RSS

Monthly Archives: ตุลาคม 2007

ทางออกของปัญหา:นโยบายพรรคการเมืองควรไปไกลกว่าตลาดเสรีและประชานิยม


บทความที่เขียนใน นสพ. ผู้จัดการรายสัปดาห์ 25 ตุลาคม 2550
พรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรคยังเสนอนโยบายแนวตลาดเสรีและประชานิยม ซึ่งในแง่การตลาดคงหาเสียงได้ดี แต่ไม่ได้เสนอทางออกที่แท้จริงสำหรับเศรษฐกิจของไทยซึ่งมีปัญหาเชิงโครงสร้างคือเป็นทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร

นโยบายแนวตลาดเสรียังสร้างปัญหาอื่นๆอีกมาก การเน้นการผลิตขนาดใหญ่ ที่ใช้เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ทุนมาก ใช้แรงงานน้อย ทำให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิตรายย่อยแข่งขันสู้ไม่ได้ ต้องล้มละลาย คนว่างงานเพิ่ม? เกษตรกร คนงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้ผลตอบแทนต่ำ มีรายได้ที่ซื้อของได้แท้จริงลดลง เพราะปัญหาราคาสินค้าสูงขึ้นการดำเนินนโยบายแบบตลาดเสรีพึ่งการลงทุนและการค้าต่างประเทศมากกว่าพึ่งตลาดภายในประเทศ จึงมีความเสี่ยงสูง

การพัฒนาในแนวตลาดเสรีและประชานิยม ยังส่งเสริมการเพิ่มการผลิตและการบริโภคเพื่อหากำไรเอกชนโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของคน ไม่สนใจการกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้เป็นธรรม นำไปสู่การบริโภครถยนต์ส่วนตัว การใช้สินค้า บริการ และพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของคนรวยและชนชั้นกลาง ทำให้ประเทศไทยใช้น้ำมันเพิ่มในอัตราสูงกว่าการเพิ่มผลผลิต ประเทศขาดดุลการค้าและเป็นหนี้มากขึ้น และทั้งทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายสมดุลของทั้งธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้เกิดวิกฤติสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” และวิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรม ที่โฆษณาให้คนคิดแต่เรื่องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง อย่างไม่เห็นการณ์ไกลและไม่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

ทางเลือกของไทยควรเป็นสังคมประชาธิปไตยใหม่

แนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติของไทยควรเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมประชาธิปไตยใหม่ที่ผสมผสานส่วนที่ดีของระบบตลาดเสรีที่เป็นธรรม (ไม่ใช่ทุนนิยมผูกขาดและกึ่งผูกขาด) ระบบสหกรณ์และการพึ่งตนเอง (ในระดับประเทศ) ได้เป็นสัดส่วนสูง ระบบที่เอื้อให้ประชาชนและพนักงานถือหุ้นในบริษัทและองค์กรต่างๆเป็นสัดส่วนที่สูง ระบบรัฐสวัสดิการที่เป็นประชาธิปไตยและมีประสิทธิภาพ ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคม คำนึงถึงปัญหาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมแบบชาวพุทธ ชาวอิสลาม ชาวคริสต์ ฯลฯ แบบดั้งเดิม ที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางสังคม คุณค่าทางจิตใจ มากกว่าคุณค่าที่คิดเป็นเงินเป็นการซื้อขายในราคาตลาด มาใช้แทนระบบทุนนิยมแบบผูกขาดที่เป็นบริวารบรรษัทข้ามชาติ

การสร้างทางเลือกใหม่เพื่อทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่เป็นธรรม ยั่งยืน เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ ควรใช้นโยบายใหม่คือ

1.เปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศแบบตลาดเสรี มาเน้น เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองในระดับชุมชนและประเทศ ลดสัดส่วนการพึ่งการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศลง เน้นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาแรงงาน ทรัพยากร เงินทุน ตลาดภายในประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาที่ดี มีงานทำ มีรายได้ที่จะซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศกันมากขึ้น

2.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีและงบประมาณ ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปราชการและรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปการศึกษา สื่อสารมวลชน ปฏิรูปการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจ สังคม ในทุกๆด้าน เพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้ การมีงานทำ การศึกษา ข้อมูลข่าวสารให้เป็นธรรมและทั่วถึง แก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และการผลิตโดยเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนและระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็งมาแทนที่ระบบบริษัทเอกชน

คนไทยควรเลิกบูชาระบบตลาดและการเปิดประตูเสรีอย่างหลงใหล เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เป็นจริงเป็นระบบผูกขาด โดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมจริง ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบและถูกครอบงำมากขึ้น คนไทยควรหันมาศึกษาแนวทางเลือกอื่นๆเช่นการควบคุมเงินตราต่างประเทศของมาเลเซีย การควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการออม และการลงทุนภายในประเทศของชิลี การเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าพึ่งพาต่างประเทศของ อินเดีย เวียดนาม ลาว ภูฏาน ศรีลังกา และอีกหลายประเทศ ซึ่งยืนต้านทานพายุจากวิกฤติทุนนิยมโลกได้ดีกว่าไทย

การบูชาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างหลงใหล ได้แผ่ซ่านเข้าในกรอบคิดความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นนำของไทยอย่างไม่รู้ตัว และที่น่าห่วงคือ คือ การที่ชนชั้นนำและคนทั่วไปไม่สนใจจะรับฟัง หรืออ่านแนวคิดที่เป็นทางเลือกใหม่ เช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย ระบบสหกรณ์ ระบบรัฐสวัสดิการ เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ พัฒนาแนวยั่งยืน ฯลฯ ทำให้สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดและไม่ได้พัฒนาความคิดสติปัญญาที่จะวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาอย่างวิพากษ์วิจารณ์และสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง

วิกฤติในประเทศไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่วิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น แต่เป็นวิกฤติทางกรอบคิดหรือวิกฤติทางภูมิปัญญาและการขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมของชนชั้นนำผู้ที่เริ่มมองเห็นแนวทางใหม่แนวคิดใหม่จะต้องช่วยกันจัดตั้งและเผยแพร่แนวทางการพัฒนาแบบสังคมประชาธิปไตยใหม่และระบบสหกรณ์ เพื่อรวมพลังผลักดันให้คนไทยส่วนใหญ่ เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่คิดถูกทำถูก เพื่อคนส่วนใหญ่ในระยะยาวให้ได้ก่อน เราจึงจะมีทางเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย และมีทางออกจากวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ได้

 

ป้ายกำกับ: , , , ,

ความร่วมมือจีน – ไทย มิตรภาพและสันติสุขต้องอยู่บนความเที่ยงธรรม (บทที่ 8)


8.  ความร่วมมือจีน – ไทย มิตรภาพและสันติสุขต้องอยู่บนความเที่ยงธรรม

( ปรับปรุงจากคำอภิปรายของ วิทยากร เชียงกูล  ในการประชุมสัมนาเรื่อง  ไทย – จีน จากสันติภาพ ภูมิภาค สู่ สันติสุขโลก   จัดโดยหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจ   วันที่ 9  ตุลาคม 2546  ณ หอประชุม   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ) 

      อยากจะเริ่มต้นว่า ถ้าเราจะพูดถึงมิตรภาพและความมั่นคง เราจะต้องพูดกันอย่างฉันท์เพื่อนที่ดี คือ ต้องพูดเรื่องความจริงและพูดกันอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ก็ยืนอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของ     ประชาชน เป็นมิตรภาพระหว่างประชาชน เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสองประเทศ ซึ่งบางกรณีก็อาจคล้ายกับของรัฐบาลหรือชนชั้นนำ บางกรณี อาจจะแตกต่าง อันนี้ต้องแยกแยะให้ชัด

      เวลานี้รัฐบาลทั้ง  2  ประเทศ เน้นแต่เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ดูว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจได้กระจายสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง  เป็นธรรมหรือไม่ ไม่คำนึงถึงว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นได้สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่  หรือว่า เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ซึ่งมุ่งที่จะแสวงหาทางร่ำรวยทางวัตถุ  ของคนรวยคนชั้นกลาง แล้วก็ไม่สนใจธรรมชาติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม  ไม่สนใจเรื่องคุณค่า เรื่องวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเศรษฐกิจ

      ถ้าเราจะพูดถึงความร่วมมือ พูดถึงมิตรภาพ เราต้องเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย  ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะหลงไปตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตะวันตก ซึ่งเน้นให้ส่งออก เน้นการค้า เน้นการพัฒนาทางวัตถุ  ซึ่งมันก็มีความจำเป็น มีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ว่าเราต้องมองทิศทางการพัฒนาเหล่านี้อย่างวิพากษ์วิจารณ์

      เราจะต้องมองว่า ทั้งไทยและจีนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทุนนิยมโลก เราถูกกำหนดโดยภาวะแวดล้อมจากภายนอกที่มีพลังอำนาจมาก  เราต้องเข้าใจทั้งโครงสร้างของสังคมทุนนิยมโลกและโครงสร้างภายในแต่ละประเทศเองที่มีผลต่อประชาชนต่างกลุ่มที่แตกต่างกัน

      ปัญหาใหญ่ของโลกขณะนี้คือว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของโลกมีความไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่งและทำให้โลกมีปัญหามาก  ความมั่งคั่งอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยเพียง 20% ของโลก ในขณะที่คน 80% นั้น ยังยากจน ไม่มีอำนาจซื้อ ผลผลิตล้นเกิน แต่คนไม่มีเงินจะซื้อ นี่คือปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน โลกไม่สามารถมีสันติสุขได้ โลกไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ความขัดแย้งสงครามทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมทั้งบางทีก็เกิดเป็นสงครามที่รุนแรงด้วย   ได้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่เป็นธรรม ที่ยังมีปัญหาความอดอยากยากจนยังมีการเอาเปรียบกันต่าง ๆ นานา

      โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมีบทบาทต่อประเทศต่าง ๆ อย่างสำคัญ  เวลานี้ทั้งจีนและไทยมุ่งเน้นการค้าขายกับสหรัฐมาก เพราะว่าสหรัฐเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด การที่เราหวังว่าเราส่งออกก่อนแล้วเราได้ดอลลาร์มา เพื่อเอาดอลลาร์ไปซื้อของ ไปทำอะไรต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศเราภายหลัง  ความจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น  ปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก   วันนี้สหรัฐเป็นประเทศที่เป็นลูกหนี้ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศสหรัฐขาดดุลการค้ามหาศาล รัฐบาลสหรัฐก็ขาดดุลงบประมาณด้วย เวลานี้สหรัฐอยู่ได้ด้วยเงินคนอื่น จีน ญี่ปุ่น ถือเงินสำรองดอลลาร์ไว้เยอะมาก ประเทศเอเชียที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐต่างไปซื้อ      พันธบัตรของสหรัฐ ซึ่งก็คือให้สหรัฐกู้เงินไปซื้อสินค้าราคาต่ำจากเอเชียมาบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ถ้าสหรัฐเกิดฟองสบู่แตกเมื่อไหร่  เศรษฐกิจทั่วโลกจะตกต่ำ ประเทศที่พึ่งพาผูกพันกับสหรัฐมากจะเสียหายมากกว่าประเทศที่พึ่งตลาดภายในประเทศได้สูง

      ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น   จีนไม่มีปัญหาเท่าไร เพราะว่าจีนยังไม่ได้ค้าขายกับต่างประเทศมากนักเลย  เพราะว่าจีนมีตลาดภายในประเทศใหญ่และมีสัดส่วนดีมานด์จากภายในประเทศสูง แต่เดี๋ยวนี้จีนเปิดการค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐมาก จีนก็เสี่ยงมากขึ้น

      ในแง่การค้าระหว่างประเทศ  ไทยกับจีนควรจะคิดถึงการแลกเปลี่ยนค้าขายกันโดยไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์   สร้างเงินสกุลเอเชียร่วมกันก็ได้ เพราะเวลานี้เอเชียนั้นมีมูลค่าผลผลิตสูงมาก  มีการค้าสูงมาก  แต่ว่าทิศทางของเอเชียยังไปมุ่งค้ากับสหรัฐ   ค้ากับยุโรป   ถ้าเราส่งเสริมให้คนประเทศในเอเชียเองมีรายได้ดีขึ้น ค่าแรงดีขึ้น  พวกเขาก็จะมีกำลังซื้อเพิ่ม เราก็จะขายของให้กันและกันได้มากขึ้น  จะส่งเสริมให้คนประเทศในเอเชียเองมีรายได้ดีขึ้น   ก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจจากภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น  โดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐมากเท่าที่เป็นอยู่

      หากเราคิดการ์ณไกล เราต้องเพิ่มการค้าขายและการร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน  โครงสร้างภายในประเทศของแต่ละประเทศก็ต้องดูแล ประเทศในเอเชียมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง  มีการกระจายทรัพย์สินรายได้ที่ไม่เป็นธรรม มีปัญหาต่าง ๆ ต้องแก้ไข  จากภายในด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

      เราควรมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ดีขึ้น  ไม่ใช่พัฒนาเพื่อความเติบโตอย่างเดียว ต้องพัฒนาให้ยั่งยืน ให้เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากไทยกับจีนจะร่วมมือกันทางด้านการค้าการลงทุนทางธุรกิจแล้ว  ควรร่วมมือกันทางด้านสังคมด้วย เช่น ร่วมมือกันในเรื่องการศึกษา เรื่อง สาธารณสุข เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เรื่องต่าง ๆ ที่เราจะสามารถร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ยังมีอีกมากมาย นอกจากนี้ก็ควรสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรประชาชนต่าง ๆ มากขึ้น  ไม่ใช่ความร่วมมือเฉพาะระดับรัฐบาลและระดับองค์การธุรกิจเท่านั้น ประชาชน 2 ประเทศถึงจะสร้างมิตรภาพที่แท้จริงได้ โลกนี้ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยการแข่งขันกันอย่างเดียว คนเราจะอยู่กันอย่างสันติสุขได้ต้องร่วมมือและแบ่งปันกัน  อย่างเป็นธรรมด้วย 

      ปัญหาใหญ่ของโลกทุกวันนี้คือ  ประชากรและความต้องการเพิ่มขึ้น  ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัดและร่อยหรอเสื่อมโทรม  ถ้าเราไม่แบ่งปันกันโดยเน้นปัจจัยพื้นฐานที่พอเพียงสำหรับประชาชน ถ้าเราไม่จัดระบบสังคมให้ดีพัฒนาได้อย่างยั่งยืน   แล้วต่อไปจะยิ่งมีปัญหาหนัก  เราต้องร่วมมือช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่านี้  ไม่ใช่เอาเปรียบกัน หากำไร เน้นความเติบโตแบบตัวใครตัวมัน โลกก็จะไม่สงบ  มีความขัดแย้งไปเรื่อย ๆ แล้วต่างคนต่างก็ต้องไปสร้างกองทัพ  ไปสร้างอาวุธทำให้เสียทรัพยากรของโลกไปมาก แทนที่จะเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยคน มาพัฒนาสาธารรสุขและยารักษาโรค มาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วยแบบนี้เป็นเรื่องซึ่งที่ประชุมเอเปคเขาก็ไม่พูดกัน เอเปคเขาจะพูดแต่เรื่องการเปิดเสรีทางการค้า เรื่องความร่วมมือเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สวย ๆ หรู ๆ เสร็จแล้วก็ตกลงกันไม่ค่อยได้ เพราะว่าต่างคนต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองมากไป   จึงตกลงกันไม่ค่อยได้

      เราควรส่งเสริมร่วมมือกันในแง่ประชาชนมากขึ้น  ต้องมองในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากขึ้น อย่าบ้าเห่อแต่ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจมากเกินไป   ต้องมองที่การกระจายทรัพย์สินรายได้ที่เป็นธรรมและการพัฒนาคุณภาพของคน  มองที่ความมั่นคงทางสังคมของประชาชน  มากกว่า เราถึงจะสร้างมิตรภาพและสันติสุขได้อย่างแท้จริง

 

จีนเตรียมแตะเบรกหยุดความร้อนแรงของการเติบโตเศรษฐกิจ


  จีนเตรียมแตะเบรกหยุดความร้อนแรงของการเติบโตเศรษฐกิจ 

      เศรษฐกิจจีนในปี 2003  โตถึง 9.1%  (เศรษฐกิจโลกโต  2.5%)  ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชียในปี 1997  เป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนเท่ากับ 1.41  ล้านล้านดอลลาร์  แต่รัฐบาลจีนกำลังห่วงว่า การโตแบบรวดเร็วเกินไปอาจจะไม่ยั่งยืนได้

      ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2004  รัฐบาลกันเริ่มสั่งให้ชลอการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และ อลูมิเนียมอิเล็คทรอไลติค  และ หนังสือพิมพ์  ประชาชนรายวัน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เขียนในบทบรรณาธิการ แสดงความน่าเสียใจว่า รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ในอัตราที่ลดลง สวนทางกับการที่ผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราสูง

      ข่าว 2 ข่าวนี้ไม่ใช่ข่าวใหญ่พาดหัว   แต่สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราวิเคราะห์ควบคู่กันไปกับโครงสร้างของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

      ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน มาจาก 3 แหล่งใหญ่คือ การบริโภค , การค้าต่างประเทศ และการลงทุนในทรัพย์สินถาวร

      ขณะที่การค้าระหว่างประเทศของจีน ในปี 2003 โตขึ้นจากปีก่อนถึง 37.1%  (มูลค่ารวม  851.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)  แต่การสั่งเข้าเติบโตในอัตราสูงกว่าการส่งออก ทำให้การได้เปรียบดุลการค้าของจีนเริ่มลดลง  ขณะเดียวกันมูลค่าการค้าระหว่างประเทศก็มีสัดส่วนใน GDP สูงขึ้น

      รัฐบาลได้ออกโครงการสนับสนุน เช่นการคืนภาษีส่งออก เพื่อหาเงินตราต่างประเทศมากขึ้น แต่มีปัญหาการฉวยโอกาสของธุรกิจต่าง ๆ และกลายเป็นภาระทางการเงินของรัฐบาล รวมทั้งสร้างความไม่พอใจกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องว่าจีนใช้วิธีการทุ่มตลาด จำนวนการฟ้องร้องมากขึ้นกว่าก่อน

      ตั้งแต่ปี 2000 มาถึงปัจจุบัน จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐแซงหน้าญี่ปุ่น ซึ่งทำให้สหรัฐไม่ค่อยมีความสุขนัก ปี 2004  เป็นปีของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และ การที่สหรัฐต้องขาดดุลการค้าให้จีนมาก  ทำให้นักการเมืองสหรัฐ ใช้เป็นประเด็นหาเสียง ในการที่จะบีบให้จีนต้องลดการได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐลง

      การบริโภคภายในของจีน มีสัดส่วนต่ำกว่า 45%  ของ GDP  (เทียบกับ 66% ของสหรัฐ) การที่การบริโภคภายในมีสัดส่วนใน GDP ต่ำ เป็นปัญหามาจากการกระจายทรัพย์สินและรายได้ของจีนมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเงินฝากธนาคาร 80% เป็นของคนที่มีเงินฝากเพียง 12% ของผู้ฝากทั้งหมด ที่แย่กว่านั้นคือ ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ เกษตรกร มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงกับหนังสือพิมพ์ปากกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องกระตุ้นให้รัฐบาลสนใจแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

      หากว่ารัฐบาลจะส่องกระจกเพื่อมองความเป็นจริง จะพบว่า เกษตรกรถูกเก็บภาษีสูง อย่างไม่เป็นธรรม  เกษตรกรต้องทำงานหนักทั้งปี แต่ต้องเสีย ทั้งภาษี , ค่าธรรมเนียมนานาชนิด ตั้งแต่รัฐบาลกลาง ถึงรัฐบาลท้องถิ่น   ทั้งภาษีตามกฎหมายและนอกกฎหมาย   เกษตรกรเป็นเหยื่ออย่างเป็นระบบ  ทั้งจากการที่ต้องขายพืชผลให้รัฐในราคาที่ต่ำมาก และ ยังจะต้องมาเสียภาษีสูงอีก

      การลงทุนในทรัพย์สินคงถาวร  สามารถทำให้ GDP ของจีนโตได้ราวปีละ 0.87% รัฐบาลจึงมักใช้วิธีเพิ่มการลงทุน เมื่อต้องการกระตุ้นการเพิ่ม GDP รัฐบาลทำได้มาก เพราะรัฐบาลยังเป็นเจ้าของผู้ควบคุมธนาคารทั้งหมด และ รัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่ออกพันธบัตรเงินกู้ได้ จึงมีแต่รัฐบาลที่จะให้เงินกู้สำหรับอุตสาหกรรมหนักได้

      ใน 11 เดือนแรกของ ปี 2003  มีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหน้า เช่น โลหะ  เคมี  ในอัตราสูง  ถึง 32.8% แต่การขยายการลงทุนในรัฐวิสาหกิจ  ที่มีประสิทธิภาพต่ำและการสูญเสียสูง ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา พวกเขาขยายผลผลิตมากเกินไป โดยไม่มีความต้องการของตลาดอย่างพอเพียง เช่น ในปี 2005  ผลผลิตอลูมิเนียม จะสูงกว่าความต้องการใช้ถึง  30%  หรือ 3 ล้านตัน

      แม้รัฐบาลจีนจะเป็นพวกหลงใหลในการเจริญเติบโตของ GDP (เหมือนกับรัฐบาลส่วนใหญ่ รวมทั้งไทย)  แต่พวกเขาก็เริ่มตระหนักว่า ไม่ควรปล่อยให้เกิดความสูญเสีย ทรัพยากร  และ พลังงาน และ การบริโภคมากเกิน  ดำเนินต่อไป  จนเศรษฐกิจขาดความสมดุล และ ไม่อาจพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้

      นั่นคือ เหตุผลที่ว่า ทำไม่รัฐบาลต้องเตรียมแตะเบรก ชลอความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะใส่เงินเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่เพิ่มปัญหาหนี้เสียของระบบธนาคาร ซึ่งขณะนี้ก็ไม่มั่นคง เพราะมีปัญหาหนี้เสียมากพออยู่แล้ว  เมื่อรัฐบาลลงทุนลดลง , เมื่อภาคธุรกิจเอกชนไม่มีทางจะได้เงินกู้ , เมื่อการค้าระหว่างประเทศ ไม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อน GDP ทดแทนการลงทุนในทรัพย์สินถาวรได้ , เมื่อรายได้ของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรลดลง เศรษฐกิจของประเทศปีต่อไปก็คงจะต้องอ่อนตัวลง

      แต่จีนก็กำลังเผชิญกับปัญหาที่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้ยาก ในแง่หนึ่ง จีนไม่สามารถจะดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ เพื่อ รักษาการเติบโตของ GDP ในอัตราสูง จนเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ไม่อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างช้า ๆ ในอัตราต่ำกว่าที่เป็นอยู่ได้  เพราะจีนต้องแก้ปัญหาการว่างงาน ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง ด้วยในขณะเดียวกัน รวมทั้งหากเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราต่ำ  ก็จะไม่ประทับใจ , ไม่สามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศอยากเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นได้เท่าที่ควร

      ปัญหาเร่งด่วนของจีน คือ ทำอย่างไรจะลดการลงทุนของภาครัฐลงมาโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากนัก และทำอย่างไรจึงจะลดภาระของประชาชน ทำให้ประชาชน ส่วนใหญ่มีโอกาส ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ 

(แปลเก็บความจาก LI YONG YAN, RED LIGHTS FLATHING FOR CHINA’S ECONOMY ใน ASIA TIMES  ON  LINE  14   กุมภาพันธ์ 2004) 

หมายเหตุ ผู้แปล –  มีบทความหลายแห่งรวมทั้งธนาคารโลกที่อ้างว่า ปี 2003  เศรษฐกิจจีนโต 9.1%  แต่ทางรัฐบาลจีน รายงานว่าโต 8.5%  ซึ่งน่าจะใกล้เคียงมากกว่า   แต่การโต 8.5%  ก็เป็นอัตราที่สูงมากที่สุดอยู่แล้วในยุคที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะเงินฝืดหรือราคาฝืด         (DEFLATION) 

 

ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ของ สหรัฐและจีน (บทที่ 6)


  1. ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ของสหรัฐ และ จีน

 

      ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่โต 9.1% ในปี 2003 คือหัวรถจักรสำหรับการเจริญเติบโตในเอเชีย เศรษฐกิจสหรัฐที่โต  4%  ก็ทำหน้าที่อย่างเดียวกันสำหรับโลกอุตสาหกรรม (เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐใหญ่ที่สุดในโลก  การโต 4%  จึงมีมูลค่าสูงมาก)

      สหรัฐใช้จ่ายเกินตัวทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้มีปัญหาทั้งขาดดลการค้าและขาดดุงบประมาณ   ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาว  สำหรับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีความสัมพันธ์  ทั้งทางการลงทุนและการค้า กับสหรัฐ เป็นสัดส่วนสูง ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐมีการรับต่ำ กว่ารายจ่ายถึง 500  พันล้านดอลลาร์ และยังขาดเงินสำหรับระบบประกันสังคมอีก 47 ล้านล้านดอลลาร์  (ส่วนหนึ่งเพราะใช้ในการทำสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรักและการทำตัวเป็นตำรวจโลก)

      การขาดดุลการค้าของสหรัฐ  ก็สูงมากเป็นประวัติการณ์  คาดว่าหนี้ต่างประเทศของสหรัฐ     จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 40%  ของ GDP  ของประเทศใน 2 – 3 ปี ข้างหน้า  ซึ่งเป็นอัตราหนี้ที่สูงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สถานะการณ์เช่นนี้จะทำให้ค่าเงิน      ดอลลาร์อ่อนลงตามลำดับ

      ประเทศจีนที่เคยมีเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองได้ เป็นสัดส่วนสูง ปัจจุบันเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศสูงมาก  จีนกลายเป็นประเทศที่สั่งเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเตรียมจะสั่งเข้าถ่านหิน  ซึ่งจีนมีอยู่มากมายด้วย การเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนทำให้น่าห่วงว่าจะไปถึงจุดที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบธนาคาร , พลังงาน , การจ้างงาน จะรับไม่ได้ ฯลฯ และการลงทุนมากเกินไป  จะนำไปสู่การมีผลผลิตล้นเกิน จนเศรษฐกิจฟองสบู่แตกได้

      เศรษฐกิจของสหรัฐกับจีนในปัจจุบัน ผูกพันกันแนบแน่นเหมือนล้อคนละข้างของจักรยาน คันเดียวกัน  การที่จีนผลิตสินค้าได้ต้นทุนต่ำมาก ทำให้อุตสาหกรรมสหรัฐ (และประเทศอื่น )  ย้ายการผลิตไปจีน และคนอเมริกันได้ซื้อของถูกที่ส่งออกมาจากจีน   เมื่อจีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ       100 พันล้านดอลลาร์  จีนก็เอาเงินนี้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ  ซึ่งวงจรก็คือ จีนให้สหรัฐกู้เงินเพื่อไปซื้อสินค้าจีน  ขณะนี้คนที่เป็นเจ้าหนี้พันธบัตรสหรัฐราว  ครึ่งหนึ่งของพันธบัตรสหรัฐทั้งหมดคือเอเชีย  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ จีน ให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงินไปทำสงครามรวมทั้งลดภาษีให้กับเศรษฐีชาวอเมริกัน  จนรัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณและประเทศขาดดุลการค้า

      จีนไม่น่าจะมีเหตุผลทางเศรษฐกิจในระยะยาว  ที่จะถือพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งให้ดอกเบี้ยต่ำ และ ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนลงมาแล้วหนึ่งในสาม   และมีแนวโน้มจะลดลงต่อไปอีก  จีนอาจจะมีเหตุผลทางยุทธศาสตร์ก็ได้  ตัวอย่าง  เช่น  เดี๋ยวนี้สหรัฐต้องเกรงใจจีนในเรื่องกรณีไต้หวัน  เพราะถ้าจีนขาย    พันธนบัตรสหรัฐ จะมีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐยิ่งกว่าสหรัฐ ถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูอีก แต่จีนก็ต้องการ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อจ้างงานและเลี้ยงดูประชาชนในประเทศของตน และสหรัฐก็เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจีนในเวลานี้ จึงเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ที่จีนยังคงผูกติดเงินหยวนไว้กับดอลลาร์  ทั้งที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับเงินยูโร และ เงินเยน การที่จีนถือเงินสำรองเป็นดอลลาร์ไว้มาก  ก็ทำให้จีนต้องผูกเงินหยวนไว้กับดอลลาร์สหรัฐต่อไป  โดยไม่มีทางเลือกมากนัก (สหรัฐ ก็ได้ประโยชน์จากการซื้อของถูกจากจีน และทำให้ไม่เกิดเงินเฟ้อ แต่นักการเมืองสหรัฐทำเป็นโจมตีว่า จีนควรจะปรับค่าเงินหยวนขึ้น เพราะพวกเขาต้องการหาเสียงกับคนอเมริกันโดยโทษว่าสินค้าจีนราคาถูกทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าและคนอเมริกันที่ว่างงาน ทั้ง ๆ ที่เกิดมาจากหลายปัจจัยมากกว่า)

      เศรษฐกิจของโลก จึงอยู่ในสถานะติดกับอยู่กับคู่แฝดจีน – สหรัฐ  ซึ่งต่างคนต่างมีปัญหาความเสี่ยงคนละแบบ จีนมีความเสี่ยงเรื่องการพัฒนาที่ร้อนแรง . ไม่สมดุล และสร้างความไม่มั่นคงทางสังคม (จากปัญหาการว่างงานและความเหลื่อมล้ำต่ำสูง) ขณะที่สหรัฐมีปัญหาความเสี่ยงด้านการเงินการคลัง  คือใช้จ่ายเกินตัวมาก  ถึงขนาด IMF  วิจารณ์ว่าอ้อม ๆ สหรัฐกำลังจะกลายเป็นประเทศที่เริ่มด้อยพัฒนาลงจากเดิมอย่างรวดเร็ว เพราะความไม่รับผิดชอบทางด้านการเงินการคลัง ผสมกับการขาดวุฒิภาวะทางการเมืองของผู้นำไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

          ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐถดถ่อย  และคนอเมริกันเลิกซื้อสินค้าจีน  ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำลงไปอีก เพราะจีนจะเลิกซื้อพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งเคยช่วยให้เศรษฐกิจฟองสบู่ของสหรัฐอยู่ได้ และจีนจะขายพันธบัตรเหล่านี้ออกมาด้วย   หรือถ้าหากเศรษฐกิจจีนเกิดมีปัญหา และจีนเลิกผันเงินดอลลาร์เข้ามาในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐก็จะพัง และเศรษฐกิจจีนรวมทั้งเศรษฐกิจโลกก็จะพังตาม   ดังนั้นจีนคงต้องช่วยประคับประคองเศรษฐกิจแบบเป็นหนี้ของสหรัฐ เพื่อประโยชน์ของจีนเองต่อไป  เพราะจีนก็หยุดโตไม่ได้  แนวโน้มต่อไปจีนก็ต้องการเงินดอลลาร์เพื่อสั่งเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น

      ถึงเศรษฐศาสตร์จะได้ชื่อว่าเป็นศาสตร์แห่งความเศร้าหมอง  (DISMAL  SCIENCES)  แต่ก็ยังเป็นศาสตร์ที่ดีกว่าที่พวกนักการเมืองที่มุ่งหาเสียงและนักลงทุนที่มุ่งหาแต่กำไร จะเข้าใจ  “โลกตะวันตก เป็นหนี้ติดตัวแดง   และถ้ามันล่ม มันก็จะดึงโลกตะวันออกให้ล่มด้วย” 
 

(เก็บความจาก บทความของ IAM WILLIMS  CHINA – US: DOUBLE  BUBBLES  IN DANGER OF COLLIDING  ใน WWW.ATIMES.COM ) 

 

การค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (บทที่ 5)


5.  การค้าและการลงทุน ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

      จีนกำลังคุกคาม หรือ เป็นตัวกระตุ้น หรือ เป็นอะไรกันแน่ ?

      การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนทำให้เกิดการวิเคราะห์เรื่องบทบาทของจีนต่อ เศรษฐกิจของประเทศเอเชียอื่น ๆ และ ต่อโลกต่างๆ นานา  มีทั้งพวกที่มองในแง่ร้าย และ มองในแง่ดี

      พวกที่มองในแง่ร้ายจะมองว่า จีนจะเป็นผู้คุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการแย่งส่วนแบ่งตลาด, ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การมีงานทำ ไปจากประเทศเหล่านี้ และทำให้เกิดความปั่นป่วนในภูมิภาค บางคนก็วิเคราะห์ว่าเนื่องจากจีนมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ตายตัว การมุ่งสร้างเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีอย่างรวดเร็ว เมื่อก้าวไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และ การล่มสลายของระบบการปกครองและเศรษฐกิจของจีน

      ความแตกต่างพื้นฐานของนักวิเคราะห์ในทางบวก และ นักวิเคราะห์ในทางลบอยู่ที่ความเข้าใจในพลวัตการปฏิรูปของจีน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า จีนมีปัญหาใหญ่หลายประการ เช่น ระบบธนาคาร และรัฐวิสาหกิจที่ด้อยประสิทธิภาพ , ปัญหาการว่างงาน , คุณภาพประชากรและโครงสร้างพื้นฐาน , ปัญหาการพัฒนาที่ไม่สมดุล ระหว่างภาคต่าง ๆ ภาวะการต้องแข่งขัน กับประเทศอื่น หลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก ฯลฯ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เราควรมองปัญหาและการคลี่คลายในลักษณะพลวัต การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และ ความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลจีนยังคงดำเนินต่อไป  ไม่ได้หยุดนิ่ง ปล่อยให้ปัญหาเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การล่มสลาย

      นักวิจารณ์ที่มองในแง่ลบ  มองว่าทั้งปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจและปัญหาความขุ่นมัว และ ฉ้อฉลของระบบการเมือง คือปัจจัยสำคัญ ที่จะนำจีนไปสู่ความล่มสลาย  และพวกเขาก็เฝ้ามองดูคำพูดและการกระทำของผู้นำจีน ว่าเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ จะนำจีนไปสู่ความล่มสลายหรือไม่ แต่พวกเขาไม่ได้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทางการเมืองสังคม และเศรษฐกิจ กำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งอำนาจบริหารจากส่วนกลางด้วย การเปลี่ยนแปลงจากส่วนอื่น ๆ ในสังคมทั้งภายในจีนเอง และ ระบบเศรษฐกิจโลก จะเป็นตัวกำหนดให้ผู้นำจีนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องด้วย ไม่ใช่ว่าผู้นำจีนจะไม่เปลี่ยนท่าทีเลย

      ตั้งแต่ปี 1980 เศรษฐกิจสังคมจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จากระบบเศรษฐกิจที่แทบไม่ใช้เงิน แต่ใช้คูปอง คะแนนการทำงาน ภูมิหลังทางการเมือง ขนาดและอิทธิพลของหน่วยงานมาเป็นตัวตัดสินใจ ว่าใครควรจะมีเงื่อนไขการดำรงชีวิตอย่างไร มาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบตลาดเป็นตัวตัดสิน จากระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเคยเป็นคนตัดสินว่าประชาชนควรจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร และจะได้รับสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตได้อย่างไร  กลายมาเป็นกระบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่เริ่มในปี 1978 ที่ปลดปล่อยประชาชนส่วนใหญ่ให้เป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง เศรษฐกิจภาคเอกชนได้เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีปัจเจกชนและหน่วยธุรกิจที่ครัวเรือนเป็นเจ้าของหลายร้อยล้านหน่วย กลายเป็นกระดูกสันหลังของการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและร่ำรวยกว่าเก่า

      การเติบโตของหน่วยธุรกิจภาคเอกชน เป็นส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีน การที่หน่วยธุรกิจเอกชนมีรายได้และเงินออมมาก ช่วยพยุงให้ภาคธนาคารของรัฐที่อ่อนแอยังคงดำเนินต่อไปได้ รวมทั้งมีโอกาสที่จะปฏิรูปเช่นลดการให้สินเชื่อลงได้โดยไม่พังลงเสียก่อน ธุรกิจภาคเอกชนช่วยรองรับการจ้างงานใหม่และช่วยบรรเทาปัญหาการที่ภาควิสาหกิจปฏิรูป ด้วยการปลดคนงานออกมาจำนวนมาก

      ภาคธนาคารเองก็ได้มีโอกาสได้ขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและชนชั้นกลางใหม่ โดยมีที่ดินค้ำประกัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และทำกำไรให้ธนาคารมากกว่า การปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะรัฐวิสาหกิจแบบเก่า

      การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสของประเทศจีน แม้กระนั้นก็ตาม การเมืองก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก เพราะเศรษฐกิจก็ต้องดำเนินไป ภายใต้กฎหมายและสถาบันต่าง ๆ เมื่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเข้มข้นขึ้น ก็จะผลักดันให้สถาบันทางการเมือง ต้องปฏิรูปด้วย  แต่จะปฏิรูปได้อย่างราบรื่น หรือ มีความขัดแย้งที่รุนแรงหรือผันผวนในบางส่วนหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามวิเคราะห์กันต่อไป แต่เราต้องมองว่า การเมืองก็เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน การมองว่า เศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วขณะที่การเมืองหยุดนิ่ง ซึ่งนำไปสู่การพังทลายนั้น จึงเป็นการมองแง่ร้าย อย่างไม่สมจริง

      การมองว่าจีนเป็นผู้คุกคามทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียอื่น ๆ อย่างสุดโต่ง อาจเป็นการมองในแง่ร้ายเกินความจริง  ในทศวรรษ 1980  ก็มีผู้มองว่า การเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นการคุกคามประเทศเอเชียอื่น ๆ เช่นกัน หรือ ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ 4 เสือของเอเชียในทศวรรษที่แล้วก็เติบโตในอัตราสูงมาก แต่การเติบโตของ ญี่ปุ่น และ ประเทศ 4 เสือ คือ ฮ่องกง, ไต้หวัน , เกาหลี , สิงคโปร์ ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศเอเชียอื่น ๆ ล่มจมแต่อย่างใด ธนาคารเพื่อการลงทุนอย่าง โกลด์แมน แซคส์ วิเคราะห์ว่า  การมองว่าขนาดที่ใหญ่มากของจีน จะแย่งงานแย่งตลาดต่างประเทศไปหมดนั้น เป็นการมองที่มีจุดอ่อน เปรียบเทียบขนาดทางเศรษฐกิจแล้ว จีนยังไม่เป็นยักษ์ใหญ่ถึงขนาดนั้น แม้จีนจะมีประชากรถึง 20% ของประชากรโลก แต่ถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน คิดเป็นเพียง 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน มีสัดส่วนเพียง 4% ของมูลค่าการค้าทั่วทั้งโลก การที่จีนยังมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 900 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ที่ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนา     อุตสาหกรรมหลายสิบเท่า ทำให้จีนยังห่างไกลต่อการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมาก

      ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีน ยังอยู่ในราว 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่น และยังเล็กกว่าเยอรมันและอังกฤษ ด้วย แม้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนจะสูงว่า GDP  ของจีนเอง  แต่ก็ยังมีมูลค่าต่ำกว่าการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และอยู่ในราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐและสหภาพยุโรปรวมกัน

      จริงอยู่ที่ว่าทั้ง GDP และ การค้าระหว่างประเทศของจีนเจริญเติบโตในอัตราสูงกว่า ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม แต่พลังทางเศรษฐกิจไม่ได้วัดจากมูลค่า GDP และการค้าเท่านั้น ต้องดูจากความเข็มแข็งทางการเงินการธนาคารด้วย ซึ่งจีนยังล้าหลัง ประเทศอื่นมากในเรื่องนี้ ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ของจีนเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ถ้าเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเล็กกว่ายอดรวมของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเอเชียอื่น ๆ   ไม่ต้องเทียบกับตลาดยักษ์ใหญ่ อย่างสหรัฐ และ ยุโรป มูลค่าการแลกเปลี่ยนเงินตราในแต่ละเดือน ของจีนก็เล็กมาก และเงิน หยวน ของจีน  ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีมากกว่าจะเป็นเงินระหว่างประเทศสกุลแข็งได้ (เพราะแม้ว่าเงินหยวนจะมีความเข้มแข็ง แต่ก็มีการควบคุม ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี เหมือน ดอลลาร์ , ยูโร , เยน ฯลฯ )

      การที่จีนส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งก็คือการลงทุนและการส่งออกของบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่น ทุนและสินค้าขั้นกลางจำนวนมากจากญี่ปุ่นและประเทศอื่น ถูกส่งไปเอเชียโดยเฉพาะประเทศ 4 เสือ ซึ่งส่งต่อชิ้นส่วนไปจีนและประเทศเอเชียอาคเนย์อื่นที่พัฒนาน้อยกว่า   เพื่อประกอบแล้วส่งออกไปสู่ตลาดปลายทางอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของการส่งออกของจีน  ประโยชน์ส่วนหนึ่งก็จะไปตกกับธุรกิจของประเทศในเอเชียอื่น ๆ ด้วย

      เราจะดูเฉพาะตัวเลขการส่งออกของประเทศต่าง ๆ คงไม่เพียงพอ ต้องดูว่าเป็นการลงทุนของใคร วัตถุดิบ , ชิ้นส่วนหรือสินค้าดั้งเดิมมาจากไหนด้วย

      การศึกษาเรื่องจีนต้องเข้าใจทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของจีน    จุดแข็งคือ

  •  
    1. มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
    2. อุตสาหกรรมจีนมีขีดความสามารถส่งในการแข่งขันสูง ทักษะแรงงานก็กำลังพัฒนา
    3. มีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ซึ่งนักลงทุนสนใจมาก
    4. ตลาดธุรกิจเอกชนปรับตัวได้ดี และกำลังเติบโต
    5. ขบวนการเปิดประเทศไปสู่การแข่งขันและการบริหารอย่างโปร่งใสเพิ่มขึ้น หลังจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก

จุดอ่อนคือ

  •  
    1. ระบบกฎหมาย และการพิพากษายังไม่ทันสมัย
    2. มีการทุจริตฉ้อฉลอย่างกว้างขวาง
    3. กติกาต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย
    4. มีการปฏิรูปทางด้านการเงิน การธนาคารน้อยและช้า
    5. ไม่มีระบบประกันสังคมครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศอย่างเพียงพอ

 

    จุดอ่อนเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ยาก โดยเฉพาะระบบ ธนาคารที่ควบคุมโดยรัฐ

ทั้งหมด ที่อ่อนแอ การปฏิรูปใด ๆ ก็ตามจะมีผู้ได้ประโยชน์ และ ผู้เสียประโยชน์ ทำให้รัฐบาลต้องประนีประนอม และพยายามทำให้ผู้ต้องเสียประโยชน์ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

จีนพยายามทำสิ่งเหล่านี้อยู่ แม่ว่าจะไม่ได้พัฒนาระบบประชาธิปไตยแบบทางการอย่างที่ชาวตะวันตกคาดหมายก็ตาม

      ปัญหาความไม่โปร่งใสและการทุจริตฉ้อฉล ลดลงในเมืองใหญ่เช่นเซี่ยงไฮ้ในบางเรื่อง ชนชั้นกลางและบริษัทธุรกิจเอกชนต่าง ๆ เริ่มปกป้องสิทธิของตนเอง  และเรียกร้องดูแลให้ทางการท้องถิ่นและหน่วยงานธุรกิจต่าง ๆ ต้องยอมรับมาตรฐานบางอย่าง องค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรก็พยายามที่จะตรวจสอบ ให้การเลือกตั้งฝ่ายบริหารท้องถิ่น น่าเชื่อถือมากขึ้น  โดยรัฐบาลกลางไม่ได้ขัดขวาง  การพัฒนาในด้านบวกเหล่านี้ กำลังขยายตัว  แม้จะค่อนข้างช้า  การที่รัฐบาลกลางไม่ได้แทรกแซง ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นว่า นี่คือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม  ที่คงไม่มีใครไปหยุดได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์แบบที่ประชาชนขึ้นต่อรัฐบาลทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว   และยังคงจะเปลี่ยนต่อไปอีก

      จีนจะแก้ปัญหาจุดอ่อนของตนเองได้ดีแค่ไหน เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป  ถ้าดูจากทศวรรษที่ผ่านก็สะท้อนว่าพลังการปฏิรูปของพวกเขายังเป็นทางบวก จีนจะมีผลสะเทือนต่อประเทศเอเชียอื่น ๆ   อย่างไร    ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศเอเชียอื่น ๆ   จะปฏิรูปตัวเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในประเด็นที่ตนมีความพร้อม  ความถนัดได้มากน้อยเพียงไร

      ประเทศเอเชียอื่นที่เจริญเติบโตจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ราคาต่ำ ไปขายประเทศร่ำรวย ต้องคิดใหม่ เมื่อจีนเข้ามา (ส่งออกสินค้าราคาต่ำ) ในตลาดโลก  พวกเขาต้องสนใจการพัฒนาความชำนาญเฉพาะทางของตนเอง   เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ,  สนใจกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้เป็นธรรมเพื่อพัฒนาตลาดภายในประเทศและภูมิภาคเพิ่มขึ้น  พัฒนาธุรกิจประเภทบริการที่ต้องใช้ความรู้ทักษะมากขึ้น ถ้าประเทศเอเชียอื่นต้องการจะยืนอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นโลกยุคที่มีปัญหาการเป็นหนี้สูงควบคู่ไปกับปัญหาเงินฝืดทั่วโลก และโอกาสที่ธุรกิจส่งออกเคยทำกำไรสูงได้อย่างรวดเร็วแบบเก่าลดลง

      ผู้นำประเทศที่เข้าใจว่าโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และ ปรับตัวได้ดี   ก็จะอยู่รอด หรือ รุ่งเรือง กว่าผู้นำประเทศที่ไม่เข้าใจ ดังนั้นใครจะมองว่า การเข้ามาในตลาดโลกของจีน เป็นวิกฤติ  หรือ เป็นโอกาส ก็แล้ววิธีการมองของแต่ละประเทศ  แต่ละธุรกิจ แต่ความจริงก็คือ  จีนได้เข้ามาในระบบเศรษฐกิจโลกแล้ว กำลังเติบโต และทำให้โลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมได้อีกต่อไป 

(  ข้อมูลจาก CHILO WHEN ASIA MEETS CHINA IN THE NEW MILLENNIUM PEARSON PRENTICE HALL 2003) 

จีนกับประเทศเอเชียอื่น

      จีนกำลังเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในเอเชียแซงหน้าญี่ปุ่น เมื่อ 10 ปี ที่แล้วประเทศ เอเชียอื่น ส่งออกให้ญี่ปุ่น  20%  ของการส่งออกทั้งหมดของพวกเขา  เดี๋ยวนี้สัดส่วนลดเหลือ 10% ขณะที่ประเทศเอเชียอื่น ๆ ส่งออกให้จีนเพิ่มจาก 6.3% เป็น 31%  ของการส่งออกของเอเชียทั้งหมดในปัจจุบัน   ประเทศที่ส่งออกให้จีนได้เพิ่มขึ้นคือไต้หวัน   ฟิลิปปินส์    ญี่ปุ่น มาเลยเชีย   เกาหลีใต้   ออสเตรเลีย  และ ไทย

      จีนสั่งเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบ  เช่น วัตถุดิบการเกษตร  เคมี  แร่ธาตุ โลหะ และ ผ้า รวม 38%  ของสินค้าเข้าทั้งหมด ส่วนอีก 62%  เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ , เครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องมือ   สินค้าที่จีนสั่งเข้าราว 50% เช่น เคมีภัณฑ์ พลาสติก , อุปกรณ์ , อิเล็กทรอนิกส์ , โลหะ และเครื่องมือ นำมาผลิตใหม่หรือประกอบใหม่  แล้วส่งออก   ส่วนสินค้าที่สั่งเข้ามาใช้ภายในประเทศคือ  อาหาร , น้ำมัน , แร่ธาตุ , เครื่องจักรที่ไม่ใช่ อิเล็กทรอนิกส์  โลหะ และเครื่องมือบางส่วน

      จากแนวโน้มอัตราเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าของจีน ภายใน 10 ปี ข้างหน้าจีน จะเป็นตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกของประเทศเอเชียอื่น ๆ   พอ ๆ กับสหรัฐ  รวมทั้งจะเป็นผู้ลงทุนสำคัญในภูมิภาคเอเชียด้วย  ในปี 2003  จีนลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ 510  โครงการ   มีมูลค่า 2,057 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2002  ถึง 112.3%

      อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจจีนโตมากในปี 2003  (9.1%)  เริ่มสะท้อนว่า ซัพพลาย   (การผลิต) เริ่มมีมากกว่าดีมานด์ (ความต้องการซื้อ)  ดังนั้นในปี 2004  เศรษฐกิจจีนอาจจะชลอตัวลงเหลือ  7% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งการค้าและการลงทุนของจีนพอสมควร 

การค้าและการลงทุน  ไทย – จีน

      การค้าระหว่างไทย – จีน  ในปี  2002 มีมูลค่า 8.5  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  เพิ่มจากปีก่อนหน้านี้ 21.4%  โดยจีนเป็นฝ่ายสั่งเข้าสินค้าจากไทย มากกว่าส่งออกให้ไทย สำหรับไทย แล้ว จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 4    สำหรับจีนไทยเป็นคู่ค้าใหญ่อับดับที่  14 

      ปลายปี 2002  โครงการต่าง ๆ ของ ไทยไปลงทุนในจีน มีผลผลิตคิดเป็นมูลค่า 2.5  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  แต่การลงทุนจริง ๆ มี ราว 214  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กระทรวงต่างประเทศจีน)

      ในปี 2001  โครงการที่จีนยื่นขออนุมัติลงทุนในไทยผ่านการอนุมัติ 12 โครงการ  มูลค่า 8,690.4   ล้านบาท  (กระทรวงพาณิชย์ไทย) 

 

เศรษฐกิจจีน (บทที่ 4)


4.   เศรษฐกิจของจีน

      การเจริญเติบโตในอัตราสูง

      ในยุคสังคมนิยม เศรษฐกิจจีนเติบโตในช่วงปี ค.ศ. 1952-1978 เฉลี่ยปีละ 5.7% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง ตั้งแต่จีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจและใช้นโยบายเปิดเสรี ในปี ค.ศ. 1978  อัตราการเจริญของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นในอัตราสูงขึ้นมาโดยตลอดโดยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชียในช่วงปี 1977 – 1978 น้อยมาก อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงปี 1979 – 2000  ยังเจริญเติบโตในอัตรา 7.3-7.5%

      เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก  มีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่  จึงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชลอตัวน้อยกว่าประเทศอื่น 80% ของการเจริญเติบโตเศรษฐกิจมาจากความต้องการภายในประเทศ แต่การส่งออกในรอบ 2 ทศวรรษ ก็มีอัตราเพิ่มถึงปีละ 15% และในปี 2000 จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าส่งออกสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก การส่งออกของจีนมีความสำคัญมากกว่า 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม เพราะว่าภาคส่งออกของจีน มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจสูง

      โครงสร้างสินค้าออกของจีน ในรอบ 2 ทศวรรษก็เปลี่ยนไปมาก จากที่เคยส่งออกสินค้าขั้นปฐม เช่น ผลผลิตการเกษตร  ถ่านหิน น้ำมัน กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรม และในครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 ชนิดของสินค้าอุตสาหกรรมก็ เปลี่ยนจากสินค้าที่ใช้แรงงานมากเช่น ผ้า , เสื้อผ้า , รองเท้าและของเด็กเล่น เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง และมีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (ไฟฟ้า) และเครื่องจักรเป็นสัดส่วนสูงขึ้น (42% ของ สินค้าออกทั้งหมดของจีนในปี 2000)

      การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (FDI) ในประเทศจีนก็เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วมาก ช่วงปี   1988 – 2001 เพิ่มขึ้นถึงปีละ 30% และเมื่อสิ้นปี 2002 มีต่างประเทศไปลงทุนในจีนรวม 446 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวครึ่งหนึ่งของการลงทุนในเอเชียทั้งหมด

      การที่มีการลงทุนต่างประเทศในจีนสูงมาก บวกกับการที่จีนได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนมีเงินลงทุนสำรองต่างประเทศ มากเป็นที่สองของโลก คือรองจากญี่ปุ่น (กลางปี 2002  มีเงินทุนสำรองต่างประเทศ 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)  โดยจีนเป็นหนี้ต่างประเทศ ต่ำกว่าเงินทุนสำรองมาก หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว เงินตรา ” เหรินเหมินปี้”  หรือหยวนของจีนเป็นเงินตราสกุลแข็ง ที่ถูกสหรัฐเรียกร้องให้มีการปรับค่าให้สูงขึ้น

      การที่จีนมีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของจีนเพิ่มขึ้นเท่าตัวในรอบ 10 ปี GDP ในปี 1978 (ปีที่เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ) 362 พันล้านหยวน ถึงปี 2001 เพิ่มเป็น 3,435  พันล้านหยวน ถ้าคิดเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐ จีนจะมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก แต่ถ้าคิดแบบเปรียบเทียบกับ อัตราค่าครองชีพ (PPP) ของจีน ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นมากแล้ว   จีนจะมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2  รองจาก GDP สหรัฐที่คิดแบบเทียบค่าครองชีพเท่านั้น แต่การคิด GDP แบบเปรียบเทียบค่าครองชีพเช่นนี้ อาจจะสูงเกินความจริงไปก็ได้

      ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ต่อหัวของจีนในปี 2002 เฉลี่ยอยู่ราว 900 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ มีความแตกต่างกันสูงมาก ระหว่างภาคตะวันออกและเมืองชายฝั่งทะเลที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ที่คนชั้นกลางอาจจะมีรายได้เฉลี่ย ถึงปีละ 4,000 – 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับประชากรในแถบตะวันตกและที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ที่มีการพัฒนาน้อยกว่าซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเพียง 400-500 ดอลลาร์สหรัฐ

      ในปี 2001  ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนใน GDP สูงถึง 45% ซึ่งสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป สินค้าอุตสาหกรรมที่จีนผลิตได้มากคือ ถ่านหิน , เหล็กกล้า , โทรทัศน์สี , ตู้เย็น , เครื่องปรับอากาศ , โทรศัพท์มือถือ , คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล , มอเตอร์ไซค์ และ รถยนต์ ปลายปี 2002 จีนมีคนลงทะเบียนใช้  อินเตอร์เน็ต 59 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ อุตสาหกรรมรถยนต์และการใช้รถยนต์ภายในประเทศก็กำลังเติบโตมาก  ซึ่งทำให้จีนต้องสั่งน้ำมันเข้า และมีปัญหามลภาวะทางอากาศเพิ่มขึ้น 

ทำไมจีนจึงประสบความสำเร็จ

      แม้จะมีบางคนมีข้อสงสัยว่า สถิติทางราชการของจีนอาจจะรายงานสูงเกินความจริงหรือไม่ แต่นักวิเคราะห์จากหลายสำนักที่ศึกษาเรื่องจีนอย่างใกล้ชิด ได้ตรวจสอบข้อมูลจากหลายทาง และเชื่อว่าสถิติทางเศรษฐกิจของจีน น่าจะใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า สถิติก่อนปี ศ.ศ 1978 บางคนยังมองว่า จีนยังมีเศรษฐกิจใต้ดิน , เศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่รวมอยู่ในสถิติทางการอีกจำนวนมากด้วยซ้ำ

      การที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจ จากระบบวางแผนจากส่วนกลางเป็นระบบตลาดอย่างได้ผลดีกว่ารัสเชียและยุโรปตะวันออก มาจากหลายปัจจัย เช่น ก่อนหน้าที่จะปฏิรูป การวางแผนจากส่วนกลางของจีนยังไม่เข้มงวดมากนัก , คนจีนมีวัฒนธรรมของผู้ประกอบการมานาน และจีนมีการกระจายการบริหารไปสู่ท้องถิ่นอยู่ในระดับหนึ่ง ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ยังมีไม่มาก นอกจากนี้การเปลี่ยนถ่ายผู้นำของจีน ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องราบรื่น ผู้นำ  ตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิง เป็นพวกนักปฏิบัตินิยมและใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นสูง

      จีนเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการลองถูกลองผิด เริ่มต้น ด้วยการปฏิรูปการเกษตรที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสถาบัน โดยการเลิกระบบการผลิตแบบคอมมูนมาเป็นระบบผู้ประกอบการรายย่อย ให้แต่ละครัวเรือนรับผิดชอบตนเองเพิ่มขึ้น เกษตรกรทำเองขายเองในตลาดได้ ทำให้พวกเขามีแรงจูงใจที่จะผลิตเพิ่ม ผลผลิตการเกษตรและรายได้ในชนบทจีนเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรม ระดับเมืองและชุมชน ซึ่งรัฐบาลกระจายอำนาจให้ผู้นำท้องถิ่นบริหารอย่างอิสระเพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงานใหม่ มีสินค้าอุปโภคบริโภคราคาต่ำ มาสนองความต้องการของคนได้เพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโต ในปลายศวรรษ 1990      อุตสาหกรรมระดับเมืองและชุมชน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ตั้งไว้และส่วนใหญ่ได้รับการแปรรูปให้ดำเนินการแบบเอกชนในเวลาต่อมา

      ถ้าเทียบกับรัสเซียคือ จีนปฏิรูปเศรษฐกิจจากฐานล่างก่อน และ ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจมหภาคและการเมืองการบริหารทีหลัง ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจจากฐานล่าง ทำให้มีการปรับปฏิรูปผู้บริหารระดับต่างๆ ได้ โดยยึดหลักความสามารถ ในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัด อย่างสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจภาคเอกชน หรือการบริหารแบบเอกชนตามกลไกตลาด ทำให้เศรษฐกิจภาครัฐลดความสำคัญลงตามสำดับ ตอนเติ้งเสี่ยวผิง คิดปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ในปลายทศวรรษ 1970       รัฐวิสาหกิจ มีสัดส่วนถึง 70%  ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม พอปี 2000 เหลือเพียง 24% ส่วนใหญ่คือ      อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์

      ถ้ากล่าวในแง่หน่วยปฏิบัติงาน ในปลายปี 1994      รัฐวิสาหกิจแบบเก่ามีเพียง 9.7%  วิสาหกิจแบบรวมหมู่ (เช่น อุตสาหกรรมนครเมืองและชุมชน)  มีสัดส่วน 23.5%  ธุรกิจเอกชนและระบบครัวเรือน 21.9% วิสาหกิจแบบร่วมทุน 32.5%  และอื่น ๆ อีก 12.41%  อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารและสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังเป็นของรัฐและเป็นภาคที่มีปัญหาด้อยประสิทธิภาพ การปล่อยหนี้เสียค่อนข้างมาก การเติบโตของเศรษฐกิจระบบตลาด ทำให้การแผนพัฒนา 5 ปี และ เศรษฐกิจภาครัฐลดความสำคัญ ลดตามลำดับ

      นอกจากรัฐวิสาหกิจจะมีสัดส่วนในภาคอุตสาหกรรมลดลงดังได้กล่าวมาแล้ว ค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ที่เคยมีสัดส่วน 32% ของ GDP ในปี 1979  ก็ลดลงมาเหลือเพียง 24% ในปี 2001  ซึ่งหมายถึงการให้ความช่วยเหลือและบริการด้านการประกันสังคมก็ลดลงจากเดิม  ทำให้ภูมิภาค และประชาชนที่ยากจนได้รับความลำบากเพิ่มขึ้น  เมื่อเทียบกับที่คนชั้นกลางในภูมิภาคเศรษฐกิจพัฒนาสูง ร่ำรวยเพิ่มขึ้น

      การเจริญเติบโตสูงจะยั่งยืนหรือไม่

      ในช่วงปี 1992-1995 ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตสูงกว่าปีละ 10% อัตราเงินเฟ้อ วัดจากดัชนีการบริโภคก็เพิ่มสูงมาก คือสูงถึง 27% ในปี 1994 และ 14.8% ในกลางปี 1995  ทำให้รัฐบาลจีนต้องใช้มาตรการคุมเข้มเพื่อหยุดอัตราเงินเพ้อ  เช่น  ลดการให้สินเชื่อ , ควบคุมราคาสินค้า พื้นฐาน ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน      ปี 1997  อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 1.1% โดยมีผลกระทบต่อการลดอัตราการเจริญเติบโตของ GDP เพียงเล็กน้อย (ยังโตได้ 9% ในปี 1997)  แต่ในกลางปี 1997 หลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชีย ก็มีผลให้เกิดปัญหาภาวะเงินฝืด (DEFLATION)  ในจีนตามมา จนถึงปี 2001  อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงมาเหลือระดับ 7.3% ในปี 2001

      มองทางด้านดีมานด์ (ความต้องการ) การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงของจีน มาจากการออมและการลงทุนภายในประเทศในอัตราสูง ในปี 1999 การออมในประเทศเป็นสัดส่วนสูงถึง 42% ของ GDP จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการออมสูงสุดในโลก การออมสูง การลงทุนสูง การส่งออกสูง  GDP  เพิ่มสูง ทำให้เกิดวัฏจักรของการเจริญเติบโตสูง

      เนื่องจากจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงมีความต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านคมนาคม , ขนส่ง , ทางเรือ , สนามบิน , โรงผลิตกระแสไฟฟ้า ค่อนข้างมาก ถัดมาคือ การเพิ่มความต้องการบริโภคภายในประเทศ   เพราะประชากรจีนมีมาก และยังต้องการบ้าน , อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน , เครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่น โทรทัศน์ , ตู้เย็น , โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ สำหรับประชากรในเมืองที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้ประชากรก็มีความต้องการบริการทางด้านการค้าและการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่มีความหลากหลาย เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศก็มีตลาดถึง 784 ล้านคน ในปี 2001 

      การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน จึงมาจากตลาดภายในประเทศสูง  ซึ่งต่างจากประเทศเอเชียอื่นที่เล็กกว่าที่เน้นการพึ่งการส่งออก มากกว่าตลาดภายในประเทศ ด้านส่งออกของจีนที่เติบโตปีละ 15% ก็เป็นผลเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนทางหนึ่ง

      มองทางด้านซัพพลาย (การสนองความต้องการ) จีนมีประชากรจำนวนมาก และฐาน  ทรัพยากรที่ใหญ่ การเติบโตของกำลังแรงงานและการเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากจีนสามารถพัฒนากำลังแรงงานที่มีอยู่มากให้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นก็คือความเจริญเติบโตเศรษฐกิจของจีน มาจากการเพิ่มผลผลิตต่อหัวคนงาน และปัจจัยอื่นเช่นการเปิดประเทศ มากกว่าการเพิ่มการลงทุนต่อหัวคนงาน ซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปได้ไกลที่กว่าสหภาพโซเวียตที่เพิ่มการลงทุนต่อหัวมากกว่าเพิ่มประสิทธิภาพ นโยบายเปิดประเทศทำให้จีนต้องแข่งขันกันภายนอกรุนแรงขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันให้จีนต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย

      ในปี 1999  ผู้บริหารของจีนเริ่มตระหนักว่า ภาคชายฝั่งทะเลมีการลงทุนและผลผลิตมากเกินไป และจำเป็นต้องขยายการผลิตไปสู่ภาคตะวันตก ซึ่งพัฒนาน้อยกว่าและมีพื้นที่กว้างใหญ่  ถึง 57% ของทั้งประเทศ แต่มีประชากรอยู่ 23% และมีสัดส่วนใน GDP เพียง 13% ดังนั้นภาคตะวันตกจึงเป็นแหล่งใหม่ที่มีโอกาสจะพัฒนาความเจริญเติบโตได้อีก

      ในแง่ประชากรของจีน อัตราการเจริญพันธ์เริ่มลดลง มีผลให้โครงสร้างประชากรมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทศวรรษหน้า โอกาสการได้รับการศึกษาของประชากรจีนโดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงค์โปร์โดยเฉพาะผู้ได้เรียนระดับอุดมศึกษา ปัจจัยด้านการพัฒนาการศึกษาที่ยังต่ำอาจทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวชลอตัวลงได้

ปัญหาการแข่งขัน จากการเปิดเสรี

      การเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลกในปี 2001 ซึ่งจะทำให้จีนต้องลดภาษีนำเข้าตามลำดับรวมทั้งเปิดเสรีทางการลงทุนมากขึ้น  จะมีทั้งผลดี และ ผลเสียต่ออุตสาหกรรมของจีน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ในสาขาเคมี , รถยนต์ , ยา และ เกษตร จะเผชิญการแข่งขันจากต่างประเทศอย่างรุนแรงและรัฐวิสาหกิจ หลายแห่งจะไปไม่รอด  ธุรกิจบริการ เช่น ธนาคารประกันภัย และ โทรคมนาคม ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการอุ้มชูสูง และมีประสิทธิภาพต่ำ ก็จะเผชิญกับการแข่งขัน จากต่างประเทศ อย่างรุนแรงเช่นกัน แต่มองในอีกแง่หนึ่งก็คือเป็นการบีบให้รัฐวิสาหกิจ  ต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  เหตุที่การปฏิรูปหรือยุบ , ขาย รัฐวิสาหกิจยังได้ยากคือ จะทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาความมั่นคงทางสังคม เพราะปัญหาคนว่างงาน , คนทำงานไม่เต็มที่ , คนจนก็มีเยอะอยู่แล้ว รวมทั้งคนงานที่มีอายุและการศึกษาทักษะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ก็เป็นการยากที่จะฝึกอบรมและหางานใหม่ให้พวกเขา

      ธนาคารของรัฐ 4 แห่งมีปัญหาหนี้ไม่รับรู้รายได้ (NPL)  จาก การปล่อยกู้รัฐวิสาหกิจ เป็นสัดส่วนสูงราว 22 – 24 % ในช่วงปี 1995 – 2000  เพราะต้องให้กู้ตามนโยบายของรัฐ รวมทั้งเพราะการขาดประสิทธิภาพและการฉ้อฉล ของรัฐวิสาหกิจ แต่ การที่คนจีนมีเงินออมในระบบธนาคาร 8 ล้าน   ล้าน (TRILLION)   หยวน เกือบพอ ๆ กับขนาดของ GDP ของประเทศ ทำให้รัฐบาลยังอุ่นใจได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 7% หนี้เสียเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ ถูกย่อยไปเอง 

ปัญหาการว่างงาน

      การที่จีนจะต้องเปิดเสรีหลังการเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกจะบีบบังคับให้อุตสาหกรรมจีนต้องลดต้นทุน ด้วยการลดคนงานลง ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคมต่อไป

      การปฏิรูป รัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 1977 ทำให้คนงานในเมืองต้องถูกปลดปีละ 7-8 ล้านคน และช่วงกลางปี 2002  มีคนงานรัฐวิสาหกิจถูกปลดไปแล้วรวม 24 ล้านคน แม้จะมีตำแหน่งงานใหม่ เพิ่มปีละ 8 ล้านคน แต่ก็ไม่ทันรับคนที่เติบโตมาเป็นแรงงานใหม่ที่เข้ามาหางานปีละ 10 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่นับพวกทำงานต่ำกว่าระดับหรือ การว่างงานแบบแอบแฝง ในชนบทจำนวนมหาศาลอีก สถิติการว่างงานภายในเมืองของทางราชการเพิ่มจาก 1.8% ของกำลังแรงงาน ในปี 1985 เป็น 4.4% ในปี 2002 แต่ถ้าคิดรวม คนงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกปลดออกแล้ว สถิติการว่างงานน่าจะอยู่ที่ 7.8% ของกำลังแรงงาน ทั้งนี้ไม่รวมคนอพยพมาหางานในเมืองที่มาคอยรองานรับจ้างรายวันที่ไม่มีให้ทำทุกวันอีกหลายล้านคน ซึ่งก่อให้ไปเกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางสังคม

      ปัญหาการว่างงานแอบแฝง ในชนบทนับวันจะเพิ่มมากขึ้น  เพราะเกษตรกรขนาดเล็ก จะแข่งขันสู้บริษัทเกษตกรรมขนาดใหญ่ จากต่างชาติ ไม่ได้   คนชนบทมีความไม่พอใจมากขึ้น ทั้งจากปัญหาความแตกต่างทางรายได้ที่ห่างกันมากขึ้น ระหว่างเมืองกับชนบท , การขึ้นภาษี และ การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกลาง เช่น การฝึกอบรมแรงงานใหม่ , การปฏิรูประบบประกันสังคมใหม่ ทำได้ค่อนข้างล่าช้า และไม่เพียงพอ สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องพึ่งคือ การทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงต่อไปเพราะเชื่อว่านี่คือ การแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานและเพิ่มรายได้ ถ้าเศรษฐกิจทำท่าชลอตัว รัฐบาลก็จะใช้วิธีขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปัญหาสังคม

            การเปิดประเทศและการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ของเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น การเพิ่มขึ้นการคาดหมายและความเครียด , อาชญากรรม , และลัทธิความเชื่อโชคลาง รวมทั้งลัทธิความเชื่อทางศาสนา เช่น กลุ่มฟาหลุนกง, ความหลงใหลในการบริโภค  ปัญหามลภาวะทางธรรมชาติและทางสังคม ปัญหาการทุจริตฉ้อฉล ของเจ้าหน้าที่รัฐและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีอำนาจ ปัญหาการทุจริตฉ้อฉล ที่ระบาดมากขึ้น เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาด ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาทางการเมืองและสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า , มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงด้วย

      ปัญหาสำคัญข้อต่อมา  คือ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างเมืองกับชนบท หรือภาคอุตสาหกรรม กับภาคเกษตรกรรมที่ยิ่งเพิ่มขึ้น ปี  2001  ครัวเรือนชนบทมีรายได้ถัวเฉลี่ยปีละ 2366 หยวน เมื่อเทียบกับครัวเรือนในเมืองที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ 6860 หยวน ต่างกันราว 3 เท่า สถิติรายได้ของชาวชนบทยังเป็นรายได้รวม ทั้งอาหาร , สัตว์เลี้ยง , พืชพันธ์ และ ปุ๋ยที่ต้องใช้ในปีต่อไป ไม่ใช่รายได้สุทธิ เหมือนในเมือง ชาวชนบทยังไม่ได้รับบริการเรื่องบ้าน , การศึกษา , สาธารณสุข , จากรัฐ เหมือนชาวเมือง  และยังต้องแบครับภาระภาษี , ค่าธรรมเนียมทั้งถูกกฎหมาย และ นอกกฎหมาย อีกด้วย โดยทั่วไปเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของพวกเขา

      การที่ชนบทยากจน ทำให้ชาวนาหนุ่มอพยพ มาหางานทำประเภทรับจ้างทั่วไป ในเมืองต่าง ๆ ระหว่าง 50 – 100 ล้านคน โดยที่ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถรองรับได้ และพยายามกีดกันคนเหล่านี้ออกไปด้วย มาตรการการตรวจสอบทะเบียนสำมะโนครัว

      อย่างไรก็ตาม ทางจีนก็ยังพอจัดการเรื่อง การผลิตอาหารสำหรับคนทั้งประเทศได้ค่อนองข้างเพียงพอ  เนื่องจากการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตร  แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ทำให้แรงงานเกษตรมีล้นเกินไป จนต้องอพยพไปหางานทำในเมือง และผลผลิตเกษตรที่เพิ่มขึ้น  ก็ทำให้เกษตรกรขายราคาพืชผลได้ต่ำลง  เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรมีความยืดหยุ่นต่ำ กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมือง ก็คือการดึงเอาส่วนเกินจากภาคเกษตรไปช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และทำให้ ภาคเกษตรลดความสำคัญลง ทั้งการจ้างงาน , สัดส่วนใน  GDP  และสัดส่วนในการส่งออก โดยที่รัฐบาลก็ไม่ได้พยาบาลพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง ผู้นำรัฐบาลรุ่นหลัง ๆ เป็นพวกปัญญาชนในเมือง จึงขาดความเข้าใจหรือ เอาใจใส่ปัญหาชนบทเหมือนผู้นำรุ่นแรก ๐

      ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จาก JOHN WONG ,CHINA’S ECONOMY บทที่ 5 ในหนังสือ ROBER E. GAMER (EDIT) UNDERSTANDING   CONTEMPORARY    CHINA (SECOND   EDITION)    LYNNE RIENNER PUBLISHER , 2003. 

 

ฐานะและบทบาททางเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบต่อไทย (บทที่3)


3. ฐานะและบทบาททางเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบต่อไทย

(บทความนี้เขียนในช่วงปลายปี 2002 เพื่อเสนอในที่ประชุมสัมมนา เรื่อง “เศรษฐกิจการเมืองจีนในกระแสการเปลี่ยนแปลง” จัดโดยศูนย์ไทย – เอเชียศึกษา   มหาวิทยาลัยรังสิต สถิติและการวิเคราะห์ อาจล้าหลังไปบ้าง เพราะเศรษฐกิจจีนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ก็เป็นประโยชน์ เมื่ออ่านอย่างเปรียบเทียบกับสถิติและการวิเคราะห์ในบทความอื่นที่ใช้ข้อมูลล่าสุด  ถึงต้นปี 2004) 

ฐานะทางเศรษฐกิจของจีน

      จีนเป็นประเทศที่มีประชากรใหญ่ที่สุด (20% ของประชากรโลก)  เป็นมหาอำนาจทางทหารอันดับ 2 รองจากสหรัฐ  ในปี 2000  ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของจีนคิดเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ อยู่ในอันดับ 7 ของโลก มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.68   แสนล้านดอลลาร์ เป็นที่ 2 รองจากญี่ปุ่น  และเป็นประเทศที่ส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก (จาก WWW.ECONOMIST.COM)

      อย่างไรก็ตาม GDP จีนคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐจะมีขนาดราว 10% ของ GDP สหรัฐเท่านั้น นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกมองจึงว่าขนาดเศรษฐกิจของจีนยังเล็ก และคงต้องใช้เวลา  50-100  ปี กว่าที่ GDP รวมของจีนจะขยับเข้ามาใกล้หรือแซงสหรัฐ

      การเทียบ GDP จีนแบบนี้เป็นการมองในแค่มูลค่าสมมุติเท่านั้น ที่ GDP คิดเป็นดอลลาร์สหรัฐของจีนต่ำ เพราะเศรษฐกิจพื้นฐานจีนเป็นสังคมนิยม  รัฐเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ราคาสินค้าจำเป็นพื้นฐานซึ่งจีนผลิตได้เองส่วนใหญ่ เช่น อาหาร บ้าน ยา เสื้อผ้า ต่ำมาก  ถ้าเทียบกับประเทศพัฒนา   อุตสาหกรรม  จึงมีผลให้การคำนวณตัวเลข GDP ของจีนต่ำกว่าความเป็นจริง  หากมีการคำนวณ GDP ใหม่ โดยปรับเทียบความสามารถในการซื้อสินค้าได้จริง (Purchasing Power Parity)ของคนในแต่ละประเทศ ซึ่งมีค่าครองชีพต่างกัน จีนจะมี GDP ใหญ่เป็นที่ 2 รองจากสหรัฐ และมีขนาดราว 50% ของ GDP สหรัฐที่คิดตามค่าครองชีพ     (THE WORLD FACT BOOK, CIA (WWW.CIA.GOV) ซึ่งแสดงว่าขนาดเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนมองในแง่มูลค่าใช้สอยมีขนาดใหญ่กว่าขนาด GDP มองในแง่ของมูลค่าแลกเปลี่ยนมาก

       ยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบง่าย ๆ ก็คือ ถึง GDP ต่อหัว(คิดแบบตามมูลค่าแลกเปลี่ยน)ของจีนต่ำกว่าไทย ค่อนข้างมาก คือ ราว 871 ดอลลาร์สหรัฐ ของไทยอยู่ที่ราว 2160 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สถิติของ UNDP กลับรายงานว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนจีนได้กินอาหารคิดเป็นคาลอรี่ต่อหัวและโปรตีนต่อหัวสูงกว่าไทย  (UNDP Human Development Report 2000) เข้าใจว่าเพราะ        ค่าอาหารในจีนถูกกว่าไทยมาก แต่สถิตินี้จะแม่นยำแค่ไหนต้องตรวจสอบจากสถิติทางอื่น ๆ อีกครั้ง

      นอกจากจีนจะมีระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างสังคมนิยมกับระบบตลาดที่ต่างจากคนอื่นแล้ว จีนยังเป็นประเทศใหญ่ที่กำลังขยายตัว และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ทุนจากต่างประเทศเข้าไปในจีนสูงถึงปีละ 40,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดและเป็นอันดับสองรองจากในสหรัฐ  (หมายถึงทุนจากประเทศที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐ) แต่ถ้าคิดยอดรวมของการลงทุนต่างประเทศทั้งหมดในโลก สัดส่วนที่ต่างประเทศเข้าไปลงทุนในจีนยังมีสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนต่างประเทศทั่วทั้งโลก          ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนข้ามชาติ ในกลุ่ม 3 ยักษ์ใหญ่คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก 

การเติบโตในอัตราสูงของจีนมีความหมายอย่างไร

      การมองจีนคงจะต้องมองในลักษณะพลวัตอย่างวิเคราะห์ ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างสลับซับซ้อน เราไม่อาจตีความจากสถิติแบบสุดโต่งอย่างง่าย ๆ ได้ เช่น ประเด็นที่จีนมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ในระดับสูงราว 10% ในสองทศวรรษที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง  และยังคงโตได้อย่างน้อยปีละ 7% ต่อไป แม้ในยามเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติถดถอยนั้น  ไม่ได้แปลว่าจีนจะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งทุกด้านโดยไม่มีทางสะดุดได้เลย เราคงจะต้องประเมินฐานะทางเศรษฐกิจของจีนจากหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน และต้องมองสถิติการเติบโตของ GDP จีน อย่างวิพากษ์วิจารณ์  เพราะว่า

  •  
    1. สถิติการเติบโตของ GDP ของจีนมาจากหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งความดีความชอบขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีความเป็นไปได้ว่าสถิติที่รายงานอาจสูงเกินความจริงอยู่บ้าง
    2. จีนเริ่มจากฐาน GDP ที่ต่ำเนื่องจากค่าครองชีพต่ำ มูลค่าสินค้าต่ำ เมื่อสินค้าขยับราคาสูงขึ้น คืออัตราเงินเฟ้อสูง มูลค่า GDP ก็ต้องเพิ่มสูงตามไปด้วย
    3. การที่จีนกำลังเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบวางแผนจากส่วนกลางให้เป็นระบบตลาดเพิ่มขึ้น เช่น การขายรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ, การที่คนจีนจะต้องผ่อนซื้อบ้านที่ตนเคยเช่าจากรัฐได้ในราคาถูกมาก, การเปลี่ยนจากระบบเกษตรเพื่อกินเป็นเกษตรเพื่อขาย จะทำให้สินค้าเพิ่มราคา  ค่าจ้างแรงงานต้องปรับสูง, มีการซื้อขายมากขึ้น มูลค่า GDP ก็ต้องเพิ่มขึ้นตามตัว  ทั้ง ๆ ที่คนจีนก็อยู่บ้านเดิม  การกินอยู่ก็อาจจะไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก
    4. GDP ที่เพิ่มอัตราสูงนั้นส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการในเมือง โดยเฉพาะมณฑลฝั่งตะวันออกและภาคใต้ ภาคเกษตรเติบโตช้ากว่าภาคอื่นมากในช่วง 5-10 ปีหลัง คนว่างงานในชนบทมาก  คน  62 %  ยังอยู่ในชนบท  แรงงาน 50% อยู่ภาคเกษตร
    5. มีรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน ที่อาจต้องยุบทิ้งจำนวนมาก ธนาคารของรัฐก็ปล่อยหนี้เสีย 30-40% ที่อาจเป็นปัจจัยลบให้มูลค่า GDP ในช่วงต่อไปชลอตัวลงได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรุสเซีย และยุโรปตะวันออกมาแล้ว

 

จุดแข็งและจุดอ่อนในทางเศรษฐกิจของจีน

      การประเมินฐานและบทบาทของจีนในระบบเศรษฐกิจโลกควรไม่มองที่การเพิ่มขึ้นของGDP เท่านั้น ต้องประเมินว่าจีนจะสามารถพัฒนาให้คน 1,300 ล้านคนมีการกินอยู่ที่ดีขึ้นทั่วถึงหรือไม่ มีความรู้ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมเข้มแข็ง เจริญเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างสม่ำเสมอเพียงไร และเศรษฐกิจจีนในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนและการค้ากับประเทศอื่น ๆ จะมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลกอย่างไร  นี่คือโจทย์สำคัญซึ่งต้องการการศึกษาค้นคว้าที่เจาะลึกอย่างวิพากษ์วิจารณ์

      จีนมีศักยภาพหรือมีจุดแข็งในการพัฒนาอยู่มาก เช่น การมีประชากร 1,300 ล้านคน ทำให้การผลิตแบบประหยัดจากขนาดใหญ่ (Economy of Scale) เป็นไปได้มาก นี่คือขนาดในฝันของนักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผนทั้งหลาย การที่จีนมีอัตราการออมในประเทศสูง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงมาก  มีขนาดตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ทำให้จีนพึ่งตนเองหรือพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นสัดส่วนสูงกว่าการพึ่งการค้าระหว่างประเทศมาก และการพัฒนาแบบสังคมนิยมที่ผ่านมา 50 กว่าปี (ก่อนที่จะปฏิรูปเป็นระบบตลาดเมื่อ 20 กว่าปีนี้) ก็ทำให้คนจีนมีพื้นฐานทางการศึกษาทั่วไป, มีวินัยในการทำงานที่ดี (แม้ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับสูงยังพัฒนาได้ไม่มากนัก)  รวมทั้งจีนก็ไม่มีปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติมาก มีรัฐบาลที่ค่อนข้างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ มีเครือข่ายคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งชำนาญเรื่องอุตสาหกรรมการค้า ที่พร้อมจะร่วมลงทุน และเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจีน

      อย่างไรก็ตาม การมีประชากรมาก ก็เป็นปัญหาหรือเป็นจุดอ่อนด้วยเหมือนกัน   เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศ และทรัพยากรต่าง ๆ การมีประชากรมากทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการพัฒนาการบริหารจัดการด้านเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมาก จึงจะทำให้คน 1,300 ล้านคน(เป็นคนสูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปถึง 10% หรือ 120 ล้านคน)  มีงานทำมีอาหารการกิน มีปัจจัยสี่ และปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ อย่างเหมาะสม

      ในปัจจุบันคนจีนส่วนใหญ่มีอาหารการกินอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แต่บ้านช่องที่ถูกสุขลักษณะ การสาธารณูปโภค และการสาธารณะสุขยังมีสภาพไม่ดีนัก ภาคเกษตรของจีนซึ่งมีสัดส่วนแรงงาน 50% ของแรงงานทั้งประเทศยังล้าหลัง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ปัญหาคนว่างงานและการทำงานไม่เต็มที่ในชนบทซึ่งประมาณว่ามีไม่น้อยกว่า 100 ล้านคนเป็นปัญหาใหญ่  การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่วนหนึ่งมาจากทุนต่างประเทศ กระจุกตัวอยู่แถบในเมืองฝั่งตะวันออกและภาคใต้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของคนในประเทศมากขึ้น การวัดดัชนีการพัฒนามนุษย์ของ      โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP ที่วัดจากหลาย ปัจจัยประกอบกันทั้งรายได้ , การศึกษา ,        สาธารณสุข และการพัฒนาทางสังคมด้านอื่น ๆ   พบว่าในปี ค.ศ. 1998 จีนอยู่อันดับ  99  จาก  174   ประเทศ (ไทยอยู่อันดับ 76)

      การที่จีนเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบระบบตลาดภายใต้รัฐบาลแบบอำนาจนิยม ได้สร้างปัญหาการทุจริตฉ้อฉล, ความหลงไหลในเงินทอง การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน (ซึ่งยังไม่มีสหภาพแรงงานแบบเสรีที่เข้มแข็ง)  ปัญหาโสเภณี และปัญหาสังคมอื่น ๆ       รวมทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชน และปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อมตามมามากมาย  ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทรัพยากรในประเทศของคนต่างภูมิภาคและต่างกลุ่มจะนำไปสู่ความขัดแยังทางการเมืองและสังคมมากขึ้น แม้ว่ากล่าวโดยเปรียบเทียบกับรุสเซียแล้ว จีนจะปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบตลาดได้ดีกว่า แต่ปัญหาที่ซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ก็ยังมีมาก 

บทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจโลก 

      แม้การจัดการภายในของจีนจะยังคงมีลักษณะสังคมนิยมและชาตินิยม แต่จีนซึ่งในรอบยี่สิบกว่าปีหลังได้เปิดประตูการลงทุนและการค้ากับประเทศต่าง ๆ ค่อนข้างมากได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเพิ่มขึ้น โครงสร้างทุนนิยมโลกในปัจจุบันเปิดให้กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 20% ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ฐานะขนาดใหญ่ของจีนอาจจะทำให้เกิดอำนาจต่อรองในองค์การค้าโลก (WTO) ที่จะถ่วงดุลกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมได้บ้าง แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ จีนก็คงจะคำนึงถึงประโยชน์ตัวเองมากกว่าที่จะหาเสียงทางการเมืองกับประเทศกำลังพัฒนาเหมือนในยุคที่ยังมีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมกันอยู่

      ประเทศกำลังพัฒนาอาจจะทั้งถูกจีนตีตลาด(สิ่งทอ, เครื่องอิเล็กทรอนิกส์, รองเท้า, สินค้าเกษตร)และขายสินค้าบางอย่างให้จีนได้มากขึ้น แล้วแต่ว่าประเทศไหนจะผลิตสินค้าที่จีนยังขาดแคลนหรือทำได้ดีพอได้เพียงไร  โลกเศรษฐกิจที่เป็นจริง คือ โลกแห่งการแข่งขันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา องค์การค้าโลกเป็นเวทีต่อรอง ที่คนมือยาวกว่า, แข็งแรงกว่า  สามารถเอาเปรียบคนมือสั้นกว่า  อ่อนแอกว่าได้มากขึ้น  เมื่อจีนเข้ามาสู่เวทีนี้  จีนก็คงเล่นในกติกาเดียวกัน

      ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีการออม  มีการลงทุนภายในประเทศสูง  การลงทุนสุทธิ    จากต่างชาติในรอบ 10 ปีหลังตกปีละกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  มากที่สุดทั้งในเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด จีนกำลังจะเติบโตแน่ ๆ แต่เราไม่อาจมองเฉพาะเส้นกราฟของความเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ต้องมองปัญหาภายในของสังคมจีน  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของคน

      ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของจีน กระจุกตัวอยู่ฝั่งตะวันออกและทางใต้เท่านั้น  การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดควบคู่ไปกับปัญญหาความแตกต่างเหลื่อมล้ำต่ำสูงภายในประเทศ ปัญหาการว่างงานในชนบท, ปัญหาเงินเฟ้อในเมือง, ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลแบบรวมศูนย์ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์และระบบเศรษฐกิจแบบตลาด                 ที่ให้ประโยชน์นายทุนผู้ประกอบการภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์มากกว่าแรงงาน      (คนจีนส่วนน้อยที่รวยขึ้น ส่งเงินออกไปลงทุน ไปศึกษาต่อ ไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น)  ปัญหาการทุจริตฉ้อฉล อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ  รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม เช่น การที่ผู้หญิงยังมีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย (อัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงจีนมีสูงกว่าผู้ชายอย่างน่าสังเกต  ซึ่งต่างจากประเทศทั่วโลกที่ผู้ชายมีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง-UNDP-อ้างแล้ว) ปัญหาที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลในทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจีนอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปได้

      การมองว่าจีนซึ่งขณะนี้มีอัตราเติบโตสูงกว่าประเทศใด ๆ จะเจริญเติบโตเป็นประเทศร่ำรวยแบบประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้การนำที่มีเอกภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ ภายในอีกไม่กี่ปีจึงอาจจะเป็นการมองในแง่ดีอย่างง่าย ๆ มากเกินไป จีนเป็นยักษ์ที่กำลังตื่นและกำลังเจริญเติบโตอย่างไม่ต้องสงสัย แต่จีนจะโตแบบไหน โตอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง วิพากษ์วิจารณ์ จึงจะเข้าใจภาพรวมที่ซับซ้อนได้   

การเติบโตของจีนและผลกระเทือนต่ออาเซียนและต่อไทย

      การมองว่าการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนจะเป็นผลดีต่ออาเซียน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกเป็นการมองตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่อย่างง่าย ๆ มากไปหน่อย        เราต้องพิจารณาให้ดีว่า จะเป็นผลบวกและผลลบอย่างไร  และที่ว่าเป็นประโยชน์นั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก,ผู้สั่งเข้า, ผู้ร่วมลงทุน หรือต่อประชาชนทั่วไป  จีนองก็จะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ คนที่ได้รับผลลบคือภาคเกษตร  ที่ล้าหลังยากจนและเคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล  จะแข่งขันสินค้าเกษตรจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนา  เช่น  สหรัฐไม่ได้, พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งขณะนี้มีถึง 70% ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมจะถูกเลิกจ้างเพราะการยุบเลิก, การแปรรูป,  ปรับโครงสร้างใหม่  จีนเองก็คงรู้ว่าทีผลลบด้วย  มากขึ้น ฯลฯ แต่จีนต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทันสมัยจึงยอมเปิดรับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วเคยเป็นศัตรูทางอุดมการณ์

      การมองว่า  ถ้าจีนกับอาเซียน  หรืออาจจะรวม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (อาเซียน + 3) รวมกันเป็นเขตการค้าเสรี จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่มหึมาในแง่ประชากร และผลิตภัณฑ์มวลรวมนั้น  เป็นการมองแบบคิดเอาในเชิงสถิติเท่านั้น  ความจริงก็คือ จีนกับอาเซียนผลิตสินค้าหลายอย่างใกล้เคียงกัน จึงเป็นคู่แข่งกันโดยปริยาย  ปัจจุบันจีนกับอาเซียนมีการลงทุนและค้าขายกันน้อย เมื่อเทียบกับที่ทั้งจีนและอาเซียน มีการลงทุนและค้าขายกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม 3 กลุ่มใหญ่  คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป  เป็นด้านหลัก หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง

      ในอนาคตมีแนวโน้มที่จีนกับอาเซียนจะลงทุนและค้าขายระหว่างกันมากขึ้น  แต่การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก หมายถึง จีนจะเปิดรับการลงทุน และการค้ากับประเทศทั่วโลก

อาเซียนไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษนอกจากในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง  ว่าอยู่เป็นเพื่อนบ้านกัน  มีวัฒนธรรมแบบเอเชียด้วยกัน  น่าจะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือควาามร่วมมือในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นกว่าประเทศที่อยู่ห่างไกล  หรือต่างวัฒนธรรมออกไปหน่อย

      ยกตัวอย่างเรื่องการค้าระหว่างจีนกับไทย ถ้ามองในแง่ไทย ในราวปี ค.ศ. 1999  จีนเป็นคู่ค้าระหว่างประเทศอันดับ 4-5 แต่มูลค่าการค้าจริง ๆ ซึ่งอยู่ราว 1.6 แสนล้านบาท จะต่ำกว่าการค้าของไทยกับญี่ปุ่น สหรัฐ ซึ่งอยู่ระดับ 7.7 แสนล้านบาทพอ ๆ กัน หรือยุโรปทั้งกลุ่มมาก ถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็จะอยู่ราว 4% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย ถ้ามองในแง่จีน  ไทยเป็นคู่ค้าที่เล็กมากของจีนอาจจะอยู่อันดับเกือบยี่สิบ และมีสัดส่วนไม่เกิน 1% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน  สถิติการค้าระหว่างไทยกับจีน  ยังมีข้อมูลที่แตกต่างกัน  สถิติทางฝ่ายไทย ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้จีน แต่สถิติฝ่ายจีนอ้างว่าตั้งแต่หลัง ปี ค.ศ. 1996  ไทยขายของให้จีนได้มากกว่าที่สั่งเข้าเล็กน้อย  สถิติของไทย คือ ปี  ค.ศ. 1999  ไทยขาดดุลการค้าจีน         24,024  ล้านบาท  แต่ไทยเกินดุลการค้าฮ่องกง  86,068  ล้านบาท

      การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก ซึ่งจะทำให้จีนเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน เช่น ลดภาษีมากขึ้น จะมีผลต่อไทยทั้งในแง่บวกและลบ สินค้าที่ไทยมีโอกาสขายให้จีนได้มากขึ้น  ข้าว  ยางพารา กุ้งสดแช่แข็ง สินค้าเกษตรแปรรูป น้ำตาล  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  เส้นด้ายและผ้าผืน ผลไม้ แต่สินค้าที่ไทยและอาเซียนจะถูกจีนแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีกำลังซื้อ คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์  พลาสติก เพราะจีนซึ่งมีค่าแรงงานต่ำกว่า  ผลิตได้ถูกกว่า  ไทยต้องเร่งรัดปรับตัวพัฒนาสินค้าออกที่มีคุณภาพมากขึ้น และต้องเจาะหาตลาดใหม่ ๆ นอกจากกลุ่ม 3 ยักษ์ใหญ่

      ในแง่การลงทุน  ระหว่างจีนกับไทย  ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โอกาสที่ไทยจะไปลงทุนในจีน เป็นโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น  เพราะมีการแข่งขันสูง  ส่วนการลงทุนของจีนในไทย ก็มุ่งมาใช้ทรัพยากร เช่น ปลูกป่ายูคาลิปตัส หรือขายบริการ เช่น  รับเหมา     ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่  การลงทุนระหว่างสองประเทศยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนมากกว่าแก่ประชาชนในประเทศทั้งสอง ที่นอกจากได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจน้อยกว่านายทุนแล้ว       ยังเสียประโยชน์ในแง่การทำลายสภาวะแวดล้อมของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น

      ไทยและอาเซียนจะได้ประโยชน์จากจีนมากขึ้น  หากการเจรจากันโดยตรงแบบทวิภาคและแบบภูมิภาค  มีข้อตกลงที่พิเศษกว่าข้อตกลงทั่วไปในเวทีองค์การค้าโลก ซึ่งเป็นเวทีที่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมักจะได้ประโยชน์มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ความจริงถ้าอาเซียน  จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย  ร่วมมือกันได้จริง คือประเทศรวยกว่าใหญ่กว่ายอมผ่อนปรนช่วยเหลือประเทศที่จนกว่าเล็กกว่า  ภูมิภาคนี้จะเติบโตและเข้มแข็งได้มาก  แต่ทุกวันนี้พวกเขาล้วนมองไปที่สหรัฐและยุโรป ซึ่งมีความมั่งคั่งและกำลังซื้อ  และต่างคนก็ต่างทำเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยักษ์ที่คิดแต่ผลประโยชน์ตัวเองมากเกินไปจนเศรษฐกิจของตนเองถดถอยจนขยับไม่ได้

      การลงทุนและการค้ากับจีนรวมทั้งการท่องเที่ยวมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ถ้ามีการร่วมมือกันพัฒนาด้านการคมนาคมผ่านอินโดจีน  และพม่าไปจีน  ให้ครอบคลุมสะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะจะทำให้การขนส่งสินค้าลดต้นทุน  และจีนทางภาคใต้ก็มีประชากรมาก และเศรษฐกิจเติบโต แต่การเติบโตแบบนี้ก็ให้ผลประโยชน์แก่คนบางกลุ่มมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่  และการเปิดประเทศกว้างขึ้น ก็สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย เช่น  มีปัญหาแรงงานเถื่อน โสเภณี  อาชญากรทางเศรษฐกิจ  ยาเสพย์ติด  โรคเอดส์  ฯลฯ เพิ่มขึ้น

      ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองเรื่องการคบกับจีนในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจล้วน ๆ หากต้องมองในแง่ผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมด้วย  จีน ไทย อาเซียน ควรจะร่วมมือกันในแง่สังคม การศึกษา  การวิจัย  วิชาการด้านต่าง ๆ วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมด้วย  จึงทำให้ภูมิภาคเอเชียนี้เจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กันและอย่างยั่งยืน  ไม่ใช่คิดแต่ในแง่การค้า     การลงทุนในกรอบคิดการพัฒนาเพื่อหากำไรเอกชนของระบบทุนนิยมโลก ซึ่งสร้างปัญหา   ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน การทำลายสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมอื่นตามมามากมาย  เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน 

สัดส่วนของมูลค่าสาขาเศรษฐกิจ คิดเป็น ร้อยละ ของ GDP

                                                           ปี 1982                                        ปี 2002

เกษตร                                                                    33.3%                                        14.5%

อุตสาหกรรมทุกด้าน (INDUSTRY)                      45.0%                                        51.7%

การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

(MANUFACTURING)                                       (37.3%)                                     (44.5%)

บริการ                                                                    21.7%                                       33.7%

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ  (หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

                                                            ปี 1982                                        ปี 2002

ส่งออก (FOB)                                                     22,321                                       325,565

     อาหาร                                                               2,908                                        14,623

     น้ำมันเชื้อเพลิง                                                  5,314                                          8,372

     สินค้าอุตสาหกรรม                                         12,271                                      297,085

สั่งเข้า (CIF)                                                          19,285                                     295,203

     อาหาร                                                               4,201                                          5,237

     น้ำมันและพลังงาน                                               183                                        19,285

     สินค้าทุน                                                           3,201                                      137,030

เงินทุนสำรองต่างประเทศ, หนี้และการลงทุนต่างประเทศ  (หน่วย : ล้าน ดอลลาร์)

                                                             ปี 1992                                        ปี 2002

เงินทุนสำรอง (รวมทองคำ)                                 24,182                                       297,721

หนี้ต่างประเทศ                                                    72,428                                       155,628

การลงทุนตรงจากต่างประเทศ                             11,156                                        49,308

(FDI)

ที่มา  :   WORLD BANK 

 

ทรัพยากรและประชากรจีน (บทที่2)


2.  ทรัพยากรและประชากรจีน 

      จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือ มีประชากร 1.3 พันล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรโลก มีพื้นที่ 9.5 พันล้านตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับสหรัฐซึ่งมีประชากรเพียง 280 ล้านคน พื้นที่ที่เพาะปลูกได้ของจีนมีเพียง 13% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ พื้นที่นอกนั้นเป็นทุ่งหญ้า, ภูเขาและที่สูง , ทะเลทราย ป่าไม้และอื่นๆ

      จีนมีถ่านหิน เป็นพลังงานหลัก อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้พลังงานถ่านหิน บ้านเรือนส่วนใหญ่ก็ใช้ถ่านที่ทำจากถ่านหิน ทำให้จีนยิ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและใช้พลังงานมาก ก็ยิ่งทำลายสภาพแวดล้อมทั้งทางอากาศ และทางน้ำมาก ถ่านหินส่วนใหญ่อยู่ทางเหนือที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการขนส่งสูง   น้ำมันก็เช่นกัน

      จีนเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมของตนเองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อจีนพัฒนาอุตสาหกรรมและการขนส่งโดยรถยนต์เพิ่ม ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่ม จีนจึงต้องสั่งเข้าน้ำมันมากขึ้นตามลำดับ

      พลังงานไฮโดรอิเล็กทริก หรือ การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนมีศักยภาพที่จะผลิตได้อีกมาก ในแม่น้ำทางภาคใต้ แต่ปัญหาคือ การทำเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกที่มีน้อยอยู่แล้ว และต้องอพยพผู้คนออก ไฟฟ้าจากเขื่อนจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและคนในเมือง แต่เป็นปัญหาสำหรับคนในชนบทการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนเริ่มมีปัญหาพลังงานไม่พอใช้

      แร่เหล็กและอื่นมีพอสมควร แต่อยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกที่ห่างไกล ต้องเสียค่าขนส่งสูง เมื่อจีนพัฒนาอุตสาหกรรมมาก จีนต้องสั่งแร่ โลหะต่าง ๆ จากออสเตรเลียและที่อื่นๆเพิ่มขึ้น

      ภาคตะวันออก มีดิน น้ำ การคมนาคมและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเกษตรและการอยู่อาศัยมากกว่าภาคตะวันตก ดังนั้นเศรษฐกิจจึงโตมากในภาคนี้ซึ่งติดต่อกับเมืองชายฝั่งทะเลด้วย มากกว่าภาคตะวันตก และภาคเหนือที่อยู่ไกลฝั่งทะเล

      พื้นที่เพาะปลูกของจีนมีต่ำกว่า 250 ล้านเอเคอร์ (110 เอเคอร์ เท่ากับ 2.5 ไร่)  หรือเฉลี่ยต่อประชากรในปี 1995 เท่ากับ  .26 เอเคอร์ต่อคน ต่ำกว่าสหรัฐ 7 เท่า การที่จีนมีประชากร 20% ของประชากรโลก แต่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 7% ของพื้นที่ที่เพาะปลูกได้ของโลก ทำให้จีนต้องดำเนินนโยบายวางแผนครอบครัวอย่างเข้มแข็งด้วยการเน้นการส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวมีลูกเพียงคนเดียว แต่ประชากรก็ยังคงเพิ่มอยู่นั่นเอง

      คาดว่าจำนวนประชากรจะเริ่มคงที่ในปี 2033 โดยมีประชากรราว 1.5 พันล้าน การวางแผนครอบครัวก็มีปัญหาต่อโครงสร้างประชากรในระยะต่อไป เช่น มีประชากรสูงอายุ เป็นสัดส่วนสูงขึ้น , มีประชากรรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และการที่สังคมส่วนใหญ่ประกอบด้วยลูกคนเดียว ก็อาจมีผลต่อการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก ต่อสถานะครอบครัวที่ต่างออกไปจากเดิมได้

      จีนมีพื้นที่ป่าไม้เพียง 17.5% ของพื้นที่ทั้งประเทศ เทียบกับ 25% ของสหรัฐและ  30% เฉลี่ยทั่วโลก พื้นที่ป่ากำลังลดลง เพราะผลของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง ทะเลทรายก็กำลังขยายตัว รวมทั้งมีปัญหาสภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ มาก แหล่งน้ำจืดของจีนที่จะใช้ทำประโยชน์ได้  คิดต่อหัวประชากรแล้ว ต่ำกว่าของสหรัฐ 5 เท่า และต่ำกว่าสถิติถัวเฉลี่ยของประเทศทั่วโลก 4 เท่า แหล่งน้ำของจีนยังกระจายอย่างไม่สมดุลด้วย คือ มณฑลทางภาคเหนือขาดน้ำ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้มีปัญหาน้ำท่วมบ่อย ดังนั้นปัญหาการจะผลิตอาหารให้ได้มากพอที่จะเลี้ยงดูประชากรจำนวนมากที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด

      ประชากร

      ในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไปใน ปี 2000  ยังมีประชากรชายที่ไม่รู้หนังสือ 9% และประชากรหญิงที่ไม่รู้หนังสือ 25% เนื่องจากโรงเรียนชั้นประถมในชนบทมีคุณภาพการสอนต่ำมาก ประชากรที่ไร้การศึกษาจำนวนมากกว่านี้ จะเป็นภาระมากกว่าเป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคใหม่

      ประชากรภาคในเมือง มีสัดส่วนสูงขึ้นมากในรอบ 20 ปี จาก 19.40% ในปี 1980 เป็น 36.33% ในปี 2000 (455 ล้านคน)  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยกระดับหมู่บ้านและตำบลที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเป็นเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ทำให้ชนบทล้าหลัง คนว่างงานหรือทำงานต่างระดับ อพยพเข้ามาหางานในเมืองใหญ่มากขึ้นในช่วง 10 ปีหลัง และเมืองใหญ่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การขนส่ง สาธารณูปโภค และ มลภาวะมากขึ้น   ในปี 2000  มีประชากรเมืองที่ว่างงาน รวม 50 ล้านคน หรือ 12% ของประชากรเมือง  ประชากรทั่วประเทศ 91% เป็นชาวฮั่น   9% เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น จ้วง แมนจู (แต่  9% ในปี 1995 ก็เป็นประชากรถึง 108 ล้านคน) 
 
 
 

      โครงสร้างประชากร

      ปี 2003  ประมาณการว่ามีประชากรส่วนใหญ่  69.5% อยู่ในวัย 15 – 64 ปี (ผู้ชาย 461 ล้านคน ผู้หญิง 433  ล้านคน) อีก 23.1%  อยู่ในวัยเด็ก 0 – 14 ปี ( ผู้ชาย 155  ล้านคน   ผู้หญิง 141  ล้านคน)  อีก 7.4% เป็นผู้อายุสูงกว่า 65 ปี ขึ้นไป  แนวโน้มใน 15 ปี ข้างหน้าสัดส่วนประชากรเด็กลดลง , สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระในการเลี้ยงดูและให้สวัสดิการ

      อัตราส่วนของประชากรวัยเรียน  ที่ได้เรียนหนังสือ ตั้งแต่ชั้นประถมถึงอุดมศึกษาอยู่ในราว 64%  ในปี 2000 – 2001  แต่จีนก็มีประชากรที่ได้รับการศึกษาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่คนที่ไม่รู้หนังสือเลย , รู้นิดหน่อย  ไปจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งแต่ปี 1999 มา จีนพยายามขยายการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาก  ปี 2003  มีคนจบมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจากปี 2002 ถึง 46% ทำให้จำนวนผู้จบมหาวิทยาลัยในปีนั้นมีถึง 2.8  ล้านคน ทำให้เริ่มมีปัญหาการหางานทำของคนที่มีการศึกษาสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาเลือกงานอยากอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งมีโอกาสก้าวหน้ากว่าและมีความเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า เงินเดือนของแรงงานบัณฑิตเริ่มลดลง เพราะมีซัพพลายมากกว่าดีมานต์ บางคนยอมรับเงินเดือน 1,000 หยวน ( 5,000 บาท)  โดยหวังว่าจะมีโอกาสก้าวหน้าภายหลัง    นักศึกษาในปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีจะรับเงินเดือนต่ำกว่า 2,000 หยวน แต่ขอให้เป็นงานในเมืองใหญ่ คนที่จบวิศวกรหรือ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง เคยหางานเงินเดือน 5,000 หยวน ได้ แต่ปัจจุบันการแข่งขันหางานทำก็สูง 

คุณภาพชีวิตประชาชน

      UNDP โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทำรายงานดัชนีการพัฒนามนุษย์ ( HUMAN DEVELOPMENT INDEX)  ออกมาทุกปี โดยพิจารณาทั้งจากรายได้ต่อหัว โอกาสการได้รับการศึกษา , การบริการทางสาธารณสุข การเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด และ การพัฒนาสังคมด้านต่าง ๆ ประกอบกัน รายงานล่าสุดปี 2003  จีนถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 104  (ไม่รวมฮ่องกง ซึ่ง ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 26)  อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับกลาง (ตั้งแต่ลำดับที่ 56 – 105) แต่เกือบท้ายสุด เทียบกับไทยที่อยู่ลำดับที่ 74  เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของจีน  แม้จะคิดแบบปรับกับค่าครองชีพ หรือ อำนาจในการซื้อ (PPP) แล้วยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ 4,020 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ในปี 2001  เทียบกับไทย ซึ่งอยู่ที่ 6400 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี ในปีเดียวกัน ( รายได้ต่อหัวของจีน ตามมูลค่าการแลกเปลี่ยนจะตกราว 900 ดอลลารสหรัฐเท่านั้น ) ดัชนีด้านการศึกษาของจีนก็ยังได้คะแนนต่ำ แต่ถ้าพิจารณาดัชนีการพัฒนามนุษย์ย้อนหลังไป     6 ปี จีนก็มีคะแนนสูงขึ้น ตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด

      ในแง่ดัชนีอัตราความยากจน ซึ่งวัดจากสัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน จีนถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 26  ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน   94  ประเทศ (ไทยอยู่ในลำดับที่ 24 )  คนจนตามตัวเลขของทางการจีน ในปี 1987 – 2000  มี 4.6% ของประชากร ขณะที่ของไทยมี 13.1% ของประชากร จีนมีปัญหาอัตราการไม่รู้หนังสือ, เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาดมากกว่าไทย แต่ปัญหาสาธารณสุขบางอย่าง เช่น เด็กมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน , โอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนวัย 40 ปี กลับดีกว่าไทย ตัวเลขที่น่าสนใจคือแม้จีนจะใช้งบสาธารณสุขต่อหัวต่ำกว่าไทย แต่จีนมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรดีกว่าไทย คือจีนมีแพทย์ 167 คน ต่อประชากร 100,000 คน แต่ไทยมีแพทย์เพียง 24 คน ต่อประชากร 100,000 คน (สถิติปี 1990 – 2002 ) น่าสังเกตว่าประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนามนุษย์ขนาดกลาง (MEDIUM HUMMN DEVELOPMENT)  ด้วยกัน 

      ด้านการลงทุนทางการศึกษา  จีนยังลงทุนทางการศึกษาเป็นสัดส่วนของ GDP ต่ำคือ ราว 2.1% เมื่อเทียบกับไทย ที่ 5.8% ของ GDP (ปี 1998 – 2000)  แต่สัดส่วนของผู้ศึกษาขั้นอุดมศึกษาสายวิทยาศาสตร์ , คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์สูงกว่าไทยมาก คือ 53% ของ นักศึกษาอุดมศึกษาทั้งหมด  ของไทยมีเพียง 21%  (ปี 1994 – 2001 )  ของนักศึกษาอุดมศึกษาทั้งหมด

ข้อมูลจาก    1. ROBERTE GAMER  UNDERSTANDING CONTEMPORARY  CHINA LYNNE RIENNER PUBLISHERS, 2003

 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจจีนยุคปัจจุบัน (เนื้อหาบทที่ 1)


1.  ข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจจีนยุคปัจจุบัน 

  •  
    1. ตัวเลขความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ GDP สะท้อนเพียง

แค่มูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่มีการผลิตและซื้อขายในประเทศในรอบปีเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะร่ำรวยขึ้นเท่ากันตามตัวเลขดังกล่าว เช่น ภาคอุตสาหกรรม โตในอัตราที่สูงกว่าภาคเกษตรมาก ทั้งจีนเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจ ระหว่างมณฑล และ เมืองต่าง ๆ และระหว่างกลุ่มชนอย่างมากมาย GDP เติบโตสูงจึงให้ประโยชน์คนต่างกัน นอกจากนี้ GDP บางส่วนก็สะท้อนการลงทุน และการค้าของบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่นด้วย (กรณีของไทยก็คล้ายกัน)

  •  
    1. ตัวเลขการส่งออกของจีน (เช่น เดียวกับของไทย) เป็นตัวเลขที่รวมตัวเลขของการเข้า

มาลงทุน , สั่งสินค้าต่างประเทศเข้ามาประกอบ และ ส่งออกไปใหม่ ของบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่น เป็นสัดส่วนที่สูง  ซึ่งยังไม่มีการจำแนกตัวเลขเหล่านี้อย่างจริงจัง การคิดอย่างง่าย ๆ ว่าตัวเลขส่งออก คือรายได้เข้าประเทศทั้งหมดไม่ถูกต้อง ในระบบเศรษฐกิจที่เปิดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนและค้าขายได้อย่างเสรี เช่น จีนและไทย การส่งออกจำนวนมากเป็นการส่งออกของบริษัทข้ามชาติ เราต้องวิเคราะห์ตัวเลขการสั่งเข้า , ทุนที่ไหลเข้ามา, ทุนที่ไหลออกไป การจ้างงาน , การใช้ทรัพยากรภายในประเทศ , และตัวเลขอื่น ๆ ประกอบด้วย จึงจะเข้าใจฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้ใกล้เคียงความเป็นจริง

  •  
    1. จีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ การขนส่งภายในประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง มีกฎเกณฑ์

การค้าและการเก็บภาษีของมณฑล ,และเมืองต่าง ๆ ที่แตกต่างกันมาก หลายมณฑลก็ยากจนและแต่ละมณฑลพยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของตน ทำให้แนวคิดของผู้นำรัฐบาลไทย หรือนักธุรกิจบางคน ที่คิดว่าจีนจะเป็นตลาดใหญ่ของคน 1,300 ล้านคน เป็นการมองด้านเดียวอย่างผิวเผินเกินไป ดังจะเห็นได้จากกรณีรัฐบาลไทยรีบเปิดเสรีการค้าผักและผลไม้กับจีน ปรากฏว่าจีนส่งเข้าไทยสะดวกและเพิ่มการส่งออกมาให้ไทยได้สูงกว่าที่ไทยสามารถขายผักผลไม้ให้จีนได้หลายเท่า ซึ่งสะท้อนว่าไทยยังขาดองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับจีน

      เราควรมองว่าจีนคือ ผู้ผลิตผู้ขายรายใหญ่ ที่ผลิตสินค้าหลายอย่างได้ต้นทุนต่ำกว่าไทย และสามารถที่จะส่งไปขายในไทยและประเทศอื่น แบบทุ่มตลาดได้ด้วย  ดังนั้นการที่รัฐบาลจะทำสัญญาเปิดเสรีการค้ากับใครรายการไหน เมื่อไหร่นั้น เราควรศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองของประเทศนั้นให้เข้าใจรายละเอียดเสียก่อน ไม่ควรผลีผลามรีบเซ็นสัญญาเปิดการค้าเสรี  ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ผู้ผลิตที่เข้มแข็ง และเป็นผู้บริโภค ชอบซื้อของคนอื่นมากกว่า

      4.  มีแนวโน้มเอียงทางจิตวิทยาและวิธีคิดของคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่ง ที่มักมองจีนอย่างชื่นชม หรือมองจีนในแง่ดีอย่างสุดโต่งเกินไป เราควรจะมองจีนจากสภาพโลกความเป็นจริงอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน และมองว่าจีน (เช่นเดียวกับทุกประเทศ) ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเป็นเรื่องหลัก การคาดหมายว่าจีนจะรู้สึกเป็นมิตรกับไทยมากเป็นพิเศษ  เป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึกตัดสิน มากกว่าการพิจารณาความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกทุนนิยมปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันกันสูงมาก การร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ก็มีความจำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในระบบทุนนิยมโลก ไทยมีผลประโยชน์ที่ต่างจากจีน (และทุกประเทศ) เราจึงต้องรู้เท่าทันโลก ไม่วิเคราะห์สถานการณ์แบบเอนเอียงสุดโต่ง

      5.  สถิติทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึงจะเป็นเฉพาะของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่รวม ฮ่องกง , มาเก๊า ซึ่งยังถือเป็นเขตเศรษฐกิจต่างหาก เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ได้ข้อมูลมาจากหลายทาง สถิติในบทความที่ต่างกันจึงอาจจะคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง แต่จุดมุ่งหมายของสถิติที่นำมากล่าวไว้เพื่อเปรียบเทียบการให้เห็นขนาดการเติบโตตามช่วงเวลาที่ต่างกัน หรือเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อท่องจำ การคลาดเคลื่อนเล็กน้อยจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับความ   เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในเชิงเปรียบเทียบ 

 

เศรษฐกิจจีนในระบบเศรษฐกิจโลก (สารบัญ)


สารบัญ 

คำนำ 

  1. ข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจจีนยุคปัจจุบัน

 

  1. ทรัพยากรและประชากรจีน

 

  1. ฐานะและบทบาททางเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบต่อไทย

 

  1. เศรษฐกิจจีน

 

  1. การค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

  1. ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ของ สหรัฐและจีน

 

  1. จีนเตรียมแตะเบรกหยุดความร้อนแรงของการเติบโตเศรษฐกิจ

 

  1. ความร่วมมือจีน – ไทย  มิตรภาพและสันติสุขต้องอยู่บนความเที่ยงธรรม
 

เศรษฐกิจจีนในระบบเศรษฐกิจโลก (คำนำ)


เศรษฐกิจจีนในระบบเศรษฐกิจโลก

วิทยากร    เชียงกูล 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำนำ

      หนังสือเล่มนี้มีจุดมุ่งหมายหลักในการเผยแพร่ความรู้เรื่อง เศรษฐกิจสังคมจีนสมัยใหม่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ขาดแคลนในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่จีนกำลังเติบโตเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยสูงมาก   ข้อมูลข่าวสาร เรื่อง จีนเท่าที่เรามีอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็น เรื่อง  ทางประวัติศาสตร์ ,     วัฒนธรรม และวรรณกรรม ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ ยังมีน้อย  หรือบางส่วนเป็นข้อมูลที่เอนเอียงด้านใดด้านหนึ่ง  ไม่ค่อยได้มีการวิเคราะห์ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างเป็นกลาง  , และมีความสมดุลรอบด้านมากนัก 

      จุดมุ่งหมายต่อมา คือ  เพื่อสนับสนุนงานของ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม   มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ผมรับผิดชอบเป็นคณบดีอยู่ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าเผยแพร่แนวคิดใหม่ด้านการพัฒนาสังคมแห่งนี้  นอกจากจะเปิดหลักสูตรปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์  และหลักสูตรผู้นำทางสังคมธุรกิจและการเมืองในระดับปริญญาตรีแล้ว ยังเปิดหลักสูตร “จีนในระบบเศรษฐกิจโลก” ในระดับประกาศนียบัตรและปริญญาโทในเดือนมิถุนายน 2547  นี้ด้วย

      หลักสูตร “จีน ฯ ”  จะเน้นศึกษาเรื่องเศรษฐกิจธุรกิจ การเมือง สังคมจีนสมัยใหม่  หลักสูตรโดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อการสอน นี่เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย  ที่เกิดได้เพราะได้รับความร่วมมือของอาจารย์จาก จุฬา  ธรรมศาสตร์  สถาบัน  หน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการอิสระ หลายสิบคน ทุกคนเห็นพ้องกันว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่เราต้องช่วยกัน ต่อเติมความรู้เรื่องจีนที่สังคมไทยมีอยู่เป็นส่วน ๆให้เห็นภาพรวมชัดขึ้น เพื่อสนองความต้องการความรู้เรื่องจีนที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

      หลักสูตรจีนในระบบเศรษฐกิจโลกนี้จะใช้วิธีการบรรยาย , การสัมมนา , พูดคุย แลกเปลี่ยน, การเขียน แปล บทความ , หนังสือ , การวิเคราะห์รายงาน , การวิจัย การไปศึกษาดูงาน ฯลฯ เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่อาจารย์และนักศึกษา จะช่วยกัน สร้างและเผยแพร่ ความรู้เรื่องจีน ที่เป็นประโยชน์ แก่สังคมไทยและสังคมโลก เราเชื่อว่าความรู้ที่มีประโยชน์ใช้งานได้ คือความรู้ที่ผู้เรียนจะต้องวิเคราะห์ , สร้างใหม่ , ประยุกต์ใช้เป็น  เราจึงคาดหมายว่าผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องสนใจอ่าน , วิจัย ,เรียนรู้ด้วยตนเองและมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนและสร้างความรู้ไปพร้อมกับอาจารย์ด้วย ไม่ใช่แค่การฟังและจดจำข้อมูลสำเร็จรูปที่เป็นการศึกษาแบบเก่า มีประโยชน์ค่อนข้างจำกัด

      โครงการ “จีนในระบบเศรษฐกิจโลก”  ของเรา จะเปิดกว้าง รับผู้ที่สนใจจะเข้าเรียนบางวิชาที่เราจะเปิดสอนนักศึกษาปริญญาโทอยู่แล้ว โดยไม่จำกัดวุฒิ เฉพาะผู้ที่ต้องการจะลงทะเบียนเรียนเพื่อให้ได้ปริญญาโท ( 2 ปี  42  หน่วยกิต) หรือ ประกาศนียบัตรชั้นสูง ( 1 ปี )  เท่านั้นที่จะต้องมีพื้นฐานปริญญาตรี (จากแขนงใดก็ได้) ถ้าไม่รู้ภาษาจีน ก็ควรรู้ภาษาอังกฤษ    อ่านบทความและหนังสือภาษาอังกฤษได้ และหรือ มีพื้นความรู้การวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ หรือความรู้เรื่องจีนมากพอที่จะเขียนรายงานและทำวิทยานิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับจีนในระบบเศรษฐกิจโลกได้

      หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย บทความและคำบรรยายที่ผมเคยทำไว้ เมื่อ 1 – 2 ปี          ที่แล้ว  2 ชิ้น นอกนั้นเป็นงานใหม่ที่อาศัยข้อมูลจากหนังสือและบทความล่าสุดเท่าที่จะหาได้ ผมใช้ปี ค.ศ. ในบทความ ซึ่งเป็นการใช้แบบสากลที่ประเทศจีนเองก็ใช้อยู่  หากจะเทียบปี พ.ศ. ก็ต้อง จะใช้ 543  บวก (เช่นปี 2000  คือ  พ.ศ. 2543)  หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเสริมพื้นฐาน    องค์ความรู้และสร้างความสนใจในการศึกษาค้นคว้า เผยแพร่ เรื่องเศรษฐกิจสังคมจีน ให้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้นต่อ ๆ ไป 

วิทยากร   เชียงกูล

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

มหาวิทยาลัยรังสิต

              มีนาคม 2547 

รายละเอียดเรื่อง หลักสูตร   “จีนในระบบเศรษฐกิจโลก” ติดต่อได้ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก โทร. 02-9972220  ต่อ 1139 , 1140 , 1363 , 1364 หรือ CSI_EDU@YAHOO.COM หรือบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารสาธรธานี 1 ชั้น 8  (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรีย์) WWW.SATHORN.NET 

 

ความรัก การสร้างสรรค์ และความสุข (วิทยากร เชียงกูล) โดยสำนักพิมพ์สายธาร


ความรักฯ 

 

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12
19-28 ตุลาคม 2550

ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เชิญเตรียมพบกัน สำนักพิมพ์สายธาร วิญญูชน วารสารกฎหมายใหม่  http://www.winyuchon.co.th/main/Default.asp

ได้ที่ บูธ N53 โซนซี 1 

และในงานนี้สายธารมีหนังสือของอาจารย์วิทยากรออกใหม่ชื่อ ความรัก การสร้างสรรค์ และความสุข โดยหน้าประวัติของอาจารย์นั้นได้ใส่เว็บไซต์ที่ทางชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล ทำให้อาจารย์เข้าไปด้วย 

ทางชมรมศึกษาฯขอขอบพระคุณสำนักพิมพ์สายธาร วิญญูชน  และคุณสุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ ผู้มีน้ำใจงดงาม ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ