RSS

ทัศนคติแบบไหนจึงจะสร้างสังคมธรรมาธิปไตยได้

10 ก.ย.

การถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมเก่าที่ล้าหลังและการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิหน้าที่ของพลเมือง

ปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในปัจจุบัน มาจากสภาวะที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และสิทธิเสรีประชาธิปไตยในทุกทาง พวกเขายากจน ขาดการศึกษาและการรับรู้ข่าวสารที่มีคุณภาพ ทำให้พวกเขาได้แต่ดิ้นรนทำมาหากิน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ หรือไปฝากความหวังไว้ที่ชนชั้นสูง แบบหวังพึ่งอำนาจและการอุปถัมภ์ ไม่ตื่นตัวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือสังคมธรรมาธิปไตย(ธรรม+ประชาธิปไตย)ด้วยตัวพวกเขาเอง


คนจำนวนมากเข้าใจง่าย ๆ ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งผู้แทน แต่เมื่อเลือกตั้งผู้แทนไปหลายครั้งหลายปีมาแล้ว ผู้แทนไม่ว่าพรรคไหน กลุ่มไหนไม่ได้พัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนชักไม่ค่อยเชื่อว่าประชาธิปไตยจะช่วยพวกเขาได้จริงหรือไม่ การที่ประชาชนส่วนหนึ่งตัดสินใจซื้อเสียงขายเสียง เลือกพรรคพวกผู้อุปถัมภ์ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาคิดแบบง่าย ๆ ว่าทำแบบนั้นพวกเขายังได้ประโยชน์ที่เห็นได้เลยมากกว่าการรอให้มีผู้แทนและ รัฐบาลที่ดีมาแก้ปัญหาทั้งหมดให้

กระบวนการเรียนรู้/การกล่อมเกลาทางสังคม ซึ่งรวมทั้งการเลี้ยงดูเด็ก ทัศนคติของคน ชุมชน การศึกษา สื่อมวลชนและการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมของทั้งชุมชนและประเทศไทย เป็นตัวปัญหา เพราะมักเน้นแนว คิดแบบจารีตนิยม อุปถัมภ์นิยมและอำนาจนิยม มีทัศนคติแบบยอมจำนน เชื่อในเรื่องบุญบารมี วาสนาว่าถูกกำหนดมาแล้วอย่างตายตัว หรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มักจะยอมรับสังคมแบบอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมที่มีการจัด ฐานะทางชนชั้น/กลุ่มทางสังคมที่แตกต่างกันมากและเป็นตัวปัญหา ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นพลเมืองผู้เสียภาษี และเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติสาธารณะของประเทศร่วมกัน และพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคในด้านต่าง ๆ ไม่ควรมีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร

การศึกษาสมัยใหม่จากโลกตะวันตกซึ่งรวมความคิดเสรีนิยม/เสรี ประชาธิปไตยด้วยเข้ามาในประเทศไทยนานพอสมควร แต่ชนชั้นนำนำเข้ามาเพียงรูปแบบอย่างฉาบฉวย ไม่ได้ศึกษาด้านเนื้อหาแบบวิพากษ์วัฒนธรรมเก่าที่ล้าหลังอย่างจริงจัง แนวคิดและความรู้สมัยใหม่แบบเสรีนิยมยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หล่อหลอมทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมให้คนไทยเป็นเสรีประชาธิปไตยได้มากนัก เพราะส่วนหนึ่งเราจัดการศึกษาและวัดผลแบบท่องจำ มากกว่าจะฝึกหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น

ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีเรียนรู้ใหม่ ที่ก้าวหน้าขึ้น

คน ที่มีโอกาสเรียนในระดับที่สูงขึ้น เช่นจบมัธยม อาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัย น่าจะมีโอกาสเรียนรู้และมีแนวคิดทัศนคติไปทางเสรีประชาธิปไตยหรือสังคม ธรรมาธิปไตยได้มากกว่าคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียน แต่ไม่ได้เป็นไปเช่นนั้นเสมอไป เพราะการจัดการศึกษาของประเทศไทย เป็นแบบใช้อำนาจสิทธิขาดของครูอาจารย์ ซึ่งยึดตามตำราและการออกข้อสอบแบบท่องจำ เน้น วิชาความรู้พื้นฐาน เช่นภาษา สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และความรู้ทางวิชาชีพ ไม่ได้สอนแบบให้สิทธิเสรีภาพ ช่วยให้คนรู้จักตนเอง เป็นตัวของตัวเอง ภูมิใจในตนเอง คิดวิเคราะห์สังเคราะห์เป็น ตระหนักว่าคนเรามีหรือควรมีสิทธิเสมอภาค เสรีภาพเสมอกัน

บ่อยครั้งที่คนไทยเลือกหยิบหรือเรียนรู้มาเฉพาะรูปแบบ เช่นการเลือกตั้งสส. ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ไม่ได้เรียนรู้เนื้อหาของ สังคมประชาธิปไตยว่ามีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งกว่านั้น เช่นผู้ปกครองและชนชั้นที่มีอำนาจ มีฐานะสูง ตลอดจนประชาชนพลเมืองทั่วไปต้องมีจิตใจกว้าง เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพคนอื่น ตระหนักว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม และ ประชาธิปไตย หมายถึงการคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว ไม่ใช่การใช้อำนาจเผด็จการของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่ ทำอะไรก็ได้เพื่อผลประโยชน์ของตน

ดังนั้นการจะสร้างสังคมธรรมาธิปไตยได้ จึงจะต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมของคน และคนที่เราควรจะเปลี่ยนแปลงและมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด คือตัวเราเองแต่ละคน เราต้องกล้าเรียนรู้ที่จะมองตัวเองอย่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าเราเป็นนัก ประชาธิปไตยจริงมากน้อยแค่ไหน มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร อ่านหนังสือที่ก้าวหน้า คุยกับคนที่ก้าวหน้า ศึกษาจากประสบการณ์ของกลุ่มที่ก้าวหน้า เพื่อเราจะได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมของเราที่ยังอาจไม่เป็นประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เราถึงจะสามารถเข้าไปมีบทบาทในการที่จะช่วยให้การศึกษาเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมของลูกเรา คู่ครองเรา นักเรียนนักศึกษาหรือคนในการดูแลของเราอย่างได้ผล

การที่คน ๆ หนึ่งจะกล้าเปิดใจวิจารณ์ข้ออ่อนของตนเอง รับเอาแนวคิดใหม่ ๆ โดยมุ่งหวังเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญ กล้าเสี่ยง กล้านำอย่างรับผิดชอบ ที่เป็นภาระหนักกว่าแค่การเป็นผู้ตามกระแสหรือตามคนอื่น ๆ

แนวคิดหลักในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมที่มุ่งสร้างสังคมธรรมาธิปไตย

การเมืองไทยมีความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่งแบบใช้อารมณ์มากกว่าหลักเหตุผลหรือมีข้อมูลยืนยัน โดยที่แต่ละกลุ่มเสนอแนวคิดบางอย่างที่ปะปนและแม้แต่ขัดแย้งกัน เช่นเสื้อเหลืองเสนอการเมืองใหม่ แต่มีแนวคิดบางเรื่องที่เก่าจารีตนิยมมาก เสื้อแดงอ้างว่าต่อต้านการรัฐประหาร ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่สนับสนุนนักการเมืองคนที่ศาลตัดสินแล้วว่าฉ้อโกงหาผลประโยชน์ทับซ้อน ประชาชนบางส่วนเลือกข้างด้วยอารมณ์มากกว่าด้วยเหตุผลที่ไตร่ตรองแล้ว แนว ทางแก้ไขคือ เราควรส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้ที่จะคิดวิจัยหาความรู้และ ตัดสินใจด้วยตัวของตัวเอง อย่างมีเหตุผลมีหลักฐานยืนยันสอดคล้องกัน มากกว่าที่จะเชื่อตามข้อมูลแบบปลุกเร้าอารมณ์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

หากประชาชนยังไม่รู้จะฟังใครหรือเชื่อใครดี ขอให้ยึดหลักคิดที่เป็นแนวคิดสนับสนุนสังคมธรรมาธิปไตย ดังต่อไปนี้คือ

1. คิดอย่างมีเหตุผลมากกว่าจะเชื่อด้วยอารมณ์ เคารพในตัวเองและความเคารพคนอื่นด้วย ยอมรับเรื่องสิทธิหน้าที่พลเมืองของประชาชนคนอื่น ๆ ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น เคารพและให้ความร่วมมือต่อศีลธรรม และประเพณีและกฎหมายที่เป็นธรรมเป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม ชุมชนและประเทศ

2. มีทัศนคติที่ดีและความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเป็นธรรมเท่ากัน ร่วมมือสามัคคีเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเพื่อใครก็ตามที่เรายกย่องคนใดคน หนึ่ง เพราะการทำเพื่อส่วนรวมมีประโยชน์จริงในระยะยาวมากกว่าการทำเพื่อผลประโยชน์ ส่วนตัวแคบ ๆ ระยะสั้น

3. เข้าใจความจำเป็นและประโยชน์ของการเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นพลเมืองของ ชุมชนและประเทศเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทุกคนในระยะยาว การปลูกฝังความรักชาติควรจะในความหมายใหญ่ที่ก้าวหน้า คือการเห็นแก่ประโยชน์ชุมชน ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ไม่ใช่การหลงชาติ ดูถูกเผ่าพันธุ์อื่น การเน้นการสร้างและธำรงไว้ซึ่งจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมจะเป็นประโยชน์ต่อการ พัฒนาสังคมธรรมาธิปไตยมากกว่าแนวคิดแบบปัจเจกชนตัวใครตัวมันของลัทธิทุนนิยม อุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลมากและมีผลลบ ทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองและปัญหามากมายในปัจจุบัน

4. เคารพกฎหมายและดำเนินชีวิตในกรอบของกฎหมายที่มีเหตุผลและเป็นธรรม ถ้าเห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม ต้องวิจารณ์ อภิปรายเสนอแนะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรม ไม่ใช่เลี่ยงหรือทำผิดกฎหมาย ต้องยึดมั่นในหลักการสิทธิเสรรีภาพ เสมอภาคสำหรับคนทุกคนและถือว่าระบบอภิสิทธิและการเล่นพรรคเล่นพวก การทุจริตฉ้อฉล/หาประโยชน์ทับซ้อนทุกระดับ เป็นเรื่องที่ผิดน่ารังเกียจ ทำให้ส่วนรวมเสียหาย

5. มีจิตใจเปิดกว้างและเป็นธรรม ยอมรับว่าสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงได้ไปตามเหตุและปัจจัยสภาพแวดล้อม ทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและลบ มองตัวเองและคนอื่นอย่างเป็นธรรม อย่างพยายามจะเข้าใจ พร้อมที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลงสำหรับสังคมและสนับสนุนการ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น

6. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบผูกพันกับสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป และอธิบายความชอบธรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ ไม่ปัดความรับผิดชอบให้คนอื่น ดีแต่โทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น

7. มีจิตใจแบบรักความเป็นธรรม มีเมตตา กรุณา มุทิตา เห็นใจเพื่อนร่วมประเทศ เพื่อนร่วมโลก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจเขามาใส่ใจเราแบบพี่แบบน้อง(ภราดรภาพ) ไม่มีอคติต่อผู้ที่มีความแตกต่างจากตน เช่นนับถือศาสนาอื่นหรือเชื้อชาติอื่น คิดหาทางออกอย่างสร้างสรรค์แบบให้ทุกฝ่ายมีส่วนชนะได้มากกว่าต้องคิดแบบเอา ชนะแพ้กันแง่เดียว หรือคิดถึงทางเลือกที่ 3 ที่ 4 ได้ แทนที่จะต้องเลือกแนวทางแบบสุดโต่งขั้วใดขั้วหนึ่ง

(อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล ปฏิวัติประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขวิกฤติของชาติ สายธาร 2551)

 

ป้ายกำกับ: , , ,

7 responses to “ทัศนคติแบบไหนจึงจะสร้างสังคมธรรมาธิปไตยได้

  1. ธนากร สุนะ

    กันยายน 15, 2009 at 3:29 pm

    ดีคร่า

     
  2. พนมขวัญ ปวงใจ

    กันยายน 15, 2009 at 5:47 pm

    อืม

     
  3. กิตติศักดิ์ กาวิกูล

    กันยายน 15, 2009 at 9:31 pm

    ดีดีคับ

     
  4. ภูมิ

    มกราคม 16, 2010 at 9:36 pm

    ธรรมาธิปไตย ฟังแล้วดูเป็นเรื่องที่สวยหรูดีครับ เหมือนกับ UTOPIA ในอุดมคติ แต่เอาเข้าจริงๆคุณว่าคนไทยจะทำได้เหรอ ผมว่าคงไม่ใช่กับรัฐบาลยุคนี้แน่ๆ อาจอีกสักร้อยหรือสองร้อยปี ก็น่าจะเป็นไปได้ เหอๆ

     
  5. โอม

    กุมภาพันธ์ 9, 2010 at 9:09 am

    ความหมายตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

    ธรรมาธิปไตย [ทํามาทิปะไต, ทํามาทิบปะไต] น. การถือธรรมเป็นใหญ่, การถือ
    ความถูกต้องเป็นหลัก.

    แต่ใครจะตัดสินละว่าอะไรเป็น “ธรรม” อะไร “ถูกต้อง” ถ้าพูดตามแบบประชาธิปไตย ก็ควรหมายถึง “ทุกคน” ต่างมีสิทธิอ้าง “ธรรม” และ “ความถูกต้อง” เท่ากัน

    ไม่ใช่เพีงแค่ “คนชั้นสูง” หรือคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในสังคม จะไปตัดสินแทนคนกลุ่มใหญ่ ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่าพวกเขาไร้การศึกษา มันดูทุเรศ และมองย้อนกลับไปยุคล่าทาส ล่าอาณานิคม ที่ฝรั่งมองชนพื้นเมืองว่าไร้การศึกษา และไม่ต่างจากสัตว์ป่า ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินชีวิตตนเอง

    แต่ทุเรศกว่านั้นคือ คนไทยกลุ่มหนึ่ง ทำตัวเลียนแบบเจ้าอาณานิคมเหล่านั้น แล้วหันมากดขี่คนไทยกันเอง

    การอ้างธรรมาธิปไตย จึงเป็นการอ้างที่สวยหรู เพื่อความเป็นอยู่ของคนชั้นสูงให้มีสิทธิ์เหนือประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม

    หากยังนั่งสง่าเป็นปีศาจคาบคัมภีร์อยู่ต่อไป ความขัดแย้งของสังคมจะไม่มีทางบรรเทาเบาบางเลย ทางที่ถูกที่ควรคือการคืนความเป็นธรรมให้ทุกคนเสมอภาคกัน

     
  6. tanyax

    พฤษภาคม 27, 2010 at 6:48 am

    ธรรมาธิปไตย คนที่อ่านบทความเหล่านี้ ควรจะตั้งจิตใจให้เป็นกลางเสียก่อน ความคิดเห็นที่แสดงออกมานั้น คนไทยส่วนใหญ่แสดงความรู้สึกออกมามากกว่า ความคิดเห็นนั้นควรมีความรู้อยู่ด้วย จึงจะเรียกว่า “แสดงความคิดเห็น” (อ้างถึง ว.วิชรเมธี จากรายการเจาะใจ ซึ่งผมขออนุญาตพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ณ ทีนี้ด้วยนะขอรับ ที่จะนำคำสอนของท่านมาอ้างอิงและแสดงให้ท่านอื่นๆ ทราบ)

    ทีนี้กลับมาเข้าเรื่อง ธรรมาธิปไตย คำว่า ธรรม นั้น แปลว่า ความจริง หากจะขยายความให้เข้าใจไปอีก อย่างเช่น ธรรมชาติ ซึ่งทุกคนจะนึกถึงต้นไม้ ป่าเขา แม่น้ำ ทะเล สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ นี่ก็คือความจริง เห็นชัดว่ามันคืออะไร พระพุทธเจ้าก็สอนธรรมะ สอนความจริง อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่มีตัวตน) เช่น ร่างกายคนเรานั้นเป็นสิ่งเน่าเหม็น น่ารังเกียจ ไม่มีชีวิตอยู่ได้ชั่วนิรันดร เป็นต้น (หากท่านไม่เข้าใจ ขออภัย และแนะนำให้หาหนังสือธรรมะดีๆ ซักเล่มมานั่งอ่าน) และหากถามว่า ใครจะตัดสินละว่าอะไรเป็น “ธรรม” อะไร “ถูกต้อง” ซึ่งจริงๆ ธรรม กับ ความถูกต้อง ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่อง

    พระพุทธเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับเรื่องการปกครอง ไว้ ๓ แบบ คือ
    ๑.อัตตาธิปไตย คือ เอาผู้นำเป็นหลักใหญ่ หากผู้ำนำดี ผู้ตามก็เจริญ มีสุข แต่หากผู้นำชั่ว ผู้ตามก็ต้องได้รับทุกข์นั้นด้วย

    ๒.โลกาธิปไตย คือ การเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ซึ่งก็คือประชาธิปไตย ตามหลักรัฐศาสตร์แล้วประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด นั่นหมายความว่า ยังไม่ดีที่สุด เช่น หากมีคน ๕๐๐ คน ติดเกาะ ๑ ในนั้นเป็นพระ ในเกาะนั้นไม่มีอะไรกินเลย แต่พบช้างอยู่ ๑ ตัว แล้วคน ๔๙๙ ลงความเห็นและจะฆ่าช้างเอามากิน ถามว่า การฆ่านั้นผิดศีลธรรม แต่ คน ๔๙๙ คนบอก “ถูกต้อง” นี่คือเสียงส่วนใหญ่ที่ขาดซึ่ง “คุณธรรม” เพราะช้างก็มีสิทธิที่จะอยู่บนเกาะเช่นกัน เห็นชัดว่าจะเป็นพวกมากลากไป ลองคิดดูสิว่า ถ้าคุณเป็นช้าง คุณจะถูกฆ่า คุณจะรู้สึกอย่างไร

    ๓.ธรรมาธิปไตย คือ การเอาธรรมเป็นใหญ่ นั่นคือ ผู้นำจะต้องมีศีลธรรมและมีความรู้ การจะทำอะไรลงไปนั้นต้องเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม มิใช่เพื่อ ผลประโยชน์ของคนส่วนมาก มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และศีลธรรม ประชาชนมีสติ ที่จะสามารถพิจารณาไตร่ตรองได้เองโดยใช้หลักเหตุผล ศีลธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช้อารมณ์ที่ขาดสติมาตัดสินกัน

    ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ประชาธิปไตย กับ ธรรมาธิปไตย อีกซักข้อ
    หากคนทั้งโลกนี้ โหวตกันให้โลกแบน โลกก็คงต้องแบน ทั้งๆ ที่ความจริง (หรือ ธรรม) โลกมันกลม นี่คือความรู้ที่มนุษยชาติพัฒนาตัวเองขึ้นมา ทุกคนในยุคสมัยนี้รู้ว่าโลกกลม ทีนี้ลองพิจารณาดูอีกครั้ง ว่า การโหวตกันของเสียงส่วนมากที่ให้โลกแบนนั้น ขาดความรู้ใช่หรือไม่ ดังนั้น ประชาธิปไตยของไทยนั้น ล้มลุกคุกคลานมากี่ครั้ง สาเหตุจริงๆ ก็คือ ประชาชนขาดความรู้ ขาดคุณธรรม ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เลือกไปตามความรู้สึกชอบหรือไม่ มีเงินให้จากการซื้อเสียงหรือไม่ ท่านผู้ิอ่าน ลองคิดทบทวนดูนะครับ

    พระอาจารย์ว.วชิรเมธี ในรายการเจาะใจ

     
  7. tanyax

    พฤษภาคม 27, 2010 at 6:49 am

    ขออภัย link part 1 ตกหล่นไป

     

ใส่ความเห็น