RSS

Category Archives: สภาวะการศึกษาไทย ปี 50/51

บรรณานุกรม


บรรณานุกรม

 

กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงาน กระทรวงศึกษาธิการ  สถิติการศึกษาของประเทศไทย ปีการศึกษา 2550  สกศ.2551  (เอกสารถ่ายสำเนา)

จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์, ดร.  เด็กไทยบนทางสามแพร่ง บทสังเคราะห์ กรณีศึกษา เด็กและเยาวชนระดับจังหวัดในโครงการติดตามสภาวะการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ สกว.2550

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: , ,

บทที่ 8 แนวโน้มของประเทศไทย และสรุปแนวทางปฎิรูปการจัดการศึกษา


บทที่ 8 แนวโน้มของประเทศไทย และสรุปแนวทางปฎิรูปการจัดการศึกษา

                        บทนี้เป็นการเสนอแนวคิดการปฎิรูปการศึกษาเพื่อความสุขที่ผู้วิจัยได้สังเคาระห์ จากแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแนวคืดในการพัฒนาการศึกษาแบบทางเลือกที่มองเห็นความผิดพลาดของการจัดการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งความเจริญเติบโตทางวัตถุเงินทองด้านเดียวและเสนอแนะการพัฒนามนุษย์ ชุมชน และสังคมที่ก้าวหน้ากว่ายั่งยืนกว่าอย่างเป็นระบบองค์รวม

8.1  แนวโน้มประชากรไทย

                        เนื่องจากมีการวางแผนประชากรเพิ่มขึ้น และคนไทยแต่งงานช้าลง นิยมมีลูกน้อยลง  ทำให้อัตราการเพิ่มประชากรต่ำ คือจะเพิ่มอย่างช้า ๆ  และเพิ่มถึงจุดสูงสุดที่ 65.2 ล้านคน ในราว 12-13 ปีข้างหน้า  หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงเล็กน้อย กลับมาทรงตัวอยู่ที่ระดับ 60 ล้านคน ในอีก 30-50 ปีข้างหน้า

                        แต่โครงสร้างด้านอายุของประชากรจะเปลี่ยนไป คือ เนื่องจากมีอัตราเกิดลดลง ประชากรวัยเด็กจะค่อย ๆ มีสัดส่วนลดลง  ขณะที่มีการพัฒนาด้านสาธารณสุขสูงและการที่คนรู้จักดูแลสุขภาพดีขึ้น  ทำให้คนอายุยืนขึ้น สัดส่วนของผู้สูงอายุ เช่น 60 ปีขึ้นไปจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น1 (ดูตาราง 1,2) 

แม้จำนวนประชากรวัยเรียนจะลดลง แต่การแข่งขันในการหางานทำและการแข่งขันทางเศรษฐกิจซึ่งมีพื้นฐานอยู่การใช้ความรู้เพิ่มขึ้น  น่าจะทำให้ประชากรวัยเรียนสนใจจะเรียนเป็นสัดส่วนสูงขึ้น  และรัฐบาลต้องระดมทรัพยากรมาพัฒนาการศึกษา  การให้ความรู้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและทันสมัยพอที่จะร่วมมือและแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  รวมทั้งรัฐบาลต้องวางแผนจัดการศึกษาให้ผู้ใกล้เกษียณและเกษียณแล้วด้วย  เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีที่ยังคงสุขภาพดีได้ทำงานหรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ต่อไป  ทั้งเพื่อตัวพวกเขาเองและเพื่อประเทศชาติ 

การที่ประชากรวัยทำงาน 15-59 ปีจะมีสัดส่วนลดลงใน 10-20 ปีข้างหน้า  หมายถึง  อัตราพึ่งพิง(ระหว่างคนที่ไม่ได้ทำงานกับคนที่ทำงาน)จะเพิ่มขึ้น การผลิตโดยรวมทั้งประเทศอาจน้อยกว่าการบริโภค  ดังนั้น การจัดการศึกษาในอนาคตจึงจะต้องรวมถึงการวางแผนดูแลทั้งสุขภาพ, สมองและชีวิตความเป็นอยู่คนสูงอายุ ให้พวกเขาช่วยตัวเองได้และช่วยทำงานเพื่อช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้ต่อไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัญหานี้ก่อนไทย เขาได้ขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี และงานบางอย่างอาจขยายให้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและสมองดีคงทำงานได้ต่อไปแม้อายุมากกว่า 65 ปีได้ด้วย

นอกจากนี้ก็มีปัญหาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น มีปัญหาลูกหลานของพวกเขาได้เรียนบ้าง ไม่ได้เรียนบ้าง โดยที่รัฐบาลมักปล่อยไปตามสภาพมากกว่าที่จะมีนโยบายและการวางแผนระยะยาวอย่างชัดเจน

 

ตารางที่ 23

จำนวนประชากรจำแนกตามวัยและดัชนีผู้สูงอายุของประเทศไทย

..

ประชากร (ล้านคน)

ดัชนีผู้สูงอายุ

(ผู้สูงอายุ/เด็ก 100 คน)

ทั้งหมด

วัยเด็ก

ผู้สูงอายุ

2548

62.2

14.3

6.4

45.0

2553

63.7

13.2

7.5

57.0

2558

64.6

12.3

9.0

73.4

2563

65.1

11.2

11.0

98.0

2564

65.2

11.0

11.3

103.2

2568

65.1

10.4

12.9

123.6

2573

64.5

9.8

14.6

149.9

2578

63.4

9.1

15.9

174.4

2583

61.7

8.5

16.6

195.5

ที่มา : ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และ ปราโมทย์ ประสาทกุล ประชากรไทยในอนาคต

        ใน กฤตยา อาชวนิจกุล และ วรชัย ทองไทย (บรรณาธิการ)  ประชากรและสังคม 2549 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม

         มหาวิทยาลัยมหิดล Institute for Population and Social Research, Mahidol University

                       

 

 

 

 

 

ตารางที่ 24

ประชากรวัยเรียนในอนาคต พ.. 2548 – 2583

                                                                                                                                                                                                                                  (ล้านคน)

ระดับการศึกษา

2548

2553

2558

2563

2568

2573

2578

2583

ต่ำกว่า 3 ปี

2.8

2.3

2.2

2.1

1.9

1.8

1.7

1.6

ก่อนประถม (3-5 ปี)

2.7

2.6

2.3

2.2

2.0

1.9

1.8

1.6

ประถมศึกษา (6-11 ปี)

5.7

5.5

5.1

4.5

4.3

4.0

3.7

3.5

มัธยมต้น (12-14 ปี)

3.0

2.8

2.7

2.4

2.2

2.1

2.0

1.8

มัธยมปลาย (15-17 ปี)

3.0

3.0

2.7

2.8

2.3

2.2

2.1

1.9

อุดมศึกษา (18-24 ปี)

7.1

7.0

6.8

6.3

6.2

5.4

5.1

4.8

    สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล Institute for Population and Social Research, Mahidol University

 

 

8.2 แนวโน้มปัญหาเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของโลก

                        โลกกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจชลอตัวควบคู่ไปกับปัญหาเงินเฟ้อ(STAGFLATION)  อันเนื่องจากน้ำมัน, ธัญพืชที่เป็นอาหาร วัสดุก่อสร้างฯลฯ มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคงจะอยู่ในระดับสูงต่อไป  ประเทศไทยซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมาก มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้สูง  ในแง่ที่ว่าไทยต้องพึ่งพาการผลิตเพื่อการส่งออก ที่ต้องการการนำเข้าสินค้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และน้ำมันมาก  หากประเทศสหรัฐและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นต่างมีปัญหาเศรษฐกิจชลอตัว พวกเขาก็จะซื้อสินค้าจากไทยลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากมีปัญหาชลอตัวด้วย

                          แม้ไทยจะผลิตข้าวและพืชที่เป็นอาหารอื่นได้มากและอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกอาหาร  แต่การทำการเกษตรสมัยใหม่เพื่อการส่งออกนั้น ต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืชซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ของน้ำมันมาก ทั้งต้องใช้รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำและเครื่องทุ่นแรงอื่น ๆ ในการผลิตและการขนส่งสินค้าซึ่งล้วนต้องใช้น้ำมัน  ดังนั้นการที่น้ำมันมีราคาสูงจึงทำให้ต้นทุนการเกษตรของไทยสูงไปด้วย เกษตรกรจึงได้ประโยชน์จากที่ธัญพืชราสูงขึ้นได้มากนัก

                        เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการสั่งเข้าน้ำมันและพลังงานต่าง ๆ มาก  โดยที่คนรวยคนชั้นกลางยังใช้น้ำมันหรือพลังงานทั้งหมดอย่างเป็นการบริโภคสิ้นเปลือง(เช่น ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาก ใช้ไฟฟ้าเพื่อการค้าและการพักผ่อนหย่อนใจมาก) ไม่ได้ใช้พลังงานอย่างมุ่งเกิดประสิทธิภาพการผลิตมากนัก บวกกับการมีโครงสร้างและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดที่เป็นบริวารบรรษัทข้ามชาติ ต้องพึ่งพาทุนและการค้ากับต่างประเทศมาก ตลาดภายในประเทศคับแคบเพราะคนรวยส่วนน้อยเอาเปรียบคนจนส่วนใหญ่ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชลอตัวคู่ไปกับปัญหาเงินเฟ้อที่หนักหน่วง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย จะยิ่งเจอปัญหาของแพงแต่มีงานทำหรือมีรายได้ลดลงอย่างหนักหน่วงมากขึ้น 

                        การจัดการศึกษาที่ดีจึงต้องรู้จักการมองการณ์ไกลและเตรียมประชาชนให้พร้อมที่จะรับสถานะการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในอนาคต  ประเทศไทยควรวางแผนการจัดการศึกษาและการพัฒนาคนแบบยืดหยุ่น สนองความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความอยู่รอดและการมีชีวิตที่มีคุณภาพได้ทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ ผลิตคนที่มีความรู้และทักษะในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมโลก  เช่น  คนที่มีความรู้ด้านโลจิสติก (การขนส่งและการกระจายสินค้า) คนงานในบางสาขาภาคอุตสาหกรรม  การค้าและบริการ ประเภทที่ประเทศไทยมีศักยภาพจะแข่งขันสู้เขาได้ เช่น อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร สมุนไพร การท่องเที่ยว เครื่องประดับเซรามิกร์ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ฯลฯ  รวมทั้งการพัฒนาภาคเกษตรเพื่อการส่งออก  อีกด้านหนึ่งคือควรให้การศึกษาแบบให้คนไทยได้เรียนรู้จักตัวเองและชุมชน ช่วยตัวเองได้ ปรับตัวเรียนรู้ได้เก่ง เช่นเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมเองได้  รู้จักใช้ทรัพยากร เช่น การเกษตรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำมาหาเลี้ยงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยืดหยุ่น 

                        ที่ต้องพัฒนาทั้ง 2 ด้านเพราะไทยเป็นประเทศที่มีประชากรมาก แต่ความรู้ความสามารถยังพัฒนาได้น้อย ทรัพยากรมีจำกัด การมุ่งผลิตคนเพื่อไปเป็นลูกจ้างภาครัฐหรือภาคธุรกิจเอกชนเป็นด้านหลักอย่างที่ทำกันมานั้น จะมีตำแหน่งงานน้อยลงเมื่อเทียบกับคนที่เรียนจบเพิ่มขึ้น ปัจจุบันกลุ่มที่ว่างงานมากที่สุดราว 20% ของคนว่างงานทั้งประเทศ คือกลุ่มที่จบปริญญาตรี และมีแนวโน้มว่าคนจบปริญญาตรีแต่ละปีซึ่งปัจจุบันอยู่ราว 2 แสนเศษจะหางานแบบเป็นข้าราชการและลูกจ้างภาคธุรกิจเอกชนได้ยากขึ้น  ดังนั้นเราจึงจะต้องจัดการศึกษาแบบให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความสามารถในการปรับตัวไปสร้างงานด้วยตัวเองได้เพิ่มขึ้นด้วย

                        นอกจากนี้แล้ว การที่โลกปัญหามีมลภาวะและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เรียกว่าโลกร้อนเพิ่มขึ้น  จะทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม มีพายุและภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ บ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น  เป็นปัญหาที่จะกระทบการเกษตรของไทย  วีถีชีวิตและสุขภาพของคนทั่วไปที่เราจะต้องตระหนักถึงความสำคัญและจัดการศึกษาให้คนไทยรู้จักการประหยัดในการผลิตและ       การบริโภค และเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเพื่อลดการทำให้โลกร้อนและเกิดมลภาวะน้อยลง  ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเรื่องพลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก สาธารณสุขทางเลือกฯลฯ เพิ่มขึ้น  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกคนในระยะยาวมากกว่า การพัฒนาแบบใช้เทคโนโลยีตะวันตกเน้นการเพิ่มผลผลิต การเพิ่มการบริโภค เพื่อการหาเงินหากำไรอย่างที่รัฐบาลทุกรัฐบาลทำอยู่

                        แนวคิดของพุทธศาสนา ซึ่งเน้นการทำดีต่อผู้อื่นละความชั่ว ทำจิตใจให้เบิกบานผ่องใส การใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่โลภ ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์ เป็นแนวคิดที่ทันสมัยเข้ากับโลกยุคใหม่ที่คนฉลาดในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเริ่มตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและการแสวงหาชีวิตที่มีความสุขมากกว่าเงินทองได้ดีมาก 2  ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเกษตร มีความหลากหลายทางชีวภาพ และศิลปวัฒนธรรม       หากมุ่งพัฒนาประเทศไทยไปทางอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติสภาพแวดล้อมพร้อมกับการสร้างความเป็นธรรมและเศรษฐกิจพึ่งตนเองได้แบบพอเพียงแล้ว จะทำให้ประชาชนไทยมีชีวิตที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีช่องทางที่ประเทศไทยจะหารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการขายอาหารและสมุนไพรปลอดสารพิษ หัตถกรรมและงานศิลปะวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเพื่อนำรายได้มาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสังคมด้านอื่น ๆ ได้มาก และจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืนกว่าที่ผ่านๆ มา

 

  สรุปแนวทางการปฏิรูปการจัดการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพและความเป็นธรรม

                               1.  ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารเรื่องการศึกษาให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพและมีวิสัยทัศน์เพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้น โดยลดขนาดและลดบทบาทของการบริหารแบบรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง คือ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการลง  ด้วยการส่งเสริมให้มีการกระจายและอำนาจในเรื่องการบริหารจัดการศึกษาของชาติเพิ่มขึ้น เช่น จัดตั้งคณะกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ และคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นองค์กรอิสระของผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางปลอดจากอำนาจของนักการเมืองและข้าราชการชั้นสูงในกระทรวงศึกษาธิการ  กระจายการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น  ภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรสังคมประชาอื่น ๆ  เป็นสัดส่วนสูงขึ้น ส่วนการบริหารสถานศึกษาของภาครัฐควรพัฒนาให้โรงเรียนที่พร้อมเป็นนิติบุคคล  บริหารตนเองได้ แต่จะต้องพัฒนาระบบตรวจสอบดูแลช่วยเหลือด้านคุณภาพจากฝ่ายวิชาการของกระทรวงศึกษา สำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) สมาคมวิชาการและสมาคมวิชาชีพ

                               การกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษาและคณะกรรมการครูอาจารย์ชุดต่างๆ เช่นคุรุสภา, คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู(ส.บ.ค.ศ.) ก.ค.ศ. และอ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ยังมีปัญหา เพราะมีการคัดเลือกไขว้กันไปมาแบบมุ่งรักษาประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก ติดอยู่ในระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจจากบนลงล่างและระบบการเมืองแบบเล่นพวกและใช้อำนาจ แนวทางแก้ไข คือควรให้มีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยตรง(อาจจะทำแบบขยายให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมก่อน) และจัดให้มีระบบตรวจสอบคานอำนาจผู้บริหาร โดยสมาคมผู้บริหาร สมาคมครูอาจารย์ สมาคมวิชาชีพด้านต่าง ๆ รวมทั้งสหภาพครูอาจารย์ที่มุ่งผลของงานและประโยชน์ของนักเรียนเป็นด้านหลัก และควรให้สถานศึกษากำหนดหลักสูตร  กระบวนการเรียนการสอนได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น โดยให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนเป็นผู้ประเมินและรับรองมาตรฐานของสถาบันการศึกษา และให้ข้อมูลข่าวสารต่อผู้บริโภค  เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ

                               การที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ ควรเปลี่ยนจากการที่รัฐบาลเคยจัดสรรงบประมาณไปให้ที่สถาบันการศึกษาของรัฐโดยตรงทั้งหมด มาเป็นจัดสรรให้สถาบันการศึกษาบางส่วนและบางส่วนอุดหนุนผู้เรียนโดยตรง  โดยจ่ายเป็นคูปองการศึกษาให้ผู้เรียนเลือกไปจ่ายให้สถานศึกษาใดๆ ก็ได้แทน และควรมีคณะกรรมการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการศึกษา  ที่ดูแลภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้มีการวางแผนที่มีการกระจายการลงทุนทางการศึกษาแก่ท้องถิ่นต่าง ๆ  อย่างทั่วถึง เป็นธรรม โดยควรชะลอการขยายตัวของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในกรุงเทพและเมืองใหญ่  เพิ่มงบประมาณให้สถาบันการศึกษาขนาดกลางและขนาดเล็ก ในจังหวัดและอำเภอรอบนอก ให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนรอบนอกมีแรงจูงใจในด้านผลตอบแทน และงบความก้าวหน้าในระยะยาวเพิ่มขึ้น  เพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่  นอกจากนี้แล้วต้องปฏิรูประบบงบประมาณให้รัฐสามารถจ่ายเงินอุดหนุนให้สถานศึกษาแบบต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาโดยตรงได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัวเพิ่มขึ้นด้วย จะได้เพิ่มการแข่งขันในเชิงคุณภาพ และเพิ่มทางเลือกการศึกษาที่หลากหลาย

       2.  ลงทุนปฏิรูปการศึกษาปฐมวัยของเด็กวัย 3 5 ปีทั่วประเทศ  ซึ่งส่วน

ใหญ่ยังมีคุณภาพต่ำอย่างเร่งด่วน 

       เด็กวัย 0.1 5 ปีเป็นวัยที่สำคัญที่สุดในกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของมนุษย์  สมองของเด็กช่วงนี้มีโอกาสเรียนรู้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด และสมองในช่วงนี้พัฒนาได้สูงถึง 80% ของการพัฒนาสมองทั้งชีวิต 

       รัฐควรจัดตั้งโรงเรียนพ่อแม่สำหรับพ่อแม่ที่มาฝากครรภ์ในทุกโรงพยาบาล  โดยควรให้ทุนสนับสนุนแก่พ่อแม่ที่ยากจนด้วย  เพื่อให้พ่อแม่รู้จักวิธีที่จะดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเลี้ยงลูกให้ฉลาดรอบด้านและมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี โรงเรียนพ่อแม่ควรมีบุคลากรประจำคอยติดตามให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ที่มีลูกเล็กอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง

        ควบคู่กันไปคือ การพัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้มีพี่เลี้ยง/ครูและการบริการที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น  โดยรัฐควรจัดสรรงบฝึกอบรมและให้พี่เลี้ยง/ครูมีความรู้ด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กและให้การสนับสนุนพวกเขาให้เงินเดือนสูงพอสมควร  และสนับสนุนให้ศูนย์ต่างๆ บริการได้อย่างมีคุณภาพใกล้เคียงกันทั่วประเทศ สำหรับศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลของเอกชนที่ดีอยู่แล้ว รัฐอาจจะส่งเสริมแบบทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายและจ่ายเงินเป็นคูปองช่วยเหลือพ่อแม่ให้ส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชนที่ทำได้อย่างมีคุณภาพอยู่แล้วได้ โดยรัฐไม่จำเป็นต้องจัดตั้งใหม่แบบซ้ำซ้อน

                                 การจะปฏิรูปให้ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลมีคุณภาพจะต้องร่วมมือกับหลายฝ่ายการโอนอำนาจการบริหารจัดการให้องค์กรท้องถิ่น  เช่น  อบต.ถูกต้องในเชิงหลักการกระจายอำนาจแต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าอบต. แต่ละแห่งมีความรู้  ความสามารถ  ประสิทธิภาพและความซื่อตรงต่างกันมาก  ในขณะที่ อบต.  ส่วนใหญ่ยังไม่เข้มแข็งหรือมีคุณภาพมากพอ  และมักสนใจเรื่องการก่อสร้างวัตถุมากกว่าเรื่องการศึกษา  จะต้องมีองค์กรพี่เลี้ยงหรือองค์กรที่ทั้งตรวจสอบประเมินคุณภาพทั้งให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่องค์กรท้องถิ่นในด้านการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจะได้รับบริการทางการศึกษาที่ดีขึ้น                             

       3.  แก้ปัญหาเด็กออกกลางคันในระดับประถมมัธยม และปัญหาโรงเรียนในเขตยากจนที่มีคุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนในเขตร่ำรวยอย่างจริงจัง

                                 การรลงทุนสร้างโรงเรียนขยายและโรงเรียนไม่สามารถทำให้เด็กได้เรียนฟรี 12 ปีหรือแม้แต่เรียนภาคบังคับ 9 ปีได้ทั้งร้อยเปอร์เซนต์ เพราะปัญหาการที่เด็กวัยที่ควรได้เรียนชั้นประถม/มัธยมปลายต้องออกกลางคัน  หรือไม่ได้เรียนต่อเป็นสัดส่วนสูง  มีสาเหตุมาจากทั้งปัญหาเศรษฐกิจสังคมภายนอก  เช่น  ความยากจน  เกเร  ติดยาเสพติด  การมีคู่ครองตั้งแต่วัยรุ่นฯลฯ  และปัญหาที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพให้สนองความสนใจ  ความพร้อมที่จะเรียนรู้ของนักเรียนส่วนหนึ่งได้ดีพอ  ทำให้เด็กมีปัญหาเรียนไม่ได้/ไม่อยากเรียน

                                 การจะแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสได้เรียนมัธยมน้อยนี้ต้องวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาให้ถึงรากเหง้า  และหาทางแก้อย่างครบวงจร  เช่น  ให้ทุนเด็กยากจนสำหรับค่าใช้จ่ายด้านอื่นนอกจากค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น  เพิ่มและพัฒนาครูให้ครูแต่ละห้องดูแลนักเรียนจำนวนน้อยลง จะได้ดูแลได้อย่างใกล้ชิดและเอาใจใส่ปัญหาส่วนตัวของนักเรียนแต่ละคนได้เพิ่มขึ้น  พัฒนาวิธีการสอนที่เน้นการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้การเรียนสนุกและน่าสนใจมากขึ้น พัฒนาสื่อการเรียนสมัยใหม่ให้นักเรียนได้ค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างสะดวกเพิ่มขึ้น

                                 นอกจากเรื่องการช่วยให้เด็กได้เรียนต่อเพิ่มขึ้นแล้ว  ควรปฏิรูปด้านหลักสูตร  กระบวนการเรียนการสอนที่จะส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่าน ใฝ่เรียนรู้ ฟังเป็น คิดวิเคราะห์เป็น  รู้วิธีที่จะค้นคว้าเรียนรู้ต่อด้วยตัวเอง  รู้จักตัวเอง รู้จักชุมชน รู้จักประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมไทย รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองและชุมชน  เปลี่ยนแปลงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง สัมพันธ์กับชุมชนและสภาพแวดล้อม เพิ่มการเรียนรู้วิชาชีพ เช่น เกษตร ในชนบท วิชาช่าง ในเขตเมือง ทั้งในประถมและมัธยมสายสามัญควรจะมีหลักสูตรหลายแบบ เช่น แบบประสม ระหว่างสายสามัญกับอาชีว  เพื่อให้นักเรียนได้เริ่มสัมผัสโลกของชีวิตจริงและตระหนักความเชื่อมโยงระหว่างวิชาการกับวิชาชีพ เพิ่มเป้าหมายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่ครูจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างโดยตรง และแทรกความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เข้าไปในทุกวิชาในกิจกรรมและการใช้ชีวิตจริง การเพิ่มการสอนวิชาศีลธรรมจริยธรรมแบบแยกส่วนและใช้วิธีสอบวัดผลแบบท่องจำหรือทำสมุดจดบันทึกการทำดี ผู้เรียนอาจมุ่งทำเพื่อคะแนนมากกว่าที่จะเรียนรู้แบบ เข้าใจและเกิดสำนึกจริง

                                4. ปฏิรูปการจัดสรรและการใช้งบประมาณเรื่องการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น

                                 เนื่องจากสังคมไทยมีปัญหาความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก  การบริการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีฟรีจึงควรเน้นช่วยคนจน  มากกว่าคนรวยหรือคนชั้นกลางที่สามารถช่วยตนเองได้อยู่แล้ว  โครงการให้เรียนฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาเด็กยากจนไม่ได้เรียนถึง 12 ปี  ซึ่งมีสัดส่วนสูงมากได้  รัฐบาลต้องจัดสรรทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ ให้คนจนโดยตรง  เช่น  ค่าอาหารกลางวัน  ค่าเครื่องเขียน  อุปกรณ์การเรียน  ค่าพาหนะ  ค่าเครื่องแบบ  เพราะส่วนที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเพื่อให้ลูกไปโรงเรียนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับคนจน                                           การจัดสรรงบประมาณที่คิดตามหัวนักเรียนจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางที่อยู่รอบนอกเสียเปรียบโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง  ต้องมีงบเพิ่มสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก  ขนาดกลาง  โดยเฉพาะโรงเรียนในชุมชนแออัดและชนบท  เพื่อจะได้ปรับปรุงโรงเรียนหรือประเทศให้มีคุณภาพได้มาตรฐานใกล้เคียงกัน

                                    ควรลดบุคลากรการศึกษาที่หน่วยบริหารกลางของกระทรวงและสำนักงานประจำเขตการศึกษาต่าง ๆ ลง   เพราะงบดำเนินการส่วนนี้สูงและเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนน้อย  โดยควรเฉลี่ยบุคลากรที่ทำงานบริหารสนับสนุนหรือธุรการออกไปสอนหรือเป็นผู้บริหารระดับโรงเรียนในต่างจังหวัด  และควรมีการตรวจสอบว่าบุคลากรที่กินตำแหน่งครูอยู่ในต่างจังหวัดที่ห่างไกลไปปฏิบัติหน้าที่สอนจริงทุกวันหรือไม่  เพราะยังปรากฏว่ามีครูจำนวนหนึ่งที่มีชื่อกินเงินเดือนแต่ไม่ได้ไปสอนจริง  ซึ่งเป็นการทุจริตฉ้อฉลที่มีผลเสียหายรุนแรง  รวมทั้งยังมีครูที่ใช้เส้นสายนักการเมืองย้ายมาช่วยราชการโดยไม่ได้สอนจำนวนมาก  ทำให้ครูอาจารย์ที่ทำงานสอนในโรงเรียนจริง ๆ ขาดแคลน  แต่มีการจ่ายเงินเดือนให้กับตำแหน่งครูคิดรวมทั้งประเทศแล้วมาก

                                    การใช้งบประมาณการศึกษาในปัจจุบัน  จ้างครูอาจารย์จำนวนมากแต่ให้เงินเดือนผลตอบแทนต่ำ   ทำให้ไม่ได้คนเก่งมาเป็นครูอาจารย์ และหรือครูอาจารย์ไม่มีแรงจูงใจมากพอทำให้คุณภาพการเรียนการสอนต่ำไปด้วย  การจะปฏิรูปการศึกษาได้ต้องลดจำนวนครูที่ด้อยคุณภาพลง  โดยการประเมินผลการปฎิบัติงานอย่างแท้จริง  และให้ครูที่ไม่ผ่านการประเมินเกษียณไป  และจ้างครูสาขาขาดแคลน  ครูที่มีประสบการณ์และมีคุณภาพโดยให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การจะช่วยครูได้อีกทางหนึ่ง คือ พัฒนาสื่อการเรียนการสอนและห้องสมุดให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าเรียนด้วยตนเองเพิ่มขึ้น  ไม่ควรใช้วิธีให้ครูต้องบรรยายทั้ง 100% ของเนื้อหาตามหลักสูตรอย่างที่ทำกันอยู่  ซี่งเป็นการสิ้นเปลืองแรงงานและเวลาของครูมาก ทั้งวิธีสอนที่เน้นการบรรยายก็เป็นวิธีที่ล้าสมัยไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนแต่อย่างใด

                                    การกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่ท้องถิ่นควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความพร้อมและมีองค์กรคอยตรวจสอบและช่วยเหลือแนะนำเพื่อให้มีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ  และต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปการคลังท้องถิ่น  ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดหารายได้เพื่ออุดหนุนการศึกษาในท้องถิ่นมากขึ้น  โดยต้องกำหนดไปเลยว่ารายได้จากการเก็บภาษี  และเงินอุดหนุนขององค์กรท้องถิ่นต้องใช้เพื่อการศึกษาไม่ต่ำกว่า 25% ของรายได้ทั้งหมดขององค์กรท้องถิ่น  เพื่อป้องกันไม่ให้องค์กรท้องถิ่นใช้รายได้ไปสร้างแต่วัตถุ 

                        สำหรับองค์กรท้องถิ่นที่มีรายได้ต่ำจะต้องได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสูงขึ้นเป็นพิเศษ  เพื่อให้โรงเรียนทั่วประเทศมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน  กฎระเบียบเดิมที่กำหนดว่าองค์กรท้องถิ่นจ้างบุคลากรได้ไม่เกิน 40% ของงบประมาณกลับมีปัญหาในการจ้างและเพิ่มเงินเดือนครูเพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ  ควรเปลี่ยนกฎระเบียบนี้  เพียงแต่ต้องมีระบบตรวจสอบเพิ่มเติมว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นมีการจ้างบุคลากรที่มีความรู้ไปทำงานที่จะเป็นประโยชน์จริง ไม่ใช่เอางบประมาณของส่วนรวมไปจ้างเครือญาติพรรคพวก  โดยไม่ค่อย   มีงานทำ

                        ระบบกองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษาซึ่งมีงบประมาณจำกัดและจัดสรรให้ได้เพียงบางส่วนของนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนควรจะทบทวนเสียใหม่  เพราะระเบียบการวิธีการกู้หละหลวมและการให้กู้แบบคิดดอกเบี้ยต่ำมากทำให้คนอยากกู้มากและคนไม่จนจริงก็กู้ได้ หลายคนเมื่อกู้ไปแล้วนำไปใช้ผิดเป้าหมาย  ผู้กู้ที่เรียนจบแล้วไม่ยอมใช้หนี้มีมากพอสมควร  การให้กู้ควรเพิ่มความรอบคอบในการคัดเลือกให้เฉพาะผู้ขาดแคลนและเหมาะสม เช่น ตั้งใจเรียนในวิชาที่เป็นประโยชน์และมีผลการเรียนไม่ต่ำเกินไป งบประมาณส่วนหนึ่งน่าแบ่งให้เป็นการให้ทุนโดยตรงสำหรับผู้ยากจนที่เรียนได้ดีพอสมควร  อีกส่วนหนึ่งใช้เป็นงบจ้างให้นักเรียนนักศึกษาทำงานให้สถาบันการศึกษาเป็นการแลกเปลี่ยน      ซึ่งจะเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้คุณค่าของการทำงาน ดีกว่าการเปิดช่องทางให้นักศึกษากู้เงินเรียนแบบเสียดอกเบี้ยต่ำมากได้ง่ายเกินไป       

                          5.  ปฏิรูปด้านคุณภาพ  ประสิทธิภาพ และคุณธรรมของครูอาจารย์อย่างจริงจัง  ครูอาจารย์ส่วนใหญ่ที่มีราว 7 แสนคนยังมีแรงจูงใจ ความรู้ความสามารถ และคุณธรรมอยู่ในเกณฑ์ต่ำและปานกลาง  ส่วนใหญ่ไม่รักการอ่าน  การค้นคว้า  ไม่สนใจใฝ่รู้  กางตำราเล่มเก่าสอน  สอนแบบบรรยายให้นักเรียนท่องจำไปสอบแข่งขัน  เน้นการเรียนตามตำราและมุ่งอาชีพมากไป  มุ่งผลิตคนเพื่อไปทำงานเป็นพนักงานจ้างในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากกว่าจะสอนให้นักเรียนฉลาด  คิดวิเคราะห์  สังเคราะห์เป็น สร้างด้วยตัวเองเป็น  ดังนั้นถึงต้องมีการประเมินครูอาจารย์ใหม่อย่างจริงจังมากกว่าเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบอาชีพของคุรุสภา ซึ่งให้ครูเก่าโดยอัตโนมัติ  ควรคัดครูที่ได้คะแนนประเมินต่ำและท่าทีปรับปรุงตัวได้ยากให้เกษียณก่อนครบอายุโดยไม่ต้องชดเชยมากเท่าครูที่สมัครโครงการ EARLY RETIRE หรือให้โยกย้ายไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่การสอนแทน  เพราะการปล่อยให้คนที่ไม่เหมาะสมจะเป็นครูที่ดีทำงานหน้าที่ครูนั้น  ทำให้เกิดผลลบที่เสียหายต่อนักเรียนมากยิ่งกว่าปัญหาการขาดแคลนครูเสียอีก

                                    ครูอาจารย์ที่มีแววว่าจะปฏิรูปพัฒนาตัวเองให้เป็นครูแนวใหม่ได้ต้องสนับสนุนให้พวกเขาหาเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น  มีทุนให้ซื้อหนังสือ  ทำวิจัย  ไปฝึกอบรม  เรียนต่อ  แต่งตำราฯลฯ เพิ่มขึ้น  ระบบการคัดเลือกและจ้างครูต้องวางเกณฑ์ระเบียบวิธีคัดเลือกให้ได้ครูที่มีคุณภาพจริงๆ และต้องแก้ไขปัญหาเส้นสาย การบอกข้อสอบโกงข้อสอบอย่างเอาจริง    รับสมัครคนที่มีความรู้ความสาขาต่าง ๆ  โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน  เช่น  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ภาษาอังกฤษ  คอมพิวเตอร์  มาอบรมเพิ่มเติมและให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาครูสาขาขาดแคลนได้รวดเร็วขึ้น  ทำระเบียบการจ้างครูให้ยืดหยุ่น เช่น การจ้างเป็นครูพิเศษแบบต่าง ๆ ได้  ระบบการเรียนการสอนการฝึกครูต้องเปลี่ยนแปลงจากการสอนแบบเก่าเป็นการเรียนรู้ทั้งทฤษฎี การศึกษาจิตวิทยาการเรียนรู้ ความรู้เฉพาะแขนง และภาคปฎิบัติ ต้องฝึกให้นักศึกษาครูรักการอ่าน  การแสวงหาความรู้  มีแหล่งศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  เปลี่ยนวิธีการวัดผลจากการสอบ  วัดการท่องจำตามตำรา  เป็นวิธีให้ครูและนักเรียน นักศึกษาร่วมกันประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพมากขึ้น ข้อสำคัญคือ ต้องสร้างแรงจูงใจภายในให้นักศึกษาครูและครู เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพครูว่าเป็นงานที่มีความหมายที่ท้าทายมีผลต่อการสร้างคนและสร้างชาติ ให้เจริญรุ่งเรืองและมีความสุขมาก ถ้าได้พัฒนาการทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง

                                    ขณะเดียวกันก็ควรเพิ่มแรงจูงใจภายนอกด้วย ควรปรับเพิ่มเงินเดือนครูที่มีภาระการสอนมาก  ครูสาขาขาดแคลน ครูผู้เชี่ยวชาญให้แข่งขันกับตลาดแรงงานของภาคธุรกิจเอกชนได้  จัดให้ครูเก่ง ๆ มีลู่ทางที่จะก้าวหน้าได้เงินเดือนสูงขึ้นพอ ๆ กับผู้บริหาร  ครูจะได้ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกันเพื่อจะเป็นผู้บริหารเสมอไป  ส่งเสริมระบบห้องสมุดและนำเทคโนโลยีสารสนเทศวิทยุ  โทรทัศน์  อินเทอร์เน็ต  ซีดีรอม  และฯลฯ  มาใช้ในการเรียนรู้โดยใช้ครูแต่น้อย แต่ต้องเป็นครูที่มีคุณภาพสูงและได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น จะเป็นประโยชน์กว่าระบบปัจจุบันที่ใช้ครูจำนวนมาก  เงินเดือนก็น้อย  สอนแบบบรรยายตลอดทั้งวัน  แต่นักเรียนก็เรียนรู้ได้น้อย

                                    พัฒนาระบบประเมินครูแบบใหม่ที่วัดคุณภาพ  ประสิทธิภาพ  ความตั้งใจเป็นครู  โดยเน้นคุณสมบัติหรือเนื้อหาสาระของครูอาจารย์แต่ละคน  ไม่ใช่แค่ดูแต่รูปแบบว่าต้องมีปริญญา/ใบประกอบวิชาชีพ  สรุปหรือเขียนรายงานได้ผ่านเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะซึ่งไม่ได้สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง ต้องส่งเสริมให้ครู  สนใจเรียนรู้พัฒนาตนเอง  และมีการจัดฝึกอบรมครูใหม่อย่างขนานใหญ่  ปฏิรูปครูให้เข้าใจความหมายของการเรียนรู้ที่ต้องใช้กระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหา  ไม่ใช่แค่การท่องจำตามตำรา   รณรงค์ให้ครูมีพฤติกรรมในการรักการอ่าน  การค้นคว้า  มีแรงจูงใจในการอยากเรียนรู้และเผยแพร่  คิดเป็น  มีความมั่นใจ ความภูมิใจในตัวเอง มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและมีภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาคนให้ได้ก่อน  ประเทศไทยจึงจะมีครูชนิดที่สามารถไปสอนเด็กให้รักการเรียนรู้คิดเป็น  มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและพัฒนาภาวะผู้นำ

                                    ดังนั้นถ้าครูคนไหน  ไม่ชอบการอ่าน  ไม่ชอบการเรียนรู้  ไม่ชอบการคิด  ค้นคว้า  ก็ไม่ควรจะเป็นครู  เพราะการมีครูแบบนี้  โดยเฉพาะครูที่มีปัญหา  ครูที่ทำให้เด็กเกลียดครูและเกลียดโรงเรียนจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาของชาติ  มากกว่าที่จะให้เด็กไปเรียนรู้จากห้องสมุดและสื่อต่าง ๆ  เราควรจะโอนครูแบบนี้ไปทำงานอื่น ๆ  หรือให้เกษียณก่อนอายุไปและหาครูที่มีนิสัยเป็นครูที่รักเด็ก  รักการหาความรู้มาสอนแทนเพื่อทำให้เด็กสนุกที่จะเรียน  ถึงครูใหม่จะยังไม่เก่งทางวิชาการหรือการสอนมากนัก  แต่ถ้ามีคุณสมบัติในการมีนิสัยเป็นครูที่รักเด็ก  รับฟังเด็ก  ตั้งใจสอน  หวังดีต่อเด็ก  และรักการเรียนรู้เพิ่ม  ต้องถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ  และครูประเภทนี้จะมีศักยภาพในการพัฒนาได้มากกว่าคนที่มาประกอบอาชีพครูที่มาทำงานเพื่อเลี้ยงชีพมากกว่าเข้ามาเพราะมีจิตใจที่รักการเป็นครูผู้รักความรู้และการเผยแพร่ความรู้

        6.  เปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผลสอบแข่งขันและการคัดเลือกคนเข้าเรียน

มหาวิทยาลัยรัฐ  จากการสอบแบบปรนัยที่เน้นคำตอบสำเร็จรูปเป็นการวัดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองที่สะท้อนความรู้ความสามารถที่เป็นองค์รวมเชิงวิเคราะห์ได้ การคัดเลือกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยควรพิจารณาความถนัดความพร้อม  แรงจูงใจ  ความพร้อมที่จะเรียนของผู้สมัครด้วย  แทนการวัดจากคะแนนการสอบวิชาสามัญที่เน้นการท่องจำและเทคนิคการทำข้อสอบ ขณะเดียวกันต้องพัฒนาสถาบันอาชีวศึกษาและวิชาชีพให้มีคุณภาพและมีบรรยากาศน่าเรียนรู้และส่งเสริมให้คนที่จบมาได้ผลตอบแทนการทำงานสูงขึ้น  มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้ไม่ต่างจากคนจบมหาวิทยาลัย  เช่นเดียวกับผู้เรียนจบด้านอาชีวศึกษาในเยอรมันและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ   นักเรียนบางส่วนจะได้เลือกเรียนสายอาชีวศึกษาไปโดยไม่ต้องมามุ่งสอบแข่งขันแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัย  ซึ่งขณะนี้ขยายตัวเชิงปริมาณมากเกินไป  และคนที่จบแล้วมาหางานทำไม่ได้มากขึ้น

       มหาวิทยาลัยควรเปิดช่องทางให้คนอายุ 25 ปีที่ทำงานมาแล้วและอยากจะกลับมาเรียนมหาวิทยาลัย  สามารถสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้โดยมีโควต้าต่างหาก  เพื่อทำให้คนที่อยากเรียนมีโอกาสที่จะเรียนได้ตลอดชีวิต  ไม่ใช่เปิดให้เฉพาะคนที่จบมัธยมปลายมุ่งแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยแบบจะเป็นจะตาย  เหมือนมีโอกาสครั้งเดียวในชีวิต  และรู้สึกท้อแท้หมดอาลัยดูถูกตนเองเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐไม่ได้  ซึ่งเป็นทัศนคติที่ควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว  การค้นคว้าเรื่องการทำงานของสมองพบว่า  สมองคนเรามีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต  และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างต่อเนื่องถ้ารู้จักวิธี  ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงควรเพิ่มการให้บริการประชาชนรวมทั้งพัฒนามหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยสอนทางไกล สอนทางอินเตอร์เน็ตให้มีคุณภาพและมีความหลากหลายขึ้น

                               7.  พัฒนาการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยที่สามารถจูงใจ ให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันได้เรียนแค่ชั้นประถมศึกษาได้สนใจและได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง  โดยควรทำงานร่วมกับสถานศึกษาในระบบและองค์กรต่างๆ ในชุมชนและใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในวงกว้างขึ้น ส่งเสริมให้สื่อวิทยุโทรทัศน์เน้นเรื่องข้อมูลข่าวสารความรู้  และความบันเทิงที่ยกระดับความฉลาดและศิลปวัฒนธรรมประชาชนเพิ่มขึ้น  พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  หนังสือพิมพ์  การผลิตหนังสือ  ห้องสมุด  พิพิธภัณฑ์  ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ  ให้ประชาชนทุกวัยทั่วประเทศเข้าถึงได้ง่ายต้นทุนต่ำ และมีทางเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางหลากหลาย

                                8.  วางแผนและลงทุนพัฒนาแรงงานให้มีความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจสังคม  เช่น  วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  คอมพิวเตอร์  ช่างฝีมือ  ศิลปิน  นักประดิษฐ์  นักออกแบบฯลฯ  มากกว่าที่จะปล่อยให้มีการขยายตัวตามความพร้อมของครูผู้สอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  เช่น ระดับมัธยมนิยมขยายสายสามัญ อุดมศึกษานิยมขยายสาขาบริหารธุรกิจ  นิเทศศาสตร์  สังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์มากกว่าสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  การจะแก้ปัญหาการขาดแคลนการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเร่งพัฒนาครูด้านนี้และปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนและการมีห้องทดลองมีสื่อต่างๆ ส่งเสริมพัฒนาให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  งานอาชีพต่าง ๆ  ตั้งแต่ระดับอนุบาลและประถม  และส่งเสริมให้ผู้จบสายอาชีวศึกษามีคุณภาพเพิ่มขึ้นและการจ้างงานที่ให้รายได้สูงขึ้น  ส่วนผู้จบสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอื่นนอกจากแพทย์และวิศวกร สถาปนิกควรทำให้เกิดระบบการจ้างงานที่ให้รายได้สูงขึ้น และมีความก้าวหน้าได้มากขึ้น

                                9.  ระดมทุนเพื่อพัฒนาหรือปฏิรูปการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างจริงจังอย่างถือเป็นวาระสำคัญของชาติ  โดยการปฏิรูปการเก็บภาษี  เช่น  เก็บภาษีมรดก  เพิ่มภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า  ภาษีการบริโภคฟุ่มเฟือย  และการหารายได้จากการให้สัมปทานสาธารณะสมบัติและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ  เข้ารัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพิ่มขึ้น  รวมทั้งอาจจะออกพันธบัตรเงินกู้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ด้วย เพราะการลงทุนเพื่อทำให้ประชาชนฉลาดและมีจิตสำนึก  เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมได้อย่างแท้จริง เมื่อประเทศพัฒนาเศรษฐกิจได้มากขึ้น รัฐก็จะมีรายได้จากภาษีมากพอที่จะจ่ายคืนพันธบัตรเงินกู้เพื่อการศึกษาในภายหลังได้

                        การจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ควรกำหนดว่าจะต้องใช้ในการศึกษาอย่างน้อย 25% และไม่ควรมีขั้นต่ำว่าให้จ้างบุคคลากรได้ไม่เกิน 40% ของงบประมาณโดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องการศึกษาซึ่งต้องใช้งบบุคคลากรมากกว่างบบริหารจัดการงานธุรการอื่น ๆ

                                    ระดม  ทรัพยากรนอกภาครัฐ  จากธุรกิจ  องค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ  สถาบันศาสนา  และทำให้โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง  คือให้ประชาชนในชุมชนรู้สึกการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการสร้างความเข้มแข็งและความอยู่รอดของชุมชน ประชาชนควรได้รับการเชื้อเชิญให้เป็น เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในเรื่องหลักสูตร  คุณภาพการเรียนการสอน  การหนุนช่วยด้านทรัพยากร รู้สึกว่าชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนรับผิดชอบไม่ใช่มองแบบแยกส่วนว่าโรงเรียนเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาฯ เท่านั้น

                                    ปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ให้เรียนรู้หลักพุทธศาสนาที่แท้จริงที่เกี่ยวข้องกับการช่วยดับทุกข์ทางสังคมอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง  ให้เณรและสงฆ์ที่อยู่ในวัยหนุ่มได้เรียนรู้วิชาการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนและชุมชน เพื่อให้สงฆ์ส่วนที่มีศักยภาพพัฒนาขึ้นมาเป็นครูและช่วยชุมชนได้เพิ่มขึ้น  ระดมปราชญ์ชาวบ้านและผู้มีความรู้ที่เกษียณจากงานประจำแล้วมาเป็นอาสาสมัครช่วยสอนช่วยให้ความรู้แก่นักเรียนและประชาชนในชุมชนเพิ่มขึ้น

                                10.  ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเชื่อมโยงกับการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองแบบทำให้ประชาชนและชุมชนเข้มแข็งขึ้น

                                    การจะปฏิรูปให้คนทั้งประเทศมีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้นและดีขึ้นเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกกระทรวงทุกหน่วยงานของภาคเอกชนและภาคสังคมประชาควรตระหนักและเข้ามีส่วนรวม ไม่ใช่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาทำแต่ผู้เดียว การจะปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนทั้งประเทศให้เกิดผลได้จริงต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองในการที่จะกระจายทรัพย์สิน  รายได้  ความรู้  การมีงานทำ  ฐานะทางสังคม อำนาจต่อรองทางการเมือง (เช่น การจัดตั้งกลุ่มองค์กรต่างๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้น) ไปสู่กลุ่มคนจนซี่งเป็นคนส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง  รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปสื่อมวลชนและกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ  ให้มีเนื้อหาสาระที่เน้นการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม  สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ในเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองอย่างมีเหตุผลมีหลักวิชาการ  ทำให้สังคมไทยทั้งสังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  ไม่ใช่แค่สังคมการเลียนแบบ การนิยมบริโภค หรือการปลุกเร้าทางการเมืองโดยใช้อารมณ์รักชอบเกลียดเท่านั้น 

                                   ปฏิรูปการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และส่งเสริมให้สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อสาธารณะที่เน้นคุณภาพ เน้นสาระมากกว่าเพื่อการค้าหากำไร  ปฏิรูปการบริหารจัดการ  การให้บริการประชาชนของกระทรวงต่าง ๆ  ส่งเสริมการฝึกอบรม การจัดประชุม การจัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนาคนในชุมชนต่าง ๆ  ให้มีความรู้และร่วมมือกันจัดตั้งองค์กร เช่น กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน สหกรณ์ สหภาพแรงงาน สหพันธ์ กลุ่มอาชีพ สภาชุมชน เพื่อร่วมมือร่วมแรงทำการผลิตและการค้าขายแลกเปลี่ยน  และทำกิจกรรมเกี่ยวกับพัฒนาชุมชนและสวัสดิการชุมชน  เช่น  การดูแลเด็กเล็ก  คนชรา  คนยากจนและด้อยโอกาส การแก้ปัญหาและพัฒนาเด็กและเยาวชน การแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆให้มีประสิทธิภาพและให้บริการได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

                                                กลยุทธในการพัฒนาด้านความรู้และประสิทธิภาพเพื่อทำให้ประชาชนและชุมชนเข้มแข็งขึ้น

                                                1)  ส่งเสริมการพัฒนาทางเลือกที่เน้นการพึ่งตนเองของชุมชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้ภูมิปัญญา  แรงงาน ทรัพยากรภายในประเทศ  และเทคโนโลยีทางเลือก  เช่น  พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานขนาดย่อม  ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยคอก  และสารขจัดศัตรูพืชทำจากสมุนไพร  ส่งเสริมการปลูกป่าไม้ทางเศรษฐกิจ การทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวธรรมชาติเพื่อลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมี พัฒนาพลังงานทางเลือก  เพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรภายในประเทศและลดมลภาวะ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ที่จำเป็นทุกด้านรวมทั้งการจัดการฟาร์ม การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ การพัฒนาการบริหารจัดการวิธีการและกระบวนการผลิต การแปรรูป  การจัดเก็บ การจัดส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การฝึกและส่งเสริมอาชีพเสริมหรืออาชีพอื่น

                                                2)  การพัฒนางานค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกที่เหมาะสม  เช่น  เกษตรทางเลือก  (เกษตรอินทรีย์  ไม่ใช้ปุ๋ย  สารเคมี)  สาธารณสุขทางเลือก  (แพทย์แผนตะวันออก  สมุนไพร  การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ  โดยวิธีธรรมชาติ)  พลังงานทางเลือก  (พลังแสงอาทิตย์  ลมความร้อนใต้โลก  ชีวภาพ  ก๊าซโซฮอลไบโอดีเซลฯลฯ)  เพื่อหาทางใช้ทรัพยากรในประเทศแทนการสั่งเข้า  และหาทางใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน  ไม่ทำลายอย่างสิ้นเปลืองหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาวะแวดล้อมมาก  ช่วยลดต้นทุนการผลิต  ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ  ทำให้เกิดการซื้อของและจ้างงาน  ทำให้คนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น

                                                3)  การพัฒนาความรู้และทักษะทางด้านการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม การขนส่ง  การตลาด  การค้าภายในและภายนอกประเทศ  สาธารณูปโภคต่าง ๆ  การพัฒนาการให้ความรู้ด้านการบริการจัดการ  ข้อมูลข่าวสารการตลาด  การสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนากลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์  เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าต่ำ  และมีประสิทธิภาพมากขึ้น  พัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายต่ำ เป็นแหล่งการศึกษาหาความรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อโดยใช้ต้นทุนต่ำ

                                                4)  การให้บริการทางด้านการศึกษาและฝึกอบรม  และการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสาร  บริการที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาคนและชุมชน เช่นความรู้ด้านสุขภาพซึ่งรวมทั้งเรื่องการดูแลและพัฒนาสุขภาพจิตและสมอง   การฝึกพัฒนาอาชีพและบริการจัดหางาน  ความรู้ด้านบริหารจัดการฟาร์มเรื่องการเงินการบัญชี เรื่องระบบสหกรณ์การค้าขาย เรื่องเศรษฐกิจการเมืองสังคมและศิลปวัฒนธรรมที่จะช่วยให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะดูแลและพัฒนาตัวเองให้คนมีสุขภาพกายและใจที่ดี  มีความรู้และทักษะในการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเพิ่มขึ้น

                                                5)  การปรับปรุงปฏิรูประบบบริหารราชการและระบบการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ให้นักการเมืองและพนักงานของรัฐต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน มาเป็นแบบเปิดเผยข้อมูลข่าวสารงบประมาณโครงการต่าง ๆ อย่างโปร่งใส รับผิดชอบต่อการตรวจสอบดูแลของภาคประชาชนมากขึ้น  เพื่อลดการสูญเสียอันเนื่องมาจากความทุจริตฉ้อฉล  ความไม่เอาใจใส่  ความเฉื่อยชา  ล่าช้าต่าง ๆ  และทำงานบริหารจัดการเรื่องของสาธารณะมีประสิทธิภาพสามารถสนองความต้องการของประชาชนได้เพิ่มขึ้น

            6)  ปรับปรุงการวางแผนพัฒนาและการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมทั้งในระดับชาติ  ระดับภาค  จังหวัด  อำเภอ  ตำบล  หมู่บ้าน  ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดโดยต้องมีแผนงาน  โครงการ  มาตรการที่มีรายละเอียดชัดเจนและภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาระดับต่าง ๆ  ด้วยการปรับรื้อระบบแก้ไขการบริหารงานราชการให้สามารถทำงานตามแผนที่วางไว้ได้  รวมทั้งรู้จักประสานงานหน่วยงานราชการต่าง ๆ  หน่วยงานเอกชนและภาคสังคมประชา  เพื่อร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่นอย่างมุ่งผลงานตามเป้าหมายเพื่อประโยชน์ส่วน รวมมากกว่ายึดติดผลประโยชน์ของตัวเองหรือหน่วยงานของตน

                                                7)  การปฏิรูปการศึกษา  การวิจัย  การเผยแพร่ความรู้ที่ใช้งานได้และเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่  ผ่านทางสื่อสารมวลชนและแหล่งกระจายเผยแพร่ความรู้แหล่งต่าง ๆ  เพื่อช่วยให้คนรู้จักดูแลและใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถเข้าถึงและสร้างความรู้ที่ประยุกต์ใช้งานได้เพิ่มขึ้น  โดยควรเป็นความรู้ที่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาพัฒนาตัวเองและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแล้ว  ยังควรตระหนักถึงการพัฒนาตนเองทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณตามแนวศาสนาพุทธและศาสนาอื่น และการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างมองการณ์ไกล  เพื่อให้คนทั้งประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มีปัญญา และสังคมพัฒนาได้อย่างยั่งยืนยาวนาน

 


1 ปราโมทย์ ประสานกุล  และคณะ  การเปลี่ยนแปลงประชากรไทยกับการศึกษา  เอกสารประกอบการประชุมระดมความคิด เรื่อง ภาพการศึกษาไทยในอนาคต 10-20 ปี  วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2550  จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

2 วิทยากร เชียงกูล  แก้วิกฤติเศรษฐกิจแนวพุทธ  สายธาร 2551

 

ป้ายกำกับ: , ,

บทที่ 7 แนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความสุขของทั้งบุคคลและประเทศ


บทที่ 7  แนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความสุขของทั้งบุคคลและประเทศ

บทนี้เสนอแนวคิดของผู้วิจัยว่าหากเราเน้นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความสุขทั้งสำหรับผู้เรียน ครูอาจารย์และเพื่อความสุขประชาชาติ คือของคนทั้งประเทศหากเรามุ่งจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความสุข และตั้งเป้าหมายการศึกษาว่าเพื่อความสุขของชุมชนและประเทศแล้ว เราจะมีโอกาสทำให้ผู้เรียนทั้งเรียนได้เก่งและเป็นคนดีเพื่อสังคม และสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพไปช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน มากกว่าการตั้งเป้าหมายทั้งในส่วนบุคคลและสำหรับประเทศเพื่อการแข่งขันเอาชนะ และเพื่อสร้างความสำเร็จแบบเน้นความมั่งคั่งและอำนาจ1

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ:

บทที่ 7 แนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความสุขของทั้งบุคคลและประเทศ


บทที่ 7  แนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความสุขของทั้งบุคคลและประเทศ

บทนี้เสนอแนวคิดของผู้วิจัยว่าหากเราเน้นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความสุขทั้งสำหรับผู้เรียน ครูอาจารย์และเพื่อความสุขประชาชาติ คือของคนทั้งประเทศหากเรามุ่งจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความสุข และตั้งเป้าหมายการศึกษาว่าเพื่อความสุขของชุมชนและประเทศแล้ว เราจะมีโอกาสทำให้ผู้เรียนทั้งเรียนได้เก่งและเป็นคนดีเพื่อสังคม และสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพไปช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน มากกว่าการตั้งเป้าหมายทั้งในส่วนบุคคลและสำหรับประเทศเพื่อการแข่งขันเอาชนะ และเพื่อสร้างความสำเร็จแบบเน้นความมั่งคั่งและอำนาจ1

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: , ,

บทที่ 6 ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา


บทที่ 6 ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา

                        บทนี้เสนอ สรุปสังเคราะห์ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 6 ด้าน สำหรับ 6 ปี ข้างหน้าของกระทรวงศึกษาธิการ และบทวิเคราะห์ให้ความเห็นเพิ่มเติมโดยผู้วิจัย

Read the rest of this entry »

 

บทที่ 5 ปัญหาการพัฒนาครู อาจารย์


บทที่ 5 ปัญหาการพัฒนาครู อาจารย์

บทนี้วิเคราะห์เรื่องจำนวนและปัญหาการขาดแคลนครูอาจารย์ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ปัญหาของครูอาจารย์ในด้านต่าง ๆ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ ซึ่งควรถือว่ามีความสำคัญอันดับที่ 1 ถ้าต้องการทำให้การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจริง

Read the rest of this entry »

 

บทที่ 4 ปัญหาการพัฒนาคุณภาพในการจัดการการศึกษา


บทที่ 4 ปัญหาการพัฒนาคุณภาพในการจัดการการศึกษา บทนี้นำเสนอเรื่องคุณภาพการศึกษาโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น การประเมินคุณภาพภายนอกของการศึกษาระดับต่าง ๆ โดยสมศ. ทั้งด้านผู้เรียน ครู ผู้บริหาร สถานศึกษา การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในช่วงชั้นที่สำคัญ สรุปการวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพสถานศึกษาและนักเรียนและข้อเสนอแนะ แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

Read the rest of this entry »

 

บทที่ 3 ปัญหาความไม่เสมอภาคในการได้รับบริการทางการศึกษา



s

บทที่ 3 ปัญหาความไม่เสมอภาคในการได้รับบริการทางการศึกษา

บทนี้เสนอรายงานและการวิเคราะห์เรื่อง ความไม่เสมอภาคในการได้รับบริการทางการศึกษาแบบทางการของภูมิภาค จังหวัดและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยสรุปวิเคราะห์จากสถิติการสำรวจประเมินและงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์การศึกษาฉบับต่าง ๆ มีทั้งเปรียบเทียบกับต่างประเทศและการวิจัยเรื่องการจัดสรรงบประมาณ กำลังคน และการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากการสอบระดับชาติของนักเรียนจากเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: ,

บทที่2 การจัดการศึกษาในปีการศึกษา 2550-2551


บทที่2 การจัดการศึกษาในปีการศึกษา 2550-2551

บทนี้เป็นรายงานและการวิเคราะห์จากสถิติการศึกษา งบประมาณ และแรงงาน เพื่อแสดงถึงโอกาสในการได้รับการศึกษาของประชาชนในระดับต่าง ๆ และประเภทต่าง ๆ รวมทั้งแสดงถึงการจัดสรรงบประมาณทางด้านการศึกษาและระดับการศึกษาของแรงงานที่มีงานทำ

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: ,

บทที่ 1 (สภาวะการศึกษาปี 50-51)


บทที่ 1

การเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย และความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

บทนี้ต้องการเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการจัดการศึกษาและโอกาสในการได้รับการศึกษาของประชาชน และถ้ามองย้อนกลับไป การจัดการศึกษาก็มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ การที่เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของไทยยังมีปัญหาในหลายด้าน แสดงว่าเรายังจัดการศึกษาให้ประชาชนมีความฉลาดและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมได้ยังไม่ดีพอ

Read the rest of this entry »

 

บรรณานุกรม (รายงานสภาวะการศึกษาปี 50-51)


บรรณานุกรม

กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงาน กระทรวงศึกษาธิการ สถิติการศึกษาของประเทศไทย ปีการศึกษา 2550 สกศ.2551 (เอกสารถ่ายสำเนา)

Read the rest of this entry »

 

สภาวะการศึกษาไทย ปี 50/51 ปัญหาความเสมอภาคและคุณภาพของการศึกษาไทย (บทสรุปสำหรับผู้บริหาร)


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

รายงานฉบับนี้เป็นรายงานวิจัยเชิงเอกสาร แบบสรุปประเมินผล วิเคราะห์การดำเนินการจัดการศึกษาในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้วิจัยได้เน้นเรื่องปัญหาคุณภาพ ความเสมอภาคในการจัดการศึกษา และปัญหาการพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ รวมทั้งปัญหาการจัดการศึกษาด้านอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เรายังปฎิรูปหรือพัฒนาการศึกษาเพื่อประชาชนทั้งประเทศได้ไม่ดีเท่าที่ควร

รายงานแบ่งเป็น 8 บท มีเนื้อหาในแต่ละบทที่สรุปใจความสำคัญดังต่อไปนี้

Read the rest of this entry »

 

ป้ายกำกับ: