกต่างของคน 2 กลุ่ม ซึ่งแตกต่างกันมาช้านานแล้ว แต่ปัญหาเกิดจากการที่คนสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจและเอกลักษณ์ของตัวเอง และพยายามจะปกป้องมันไว้ ถ้าระบบโลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะที่ไปลดทอนการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองได้และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ของโลก ความขัดแย้งและความรุนแรงก็มีแต่เพิ่มขึ้น อย่างชนิดที่ไม่อาจคาดหมายได้

ในเมื่อระบบโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมมากขนาดนี้ เหตุใดเล่าชาวพุทธจึงลังเลไม่เข้ามาร่วมการแก้ไขปัญหานี้? ข้าพเจ้าคิดว่า เหตุผลหลักคือ ชาวพุทธไม่ได้ตระหนักว่า คำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องที่หมายถึงโลกของธรรมชาติแท้ๆ ไม่ใช่โลกที่ถูกสร้างแบบเทียมๆ โดยเทคโนโลยี สิ่งที่ท้าทายชาวพุทธคือ จะนำหลักการของพุทธศาสนาที่สอนในยุคสมัยที่เศรษฐกิจสังคมยังเป็นแบบชุมชนท้องถิ่นเล็กๆที่ประชาชนอยู่อย่างเรียบง่ายและมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ไปประยุกต์ใช้ในระบบโลกาภิวัตน์ ที่มีความใหญ่โตสลับซับซ้อน และคนมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันได้อย่างไร

แนวคิดหนึ่งของพุทธศาสนาที่อาจถูกตีความแบบผิดๆได้ง่ายคือหลักว่าด้วยความพึ่งพาซึ่งกันและกัน การเป็นเอกภาพของสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่ง เครือข่ายที่เชื่อมโยงกันอย่างไม่มีสิ่งใดจะอ้างว่าตนอยู่อย่างแยกเป็นอิสระหรือดำรงอยู่อย่างสถิต (หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง) ได้ พวกเราบางคนตกหลุมพรางว่าแนวคิดเรื่องการพึ่งพาซึ่งกันและกันนี้สอดคล้องกับแนวคิด “หมู่บ้านโลก” และ “โลกไร้พรมแดน” ของการค้าเสรี ถ้อยคำหรูๆเช่น “สมานฉันท์” “การผนวกเข้าด้วยกัน” “การสามัคคีกัน” ไม่ควรทำให้เราเชื่อว่า ระบบโลกาภิวัตน์ทำให้เราพึ่งพากันและกัน หรือพึ่งพาโลกธรรมชาติมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้เราต้องพึ่งพาโครงสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่เทคโนโลยี และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพิ่มขึ้น นี่ไม่ใช่การพึ่งพากันและกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ได้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าเสนอไว้แต่อย่างใด

หลักคิดของศาสนาพุทธเรื่อง ความเป็นอนิจจัง (Impermanence) ก็อาจจะถูกตีความแบบบิดเบือนได้ นอกเสียจากเราจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างกระบวนการของชีวิตและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก คำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความเป็นอนิจจังของโลกธรรมชาติ สอนให้เรายอมรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในโลกแห่งชีวิต วงจรของชีวิตและความตาย ความเป็นอนิจจังของทุกชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงที่ระบบโลกาภิวัตน์สร้างขึ้นนั้น กลับสร้างอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธความเป็นอนิจจังของธรรมชาติ

 

โครงการขนาดยักษ์เช่น โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน และทางด่วน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรายอมรับ หรือการตกแต่งพันธุกรรมของยีนของเทคโนโลยีชีวภาพก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์มาจากโลกทัศน์ของนายทุนแบบที่ต้องการเป็นนายของธรรมชาติ โลกทัศน์ที่มองว่าชีวิตเป็นสิ่งที่สถิต (หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง) แบ่งเป็นส่วนๆ และพวกนายทุนที่มีอำนาจครอบโลกสามารถจะทำอย่างไรก็ได้ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของวัฒนธรรมผู้บริโภคที่ขึ้นต่อเทคโนโลยี

แนวคิดของศาสนาพุทธอีก 2 ข้อ ที่ถูกตีความอย่างผิดๆเพื่อไปสนับสนุนความเมินเฉยต่อปัญหาทางสังคม คือ เรื่องกรรม และยาพิษ (กิเลส) 3 อย่าง – ความโลภ เกลียด หลง

มีแนวโน้มที่จะใช้หลักกฎแห่งกรรมไปอธิบายช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนรวยและคนจนว่า การที่คนบางคนรวยเป็นเพราะเขาเคยทำความดีมาในชาติก่อน แต่เมื่อเราตรวจสอบให้ลึกลงไปเราจะพบว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม มีสาเหตุมาจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เปิดช่องให้คนบางคนรวยขึ้นจากความทุกข์ยากของคนๆอื่น มากกว่าเป็นเรื่องกรรม (การกระทำ)ในชาติก่อนซึ่งพิสูจน์ไม่ได้

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเปิดช่องให้คนบางคนที่มีทุน มีความรู้และโอกาสมากกว่า ร่ำรวยได้มากกว่าคนอื่นๆ คนร่ำรวยที่อยู่ในเมืองและใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก มักขาดปัญญาและความเมตตาพอที่จะมองและเข้าใจสภาพความเป็นจริงของโลกที่ว่า มีคนจำนวนมากที่มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น อดอยาก คนรวยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยบริโภคทรัพยากรของโลกมากกว่าคนทั่วไปถึงสิบเท่า และการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินความพอเพียงเหล่านั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อสรรพสิ่งในโลกอย่างที่ไม่อาจคำนวณค่าได้

คนร่ำรวยและคนชั้นกลางทั้งในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา ต้องใช้ปัญญาและความกล้าหาญในการไปวิเคราะห์ให้เห็นถึงความจริงว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้สังคมแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เกิดความไม่เสมอภาค และการทำลายล้างทั้งสภาพแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม ที่เป็นผลเสียต่อชาวโลกทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหมด ที่จะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจชนิดนี้

ยาพิษหรือกิเลสทั้ง 3 – ความโลภ โกรธ หลง มีโอกาสเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ทุกคนมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป สังคมบางสังคมพยายามลดทอน 3 สิ่งนี้ แต่บางสังคมกลับส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ วัฒนธรรมบริโภคนิยมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเป็นตัวการสำคัญในการฟูมฟัก ความโลภ โกรธ หลง ทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับสังคม บรรษัทต่างๆใช้เงินปีละ 450,000ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในการโฆษณาให้ประชาชนทั่วโลกรู้สึกว่าจำเป็นต้องบริโภคสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยรู้จักเลย เช่น โคคาโคล่า และตุ๊กตาพลาสติกแรมโบ้ถือปืนกลมือ

ในสังคมยุคชุมชนพึ่งตนเอง ประชาชนมีวัฒนธรรมการกินอยู่แบบพอเพียง โดยไม่มีปัญหาความโลภอยากได้สินค้าใหม่ๆแปลกๆที่จริงๆแล้วชีวิตพวกเขาสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้มัน ดังนั้น เราจึงควรตระหนักว่า ความโลภในเรื่องสินค้าต่างๆนั้น ส่วนใหญ่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นผู้สร้างขึ้น หรือกระตุ้นให้มนุษย์หลงใหลในเรื่องนี้มากขึ้น กระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่หลั่งไหลอย่างเชี่ยวกรากกรากเป็นปราการที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องมนุษย์ควรลดละโลภ โกรธ หลง ที่มุ่งให้มนุษย์พ้นทุกข์และสร้างสังคมที่มีความสุขได้

ศาสนาพุทธสามารถช่วยเราในสถานะที่ยากลำบากได้ ด้วยการสนับสนุนให้เรามีเมตตาและใช้วิธีการแบบสงบสันติต่อทั้งตัวเราเองและผู้อื่น หากเราเข้าใจว่า ทั้งปัญหาสังคมแตกแยกปัญหามลภาวะ ปัญหาทางจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากตัวระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ศาสนาพุทธจะช่วยให้เราพินิจพิจารณาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกและความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้อย่างมีสติ

คำสอนของศาสนาพุทธจะช่วยให้เราเข้าใจว่า วิถีชีวิตของเราในโลกทุนนิยมสมัยใหม่จะมีผลกระทบต่อคนอื่นและสภาพแวดล้อมของโลกอย่างสลับซับซ้อนได้อย่างไรและสนับสนุนให้เรามีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในเรื่องของความเป็นไปของชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง

ต่อเมื่อมนุษย์ตระหนักว่า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่สร้างปัญหาความทุกข์ยากให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เราจึงจะสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะช่วยปลดปล่อยพวกเราทั้งหมด ออกจากโครงสร้างที่เลวร้ายและต่อต้านชีวิต ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

ศาสนาพุทธ ที่มีแนวทางในการมองชีวิตและสังคมอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวมจะช่วยให้เรามองเห็นว่า อาการของปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมทั้งหลายในโลกนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและกัน และช่วยให้เราเข้าใจว่า วิกฤติต่างๆที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มีรากเหง้ามาจากการบงการโดยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ความเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนของปัญหาต่างๆ จะช่วยให้เราไม่ต้องสูญเสียพลังงานของเราในการตามแก้เพียงระดับอาการเฉพาะหน้าของวิกฤติ และช่วยให้เราเพ่งไปที่การแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของมันอย่างตรงเป้าได้มากกว่า

คนที่มองปรากฏการณ์และปัญหาต่างๆอย่างแยกส่วนแบบผิวเผิน จะมองเห็นว่าปัญหาความรุนแรงระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ มลภาวะในอากาศและน้ำ ปัญหาครอบครัวแตกแยก และปัญหาความแตกสลายทางวัฒนธรรม เป็นปัญหาคนละปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่คนที่มองได้อย่างเป็นระบบองค์รวม จะมองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆมากมาย ที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจจะทำให้เรารู้สึกท้อถอยได้ในบางครั้ง แต่การเข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เป็นปัญหากลุ่มเดียวกัน จะทำให้เราสามารถรวมพลังกันในการหายุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหารากเหง้าได้ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพมากกว่า การไปไล่ตามแก้ไขตามอาการของปัญหาทีละปัญหา

ในระดับโครงสร้าง ปัญหาพื้นฐานคือขนาดของระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีผลต่อความสัมพันธ์และวิธีคิดของคน การที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมีขนาดที่แผ่ขยายออกไปใหญ่โตมาก เป็นตัวการที่ทำให้เรามองไม่เห็นว่าการกระทำของเราไปมีผลกระทบต่อคนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตรอย่างไร เช่น ผู้ถือหุ้นหรือคนที่ทำงานในสำนักงานใหญ่ในกองทุนของบรรษัทข้ามชาติที่ไปลงทุนตั้งสาขาตั้งโรงงานและค้าขายเพื่อหากำไรในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้รับรู้หรือไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการขูดรีดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ขูดรีดแรงงานและผู้บริโภค ที่เกิดขึ้นในที่ที่ห่างไกลออกไป และพวกเขามองเห็นแต่เงินปันผลหรือกำไรที่พวกเขาจะได้รับเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่แผ่ขยายใหญ่โตมาก ทำให้เราต้องมีชีวิตอยู่ในความโง่เขลา ขาดปัญญา และขาดความมีเมตตาต่อเพื่อมนุษย์

ในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก คนในชุมชนยังสามารถมองเห็นผลของการกระทำของเขาและมีความรู้สึกรับผิดชอบได้มากกว่า โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก ช่วยจำกัดไม่ให้คนๆหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป แม้เขาจะเป็นผู้นำชุมชน เป็นนักธุรกิจคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อคนนับร้อยหรือนับพันในชุมชน แต่เขาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่เขารู้สึกได้และสมาชิกคนอื่นๆรู้สึกได้

แต่ผู้นำของประเทศขนาดใหญ่หรือผู้บริหารของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ผู้มีอำนาจเหนือคนหลายสิบหลายร้อยล้านคน ที่เขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสโดยตรง จะมีอำนาจและใช้อำนาจในการบริหารจัดการที่ต่างออกไปมาก เขาจะทำเพื่อหวังผลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ระยะสั้น) ของเขาและพรรคพวก มากกว่าจะคำนึกถึงผลกระทบต่อผู้คนซึ่งเขาไม่เห็นหน้าและไม่ได้สัมผัสได้โดยตรง

ขนาดของประเทศและขนาดของบริษัทขยายใหญ่โตมาก จนผู้นำต้องตัดสินใจตามหลักการทางเศรษฐกิจ/ธุรกิจ ในนามของความเจริญเติบโต โดยไม่สนใจต่อผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้นกับสมาชิกแต่ละคนในสังคม และโลกสิ่งมีชีวิตอื่นแต่อย่างใด และโดยละเลยหลักการของศาสนาและหลักการของธรรมชาติที่ว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน และควรจะเคารพและเอื้ออาทรต่อกันและกัน

ในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก คนจะตระหนักถึงกฎแห่งการพึ่งพากันและกัน และกฎความเป็นอนิจจังของสิ่งมีชีวิต (ตามคำสอนของศาสนาพุทธ) ได้ง่ายกว่าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ใหญ่โตมาก คนในชุมชนขนาดเล็ก จะเห็นผลการกระทำของคนแต่ละคนได้ง่ายและรู้สึกรับผิดชอบต่อผลแห่งการกระทำของเขาโดยตรง และทำให้เขาปรับตัวให้เข้ากับพลวัตรของสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนในระบบเศรษฐกิจสังคมขนาดใหญ่มากและเนื่องจากในชุมชนขนาดเล็ก ผลของการกระทำของสมาชิกคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะเห็นได้ชัดกว่า ดังนั้นการตัดสินใจใดๆของคนในชุมชนจึงมีแนวโน้มที่จะต้องใช้ปัญญาและความมีเมตตามากกว่าในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ภาระหน้าที่ของเราในฐานะชาวพุทธคือ เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายใหญ่โตจนเป็นตัวสร้างปัญหานี้ เพื่อรื้อฟื้นและสร้างระบบโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเองได้ของชุมชนขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ เพื่อจะทำให้มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตบนพื้นฐานของคำสอนของศาสนาพุทธในเรื่องหลักแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และหลักความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งได้

แม้ภาระหน้าที่นี้จะเป็นงานที่ยากลำบาก แต่ความจริงแล้ว การที่มนุษย์เราพยายามแข่งขันกันเพื่อขยายขนาดของระบบโลกาภิวัตน์ไปอย่างไม่มีขอบเขตนั้น เป็นเรื่องที่เป็นได้ยากกว่า ความใฝ่ฝันของระบบทุนนิยมโลกที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัด เป็นความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงไปได้ เพราะว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกำลังทำลายความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากฐานที่มนุษย์เราต้องพึ่งพา นั่นหมายถึงระบบทุนนิยมโลกที่เน้นการเติบโตเพื่อกำไรของนายทุนส่วนน้อย กำลังทำลายตัวระบบเองและทำลายมนุษยชาติทั้งมวล

เหตุผลสำคัญที่เราควรเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมให้มีขนาดเล็กลงคือ เพื่อที่เราจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างแท้จริง ชุมชนขนาดย่อมแต่ละชุมชนจะมีลักษณะเฉพาะในเรื่องสภาพแวดล้อม ผู้คน วัฒนธรรม ของตนเอง ชุมชนขนาดย่อมที่พึ่งตนเองได้ จะทำให้เกิดระบบการบริหารและตัดสินใจที่ยืดหยุ่นตามความเหมาะสมได้มากกว่า ไม่ต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดมากและสมาชิกในชุมชนจะมีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ มากกว่าในระบบเศรษฐกิจสังคมขนาดใหญ่

ในระบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งประชาชนถูกปกครองโดยรัฐบาลกลางที่เข้มงวดตายตัว และโดยระบบตลาดที่ผันผวนได้ง่าย ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนเล็กๆที่ไร้อำนาจและยอมจำนนตามแต่รัฐบาลและระบบตลาดจะนำพาไป แต่ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีการกระจายอำนาจและการจัดการทรัพยากรให้ชุมชนขนาดย่อมพึ่งตนเองได้ ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการบริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะเรื่องได้อย่างเอาการเอางานมากกว่า

การกระจายอำนาจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนขนาดย่อม ผ่านองค์กรเช่น สภาชุมชน สหกรณ์ องค์กรชุมชนประเภทต่างๆจะก่อให้เกิดผลดีทางด้านสภาพแวดล้อม สังคม รวมทั้งทางด้านจริยธรรมได้มากกว่าระบบเศรษฐกิจโลกที่รวมศูนย์อำนาจที่รัฐบาลและบรรษัทขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลทั่วโลกก็ยังคงดำเนินนโยบายส่งเสริมระบบโลกาภิวัตน์ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจ โดยอ้างว่า เพื่อให้โลกเป็น “หนึ่งเดียวกัน” และ เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกัน แบบพึ่งพากันและกันเพิ่มขึ้น แต่ความจริงคือ เป็นการถูกครอบงำโดยศูนย์กลาง และการต้องพึ่งพาระบบทุน เทคโนโลยีและตลาดที่นายทุนส่วนน้อยควบคุม

ภาระหน้าที่ขั้นแรกของชาวพุทธคือ การให้การศึกษาตัวเองและผู้อื่น เพื่อที่จะไม่หลงกลจนไปสับสนกับการตีความคำว่า “ เป็นหนึ่งเดียวกัน” และ “พึ่งพากันและกัน” โดยระบบโลกาภิวัตน์ซึ่งแตกต่างจากการตีความศาสนาพุทธอย่างขาวกับดำ ระบบโลกาภิวัตน์เป็นระบบที่ส่งเสริมความโลภและความรุนแรง ในขณะที่ศาสนาพุทธส่งเสริมการละความโลภและสนับสนุนสันติวิธี ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกัน ต่อเมื่อเราเข้าใจความแตกต่างของ 2 แนวคิดนี้ เราจึงจะสามารถร่วมมือกับคนอื่นๆในการที่จะผลักดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งรวมทั้งการรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับระหว่างประเทศด้วย เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ในปัจจุบันมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงระดับระหว่างประเทศที่ควรทำคือ รัฐบาลประเทศต่างๆต้องจัดการประชุมเพื่อเจรจาเรื่องการค้าระหว่างประเทศกันใหม่อย่างเปิดเผย โดยคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ แทนการประชุมตกลงกันอย่างลับๆ ที่เอื้อประโยชน์บรรษัทข้ามชาติ การที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้ เราต้องช่วยกันทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าในประเทศต่างๆ เกิดความตระหนักถึงสภาพสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและการทำลายล้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก เพื่อที่ประชาชนจะได้ตื่นตัวไปผลักดันให้รัฐบาลในประเทศของตนเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ จากการลงทุนพึ่งการค้าระหว่างประเทศมากไปสู่การพัฒนาแบบพึ่งตนเองในระดับประเทศ มีการกระจายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และอย่างคำนึงถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้น

การจะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ ดูเป็นงานที่ยากลำบากอย่างแสนสาหัส พวกเราหลายคนเริ่มคิดว่า เราคงไม่มีแรงมากพอที่จะไปผลักดันผู้นำทางการเมืองได้ และหลายคนเริ่มท้อแท้ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีความหมาย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องจำไว้ว่า ในระยะยาวแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครเลย แม้แต่ผู้นำทางการเมืองและผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติ ที่วันนี้เป็นผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ก็ตาม

เพราะนอกจากโลกาภิวัตน์จะทำลายความสมดุลของสภาพแวดล้อม ทำลายความสมดุล ความมีเสถียรภาพของประเทศ ชุมชนและชีวิตทั้งหลายแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติผู้โยกย้ายทุน และเลี่ยงภาษีได้เก่ง ยังทำให้รัฐบาลต่างๆมีอำนาจลดลง และเก็บภาษีจากบรรษัทได้ลดลง ซึ่งมีผลให้ผู้นำทางการเมืองในประเทศต่างๆมีอำนาจลดลงด้วย ระบบโลกาภิวัตน์ซึ่งพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีสูง ยังทำให้แรงงานทุกระดับ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของบรรษัท เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องการมีงานทำเพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้นเราจึงต้องระดมกำลังกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ จากระบบรวมศูนย์อำนาจของทุนขนาดใหญ่ เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุนระหว่างประเทศ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นการผลิตอาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นๆ เป็นกิจกรรมที่วางแผนและบริหารจัดการกันในระดับชาติและระดับชุมชนเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ เริ่มทำได้บางส่วนในบางประเทศและบางชุมชน เห็นได้ชัดว่ามีผลดีในการทำให้เกิดการจ้างงานและระบบตลาดที่เสรีและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และนำภาษีไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมได้มากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ถูกทางและมีความเป็นไปได้

ในฐานะชาวพุทธ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของระบบทุนนิยมโลกที่มีลักษณะทำลายล้าง เรามีทางเลือกน้อยมาก นอกจากต้องตัดสินใจเข้าไปผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ศาสนาพุทธช่วยให้เรามีทั้งพันธกิจและเครื่องมือ ที่จะท้าทายโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ซึ่งกำลังสร้างความทุกข์ยากไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง หากเราไปสนับสนุนโครงสร้างของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า และอยู่ตรงกันข้ามกับชีวิต เราคงไม่สามารถอ้างว่าเราเป็นชาวพุทธได้

 

 

ถ้าคุณคิดเพียงว่า คุณมาเพื่อที่จะช่วยพวกเรา คุณกลับไปเมืองของคุณจะดีกว่า

แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณมาเพื่อที่จะช่วยตัวคุณเองด้วย ถ้าอย่างนั้น เราก็มาทำงานร่วมกันได้”

ผู้หญิงชาวพื้นเมือง (อบอริจิน)ในออสเตรเลีย

 

 

 

 

1 แปลเรียบเรียงและขยายความ จาก Helena Norberg – Hodge,Buddhism In The Global Economy ตีพิมพ์ ในนิตยสาร Resurgence April 1997 ผู้เขียนเป็นครู นักคิดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวีเดน ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองลาดัค ชุมชนเกษตรแบบดั้งเดิมในอินเดียด้านติดกับธิเบตมากว่า 20 ปี