RSS

Category Archives: สหกรณ์

ทางออกของปัญหา:ทางรอดของประชาชนไทยคือระบบสหกรณ์คู่ไปกับเศรษฐกิจพอเพียง


บทความที่เขียนใน นสพ. ผู้จัดการรายสัปดาห์ 5 ตุลาคม 2550 17:12 น.
       ระบบทุนนิยมแบบที่รัฐบาลทุกรัฐบาลและพรรคใหญ่ทุกพรรคสนับสนุนอยู่จะไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมได้เพราะเป็นทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารของบริษัททุนข้ามชาติ การพัฒนาแนวนี้ จะทำให้เกิดการเอาเปรียบทั้งทรัพยากรและคนในประเทศ ความไม่สมดุลและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างกลุ่มคนไทยมากขึ้น ทางรอดของประชาชนไทย คือต้องพัฒนาระบบสหกรณ์ ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจพอเพียงหรือเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองในระดับประเทศเป็นสัดส่วนสูงขึ้น
       
        ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรจัดตั้งทางเศรษฐกิจแบบประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันและบริหารแบบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของสมาชิกโดยรวมและชุมชนนั้น เป็นทางเลือกที่สามที่ดีกว่าทั้งทุนนิยมล้วนๆ และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางล้วนๆ รวมทั้งระบบรัฐวิสาหกิจ
       
       ระบบสหกรณ์ต่างจากและดีกว่าทุนนิยม
ตรงที่เป็นระบบที่ตัดพ่อค้าคนกลางและกำไรของนายทุนเอกชนออกไป พนักงานผู้ผลิต ผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
       
       ระบบสหกรณ์ในยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ ฯลฯ สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจแบบเครือข่ายขนาดใหญ่และมีสัดส่วนในตลาดที่สำคัญกว่าของไทยหลายเท่า แต่คนไทยถูกครอบงำด้วยระบบการศึกษาและข้อมูลข่าวสารจากบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตกให้เชื่อในแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมด้านเดียว และมองข้ามระบบสหกรณ์ซึ่งในประเทศไทยถูกตีความอย่างแคบๆทำให้เป็นองค์กรเล็กๆ เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตรที่มีข้อจำกัดเป็นเพียงหน่วยงานเพื่อการกู้ยืมเงินอยู่ภายใต้ระบบราชการและกลุ่มนายธนาคารที่ไม่ได้เปิดช่องให้สหกรณ์ไทยเติบโตเป็นธนาคาร เป็นเครือข่ายร้านค้าปลีก เป็นเจ้าของโรงงานธุรกิจขนาดใหญ่ ฯลฯ เหมือนสหกรณ์ในประเทศอื่น
       
       ใน ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ประชากร1 ใน 2 เป็นสมาชิกสหกรณ์ ประชาชนหรือครัวเรือนในแคนาดา นอร์เวย์ ญี่ปุ่น 1 ใน 3 เป็นสมาชิกสหกรณ์ ประชากรในเยอรมนี สหรัฐฯ 1 ใน 4 เป็นสมาชิกสหกรณ์
       
       ประเทศที่ขบวนการสหกรณ์ก้าวหน้า มีสหกรณ์สามารถเข้าไปแทนที่บริษัทธุรกิจเอกชนได้ แทบทุกสาขาทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์คนงาน, สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์อเนกประสงค์ที่มีเครือข่ายกว้างขวางระดับเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ สหกรณ์เป็นเจ้าของธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทและโรงงานขนาดใหญ่ เครือข่ายร้านค้า มีธุรกิจระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีสหกรณ์บุคคลากรด้านการแพทย์ที่มีโรงพยาบาลและเครือข่ายคลินิก สหกรณ์ที่อยู่อาศัย สหกรณ์บางแห่งมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัยของตนเอง สอนทั้งเรื่องการบริหารจัดการสหกรณ์ และวิชาอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์ให้บริการด้านน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ สหกรณ์ให้บริการด้านอื่นๆอีกมากมาย ฯลฯ
       
       สหกรณ์เกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์ผู้บริโภคหรือสหกรณ์ค้าปลีก
ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สหกรณ์มีสัดส่วนการตลาดค่อนข้างสำคัญโดยเฉพาะในภาคเกษตร ภาคการค้าปลีก ธนาคารและการประกันภัย ในประเทศลาตินอเมริกา และเอเชียบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหกรณ์ทั้ง 3 ประเภทนี้มีบทบาทและสัดส่วนในการตลาดที่สูงกว่าสหกรณ์ของไทยมาก รวมทั้งในยุโรปและลาตินอเมริกายังมีสหกรณ์ที่พนักงาน, คนงานเป็นเจ้าของโรงงานหรือธุรกิจเอง ซึ่งประชาชนไทยยังไม่ค่อยรู้จักหรือยังไม่ฝันถึง
       
        ระบบทุนนิยมสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สร้างปัญหาการทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อม และทำลายวัฒนธรรมค่านิยมดั้งเดิมมาก ทำให้คนบางส่วนเริ่มคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยแตะเบรกไม่ให้เราพัฒนาทุนนิยมแบบสุดโต่ง คือโลภ และเป็นหนี้มากเกินไปได้ แต่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเชิงความคิดค่านิยมที่ตีความได้ต่างๆนานา
       
       ระบบทุนนิยมกรรมสิทธิ์ของเอกชน เพื่อหากำไรสูงสุดในตลาด)นั้นถึงจะมีจุดแข็งในแง่ของการส่งเสริมแรงจูงใจและการแข่งขันแต่ก็มีจุดอ่อนในการที่ทุนต้องมุ่งหากำไร และขยายการลงทุนตลอดเวลา เงินทุนในระบบทุนนิยมโลกนั้นเหมือนเป็นสัตว์ร้ายที่นั่งนอนอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้กินดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือกำไรไม่ได้ ดังนั้นระบบทุนนิยม จึงสร้างปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสภาพแวดล้อม การรวมศูนย์ความมั่งคั่งในมือนายทุนกลุ่มน้อย และการเพิ่มความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความเครียดและความทุกข์มากขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยพื้นฐาน
       
        ถ้าจะให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ผลจริง เราต้องปฎิรูประบบเศรษฐกิจให้ต่างไปจากระบบทุนนิยม โดยการเปลี่ยนระบบการผลิต การจัดจำหน่าย และให้บริการในเศรษฐกิจหลายสาขาให้เป็นระบบสหกรณ์ ซึ่งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะสมาชิกทุกคนได้เป็นเจ้าของทุนร่วมกัน บริหารอย่างเป็นประชาธิปไตย และแบ่งปันผลผลิตและบริการอย่างเป็นธรรมและเอื้อเฟื้อต่อชุมชนและสังคม
       
       ระบบสหกรณ์จะลดการกระจุกตัวของทุน กระจายทรัพย์สินและรายได้ ให้เป็นธรรมขึ้น ทำให้คนจนส่วนใหญ่ได้มีงานทำ มีอาหาร ที่อยู่อาศัย การสาธารณสุข ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ พอเพียงต่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือ สหกรณ์มุ่งประโยชน์สมาชิกและชุมชนส่วนรวมมากกว่าเพียงเพื่อผลกำไรของผู้ถือหุ้น สหกรณ์ที่พัฒนาแล้วในญี่ปุ่น ยุโรป คำนึงเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และสินค้าอื่น และความยั่งยืนของธรรมชาติสภาพแวดล้อมมากกว่าบริษัทในระบบทุนนิยม
       
       นี่คือทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วในประเทศอื่นว่าเป็นไปได้จริง หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนไทยต้องช่วยกันศึกษา เผยแพร่และผลักดันให้เกิดขบวนการสหกรณ์ที่เข้มแข็ง เราจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ก้าวหน้ากว่าระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารประเทศทุนนิยมศูนย์กลางในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
       
       (ผู้สนใจอาจอ่านเพิ่มเติมได้จาก วิทยากร เชียงกูล หยุดวิกฤติซ้ำซาก ด้วยระบบสหกรณ์ บ้านพระอาทิตย์ 2550)
 

ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่ดีกว่าทั้งทุนนิยม และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง


ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่ดีกว่าทั้งทุนนิยม และสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง 

      สหกรณ์ หมายถึง “สมาคมที่เป็นอิสระของกลุ่มคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อสนองความต้องการและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของพวกเขา โดยการเป็นเจ้าของ ร่วมกันและดำเนินการบริการแบบประชาธิปไตย” คำว่าสหกรณ์จึงมีความหมายกว้างว่า สหกรณ์เกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ ฯลฯ ที่จดทะเบียนภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ คือยังหมายรวมถึง กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย และชื่อกลุ่มขององค์กรทางเศรษฐกิจของประชาชนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้คำว่าสหกรณ์นำหน้าด้วย

      ระบบสหกรณ์ดีกว่าทุนนิยม ในแง่ที่ว่าสมาชิกเป็นทั้งเจ้าของและผู้ซื้อผู้ใช้บริการ จึงลดการเอาเปรียบหากำไรเกินควรของนายทุนพ่อค้าคนกลางไปได้ และเป็นระบบบริหารที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบการถือหุ้นในบริษัทภายใต้ระบบทุนนิยม เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์แต่ละคนมีเสียงในที่ประชุมใหญ่เท่ากัน ไม่ว่าใครจะถือหุ้นมากหรือน้อย การปันผลกำไรของสหกรณ์ก็ไม่ได้จ่ายตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังจ่ายตามกิจกรรมที่สมาชิกดำเนินการกับสหกรณ์ รวมทั้งสหกรณ์หลายแห่งยังจ่ายเงินปันผลกำไรส่วนหนึ่งให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย

      ระบบสหกรณ์ดีกว่าสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง คือเป็นองค์กรขนาดกะทัดรัด ที่มีระบบบริหารแบบประชาธิปไตย มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สมาชิกตรวจสอบดูแลความโปร่งใสในการบริหารของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นระบบข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่โตเทอะทะ มีลักษณะบังคับใช้อำนาจจากบนลงล่าง มีโอกาสขาดประสิทธิภาพ และทุจริตได้มากกว่า ขณะที่ระบบสหกรณ์ การเป็นสมาชิกเป็นโดยสมัครใจ เป็นประชาธิปไตยแบบสมาชิกมีส่วนร่วม ที่สมาชิกมีความรู้สึกมีส่วนได้เสียโดยตรง

      อย่างไรก็ตาม สหกรณ์จะพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหน ก็อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า สหกรณ์จะต้องมีสมาชิกและคณะกรรมการที่เข้าใจอุดมการณ์สหกรณ์ และมีการจัดระบบบริหารที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพด้วย

      ที่สหกรณ์ในประเทศไทยพัฒนาได้จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศลาตินอเมริกาบางประเทศ เกิดจากหลายปัจจัยเช่น

      1) สหกรณ์ของไทยอยู่ภายใต้ระบบราชการ ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง และรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้สหกรณ์เติบโตมากไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแนวคิดชนชั้นนำในประเทศไทยเป็นแนวคิดแบบเจ้าขุนมูลนายที่ติดจารีตประเพณีเดิม

      2) มีกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด ทำให้สหกรณ์ทำกิจกรรมหลายอย่างไม่ได้ เช่น ตั้งเป็นธนาคารไม่ได้ ให้คนอื่นนอกจากสมาชิก ฝากเงิน กู้เงินไม่ได้ ฯลฯ สหกรณ์ในประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษน้อยและแข่งขันกับระบบพ่อค้านายทุนได้ยาก

      3) การพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรสหกรณ์เองก็ยังมีข้อจำกัด เช่น สมาชิกไม่ได้มีอุดมการณ์และร่วมมือกันดูแลพัฒนาสหกรณ์อย่างจริงจัง มีการทุจริตโดยผู้บริหารเกิดขึ้นบ้าง หรือบริหารไม่เก่ง การกล่อมทางความคิดทางสังคมของประชาชนผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชนและการเมืองมักเน้นแต่แนวคิดแบบยกย่องเจ้าขุนมูลนาย และระบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันหากำไรส่วนตัวมากกว่าการทำกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน ทำให้อุดมการณ์สหกรณ์ไม่ได้พัฒนาอย่างเข้มแข็ง

      4) กลุ่มนักคิดนักกิจกรรม สังคมนิยมรวมทั้งนักวิชาการหัวก้าวหน้าของไทย ไม่ได้สนใจเรื่องของสหกรณ์ เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการหรือระบบทุนนิยม ทั้งๆที่สหกรณ์ในประเทศอื่นๆเป็นอิสระและเป็นทางเลือกที่ต่างไปจากทุนนิยม ทำให้ผู้มีการศึกษา ปัญญาชนไม่เข้ามาช่วยพัฒนาขบวนการสหกรณ์มากเหมือนในประเทศอื่น

      สหกรณ์ในต่างประเทศ ที่เขาเติบโตได้เพราะภาคประชาชนเข้มแข็ง และสหกรณ์เป็นอิสระจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือในด้านการออกกฎหมาย การส่งเสริมช่วยเหลือให้สหกรณ์มีต้นทุนต่ำพอที่จะแข่งขันกับพ่อค้านายทุนได้ ช่วยเหลือด้านการให้การศึกษาเรื่องสหกรณ์และการบริหารจัดการ และมีกองทุนหมุนเวียน ให้สหกรณ์ตั้งใหม่กู้ยืมไปดำเนินการโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่รัฐบาลจะไม่เข้ามาควบคุมสหกรณ์แบบเข้มงวดเหมือนเป็นส่วนหนึ่งราชการแบบของไทย ทำให้สหกรณ์ไทยเติบโตได้ช้ากว่าประเทศอื่น สมาชิกและผู้บริหารสหกรณ์ของไทยบางส่วนก็หวังพึ่งแต่รัฐบาล ทำให้ชาวสหกรณ์ไทยไม่เรียนรู้ที่จะเติบโตด้วยลำแข้งของตัวเอง เหมือนชาวสหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม และในลาตินอเมริกา

      สหกรณ์ในประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมเช่น โซเวียตรุสเซีย ยุโรปตะวันออก ก็มีปัญหาติดในระบบข้าราชการคล้ายกันไทย เมื่อประเทศสังคมนิยมเปลี่ยนมาเป็นทุนนิยม และคิดจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจและสหกรณ์ ให้เป็นบริษัทเอกชน ได้มีชาวสหกรณ์บางส่วนไม่เห็นด้วย และเสนอให้แปรรูปเป็นสหกรณ์ที่ยังเป็นของสมาชิกอยู่ แต่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง ปรากฏว่าสหกรณ์รูปแบบใหม่ที่เป็นอิสระในประเทศเหล่านี้บริหารได้ดีกว่าสหกรณ์ภายใต้รัฐบาลสังคมนิยมแบบเก่า และสหกรณ์แบบใหม่สามารถทำประโยชน์ให้สมาชิกและชุมชนได้ดีกว่าการแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน

      สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มักจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์การเกษตรบางแห่ง ซึ่งกิจกรรมราวครึ่งหนึ่งของสหกรณ์การเกษตรของไทยก็เป็นธุรกิจออมทรัพย์และให้เงินกู้ เพราะเป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายและบริหารได้ง่าย สมาชิกได้ประโยชน์สูงกว่าการไปกู้เงิน ซื้อหุ้นหรือฝากเงินที่ธนาคารพาณิชย์ เพราะระบบสหกรณ์เท่ากับเป็นการตัดคนกลางออกไป สหกรณ์มีกำไรก็ยังปันผลให้แก่สมาชิก

      สหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศอื่นๆเติบโตกว่าของไทยมาก ในยุโรป สหกรณ์เกษตรและสหกร์ออมทรัพย์มีการพัฒนาเป็นธนาคารสหกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร RABO BANK ในเนเธอร์แลนด์   ธนาคาร CREDIT AGRICOLE ในฝรั่งเศส ธนาคาร DG ในเยอรมันนอกจากนี้สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์คนงาน สหกรณ์ประกันภัย สหกรณ์เอนกประสงค์ก็เติบโตมากทั้งในญี่ปุ่น สวีเดน สเปน อิตาลีและประเทศอื่นๆ ชุมชนสหกรณ์ขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายสหกรณ์หลายร้อยหรือหลายพันแห่งในญี่ปุ่นและยุโรป มีพนักงานและสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เครือข่าย ละ 7-8 หมื่นคน และมียอดรวมธุรกิจปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ที่สามารถเข้าไปแทนที่องค์กรธุรกิจเอกชนแบบทุนนิยม และแบบรัฐวิสาหกิจได้ในหลายสาขามาก ประเทศที่พัฒนาทุนนิยมสูง มักมีทั้งสหกรณ์การผลิต สหกรณ์การบริโภค สหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของ สหกรณ์ผู้ให้บริการ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การประมง สหกรณ์ทำไวน์ สหกรณ์ให้บริการการรักษาพยาบาล การซ่อมแซมดูแลบ้าน การจัดงานศพ รถโดยสาร รถแท็กซี่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ เติบโตควบคู่กันไปกับภาคธุรกิจเอกชน

      สหกรณ์มีตั้งแต่ขนาดเล็ก 5-10 คน จนถึงขนาดใหญ่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านและมีพนักงาน (ที่เป็นสมาชิก/เจ้าของด้วย) หลายพันหลายหมื่นคน คนสวีเดน 3 ใน 5 คนเป็นสมาชิกสหกรณ์ และสหกรณ์มีสัดส่วนในสินค้าของผู้บริโภค 19%

      ในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ สหกรณ์การเกษตรเข้มแข็งมาก การผลิตนมในสวีเดนอยู่ในระบบสหกรณ์ 99 % ในประเทศยุโรปอื่นอีก 8 ประเทศ และสหรัฐ กรผลิตนมในระบบสหกรณ์มีสัดส่วนการตลาดมากกว่า 70% ในแต่ละประเทศการเก็บเกี่ยวข้าว 95% ในญี่ปุ่นอยู่ในระบบสหกรณ์ สหกรณ์การเกษตรในต่างประเทศ ทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น ขายปัจจัยการผลิตให้สมาชิก (เพราะการรวมกันซื้อทำให้มีอำนาจต่อรองการซื้อมากกว่าต่างคนต่างซื้อ) ให้บริการการผลิต การคลังสินค้า การขนส่ง การประกัน การแปรรูปอาหาร การขายสินค้าเกษตรที่อยู่ในระบบสหกรณ์เป็นสัดส่วนสูง มีทั้ง ข้าว เป็ดไก่ ผักผลไม้ ถั่วเหลือง ฝ้าย กาแฟ การประมง ทั้งในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เช่น เกาหลีใต้ บราซิล สหกรณ์การเกษตรในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม มีกระทั่งธนาคารของตัวเองซึ่งให้บริการอื่นๆ เช่นการประกันภัย การรับส่งเงินไปต่างเมืองหรือต่างประเทศด้วย

      สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์ค้าส่ง ค้าปลีก ก็มีสัดส่วนที่สำคัญ ในยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆเช่นในนิวซีแลนด์ การค้าเครื่องชำ 54% อยู่ในระบบสหกรณ์ ในญี่ปุ่น ครัวเรือนชาวญี่ปุ่น 1 ใน 5 เป็นสมาชิกสหกรณ์ค้าปลีกในท้องถิ่น นอกจากสหกรณ์จะช่วยลดพ่อค้าคนกลางแล้ว สหกรณ์ยังสามารถดูแลเรื่อง คุณภาพ ความปลอดภัย การไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่เอาเปรียบผู้ผลิตได้ดีกว่าธุรกิจเอกชนในระบบทุนนิยมด้วย เพราะสหกรณ์เป็นเจ้าของโดยสมาชิกในชุมชน จึงสนใจผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และชุมชนมากกว่านายทุนเอกชน ซึ่งสนใจแต่ผลกำไรส่วนตัว และเป็นคนที่อยู่นอกชุมชน หรือแม้แต่เป็นนายทุนต่างชาติ

      สหกรณ์เพื่อที่อยู่อาศัย มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนจนในเมืองในหลายประเทศมีที่อยู่อาศัย จะเป็นแบบผ่อนซื้อหรือเช่าก็แล้วแต่ ระบบสหกรณ์สามารถทำให้ประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่าระบบนายทุนเอกชน เพราะไม่ต้องไปแบ่งปันผลกำไรให้บริษัทเอกชน ทำให้ราคาต่ำลง และประชาชนสามารถผ่อนส่งระยะยาวได้ ในสหรัฐและแคนาดามีสหกรณ์หอพักนักศึกษาช่วยให้นักศึกษามีที่พักที่เหมาะสม และได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเป็นกลุ่ม

      แม้แต่สาธารณูปโภค เช่นไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก็มีการบริหารจัดการในรูปสหกรณ์สาธารณูปโภค ทั้งในสหรัฐ ยุโรป ลาตินอเมริกาและที่อื่นๆ ระบบสหกรณ์สามารถให้บริการสาธารณูปโภค ได้ดีกว่าระบบรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน เพราะรัฐวิสาหกิจมักมีปัญหาด้านการขาดประสิทธิภาพและฉ้อฉล ขณะที่บริษัทเอกชนมุ่งหากำไรของเจ้าของที่เป็นเอกชนมากไป

      ประเทศไทยได้แต่เถียงกันว่า จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนดีหรือไม่ดี น่าจะคิดถึงทางเลือกที่ 3 คือแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นสหกรณ์ โดยให้พนักงานผู้บริการและและผู้ใช้บริการ เข้ามาถือหุ้นร่วมกัน เลือกตั้งคณะผู้บริหารนโยบายและให้คณะผู้บริหารนโยบายไปจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาทำ ในประเทศอื่น สหกรณ์สาธารณูปโภค เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่าและเป็นธรรมกับประชาชนมากกว่ารัฐวิสาหกิจและเอกชน

      ในเวเนซูเอล่า บราซิล อาเจนตินา โบลิเวีย เปรู ที่พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าได้รับเลือกเป็นรัฐบาล มีการพัฒนาระบบสหกรณ์อย่างคึกคักมาก เช่นรัฐบาลเวเนซูเอล่าสนับสนุนในแง่การออกกฎหมายช่วยสหกรณ์ การจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืม การจัดการศึกษาอบรมวิชาการบริหารจัดการสหกรณ์ ให้บัณฑิตใหม่และประชาชนที่ต้องการจัดตั้งสหกรณ์ รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันขอจัดตั้งสหกรณ์ได้ง่าย สมาชิกสหกรณ์เลือกผู้บริหารและควบคุมดูแลกันเอง มีการแปรรูปโรงงานของธุรกิจเอกชนที่เผชิญปัญหาหนี้เสีย หยุดดำเนินการ หรือทำท่าจะไม่รอดให้เป็นระบบสหกรณ์ โดยคนงานเข้าไปถือหุ้นและบริหารเอง รัฐบาลให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำและปลอดดอกเบี้ยในปีแรกๆเพื่อฟื้นฟูกิจการใหม่ ปรากฏว่า ระบบสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของ สามารถฟื้นฟูกิจการและดำเนินได้ดีกว่าบริษัทเอกชน เพราะคนงานเมื่อเป็นเจ้าของเอง รู้สึกว่าเป็นของเขา ถ้าเขาตั้งใจทำงานให้ดี สหกรณ์มีกำไร เขาก็จะได้รับปันผลมากขึ้น ทำให้พวกเขาตั้งใจทำงาน การทุจริตรั่วไหลลดน้อยลง

      ระบบสหกรณ์จึงมีข้อได้เปรียบระบบธุรกิจเอกชน ถ้าสมาชิกเอาจริง จุดมุ่งหมายหลักของโรงงานแบบสหกรณ์คือช่วยให้คนงานมีงานทำ ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เป็นแนวคิดที่ต่างไปจากระบบทุนนิยมที่สนใจแต่การหากำไรของเจ้าทุน

      สหกรณ์เป็นรูปแบบการบริหารแบบกระจายอำนาจและทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพกว่า ระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สหกรณ์แต่ละแห่งจะต่างคนต่างพัฒนา โดยจะไม่ล้มครืนทั้งระบบเหมือนระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางและพรรคการเมืองมากเกินไป

      การให้คนงานเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่มีรัฐบาลก้าวหน้าแนวสังคมนิยมเท่านั้น ในยุโรปเองก็มีสหกรณ์ผู้ผลิต หรือสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง ชุมนุมหรือสหพันธ์สหกรณ์ไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายเสมอไป หลายแห่งก็อิงกับแนวคิดทางศาสนาหรือท้องถิ่นนิยม

      ที่เมืองมอนดรากอน (MONDRAGON) แคว้นบาสก์ ประเทศสเปน ผู้สำเร็จอาชีวะศึกษา 5 คน ได้จัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตเตาจากน้ำมันก๊าดขึ้นเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้ได้เติบโตเป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มีเครือข่ายมากกว่า 150 แห่ง เป็นสหกรณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและให้บริการ ฯลฯ ในหลายสาขา รวมทั้งธนาคารและมหาวิทยาลัยของตนเอง มีพนักงานที่เป็นสมาชิกคือเป็นเจ้าของสหกรณ์ด้วยรวมทั้งหมด 70,000 คน เป็องค์กรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นบาสก์ และมีเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศสเปน เป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มียอดขายสูงราวอันดับ 10 ของสหพันธ์สหกรณ์ทั่วโลก(ปีละกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์)

      การจะทำให้ระบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการปลูกฝังแนวคิดอุดมการณ์ให้ประชาชนเห็นว่า แนวทางการพัฒนาธุรกิจแบบสหกรณ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกดีกว่าระบบทุนนิยมอย่างไร และต้องมีการฝึกอบรม ด้านการเป็นผู้บริหารจัดการและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในหลายประเทศ มีโรงเรียน มีวิทยาลัยที่ส่งเสริมด้านสหกรณ์นี้โดยเฉพาะ สหกรณ์ขนาดใหญ่บางแห่งเป็นผู้ลงทุนดูแลเรื่องนี้เอง ที่สำคัญคือสมาชิกสหกรณ์ต้องสนใจดูแลเลือกและตรวจสอบผู้บริหาร ปัจจุบันสหกรณ์ยังมีบทบาทช่วยเหลือกันและกันสูง เช่นในอิตาลีรัฐบาลออกกฎหมาย ให้สหกรณ์ต้องแบ่งปันผลกำไร3%เข้ากองทุนเพื่อช่วยจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ๆในเขตที่ยากจน

      ในระดับระหว่างประเทศ มีสหพันธ์สหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม องค์กรพัฒนาการสหกรณ์ระหว่างประเทศ(ICA) องค์กรแรงงานสากล (ILO) สหประชาชาติ (UN) ที่สนใจให้ความช่วยเหลือพัฒนาสหกรณ์ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะนักวิชาการ นักวิชาชีพที่เป็นนักประชาธิปไตย เริ่มเห็นว่า สหกรณ์เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ และปัญหาเศรษฐกิจ สังคมอื่นๆ ได้ดีกว่าการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมหรือแนวเสรีนิยมใหม่

      ในประเทศไทย พรรคการเมือง และนักวิชาการส่วนใหญ่ยังคิดอยู่ในกรอบการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แม้แต่พวกที่เคยศึกษาสนใจเรื่องสังคมนิยมก็เคยคิดว่า หลังจากที่ประเทศสังคมนิยมหลายประเทศล้มเหลว ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทุนนิยมหรือตลาดเสรี มีนักวิชาการนักพัฒนาเอกชนหัวก้าวหน้าคัดค้านทุนนิยมอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้คิดหาทางเลือกใหม่ที่ชัดเจน รวมทั้งไม่ได้สนใจการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งสหกรณ์อย่างจริงจัง เพราะพวกเขาคุ้นกับการรับเงินสนับสนุนจากองค์ภายนอกมากว่า แต่กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ที่เข้มแข็ง ในประเทศไทยก็มีอยู่ แต่เป็นแค่องค์กรเล็กๆ ที่มองไม่เห็นภาพใหญ่ หรือขยายตัวไม่ออกเพราะติดกรอบใหญ่คือ ระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารทุนต่างชาติ กฎหมายที่ล้าหลัง และการไม่กล้าคิดพึ่งตนเอง ไม่กล้าพัฒนานอกกรอบที่ขวางทางอยู่

      นักวิชาการ นักสหภาพแรงงาน นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักกิจกรรมสังคม ฯลฯ ควรสนใจศึกษาและเข้ามามีส่วนสร้างส่วนพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในประเทศมากขึ้น เราต้องช่วยกันศึกษาว่า จะฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมในชนบทที่ประชาชนเคยตั้งกลุ่มช่วยเหลือกัน เช่น กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มต่างๆให้มีการจัดตั้งกลุ่มสมัยใหม่แบบสหกรณ์ได้อย่างไร จะช่วยให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ และกลุ่มประชาชนแบบใหม่ที่เข้มแข็ง และจะหาทางขยายบทบาทของพวกเขาอย่างไร และจะช่วยกันผลักดันปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ให้เป็นอิสระและมีโอกาสเติบโต พ้นจากระบบราชการและแข่งขันกับพ่อค้านายทุนได้ จนระบบสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจที่มีสัดส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เหมือนในประเทศอื่นๆได้อย่างไร นี่คือแนวทางเลือกใหม่ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีทั้งประสิทธิภาพเป็นธรรม และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง