RSS

บทที่ 6 เป้าหมายและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล:รายงานสภาวะการศึกษาฯปี 52-53

17 มี.ค.

บทที่ 6 

เป้าหมายและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล

 

การปฏิรูปการศึกษา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาหรือกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและให้มีความเป็นธรรมอย่างก้าวกระโดด นั่นก็คือ ผู้นำต้องกล้าผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปแบบโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระสำคัญ และการมองเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นแค่การมีโครงการเพิ่มเติมจากการจัดการศึกษาปกติ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้เข้าใจและไม่ได้ปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลอย่างแท้จริง

 

แม้ว่านโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จะสรุปประสบการณ์และพยายามเขียนโครงการให้ครอบคลุม มีการใช้งบประมาณมากขึ้น แก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มครู อาจารย์ และการให้เรียนฟรี 6 ปี การเพิ่มเงินกู้เพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นการคิดแบบเพิ่มโครงการเป็นส่วนๆมากกว่าจะปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบองค์รวม

 

การจะปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลได้อย่างแท้จริงจะต้องพยายามทำให้ผู้มีส่วนร่วมได้เสีย (STAKFHOLDERS) ทำความเข้าใจเป้าหมายให้ชัดเจนและปฏิรูปที่เนื้อหาสาระสำคัญอย่างถึงราก แม้การศึกษาจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่หลายประเทศที่มีผู้นำที่วิสัยทัศน์ที่ดี เอาจริงกับการศึกษาอย่าง โปแลนด์ ชิลีฯลฯ สามารถทำให้การศึกษามีคุณภาพดีขึ้นได้ภายในช่วง 6-7 ปี วัดได้จากการประเมินผลโดยโครงการ PISA ของกลุ่มประเทศ OECD16[1] ดังนั้นหากเข้าศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ลงมือปฏิรูปอย่างจริงจังอย่างที่ต่างประเทศเขาทำกันสามารถทำให้เกิดผลเร็วขึ้นได้ โดยไม่ต้องรออีก 10-20 ปี อย่างที่ผู้นำไทยบางคนกล่าวไว้

6.1 เป้าหมายของการศึกษาที่ดีควรจะเป็นอย่างไร

การปฏิรูปการศึกษาเป็นเพียงวิธีการ เป้าหมายคือ การจัดการศึกษาที่ดี ให้ผู้รับการศึกษาได้พัฒนาทักษะทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นคนมีทั้งมีความรู้ที่ใช้งานได้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง มีความสามารถในการนำความรู้ที่ได้เรียนมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาทั้งชีวิตตนเอง ชุมชน และสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเสมอภาค สร้างสรรค์ เป็นพลเมืองที่มีความฉลาดรอบด้านและมีวินัยความรับผิดชอบ รู้จักการใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในสังคม มีความสุข มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ระดับสูง สามารถพัฒนาอุปนิสัยใจคอ ความคิดความอ่าน พฤติกรรมไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เพิ่มขึ้น

การศึกษามีภาระหน้าที่สำคัญในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของการศึกษาที่ดี ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อสอบที่เน้นความจำและทักษะทางวิชาการและวิชาชีพเท่านั้นแต่จะต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดทั้ง 3 ด้านใหญ่ ๆ ประกอบด้วย

 

1. ฉลาดทางปัญญา – เป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล สนใจหาหลักฐาน ข้อมูลยืนยัน มากกว่าจะเชื่อด้วยอารมณ์ ความรู้สึกศรัทธาแบบงมงาย มีความรู้ทักษะที่ตนถนัดหรือชอบทำได้ดีพอที่จะสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้อย่างมีความพอใจ และรู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักการแก้ปัญหา การทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เข้าใจปัญหาต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม

2. ฉลาดทางอารมณ์ – เป็นคนที่รู้จักดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เช่นการออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีคุณค่า การใช้เวลาทำงานและพักผ่อนอย่างไม่เครียด รู้เรื่องเพศศึกษา เรื่องจิตวิทยา ความฉลาดทางอารมณ์ของตัวเองและคนอื่น เช่นรู้จักแก้ปัญหาความขี้อาย และปรับปรุงความเชื่อมั่น ความภูมิใจในตัวเอง การเข้าใจ ควบคุมและสื่อสารเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตนได้อย่างฉลาด/มีประสิทธิภาพ รู้จักมองโลกในทางบวกอย่างสมจริง รู้จักการควบคุมความเครียดและจัดการกับปัญหาในชีวิต รู้จักหาความสุขความพอใจที่พอเพียงและยั่งยืน รู้จักความอดกลั้น อดทน ปรับตัวให้อึดฮึดสู้ได้แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รู้จักคบหาสมาคมและการผูกมิตรกับคนอื่น รู้จักการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกับเพื่อน คู่ครอง ครอบครัว ที่ทำงาน และคนอื่น ๆ

3. ฉลาดทางจิตสำนึกเพื่อสังคม – เป็นคนที่ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบของพลเมือง เคารพในตนเองและเคารพคนอื่น เคารพต่อกฎระเบียบประเพณี ศีลธรรมเพื่อส่วนรวม พัฒนาโลกทัศน์ที่ฉลาดในทางสังคม มีความซื่อสัตย์ มีหลักยึดทางจริยธรรมที่มีเหตุผล มีทัศนคติที่ดี มีความเมตตา กรุณาและความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นอย่างเป็นธรรม เน้นการสามัคคีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เข้าใจว่าการร่วมมือกัน แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ช่วยเหลือกันและกันคือสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการที่จะช่วยให้สมาชิกทุกคนได้ในชุมชนได้ประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว ได้มากกว่าการเน้นพัฒนาตนเองเพื่อการแข่งขันกับคนอื่นแบบตัวใครตัวมัน รวมทั้งมีจิตสำนึกตระหนักเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนและปัญหาสภาพแวดล้อมทั้งในชุมชน ประเทศและในโลก

6.2 แนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างแท้จริง

ผู้วิจัยขอเสนอแนวทางการปฏิรูปเชิงแนวคิดนโยบาย โครงสร้าง วิธีบริหารจัดการ และการปฏิรูป      6 แนวทางย่อยในเรื่องที่เป็นการลงมือแก้ปัญหาที่จำเป็นระดับต้นๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการปฏิรูปตาม แนวทางใหญ่ 5 แนวทางที่ผู้วิจัยเห็นว่าสำคัญที่สุด

  • การปฏิรูปแนวทางใหญ่ 5 แนวทาง คือ

1. ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาให้เป็นประชาธิปไตยและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาให้มีการกระจายอำนาจความรับผิดชอบไปสู่เขตการศึกษาและสถานศึกษาโดยตรงเพิ่มขึ้น กระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องเป็นผู้บริหารสั่งการถึงโรงเรียนโดยตรงแบบเก่า ให้มีสถานศึกษาหลายรูปแบบ เช่น เป็นนิติบุคคลที่มีอิสระแบบโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สถานศึกษาแบบมูลนิธิองค์กรเอกชนที่รัฐให้เงินสนับสนุนแต่คณะกรรมการสถานศึกษาสามารถบริหารได้อย่างเป็นอิสระ สถานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรศาสนาและงานการกุศล ฯลฯ

 

ทั้งนี้ต้องปฏิรูประบบการทำงานคณะกรรมการของเขตการศึกษาและสถานศึกษา ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนผู้ปกครองและชุมชน เช่นผู้นำชุมชน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ข้าราชการบำนาญ ข้าราชการกระทรวงอื่น นักธุรกิจฯลฯ ที่มีความรู้และทักษะในการบริหารจัดการเข้ามาร่วมทำงานเพิ่มขึ้น คณะกรรมการสถานศึกษาสามารถพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนให้ความดีความชอบผู้อำนวยการและครูใหญ่ได้ ไม่ใช่มีแค่รูปแบบการตั้งคณะกรรมการ แต่เนื้อหาของการดำเนินงานยังคงขึ้นอยู่กับตัวระบบข้าราชการตามสายบังคับบัญชาแบบรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางอย่างที่เป็นอยู่

 

ส่งเสริมให้พระสงฆ์ที่มีความรู้ ผู้นำชุมชน ข้าราชการบำนาญ ข้าราชการกระทรวงอื่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ  และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้น แต่อาจไม่ได้อยู่ที่ตำบลนั้นอำเภอนั้นโดยตรงให้เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาได้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชนบางแห่ง สมัยนี้การสื่อสารและการเดินทางสะดวกขึ้น คณะกรรมการที่มีที่พำนักอยู่ที่ตัวอำเภอเมืองสามารถเดินทางไปเข้าร่วมประชุมที่โรงเรียนในต่างอำเภอ, ตำบลได้เดือนละ 1-2 ครั้งไม่ยาก ข้อสำคัญคือการจัดตั้งคณะกรรมการเขตการศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาควรจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลฝ่ายบริหารสถานศึกษาแต่ละแห่งได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง   ดังนั้นควรยกเว้นไม่แต่งตั้งผู้มีตำแหน่งทางการเมืองในทุกระดับรวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงและเล่นพรรคเล่นพวกทางการเมือง ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาควรเป็นคนนอกสถานการศึกษาที่มากำกับดูแลผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ได้ ไม่ควรให้ผู้อำนวยการ/ครูใหญ่เป็นประธานเสียเอง

 

ปฏิรูป คัดเลือก ฝึกฝนพัฒนา ตรวจสอบและให้ผลตอบแทนผู้บริหารและครูอาจารย์สูงในระดับเดียวหรือใกล้เคียงกับแพทย์ ผู้บริหารจัดการภาคเอกชนและนักวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ เพื่อสร้างครูใหญ่และครูอาจารย์ที่เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีภาวะผู้นำเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง เช่นคัดนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้คะแนนสูงมีแรงจูงใจอยากเป็นครูให้มาเรียนต่อวิชาครูซึ่งต้องพัฒนาให้มีคุณภาพขึ้น มีการปรับเงินเดือนครูขั้นต้นให้สูงขึ้น เปลี่ยนระบบบริหารจัดการสถานศึกษาให้เป็นประชาธิปไตย ที่ครูมีอิสระ รับผิดชอบเพิ่มขึ้น มีความก้าวหน้าอย่างคล่องตัว ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นงานที่ท้าทายคนฉลาดคนเก่งให้สนใจทำอาชีพนี้เพิ่มขึ้น

 

การคัดเลือกและพัฒนาครูใหญ่/ผู้อำนวยการต้องคัดเลือกคนที่มีศักยภาพในการเป็นผู้บริหารจัดการที่รู้จักคิด วางแผน ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักเลือกลำดับความสำคัญว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง เพราะครูใหญ่เป็นบุคคลที่มีบทบาทในการช่วยปฏิรูปสถานศึกษาให้มีคุณภาพได้มาก ในประเทศ สิงคโปร์ และอื่นๆมีระบบการประเมินและคัดเลือกครูหนุ่มสาวที่มีศักยภาพจะเป็นครูใหญ่ที่ดีต่อไปเพื่อรับการศึกษาอบรมเป็นครูใหญ่ต่อไปโดยเฉพาะ เมื่อได้วุฒิการศึกษาแล้วต้องไปสมัครเข้ารับการประเมินคัดเลือกเป็นครูใหญ่อีกครั้งแตกต่างจากไทยที่ใช้วิธีการคัดเลือกครูใหญ่/ผู้อำนวยการตามระบบอาวุโส, การสอบและการวิ่งเต้นเส้นสาย ทั้งยังติดในกรอบการบริหารแบบราชการรวมศูนย์ที่ขาดประสิทธิภาพ ที่ควรต้องยกเลิกปรับรื้อใหม่ทั้งระบบ โดยศึกษาจากระบบการบริหารจัดการแบบธุรกิจเอกชน ที่เน้นประสิทธิภาพการทำงาน เน้นผลงานของผู้บริหารจัดการ มากกว่าเน้นความอาวุโสและเน้นแค่ทำตามระเบียบไปวันๆ

2.  ส่งเสริมการพัฒนาครูให้มีคุณภาพและเพิ่มแรงจูงใจให้คนเรียนเก่งมาเป็นครู ด้วยการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนเก่ง ๆ ที่สนใจจะเรียนเพื่อเป็นครูและรับประกันการมีงานทำ เพิ่มเงินเดือนขั้นต้นให้ครู แต่ต้องจำกัดจำนวน และคัดเลือกคนเก่งและคนที่มีอุปนิสัยและความตั้งใจที่จะเป็นครูแค่จำนวนหนึ่งที่รัฐบาลรับประกันการมีงานทำให้และปฏิรูปการศึกษาวิชาครูให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดกว้างรับสมัครผู้มีความรู้สาขาต่างๆไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่มาเป็นครูโดยการเข้ารับการอบรมฝึกฝนวิชาครูเพิ่มเติมระยะสั้น และจ่ายเงินเดือนค่าตอบแทนแบบบวกประสบการณ์ให้ได้ แบบเดียวกับภาคธุรกิจเอกชน

จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมครูไปเข้าฝึกอบรม เรียนต่อ จัดประชุมสัมมนา ให้ทุนวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง การจะเพิ่มงบประมาณหรือรายได้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ครูและสถานศึกษาพยายามปรับปรุงตัวเอง ควรประเมินที่ผลการทำงาน ไม่ใช่วิธีการทำเอกสารวิชาการเพื่อขอผลงานผู้ชำนาญการซึ่งมีการจ้างกันทำได้และไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพ/คุณภาพการสอนเลย แต่ทั้งนี้ต้องมีระบบประเมินใหม่ที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม เน้นให้ครูแข่งขันกันทำงานและวัดประสิทธิภาพประสิทธิผลจากนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ เปรียบเทียบปีต่อปี ครูที่ทำให้นักเรียนเรียนได้ดีขึ้นจากเดิมก็ให้ค่าตอบแทนเพิ่ม งบประมาณเพิ่มขึ้น โดยวัดจากพื้นฐานการทำงานที่มีเดิมของแต่ละโรงเรียน ไม่ใช่ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนโรงเรียนนั้นโรงเรียนแบบเปรียบเทียบกันทั้งประเทศ เพราะการประเมินแบบนี้จะทำให้โรงเรียนนักเรียนที่เก่งนิยมไปเข้า, มีครูเก่ง มีงบประมาณมากอยู่แล้ว ยิ่งได้เปรียบ ทำให้โรงเรียนมีคุณภาพต่างกันมากขึ้น ครูก็จะอยากไปอยู่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว

การพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพที่หลายประเทศนำมาใช้อย่างได้ผลคือ การประเมินและปรับปรุงการสอนของครูด้วยการให้เพื่อนครูไปสังเกตการสอนหรือถ่ายวีดีโอการสอนไว้ แล้วจัดประชุมกันให้ผู้สอนได้ร่วมพิจารณากับทีมงานว่าควรจะปรับปรุงวิธีการสอนให้น่าสนใจให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยอาจจะใช้ศึกษานิเทศก์หรือครูผู้สอนที่เก่งไปช่วยแนะนำ แต่ทั้งนี้ครูต้องใจกว้างรับฟัง ตั้งใจปรับปรุงตนเพื่อผู้เรียนด้วย วิธีการนี้จึงจะได้ผล

การสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งเลือกมาเรียนครูและคงอยู่ในอาชีพครู คือ เพิ่มเงินเดือนครูขั้นเริ่มต้น โดยเฉพาะสาขาขาดแคลนและให้เงินเพิ่มพิเศษสำหรับครูที่ไปสอนในชนบทรอบนอก ขณะเดียวกันต้องคัดเลือกฝึกอบรม, พัฒนาครูให้มีคุณภาพมีวุฒิภาวะและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมสูง ให้การยกย่องและให้อิสระและความรับผิดชอบครูเพิ่มขึ้น(เช่นให้ครูกำหนดหลักสูตร การสอนตำรา การสอนเองได้) รวมทั้งพิจารณาขึ้นเงินเดือนตามผลงานของครูแต่ละคนอย่างยืดหยุ่นคล่องตัวแบบการบริหารในภาคธุรกิจเอกชน

เปลี่ยนแปลงปรับปรุงระบบการบริหารจัดการครูให้คล่องตัวเพื่อกระจายครูไปช่วยปฏิรูปโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำได้เพิ่มขึ้น เช่นการส่งครูใหญ่ ครูเก่งๆ ไปแก้ปัญหาพัฒนาโรงเรียนที่อ่อน โดยที่คงได้ตำแหน่งเงินเดือนไม่ต่างจากโรงเรียนใหญ่หรือให้แรงจูงใจเพิ่มขึ้น ระบบบริหารแบบราชการที่กำหนดว่าผู้บริหารต้องย้ายอยู่โรงเรียนใหญ่จึงจะได้เงินเดือนและความก้าวหน้าสูงตามขนาดของโรงเรียน เป็นระบบเพื่อผลประโยชน์ของข้าราชการครู ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของนักเรียนและประเทศชาติ เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบบริหารเสียใหม่ โดยเน้นเป้าหมายผลงานในการทำให้นักเรียนเรียนได้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของนักเรียนและเพื่อส่วนรวม เราจึงจะปฏิรูปโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้ ไม่ใช่เน้นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บริหาร ครู อาจารย์

3. ปฏิรูปหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองของเด็กวัยต่าง ๆอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้งานรวมทั้งรู้วิธีใฝ่รู้ รักการอ่านการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ต่อไปได้ เช่น การสอนภาษาแบบธรรมชาติ (WHOLE LANGUAGE) ใช้สื่อหลายชนิด การสอนแบบเชื่อมโยงความหมายเรื่องที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงและความรู้เดิมของนักเรียน การทดลองและฝึกภาคปฏิบัติเพิ่มขึ้น ฝึกการจำแบบเชื่อมโยง (ไม่ใช่จำเป็นส่วนๆ แบบนกแก้วนกขุนทอง) เรียนรู้คิดวิเคราะห์ปัญหาต่างๆสังคมมากขึ้น เรียนรู้จักธรรมชาติของตนเอง เรื่องชุมชน สังคม รวมทั้งธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หลักสูตรควรจัดให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละขั้นตอน และเน้นให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดรวบยอดที่สำคัญ ไม่ใช่ครอบคลุมวิชาจำนวนมากและมีแค่ข้อมูลรายละเอียดที่นักเรียนต้องเรียนแบบท่องจำเพื่อไปสอบ    โดยไม่ค่อยเข้าใจวิชาเนื้อหาที่เรียนว่าคืออะไร เรียนไปเพื่อใช้ประโยชน์อะไร

ระดับปฐมวัย ควรเตรียมความพร้อมเรื่องความฉลาดในทุกด้าน โดยเน้นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การเล่นกิจกรรมดนตรี ศิลปะ กีฬา การเรียนภาษาแบบธรรมชาติฯลฯ ระดับประถมต้น ควรเน้นภาษาไทยให้ใช้งานได้ โดยเฉพาะการอ่านแบบเอาเรื่องหรือการอ่านแบบจับใจความได้ เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญที่จะไปเข้าใจแนวคิดรวบยอดของคำต่างๆ และเรียนวิชาต่างๆ ต่อไปได้ดี การเรียนภาษาไทยควรสอนให้นักเรียนเรียนรู้จักการอ่านนิทานนิยายได้อย่างเพลิดเพลิน และฝึกทักษะการจับใจความ ไม่ใช่การสอนท่องจำกฎไวยากรณ์ที่น่าเบื่อ ต้องฝึกครูภาษาไทยใหม่ให้รู้จักวิธีการสอนภาษาแบบธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจง่าย สนุกและให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาครูและกระบวนการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์อย่างขนานใหญ่ มีวิธีการสอน สื่อการสอน การเล่นเกมให้เด็กเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน และเข้าใจแนวคิดรวบยอดของกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (เช่น บวก ลบ คูณ หาร) เรื่องธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เพื่อที่ผู้เขียนจะได้เรียนรู้แบบเชื่อมโยงกับเรื่องจริงในชีวิตประจำวันและพัฒนาต่อไปได้

ทั้งครูอาจารย์ พ่อแม่ และผู้ปกครอง ควรตระหนักว่าความอยากเรียนรู้ ความตั้งใจเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการเรียนรู้ เด็กก่อนวัยเรียนทุกคนมีธรรมชาติที่อยากรู้อยากเห็น ชอบซักถาม แต่ถ้าถูกพ่อแม่ ครูตัดบทหรือดุว่าพูดมาก เด็กจะเลิกถามและเลิกอยากรู้อยากเห็น นี่คือปัญหาสำคัญของการเลี้ยงดูและการสอนแบบเก่า ที่เน้นการใช้อำนาจ คำสั่งและระเบียบวินัยมากเกินไปจนไปทำลายปัจจัยสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ พ่อแม่และครูจะต้องส่งเสริมให้นักเรียนช่างสังเกต ช่างซักถาม อยากเรียน รู้อยากอ่าน อยากฟัง อยากดู อยากทำโน่นดูนี่ จึงจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กรักการเรียนและเรียนได้ดี การสอนอย่างมีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร ใจกว้าง ไม่เข้มงวดแบบชอบดุมากเกินไป

การสอนให้เด็กมีวินัยอย่างได้ผล คือการสอนให้เด็กเข้าใจความจำเป็นของวินัยและเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีการดุ การวิจารณ์ การลงโทษตามแต่ละกรณีอย่างมีเหตุผลที่อธิบายให้เด็กเข้าใจได้ แต่การดุแบบเพื่อทำให้เด็กกลัวหรือเครียดตลอดเวลาหรือส่วนใหญ่ไม่ใช่การสอนวินัยอย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะสอนไม่ได้ผลเลยด้วยซ้ำ เพราะเด็กอาจแสร้งทำเป็นวินัย เช่น นั่งเงียบเพื่อเอาตัวรอด แต่ไม่ได้เข้าใจว่าวินัยในเรื่องนี้คืออะไร มีประโยชน์ต่อตัวเขาอย่างไร

ในเรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้ สิ่งสำคัญมากคือการทำให้เด็กมีความภูมิใจมั่นใจในตัวเอง ว่าเขาเรียนรู้ได้ จะทำให้เขาอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นและเรียนรู้ได้ดีขึ้น พ่อแม่และครูที่รู้จักชมเด็กที่มีพัฒนาการดีขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้เด็กอยากเรียนรู้และได้ดีขึ้น ขณะที่การดุด่าว่ากล่าวตำหนิ โดยเฉพาะถ้าทำเสมอๆ  ทำเป็นกรณีทั่วไปมากกว่าเวลามีปัญหาหนึ่งปัญหาใดที่ชัดเจน จะเป็นผลลบต่อเด็ก เพราะจะทำให้เขาไม่ภูมิใจไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองโง่กว่าเพื่อนเรียน ไม่ได้ ไม่อยากเรียน เด็กทุกคนมีโอกาสเรียนรู้พัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น

ปัญหาที่เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาเรียนไม่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6หรือแม้แต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นจำนวนมาก นอกจากจะมาจากปัญหาความยากจนและปัญหาสังคมอื่นๆ แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเด็ก ถูกครูที่ไม่เข้าใจจิตวิทยาเด็ก ทำลายความภูมิใจความตั้งใจจนเด็กเรียนไม่ค่อยได้ผล และไม่อยากเรียนต่อ

4. ปฏิรูปการประเมินผลเพื่อเลื่อนชั้นและการคัดเลือกคนเข้าสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะการสอบเข้าเป็นแนวหม่ โดยเน้นเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคนมากกว่าการเน้นเรื่องใครแพ้ถูกคัดออก การประเมินผลที่ดีควรยืดหยุ่นหลากหลายกว่าการสอบแบบมาตรฐานที่ทุกคนต้องมาสอบเหมือนกัน และคิดเป็นคะแนนสูงต่ำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อคัดคนส่วนน้อยไปเรียนต่อ วิธีการสอบแบบแข่งขัน แม้จะจำเป็นในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมให้ได้ไปเรียนสูงขึ้น แต่เป็นผลเสียทางจิตวิทยาสำหรับเด็กที่ได้คะแนนต่ำ ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ ทำให้พวกเขาขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และยิ่งเรียนรู้พัฒนาตัวเองได้น้อยลงไปอีก เป็นผลเสียต่อการพัฒนาประชาชนส่วนใหญ่ ตัวอย่างของประเทศฟินแลนด์ที่นักเรียนมีผลการเรียนรู้สูง ครูและผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้ร่วมกันประเมินนักเรียนเอง ตามพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน จะมีการสอบมาตรฐานระดับชาติเฉพาะตอนนักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น

การจะเปลี่ยนวิธีการประเมินผลแบบใหม่ได้ ต้องเปลี่ยนนโยบายการจัดการศึกษาแบบมุ่งเพื่อส่งเสริมให้คนให้มุ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก และการที่มหาวิทยาลัยขยายเพิ่มปริมาณมาก โดยที่ทั้งครู อาจารย์และผู้เรียนมีคุณภาพไม่สูงพอก็ทำให้มีคนจบปริญญาตรีมากแต่มีคุณภาพต่ำและว่างงานสูง เราควรจัดการศึกษาแบบเพื่อคนทั้งหมด ส่งเสริมศักยภาพที่มีความหลากหลายของคนทั้งหมดอย่างกว้างขวางยืดหยุ่น เช่นพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เทคโนโลยี ศิลปะ ดนตรี การสร้างสรรค์ต่างๆ ให้มีคุณภาพ เด็กเยาวชน ประชาชนเข้าถึงการศึกษาประเภทต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ใครอยากเรียนอะไรที่ถนัดหรือสนใจก็มีช่องทางที่จะเลือกเรียนได้อย่างกว้างขวางและมีคุณภาพ

สำหรับการประเมินผลระดับชาติของประเทศไทยในระดับประถม 6 มัธยม 3 มัธยม 6 น่าจะศึกษาจากการทดสอบนักเรียนระหว่างชาติในโครงการ PISA ขององค์กร OECD ซึ่งออกแบบการวัดผลแบบเน้นความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาในชีวิตจริงของนักเรียนมากกว่าวัดการท่องจำตามตำรา

การปฏิรูประบบประเมินผลที่ทันสมัยกว่านี้จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีการสอนของครู ต้องทำครูอาจารย์เข้าใจใหม่ว่า การศึกษาเป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้เพื่อตีความข้อมูล คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ไขปัญหา ไม่ใช่การท่องจำข้อมูล เราจึงจะปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพใช้งานได้ และสร้างพลเมืองที่ฉลาดรับผิดชอบไปแก้ไขปัญหาและแข่งขันและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง

5. ปฏิรูปศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง (SELF DIRECTED LEARNING)

การจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนเองอย่างมากด้วย ผู้ใหญ่ควรช่วยกันทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุขทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยทำให้เป้าหมายการเรียนเก่งและการเป็นคนดีเป็นไปได้มากขึ้น การวิจัยพบว่า เด็กที่มีความสุขจะเรียนและสอบได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ค่อยมีความสุข พวกเขาจะกระตือรือร้นมากกว่า มีความมานะอดทนมากกว่า มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า มีสมาธิมากกว่า และเข้ากับทั้งเพื่อนและครูได้ดีกว่า

คนที่มีความสุขจะมองโลกในแง่ดี คิดสร้างสรรค์และอยากช่วยให้คนอื่นๆ มีความสุข ทำให้ได้รับการพัฒนาเป็นคนดีไปด้วย นี่ควรเป็นเป้าหมายใหม่ในการปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาที่เน้นการสร้างคนเก่งแบบแพ้คัดออกไปทำงานเพื่อทำเงินให้ได้มากที่สุดนั้น นอกจากมีข้อจำกัดแล้วยังสร้างปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจัยที่จะทำให้คนมีความสุข (อย่างแท้จริง) ประกอบด้วย ความสามารถทางสังคมและทางอารมณ์ การไม่ติดกับการวิตกกังวลมากเกินไป การมีทักษะในการสื่อสารที่ดี การปรับตัวกลับคืนสภาพเดิมได้เร็ว การมีกรอบคิดที่มองออกไปในอนาคต และการมองโลกในแง่ดีอย่างสมจริงและสร้างสรรค์ โดยทั่วไปแล้ว คือปัจจัยชุดเดียวกันที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน ด้วยเหตุนี้นักเรียนที่มีความสุขจึงมีแนวโน้มจะเรียนและสอบได้ดีกว่านักเรียนที่ไม่มีความสุข

เด็กที่มีความสุขจะสนใจอยากเรียนรู้และจะเรียนได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีความสุข เด็กที่รักการอ่าน อ่านหนังสือเป็นจะสนุกกับการอ่านโดยไม่รู้สึกว่า นี่คือการทำงานภาคบังคับที่น่าเบื่อ

 

เรื่องนี้นักวิจัยด้านการทำงานของสมองยืนยันว่า หากบรรยากาศในห้องเรียนเป็นมิตร ทำให้ผู้เรียนมีอารมณ์ดี ไม่กลัว ไม่กังวล รู้สึกท้าทายหน่อยๆ แต่ไม่ถึงกับเครียดผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีกว่าในบรรยากาศที่ครูสอนแบบเข้มงวด หรือชอบว่าชอบกระแหนะกระแหนเด็ก

การเน้นเป้าหมายที่จะทำให้เด็กได้เรียนอย่างสนุกมีความสุข ไม่ได้ขัดแย้งกับเป้าหมายที่จะทำให้เด็กเรียนเก่ง การเน้นทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขจะมีทำให้เด็กมีโอกาสเรียนเก่งได้มากกว่าการที่ครูพยายามจะป้อนข้อมูลทำให้เด็กท่องจำโดยเด็กไม่เข้าใจอย่างแท้จริง และโดยที่ครูไม่สนใจว่าพวกเขาจะเรียนได้อย่างมีความสุขหรือไม่

การศึกษาที่ยึดถือเป้าหมายทำให้ผู้เรียนได้กำกับการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มขึ้น มีความสนุกในการเรียนและรักการเรียนด้วยตนเอง ควรจะมีแนวทางดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมความรักในการเรียนรู้ (รวมความรักในการอ่าน) ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องไปเน้นจุดมุ่งหมายอื่นใด นอกจากเพื่อความรักในการเรียนรู้โดยตัวของมันเอง

2. เปลี่ยนแปลงวิธีของการวัดผลโดยไม่เน้นการจัดลำดับในห้องเรียนการวัดผลที่ดีควรวัดพัฒนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนเน้นการแข่งกับตัวเอง มากกว่าเน้นการแข่งขันกับคนอื่น และให้ผู้เรียนตระหนัก วัดผล ด้วยตัวของตัวเองได้ด้วย

3. เน้นการพัฒนาความสามารถทางด้านสังคมและอารมณ์ของผู้เรียนเพิ่มขึ้น

4. เปิดกว้างให้เด็กมีโอกาสเล่นและทำกิจกรรมที่เขาพอใจ โดยการแบ่งเวลาให้เหมาะสม

5. เลิกการสนับสนุนให้เด็กต้องเรียนเสริมเพื่อมุ่งแข่งขันให้เรียนเก่งกว่าคนอื่นได้เร็วกว่าเด็กอื่นตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะถึงเด็กจะมีความฉลาดทางปัญญาที่จะทำได้ แต่ถ้าพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเขายังไม่พร้อมหรือเรียนหนักไปเครียดไปอย่างไม่สมดุลกับความต้องการของชีวิตที่ต้องการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วยจะทำให้เขาไม่มีความสุข ถึงเขาจะเรียนเก่งได้ แต่ก็อาจมีปัญหาภายหลังได้

6.3 แนวทางปฏิรูปแนวทางย่อยหรือการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน

การปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ได้ผลอาจใช้แนวทางย่อยหรือการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 เรื่องคือ

1) ทุ่มเทพัฒนาการศึกษาปฐมวัย (3-5 ขวบ) แบบเตรียมความพร้อมที่สอดคล้องกับการทำงานของสมองเด็กวัยนี้ เพราะระดับปฐมวัยนั้นเป็นวัยที่เรียกว่าเป็นโอกาสทอง ที่สมองเด็กกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อยากรู้อยากเห็น พร้อมที่จะเรียนรู้มากที่สุด ในช่วงชีวิตของคนเรา จัดการฝึกอบรมและจ้างครูอนุบาลที่เข้าใจจิตวิทยาเด็กเล็กและรู้จักวิธีการสอนแบบกึ่งเล่นกึ่งเรียน มีอุปกรณ์สื่อต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาสมอง เด็กวัยนี้จะเรียนรู้ได้เร็วมาก และจะเป็นการเตรียมพร้อมสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เขาเรียนชั้นประถมได้ดีขึ้น เด็กที่ฉลาดกล้าพูด กล้าซักถามจะไปช่วยทำให้ครูต้องสนใจอ่านหนังสือศึกษาเพิ่มเติมด้วยจะเป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาจากล่างขึ้นบนที่สำคัญ

ขณะนี้มีเด็กไทยระดับปฐมวัยนี้อยู่ทั่วประเทศราว 3 ล้านคน กลุ่มที่ได้เข้าเรียนมีราวร้อยละ 60 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์เลี้ยงเด็กหรือรร.อนุบาลที่มีคุณภาพปานกลางถึงต่ำ การจะสร้างเพิ่มเติมและปรับปรุงโรงเรียนอนุบาล การคัดเลือกฝึกอบรมและจ้างครูอนุบาลก็เพิ่มเติมน่าจะใช้งบประมาณไม่มากและทำได้ไม่ยากจนเกินไป โดยควรเน้นการพัฒนาโรงเรียนอนุบาลที่มีมาตรฐานต่ำและเพื่อการขยายโอกาสให้เด็กที่ยังไม่ได้เรียนให้ได้เรียนฟรี มีรถรับส่ง มีอาหารกลางวันและการดูแลสุขภาพอย่างพร้อมมูล โดยอาจใช้งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วย เพียงแต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเด็กปฐมวัยเข้าไปดูแลช่วยเหลือฝึกอบรมครูและพัฒนาด้านคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง

2) ปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางที่ปัจจุบันมีคุณภาพต่ำ เพราะขาดแคลนครูที่เก่ง, ขาดงบประมาณ โดยการเพิ่มงบประมาณและส่งเสริมคนเก่งไปทำงานเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนเล็ก โดยคงได้เงินเดือนสูงตามความสามารถของบุคคล ไม่ใช่ให้เงินเดือนครูใหญ่ตามขนาดของโรงเรียน และควรให้เบี้ยกันดารแก่ครูที่สอนในชนบทห่างไกลด้วย โดยควรมีทีมศึกษานิเทศก์และผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือชี้แนะ เพราะการเพิ่มเงินอย่างเดียวอาจไม่ทำให้คุณภาพเพิ่มขึ้นเสมอไป ต้องกล้าทำแบบในสหรัฐฯ และประเทศอื่น คือถ้าให้การอุดหนุนแต่โรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำเพิ่มแล้ว ผลงานทำงานของครูใหญ่และทีมงานยังไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนครูใหญ่ เปลี่ยนครูที่มีคุณภาพต่ำ หรือเปลี่ยนรูปแบบการบริหารไปให้เอกชนหรือกลุ่มผู้ปกครอง, มูลนิธิบริหารแทนฯลฯ

การพัฒนาโรงเรียนขนาดกลางขนาดเล็กในต่างจังหวัดและในชุมชนแออัดในเมืองใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ ควรทำหลายวิธีให้ครบวงจรอย่างเป็นระบบองค์รวม เช่นเพิ่มงบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน เพิ่มครูที่มีคุณภาพโดยให้แรงจูงใจเช่นเบี้ยกันดารหรือจัดระบบครูอาสาสมัครหมุนเวียนไปสอนโรงเรียนชนบทและชุมชนแออัดคนละ 2 ปี และให้ครูผู้นั้นได้ประกาศนียบัตรและมีสิทธิขอสมัครไปทำงานที่อื่นหลังจากผ่าน 2 ปีไปแล้วได้แบบในสหรัฐฯ อังกฤษ ทำให้มีบัณฑิตที่จบใหม่ที่มีไฟแรงสมัครไปช่วยพัฒนาโรงเรียนเหล่านี้มากขึ้น เมื่อได้ทำไปแล้ว 2 ปี คนติดใจขออยู่ต่อ คนที่ไม่อยู่ต่อก็มักหางานได้ดีขึ้น เพราะมีประสบการณ์ผ่านงานยากลำบากมาแล้ว ข้อสำคัญคือจะทำให้เกิดมีระบบหมุนเวียนครูที่มีคุณภาพเข้าไปอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาโรงเรียนในชนบทให้มีคุณภาพใกล้เคียงกันกับโรงเรียนในเมือง

3) แก้ปัญหานักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือออกกลางคันอย่างเป็นระบบครบวงจร

การจะแก้ปัญหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเรียนไม่จบม.3 หรือม.6 เป็นสัดส่วนสูงราวครึ่งหนึ่งของคนที่ได้เข้าเรียนชั้นประถมปีที่1 นั้น ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบครบวงจร เพราะเป็นปัญหาที่มาจากสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน วิธีการแก้ปัญหาด้วยนโยบายเรียนฟรี 15 ปีหรือแจกของฟรี 5 รายการ เป็นการแก้ปัญหาแบบมองเฉพาะเรื่องค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายบางอย่างเท่านั้น แต่ความจริงแล้วการศึกษามีค่าใช้จ่ายสูงกว่านั้น เช่น ค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่ากินอยู่ ค่าเสียโอกาสในการให้ลูกไปช่วยทำงาน ซึ่งสำหรับคนจนแล้ว เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงจนเขาอาจไม่อยากให้ลูกเรียนต่อ เด็กนักเรียนเองจำนวนมากมีปัญหาเรียนไม่ได้ดี ไม่ชอบโรงเรียนเพราะการสอนและการสอบแบบมาตรฐานเดียว ใครเรียนได้ก็เรียนไป ใครเรียนไม่ได้ก็ออกไป ปัญหานักเรียนถูกสิ่งเย้ายวนใจภายนอกดึงให้อยากออกจากโรงเรียนฯลฯ ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขด้วย ปรับปรุงกระบวนการสอน การเรียน การแนะแนวดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด

ทางองค์กรปกครองท้องถิ่นควรร่วมมือกับทางโรงเรียนติดตามและช่วยเหลือให้ผู้ปกครองต้องส่งเด็กวัยเรียนทุกคนมาเรียนภาคบังคับ 9 ปี และช่วยพัฒนาเด็กที่มีปัญหาให้เรียนได้ตลอดรอดฝั่งถึง 9 ปี (จบมัธยมปีที่ 3) เช่นการให้ทุนเป็นค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมการเดินทางและการกินอยู่ ให้เงินพิเศษครูช่วยสอนเด็กอ่อนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มย่อย พัฒนาครูและเพิ่มนักจิตวิทยา, นักแนะแนว, นักสังคมสงเคราะห์ให้ทำหน้าที่ออกไปตามดูแลเด็กที่ขาดเรียนและมีปัญหาด้านต่างๆ, พัฒนาระบบการแนะแนว, การติดตามป้องกัน/แก้ไขปัญหาเด็กที่มีปัญหาเรียนตามเพื่อนไม่ทัน หรือมีปัญหาอุปสรรคอื่นๆ ที่ทำให้เด็กในวัยเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาหรือต้องออกกลางคันอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป คือต้องเพิ่มงบประมาณกำลังคน พัฒนาโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็กในอำเภอรอบนอกและชุมชนแออัดให้มีครูที่คุณภาพและเอาใจใส่ดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงเพิ่มขึ้น

นโยบายเรียนฟรี 15 ปีที่ให้บริการแก่นักเรียนทุกคนรวมทั้งลูกคนรวยคนชั้นกลาง ไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือมีประโยชน์สูงสุด คนรวยคนชั้นกลางไม่ได้ต้องการของฟรีมากเท่ากับการให้ลูกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ลูกหลานเขาปลอดภัยจากการถูกนักเรียนเกเรรังแก การพนัน ยาเสพติด ปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัย และปัญหาอื่นๆ มากกว่า ดังนั้นรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้การศึกษาฟรีเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งควรจะเพิ่มทุนค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ให้พวกเขาด้วย และจัดสรรงบประมาณอีกส่วนหนึ่งไปแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาต่างๆ ที่เด็กต้องเผชิญ และปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนการดูแลพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้นักเรียนทุกคนรวมทั้งลูกคนรวย คนชั้นกลางได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง

4) ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้/ทักษะที่ใช้งานได้จริงเพิ่มขึ้น การศึกษาขั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คือ การจัดการศึกษาที่สำคัญที่สุด สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ เพราะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ อุปนิสัย ค่านิยม ความฉลาดประชาชนส่วนใหญ่ทั้งที่จะได้เรียนต่อหรือออกไปทำงาน ขณะที่การศึกษาสูงกว่าระดับนี้จะมีคนได้น้อยลงและถ้าการศึกษาพื้นฐานมีคุณภาพต่ำ การศึกษาในระดับสูงขึ้นไป ก็จะมีคุณภาพต่ำตามไปด้วย ดังนั้นควรให้ผู้เรียนได้ความรู้ทักษะขั้นพื้นฐานที่ใช้งานได้ แม้ว่าเขาจะต้องออกไปทำงานโดยไม่ได้เรียนต่อในขั้นสูงขึ้น ก็ควรจะมีความรู้ติดตัวที่เป็นประโยชน์ เช่นเป็นเกษตรกร เป็นคนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่มีประสิทธิภาพขึ้น รู้วิธีที่จะอ่านหนังสือเรียนรู้ต่อด้วยตนเองต่อไปได้

การรู้ภาษาไทยที่ใช้งานได้ดี เป็นพื้นฐานที่จะไปเรียนรู้วิชาอื่นต่อได้อย่างสำคัญ ความรู้เรื่อง สิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบของพลเมือง การเรียนรู้เรื่องอาชีพการงาน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสภาพแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคมก็เป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญ การศึกษาระดับมัธยมในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมหลายประเทศไม่ได้แยกเป็นสายสามัญ สายอาชีวศึกษา สายวิทยาศาสตร์ สายศิลปศาสตร์แบบตายตัว แต่ใช้หลักสูตรที่ยืดหยุ่นเปิดให้นักเรียนที่เลือกเรียนวิชาที่ตนสนใจแบบข้ามสายได้ ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้สัมผัสและเข้าใจถึงความสำคัญของสาขาวิชาต่างๆ อย่างรอบด้านเพิ่มขึ้น

ควรเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีวศึกษาในระดับมัธยมปลายและอนุปริญญา และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา โดยต้องทำให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และจำกัดการขยายตัวเชิงปริมาณของมัธยมสายสามัญและอุดมศึกษาสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ซึ่งควรพัฒนาด้านเพิ่มคุณภาพด้วยเช่นกัน ควรมีทุนสนับสนุนให้นักเรียนที่รายได้ต่ำและเรียนดีพอสมควรได้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น แก้ไขปัญหานักเรียนอาชีวะบางส่วนเกเรและสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดีอย่างเป็นระบบครบวงจร เร่งรัดเรื่องการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันวัดระดับฝีมือแรงงาน การฝึกอบรมยกระดับฝีมือและการผลักดันให้มีการจ่ายค่าตอบแทนแรงงานฝีมือที่สูงขึ้นแบบประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อทำให้คนที่เรียนจบสายอาชีพที่เก่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง และก้าวหน้าในการงานได้ไม่ต่างไปจากคนจบสายสามัญศึกษา

การจะขยายการศึกษาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษาให้ได้ผล ต้องไปช่วยพัฒนาการศึกษาด้านคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ในระดับประถมมัธยมให้น่าสนใจมีคุณภาพ/ประสิทธิภาพขึ้นด้วย การส่งเสริมให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษาได้สนใจเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ สภาพแวดล้อม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้เรียนรู้แบบคิดวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล ฝึกการทดลองทางวิทยาศาสตร์, การทำโครงการ, การศึกษาจากสภาพความเป็นจริงฯลฯ และเพิ่มครูอาจารย์ที่เรียนมาทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยการให้เงินเดือนที่สูงขึ้น รับคนที่จบสายคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์มาเป็นครูโดยให้เข้ารับการฝึกอบรมจิตวิทยาและเทคนิคการสอน 6 เดือน รวมทั้งใช้สื่อการสอนทางด้านอิเล็คโทรนิกส์ การสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและสาขาความรู้ต่างๆ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กเยาวชนประชาชนมีความสนใจความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคและจังหวัดขนาดใหญ่

การจัดการศึกษาที่จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้และทักษะที่นำไปใช้งานได้ในชีวิตจริง นอกจากจะเรียนรู้เรื่องวิชาพื้นฐานที่สำคัญแล้ว นักเรียนควรได้เรียนรู้วิธีที่จะอ่านค้นคว้า เรียนรู้ต่อด้วยตนเอง การมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหา การคิดอย่างสร้างสรรค์ ความรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการและผู้นำ การมีวินัย ความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความรู้ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ การสื่อสารที่ใช้งานได้ ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานและการดำรงชีวิตในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีการแข่งขันและการร่วมมือกันสูง

5) การปฏิรูปการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาต่อเนื่อง

การศึกษาไม่ใช่สำคัญเฉพาะเด็กและเยาวชนในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่สำคัญสำหรับคนที่ทำงานแล้วด้วยไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพราะโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วและสลับซับซ้อน ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าเป็นระบบเศรษฐกิจยุคหลังอุตสาหกรรม หรือระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน ต้องการแรงงานที่มีความฉลาดด้านการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างสร้างสรรค์ แก้ปัญหาได้ดี ปรับตัวได้ดี ติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี มีความฉลาดทางอารมณ์และความฉลาดทางสังคม มากกว่าแรงงานที่มีทักษะฝีมือแบบใดแบบหนึ่งเหมือนในยุคพัฒนาอุตสาหกรรมยุคแรกๆ

ดังนั้น ความสามารถของประชาชนที่จะรักการเรียนรู้และรู้จักวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่นรู้จักหาแหล่งความรู้ อ่านหนังสือแตก เข้าใจจับประเด็นสำคัญได้ คิดวิเคราะห์ต่อประยุกต์ใช้เป็น เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่มากสำหรับคนทำงานทุกคนในโลกยุคใหม่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้มีบทบาทรับผิดชอบการเลี้ยงดูที่ต้องมีความรู้ในการให้การศึกษาที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ดังนั้นการให้การศึกษาแก่พ่อแม่ให้มีความรู้ในเรื่องการทำนุบำรุงเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์และช่วงวัยเด็กเล็กจะช่วยพัฒนาเด็กไทยได้พัฒนาสมองและเรียนรู้ได้ดีขึ้น

 

การศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาต่อเนื่องสำคัญมากยิ่งขึ้นในโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และงานต้องเรียนรู้อะไรใหม่เพิ่มเติมจึงจะสามารถรักษางานของตนหรือหางานใหม่ได้ ทั้งการให้การศึกษาแก่พ่อแม่ผู้ปกครองให้พวกเขาเป็นคนสนใจการอ่าน การเรียนรู้ มีความรู้เพิ่มขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยให้ลูกหลานของพวกเขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วย ผู้ใหญ่เองก็จะได้รับการพัฒนาให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้และรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนและพัฒนาประเทศได้มากขึ้น

การศึกษาต่อเนื่องควรมีทั้งพัฒนาความรู้พื้นฐานและทักษะอาชีพที่เน้นใช้การได้ เช่นการรู้จักดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ ความรู้เรื่องการเลี้ยงดูและสอนเด็กอย่างเข้าใจจิตวิทยาเด็ก ความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง การรู้วิธีจะที่เรียนรู้ด้วยตนเองต่อไป ความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสภาพแวดล้อม การสอนให้ลูกหลานเกษตรกรรู้จักทำการเกษตร วางแผนจัดการฟาร์ม ทำบัญชี การค้า ทำระบบสหกรณ์เป็น สอนลูกหลานคนงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยในเมืองในด้านวิชาชีพและความรู้ความสามารถที่จะไปพัฒนาอาชีพของตนเองได้ เช่นการฝึกเป็นผู้ประกอบการ ฝึกให้ผู้เรียนคิดได้อย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาฯลฯ

ทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน ภาคสังคมประชาหรือองค์กรประชาชนต่างๆ ควรที่จะช่วยกันส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน การใฝ่เรียนรู้ การค้นคว้าจากห้องสมุด อินเตอร์เน็ทและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อย่างเป็นอุปนิสัยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย ต้นทุนต่ำ สำหรับประเทศไทยที่คนยังชอบการเรียนเพื่อได้วุฒิบัตรอยู่ อาจใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้คนไทยสนใจการเรียนรู้ด้วยการพัฒนาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยออนไลน์ที่สอนวิชาต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ทและให้วุฒิบัตรแก่ผู้ที่สอบผ่านการประเมินผล วิทยาลัย มหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนอาชีวศึกษา ควรจัดการศึกษาผู้ใหญ่, การศึกษาต่อเนื่องได้ด้วย ไม่ควรแบ่งงานตามกรมกองให้เฉพาะหน้าการศึกษานอกโรงเรียนหรือตามอัธยาศัยเป็นผู้ผูกขาดทำเรื่องนี้เท่านั้น

คนที่รักการอ่านและเรียนรู้อยู่เสมอจะสนใจและรู้จักดูแลสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองได้ดีกว่า การรักการเรียนรู้ จะช่วยให้คนไม่ล้าสมัย ไม่ตกงานและมีโอกาสจะทำงานได้ดีขึ้น และได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และช่วยพัฒนาปัจจัยที่ช่วยทำให้คนเรามีชีวิตความสุข เช่นการสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับคนอื่นๆ ทักษะในการสื่อสาร การรู้สึกว่าตนเองมีปัญญาที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ควบคุมวิถีชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น จะเป็นคนที่มีโอกาสจะมีสุขภาพดี ที่มีชีวิตที่มีความสุข และประสบความสำเร็จมากกว่า คนที่พอเรียนจบจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้อ่านหนังสือหรือเรียนรู้ต่ออีกเลย

การวิจัยพบว่า คนสูงอายุที่ยังสนใจอ่านหนังสือ ติดตามข่าวสารความรู้ต่างๆ ฝึกใช้ความคิด สนใจเรียนรู้อะไรใหม่ สมองจะเสื่อมช้ากว่า สุขภาพทั้งกายและใจดีกว่าและชราภาพทางจิตใจช้าลงกว่า คนที่ไม่สนใจจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลย

6) ปฏิรูปอุดมศึกษาและการวิจัยพัฒนา

ควรมุ่งผลิตคนที่รักการอ่าน การค้นคว้า คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ได้ คิดอย่างมีเหตุผล มีข้อมูลและวิชาการเชิงประจักษ์ทดลอง พิสูจน์ได้ รู้วิธีเรียนรู้ต่อ วิธีการค้นคว้า วิจัยด้วยตนเอง เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยในปัจจุบันเติบโตเชิงปริมาณ มากกว่าคุณภาพ เป็นสถาบันที่สอนความรู้ทั่วไปและทักษะวิชาชีพจากตำรา เพื่อท่องจำและไปสอบ หรือฝึกทักษะภาคปฏิบัติบ้าง มากกว่าผลิตบัณฑิตที่เป็น ปัญญาชนที่มีทั้งความรู้ทักษะใช้งานได้และเข้าใจภาพใหญ่ความสัมพันธ์ของทุกสาขาวิชาในสังคม รวมทั้งมีจิตสำนึกเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบเพื่อส่วนรวม

ในแง่สาขาวิชา ควรเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะสร้างสรรค์ สภาพแวดล้อมศึกษามากขึ้น ทั้งในแง่การวิจัยและการสอน เพราะปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาของไทยขยายตัวเชิงปริมาณด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มากเกินไปและมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ การวิจัยและการสอนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ก็สำคัญเช่นเดียวกัน แต่ต้องปฏิรูปให้มีคุณภาพแบบวิเคราะห์เจาะลึก มีมุมมองแบบพหุวิทยาการเข้าใจปัญหาความเชื่อมโยงของเรื่องทุกเรื่องในสังคมอย่างเป็นระบบองค์รวม มากกว่าการเรียนรู้แบบแยกส่วน ที่เน้นการท่องจำจากตำราหรือ การฝึกทักษะสำหรับค้นคว้าวิจัย ควรเน้นเรื่องเศรษฐกิจการเมือง สังคมวัฒนธรรมไทยมากขึ้น โดยการเรียนรู้ทั้งจากภูมิปัญญาท้องถิ่น,          ภูมิปัญญาตะวันตกและประเทศอื่นๆมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทย

6.4 สรุป

การปฏิรูปการจัดการศึกษาของรัฐบาลแบบเพิ่มโครงการต่างๆเป็นการมองและแก้ปัญหาแบบแยกส่วนซึ่งจะช่วยพัฒนาคนบางกลุ่มได้บางจุดบางประเด็นเท่านั้น การปฏิรูปการศึกษาตามแนวนี้ยังติดอยู่ในกรอบความคิดของการมุ่งการคัดเลือกพัฒนาคนเก่งส่วนน้อยไปแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดโลกด้านเดียว การปฏิรูปการศึกษาที่ถูกทางต้องจัดการศึกษาที่ดีเพื่อประชาชนทุกคนให้ได้พัฒนาศักยภาพของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่และสนองกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ เช่น สอนให้ลูกหลานเกษตรกรรู้จักทำการเกษตร วางแผนจัดการฟาร์ม ทำบัญชี การค้า ทำระบบสหกรณ์เป็นการส่งเสริมคนที่เป็นพ่อแม่มีช่องทางทำมาหากินในท้องถิ่นของตน โดยไม่ต้องอพยพไปหางานทำในเมือง เพื่อช่วยพัฒนาสถาบันครอบครัวและชุมชนให้เข้มแข็ง  มีการให้ความรู้และสอนลูกหลานคนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยในเมืองด้านฝึกอาชีพและพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างแท้จริง รวมทั้งการฝึกเป็นผู้ประกอบการ ฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหามากกว่าเน้นการเรียนวิชาสามัญแบบท่องจำอย่างที่ผ่านๆ มา ซึ่งคนที่เรียนจบไปแล้วคิดและทำอะไรไม่เป็น แถมยังมีทัศนคติแบบอยากทำงานสบายมากกว่างานที่ต้องทุ่มเทด้วย ส่วนการจัดการศึกษาให้คนเก่งได้พัฒนาศักยภาพสูงสุดในการศึกษาระดับสูงและในการวิจัยและพัฒนา ก็ควรทำควบคู่กันไป

ประเด็นที่สำคัญ คือการมุ่งทำให้ประชาชนเข้าใจและตื่นตัวว่าการจัดการศึกษาในประเทศไทยมีปัญหาถึงขั้นวิกฤติที่เป็นสาเหตุทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศก้าวไปไม่ได้ ดังนั้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองครั้งใหญ่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น จึงเป็นทางออกถ้าไม่ต้องการให้การพัฒนาของประเทศตกต่ำมากไปกว่านี้ การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงจะเกิดได้ต่อเมือเราช่วยกันทำให้ประชาชนและชุมชนตื่นตัวเข้ามาช่วยกันเรียกร้องรณรงค์เรื่องการปฏิรูปการศึกษา จึงจะเกิดพลังมากพอที่จะผลักดันให้ผู้บริหารประเทศต้องดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลอย่างแท้จริง

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@


16 PISA 2009 RESULTS : LEARNING TRENDS-V.5,  www.oecd.org

 

 

4 responses to “บทที่ 6 เป้าหมายและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล:รายงานสภาวะการศึกษาฯปี 52-53

  1. ธรรมรงศักดิ์ รังาม

    เมษายน 29, 2012 at 9:10 am

    ยอดเยี่ยมครับ…จะทำอย่างไรให้สิ่งที่อาจารย์นำเสนอ สู่การปฏิบัติจริง อันจะส่งผลให้เด็กของเราไม่ถูกทำร้าย ด้วยการหน่วงเหนี่ยว กักขัง แล้วทำลายด้วยการให้ท่องจำ สอบหรือประเมินแบบทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขาเองโง่ (ไร้ค่า) … และขอความอนุเคราะห์ช่วยตั้งชมรม….. ที่จำนำผลงานของอาจารย์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม.. ผมขอสมัครเป็นสมาชิกชมรมฯ และร่วมดำเนินการ ล่วงหน้าครับ…
    ธรรมรงศักดิ์ รักงาม 083-874-5955, 056-324915

     
  2. ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

    พฤษภาคม 8, 2012 at 11:39 am

    ในความคิดของประธา่นชมรมฯนะค่ะ คิดว่าต้องอาศัยครูคนแรกของลูก ..คือพ่อกับแม่ค่ะที่จะเป็นผู้ปูทางแนวความคิด และการศึกษาให้แก่ลุกแต่ไม่ได้หมายถึงการแข่งขันทางการศึุกษาของพ่อกับแม่นะค่ะ..และต่อไปลูกจะรู้จักคิดได้และคิดเป็นค่ะ

     
  3. เด็กน้อย

    มิถุนายน 26, 2012 at 11:46 pm

    บทที่่6นี้เปรียบเหมือนผลสัมฤิทธิ์มั๊ยคะ

     
  4. ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

    กรกฎาคม 4, 2012 at 10:53 am

    ค่ะ

     

ใส่ความเห็น