RSS

บทที่ 1 การเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย และสถานะของประเทศไทยในระบบโลก (รายงานสภาวะปี51-52)

14 พ.ย.

บทที่ 1  การเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย และสถานะของประเทศไทยในระบบโลก 

            บทนี้ต้องการเสนอสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาและโอกาสในการได้รับการศึกษาของคนไทย เนื่องจากผู้วิจัยเห็นว่าการจะเข้าใจสภาวะการจัดการศึกษาประเทศไทยได้อย่างเห็นภาพใหญ่ เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องบริบททางสังคม (รวมทั้งเศรษฐกิจและการเมือง) และบริบทของประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกด้วย

ในขณะเดียวกัน การจัดการศึกษาโดยตัวของมันเองก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอย่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างต่อเนื่องด้วย การที่สภาวะทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมไทยในปัจจุบันได้เกิดปัญหาขึ้นในหลายด้าน และประเทศไทยถูกองค์กรระหว่างประเทศจัดอันดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นที่มีประชากรและทรัพยากรอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน รวมทั้งมีอันดับต่ำลงจากเมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมาในหลายด้าน สะท้อนว่า ประเทศไทยยังจัดการศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความฉลาดและสำนึกเพื่อส่วนรวมได้ไม่ดีพอ การปฏิรูปการศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนทั้งประเทศ เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพของประชาชน ให้ไปช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมประเทศอื่นเขาได้

1.1  สภาวะการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยช่วงปี 2551 – ครึ่งแรกของปี

2552

สภาวะการเมือง

สภาวะการเมืองในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีความไม่มั่นคงสูง มีการประท้วง การ

ฟ้องร้องว่าพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งจนต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีศึกษาธิการถึง 3 ครั้ง ในช่วง 1 ปีเศษ ๆ

            ในปลายปี 2550 รัฐบาลชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารในเดือนกันยายนปี 2549 ได้จัดให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และผู้ไปออกเสียงลงประชามติส่วนใหญ่ยอมรับ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป      

ผลการเลือกตั้งทั่วไปปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยที่ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ถูกยุบไป(ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550) ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด แต่ได้เสียงลดลง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงได้ร่วมมือกับพรรคอื่น ๆ 5 พรรคจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในต้นปี 2551 โดยมีนายสมัคร สุนทรเวชหัวหน้าพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงส่วนใหญ่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี การที่คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของนักการเมืองระดับนำของพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งการเมือง และการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ในอีก 7 เดือนต่อมา ไม่ได้มียุทธศาสตร์และความสามารถในการบริหารประเทศที่เด่นชัด และแก้ปัญหาใหญ่ ๆ เช่น ค่าครองชีพสูงอันเกิดจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น แต่เกษตรขายข้าวได้ราคาต่ำฯลฯ ได้ผลน้อย

            ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชนก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ กรณีที่พยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ถูกศาลอายัดทรัพย์สินและดำเนินคดีฉ้อโกงหลายคดี) กรณีการไปรับรองให้รัฐบาลกัมพูชายื่นองค์การยูเนสโก้ขอจดทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว และกรณีมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบอื่น ๆ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นองค์กรประชาชนที่ระดมคนมาชุมนุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มแข็งในช่วงปี 2549 และลดบทบาทไปในยุครัฐบาลรักษาการพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เริ่มกลับมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2551 โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนหนึ่ง สามารถชุมนุมต่อเนื่องได้ทุกวันอย่างยืดเยื้อ

ในเดือนกันยายน 2551 ศาลได้ตัดสินว่านายสมัคร สุนทรเวช ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีไปจัดรายการโทรทัศน์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้นายสมัคร สุนทรเวชต้องพ้นสภาพจากการเป็นนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมากได้เลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์จากพรรคพลังประชาชนมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯไปชุมนุมปิดล้อมหน้ารัฐสภาและกองกำลังตำรวจใช้อาวุธสลายมวลชนแบบรุนแรงเกินเหตุ ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน การชุมนุมปราศรัยประท้วงรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯคงดำเนินต่อไป

            ในเดือนธันวาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯเดินทางไปชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ที่หน้าสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ  โดยรัฐบาลไม่ได้หาวิธีป้องกันและแก้ปัญหาหาทางออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตัดสินใจสั่งปิดสนามบิน โดยไม่มีการเปิดเจรจาหาทางออกอื่น ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ ประเทศไทยในช่วงดังกล่าวอยู่ในสภาพที่มีความขัดแย้งแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วที่มีพลังใกล้เคียงกันอย่างรุนแรงจนดูเหมือนไม่มีทางออก จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศตัดสินคดีที่คณะกรรมการเลือกตั้งยื่นฟ้องว่าพรรคการเมืองทุจริตเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2551 รวม 3 พรรค คือพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยว่าผิดจริง เป็นผลให้นายกรัฐมนตรีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 ที่ถูกศาลสั่งยุบพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิในการลงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนอื่น ๆ สามารถย้ายไปอยู่พรรคอื่นหรือพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ได้

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยร่วมรัฐบาลกลุ่มหนึ่งที่แยกย้ายไปตั้งพรรคใหม่ได้เปลี่ยนนโยบายหันไปร่วมมือสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้การเมืองตั้งแต่ต้นปี 2552 พลิกขั้วไปเป็นรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชาชนเดิม ไปสังกัดพรรคใหม่ชื่อพรรคเพื่อไทย กลายเป็นฝ่ายค้าน

กลุ่มพันธมิตรฯเลิกชุมนุม แต่เกิดกลุ่ม “เสื้อแดง” ที่สนับสนุนฝ่ายอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรออกมาชุมนุมคัดค้านต่อต้านรัฐบาลประชาธิปัตย์แทน

ในครึ่งแรกของปี 2552 รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญกับปัญหาการชุมนุมประท้วงของ “กลุ่มเสื้อแดง” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกฯทักษิณอย่างโจ่งแจ้ง ปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมจากพรรคซีกที่เคยอยู่ฝ่ายทักษิณ ชินวัตรและปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเมืองไทยในช่วงปี 2551-2552 วนเวียนอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง ที่นักการเมืองและผู้สนับสนุนส่วนใหญ่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของตนมากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ ทหาร บางช่วงเลือกเข้าข้างรัฐบาล บางช่วงก็อยู่เฉย ๆ ไม่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

ในช่วงที่มีการประชุมผู้นำอาเซียนบวก 5 ที่เมืองพัทยาในช่วงสงกรานต์เดือนเมษายน 2552 ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถบริหารจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงของ “กลุ่มเสื้อแดง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยให้รถยนต์คันที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ นั่งไปร่วมประชุมถูกผู้ชุมนุม “กลุ่มเสื้อแดง” กลุ้มรุมทุบและพยายามทำร้ายคนที่อยู่ในรถ ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้บุกเข้าไปในโรงแรมที่มีการจัดประชุมผู้นำอาเซียนได้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารไม่ได้ป้องกันขัดขวางกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องประกาศเลื่อนการประชุมกลุ่มผู้นำอาเซียนบวก 5 ออกไป เป็นข่าวใหญ่ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของรัฐบาลไทยไปทั่วโลก

หลังจากเหตุการณ์รุนแรงในเดือนเมษายน 2552 แล้ว สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้สงบลงบ้าง และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสมานฉันท์เพื่อพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกฝ่าย แต่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศก็ยังดำเนินต่อไป เช่นการเคลื่อนไหวและชุมนุมประท้วงเป็นระยะ ๆ ของ “กลุ่มเสื้อแดง” กรณีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน และความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเอง ในกรณีรัฐมนตรีบางพรรคทำโครงการจำนำข้าวและโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน ซึ่งถูกประชาชนฝ่ายต่าง ๆ วิจารณ์ว่ามีลักษณะส่อการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง

ฯลฯ ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหลายทั้งปวงนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางการเมืองของประเทศไทยที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนาทางการศึกษา

            สภาวะเศรษฐกิจ1

            เศรษฐกิจไทยในรอบปี 2551 ขยายตัว(GDP เพิ่มขึ้น) 2.6% เมื่อเทียบกับ 4.9% ในปี 2550 ถือว่าชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในปี 2551 และการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2551 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสูง เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการสั่งเข้าน้ำมันและพึ่งพาการส่งออกและสั่งเข้าเป็นสัดส่วนสูง ปัญหาความไม่เข้มแข็งของรัฐบาล(ทุกรัฐบาลในช่วงปี 2551-2552) และความไม่มั่นคงทางการเมือง อันเนื่องมาจากการชุมนุมประท้วงของประชาชนและการขาดประสิทธิภาพในการจัดการแก้ไขปัญหา เช่นบางครั้งรุนแรงไปจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่หน้ารัฐสภา บางครั้งหย่อนยาน เช่นรีบประกาศปิดสนามบินนานาชาติปล่อยให้คนชุมนุมบุกเข้าไปในที่ประชุมระหว่างชาติได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลในสายตาของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และมีผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมที่เป็นธุรกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศที่สำคัญธุรกิจหนึ่งของไทย

            ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2541 วิกฤติการเงินและวิกฤติภาวะถดถอยในสหรัฐฯซึ่งลามไปทั่วโลก เริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกและการสั่งเข้ากับสหรัฐฯและประเทศอื่นที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ของปี 2551 ติดลบจากไตรมาสก่อน 4.3% และในไตรมาสต่อมาคือไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2552 ติดลบจากไตรมาสก่อน 7%

รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจงวดแรกราว 1 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และงวด 2 ที่เรียกว่า “มาตรการไทยเข้มแข็ง” อีกราว 1.4 ล้านล้านบาท (เป็นเงินกู้ 8 แสนล้านบาท) เพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีครึ่ง รัฐบาลคาดว่าลงทุนโดยภาครัฐด้วยงบพิเศษจำนวนมากนี้จะสามารถกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมการลงทุน การผลิตการจ้างงาน และป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยไปมากกว่านี้ได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการแจกเงินแจกของแบบประชานิยมและการลงทุนทางด้านการก่อสร้างเพื่อการคมนาคม การเกษตร การสาธารณสุข การศึกษาและอื่น ๆ ซึ่งคงทำให้เพิ่มการใช้จ่ายและเพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้ประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศจริงจังแค่ไหนเพียงไร

การที่รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2552 ลดลงอย่างค่อนข้างเด่นชัด(ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภายนอกคือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการเกิดโรคไข้หวัดสายพันธ์ 2009 ระบาดไปทั่วโลก) เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2552 มีการลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการส่งออกลดลง และการว่างงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ2  นักเศรษฐศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยในรอบปี 2552 ทั้งปีน่าจะติดลบ(คือมีมูลค่า GDP ต่ำกว่าปี 2551) อยู่ที่ 3.5-4%

ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย มีผลให้รัฐบาลมีรายได้การเก็บภาษีลดลงจากปีก่อน แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายกู้เงินภายในประเทศมาเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น และรัฐบาลจัดให้การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ งบการจัดการศึกษาภาครัฐจึงยังคงถูกจัดสรรให้อยู่ในระดับสูง (แม้จะลดลงมาบ้างเล็กน้อยในปีงบประมาณ 2553) การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งมาอุดหนุนค่าใช้จ่าย การศึกษาระดับพื้นฐาน 5 รายการ เป็นเงินรวมราว 19,000 ล้านบาทในช่วงเปิดภาคการศึกษาปี 2552 ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้ประชาชนได้บ้าง แต่การส่งลูกไปเรียนหนังสือยังมีค่าใช้จ่ายอื่น เช่นค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่ม ดังนั้นในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปลายปี 2551 ถึงตลอดปี 2552 ทำให้ประชาชนที่มีปัญหาตกงานหรือรายได้ลดลง มีปัญหาเรื่องมีรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาลูกหลานได้ลดลง

สภาวะสังคม3

การจ้างงานโดยรวมในปี 2551 ขยายตัวจากปี 2550 ได้ร้อยละ 2.1 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการผลิตในช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่ในเกณฑ์ดีและภาคเกษตรช่วยดูดซับแรงงานจากภาคอื่น แต่ผลิตภาพแรงงานในสาขาเกษตรค่อนข้างต่ำกว่าสาขาอื่น (และต่ำกว่าประเทศอื่น) เนื่องจากยังขาดการพัฒนาด้านการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีทางการเกษตร การบริหารจัดการด้านการเงินและการตลาด รวมทั้งขาดการยกระดับการศึกษาของแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2551 ทำให้ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในเดือนเมษายน ปี 2552 มีผู้ว่างงาน 8.2 แสนคน เป็นคนที่เคยทำงานแต่ขณะนี้ว่างงาน 6.0 แสนคน และแรงงานที่ยังไม่มีงานทำ 2.2 แสนคน น่าสังเกตว่าจากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดนั้น เป็นคนมีการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด 2 แสนคน รองลงมาคือคนมีการศึกษาระดับมัธยมปลายและระดับประถมศึกษากลุ่มละ 1.9 แสนคน ส่วนคนจบมัธยมศึกษาตอนต้นและประถมศึกษาและต่ำกว่ามีอัตราการว่างงานน้อยกว่า4  ตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าจะมีการเลิกจ้างงานเพิ่มและมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.5-3.5 ของแรงงานทั้งหมด หรือมีผู้ว่างงานประมาณ 9 แสน – 1.3 ล้านคน

ในปี 2551-2552 ระดับการศึกษาของแรงงานไทยดีขึ้นเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากการขยายการศึกษาภาคบังคับ แต่แรงงานส่วนใหญ่คือเกินครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดก็ยังมีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า (ดูรายละเอียดในบทที่ 2) โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี น่าจะเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยได้รับบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นบ้าง แต่โครงการนี้ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานของเด็กจากครอบครัวยากจนและเด็กด้อยโอกาสที่ยังขาดแคลนค่าใช้จ่ายส่วนอื่น เช่นค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ รวมทั้งมีปัญหาค่าเสียโอกาสในการทำงานช่วยเลี้ยงดูครอบครัว ปัญหาความยากจนและอื่น ๆ เช่นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยทั้งในโรงเรียนและสังคมภายนอก ทำให้เด็กวัยเรียนโดยเฉพาะระดับชั้นมัธยม/อาชีวศึกษาต้องละทิ้งการเรียนกลางคัน ไม่อาจเรียนจนครบ 15 ปีได้เป็นสัดส่วนสูง

ด้านการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของประชาชนไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ประเภท โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือในปี 2551 เพิ่มจากปี 2547 เกือบเท่าตัว คือปี 2551 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 31.86 ล้านคน ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 16.99 ล้านคน และอินเทอร์เน็ต 6.97 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปร้อยละ 18.2 ของประชากรทั้งหมด)5  การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของประชาชนไทยยังมีสัดส่วนต่อประชากรที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประเทศไทยมีการพัฒนาเครื่องโทรศัพท์พื้นฐานต่ำ คนไทยมีระดับการศึกษา, รายได้ต่ำ และสนใจเรื่องการศึกษาหาความรู้ข้อมูลข่าวสารน้อย

ด้านสุขภาพของประชาชน มีผู้เจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น เนื่องจากมีฝนตกชุกในช่วงปลายฤดูและสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าทุกปี การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรคที่พบมากและมีอาการรุนแรงขึ้นได้แก่ โรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก พฤติกรรมและแบบแผนการดำรงชีวิตส่งผลให้การเจ็บป่วยด้วยโรคป้องกันได้เพิ่มขึ้น อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็ง หัวใจ ความดันโลหิตและโรคเบาหวาน 4 โรครวมกันคิดเป็นเกือบ 6 เท่าของผู้ป่วยโรคเฝ้าระวังในปี 2551 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธ์ 2009 เพิ่มขึ้น ทำให้เสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เช่นมีโรงเรียนหลายแห่งต้องถูกสั่งปิดอยู่ช่วงหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ขยายระบาดของไข้หวัดใหญ่ การท่องเที่ยวลดลง

ความเครียดจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เน้นการแข่งขันและการไม่มีระบบประกันสังคมสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่นความเครียด, ความวิตกกังวลสูง, อารมณ์แปรปรวน, อาการผิดปกติทางจิต, การคิดฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้น การสำรวจของกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขในปี 2551 พบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณร้อยละ 6-12 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านและรับผิดชอบดูแลบ้านและครอบครัว, ลูกจ้าง พนักงาน กรรมกรที่มีรายได้ไม่แน่นอน6 เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะวัยรุ่นมีปัญหาด้านสุขภาพจิตและปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้นด้วย7โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพหรือการทำงานส่วนใหญ่ในอาชีพภาคอุตสาหกรรม และโรคจากพิษสารเคมีในภาคเกษตรก็ยังมีอยู่จำนวนมาก

ความมั่นคงทางสังคม

ปัญหาการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาและเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่กลางปี 2551 น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น คดีโจรกรรมรถจักรยานยนต์มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77.5 ในไตรมาสสี่ของปี 2551 คดียาเสพติดมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีปัญหากลุ่มมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสหลอกลวงผู้ที่ต้องการหางานทำ ด้านการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนลดลงเกือบทุกประเภทยกเว้นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ในปี 2551 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จำนวนอุบัติเหตุจราจรทางบกในปี 2551 ลดลงเล็กน้อย แต่มูลค่าความเสียหายทรัพย์สินเพิ่มขึ้น

ปัญหาความรุนแรงใน 4 จังหวัดภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะได้ส่งกำลังทหารเข้าไปหลักหมื่นและใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมตลอดทั้งช่วง 5 ปีเป็นเงินมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีเรื่องการวางระเบิดและการลอบสังหารเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นระยะ ๆ และบางช่วงก็มีเหตุการณ์รุนแรงมาก รวมทั้งโรงเรียนและครูก็ยังเป็นเป้าหมายหนึ่งของการก่อความรุนแรง โรงเรียนต้องปิดหยุดการสอนเป็นระยะ ๆ และมีครูที่ถูกลอบทำร้ายเสียชีวิตและบาดเจ็บมาโดยตลอด

มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน ค่าใช้จ่ายการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบของครัวเรือนโดยรวมลดลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย8 เนื่องจากประชาชนระมัดระวังลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นจากการใช้กฎหมายใหม่ที่ให้สิทธิและอำนวยความสะดวกในหลายด้าน แต่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการขายตรงและตลาดแบบตรงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ด้านพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนยังคงมีปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งการใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่รุนแรงมากขึ้น สาเหตุจากการถูกกระทำหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เห็นความรุนแรง รวมทั้งการได้รับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ และการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ที่เน้นการต่อสู้ ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเด็กมีความรู้สึกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เคยเข้าใจปัญหาความกังวลของเด็ก ไม่รักไม่ดูแลเอาใจใส่9

ด้านสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศที่แปรปรวนเนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ปี 2551 มีฝนตกชุกและเกิดอุทกภัยต่อเนื่อง ภาคใต้ได้รับความเสียหายมาก นอกจากนี้ในฤดูหนาวหลายพื้นที่ของประเทศประสบภัยหนาว อุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติ คุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นยกเว้นแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เสื่อมโทรมมาก สาเหตุหลักมาจากน้ำทิ้งจากชุมชนโดยไม่มีการบำบัด สถานการณ์ไฟป่าลดลงในปี 2551 เพราะปรากฏการณ์ลานินญ่า ทำให้มีฝนตกกระจายในช่วงฤดูแล้ง แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นในปี 2552 เนื่องจากปริมาณเชื้อเพลิงสะสมในป่าเบญจพรรณเพิ่มขึ้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครและจังหวัดสระบุรียังคงมีปัญหาระดับเสียงเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ส่วนปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลงในเกือบทุกพื้นที่

            1.2 เปรียบเทียบสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยในระบบโลก

            เนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก ต้องพึ่งพาร่วมมือและแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ เพื่อการอยู่รอดและการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของตนเอง การเปรียบเทียบสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยกับประเทศอื่นจะช่วยทำให้เราได้มองเห็นตัวเองว่าประเทศไทยได้พัฒนาคุณภาพประชากรของตนได้มากน้อยเพียงไรเมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดและทรัพยากรใกล้เคียงกัน

            อันดับของขนาดและฐานะทางเศรษฐกิจของไทย

            ในแง่ของประชากรที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ไทยเป็นประเทศที่มีประชากรในปีพ.ศ.2551 ใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก10  เล็กกว่าฝรั่งเศสนิดหน่อย แต่ใหญ่กว่าอังกฤษ อิตาลี เปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลกราว 200 ประเทศ ต้องถือว่าไทยเป็นประเทศขนาดกลาง ไม่ใช่ประเทศเล็ก แต่ทั้ง 3 ประเทศในยุโรปที่มีขนาดประชากรใกล้เคียงกับไทยนั้น แต่ละประเทศมีขนาดเศรษฐกิจ(ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP) ใหญ่กว่าไทยราว 10 เท่า

ไทยมี GDP ตามตัวเลขทางบัญชี(Nominal) ในปีพ.ศ.2551 เป็นมูลค่า  272,100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 35 ของประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำลงจาก 3 ปีก่อน(พ.ศ.2548) ที่ไทยเคยอยู่อันดับที่ 22 ของโลก11  แสดงว่าในช่วงแค่ 3 ปีมีประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและอื่นได้สูงกว่าไทยจนแซงไทยไปได้ถึงสิบกว่าประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดประชากรน้อยกว่าไทย

            ถ้าคำนวณโดยใช้เกณฑ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ปรับตามค่าครองชีพ (Purchasing Power Parity-PPP) แล้ว ไทยอยู่อันดับที่ 24 เพราะประเทศกำลังพัฒนามีค่าครองชีพต่ำ ตัวเลข GDP ของประเทศกำลังพัฒนาจึงดีกว่าสถิติตามตัวเลขที่เป็นทางการ (Nominal) เปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลก ไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ใหญ่ระดับปานกลาง แต่มูลค่า GDP เมื่อหารด้วยจำนวนประชากรออกมาเป็น GDP Per capita หรือ GDP ต่อหัวประชากร ของไทยนั้นอยู่เกณฑ์ที่ต่ำ อยู่อันดับที่ 9212 (ลดลงจากอันดับ 72 เมื่อ 3 ปีก่อน) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ

            ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

            มีการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ที่ทำมาหลายปีและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง โดยองค์กรทางธุรกิจระหว่างชาติ 2 แห่ง คือสถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการ (Institute for Management Development : IMD) และ World Economic Forum

            IMD เลือกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันเฉพาะประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่หรือประเทศรายได้ปานกลางราว 50-55 ประเทศ เน้นการใช้ดัชนีชี้วัดในเรื่องความสามารถของประเทศในการบริหารจัดการ ความสามารถและทักษะความชำนาญต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการปรับตัวเพื่อรับตลาดเสรี หรือเพื่อแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก

การจัดอันดับของ IMD ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกจัดอันดับสมรรถนะหรือความสามารถในการแข่งขันอยู่กลาง ๆ ค่อนไปทางท้าย โดยเปรียบเทียบแล้วอยู่ต่ำกว่าสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกงและมาเลเซียมาตลอด การจัดลำดับประเทศไทย โดย IMD ในปีค.ศ.2007(พ.ศ.2550) ให้ไทยอยู่อันดับที่ 33 จาก 51 ประเทศ  แต่ปี 2008 และ 2009 ได้อันดับดีขึ้นเป็น 27 และ 26 ตามลำดับ13

IMD วิเคราะห์องค์ประกอบ 4 ด้านและนำมาเฉลี่ยเป็นคะแนนรวม สำหรับไทยได้คะแนนด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจดีที่สุด รองลงมาคือสมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาครัฐ และสมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจตามลำดับ แต่ไทยได้คะแนนสมรรถนะด้านโครงสร้างพื้นฐาน(รวมทั้งพลังงาน การสื่อสาร โทรคมนาคม การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สุขภาพและสภาพแวดล้อม) ต่ำ หรือถือเป็นจุดอ่อนที่สุดใน 4 ด้าน

เมื่อพิจารณาเรื่องสมรรถนะด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย กลุ่มโครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์เป็นจุดอ่อนที่สุด รองลงมาคือโครงสร้างเทคโนโลยี สุขภาพและสภาพแวดล้อม การศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ตามลำดับ ทั้งนี้ เกณฑ์ที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดคือ การลงทุนด้านสุขภาพเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จำนวนบุคลากรด้านการแพทย์น้อย การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตน้อย สมรรถนะการศึกษาโดยรวมของไทยอยู่ในอันดับท้าย ๆ คือประมาณ 40 กว่าจาก 55 ประเทศ

ส่วน World Economic forum ซึ่งพิจารณาการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในขอบเขตที่กว้างขวางถึง 134 ประเทศ ใช้ดัชนีชี้วัดในด้านสถาบันภาครัฐและเอกชน นโยบายและปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งในระยะปัจจุบันและระยะกลาง เน้นเรื่องประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งเรื่องของการศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรม  

World Economic Forum จัดอันดับปีค.ศ.2008-2009 (พ.ศ.2551-2552) ให้ไทยอยู่อันดับที่ 34 จาก 134 ประเทศ ตกอันดับจากอันดับที่ 28 ของการจัดอันดับปีที่แล้ว แต่ 2-3 ปีก่อนหน้านั้นไทยก็อยู่อันดับ 33, 3514

เปรียบเทียบเกณฑ์ในการจัดอันดับของ 2 องค์กรนี้ World Economic Forum จะมองความสามารถของประเทศทุกด้านที่กว้างกว่า IMD ซึ่งมักเน้นเรื่องความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ การที่รัฐบาลและระบบเศรษฐกิจเอื้อต่อตลาดเสรี ดังนั้นการที่ IMD จัดอันดับประเทศไทยให้สูงขึ้นในปี 2551-2552 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยเปิดตลาดเสรีให้ต่างชาติมากขึ้น ส่งออกสั่งเข้ามากขึ้น ขณะที่ World Economic Forum ให้อันดับไทยในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าที่ IMD ให้นั้นน่าจะเป็นเพราะเขาวิเคราะห์ว่าการพัฒนาทั้งระบบของไทยยังมีปัญหา

ผู้วิจัยเห็นว่าการจัดอันดับของ World Economic Forum น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยต้องพิจารณาตัวเราเองในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นอย่างจริงจัง มากกว่าพอใจแค่การจัดอันดับของ IMD และเราควรจะพิจารณาดัชนีด้านการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย ประเทศจึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาทางสังคม

ดัชนีการพัฒนามนุษย์(Human Development Index) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP จะมองกว้างกว่าเรื่องเศรษฐกิจ โดยใช้ดัชนีชี้วัดรายได้ต่อหัวร่วมกับปัจจัยการพัฒนาด้านสังคม เช่นการศึกษา สาธารณสุข การเมืองและอื่น ๆ ด้วย ประกาศล่าสุดของ UNDP เมื่อเดือนธันวาคม 2551 (แต่ใช้ข้อมูลการสำรวจเมื่อปี 2549) ให้ไทยมีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่อันดับที่ 8115 ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยมีการพัฒนาด้านสังคมหรือคุณภาพมนุษย์ต่ำกว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (ที่วัดเชิงปริมาณแบบภาพรวม) และน่าสังเกตว่าอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยตกต่ำมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อปี 2541 ไทยเคยมีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่อันดับที่ 59

ดัชนีการศึกษา (Education Index) เป็นดัชนีหนึ่งที่ UNDP นำไปใช้ในคำนวณภาพรวมดัชนีการพัฒนามนุษย์ ดัชนีการศึกษาคำนวณจากอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่, สัดส่วนของเด็กวัยเรียนที่ได้รับการศึกษาระดับประถมถึงอุดมศึกษา สถิติในปี 2551 ดัชนีการศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 68 ค่อนข้างไปทางต่ำ เท่ากับอัลบาเนีย ซีเชลล์ส และเวเนซูเอล่า16

ส่วนดัชนีอัตราการรู้หนังสือของประชากร (Literacy Rate) ของไทยอยู่อันดับที่ 7617  นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับขนาดและสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ สถิติของ IMD รายงานว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ไม่รู้หนังสือมีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 ของประชากรทั้งหมดในปี 2545 เป็นร้อยละ 7.4 ในปี 255018  และผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวบรรยายวันที่ 24 มีนาคม 2552 ว่าผู้ใหญ่ไทยที่ไม่รู้หนังสือมีมากกว่า 3 ล้านคน19

การทดสอบเปรียบเทียบความสามารถในการอ่าน (ภาษาแม่ของเด็กแต่ละชาติ) และความสามารถทางคณิตศาสตร์ ที่มีชื่อย่อว่า PISA โดยองค์การ OECD ในปี 2550 เด็กไทยอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำสุด คือต่ำกว่าคะแนนถัวเฉลี่ย (BELOW AVERAGE) และในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนต่ำสุดนี้ไทยอยู่กลาง ๆ ค่อนไปทางท้าย20 เด็กในประเทศในเอเชียที่ทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงสุดด้านการอ่าน คือเกาหลีใต้ ด้านคณิตศาสตร์ คือไต้หวัน รองลงมาทั้ง 2 ด้าน คือฟินแลนด์ เด็กในเอเชียที่ได้คะแนนคณิตศาสตร์สูงกว่าถัวเฉลี่ยนอกจากไต้หวันแล้ว ก็มีฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตามลำดับ21  การวิจัยพบว่า ประเทศที่จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพสูง นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยในวิชาสำคัญ ๆ สูง ประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าประเทศที่จัดการศึกษาได้มีคุณภาพต่ำ

เปรียบเทียบ ดัชนีปลอดการคอร์รัปชั่น โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (International Transparency Organization) ซึ่งจัดอันดับจากประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดไปถึงประเทศที่มีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นมากที่สุดตามลำดับ ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ดัชนีปลอดการคอร์รัปชั่นในปี 2549 อยู่ลำดับที่ 59 และตกอันดับไปอยู่ที่ 80 ในปี 2551 (ความจริงอยู่ที่ลำดับ 84 ด้วยซ้ำ เพราะลำดับ 80 มี 5 ประเทศและไทยอยู่หลังสุด)22  ปัญหาคอรัปชั่นเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาอย่างสำคัญ หากมีการจัดการศึกษาให้คนมีความซื่อสัตย์มีคุณธรรม มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมได้ ก็จะลดปัญหาคอรัปชั่นได้

             ข้อน่าสังเกตคือ นอกจากประเทศไทยในปัจจุบันจะมีสถานะการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าประเทศอื่นที่มีประชากรและทรัพยากรในระดับใกล้เคียงกันแล้ว อันดับของไทยในดัชนีหลายด้านยังตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าไทยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาได้น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาได้มากกว่าและแซงหน้าไทยขึ้นไป ถ้าคนไทยไม่หาทางปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจสังคมให้ได้ผลอย่างจริงจัง เป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะยิ่งมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสังคมเพิ่มขึ้นและอันดับความสามารถในการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมเมื่อเทียบกับประเทศในโลกลดต่ำลงไปจากปัจจุบันได้อีก

 

 


1 ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  WWW.NESDB.GO.TH

2 ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมหดตัวร้อยละ 10 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การส่งออกหดตัวร้อยละ 26 ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2552

3 ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จาก ข่าวเศรษฐกิจและสังคม สายงานพัฒนาสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  HTTP://SOCIAL.NESDB.GO.TH

4 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (เดือนเมษายน 2552)

5 สำนักงานสถิติแห่งชาติ  สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2551

6 คำแถลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี วันที่ 13 กรกฎาคม 2552  มติชน  14 กรกฎาคม 2552

7 กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจสุขภาวะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 อายุ 13-15 ปี โดยการสุ่มตัวอย่างในปี 2551 พบว่า เด็กร้อยละ 8.1 รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว ร้อยละ 3.6 ไม่มีเพื่อนสนิท และร้อยละ 8.5 เคยมีความคิดจริงจังในการพยายามฆ่าตัวตาย  มติชน  1 กรกฎาคม 2552

          โครงการ CHILD WATCH สำรวจกลุ่มเด็กในระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศ พบว่า มีเด็กที่ตกอยู่ในวัฏจักรของความรุนแรง “ตบ ตี เตะ ถีบ” เฉลี่ยราวร้อยละ 10 ของเด็กทั้งหมด  มติชน  28 มิถุนายน 2552

           โครงการ CHILD WATCH ภาคเหนือตอนบน พบว่า ปี 2550-2551 เด็กเป็นแม่วัยรุ่นถูกละเมิดทางเพศ เข้าสถานพินิจ สูบบุหรี่ เล่นเกมเป็นประจำ ไม่ชอบไปโรงเรียน เรียนได้ต่ำลงเพิ่มขึ้น  WWW.CHILDWATCH.COM

8 การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 11 ประเด็น เกี่ยวกับเยาวชนไทย (อายุ 13-24 ปี) พบว่า เทียบระหว่างปี 2547 และ 2550 การดื่มสุราของเยาวชนมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 32.4 เป็นร้อยละ 10.1 แต่การสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.3 เป็นร้อยละ 10.1  โพสต์ทูเดย์  26 กันยายน 2551

9 การสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสุขภาพของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 อายุ 13-15 ปี พบว่า เด็กร้อยละ 76.5 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกมาก่อนอายุ 20 ปี และร้อยละ 20 ยอมรับว่าเคยดื่มในปริมาณมากจนมึนเมา ร้อยละ 46.8 เคยได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการต่อสู้กันหรือถูกทำร้าย ร้อยละ 38.5 เห็นว่าพ่อแม่ไม่เคยเข้าใจปัญหาความกังวลของเด็ก ร้อยละ 26.5 พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลไม่รู้ว่าเด็กทำอะไรในช่วง  มติชน  1 กรกฎาคม 2552

10 LIST OF COUNTRIES BY POPULATION WWW.WIKIPEDIA.ORG

11 2008 LIST BY CIA WORLD FACTBOOK อ้างไว้ใน WWW.WIKIPEDIA.ORG

12 LIST OF COUNTRIES BY GDP PER CAPITA (PPP) ใน WWW.WIKIPEDIA.ORG

13 IMD WORLD COMPETITIVENESS YEARBOOK 2009

14 WORLD ECONOMIC FORUM GLOBAL COMPETETIVENESS RANKING REPORT 2008-2009  WWW.WEFORUM.ORG

15 http://hdr.undp.org/hdr2009/statistics/

16 WWW.WIKIPEDIA.ORG/WIKI/EDUCATION-INDEX

17 WWW.WIKIPEDIA.ORG LIST OF COUNTRIES BY LITERACY RATE

18 อ้างไว้ในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สรุปผลการดำเนินงาน 9 ปี ของการปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2542-2551) สกศ. 2552

19 คมชัดลึก  25 มีนาคม 2552

20 การทดสอบเด็กระดับมัธยมปีที่ 2 ขององค์กร OECD เปรียบเทียบกันหลายประเทศในปี 2552 พบว่า นักเรียนที่อ่านภาษาไทยได้ต่ำกว่าเกณฑ์ระดับ 2 คืออ่านแล้วได้ใจความมีมากว่าร้อยละ 70 ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ คำแถลงของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  มติชน  25 มีนาคม 2552

21 HTTP://NESX.BBC.CO.UK/2/HI/UK – NEWS/EDUCATION/7126388.STM

22 WWW.TRANSPARENCY.ORG

 

12 responses to “บทที่ 1 การเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย และสถานะของประเทศไทยในระบบโลก (รายงานสภาวะปี51-52)

  1. โหลดเพลงmp3

    พฤศจิกายน 17, 2009 at 10:53 pm

    ขอบคุณครับ

     
  2. ชลธิชา วงค์น้ำคำ

    กรกฎาคม 10, 2010 at 6:22 pm

    ข้อมุลดีมากกกเยยกะตามที่ต้องกานนนนพอดี

     
  3. A

    พฤษภาคม 16, 2011 at 1:39 pm

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

     
  4. Lemon

    มกราคม 7, 2012 at 8:02 pm

    เนื้อหาดีมากค่ะ ตรงตามที่ต้องการเลย

     
  5. ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

    มกราคม 11, 2012 at 3:03 pm

    ขอบคุณมากค่ะท่านอ.วิทยากร คงดีใจมาก

     
  6. denchai

    มกราคม 31, 2012 at 7:12 pm

    ขอก็อบปี้หน่อยนะครับ

     
  7. ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

    กุมภาพันธ์ 1, 2012 at 10:40 am

    ยินดีค่ะ

     
  8. วิรุฬ สีสว่าง

    กุมภาพันธ์ 2, 2012 at 5:11 pm

    thank you kub

     
  9. yryeu

    กุมภาพันธ์ 24, 2012 at 8:59 am

    ขอขอบคุณอย่างยิ่งที่นำเรื่องดีๆให้ได้เรียนรู้

     
  10. ด.ญ.กัญญาณัฐ สิงใส

    มีนาคม 1, 2012 at 1:33 pm

    ก็ดี

     
  11. ด.ญ.นลินี สิงใส

    มีนาคม 1, 2012 at 1:36 pm

    มีข้อมูลเยอะเนอะ

     
  12. ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

    มีนาคม 6, 2012 at 11:18 am

    ค่ะหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่คุณนะค่ะ

     

ใส่ความเห็น