RSS

Daily Archives: ธันวาคม 1, 2007

ทางออกของปัญหา:การสร้างและการคัดเลือกผู้นำในประเทศไทย


ทางออกของปัญหา:การสร้างและการคัดเลือกผู้นำในประเทศไทย
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 29 พฤศจิกายน 2550 17:45 น.
       การคัดเลือกผู้นำไทยยังล้าหลัง
       
        ระบบประชาธิปไตยแบบไทยที่พึ่งการหาเสียงแบบใช้เงิน ใช้ระบอบอุปถัมภ์และการพูดเก่ง ประชาสัมพันธ์ตัวเองได้เก่ง ทำให้เรามีโอกาสได้ผู้นำทางการเมืองที่มีคุณสมบัติในการหาเสียงได้เก่ง แต่อาจไม่ใช่นักบริหารจัดการที่เก่งและเป็นคนดี ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวมเสมอไป ระบบบริหารราชการไทยก็เลื่อนและคัดเลือกคนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นโดยระบบอาวุโส การเอาใจเจ้านาย และการวิ่งเต้นเส้นสายซึ่งทำให้เราไม่ได้ผู้นำที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ขณะที่ประเทศจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มีวิธีคัดคนเก่งและคนดีตั้งแต่เด็ก เยาวชน และหนุ่มสาว เพื่อไปเป็นผู้นำในระบบราชการและการเมืองระดับต่างๆได้มีประสิทธิภาพกว่าไทย
       
       คนไทยส่วนใหญ่ยังมองผู้นำโดยเน้นตำแหน่งและการมีอำนาจบารมีสูงและคาดหมายว่าผู้นำควรเก่งในทุก ๆ ด้าน รู้ทุกเรื่อง กล้าตัดสินใจและตัดสินใจถูกทุกเรื่อง ซึ่งเป็นการมองที่ล้าหลังและการคาดหมายที่เกินความจริง ในโลกสมัยใหม่ ที่ประเทศมีปัญหาขัดแย้งอย่างซับซ้อน ประชาชนแบ่งเป็นหลายกลุ่มและมีความต้องการที่หลากหลาย ต้องการผู้นำและวิธีนำแบบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ คือผู้นำที่ ผ่านการคัดเลือกจากสังคมทั้งในแง่ความเก่งและความดี รู้จักรับฟังปัญหา ความต้องการของคนอื่น รู้จักการนำแบบทำงานรวมหมู่ ไม่สุ่มเสี่ยงแบบสุดโต่ง เข้าใจและสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน
       
        การที่ผู้นำไทยยังเป็นแบบอำนาจนิยม และผู้ตามของไทยชอบประจบสอพลอ ยกย่องผู้นำมากไป ทำให้ผู้นำมีโอกาสที่จะทุจริตฉ้อฉล และตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย เพราะไม่มีการตรวจสอบที่ดี ไม่มีระบบข้อมูลที่ดี ผู้นำแบบนี้ไม่มีทางที่จะรู้ข้อมูลทุกอย่าง ตัดสินใจถูกทุกอย่าง ประเทศไทยยุคใหม่ที่ต้องแก้ปัญหาซับซ้อนและต้องแข่งกับคนอื่นมากต้องการระบบการนำที่ฉลาด (เพื่อส่วนรวม) ซึ่งหมายถึงผู้นำ/กลุ่มผู้นำต้องมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวมที่ชัดเจน สร้างและสื่อสารให้เกิดทีมงานที่ฉลาด มีระบบวิจัยข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการกลั่นกรองที่ดี มุ่งความถูกต้องและประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน
       
       ทางออกคือประเทศต้องสร้างผู้นำและผู้ตามที่ดี

       
        ประชาชนไทยยังล้าหลังด้านความคิดความรู้เรื่องการเป็นผู้นำ เพราะถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายและระบบการศึกษาแบบท่องจำ ทางออกคือการปฏิรูปการเรียนรู้ใหม่ ไม่ใช่แค่สอนให้เก่งวิชาการ เก่งภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ หรือ วิชาการสมัยใหม่ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ต้องสอนให้คนทุกระดับ แม้จะจบแค่ประถม มัธยมรู้จักตัวเอง รู้จักคิด พัฒนาตนเองให้มีความฉลาดทั้งในทางปัญญา อารมณ์ และ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม นั่นก็คือการสร้างคนให้มีภาวะผู้นำและผู้ตามที่ดี เยาวชนและประชาชน ต้องเริ่มจากนำตนเองได้ มีความภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง รู้ว่าอะไรถูกผิด คิดตัดสินใจด้วยตนเอง กล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ ทำผิดแล้วก็รู้จักสรุปบทเรียน ปรับปรุงตนเองใหม่ได้ พวกเขาจึงจะพัฒนาไปสู่ความเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบและเป็นผู้นำที่ดีในระดับต่างๆได้
       
        การเรียนรู้เป็นผู้นำที่ดี หมายถึงการรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ไม่ได้หมายถึงการแข่งขันแบบเห็นแก่ตัวเพื่อแย่งการเป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีก็คือผู้ตามที่ดีด้วย คือมีเหตุผล มีวุฒิภาวะรู้ว่าอะไรถูกต้องก็ควรทำตาม อย่างคนมีจิตสำนึกรับผิดชอบ ในบางเรื่องเราก็นำ ในบางเรื่องเราก็ตาม ไม่ใช่การนำแบบบ้าอำนาจไม่ฟังใคร หรือการตามแบบที่เพื่อนร่วมงานและประชาชนศรัทธาหลงไหลในตัวผู้นำที่สร้างภาพพจน์เก่ง อย่างไม่มีสติที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างจำแนกแยกแยะ
       
        ผู้นำทางการเมืองและทางสังคม (งานเพื่อสาธารณะ) มีความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าผู้บริหารจัดการแบบธุรกิจ ผู้นำทางการเมืองและสังคมควรเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะที่ซื่อตรงและจริงใจ มีวิสัยทัศน์ เป้าหมายเพื่อส่วนรวม และสามารถสร้างความไว้วางใจและจูงใจคนอื่น ๆ ให้ทำงานเพื่อองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาจะต้องรู้จักรับฟัง เรียนรู้วิจารณ์ตนเองและพัฒนาตัวเองได้อย่างดี
       
        เวลานี้ระบบการศึกษาของเราทุกระดับ เน้นแต่การสอนวิชาการและวิชาชีพมากเกินไป สอนเรื่องความเป็นคน การเป็นผู้นำและผู้ตามในสังคมที่คนเราต้องใช้ชีวิตแบบรวมหมู่น้อยเกินไป แม้แต่วิชาการวิชาชีพ ก็สอนแบบท่องจำตามตำราจากต่างประเทศ มากกว่าสอนให้เรียนรู้ หัดคิดเป็น ทำเป็น และรู้จักเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงสังคมจริง และประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทำให้สังคมไทยไม่เข้าใจเรื่องการนำ จึงได้เกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ปัญหาและความด้อยพัฒนาในหลายทาง
       
        หลักสูตรปริญญาตรี โทและเอกสาขา “ผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และ การเมือง” ของ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่สอนทั้งเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมือง ปรัชญา การบริหารการจัดการ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง ความรู้และทักษะแขนงต่าง ๆ เป็นความพยายามที่มุ่งจะช่วยให้คนเข้าใจชีวิตและสังคมอย่างเป็นองค์รวม คิดวิเคราะห์ประยุกต์ใช้เป็น และรู้แนวทางที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองเป็นผู้นำในระดับต่าง ๆ ในอนาคต นี่คือตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆควรช่วยกันคิดและช่วยกันพัฒนาต่อไป
       
       ผู้นำ เช่นนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องชำนาญเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง เพราะถ้าเขาฉลาดพอ เขาสามารถหาข้อมูลจากที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ได้ ผู้นำ ควรรู้กว้าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ถึงระบบโครงสร้าง และ รู้จักการรับฟัง การเลือกฟัง รู้ว่าควรจะหาข้อมูลที่ไหนจากใคร และรู้จักคิด ตัดสินใจ รู้จักการสื่อสาร การจูงใจ และบริหารการจัดการที่ดี
       
       สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่มาก คือ พลเมืองที่มีคุณภาพและมีอุปนิสัยที่จะนำไปสู่การใช้ชีวิตและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่เรามีคนจบจากมหาวิทยาลัยมากกว่า 5 ล้านคน (โทและเอกนับแสนคน) แต่เราผลิตแต่ผู้ตาม ผู้รอคำสั่งหรือทำตามกฎระเบียบมากกว่าผู้ที่สามารถนำได้ในระดับต่างๆ เราจะต้องปฏิรูปการเรียนการสอนและปฏิรูปทางด้านความคิดความรู้กันอย่างขนานใหญ่ เราถึงจะสร้างพลเมืองที่เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศอื่นที่ต่างคนต่างก็เก่งขึ้นและพัฒนาเร็วขึ้นได้