RSS

5 ปัญหาของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

09 ก.ค.

วิทยากร เชียงกูล    ปัญหาของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ที่เป็นปัญหาหลัก คือ

1. การเน้นการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรม รวมทั้งการทำให้การเกษตรเป็นแบบอุตสาหกรรม คือเน้นผลิตเพื่อขายและส่งออก การขนส่ง การคมนาคม และการบริโภค ได้ทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อม เช่น ป่าไม้ การใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน) ในโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การทำความร้อนความเย็น และการผลิตการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยด้านต่างๆ ได้ก่อมลภาวะในแผ่นดิน น้ำ อากาศ เกิดภาวะโลกร้อนหรืออุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ภูมิอากาศแปรปรวน เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ ฯลฯ เพิ่มขึ้น คนเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ตลอดจนมะเร็งชนิดต่างๆ และโรคสมัยใหม่อื่นๆเพิ่มขึ้น

2. มีการกระจายทรัพย์สินและรายได้อย่างไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน และระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลในสังคม เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะๆ เกิดสงคราม ความขัดแย้ง การก่อการร้าย ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงต่างๆเพิ่มขึ้นมาก

3. มีปัญหาการเอาเปรียบแรงงาน การเอาเปรียบผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ การโยกย้ายอพยพของแรงงานจากชนบทสู่เมือง จากประเทศยากจนสู่ประเทศร่ำรวย ปัญหาการว่างงานและการทำงานไม่เต็มที่มาก ในประเทศกำลังพัฒนา มีการว่างงานถึงราว 10-30% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม อัตราการว่างงานอยู่ระหว่าง 4-12%

    4. มีปัญหาหนี้สิน ความยากจนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาก ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่บริโภคมากกว่าผลิต เช่น สหรัฐฯก็เป็นหนี้มาก และทำให้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวรถจักรของระบบทุนนิยมโลก มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำได้

5. มีการรวมศูนย์ทุนและกำไรในมือของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ของนายทุนเอกชนจากประเทศร่ำรวยเพิ่มขึ้น จนอาจเรียกระบบโลกาภิวัฒน์ว่าเป็น  Corporate Globalization คือ ระบบโลกาภิวัฒน์ที่ครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่ หรือระบบบรรษัทครอบโลก บริษัทที่ใหญ่ที่สุด อย่าง วอล-มาร์ต สโตร์ เคมเลอร์-ไครสเลอร์ มียอดขายปีละกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศขนาดกลางมี GDP อยู่อันดับที่ 21 ของโลก บรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุด 200 บรรษัท มียอดขาย 27.5% ของ GDP ของโลกในปี ค.ศ.1999 และจ้างคนงานเพียง 0.78% ของแรงงานของโลก

บรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดเหล่านี้ มีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกมาก โดยเฉพาะต่อรัฐบาลประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีอิทธิพลในองค์การค้าโลก ธนาคารโลก และ IMF  พวกเขาสามารถชี้นำให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกต้องแก้กฏหมาย และดำเนินเปิดทางเสรี ให้บรรษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนจ้างแรงงาน และใช้ทรัพยากรของประเทศเหล่านั้นในราคาต่ำ แต่ขายสินค้าให้ประเทศทั่วโลกในราคาสูง บรรษัทข้ามชาติยังแทรกแซงการเมือง สนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีนโยบายชาตินิยม สังคมนิยม เพราะบรรษัทข้ามชาติต้องการให้ประเทศต่างๆ เปิดทางให้ตนเข้าไปลงทุนและค้าขายทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างสะดวกเสรี การที่บรรษัททำกำไรและสะสมทุนได้มากขึ้น ทำให้พวกเขาต้องขยายการลงทุน เพื่อหากำไรและดอกเบี้ยตลอดเวลา

บรรษัทข้ามชาติอ้างว่า พวกเขาทำให้โลกเจริญเติบโตก้าวหน้า แต่จริงๆแล้ว พวกเขาทั้งเอาเปรียบชาวโลก และทั้งทำลายทรัพยากร สภาพแวดล้อม ทำให้ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมของโลกทรุดโทรมลง

ที่มา
วิทยากร เชียงกูล
อนาคตเศรษฐกิจโลกและทางออกของไทย. – กรุงเทพ ฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2550.
176 หน้า.
ISBN 978-974-13-0621-3

+++

 

ป้ายกำกับ: , , ,

ใส่ความเห็น