RSS

Monthly Archives: พฤศจิกายน 2007

ทางออกของปัญหา:น้ำมันแพง เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องแก้ไขทั้งระบบ


ทางออกของปัญหา:น้ำมันแพง เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องแก้ไขทั้งระบบ
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 25 พฤศจิกายน 2550 16:44 น.

โดยวิทยากร  เชียงกูล

       น้ำมันแพงตั้งแต่นี้ไปเป็นปัญหาถาวร ไม่ใช่วัฏจักรขึ้นลงเหมือนครั้งก่อน
       
        โลกเรากำลังใช้น้ำมันมากกว่าที่เราผลิตและกลั่นได้ เราขุดน้ำมันมาใช้ถึงจุดสูงสุดหรือครึ่งหนึ่งแล้ว อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจะขุดยากขึ้น ผลผลิตแต่ละปีจะลดลงตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น น้ำมันดิบที่มีราคาระดับบาเรลละ 80 ดอลล่าร์สหรัฐ (สูงขึ้น 3 เท่าตัวจาก 5 ปีที่แล้ว) จะไม่มีราคาลดต่ำกว่านี้ มีแต่จะสูงขึ้นเป็นหลักร้อย ชนชั้นนำไทยที่เสนอให้ไปใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมัน ไม่ตระหนักว่านี่เป็นการแก้ไขได้บางส่วนและชั่วคราวเท่านั้น ก๊าซธรรมชาติก็จะหมดในเวลาต่อไป และจะแพงขึ้นเช่นกัน
       
       ปีที่ผ่านมาทั้งโลกใช้น้ำมันวันละ 84 ล้านบารเรล หรือตกปีละ 30,660 ล้านบารเรล ( 1 บารเรล = 158.9 ลิตร) คาดว่าจะมีน้ำมันทั้งโลกให้ใช้ได้ไม่เกิน 40 ปีนับจากนี้ไป
       
        คนที่ไม่ศึกษาอนาคต จะทั้งเจ็บปวดและทั้งงุนงง
       
       นักธรณีวิทยาด้านน้ำมันส่วนใหญ่เชื่อว่า มีการสำรวจไปทุกมุมของโลกอย่างน้อย 95 – 98% ของทุกพื้นที่ในโลกแล้ว ช่วง 10 – 20 ปีหลังมีการพบแหล่งน้ำมันใหม่น้อยลงตามลำดับ ก๊าซธรรมชาติก็คาดว่าจะถูกใช้หมดตามหลังน้ำมันไม่เกิน 10 ปี
       
        การที่โลกฝากความหวังเรื่องการพึ่งแหล่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง รุสเซีย เอเชียกลาง ลาติน อเมริกา และแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาที่ซับซ้อน ยังเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายจากความผันผวนทางการเมืองมากด้วย
       
        พลังงานทางเลือกอื่นนอกจากน้ำมันมีข้อจำกัด
       
        พลังงานอื่นที่จะมาแทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ยังมีการพัฒนาน้อย และมีข้อจำกัด ถ่านหินมีมากก็จริง แต่สร้างมลภาวะมากที่สุด ทั้งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งทำให้โลกร้อนขึ้น ธรรมชาติขาดความสมดุล เกิดพายุและน้ำท่วมมากขึ้น การกลั่นน้ำมันจากถ่านหิน ทรายน้ำมัน หินน้ำมันก็ต้นทุนสูงและสร้างมลภาวะ โรงงานไฟฟ้าจากปรมาณู ทั้งแพง ทั้งอันตราย พลังงานจากไบโอดีเซลและจากไฮโดรเยนที่จะทำเป็นเซลล์เชื้อเพลิง สำหรับใช้ยานพาหนะและอื่น ๆ ก็ยังมีต้นทุนสูงและต้องการการวิจัยและพัฒนาอีกมาก พลังงานแสงแดด ต้นทุนสูง ต้องใช้เวลาพัฒนาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ต้องใช้แร่เหล็กมาก กระบวนการผลิตก็ก่อมลภาวะส่วนหนึ่ง พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ก็มีปัญหาด้านมลภาวะและความไม่คุ้มทุนสูง
       
       พลังงานจากลมมีต้นทุนต่ำและมีโอกาสดีที่สุด แต่ทำได้เฉพาะบางสถานที่และจะใช้ภายในชุมชนใกล้ ๆ ได้มากกว่าจะผลิตเป็นขนาดใหญ่และส่งไปใช้ได้ไกล ๆ โดยเสียต้นทุนต่ำ รวมทั้งไม่อาจใช้ในยานพาหนะได้
       
       บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ 5 – 6 บริษัทและรัฐบาลมักจะคิดแบบเข้าข้างการใช้น้ำมันที่พวกเขาคอยควบคุมได้ง่ายและได้กำไรมากกว่าจะพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบที่ชาวบ้านและชุมชนจะผลิตใช้เองได้โดยไม่ต้องพึ่งบริษัทใหญ่ ทั้งประชาชนก็ถูกครอบงำทางความคิดให้ชอบและชินกับความสะดวกสบายจากการใช้น้ำมันและการบริโภคสิ่งต่าง ๆ ที่พึ่งน้ำมัน จนนึกว่าน้ำมันมีเหลือเฟือไม่จำกัด เหมือนเด็กเล็กที่คิดว่าถ้าพ่อแม่ต้องการเงินก็แค่ไปกดเงินมาจากตู้เอทีเอ็ม
       
       น้ำมันแพงนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤติขาดแคลนอาหาร
       
       ไม่ว่าน้ำมันจะหมดโลกภายใน 40 ปี จริงหรือไม่ แต่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะต้องหมดภายในศตวรรษนี้อย่างไม่มีทางผลิตทดแทนได้ ถึงจะมีมาตรการประหยัดการใช้น้ำมันออกมาบ้าง การใช้น้ำมันของโลกก็จะยังคงเพิ่มขึ้น เพราะคนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจหลายประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น คนใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้ไฟฟ้า ผลิตอาหารที่ใช้ปุ๋ยเคมี และบริโภคสินค้าที่มาจากน้ำมันหรือต้องใช้น้ำมันและปิโตรเคมีที่มาจากน้ำมันมากขึ้น
       
       เมื่อน้ำมันแพง 1 เท่า หรือ 2 เท่าตัว สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ภาวะเงินเฟ้อกว่าปีละ 10% ขึ้นไป รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องพยายามปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น กำลังการซื้อจะตกต่ำ ธุรกิจล้มละลาย ธนาคารเกิดหนี้เสีย เกิดเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำครั้งใหญ่ยิ่งกว่าครั้งใด เพราะโลกมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันสูงขึ้น และเพราะเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมพึ่งน้ำมันหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิล (รวมก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน) ยิ่งกว่ายุคใดที่ผ่านมา
       
       ปัญหาของประเทศไทย
       
        ประเทศไทยใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าราว 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม และสั่งเข้าน้ำมันเป็นมูลค่าปีละ 5 – 6 แสนล้านบาท สูงกว่าที่เราส่งข้าวไปขายต่างประเทศราว 7 – 8 เท่า น้ำมันกลายเป็นสินค้าหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขาดดุลการค้าและเป็นหนี้สูง ประเทศไทยใช้น้ำมันเพื่อการบริโภคส่วนตัว (เช่น รถส่วนตัว ไฟฟ้าสำหรับความบันเทิง) มากกว่าที่จะใช้เพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่คนไทยใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในอัตรา 1.4 เท่าของอัตราเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเพิ่มต่ำกว่า 1 เท่าของ GDP
       
       ชนชั้นนำของไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างเป็นระบบองค์รวม พวกเขาออกมาตรการประหยัดน้ำมันแบบเกรงใจภาคธุรกิจเอกชนและคนชั้นกลางมากไป กระทรวงพลังงานมองว่าการส่งเสริมให้รถยนต์ใช้ก๊าซและไบโอดีเซล/ก๊าซโซฮอลล์แทนน้ำมันจะลดการใช้น้ำมันได้สัก 20% ภายใน 4 ปี ทั้ง ๆ ที่ก๊าซก็จะหมดจากเมืองไทยและหมดทั้งโลก รวมทั้งจะแพงขึ้นเช่นกัน ส่วนไบโอดีเซลและก๊าซโซฮอลล์ก็ต้องพึ่งการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งต้องพึ่งน้ำมัน ในขณะที่รัฐบาลในยุคทักษิณใช้เงินรัฐสนับสนุนราคาน้ำมันและก๊าซในช่วงปี 2547 ขาดทุนไปกว่า 8 หมื่นล้านบาท และทุกวันนี้รัฐบาลยังเก็บภาษีน้ำมันสูงเพื่อชดเชยการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน รัฐบาลทุกรัฐบาลส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์และการสร้างทางด่วนและถนน มากกว่าที่จะสนใจพัฒนาการขนส่งสาธารณะ การขนส่งสินค้าทางรถไฟและทางเรือซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าการขนส่งโดยใช้รถบรรทุก รวมทั้งไม่มีมาตรการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง
       
       นี่คือปัญหาวิกฤติที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อคนทั้งประเทศอย่างรุนแรง ควรมีการระดมนักวิชาการเพื่อศึกษาปัญหานี้ในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบองค์รวม เพิ่มทุนวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก ปรับเปลี่ยนการวางผังเมืองใหม่ ปฏิรูประบบภาษีอากร กฎหมาย นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน) อย่างจริงจัง
       
        อย่ามัวแต่ทะเลาะกัน อย่ามัวแต่แก่งแย่งแข่งขันแบบตัวใครตัวมันกัน อย่ามัวแต่คิดเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน มหันตภัยกำลังจะมาภายใน 10 ปีนี้ คนมีปัญญา คนที่คิดการณ์ไกล คิดถึงปัญหาส่วนรวม ต้องเริ่มต้นศึกษาและหาทางป้องกันหาทางแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ประเทศไทยจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรง และคนที่รอดชีวิตส่วนน้อยจะต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบบุพกาลเหมือนในยุคก่อนโลกมีน้ำมันใช้ในเชิงอุตสาหกรรม
 

สุขสันต์วันเกิด อ.วิทยากร เชียงกูล และ เรื่องสั้นพิเศษ “วันหยุดของคนเรานั้นสั้น”


เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของ อ.วิทยากร เชียงกูล เวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันนี้
ขออำนวยพรให้ อ.วิทยากร เชียงกูล มีสุขภาพ พลานมัยที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดผลงานวรรณกรรม งานเขียนและงานแปลออกมาอย่างต่อเนื่อง


ในโอกาสสำคัญครั้งนี้ จึงขอนำเสนองานเขียนของ อ.วิทยากรในรูปแบบเรื่องสั้น ชื่อ “วันหยุดของคนเรานั้นสั้น”  ซึ่งเป็นงานเขียนเมื่อ 37 ปี ที่แล้ว มาให้ผู้สนใจได้สัมผัสกันอีกครั้งหนึ่ง….

วันหยุดของคนเรานั้นสั้น

โชคชะตาและความเอื้อเฟื้อของคนบางคนทำให้มีโอกาสเดินทางไกล ไปยังดินแดนที่พระอาทิตย์ให้เกียรติมาเยือนก่อนใครแห่งนั้น

เขาพาฉันขึ้นไปบนภูเขาสูง ตรงเส้นทางคอนกรีตที่คดโค้งพับไปพับมา อ่อนไหวเหมือนธรรมชาติ และแข็งแกร่งเหมือนจะอวดมันสมอง และฝีมือของมนุษย์ หมอกสีขาวขุ่นสยายลงมาปกคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะที่เราโลดแล่นสูงขึ้นไปสูงขึ้นไป ตามเส้นทางที่ดูราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ฉันรู้สึกคล้ายกับว่า จะได้ขึ้นไปสู่ที่ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันมาก่อน เพื่อที่จะได้ไม่กลับมาลงอีกเลย

เขาพาเราไปดูทะเลสาบสีเขียวเข้ม น้ำตกสูงตระหง่าน โขดหิน และ ฯลฯ นักท่องเที่ยวอเมริกันกลุ่มใหญ่ที่ไปในรถคันเดียวกัน ดูร่าเริงสนุกสนานและเป็นกันเอง จนฉันมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างเรา และเริ่มคิดว่าเขาอาจจะเป็นเพื่อนฉันก็ได้

ฉันหวังว่า ฉันคงจะไม่ต้องรังเกียจพวกเขา เพียงเพราะรัฐบาลที่ปราศจากหัวใจของเขา สร้างความขมขื่นและเจ็บช้ำไว้ในเวียดนามและที่อื่นๆ

บนภูเขานั้น ฉันไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นอเมริกัน ความเป็นคนรวยหรือการแบ่งแยกชนิดใดๆ

เราเป็นเพียงมวลมนุษย์ ผู้กำลังชื่นชมปิติยินดีอยู่กับธรรมชาติที่ล้อมรอบเราอยู่เท่านั้น

เมื่อตะวันใกล้จะตกดิน สิ่งเหล่านี้ก็ทำท่าว่าจะเริ่มสิ้นสุดลง เขาพาเรากลับเข้าเมืองและพามาติดอยู่ในกลางขบวนของนักศึกษาญี่ปุ่นผู้กำลังเคร่งเครียดอยู่กับการรณรงค์ประท้วงให้สหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพไปจากเกาะโอกินากาของพวกเขา

เป็นการเดินขบวนที่ยิ่งใหญ่สวยงามและน่าชื่นชมมากทีเดียว สำหรับคนหนุ่มผู้ไปจากประเทศที่อยากจะมีการแสดงออก  อย่างฉัน

แต่คนอเมริกันเหล่านั้น ไม่สามารถมีความรู้สึกชื่นชมร่วมกันได้อีกต่อไป พวกเขากำลังหวาดระแวงว่า พวกนักศึกษาอาจจะเข้ามารุมทำร้าย หรืออาจจะถึงกับจุดไฟเผารถคันที่พวกเขานั่งกันอยู่เสียก็ได้ ท่าทาวงหวาดกลัวของพวกเขา ทำให้ฉันเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ และเป็นครั้งแรกที่ฉันระลึกขึ้นได้ว่า เขาเป็นชาวอเมริกัน และฉันเป็นชาวเอเชีย

ความรู้สึกเมื่อตอนกลางวัน หมดสิ้นไป และฉันถูกฉุดกลับมา สู่โลกแห่งความจริงที่โหดร้ายอีกครั้งหนึ่ง

วิทยาสารปริทัศน์
20 ก.ค.2513

 

ป้ายกำกับ: ,

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก


 “ภารกิจชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก”

เป็นบทความส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มที่กำลังจะออกใหม่
ของท่านอาจารย์วิทยากร  เชียงกูล ชื่อหนังสือเรื่อง

“อนาคตเศรษฐกิจโลกและทางออกสำหรับไทย”
โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์

ส่วนหน้าตาของปกจะเป็นยังไงนั้นทางชมรมศึกษาฯ จะนำมาให้ดูกันชัดๆ

เมื่อหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

 

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก1

 

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์กับชุมชนของชาวพุทธทั้งในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมและในโลกตะวันตกที่เป็นแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมโลก ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ (วิธีที่เรามองโลก) ของเราอีกด้วย ข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้ด้วยว่า หากเราต้องการหลีกเลี่ยงการตีความคำสอนของพุทธศาสนาอย่างผิดๆ เราจะต้องพิจารณาอย่างใกล้ชิดถึงความแตกต่าง ระหว่างสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกแบบพัฒนาอุตสาหกรรม และสังคมที่ยังคงมีส่วนที่เป็นระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นมากกว่า

ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า สังคมต่างๆมีรากเหง้าติดอยู่กับโลกธรรมชาติมากกว่าโลกในยุคปัจจุบันมาก ระบบเศรษฐกิจในยุคนั้นเป็นระบบเกษตรและหัตถกรรมแบบพึ่งพากันและกันในท้องถิ่น รวมทั้งพึ่งพาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและธรรมชาติทั้งหมดมากกว่ายุคปัจจุบันมาก มนุษย์เรามีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติโดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อและพ่อค้าคนกลาง การที่มนุษย์ในสมัยนั้นได้เห็นและมีประสบการณ์กับมนุษย์คนอื่นๆในชุมชนโดยตรง เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางจริยธรรมของมนุษย์แต่ละคน คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้พัฒนาขึ้นในบริบทของสังคม ที่หล่อหลอมโดยความสัมพันธ์โดยตรงของมนุษย์กับชุมชน และโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

พุทธศาสนาคือเรื่องของชีวิต คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และอย่างเป็นวัฏจักร การเกิดและการตาย ความดีใจและความโศกเศร้า ดอกไม้บานแล้วก็เหี่ยว พระจันทร์ข้างขึ้นและข้างแรม พุทธศาสนาคือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอนิจจัง (ไม่คงทนถาวร) และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง

แต่ในโลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและการผลิตขนานใหญ่แบบอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ถูกแบ่งแยก ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้ชีวิตประจำวันของเราต้องพึ่งพา โลกแบบใหม่ที่ถูกสร้างโดยคน – ระบบเศรษฐกิจแบบค้าขาย พลังงานไฟฟ้า รถยนต์และถนน ระบบการแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่ การพึ่งพาในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราเชื่อว่า เราต้องพึ่งพาโลกของเทคโนโลยีมากกว่าโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

เมื่อขนาดของระบบเศรษฐกิจขยายใหญ่โต และเรากลายเป็นเพียงผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกของคนหกพันล้านคน ยิ่งเป็นการยากที่เราจะรู้ถึงผลกระทบของเราต่อธรรมชาติและต่อคนอื่นๆในสังคมเหมือนในชุมชนชนบทแบบดั้งเดิมที่คนในชุมชนรู้จักกันและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในสังคมแบบชุมชนดั้งเดิม เรารู้ว่าการเพาะปลูกของเราจะมีผลกระทบต่อดินและต่อคนในชุมชนที่ซื้อของจากเราไปกินอย่างไร เรามีความรับผิดชอบความห่วงใยต่อสุขภาพ/สวัสดิการของพวกเขาโดยตรง

ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เราต่างคนต่างเป็นผู้ผลิตในระบบอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่และส่งสินค้าผ่านต่อคนอื่นไปให้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร เพียงเพื่อผลกำไรและเงินของใครของมัน ทำให้เราไม่รู้สึกผูกพันรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อการกระทำของเรา เมื่อเทียบกับการผลิตในระบบเศรษฐกิจชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในชุมชน มากกว่าแค่การผลิตสินค้าไปขายแลกกับเงิน

การแยกตัวออกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความผูกพันของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาจากและสะท้อนถึงการมองโลกแบบแยกส่วน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาซึ่งมองสรรพสิ่งแบบเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มนุษย์เราเป็นปัจเจกชนที่แยกออกมาจากธรรมชาติ และมนุษย์สามารถที่จะเอาชนะโลกธรรมชาติได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่

โครงสร้างและสถาบันของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม มีพื้นฐานอยู่บนความโง่เขลาและความโลภของมนุษย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาที่มองว่า มนุษย์เราเกิดมาต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีความยั่งยืนถาวร จะต้องสิ้นอายุสูญสลายไปในวันหนึ่ง ดังนั้นเราจึงควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และใช้ชีวิตแบบเดินสายกลางให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

ชาวพุทธที่รับผิดชอบต่อสังคม (รวมทั้งชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ฯลฯ ด้วย) ควรจะใช้หลักคำสอนของศาสนามาตรวจสอบแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอย่างพินิจพิจารณา ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากพวกเราช่วยกันพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เราจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันเดินไปคนละทางกับเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ และเราควรจะคัดค้านอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่สอดคล้องกับปรัชญาชาวพุทธ

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และโลกาภิวัตน์ (การทำให้การผลิตและการบริโภคของคนทั่วโลกเป็นแบบเดียวกัน) ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ กำลังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเดี่ยวที่จะนำโลกทั้งโลกไปสู่หายนะภัยครั้งใหญ่ รากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกวางอยู่บนแนวคิดแคบๆเกี่ยวกับความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน โดยมองข้ามความสัมพันธ์ด้านที่ไม่ใช่วัตถุของชีวิต เช่นเรื่อง ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน การมีงานที่ให้ความหมายความพอใจซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน ความสัมพันธ์ด้านคุณค่าทางจิตใจซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

เหตุที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเน้นที่ความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน เพราะพวกนายทุนและผู้สนับสนุนเชื่อว่า มนุษย์เรามีแรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่เห็นแก่ตัว และมีความต้องการทางวัตถุอย่างไม่มีขอบเขต แทนที่พวกนายทุนและผู้สนับสนุนจะส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักควบคุมแรงจูงใจทางธรรมชาติในการไขว่คว้าที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง พวกเขากลับใช้จุดอ่อนของมนุษย์ ที่จะเพิ่มการผลิตและการขายสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มกำไรส่วนตัวของพวกเขา พวกเขาอ้างว่า “มือที่มองไม่เห็น” ในกลไกตลาดที่มีการแข่งขันเสรี จะทำให้กิจกรรมที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยอัตโนมัติ

แต่ระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ถูกครอบโดยบรรษัทข้ามชาติ จริงๆแล้วมีความหมายอย่างไร ? ความหมายหนึ่งของโลกาภิวัตน์คือ “โลกที่มีการบริโภคแบบเดียวกันทั่วโลก” โลกซึ่งคนทุกคนกินอาหารที่มาจากการผลิตในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน ใส่เสื้อผ้าตะวันตกแบบเดียวกัน มีบ้านสมัยใหม่ สร้างวัสดุจากโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน โลกซึ่งทุกประเทศใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน พึ่งระบบเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการจากสำนักงานแม่ของบรรษัทข้ามชาติ ระบบเดียวกัน จัดการศึกษาแบบตะวันตกเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน (ภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาซื้อขายด้วยเงินของทุนนิยม) บริโภคสื่อแบบเดียวกัน โดยสรุปแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์คือระบบที่ทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มันหมายถึงการสร้างวัฒนธรรมเดี่ยว คือวัฒนธรรมทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ หลายศาสนา สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขา ที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดและพัฒนาได้จนถึงวันนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมช่วยให้มนุษย์เราเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปรับตัว การแก้ไขสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น ช่วยให้โลกเกิดความรุ่มรวยและสีสันที่น่าสนใจ

แต่การขยายตัวของระบบโลกาภิวัตน์กำลังทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม (และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต) อย่างรวดเร็ว ระบบโลกาภิวัตน์สร้างเมืองแบบป่าคอนกรีตและถนนหลายช่องแบบเดียวกันทั่วโลก สร้างภูมิสถาปัตย์แบบเดียวกันในทุกมุมของโลก เมืองที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ห้างสะดวกซื้อ ร้านอาหารแบบสำเร็จรูป ป้ายโฆษณาหนังฮอลลีวู๊ด โทรศัพท์มือถือ กางเกงยีนส์ เครื่องสำอาง บุหรี่ เบียร์ เหล้า จากตะวันตก ฯลฯ

ระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เข้ามาแทนที่การผลิตเพื่อเลี้ยงชีพในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของชุมชน ทำให้มนุษย์เหินห่างตัดขาดจากวงจรของธรรมชาติเพิ่มขึ้น การเกษตรแบบพึ่งแรงงานธรรมชาติเพื่อการเลี้ยงชีพ ถูกทำให้เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อขายและส่งออก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการใช้ปุ๋ยและเคมี การวางแผนและการจัดการจากบริษัทส่งออก เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรชนิดที่จะขนส่งไปขายทางไกลในราคาที่แข่งขันกับผู้ผลิตผู้ส่งออกรายอื่นๆในตลาดโลกได้

ในกระบวนการดังกล่าวนี้ เกษตรกรผู้เคยวางแผนเอง ซึ่งเคยอิสระ ทำทุกอย่างด้วยตนเอง รวมทั้งควบคุมการผลิตและชีวิตของตัวเองได้ กลายเป็นลูกหนี้หรือลูกจ้างในระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ที่ต้องขึ้นต่อการใช้ทุน การใช้เครื่องจักรที่กินน้ำมัน การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีมากขึ้น การเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารหลากหลาย เพื่อการบริโภคของชุมชนในท้องถิ่น กลายเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อการส่งออก

ระบบโลกาภิวัตน์ที่สร้างวัฒนธรรมเดี่ยวมาแทนความหลากหลายทางวัฒนธรรม กำลังมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มซีกโลกใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่มากกว่าที่อื่นๆ ในกลุ่มซีกโลกใต้ ประชาชนจำนวนมาก ยังอาศัยในหมู่บ้าน ยังมีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองซึ่งใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างหลากหลาย ยังคงเชื่อมโยงแบบอาศัยโลกธรรมชาติมากกว่าโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่แรงกดดันจากระบบโลกาภิวัตน์กำลังทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของท้องถิ่นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

คนถูกบีบให้อพยพจากชนบทเข้าเมือง และหมู่บ้านเองก็ถูกทำให้เป็นชุมชนแบบชานเมือง ประชาชนที่เคยพึ่งตนเองในระดับชุมชนได้ ต้องกลับมาขึ้นต่อสินค้าอุตสาหกรรมจากโรงงานและร้านค้า ประชาชนผู้เคยภูมิใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง กลับรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนในเมือง และต้องพยายามเลียนแบบคนในเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นที่ประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่า ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น 440 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่าอัตราเพิ่มของประชากรของจีนทั้งประเทศหลายเท่า

การพัฒนาของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไม่เพียงแต่ผลักดันให้เกษตรกรต้องทิ้งถิ่นฐานจากชุมชนชนบทเท่านั้น มันยังทำให้โอกาสในการหางานทำและอำนาจทางการเมืองรวมศูนย์อยู่ในเมือง และทำให้เมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งสื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้า ก็ช่วยสร้างแรงผลักดันทางจิตวิทยาให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปแสวงหาชีวิตที่ “เจริญ” กว่า ซึ่งหมายถึงการได้ทำงานเพื่อมีเงินบริโภคสินค้าสมัยใหม่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากตำแหน่งงานในเมืองจำกัด จึงมีคนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้มีชีวิตที่เจริญขึ้น คนที่อพยพจากชนบทเข้าเมืองส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบในชุมชนแออัด ที่ขยายใหญ่โตขึ้น ทั้งๆที่ระบบโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดผลเสียหายเหล่านี้ แต่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาก็ยังสนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศตามกระแสโลกาภิวัตน์

เกิดอะไรขึ้นเมื่อชีวิตในชนบทล่มสลาย และผู้คนซึ่งเคยพึ่งพาทรัพยากรในท้องถิ่นที่ใกล้เคียงกันได้ต้องมาผูกติดกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก? ขอให้ดูจากตัวอย่างการสร้างที่อยู่อาศัยแบบท้องถิ่น ซึ่งโครงสร้างอาคารต่างๆเคยถูกสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น หินในฝรั่งเศส ดินในแอฟริกาตะวันตก อิฐตากแห้งด้วยแสงแดดในธิเบต ไม้ไผ่และใบจากในฟิลิปปินส์ ฯลฯ เมื่อบ้านแบบท้องถิ่นเหล่านี้ต้องหลีกทางให้กับวิธีการสร้างบ้าน “สมัยใหม่” ในระบบโลกาภิวัตน์ วัสดุท้องถิ่นที่เคยมีเหลือเฟือถูกทอดทิ้งไม่ได้นำมาใช้ แต่ประชาชนต้องแข่งขันกันซื้อวัสดุสมัยใหม่ ปูน เหล็ก ไม้สำเร็จรูป ซึ่งราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรื่องทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับผลผลิตอื่นๆด้วย เมื่อทุกคนเริ่มกินอาหารแบบเดียวกัน ใส่เสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์เหมือนกัน ต้องใช้ชีวิตแบบพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันซึ่งจะหมดไปในวันหนึ่งเหมือนกัน การที่ระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้คนทุกคนต้องไปพึ่งพาแหล่งทรัพยากรเดียวกัน ทำให้บรรษัทข้ามชาติสามารถลงทุนในประเทศต่างๆเพื่อผลิตสินค้าขนานใหญ่มาขายคนทั่วโลกได้โดยมีต้นทุนต่ำลง แต่ผู้บริโภคต้องหาซื้อปัจจัยการดำรงชีพในราคาที่สูงขึ้น

ในสถานการณ์แบบนี้ ประชากรกลุ่มที่อยู่ขั้นต่ำที่สุดของบันไดทางเศรษฐกิจ จะเป็นผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุด ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น มีความโกรธเคือง ความไม่พอใจ และความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้น สถานการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ซึ่งคนที่มีภูมิหลังทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก ถูกดึงดูดให้อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง พวกเขาต้องถูกตัดขาดจากชุมชนเดิมและวัฒนธรรมเดิมของตัวเอง และต้องมาเผชิญกับการแข่งขันหางานและปัจจัยยังชีพอย่างเอาเป็นเอาตายในเมืองใหญ่ ความภาคภูมิใจในตัวเอง และในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองถูกกัดกร่อนไปด้วยแรงผลักดันของค่านิยมใหม่ของการต้องทำตัวเลียนแบบคนเมืองผู้ทันสมัยที่สื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้านำเสนอ

ตัวอย่างที่พวกเขาเลียนแบบ คือรูปลักษณ์ของชนชั้นกลางในเมืองแบบชาวตะวันตก ผิวขาวสะอาด ผมบลอนด์ ตาสีฟ้า ถ้าคุณเป็นชาวนาหรือเป็นคนผิวคล้ำ คุณจะถูกสังคมทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นคนป่าเถื่อน ล้าหลัง มีความด้อยกว่า กระบวนการนี้เองที่ทำให้หญิงทั่วโลกต้องใช้เคมีที่อันตราย เพื่อที่ทำผิวสีและสีผิวของพวกเธอให้คล้ายฝรั่ง คอนแทคเลนส์สีฟ้าขายดีไปทั่วโลกตั้งแต่กรุงเทพ ไนโรบี ไปถึง เม็กซิโกซิตี้ ผู้หญิงเอเชียตาชั้นเดียวจำนวนมากยอมเสียเงินไปรับการผ่าตัดเพื่อทำให้ตาของพวกเธอเป็นตาสองชั้นคล้ายตาของพวกฝรั่ง

พวกสนับสนุนโลกาภิวัตน์อ้างว่าระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบเดียวกันทั่วโลกช่วยทำลายความแตกต่างของประชากรโลก ทำให้เกิดความสมานฉันท์และความเข้าใจกันมากขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น การที่ระบบโลกาภิวัตน์ถอนรากถอนโคนประชาชนจากชุมชนชนบทโดยขายฝันถึงการมีชีวิตแบบทันสมัยของคนเมืองที่พวกเขาไม่อาจบรรลุได้จริง กลับทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มเกิดความโกรธเคืองและความรู้สึกเป็นศัตรูต่อชนชั้นสูงมากขึ้น สังคมเมืองของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่คนต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดและไร้ศีลธรรม ยิ่งทำให้ความแตกต่างของคนมีปัญหารุนแรงขึ้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มุ่งหากำไรแบบไม่เห็นหัวคนจน ปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประสบการณ์ของข้าพเจ้าในลาดัคและราชอาณาจักรภูฐาน ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ในลาดัค ชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมที่เป็นประชากรส่วนน้อยมาอย่างสงบสุขโดยไม่มีความขัดแย้งระดับกลุ่มมาถึง 100 ปี ในภูฐาน ชาวฮินดูส่วนน้อยก็อยู่ร่วมกับชาวพุทธส่วนใหญ่มาได้อย่างสงบสุขมาเป็นระยะเวลายาวนานพอๆกัน แต่ในช่วง 15 ปีหลังนี้ มีปัญหาความขัดแย้งซึ่งถูกกดดันมาจากเศรษฐกิจภายนอก ทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเนื้อกันทั้งใน 2 ภูมิภาคนี้

ปัญหาไม่ได้เกิดจากความแตกต่างของคน 2 กลุ่ม ซึ่งแตกต่างกันมาช้านานแล้ว แต่ปัญหาเกิดจากการที่คนสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจและเอกลักษณ์ของตัวเอง และพยายามจะปกป้องมันไว้ ถ้าระบบโลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะที่ไปลดทอนการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองได้และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ของโลก ความขัดแย้งและความรุนแรงก็มีแต่เพิ่มขึ้น อย่างชนิดที่ไม่อาจคาดหมายได้

ในเมื่อระบบโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมมากขนาดนี้ เหตุใดเล่าชาวพุทธจึงลังเลไม่เข้ามาร่วมการแก้ไขปัญหานี้? ข้าพเจ้าคิดว่า เหตุผลหลักคือ ชาวพุทธไม่ได้ตระหนักว่า คำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องที่หมายถึงโลกของธรรมชาติแท้ๆ ไม่ใช่โลกที่ถูกสร้างแบบเทียมๆ โดยเทคโนโลยี สิ่งที่ท้าทายชาวพุทธคือ จะนำหลักการของพุทธศาสนาที่สอนในยุคสมัยที่เศรษฐกิจสังคมยังเป็นแบบชุมชนท้องถิ่นเล็กๆที่ประชาชนอยู่อย่างเรียบง่ายและมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ไปประยุกต์ใช้ในระบบโลกาภิวัตน์ ที่มีความใหญ่โตสลับซับซ้อน และคนมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันได้อย่างไร

แนวคิดหนึ่งของพุทธศาสนาที่อาจถูกตีความแบบผิดๆได้ง่ายคือหลักว่าด้วยความพึ่งพาซึ่งกันและกัน การเป็นเอกภาพของสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่ง เครือข่ายที่เชื่อมโยงกันอย่างไม่มีสิ่งใดจะอ้างว่าตนอยู่อย่างแยกเป็นอิสระหรือดำรงอยู่อย่างสถิต (หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง) ได้ พวกเราบางคนตกหลุมพรางว่าแนวคิดเรื่องการพึ่งพาซึ่งกันและกันนี้สอดคล้องกับแนวคิด “หมู่บ้านโลก” และ “โลกไร้พรมแดน” ของการค้าเสรี ถ้อยคำหรูๆเช่น “สมานฉันท์” “การผนวกเข้าด้วยกัน” “การสามัคคีกัน” ไม่ควรทำให้เราเชื่อว่า ระบบโลกาภิวัตน์ทำให้เราพึ่งพากันและกัน หรือพึ่งพาโลกธรรมชาติมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้เราต้องพึ่งพาโครงสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่เทคโนโลยี และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพิ่มขึ้น นี่ไม่ใช่การพึ่งพากันและกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ได้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าเสนอไว้แต่อย่างใด

หลักคิดของศาสนาพุทธเรื่อง ความเป็นอนิจจัง (Impermanence) ก็อาจจะถูกตีความแบบบิดเบือนได้ นอกเสียจากเราจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างกระบวนการของชีวิตและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก คำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความเป็นอนิจจังของโลกธรรมชาติ สอนให้เรายอมรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในโลกแห่งชีวิต วงจรของชีวิตและความตาย ความเป็นอนิจจังของทุกชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงที่ระบบโลกาภิวัตน์สร้างขึ้นนั้น กลับสร้างอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธความเป็นอนิจจังของธรรมชาติ

 

โครงการขนาดยักษ์เช่น โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน และทางด่วน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรายอมรับ หรือการตกแต่งพันธุกรรมของยีนของเทคโนโลยีชีวภาพก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์มาจากโลกทัศน์ของนายทุนแบบที่ต้องการเป็นนายของธรรมชาติ โลกทัศน์ที่มองว่าชีวิตเป็นสิ่งที่สถิต (หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง) แบ่งเป็นส่วนๆ และพวกนายทุนที่มีอำนาจครอบโลกสามารถจะทำอย่างไรก็ได้ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของวัฒนธรรมผู้บริโภคที่ขึ้นต่อเทคโนโลยี

แนวคิดของศาสนาพุทธอีก 2 ข้อ ที่ถูกตีความอย่างผิดๆเพื่อไปสนับสนุนความเมินเฉยต่อปัญหาทางสังคม คือ เรื่องกรรม และยาพิษ (กิเลส) 3 อย่าง – ความโลภ เกลียด หลง

มีแนวโน้มที่จะใช้หลักกฎแห่งกรรมไปอธิบายช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนรวยและคนจนว่า การที่คนบางคนรวยเป็นเพราะเขาเคยทำความดีมาในชาติก่อน แต่เมื่อเราตรวจสอบให้ลึกลงไปเราจะพบว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม มีสาเหตุมาจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เปิดช่องให้คนบางคนรวยขึ้นจากความทุกข์ยากของคนๆอื่น มากกว่าเป็นเรื่องกรรม (การกระทำ)ในชาติก่อนซึ่งพิสูจน์ไม่ได้

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเปิดช่องให้คนบางคนที่มีทุน มีความรู้และโอกาสมากกว่า ร่ำรวยได้มากกว่าคนอื่นๆ คนร่ำรวยที่อยู่ในเมืองและใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก มักขาดปัญญาและความเมตตาพอที่จะมองและเข้าใจสภาพความเป็นจริงของโลกที่ว่า มีคนจำนวนมากที่มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น อดอยาก คนรวยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยบริโภคทรัพยากรของโลกมากกว่าคนทั่วไปถึงสิบเท่า และการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินความพอเพียงเหล่านั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อสรรพสิ่งในโลกอย่างที่ไม่อาจคำนวณค่าได้

คนร่ำรวยและคนชั้นกลางทั้งในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา ต้องใช้ปัญญาและความกล้าหาญในการไปวิเคราะห์ให้เห็นถึงความจริงว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้สังคมแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เกิดความไม่เสมอภาค และการทำลายล้างทั้งสภาพแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม ที่เป็นผลเสียต่อชาวโลกทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหมด ที่จะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจชนิดนี้

ยาพิษหรือกิเลสทั้ง 3 – ความโลภ โกรธ หลง มีโอกาสเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ทุกคนมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป สังคมบางสังคมพยายามลดทอน 3 สิ่งนี้ แต่บางสังคมกลับส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ วัฒนธรรมบริโภคนิยมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเป็นตัวการสำคัญในการฟูมฟัก ความโลภ โกรธ หลง ทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับสังคม บรรษัทต่างๆใช้เงินปีละ 450,000ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในการโฆษณาให้ประชาชนทั่วโลกรู้สึกว่าจำเป็นต้องบริโภคสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยรู้จักเลย เช่น โคคาโคล่า และตุ๊กตาพลาสติกแรมโบ้ถือปืนกลมือ

ในสังคมยุคชุมชนพึ่งตนเอง ประชาชนมีวัฒนธรรมการกินอยู่แบบพอเพียง โดยไม่มีปัญหาความโลภอยากได้สินค้าใหม่ๆแปลกๆที่จริงๆแล้วชีวิตพวกเขาสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้มัน ดังนั้น เราจึงควรตระหนักว่า ความโลภในเรื่องสินค้าต่างๆนั้น ส่วนใหญ่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นผู้สร้างขึ้น หรือกระตุ้นให้มนุษย์หลงใหลในเรื่องนี้มากขึ้น กระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่หลั่งไหลอย่างเชี่ยวกรากกรากเป็นปราการที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องมนุษย์ควรลดละโลภ โกรธ หลง ที่มุ่งให้มนุษย์พ้นทุกข์และสร้างสังคมที่มีความสุขได้

ศาสนาพุทธสามารถช่วยเราในสถานะที่ยากลำบากได้ ด้วยการสนับสนุนให้เรามีเมตตาและใช้วิธีการแบบสงบสันติต่อทั้งตัวเราเองและผู้อื่น หากเราเข้าใจว่า ทั้งปัญหาสังคมแตกแยกปัญหามลภาวะ ปัญหาทางจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากตัวระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ศาสนาพุทธจะช่วยให้เราพินิจพิจารณาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกและความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้อย่างมีสติ

คำสอนของศาสนาพุทธจะช่วยให้เราเข้าใจว่า วิถีชีวิตของเราในโลกทุนนิยมสมัยใหม่จะมีผลกระทบต่อคนอื่นและสภาพแวดล้อมของโลกอย่างสลับซับซ้อนได้อย่างไรและสนับสนุนให้เรามีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในเรื่องของความเป็นไปของชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง

ต่อเมื่อมนุษย์ตระหนักว่า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่สร้างปัญหาความทุกข์ยากให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เราจึงจะสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะช่วยปลดปล่อยพวกเราทั้งหมด ออกจากโครงสร้างที่เลวร้ายและต่อต้านชีวิต ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

ศาสนาพุทธ ที่มีแนวทางในการมองชีวิตและสังคมอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวมจะช่วยให้เรามองเห็นว่า อาการของปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมทั้งหลายในโลกนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและกัน และช่วยให้เราเข้าใจว่า วิกฤติต่างๆที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มีรากเหง้ามาจากการบงการโดยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ความเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนของปัญหาต่างๆ จะช่วยให้เราไม่ต้องสูญเสียพลังงานของเราในการตามแก้เพียงระดับอาการเฉพาะหน้าของวิกฤติ และช่วยให้เราเพ่งไปที่การแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของมันอย่างตรงเป้าได้มากกว่า

คนที่มองปรากฏการณ์และปัญหาต่างๆอย่างแยกส่วนแบบผิวเผิน จะมองเห็นว่าปัญหาความรุนแรงระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ มลภาวะในอากาศและน้ำ ปัญหาครอบครัวแตกแยก และปัญหาความแตกสลายทางวัฒนธรรม เป็นปัญหาคนละปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่คนที่มองได้อย่างเป็นระบบองค์รวม จะมองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆมากมาย ที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจจะทำให้เรารู้สึกท้อถอยได้ในบางครั้ง แต่การเข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เป็นปัญหากลุ่มเดียวกัน จะทำให้เราสามารถรวมพลังกันในการหายุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหารากเหง้าได้ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพมากกว่า การไปไล่ตามแก้ไขตามอาการของปัญหาทีละปัญหา

ในระดับโครงสร้าง ปัญหาพื้นฐานคือขนาดของระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีผลต่อความสัมพันธ์และวิธีคิดของคน การที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมีขนาดที่แผ่ขยายออกไปใหญ่โตมาก เป็นตัวการที่ทำให้เรามองไม่เห็นว่าการกระทำของเราไปมีผลกระทบต่อคนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตรอย่างไร เช่น ผู้ถือหุ้นหรือคนที่ทำงานในสำนักงานใหญ่ในกองทุนของบรรษัทข้ามชาติที่ไปลงทุนตั้งสาขาตั้งโรงงานและค้าขายเพื่อหากำไรในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้รับรู้หรือไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการขูดรีดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ขูดรีดแรงงานและผู้บริโภค ที่เกิดขึ้นในที่ที่ห่างไกลออกไป และพวกเขามองเห็นแต่เงินปันผลหรือกำไรที่พวกเขาจะได้รับเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่แผ่ขยายใหญ่โตมาก ทำให้เราต้องมีชีวิตอยู่ในความโง่เขลา ขาดปัญญา และขาดความมีเมตตาต่อเพื่อมนุษย์

ในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก คนในชุมชนยังสามารถมองเห็นผลของการกระทำของเขาและมีความรู้สึกรับผิดชอบได้มากกว่า โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก ช่วยจำกัดไม่ให้คนๆหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป แม้เขาจะเป็นผู้นำชุมชน เป็นนักธุรกิจคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อคนนับร้อยหรือนับพันในชุมชน แต่เขาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่เขารู้สึกได้และสมาชิกคนอื่นๆรู้สึกได้

แต่ผู้นำของประเทศขนาดใหญ่หรือผู้บริหารของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ผู้มีอำนาจเหนือคนหลายสิบหลายร้อยล้านคน ที่เขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสโดยตรง จะมีอำนาจและใช้อำนาจในการบริหารจัดการที่ต่างออกไปมาก เขาจะทำเพื่อหวังผลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ระยะสั้น) ของเขาและพรรคพวก มากกว่าจะคำนึกถึงผลกระทบต่อผู้คนซึ่งเขาไม่เห็นหน้าและไม่ได้สัมผัสได้โดยตรง

ขนาดของประเทศและขนาดของบริษัทขยายใหญ่โตมาก จนผู้นำต้องตัดสินใจตามหลักการทางเศรษฐกิจ/ธุรกิจ ในนามของความเจริญเติบโต โดยไม่สนใจต่อผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้นกับสมาชิกแต่ละคนในสังคม และโลกสิ่งมีชีวิตอื่นแต่อย่างใด และโดยละเลยหลักการของศาสนาและหลักการของธรรมชาติที่ว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน และควรจะเคารพและเอื้ออาทรต่อกันและกัน

ในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนขนาดเล็ก คนจะตระหนักถึงกฎแห่งการพึ่งพากันและกัน และกฎความเป็นอนิจจังของสิ่งมีชีวิต (ตามคำสอนของศาสนาพุทธ) ได้ง่ายกว่าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ใหญ่โตมาก คนในชุมชนขนาดเล็ก จะเห็นผลการกระทำของคนแต่ละคนได้ง่ายและรู้สึกรับผิดชอบต่อผลแห่งการกระทำของเขาโดยตรง และทำให้เขาปรับตัวให้เข้ากับพลวัตรของสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนในระบบเศรษฐกิจสังคมขนาดใหญ่มากและเนื่องจากในชุมชนขนาดเล็ก ผลของการกระทำของสมาชิกคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะเห็นได้ชัดกว่า ดังนั้นการตัดสินใจใดๆของคนในชุมชนจึงมีแนวโน้มที่จะต้องใช้ปัญญาและความมีเมตตามากกว่าในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ภาระหน้าที่ของเราในฐานะชาวพุทธคือ เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายใหญ่โตจนเป็นตัวสร้างปัญหานี้ เพื่อรื้อฟื้นและสร้างระบบโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเองได้ของชุมชนขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ เพื่อจะทำให้มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตบนพื้นฐานของคำสอนของศาสนาพุทธในเรื่องหลักแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และหลักความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งได้

แม้ภาระหน้าที่นี้จะเป็นงานที่ยากลำบาก แต่ความจริงแล้ว การที่มนุษย์เราพยายามแข่งขันกันเพื่อขยายขนาดของระบบโลกาภิวัตน์ไปอย่างไม่มีขอบเขตนั้น เป็นเรื่องที่เป็นได้ยากกว่า ความใฝ่ฝันของระบบทุนนิยมโลกที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัด เป็นความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงไปได้ เพราะว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกำลังทำลายความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากฐานที่มนุษย์เราต้องพึ่งพา นั่นหมายถึงระบบทุนนิยมโลกที่เน้นการเติบโตเพื่อกำไรของนายทุนส่วนน้อย กำลังทำลายตัวระบบเองและทำลายมนุษยชาติทั้งมวล

เหตุผลสำคัญที่เราควรเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมให้มีขนาดเล็กลงคือ เพื่อที่เราจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างแท้จริง ชุมชนขนาดย่อมแต่ละชุมชนจะมีลักษณะเฉพาะในเรื่องสภาพแวดล้อม ผู้คน วัฒนธรรม ของตนเอง ชุมชนขนาดย่อมที่พึ่งตนเองได้ จะทำให้เกิดระบบการบริหารและตัดสินใจที่ยืดหยุ่นตามความเหมาะสมได้มากกว่า ไม่ต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดมากและสมาชิกในชุมชนจะมีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ มากกว่าในระบบเศรษฐกิจสังคมขนาดใหญ่

ในระบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งประชาชนถูกปกครองโดยรัฐบาลกลางที่เข้มงวดตายตัว และโดยระบบตลาดที่ผันผวนได้ง่าย ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนเล็กๆที่ไร้อำนาจและยอมจำนนตามแต่รัฐบาลและระบบตลาดจะนำพาไป แต่ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีการกระจายอำนาจและการจัดการทรัพยากรให้ชุมชนขนาดย่อมพึ่งตนเองได้ ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการบริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะเรื่องได้อย่างเอาการเอางานมากกว่า

การกระจายอำนาจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนขนาดย่อม ผ่านองค์กรเช่น สภาชุมชน สหกรณ์ องค์กรชุมชนประเภทต่างๆจะก่อให้เกิดผลดีทางด้านสภาพแวดล้อม สังคม รวมทั้งทางด้านจริยธรรมได้มากกว่าระบบเศรษฐกิจโลกที่รวมศูนย์อำนาจที่รัฐบาลและบรรษัทขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลทั่วโลกก็ยังคงดำเนินนโยบายส่งเสริมระบบโลกาภิวัตน์ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจ โดยอ้างว่า เพื่อให้โลกเป็น “หนึ่งเดียวกัน” และ เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกัน แบบพึ่งพากันและกันเพิ่มขึ้น แต่ความจริงคือ เป็นการถูกครอบงำโดยศูนย์กลาง และการต้องพึ่งพาระบบทุน เทคโนโลยีและตลาดที่นายทุนส่วนน้อยควบคุม

ภาระหน้าที่ขั้นแรกของชาวพุทธคือ การให้การศึกษาตัวเองและผู้อื่น เพื่อที่จะไม่หลงกลจนไปสับสนกับการตีความคำว่า “ เป็นหนึ่งเดียวกัน” และ “พึ่งพากันและกัน” โดยระบบโลกาภิวัตน์ซึ่งแตกต่างจากการตีความศาสนาพุทธอย่างขาวกับดำ ระบบโลกาภิวัตน์เป็นระบบที่ส่งเสริมความโลภและความรุนแรง ในขณะที่ศาสนาพุทธส่งเสริมการละความโลภและสนับสนุนสันติวิธี ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกัน ต่อเมื่อเราเข้าใจความแตกต่างของ 2 แนวคิดนี้ เราจึงจะสามารถร่วมมือกับคนอื่นๆในการที่จะผลักดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งรวมทั้งการรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับระหว่างประเทศด้วย เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ในปัจจุบันมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงระดับระหว่างประเทศที่ควรทำคือ รัฐบาลประเทศต่างๆต้องจัดการประชุมเพื่อเจรจาเรื่องการค้าระหว่างประเทศกันใหม่อย่างเปิดเผย โดยคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ แทนการประชุมตกลงกันอย่างลับๆ ที่เอื้อประโยชน์บรรษัทข้ามชาติ การที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้ เราต้องช่วยกันทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าในประเทศต่างๆ เกิดความตระหนักถึงสภาพสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและการทำลายล้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก เพื่อที่ประชาชนจะได้ตื่นตัวไปผลักดันให้รัฐบาลในประเทศของตนเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ จากการลงทุนพึ่งการค้าระหว่างประเทศมากไปสู่การพัฒนาแบบพึ่งตนเองในระดับประเทศ มีการกระจายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และอย่างคำนึงถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้น

การจะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศ ดูเป็นงานที่ยากลำบากอย่างแสนสาหัส พวกเราหลายคนเริ่มคิดว่า เราคงไม่มีแรงมากพอที่จะไปผลักดันผู้นำทางการเมืองได้ และหลายคนเริ่มท้อแท้ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีความหมาย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องจำไว้ว่า ในระยะยาวแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครเลย แม้แต่ผู้นำทางการเมืองและผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติ ที่วันนี้เป็นผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ก็ตาม

เพราะนอกจากโลกาภิวัตน์จะทำลายความสมดุลของสภาพแวดล้อม ทำลายความสมดุล ความมีเสถียรภาพของประเทศ ชุมชนและชีวิตทั้งหลายแล้ว ระบบโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติผู้โยกย้ายทุน และเลี่ยงภาษีได้เก่ง ยังทำให้รัฐบาลต่างๆมีอำนาจลดลง และเก็บภาษีจากบรรษัทได้ลดลง ซึ่งมีผลให้ผู้นำทางการเมืองในประเทศต่างๆมีอำนาจลดลงด้วย ระบบโลกาภิวัตน์ซึ่งพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีสูง ยังทำให้แรงงานทุกระดับ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของบรรษัท เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องการมีงานทำเพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้นเราจึงต้องระดมกำลังกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ จากระบบรวมศูนย์อำนาจของทุนขนาดใหญ่ เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุนระหว่างประเทศ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นการผลิตอาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นๆ เป็นกิจกรรมที่วางแผนและบริหารจัดการกันในระดับชาติและระดับชุมชนเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ เริ่มทำได้บางส่วนในบางประเทศและบางชุมชน เห็นได้ชัดว่ามีผลดีในการทำให้เกิดการจ้างงานและระบบตลาดที่เสรีและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และนำภาษีไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมได้มากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ถูกทางและมีความเป็นไปได้

ในฐานะชาวพุทธ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของระบบทุนนิยมโลกที่มีลักษณะทำลายล้าง เรามีทางเลือกน้อยมาก นอกจากต้องตัดสินใจเข้าไปผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ศาสนาพุทธช่วยให้เรามีทั้งพันธกิจและเครื่องมือ ที่จะท้าทายโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ซึ่งกำลังสร้างความทุกข์ยากไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง หากเราไปสนับสนุนโครงสร้างของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า และอยู่ตรงกันข้ามกับชีวิต เราคงไม่สามารถอ้างว่าเราเป็นชาวพุทธได้

 

 

ถ้าคุณคิดเพียงว่า คุณมาเพื่อที่จะช่วยพวกเรา คุณกลับไปเมืองของคุณจะดีกว่า

แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณมาเพื่อที่จะช่วยตัวคุณเองด้วย ถ้าอย่างนั้น เราก็มาทำงานร่วมกันได้”

ผู้หญิงชาวพื้นเมือง (อบอริจิน)ในออสเตรเลีย

 

 

 

 

1 แปลเรียบเรียงและขยายความ จาก Helena Norberg – Hodge,Buddhism In The Global Economy ตีพิมพ์ ในนิตยสาร Resurgence April 1997 ผู้เขียนเป็นครู นักคิดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวีเดน ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองลาดัค ชุมชนเกษตรแบบดั้งเดิมในอินเดียด้านติดกับธิเบตมากว่า 20 ปี

 

ทางออกของปัญหา:เศรษฐกิจการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไปทางไหน?


ทางออกของปัญหา:เศรษฐกิจการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไปทางไหน?

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 8 พฤศจิกายน 2550 15:48 น.

นอกจากทั้งคมช.และรัฐบาลสุรยุทธ จะหัวเก่า ล้าหลัง ไม่ได้ช่วยปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งแล้ว คนเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นพวกนักกฎหมายนิยม ที่ขาดความเข้าใจวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นจริงของไทย ทางแก้คือต้องทำให้ประชาชนเรียนรู้เศรษฐกิจการเมืองและตื่นตัวเพิ่มขึ้น การส่งเสริมการหาเสียงโดยเปิดเผย เช่น การจัดให้หัวหน้าพรรคมาอภิปรายนโยบายและแนวคิดในการแก้ปัญหาของประเทศทางวิทยุโทรทัศน์น่าจะทำให้ประชาชนรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์กว่า ปัญหาหลักของไทยคือ พวกชนชั้นนำที่มีอำนาจมีกรอบคิดเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศแบบแคบๆ แค่ตลาดเสรีผสมประชานิยมแบบหาเสียง และสนใจประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นของตน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ และตื่นตัวรู้ข่าวสารการเมืองน้อย ติดวัฒนธรรมผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์และยกย่องตัวบุคคล ทำให้ระบบประชาธิปไตยที่เน้นการเลือกตั้งส่งเสริมประชาธิปไตยนายทุน หรือการปกครองโดยชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองโดยตนเองของประชาชน ซึ่งควรจะรวมประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยสังคมในทุกระดับด้วย นโยบายแนวตลาดเสรี ไม่อาจทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง พรรคใหญ่และพรรคกลาง 5 – 6 พรรค ที่มีโอกาสได้รับเลือก ต่างเสนอนโยบายแนวตลาดเสรีและประชานิยมคล้ายๆกัน มีพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ที่มีนโยบายชาตินิยมผสมประชานิยม รัฐสวัสดิการนิยม ที่กล้าเสนอนโยบายหลายเรื่องต่างจากพรรคอื่นมากหน่อย แต่ก็เน้นประชานิยมอยู่ดี นโยบายแนวประชานิยมและรัฐสวัสดิการของหลายพรรคอาจช่วยกระจายความเป็นธรรมได้บางส่วน แต่เป็นโครงการย่อยๆที่มุ่งหาเสียงและแก้ไขปัญหาชั่วคราว พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านที่เก่งในเชิงวาทศิลป์ แต่เป็นรัฐบาลที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มีนโยบายแนวคิดแบบเอื้อตลาดเสรีการลงทุนของต่างชาติบวกกับประชานิยม พรรคพลังประชาชนที่เป็นตัวแทนของไทยรักไทยมีนโยบายเน้นตลาดเสรีแบบสุดโต่ง ประชานิยมแบบหาเสียงและดึงประชาชนเข้าสู่ระบบตลาด ผูกขาดรวมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเน้นการเติบโตแบบกอบโกยล้างผลาญ พรรคอื่นๆทั้งชาติไทย เพื่อแผ่นดิน รวมใจชาติพัฒนา ส่วนใหญ่ก็คนหน้าเก่าๆผสมคนหน้าใหม่บางส่วน ที่มีนโยบายเพื่อตลาดเสรี ส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจคล้ายๆกันทุกพรรค แตกต่างกันในโครงการรายละเอียด เพื่อมุ่งหาเสียงจากกลุ่มคนต่างๆเท่านั้น เศรษฐกิจที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ควรเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารประเทศมหาอำนาจที่ทำให้เราเสียเปรียบ และทำลายทรัพยากร สภาพแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรม ควรเป็นเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างระบบตลาดที่มีการแข่งขันเป็นธรรม ระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการ เน้นการพัฒนาการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองในระดับประเทศสูงขึ้น เป็นชาตินิยม(เพื่อส่วนรวม)แบบฉลาดหน่อย ลดการใช้น้ำมันและการบริโภคฟุ่มเฟือยลง ส่งเสริมพลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก เทคโนโลยีทางเลือก ฯลฯ อย่างจริงจัง มีการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปการคลัง ปฏิรูปการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ฯลฯ ทางโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ให้คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงเป็นธรรม สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวนา คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่มีความคิดก้าวหน้า เน้นการพัฒนาคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้มีการศึกษาดีและเข้มแข็ง ซึ่งเป็นแนวทางที่ฉลาดมองการณ์ไกลมากกว่านโยบายที่เน้นการพัฒนาแบบทุนนิยมผูกขาด การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนยังตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองที่มาจากชนชั้นสูงและชั้นกลางได้น้อย เพราะพรรคใหญ่พรรคกลางคิดไม่ต่างกันมากนัก และเป็นคนในชนชั้นเดียวกัน ระบบราชการ, สื่อมวลชน, องค์กรอิสระ (ซึ่งมาจากนักกฎหมายชนชั้นกลาง) ต่างคนและต่างองค์กรก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง มีวัฒนธรรมการเมืองตนเองแบบจารีตนิยมและปัจเจกชนนิยม มีวิถีชีวิตและความคิดแบบชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางมากกว่าจะเข้าใจหรือเห็นใจคนจน หรือมีวิสัยทัศน์ที่ฉลาดว่าต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างขนานใหญ่และยกระดับการศึกษา การรวมกลุ่ม และฐานะอำนาจต่อรองของคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงเท่านั้น ประเทศจึงจะเข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่ทั้งหมด การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว จะต้องมีการปฏิรูปในทางการเมือง การศึกษา และสื่อสารมวลชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและตื่นตัวเรื่องสิทธิหน้าที่ การปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างกว้างขวาง ช่วยกันสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองและข้าราชการอย่างมีประสิทธิภาพ มีพรรคฝ่ายค้าน, องค์กรอิสระ, ศาล, สื่อมวลชน, สหภาพแรงงาน, สมาคมวิชาชีพ, องค์กรประชาชนที่เข้มแข็งมีคุณภาพ มีความคิดก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมมุ่งประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ เราจึงพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองไทยให้เจริญก้าวหน้า และทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

บทส่งท้าย : เราจะสร้างสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อความสุขสำหรับคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร


ความรักฯ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่อง ความรัก การสร้างสรรค์ และความสุข
ของท่านอาจารย์วิทยากร  เชียงกูล โดยสำนักพิมพ์สายธาร 2550

บทส่งท้าย : เราจะสร้างสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อความสุขสำหรับคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร 

  1. เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องความสุขที่แท้จริง ว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น การ

มีปัจจัยการดำรงชีพขั้นพื้นฐานพอเพียง การมีสุขภาพกายใจที่ดี การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น และการได้อยู่สภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมที่ดี และเราควรตั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายการพัฒนาประเทศเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่ มากกว่าเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เพราะการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมหลายอย่าง เป็นการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยและบางอย่างเป็นโทษ ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นเลย เช่น การที่คนกรุงเทพและเมืองใหญ่ซื้อรถส่วนตัวในกันทุกวันมาก ทำให้รถต้องเผาผลาญน้ำมันมาก รถติดมาก เกิดมลภาวะมาก เสียเวลาและหงุดหงิดเพิ่มขึ้นการกินเหล้า สูบบุหรี่ การใช้ยาเพิ่ม ก็ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมเพิ่ม แต่แท้จริงก็ทำให้คุณภาพชีวิตกลับตกต่ำลง

  1. เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า  และให้สิทธิลดหย่อนภาษีแก่

ผู้บริจาคเพื่อสาธารณกุศลเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อสงเคราะห์ให้คนรวยคนชั้นกลางเลิกบ้างานบ้าเงิน เปลี่ยนแปลงค่านิยมการแข่งขันแบบบ้าเห่อความร่ำรวย  และเพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้เป็นธรรม และรัฐบาลมีงบประมาณที่จะช่วยให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีการศึกษามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุขเพิ่มขึ้น การที่คนรวยจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นจะไม่ทำให้ความสุขเขาลดลงเพราะเขามีเกินพอเพียงอยู่แล้ว แต่เงินที่นำไปช่วยคนที่ยากจนขาดแคลนจะทำให้เขามีความสุขเพิ่มขึ้นได้มาก กล่าวในแง่นี้ ความสุขของคนในสังคมจะเพิ่มขึ้น

   นอกจากนี้แล้ว การเก็บภาษีและจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมจะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจสมดุล คนจนมีอำนาจซื้อมากขึ้น จะช่วยให้ธุรกิจของคนรวยคนชั้นกลางขายของได้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปด้วยกัน การกระจายการพัฒนาและรายได้ที่เป็นธรรมจะทำให้ความขัดแย้ง อาชญากรรม และปัญหาสังคมด้านต่างๆลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อคนทุกคนรวมทั้งคนรวยและคนชั้นกลางด้วย

  1. นโยบายพัฒนาประเทศ ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกต่อโครงการพัฒนาคนจนทั้ง

ทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และการทำให้พวกเขามีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยพวกเขาให้เข้าใจว่าความสุขเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับจิตใจและปัจจัยด้านชีวิตและสังคมด้วย ไม่ใช่เรื่องการหาเงินมาบริโภคให้ได้มากที่สุดเนื่องจากนอกจากคนจนจะขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานแล้ว เขายังขาดแคลนความรู้ ถูกกล่อมเกลาให้มีค่านิยมแบบผู้บริโภค ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินฐานะ จนเป็นหนี้สินล้นตัว และทุกข์ยากเพิ่มขึ้น การช่วยคนจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในระดับพื้นฐานแบบพอเพียง ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนจนเท่านั้น คนรวยคนชั้นกลางที่ได้เป็นผู้ให้ เช่น การบริจาคให้มูลนิธิ การทำงานอาสาสมัคร ก็จะเป็นผู้ได้ความสุขจากการได้ช่วยคน ได้ทำสิ่งที่มีความหมายและมีประโยชน์ด้วย

  1. เปลี่ยนกรอบวิธีคิดของประชาชนและนโยบายการพัฒนาประเทศที่เน้นการเพิ่มผลผลิต

สูงสุด กำไรสูงสุดเป็นการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตและการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม การรู้จักแบ่งเวลาระหว่างงานกับชีวิตให้เหมาะสม สนใจเรื่องการบริโภคทางวัตถุลดลง และเพิ่มการพัฒนาทางด้านอารมณ์ จิตใจ และศิลปวัฒนธรรมแทน เปลี่ยนความคิดค่านิยมของประชาชนที่เคยเน้นแต่เรื่องความสำเร็จแบบร่ำรวย มีตำแหน่ง มีอำนาจ มาเป็นความสำเร็จแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง          มีครอบครัวที่อบอุ่น เลี้ยงลกให้มีความสุข เก่งและดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ มีเพื่อนมาก       มีคนรักชื่นชมมากได้ทำสิ่งที่ตนชอบและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ฯลฯ

      เปลี่ยนความคิดค่านิยมเรื่องการพัฒนาวัตถุ เรื่องการพัฒนาความทันสมัย เช่น การสร้างทางด่วนเพื่อรถส่วนตัว เป็นการนิยมการขนส่งสาธารณะ จักรยาน พลังงานทางเลือก เทคโนโลยีทางเลือก และการสร้างเมืองให้มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่ มีมลภาวะน้อย โดยใช้แนวทางการพัฒนาทางเลือก ที่ใช้พลังงานลดลง ลดการใช้สารเคมีลง ลดการบริโภค ฯลฯ จะทำให้เราได้ประโยชน์ทั้งสุขภาพดีขึ้น สภาพแวดล้อมดีขึ้น และการพัฒนาทางด้านจิตใจของตัวเราเอง

  1. ผลักดันการปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นการให้เด็กมีความสุขในการเรียน เกิดแรงจูงใจภายใน

ตัวเองที่จะรักการอ่าน การเรียนรู้ เน้นการพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ รวมทั้งให้เด็กเรียนรู้จักจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง พัฒนาชีวิตภายใน (ความคิดจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก) มีความภาคภูมิใจยอมรับตัวเอง มองโลกในแง่บวก รู้สึกในทางที่ดีต่อคนอื่น เข้าใจเรื่องจริยธรรม/ศีลธรรม ว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตของเราเองและต่อสังคมทั้งหมดอย่างไร (ไม่ใช่ให้ผู้เรียนท่องจำเพื่อสอบหรือผู้ใหญ่ใช้วิธีขู่ว่าถ้าไม่ทำแล้วจะตกนรก) เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีมีความสุข และฉลาดแบบรอบด้าน มีจิตสำนึกส่วนรวม มากกว่าฉลาดทางปัญญา แต่เน้นประโยชน์เฉพาะตัวเองอย่างที่สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมชอบสอน

      เด็กที่มีความสุข จะมีโอกาสเรียนเก่ง และเป็นคนดีมากกว่าเด็กที่มีความทุกข์ ความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกไม่มั่นคง ฯลฯ ดังนั้นหากการจัดการศึกษาเน้นความสุขเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดและทำให้ได้จริงแล้ว  การเรียนเก่งและเป็นคนดีจะตามมา

      สำหรับผู้ใหญ่ก็ควรจัดให้มีการศึกษา (นอกระบบและตามอัธยาศัย) และคำแนะนำผ่านสื่อมวลชนและสื่อต่างๆความรู้ทางจิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา ให้เข้าใจเรื่องความสุขที่แท้จริงและการแบ่งปันให้ความสุขกับคนอื่นเพิ่มขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือความฉลาดที่แท้จริง และมีแต่จะทำให้ทุกคนเป็นฝ่ายได้โดยไม่มีใครเสีย 

  1. นโยบายการพัฒนาประเทศต้องเน้นการลดอัตราการว่างงานหรือเพิ่มการจ้างงานเป็น

เป้าหมายที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่ว่างงานไม่ได้ทุกข์เพราะไม่มีรายได้เท่านั้น แต่ยังทุกข์เพราะความรู้สึกว้าเหว่ ว่างเปล่าไม่มีคุณค่า ไม่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และคนว่างงานเรื้อรังมีโอกาสสร้างปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรเน้นโครงการพัฒนาที่ใช้คนมากกว่าใช้เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ เช่น โครงการปลูกป่าไม้ทั่วประเทศ การพัฒนาชลประทานและระบบน้ำ การปฏิรูปการศึกษาและสาธารณสุข ฯลฯ และการตัดสินใจในการลงทุนใดๆที่เคยมองแต่เรื่องประสิทธิภาพของการผลิตของสาขาการผลิตต่างๆต้องเปลี่ยนไปมองในแง่การส่งเสริมประสิทธิภาพของสังคมส่วนรวม ซึ่งรวมทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากรด้วย เพราะการมองแต่ประสิทธิภาพในการหากำไรของธุรกิจเอกชนอย่างเดียว นำไปสู่การพัฒนาที่มีลักษณะทำลายล้างและสร้างความทุกข์มากกว่า

      นอกจากนี้ก็ควรส่งเสริมงานบางเวลา เช่น งานอาสาสมัครเพื่อสังคม สำหรับแม่บ้านและคนเกษียณอายุ ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้ต้องการรายได้มากนักเท่ากับต้องการได้ใช้เวลาว่างทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และได้สัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเราเกิดความสุขได้

  1. ให้ความสำคัญต่อชีวิตครอบครัวเพิ่มขึ้น โดยการจัดศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงานขนาดใหญ่

หรือในเมืองใกล้ที่ทำงานของพ่อแม่ จัดระบบตารางการทำงานแบบยืดหยุ่น เช่น ทำงาน 4 วัน แทนที่จะทำ 5 วัน คนที่เข้าสายหน่อยก็เลิกเย็นหน่อย ฯลฯ เพิ่มวันหยุดลาคลอด กาให้สิทธิการลาทั้งสำหรับแม่และพ่อ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษสำหรับครอบครัวและกิจกรรมชุมชนเพิ่มขึ้น

  1. ควบคุมรายการทางโทรทัศน์และการโฆษณาสินค้าทางสื่อต่างๆ ที่ยั่วยุให้คนนิยม

บริโภคมาก  และเน้นเรื่องความร่ำรวยเกินไป เช่น สวีเดน ห้ามโฆษณาสินค้าสำหรับเด็ก เพื่อปกป้องการล้างสมองของเด็กให้นิยมการบริโภคตั้งแต่เล็ก และควรปฏิรูปสื่อให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษา พัฒนารสนิยม ศิลปวัฒนธรรม จิตสำนึกของประชาชนมากกว่าเป็นแค่ธุรกิจการค้าและความบันเทิงระดับพื้นๆ

  1. ส่งเสริมประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้มีสถานที่สำหรับเล่นกีฬา  ศูนย์เยาวชน

โรงเรียนศิลปะ ดนตรี การแสดง พิพิธภัณฑ์ วัดที่ร่มรื่นและมีพระที่มีความรู้และคุณธรรม แหล่งเรียนรู้และนันทนาการที่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านศิลปวัฒนธรรม การ         อนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมอาสาสมัครขององค์กรสาธารณกุศลต่างๆ

  1. การส่งเสริมความคิดจิตใจและกิจกรรมแบบรวมหมู่ผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชน การ

กล่อมเกลาทางสังคมและนโยบายภาครัฐ  การทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกของพลเมือง เข้าใจว่าการทำเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของชุมชนและสังคมคือสิ่งที่ฉลาดกว่าการห่วงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นส่วนตัว เพราะจะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันมากกว่าการส่งเสริมกิจกรรมแบบร่วมมือกัน ทำงานเป็นทีม ทั้งในโรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมหมู่เพื่อส่วนรวม พัฒนาระบบสหกรณ์รูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ร้านค้าสหกรณ์ สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพ และสมาคมบำเพ็ญประโยชน์ด้านต่างๆ การสร้างสังคมประชา (Civil Society) สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองแบบพอเพียงได้มากขึ้น ชุมชนสามารถดูแลสวัสดิการชุมชน การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและระบบนิเวศ (หรือสภาพแวดล้อม) ในชุมชนได้มากขึ้น กิจกรรมรวมหมู่เพื่อส่วนรวมเหล่านี้ช่วยให้สมาชิกในชุมชนมีความสุขเพิ่มขึ้น ชุมชนและประเทศชาติจะพัฒนาไปอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพิ่มขึ้น

          ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการหากำไรเอกชน ทำให้เกิดการจัด

สรรทรัพยากรแบบบิดเบือน เช่นระบบเศรษฐกิจจะโน้มเอียงไปในการลงทุนผลิตสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยที่คนรวยและคนชั้นกลางชอบซื้อและคนผลิตคนขายได้กำไร มากกว่าการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์และให้ความสุขแก่คนในสังคมหลายอย่าง เช่นศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนมักต้องใช้ต้นทุนสูง และเป็นกิจกรรมที่มักหารายได้ไม่คุ้มทุน กิจกรรมที่ดีๆจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคธุรกิจเอกชนที่มีวิสัยทัศน์ เพราะถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดซึ่งคิดแต่ต้นทุนกำไรเอกชน ตามแนวคิดการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแล้ว สังคมก็จะมีการลงทุนทำกิจกรรมดีๆเพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนน้อย จะมีแต่กิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชน ซึ่งยิ่งเป็นการมอมเมาให้ประชาชนหลงใหลกับลัทธิบริโภคนิยม การแข่งขันหาเงิน หาความสำเร็จทางวัตถุ เช่น อำนาจ ฐานะทางสังคม ชื่อเสียงซึ่งอาจเป็นความเพลิดเพลินชั่วคราว แต่ไม่ได้พบความสุขที่แท้จริง

          เราต้องเปลี่ยนแนวคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือการบริหารแบบคิดถึงหลักของ ต้นทุน – ผล

ตอบแทนทางสังคม มาแทนที่หลักของการคิดแต่ต้นทุน – กำไรเอกชน เราจึงจะเห็นว่ากิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ การพัฒนาทางจิตใจ ฯลฯ ที่จะช่วยให้ประชาชนฉลาด มีความสุข มีรสนิยม มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้นเหล่านั้น จริงๆแล้วเป็นกิจกรรมที่จะให้ผลตอบแทนต่อสังคมระยะยาวที่สูงกว่าต้นทุน

      นักเศรษฐศาสตร์ที่ดีจะต้องรู้จักคิดแยกว่าแยะสินค้าสาธารณะหรือสินค้าเพื่อส่วนรวมออกมาจากสินค้าในท้องตลาดของระบบทุนนิยม สินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่น การศึกษา สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม จะใช้วิธีคิดแบบต้นทุน – กำไรเอกชน ตามกลไกตลาดทุนนิยมไม่ได้ ภาครัฐจะต้องเข้ามาอุดหนุนหรือใช้มาตรการภาษีและมาตรการอื่นๆ กระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนที่มีกำไรส่วนเกินมากอยู่แล้ว มาช่วยอุดหนุนสินค้าและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกในสังคม ซึ่งนายทุนผู้ประกอบการก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วยและจะได้ประโยชน์ในระยะยาวร่วมกัน

      ถ้านายทุนและผู้ประกอบการทั้งหลายจะฉลาด เห็นการณ์ไกลและเปลี่ยนมาใช้หลักคิดเศรษฐศาสตร์เพื่อความสุข แทนเศรษฐศาสตร์เพื่อเงินและวัตถุ คนในโลกนี้จะมีโอกาสที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกมาก

 

ทางออกของปัญหา:นโยบายแบบไหนจึงจะแก้ปัญหาคนจนได้


โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 1 พฤศจิกายน 2550 14:55 น.

วิทยากร  เชียงกูล

       กกต.ไปเข้มงวดกับพรรคการเมืองเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งโดยเปิดเผยมากไปและทำให้นักการเมืองหลบไปซื้อเสียงใต้ดินกันมากขึ้น ที่จริงกกต.ควรส่งเสริมให้เกิดเวทีสาธารณะที่เปิดให้พรรคได้มาเสนอนโยบายแข่งกัน จะได้ทำให้ประชาชนสนใจปัญหาเศรษฐกิจสังคมเพิ่มขึ้น นโยบายเท่าที่พรรคใหญ่ๆเสนอมา ส่วนใหญ่จะเน้นการทำโน่นทำนี่ให้ประชาชน ซึ่งมีลักษณะประชานิยมแบบหาเสียง มากกว่าที่จะมุ่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง
       
       การแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรกร
       
       ปัญหาหนี้ของเกษตรกรซึ่งเป็นคนราว 40 % ของทั้งประเทศเป็นปัญหาเรื้อรัง ถ้าแก้ไขปัญหานี้เกษตรกร รวมทั้งคนจนในเมืองได้จริงจัง จะพัฒนาตลาดภายในและเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็งได้มาก ควรปฏิรูประบบบริหารของหน่วยงานแก้ไขหนี้สินของเกษตรกรให้รวมอยู่หน่วยงานเดียวที่มองภาพรวมออก วางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่นพักหนี้เกษตรกรที่ย่ำแย่มาก เพื่อช่วยให้เกษตรกรตั้งต้นฟื้นฟูอาชีพของตนใหม่ได้ ไม่ต้องไปกู้นายทุนเงินกู้เอกชนมาจ่าย ธกส. ซึ่งจะยิ่งเสียดอกเบี้ยแพงหนี้เพิ่มและไปไม่รอด ที่สำคัญคือต้องมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรทุกด้านพร้อมกัน เช่นการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูประบบการขนส่งและการตลาด ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรบริหารฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ขายสินค้าได้ราคาดีขึ้น สร้างระบบสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็ง จึงจะช่วยให้เกษตรกรฟื้นตัวได้จริง
       
       โครงการพักหนี้ 3 ปีหรือให้เกษตรกรได้กู้เงินแบบเสียดอกเบี้ยต่ำหน่อย ที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ คือปัญหาการซื้อแพงขายถูกของเกษตรกร ถ้าแก้ไม่ตรงจุด ถึงจะพักหนี้หรือมีกองทุนหมู่บ้านอะไรต่างๆ พวกเขาก็จะขาดทุนและกลับมามีหนี้เพิ่มอยู่นั่นเอง
       
        รัฐควรปฏิรูปปรับเปลี่ยนธกส. จากรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง ให้เป็นธนาคารสหกรณ์ที่ถือหุ้นโดยสหกรณ์การเกษตร องค์กรชาวนาชาวไร่ เกษตรกร พนักงานธนาคาร และลูกค้าทั่วไปให้เกษตรกรเลือกตัวแทนขึ้นไปเป็นบอร์ดบริหารตรวจสอบและคัดเลือกคณะผู้บริหารมืออาชีพที่ควรเป็นนายธนาคารที่มีวิสัยทัศน์ มีอุดมการณ์และนโยบายการทำงานเพื่อพัฒนาเกษตรกรในระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่แค่นายธนาคารพาณิชย์ที่เน้นการหากำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย รวมทั้งธกส.ต้องผ่าตัดแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ธนาคารบางคนหากินกับค่าปากถุง ค่าหัวคิว คอมมิชชั่นต่างๆจากเกษตรกรด้วย
       
       โครงการกองทุนหมู่บ้าน (ชุมชน) ต้องเน้นการแก้ปัญหาการผลิต การจ้างงาน
       
        ควรปฏิรูปกองทุนหมู่บ้าน (ชุมชน) ให้เป็นกองทุนที่มีตัวแทนที่เหมาะสม (เช่นกลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์ที่มีอยู่แล้ว) มีการจัดการที่ดี เน้นการให้ความรู้และเพิ่มความสามารถในการรวมกลุ่มและการจัดการของชาวบ้าน เน้นแก้ปัญหาระบบการผลิตและการแลกเปลี่ยน ช่วยให้เกษตรกรและชาวชนบทฟื้นฟูการมีงานทำและการหารายได้ เน้นการสร้างองค์กรชุมชนให้ฉลาดเข้มแข็งและซื่อตรงพอที่จะใช้เงินทุนให้เกิดการจ้างงานและการเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
       
       การจะแก้ปัญหาภาคชนบทได้อย่างแท้จริง ต้องคิดในแง่การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร (รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกป่าไม้โตเร็ว) ปฏิรูปอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อม ปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ ทั้งประเทศ ควบคู่กันไปกับการพักชำระหนี้เกษตรกรยากจนและใช้กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน รวมทั้งต้องคิดในเรื่องช่วยให้เกษตรกรส่วนใหญ่รู้จักทำฟาร์มแบบผสมผสานพึ่งตนเองได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืชลงด้วย ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการผลิตเพื่อการตลาดประเภท 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางตำบลที่มีความพร้อมอาจจะทำได้ แต่ถ้าคิดและทำแบบเถรตรงมากไป ในหลายตำบลที่ขาดความพร้อม ยิ่งทำให้ชาวบ้านขาดทุนและเป็นหนี้มากขึ้น
       
        การจะแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ผล จะต้องเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งตนเองในเรื่องอาหารและปัจจัยที่จำเป็นได้เพิ่มขึ้น เน้นระบบสหกรณ์และเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง มากกว่าระบบทุนนิยมที่มุ่งปลูกพืชเพื่อการค้า ส่งออก การผลิตเพื่อการค้าอาจเหมาะสมสำหรับบางหมู่บ้านบางตำบลหรือบางฟาร์ม แต่ไม่เหมาะกับทุกครอบครัวหรือทุกชุมชน เกษตรกรที่ทำเกษตรแบบธรรมชาติ แบบผสมผสาน พึ่งตนเองได้เป็นสัดส่วนสูง พึ่งเศรษฐกิจระบบตลาด การเป็นหนี้น้อย ได้ผลตอบแทนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเกษตรกรปลูกพืชเดี่ยวที่พึ่งระบบตลาด แต่สำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในวงจรของทุนนิยม ต้องกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าไปทุกฤดูการผลิต แม้จะขาดทุนแต่เหมือนไม่มีทางเลือก รัฐต้องใส่ทั้งเงินและโครงการพัฒนาเข้าไปช่วยให้พวกเกษตรกรที่เป็นหนี้อมตะหลุดออกจากวงจรที่ชั่วร้ายนี้ได้ก่อน จึงจะพัฒนาแนวพึ่งตนเองและชุมชนเข้มแข็งได้
       
        นโยบายส่งเสริมให้แต่ละตำบลเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อขายตำบลละ 1 อย่าง (รวมทั้งนโยบาย SME วิสาหกิจขนาดย่อม) เป็นการทำตามสูตรมากไป ควรจะเลือกเฉพาะตำบลที่มีขีดความสามารถจะผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาดได้โดยไม่ขาดทุน ปัจจุบันตำบลในเมืองไทยมี 7 พันกว่าแห่ง ทำให้มีหลายร้อยตำบลที่ผลิตสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรออกมาคล้ายๆกัน และมีปัญหาเรื่องตลาด เนื่องจากแต่ละตำบลมีทรัพยากร มีขีดความสามารถ มีต้นทุนต่างกัน ดังนั้น บางตำบล บางหมู่บ้าน บางครัวเรือน อาจจะผลิตพืชผลหรือผลิตภัณฑ์หลายอย่างโดยเน้นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผลิตเพื่อการค้าแบบเป็นสูตรสำเร็จ และโครงการน่าจะเน้นการพัฒนาระบบสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะผู้ประกอบการในระบบทุนนิยมเท่านั้น เพราะการรวมกลุ่มกันจะสร้างความเป็นธรรมและความเข้มแข็งของชุมชนได้มากกว่าการโตแบบปัจเจก
       
        รัฐบาลสามารถหาเงินมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนได้หลายทาง นอกจากการกู้หรือออกพันธบัตร เช่น 1. การยกเลิกหรือปรับลดงบประมาณโครงการที่เกิดประโยชน์น้อย ลดการคอรัปชั่นกินเปอร์เซนต์ จากโครงการต่างๆ 2. ธนาคารชาติให้ดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำ (Soft Loan) แก่ธกส.และสหกรณ์ต่างๆ 3. เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เพิ่มภาษีสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือย 4. รัฐหารายได้จากการให้สัมปทานคลื่นความถี่ วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และทรัพย์สมบัติสาธารณะอื่นๆมากขึ้น แต่เมื่อได้เงินเพิ่มขึ้นแล้วต้องรู้จักใช้อย่างซื่อตรงและมีประสิทธิภาพ เน้นให้ประชาชนและชุมชนเข้มแข็งได้จริงๆ อย่าใช้นโยบายประชานิยมแบบหาเสียงระยะสั้น