RSS

บทที่ 5 ปัญหาการพัฒนาครู อาจารย์

01 มี.ค.

บทที่ 5 ปัญหาการพัฒนาครู อาจารย์

บทนี้วิเคราะห์เรื่องจำนวนและปัญหาการขาดแคลนครูอาจารย์ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ปัญหาของครูอาจารย์ในด้านต่าง ๆ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ ซึ่งควรถือว่ามีความสำคัญอันดับที่ 1 ถ้าต้องการทำให้การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจริง

5.1 จำนวนครูอาจารย์ อัตราส่วนนักเรียนต่อครูและภาระงาน

ครูอาจารย์ทั่วประเทศ มีทั้งหมด 716,353 คน ในปีการศึกษา 2550 ทำงานอยู่ในสถาบันการศึกษา จำนวน 38,509 แห่ง ดูแลนักเรียน นิสิต นักศึกษา 15.22 ล้านคน1เปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2549 ครูอาจารย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายหมื่นคน ขณะที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศใกล้เคียงกับปีการศึกษา 2549 ที่เคยมี 15.24 ล้านคน ถ้าพิจารณาสถิติย้อนหลังไป 6-7 ปีถึงปี 2544 จำนวนครูอาจารย์อยู่ที่ราว 6-6.5 แสนคน โดยตั้งแต่ปี 2544 แต่ละปีมีแนวโน้มลดลงจนถึงปี 2549 เนื่องจากมีครูอาจารย์เกษียณและขอเกษียณก่อนกำหนดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาหลายหมื่นคนและโรงเรียนได้อัตราทดแทนน้อยมาก (ราว 20%) ขณะที่จำนวนนักเรียน นักศึกษาเพิ่มขึ้น

ปัญหาขาดแคลนครูอาจารย์ทุกสังกัดทุกระดับ ในปี 2549 คาดว่ามีราว 7-8 หมื่นคน ในปี 2550-51 มีการเพิ่มอัตราครูรวมทั้งอัตราจ้างได้ส่วนหนึ่ง แต่ครูในสาขาขาดแคลน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทยก็ยังมีอยู่ และมักใช้วิธีให้ครูไม่ตรงวุฒิไปสอนแทน ปัญหาขาดแคลนครูส่วนหนึ่งเกิดจากการกระจายครูไม่เป็นธรรม โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทได้รับงบประมาณน้อย และไม่ค่อยมีครูอยากไปอยู่ โรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ในเมืองมักจะมีครูอาจารย์มากกว่า แต่ก็มีปัญหาบางโรงเรียนมีครูมาก บางโรงเรียนมีครูน้อยและขาดแคลนครูอาจารย์ในโรงเรียนในเมืองบางโรงเรียน

อัตราส่วนนักเรียนต่อครู ถ้าคิดเฉลี่ยแบบทั่วประเทศ เป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าในประเทศกลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรม OECD หมายถึงว่า ครูไทยหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนจำนวนมากเกินไป แต่ก็ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาปานกลาง อย่างไรก็ตามในระดับมัธยม ครูมัธยมไทย 1 คน จะดูแลนักเรียนจำนวนมากกว่าครูมัธยมในประเทศทั้งOECD และประเทศพัฒนาปานกลาง2 รวมทั้งงบพัฒนาชั้นมัธยมก็ค่อนข้างต่ำ ทำให้การจัดการศึกษาชั้นมัธยมในประเทศไทยมีโอกาสที่จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าประเทศอื่น

ปัญหาอีกข้อหนึ่งซึ่งต้องการสำรวจอย่างละเอียด คือ มีครูอาจารย์ถูกยืมตัวไปช่วยราชการอื่น และมีครูอาจารย์ที่ทำหน้าที่บริหารโดยไม่ได้สอนเลยหรือสอนบ้างนิดหน่อย จำนวนมากพอสมควร แต่ในสถิติคงนับว่าเป็นครูทั้งหมด ทำให้อัตราส่วนนักเรียนต่อครูของไทยเมื่อเฉลี่ยทั่วประเทศดูดีกว่าความเป็นจริง นักเศรษฐศาสตร์ที่ถนัดศึกษาปัญหาเชิงปริมาณชอบให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีครูต่อนักเรียนมากไป น่าจะลดการจ้างครูลงได้บ้างเพื่อจะได้มีงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นได้เพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ปัญหาครูขาดแคลนในสถานศึกษาจำนวนมากมีอยู่จริง และปัญหาชั้นเรียนใหญ่เกินไป เช่น โรงเรียนมีชื่อเสียงในเมืองมีนักเรียนชั้นละ 50-60 คน ซึ่งทำให้ครูได้ดูแลนักเรียนได้ไม่ทั่วถึงสอนได้อย่างไม่เกิดประสิทธิภาพเต็ม เป็นปัญหาที่มีอยู่จริง ขณะที่การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศไทยส่วนที่เป็นงบเงินเดือน ค่าตอบแทน ครูอาจารย์ก็มีสัดส่วนสูงจริงเช่นกัน ประเด็นนี้นับว่าเป็นปัญหาการขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง ซึ่งควรจะได้มีการสำรวจวิจัยสภาพความเป็นจริงอย่างละเอียดมากกว่าข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวม

การศึกษาเปรียบเทียบสภาวะการศึกษาไทยในเวทีโลกยังพบว่า ครูไทยมีชั่วโมงสอนต่อสัปดาห์ราวสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง มากกว่าครูในประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ และครูไทยอัตราเงินเดือนต่ำกว่าครูประเทศอื่น ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม และกลุ่มประเทศพัฒนาปานกลางระดับใกล้เคียงกับไทย ในแง่การผลิตและควบคุมคุณภาพครูหลายประเทศมีกำหนดเกณฑ์การผลิตครูที่มีคุณภาพมากกว่าของไทย เช่น ต้องผ่านการทดลองปฏิบัติการสอน ภายใต้การดูแลของครูอาวุโสที่ชำนาญการ ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ต้องสอบใบอนุญาตและสอบวิชาชีพครู ผ่านการทดลองปฏิบัติงานและผ่านเกณฑ์การฝึกอบรมครูใหญ่3 ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจมีส่วนทำให้ครูไทยสอนได้อย่างไม่เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ แต่ก็คงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วยเพราะบางประเทศ เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ ครูก็ได้เงินเดือนค่อนข้างน้อยและทำงานหนัก แต่พวกเขามีความภูมิใจในอาชีพครูซึ่ง 2 ประเทศนั้นถือว่าเป็นอาชีพที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศชาติสูง ดังนั้นพวกเขาซึ่งมีแรงจูงใจด้านความรักชาติและด้านการได้รับการยกย่องจากสังคมจึงตั้งใจสอน และสอนได้ผลดี

5.2 ปัญหาและแนวทางแก้ไขในการพัฒนาครูอาจารย์

ครูอาจารย์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย ซึ่งวัฒนธรรมการเรียนรู้เน้นการฟังบรรยายจากครูอาจารย์มากกว่าที่นักเรียน นักศึกษาจะรู้จักอ่านศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ทำให้คุณภาพในการสอนของครูอาจารย์มีผลสัมฤทธิ์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษามาก

1) ปัญหาการจ้างครูอาจารย์ที่ไม่มีคุณภาพมากเท่าที่ควร การขยายตัวเชิงปริมาณของการศึกษาในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการขยายการจ้างครูอาจารย์ โดยไม่ได้คัดเลือกอย่างพิถีพิถันในเรื่องความเก่ง นิสัยใจคอ คุณธรรม ความสามารถในการสอน มักจะเน้นแค่ว่าขอให้มีปริญญามาแสดง จบจากไหน เกรดเท่าไหร่ ไม่ได้พิจารณา เนื่องจากการศึกษาอุดมศึกษาก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากมีคนจบปริญญาตรี ปริญญาโทเพิ่มขึ้นมาก โดยมีคุณภาพแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ คือคุณภาพต่ำลง

จากสถิติในตารางที่ 1 จะเห็นว่าได้มีครูอาจารย์ทั้งประเทศส่วนใหญ่ร้อยละ 72.6 จบปริญญาตรี ที่จบปริญญาโท ปริญญาเอกสัดส่วนต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่อาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะจบปริญญาเอก และแม้ในระดับมัธยมศึกษาประเทศเหล่านั้นก็มักใช้อาจารย์ที่จบระดับปริญญาโทเป็นสัดส่วนสูง ประเทศไทยยังมีครูทั่วประเทศที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี 41,780 คน และไม่ระบุวุฒิอีก 43,305 คน (ดูตารางที่ 21) แม้ว่าบางสาขาวิชาที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาตะวันออกอาจจะต้องการครูที่เล่าเรียนมาแบบดั้งเดิมที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีก็ได้ แต่ครูพิเศษเหล่านี้คงมีน้อย ปัญหาครูมีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีราว 4-5 หมื่นคนนี้มีมากว่าสิบปีแล้ว และปัจจุบันการศึกษาเปิดกว้างมากรวมทั้งมหาวิทยาลัยจะเปิดให้เทียบความรู้จากประสบการณ์ได้ด้วย ถ้าครูที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีเหล่านี้ไม่ขวนขวายที่จะศึกษาต่อ ก็ควรมีการประเมินคุณภาพพวกเขาเหล่านั้นอย่างจริงจังได้แล้ว

แม้แต่ครูที่มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไปก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทางการศึกษา (สมศ.) ให้สัมภาษณ์ว่ามหาวิทยาลัยในระยะหลัง รับผู้สมัครอาจารย์ที่มีเกรดเฉลี่ย 2.5 หรือต่ำกว่า ซึ่งในอดีตมหาวิทยาลัยไม่เคยรับคนที่มีเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.0 มาเป็นอาจารย์ สำนักคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติมีทุนให้อาจารย์ไปเรียนต่อปริญญาเอกจำนวนมาก แต่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่มีคุณสมบัติพอที่จะสมัครรับการคัดเลือกเข้ารับทุน เพราะผลการเรียนในระดับปริญญาตรีของอาจารย์เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.04

ตารางที่ 21 ร้อยละของครู-อาจารย์ทั้งหมดที่สอนในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน

จำแนกตามวุฒิการศึกษา ปีการศึกษา 2550

วุฒการศึกษา

จำนวนครูทั้งหมด

สัดส่วนวุฒิการศึกษาของครู

จำนวนครู-อาจารย์

สัดส่วนครู

รัฐ

เอกชน

รัฐ : เอกชน

รวม

716,353

100.0

574,833

141,520

80 : 20

ต่ำกว่าปริญญาตรี

ปริญญาตรี

ประกาศนียบัตรยบัณฑิต

ปริญญาโท

ปริญญาเอก

ไม่ระบุ

41,788

520,048

1,989

94,293

14,930

43,305

5.8

72.6

0.3

13.2

2.1

6.0

17,474

421,130

255

83,213

12,733

40,028

24,314

98,918

1,734

11,080

2,197

3,277

42 : 58

81 : 19

13 : 87

88 : 12

85 : 15

92 : 8

ที่มา กลุ่มพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศ สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ

หมายเหตุ : อาจารย์ปริญญาเอกในสถานศึกษาของเอกชน ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ที่เกษียณมาจากมหาวิทยาลัยรัฐ

แล้ว บางส่วนก็ทำงานบางเวลา

ปัญหาสำคัญที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัย คือการรับครูอาจารย์แบบวิ่งเต้นเล่นพรรคเล่นพวก และการทุจริตในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ เช่นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศกร อรรณพพร) เปิดเผยว่าได้รับการร้องเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าในการสอบบรรจุครูสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการเรียกเก็บเงินครั้งละ 200,000 บาท เพื่อแลกกับการเข้าไปเป็นครู ซึ่งจะทำให้ครูเหล่านั้นมีหนี้สินตั้งแต่เริ่มชีวิตการเป็นครู5

สำนักเทคโนโลยีข้อมูลและการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาเปิดเผยว่า มีการพบเครือข่ายทุจริตการโกงสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ โดยมีทีมงานใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ช่วยเฉลยข้อสอบให้ มีการโกงทำนองนี้ในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง และเข้าใจว่าจะทำมานานแล้วด้วย6 ข่าวนี้แม้จะกล่าวถึงหน่วยงานอื่นมากกว่ากระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการทุจริตทำนองเดียวกันในกระทรวงศึกษาธิการได้ด้วย เพราะเวลาสอบแข่งขันเข้ารับราชการครูแต่ละครั้งนั้นมีผู้สมัครสอบมากกว่าตำแหน่งที่รับได้หลายสิบเท่ามาก และระบบราชการไทยนั้นถ้าใครเข้าไปได้แล้วก็อยู่ได้ถึงเกษียณ 60 ปี โดยไม่มีระบบการตรวจสอบประเมินผลเพื่อให้ออก ทำให้คนพร้อมจะลงทุนพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เข้ารับราชการให้ได้ปัญหานี้ไม่เพียงแต่สะท้อนว่าผู้ที่เข้ามาเป็นครูอาจารย์จำนวนหนึ่งไม่มีทั้งคุณภาพและจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนว่าระบบการศึกษาที่ควรพัฒนาความรู้และจริยธรรมของผู้สำเร็จการศึกษาและระบบการคัดเลือกคนเข้ารับราชการของไทยนั้นล้มเหลวมาก

2) ปัญหาการขาดแคลนครูในเชิงปริมาณ เป็นปัญหาที่สะสมมาหลายปี โรงเรียนกว่าร้อยละ 60 รายงานว่าประสบการปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งคาดว่ารวมทั้งประเทศราว 70,000 คน(ปี 2549/2550) เนื่องจากครูอาจารย์เกษียณไปในช่วงปี 2543-2547 และเข้าโครงการเกษียณก่อนอายุรวม 5 รุ่น รวมแล้วหลายหมื่นคน แต่กระทรวงศึกษาได้อัตราคืนมาจ้างครูใหม่ในช่วง 5 ปีได้เพียงราว 1 หมื่นอัตรา รวมทั้งวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบให้จ้างครูอัตราจ้างแทนการบรรจุเป็นข้าราชการประจำเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ครูอัตราจ้างจะมาทำงานชั่วคราวลาออกมากเพราะไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพ แม้ว่าในปี 2550-2551 กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถจัดสรรอัตราครูเพิ่มเติม เพื่อทดแทนอัตราครูที่เกษียณไปเป็นสัดส่วนสูงขึ้น รวมทั้งใช้มาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การรวมชั้นเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนครู แต่ปัญหาการขาดแคลนครูเชิงปริมาณก็ยังดำรงอยู่ในโรงเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะครูสาขาวิชาขาดแคลน ส่วนหนึ่งเนื่องจากระบบการบริหารจัดการทำให้ครูนิยมอยู่ในโรงเรียนใหญ่ในเมืองและโรงเรียนเหล่านี้มีอำนาจต่อรองในการขออัตราครูได้มากกว่า ทำให้โรงเรียนเล็กในชนบทมักจะขาดแคลนครูมากกว่า

สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย น่าจะมีปัญหาขาดแคลนหรืออัตราส่วนครูต่อนักศึกษาลดลงเช่นกัน เพราะในรอบ 10 ปีตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 ถึงพ.ศ.2550 มีการเปิดหลักสูตรใหม่และรับนักศึกษาเพิ่มราวเท่าตัว แต่จำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเพิ่มของนักศึกษามาก7

3) ปัญหาการขาดแคลนครูที่มีความสามารถในการสอนเฉพาะกลุ่มสาระที่สำคัญเช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูที่สอนไม่ตรงวุฒิมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทในปี 2547 มีครูสอนไม่ตรงวุฒิราว 20,000 คน นอกจากนี้แล้วปัญหาว่าครูได้รับการฝึกอบรมมาแบบเก่า ไม่ได้รักการอ่านการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้และทักษะในการสอน ครูอาจารย์จำนวนมากคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ประยุกต์ใช้ไม่เป็น ได้แต่สอนตามตำราให้นักเรียนท่องจำไปวันๆ ดังนั้นการเรียกร้องเรื่องการปฎิรูปการศึกษาจากบนลงล่างให้ครูสอนให้นักเรียนใฝ่เรียนรักการอ่านรู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น ไม่ใช่เน้นแต่การท่องจำ จึงเป็นเพียงการเรียกร้องในเชิงหลักการหรืออุดมคติ โดยไม่คำนึงข้อเท็จจริงว่าในสภาพที่ครูอาจารย์จำนวนมากไม่ได้ใฝ่รู้ ไม่รักการอ่าน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ไม่เป็น แล้ว การที่จะฝึกอบรมระยะสั้นและหรือบอกให้พวกครูอาจารย์ไปสอนให้นักเรียนทำในสิ่งที่ครูเองทำไม่เป็นนั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จได้ยาก

4) ปัญหารัฐบาลไทยไม่สนใจการคัดเลือกคนเก่งมาเรียนวิชาชีพครู และสร้างแรงจูงใจ เช่นให้เงินเดือนสูง ให้มีบรรยากาศการทำงานที่ส่งเสริมความรู้ความสามารถ มีโอกาสพัฒนามีความก้าวหน้าตามความสามารถส่วนตัว โดยไม่ต้องประจบหรือเล่นพรรคเล่นพวก เปรียบเทียบประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย การฝึกหัดครูของไทยขยายตัวแต่ในเชิงปริมาณ และสอนกันแบบเดิม ๆ ย่ำเท้าอยู่กับที่ ผู้มาเรียนครูมักมีคะแนนปานกลางและต่ำ คนเก่ง ๆ ไม่สนใจจะมาเรียนเพื่อเป็นครูเพราะเห็นว่าเงินเดือนต่ำ และเป็นอาชีพซ้ำซาก ไม่ท้าทาย ไม่ก้าวหน้าถ้าเทียบกับงานภาคธุรกิจเอกชนทำให้คนเก่งหรือคนที่มีความรู้ในสาขาขาดแคลนลาออกไป หรือขอเกษียณก่อนกำหนดไปทำอาชีพอื่น ขณะที่คนไม่เก่งที่หางานที่อื่นที่ดีกว่าได้ยากก็คือกลุ่มคนที่จะคงอยู่ต่อไปแบบทำงานหาเลี้ยงชีพไปวัน ๆ โครงสร้างเช่นนี้คือการส่งเสริมให้ครูโดยรวมมีคุณภาพลดลง

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็น ครูไทยที่คนไทยอยากได้พบว่า สิ่งที่คนไทยอยากให้ครูไทยมีและเป็นที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับแรกคือ 1) อยากให้ครูมีจรรยาบรรณในความเป็นครู 2) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ 3) ให้ความเอาใจใส่กับเด็ก ซึ่งแสดงว่าประชาชนมองว่าครูยังขาดแคลนใน 3 เรื่องนี้อยู่มาก8

ครูอาจารย์เองไม่ได้ภูมิใจ ไม่ได้มีความสุขในด้านของตนเอง เช่น คิดว่าเป็นงานหนักซ้ำซากไม่ก้าวหน้า ได้ค่าตอบแทนต่ำ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงานและการพัฒนาตนเอง จากการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด(Teacher Watch) โดยสถาบันรามจิตติร่วมกับสถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทำการสำรวจกับครูและผู้บริหาร 7,760 คน ในโรงเรียน 1,350 แห่ง ปี 2549 ได้พบภาวะการทำงานและทัศนคติต่อวิชาชีพครูที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่

· เรื่องความคิดที่อยากให้ลูกเป็นครูเหมือนตนมีครูร้อยละ 75.5 และที่ตอบว่าอยากในระดับปานกลางมีเพียงร้อยละ 29.9 ที่อยากให้ลูกเป็นครูในระดับมากถึงมากที่สุด

· ครูร้อยละ 48.5 มีความคิดจะเปลี่ยนอาชีพ ร้อยละ 14.4 อยากเปลี่ยนอาชีพในระดับมากถึงมากที่สุด

· ครูร้อยละ 61.6 มีความคิดจะเข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนอายุ ร้อยละ 23.6 ต้องการเข้าร่วมในระดับมากถึงมากที่สุด

· ครูร้อยละ 36 ขาดสอนอย่างน้อย 1 คาบต่อสัปดาห์ ครูร้อยละ 83 ต้องใช้เวลาทำงานธุรการให้โรงเรียน ครูทั้งหมดใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ของเวลาทำงานปกติเพื่อทำงานธุรการ และมีครูราวร้อยละ 10 ที่ต้องใช้เวลาถึงร้อยละ 50 ของเวลาทำงานไปกับงานธุรการโรงเรียน9

ปัจจุบันแม้จะมีความพยายามในการพัฒนากลไกการดูแลวิชาชีพครูให้เข้มแข็งขึ้น เช่น การปรับปรุงระบบการให้ค่าตอบแทนวิทยฐานะครู แต่ระบบการพิจารณาวิทยฐานะยังมีจุดอ่อนที่เน้นการเขียนผลงาน เพื่อให้ได้รับการรับรองวิทยฐานะเป็นผู้ชำนาญการแบบตำแหน่งทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ที่ทำให้ครูมีรายได้และความก้าวหน้า แต่ครูอาจารย์ส่วนใหญ่ราว 5 แสนได้เงินวิทยฐานะไปแล้วโดยไม่ผูกโยงกับสัมฤทธิผลในการเรียนของผู้เรียน การให้เงินวิทยฐานะครูปีรวมเป็นเงินหลายพันล้านบาทแม้จะช่วยให้กำลังใจครูได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่และไม่ได้หนุนเสริมความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนโดยตรง รวมทั้งยังมีปัญหาการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรการศึกษาว่ามีการว่าจ้างกลุ่มรับจ้างมืออาชีพในการเขียนผลงาน เพื่อการรับรองวิทยฐานะด้วย ราคาค่าจ้างตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท10 รวมทั้งมีปัญหาการลอกผลงานด้วย ปัญหาเช่นนี้ยิ่งซ้ำเติมทั้งปัญหาคุณภาพและปัญหาคุณธรรม จริยธรรมของครู

ควรจะแก้ไขปัญหาการเพิ่มแรงจูงใจให้ตรงประเด็น เช่นประเมินครูโดยส่งกรรมการไปดูความตั้งใจ ความเอาใจใส่ในการพัฒนาตนเองและสอนเด็กอย่างได้ผลมากกว่าจะวัดจากการเขียนผลงาน หรือใช้วิธีให้ทุนวิจัย ทุนไปทำสื่อการเรียนการสอน ทุนไปเรียนต่อฝึกอบรม น่าจะได้ผลดีกว่าการเพิ่มเงินให้เพราะมีผลงานเขียนผ่านเกณฑ์การประเมิน การให้เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการแก่อาจารย์ระดับอุดมศึกษาก็มีปัญหาในลักษณะคล้ายกันในบางประเด็น ซึ่งควรมีการวิจัย วิเคราะห์ปัญหานี้ด้วยเช่นกัน

5) ปัญหาครูมีรายได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ทำงานในภาคธุรกิจเอกชน และปัญหาครูมีหนี้สินมาก มีครูที่มีหนี้สินที่สมัครเข้าร่วมการช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครู 140,000 คน มียอดหนี้รวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท11 ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ทำให้ครูต้องแบ่งเวลาไปทำงานหารายได้พิเศษหรือไม่ค่อยมีแรงจูงใจที่จะสอนให้มีผลดี บางส่วนก็เดือดร้อนจริงรวมทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของลูก แต่บางส่วนก็เป็นเพราะครูติดอยู่ในลัทธิบริโภคนิยมหรือติดในเรื่องหน้าตาฐานทางสังคม นิยมซื้อรถยนต์หรืออย่างน้อยมอเตอร์ไซด์และบริโภคฟุ่มเฟือยอื่นๆ แบบชนชั้นกลางทั่วไปของไทย

6) ปัญหาการไม่มีระบบการบริการจัดการและการนิเทศติดตามผลที่จะช่วยให้ครูพัฒนาได้เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานเป็นครูนั้นต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์จุฬากรณ์มหาวิทยาลัยเสนอว่า การมีระบบพี่เลี้ยงการเยี่ยมเยี่ยนนิเทศติดตามผลเพื่อให้คำแนะนำและกำลังใจโดยเพื่อนร่วมวิชา (peer coaching and mentoring) และการสร้างเครือข่ายการจัดการความรู้อย่างเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในกระบวนการจัดการและพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทยที่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ สัมพันธภาพ เป็นสิ่งสำคัญในระหว่างเพื่อนร่วมวิชาชีพไม่ว่าวิชาชีพใดก็ตาม แต่ระบบการนิเทศของเรานั้นอ่อนแอและคุณภาพของการศึกษานิเทศก์ก็ด้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก ระบบพี่เลี้ยงครูและความพยายามสร้างเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างครูในแต่ละพื้นที่ล้มเหลวมาโดยตลอด12

7) ปัญหาการขาดแคลนการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารการเรียนรู้สมัยใหม่เพื่อช่วยการสอน รวมทั้งการขาดความสนใจ ความรู้ความสามารถของครูอาจารย์ ทำให้กระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาล่าช้ากว่าประเทศอื่น จากข้อมูลของ IMD ชี้ว่าประเทศชั้นนำต่างมีการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง หลายประเทศพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้โรงเรียนทั่วประเทศได้ใช้ เพื่อปฏิวัติการเรียนรู้ของเด็กๆ ของเขาให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกแห่งความรู้มหาศาลผ่านอินเตอร์เน็ต แต่ในกรณีของประเทศไทย การพัฒนาในเรื่องนี้มีน้อยและล่าช้า โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร จากการสำรวจของโครงการ Teacher Watch พบว่ามีโรงเรียนเพียงร้อยละ 28.6 ที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ และมีครูเพียงร้อยละ 41 ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน(ดูตาราง22) แต่บางส่วนอาจจะมีทักษะการใช้ในระดับพื้น ๆ เท่านั้น ปัญหานี้ไม่ได้หมายถึงตัวเทคโนโลยีเท่านั้น ควรเน้นการพัฒนาคอร์สแวร์ คือมีตำรามีสื่อการเรียนการสอนทำเป็นภาษาไทยที่ดี ๆ และการเรียกร้องให้ครูอาจารย์ต้องสนใจเรียนรู้และเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมอย่างจริงจัง รวมทั้งสถาบันฝึกหัดครูต้องสอนเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ตารางที่ 22

ทัศนะของครูต่อความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนของโรงเรียน

ความพร้อมด้านเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน

ร้อยละของครูที่ตอบว่าใช่

ฉันใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน

41.00

ระบบอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนของฉันใช้งานได้ดี

28.70

เด็กที่โรงเรียนของฉันนิยมใช้อินเทอร์เน็ต

25.70

ที่มา โครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) ทำการสำรวจกับครูและผู้บริหารจำนวน 7,760

คนใน 1,350 โรงเรียน ทำการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายนสิงหาคม 2549

8) ปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหารข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาที่เป็นแบบระบบราชการรวมศูนย์อำนาจการบริหารจากบนลงล่าง และความคิด วิธีทำงานของผู้บริหารและครูอาจารย์ที่ถืออำนาจเป็นใหญ่ และมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนและหน่วยงานแบบข้าราชการเพื่อข้าราชการนี่คืออุปสรรคสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการบริหารแบบมีคณะกรรมการ มีการกระจายอำนาจบริหารไปให้คณะกรรมการระดับต่าง ๆ ตั้งแต่สำนักงาน 5 แห่งในกระทรวงศึกษาธิการไปถึงเขตพื้นที่การศึกษา 178 แห่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงแค่รูปแบบ ไม่ได้มีเนื้อหาสาระของการบริหารแบบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง กลายเป็นประชาธิปไตยแบบเล่นพวกหาเสียง ซื้อเสียงแลกเปลี่ยนเสียง เพื่อเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหารที่มีอำนาจและใช้อำนาจและระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวกเพื่อตนเองและพวกพ้องเหมือนการเมืองระดับประเทศ ทั้ง ๆ ที่จุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการศึกษา คือต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้เกิดการบริหารที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนเพิ่มขึ้น

การปฏิรูปการศึกษาให้ดีขึ้นเกิดขึ้นบ้างในหน่วยงานที่มีผู้บริหารเป็นคนเก่งคนดี แต่ก็มีน้อย ระบบโครงสร้างการบริหารแบบใหม่หลังการปฏิรูปการศึกษาปี 2542 ที่แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษานั้นไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปการทำงานของผู้บริหารและครูอาจารย์ส่วนใหญ่แต่อย่างใด บางเรื่องเช่น การบริหารศึกษาชั้นมัธยม การนิเทศการศึกษากลับยิ่งมีปัญหาข้อจำกัดมากขึ้น จนฝ่ายมัธยมศึกษา ฝ่ายศึกษานิเทศต่างเรียกร้องแยกตัวเป็นอิสระ หรืออย่างน้อยขอมีหน่วยงานเฉพาะของตัวเอง

ปัญหาเรื่องนี้มีรายละเอียดมาก13 ผู้วิจัยเห็นว่าควรสรรหานักบริหารจัดการจากองค์กรธุรกิจเอกชน หรือองค์การสังคมประชาที่อยู่นอกกระทรวงศึกษาธิการมาวิจัยปัญหาในเชิงวิเคราะห์โครงสร้างระบบบริหารของกระทรวงศึกษาธิการทั้งระบบอย่างวิพากษ์วิจารณ์และมองนอกกรอบระบบราชการ และเสนอทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม การให้นักบริหาร ครูอาจารย์ในกระทรวงศึกษาธิการมาวิจัยหรือมาสัมมนาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขาจะมองปัญหาตามปรากฎการณ์ และเสนอแนวทางแก้ไขแบบเป็นเรื่อง ๆ เพื่อแก้ปัญหาตามอาการภายใต้ระบบโครงสร้างใหญ่เดิม ที่อาจจะแก้ปัญหาเฉพาะส่วน เช่นช่วยให้ข้าราชการครูอาจารย์ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนหรือระบบการศึกษาทั้งหมดได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

การแก้ไขปัญหานี้ต้องคิดทั้งในเชิงแก้ที่ระบบโครงสร้างการบริหารและการพัฒนาตัวบุคคลให้มีจิตสำนึกความเป็นครู มีความภูมิใจในการทำงานเพื่อพัฒนาคนและพัฒนาประเทศชาติควบคู่กันไป เพราะการมีคนดี คนเก่งนั้นแม้ระบบบริหารจะมีข้อจำกัดบ้าง พวกเขาก็จะพยายามหาวิธีทำให้เกิดผลดีต่อผู้เรียนเองได้ในทางใดทางหนึ่ง แต่ถ้าคนไม่ดี ไม่มีจิตสำนึก อุดมคติถึงจะวางระบบไว้ค่อนข้างดี พวกเขาก็จะหาช่องโหว่ หลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำตาม หรือทำไปอย่างแกน ๆ แบบไม่ตั้งใจไม่มีคุณภาพ แต่ถ้าระบบการบริหารไม่เอื้ออำนวยคนดี ๆ คนเก่ง ๆ ทำไปได้สักพักหนึ่งก็อาจท้อแท้ใจ หมดไฟในการทำงานไปก็ได้เท่านั้น จึงต้องปฏิรูปทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป

แนวทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญ นอกจากการปฏิรูปการพัฒนาครูอาจารย์ ผู้บริหาร การคัดเลือกครูอาจารย์ ผู้บริหารให้มีคุณภาพและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง และการปฏิรูประบบการบริการจัดการศึกษาภาครัฐแล้ว เราต้องคิดเรื่องการศึกษาในวงที่กว้างกว่าการทำงานของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ คือต้องคิดรวมถึงการพัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชาชนทั้งประเทศ องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรชุมชน ภาคธุรกิจให้มีความรู้ความสนใจเรื่องการศึกษาเพิ่มขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษามากขึ้น ทั้งโดยการเข้าไปเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา เข้าไปเป็นสมาคมผู้ปกครอง ศิษย์เก่า สมาคมการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบดูแล เสนอแนะ ผลักดัน การประเมินการศึกษา การจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรสังคมประชา องค์กรประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ให้ผู้เรียนมีทางเลือกอย่างหลากหลาย และส่งเสริมการแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ การมีทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับผู้เรียนเพิ่มขึ้น


1 กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ

2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ รายงานการศึกษาไทยในเวทีโลก พ..2549 สกศ.2550

3 สกศ. รายงานการศึกษาไทยในเวทีโลก 2550

4 BANGKOK POST 29 JULY 2008

5 เดลินิวส์ 31 กรกฎาคม 2551

6 WWW.MATICHON.CO.TH / NEWS_DETAIL.PHP 2 ID = 43079 & CATID = 3

7 BANGKOK POST 29 JULY 2008

8 สำนักเลขาธิการคุรุสภา เอกสารประกอบการประชุมประชาพิจารณ์ 5 ปี ทั้งความคิดเห็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้มี

ส่วนเกี่ยวข้องเรื่อง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์คุรุสภา ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)

11 มิถุนายน 2551

9 ดร.อมรวิชช์ นาครทรัพย์ วิกฤตคุณภาพการศึกษา วิเคราะห์การศึกษาเพื่อหาทางออก การประชุมสมัชชาคุณภาพการศึกษา

วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2550

10 ผู้จัดการรายวัน 29 กรกฎาคม 2551, มติชน 29 กรกฎาคม 2551, ผู้จัดการออนไลน์ 5 มิถุนายน 2551

11 เดลินิวส์ 31 กรกฎาคม 2551 WWW.DAILYNEWS.CO.TH

12 ดร.อมรวิชช์ นาครทรัพย์ เล่มเดิม

13 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา การประเมินผล การบังคับใช้กฎหมายการศึกษาที่เกี่ยวกับการพัฒนาครูและบุคคลากร

ทางการศึกษา สกศ.2549

 

3 responses to “บทที่ 5 ปัญหาการพัฒนาครู อาจารย์

  1. Teerawat kadmano

    มิถุนายน 21, 2015 at 1:39 pm

    ของความกรุณาส่งไฟลล์ PDF ตัวเต็มให้ด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งเนื่องจากผมจะนำไปอ้างอิงในงานวิจัยของผมครับ kangering99@hotmail.com

     
  2. https://tienveeriksen.blogspot.com

    มกราคม 6, 2019 at 6:59 am

    Unquestionably believe that which you stated. Your favorite reason appeared to be on the net the simplest thing to be aware
    of. I say to you, I certainly get annoyed while people think about worries that
    they just do not know about. You managed to hit the nail upon the top and defined out the whole thing without having
    side-effects , people could take a signal. Will probably
    be back to get more. Thanks

     
  3. abdullahibgg

    ธันวาคม 6, 2020 at 12:18 am

    Do you need this cash for business and to clear your bills?
    Then send us an email now for more information Contact Us
    whatspp Number +91 892 949 0461
    Mr Abdullah Ibrahim

     

ใส่ความเห็น